

Wireless Heritage
มัดรวมทุกไฮไลต์ ส่องความแฮปเพนนิ่งของถนนวิทยุในอดีตแบบจัดเต็มที่ The Wireless House One Bangkok
- ทัวร์ The Wireless House One Bangkok ส่องประวัติศาสตร์ถนนวิทยุ และสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกในประเทศไทย ถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับทุกคน ช่วยปลูกฝังความรักในรากเหง้าทางมรดกวัฒนธรรม และการรักษาอาคารโบราณสถาน
ONCE พาไปสำรวจประวัติศาสตร์ถนนวิทยุ ผ่าน 4 โซนไฮไลต์ประจำ The Wireless House One Bangkok นิทรรศการถาวรที่จัดแสดงเส้นทางการเดินทางย่านวิทยุ-พระราม 4 และอาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งถือเป็นสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกในประเทศไทย ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย และรากเหง้าทางวัฒนธรรมของพื้นที่
One Bangkok Art and Culture ให้เกียรตินำทางพาไปทำความรู้จักเบื้องหลังการจัดนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงใน The Wireless House One Bangkok เจาะลึกทั้งมิติทางประวัติศาตร์และศิลปวัฒนธรรม รวมถึงเกร็ดเล็กน้อยสนุกๆ เรื่องราวจะเป็นยังไงบ้าง ตามไปดูกันเลย
เดินตามร่องรอยประวัติศาสตร์ของถนนวิทยุ
เริ่มแรกเราอยากให้ทุกคนใช้จินตนาการลบภาพจำพื้นที่ปัจจุบันแห่งนี้ออกก่อน ลองนึกภาพบริเวณนี้เป็นทุ่งนากว้างๆ ยังไม่มีถนนตัดผ่าน และมีอาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงตั้งตระหง่านอยู่ ซึ่งในยุคแรกอาคารวิทยุแห่งนี้มีเสาวิทยุสูงถึง 60 เมตร คอยทำหน้าที่รับ-ส่งสัญญาณวิทยุโทรเลข แต่ในปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์ให้ลดทอนความสูงเหลือเพียง 20 เมตร เพื่อความปลอดภัยไม่ให้รบกวนบริเวณรอบข้าง โดยเสาส่วนที่เหลือนำไปฝังกลบใต้อาคารแห่งนี้
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า The Wireless House One Bangkok เป็นอาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงที่สร้างขึ้นใหม่ แต่ความจริงแล้วเป็นการหยิบยกชิ้นส่วนบางอย่างมากลับประกอบสร้างเป็นอาคารจำลอง โดยอ้างอิงจากเอกสาร รูปภาพ และบันทึกต่างๆ เพื่อให้ใกล้เคียงกับของจริง เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของอาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งอาคารจริงได้ถูกรื้อไปก่อนหน้านี้แล้ว มีเพียงเสาวิทยุสูง 60 เมตรตั้งอยู่
ทีม One Bangkok Art and Culture ระบุว่า ตอนขุดค้นทางโบราณคดี ร่วมกับกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และนักโบราณคดี พวกเขานำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด เพื่อระบุหาชนิดของพืชพันธุ์ที่เคยเจริญเติบโตอยู่ในบริเวณนี้ แล้วจึงส่งผลวิเคราะห์ต่อไปยังนักภูมิสถาปัตย์ เพื่อสร้างภาพจำลองภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณนี้
แม้ไม่สามารถนำบรรยากาศดั้งเดิมกลับมาได้ แต่ทางทีม One Bangkok Art and Culture ก็พยายามจำลองสถานการณ์ให้เสมือนจริงที่สุด โดยใช้ไอริสน้ำที่มีลักษณะคล้ายรวงข้าวมาแทนภาพทุ่งข้าว รวมถึงปลูกมาร์กาเร็ต บอร์เนียวให้เป็นพุ่มอยู่ด้านหน้า ส่วนด้านหลังปลูกชมพู่ทับทิมจันทร์ ซึ่งเป็นพืชในวงศ์ตระกูลเดียวกันกับที่ค้นพบในผลการวิเคราะห์ ทั้งหมดนี้เพื่อจำลองบรรยากาศและอาคาร The Wireless House One Bangkok ให้คล้ายคลึงสมจริงกับอาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงที่สุด
โซน 1 ยุควิทยุโทรเลข
เปิดประตูต้อนรับผู้ชมมาพบกับโซนนี้ เราจะเห็นภาพอาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงในอดีต ตั้งแต่ พ.ศ.2456 รัชสมัยรัชกาลที่ 6 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาทรงเปิดอาคารหลังนี้ด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงส่งวิทยุโทรเลขฉบับแรกจากสถานีกรุงเทพฯ สู่สถานีสงขลา เพื่อส่งต่อไปที่เรือใกล้ชายทะเล ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุคการสื่อสารไร้สายของประเทศไทย
ความน่าสนใจของโซนนี้อีกหนึ่งอย่างคือ อาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงเคยส่งวิทยุโทรเลขเชื่อมต่อกับยุโรปเป็นครั้งแรก เชื่อมตรงไปยังกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ถือเป็นความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร และเป็นประตูเชื่อมโยงประเทศไทยสู่โลกภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ส่วนบริเวณกลางห้องมีการจำลองการส่งรหัสมอร์สให้ทุกคนมาลองเล่น เลือกได้ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ อยากส่งถึงใคร หรือจะส่งถึงตัวเองก็ทำได้นะ หลังจากลงชื่อผู้ส่ง ผู้รับ พร้อมข้อความเรียบร้อยแล้ว เวลาแห่งความสนุกก็เริ่มขึ้น! ทุกคนจะได้มาลองกดรหัสมอร์สแบบง่ายๆ แถมยังสามารถปรินต์ข้อความนี้กลับบ้านได้อีกด้วย
โซน 2 ยุควิทยุกระจายเสียง
สำรวจพัฒนาการของการกระจายเสียง จากเดิมที่ใช้เพียงสัญญาณมอร์ส พัฒนามาสู่การส่งเสียงพูด และออกอากาศเสียงเพลง สำหรับโซนนี้เป็นพื้นที่โชว์อุปกรณ์การกระจายเสียง ซึ่งเราสามารถฟังเสียงที่เคยออกอากาศในอดีตได้ด้วย ยอมรับว่าฟังครั้งแรกเรารู้สึกไม่คุ้นหู มันไม่เหมือนเพลงในปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนกลับไปในสมัยนั้น สิ่งที่เรากำลังฟังอยู่มันใกล้เคียงกับสิ่งมหัศจรรย์มากๆ
นอกจากนี้ โซนนี้ยังเป็นพื้นที่ให้ความรู้ถึงความแตกต่างระหว่างวิทยุแร่กับวิทยุหลอด โดยวิทยุหลอดเป็นวิทยุที่ใช้หลอดสุญญากาศ ช่วงแรกถือเป็นของหายาก มีราคาแพง ผู้ครอบครองต้องมีใบอนุญาต ส่วนใหญ่เป็นคนรวยหรือข้าราชการ ขณะที่วิทยุแร่ เป็นวิทยุที่ประกอบง่ายๆ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า
บ้านไหนมีวิทยุหลอดหรือวิทยุแร่เก็บไว้ เอามาอวดกันหน่อยนะ
โซน 3 การขุดค้น อนุรักษ์ และปฏิสังขรณ์
ไฮไลต์ประจำโซนคือโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนที่นำมาจัดแสดงเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน แบ่งเป็น 3 ยุคหลัก ไล่เรียงลำดับความเก่าแก่ตั้งแต่ซ้ายไปขวา
ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดคือถ้วย ชาม เซรามิกจากจีน ไล่ลำดับตามมาด้วยเซรามิกจากญี่ปุ่น แต่เนื่องจากตอนนั้นเป็นช่วงใกล้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีเซรามิกจากเกาหลี อังกฤษ หรือแถบยุโรปเข้ามาผสมผสาน ลำดับถัดมาคือกลุ่มเครื่องดื่ม ขวดแก้ว โคโลญ
การค้นพบโบราณวัตถุสะท้อนการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมการกินของไทย และการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่บริเวณนี้ สมัยเก่าแก่นิยมใช้ถ้วยก้นลึก ช้อนตักซุป แสดงให้เห็นว่าสมัยนั้นนิยมรับประทานอาหารประเภทข้าวต้ม ผัดผัก หรืออาหารที่มีความเปียกค่อนข้างสูง ขณะที่ช่วงหลังเริ่มมีจานแบนเข้ามา เป็นช่วงเมนูเครื่องยำ ของทอด เข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมการกินของไทย สะท้อนอิทธิพลและรสนิยมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
นอกจากนี้ การพบเครื่องดื่มประเภทขวดแก้ว สามารถบอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่ จากสถานีวิทยุโทรเลข สู่โรงเรียนเตรียมทหาร และสวนลุมไนท์บาซาร์ สะท้อนการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากทุ่งนาในอดีต สู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในเวลาต่อมา
โซน 4 ย่านวิทยุ – พระราม 4 อดีต – ปัจจุบัน – อนาคต
โซนสุดท้ายเป็นการสรุปพัฒนาการของย่านวิทยุ-พระราม 4 ตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่ยังเป็นเพียงทุ่งศาลาแดง จนปัจจุบันกลายมาเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มองภาพการเปลี่ยนผ่านจากมิติทั้งนวัตกรรม สถาปัตยกรรม วิธีคิด วิถีชีวิตของผู้คน ตลอดไปจนถึงศักยภาพในการพัฒนาการย่านในอนาคต
เกร็ดเล็กน้อยที่น่าสนใจคือเรื่องราวเบื้องหลังการกำเนิดสวนลุมพินี เกิดจากรัชกาลที่ 6 ทรงมีแผนจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นงานมหกรรรมนานาชาติใหญ่ระดับโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 15 ปีของพระองค์ แม้วางแผนอย่างดี มีการปรับพื้นที่ สร้างหอนาฬิกาขนาดใหญ่ และจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกทั้งภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ แต่โครงการก็ถูกยกเลิกไป เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตกะทันหัน หลังจากนั้นพื้นที่บริเวณนี้จึงได้รับการพัฒนาเป็นสวนลุมพินี
ไฮไลต์สำคัญคือผลงานศิลปะจากสองศิลปินสะท้อนเรื่องราวของพื้นที่ย่านวิทยุ-พระราม 4
‘กาลปฏิสันถาร’ โดย นักรบ มูลมานัส สะท้อนบรรยากาศความเป็นสมัยใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 6 ผ่านรูปถ่ายเก่ามาตัดแปะหรือคอลลาจลงบนแม่พิมพ์ทองแดงโลหะ โดยภาพทั้งหมดแสดงถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในสวนลุมพินี เช่น การปิกนิก การเต้นลีลาศ การพายเรือเป็ด รวมถึงการประกวดนางสาวสยามครั้งแรก นอกจากนี้ การใช้ทองแดงโลหะมาเป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน เพราะทองแดงเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลข
‘ปิ่นโทน’ โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินนำลวดลายจากโบราณวัตถุที่ขุดพบ มาสร้างสรรค์เป็นลวดลายบนชั้นต่างๆ ของปิ่นโตชิ้นนี้ ส่วนถ้าถามว่าทำไมชื่อผลงานปิ่นโทน มาจากคำว่าปิ่นโต ผสมกับคำว่าโทน ในภาษาเยอรมันแปลว่าดี สื่อความหมายถึงการเก็บเรื่องราวดีๆ จากผืนดินไว้ในปิ่นโต รวมถึงตั้งใจเชื่อมโยงผูกเข้ากับเครื่องเบญจรงค์ไทยอีกด้วย
The Wireless House One Bangkok ตั้งอยู่ใน One Bangkok เปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.