About
RESOUND

All That Jazz

ตามหาอัตลักษณ์แจ๊ซไทยผ่าน TIJC2024 กับอาจารย์หลง – นพดล ถิรธราดล Project Manager ของงานนี้

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส ภาพ นรวีร์ ศรีมะโน Date 25-01-2024 | View 1000
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนอาจารย์หลง – นพดล ถิรธราดล Project Manager มาพูดคุยถึงThailand International Jazz Conference (TIJC) หรือเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติ เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 15 ที่จะมุ่งให้ความสำคัญกับการตามหาอัตลักษณ์ไทย นำเสนอออกมาในรูปแบบดนตรีแจ๊ซ

ดนตรีแจ๊ซเกิดขึ้นมาเพื่อนำเสนอโลกใหม่หรือโลกที่เท่าเทียม โดยต้นกำเนิดเกิดจากคนผิวดำที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพ แม้กระทั่งร่างกายของตนเอง นอกจากการตกเป็นทาสของคนผิวขาว ดังนั้นตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ดนตรีแจ๊ซจึงเกิดขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของการถูกกดทับ หรือห้วงอารมณ์ต่างๆ โดยส่วนมากจะบรรเลงผ่านการอิมโพรไวส์ หรือการด้นสดและจินตนาการของผู้เล่น ความเป็นอิสระ จึงทำให้แจ๊ซกลายเป็นดนตรีแห่งเสรีภาพและความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำเสนอความไม่สมบูรณ์แบบได้อย่างงดงาม

Thailand International Jazz Conference ครั้งที่ 15 นี้ นอกจากจะเป็นการรวมตัวกันของชุมชนคนรักแจ๊ซให้ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง Workshop และ Master Class กับนักดนตรีแจ๊ซชื่อดังระดับโลก การแสดงดนตรีจากศิลปินไทยและต่างประเทศแล้ว อาจารย์หลง - นพดล ถิรธราดล Project Manager ของงานนี้ยังขอหยิบดนตรีแจ๊ซมาใช้ค้นหาตัวตนเพื่อสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยใน TIJC ในอนาคต

Jazz

จาก Mahidol Jazz Festival สู่
Thailand International Jazz Conference

กว่าจะมาเป็นเทศกาลแจ๊ซนานาชาติที่จัดเป็นครั้งที่ 15 แล้วสำหรับปี 2024 เราอยากพาทุกคนย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการขยับขยายเทศกาลนี้กันสักนิด อ.หลง เล่าว่า เดิมทีหลังจากที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้เปิดสาขาวิชาดนตรีแจ๊ซขึ้นมาเป็นที่แรก ตามด้วย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรังสิตที่เปิดหลังจากนั้น สาขาวิชาดนตรีแจ๊ซก็ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนโดยมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้แบบ Learning by Doing โดยถัดจากนั้นคือความต้องการส่งต่อการเรียนรู้ดนตรีแจ๊ซไปสู่ผู้คนนอกรั้วมหาวิทยาลัย ทำให้ในปี 2007 ได้จัด Mahidol Jazz Festival ขึ้นเป็นครั้งแรก

Jazz

“ตอนนั้นจัดกันง่ายๆ ตรงลานโล่งด้านหน้าคณะเลย ผมก็เชิญ ม.ศิลปากร ม.รังสิต ซึ่งเขาก็มีสาขาวิชาแจ๊ซเป็นของตนเองมาร่วมเล่นกันกับเรา ตอนนั้นก็ไม่ได้มีเงินมาตอบแทนเขา เราเหมือนขอความช่วยเหลือเขามาร่วมกิจกรรมกัน ตัวเรากับนักเรียนก็ช่วยกันยกโต๊ะมาทำเวทีแบบโง่ๆ เลย (หัวเราะ) เด็กๆ ก็ช่วยกันตกแต่งเวทีด้วยการเอาสุ่มไก่มาต่อๆ กัน เอากระดาษมาพันๆ แล้วเขียนชื่อเทศกาล แล้วเอาเครื่องดนตรีที่เรามีมาวางรวมกันแล้วเล่นเลย สุดท้ายมันสนุกมาก ดร.สุกรี เจริญสุข (ผู้ก่อตั้ง ผู้อำนวยการและคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลในตอนนั้น) เขามานั่งดูแล้วก็มาบอกกับผมว่า เฮ้ย เจ๋งดีวะ อยากให้ทำอีกแต่เอาให้ใหญ่กว่าเดิม”

Jazz

อาจารย์หลง – นพดล ถิรธราดล

ด้วยความที่ยังไม่เคยจัดเทศกาลแจ๊ซกันอย่างจริงจัง อ. หลงและอาจารย์ท่านอื่นจึงเดินทางไปดูงาน International Association for Jazz Education (IAJE) งานแจ๊ซเพื่อการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปีนั้นจัดที่นิวยอร์ก รูปแบบงานแบ่งออกมาเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การจัดสอน Workshop Master Class กว่า 200 รายการในช่วงเช้า ซึ่งสอนโดยนักดนตรีระดับโลก และการจัดแสดงคอนเสิร์ตในช่วงค่ำ ยิงยาวตลอด 7 วัน ที่ทำเอาเขาและอาจารย์คนอื่นต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “แทบอ้วก เหมือนนั่งอยู่ในห้องเรียน มันจริงจังและเครียดเกินไป ไม่สนุกเลย ถ้าเราจัดงานที่ไทยแบบนั้น รับรองว่าจัดได้ปีเดียวเจ๊งแน่”

“ผมอยากให้ Jazz Festival นำ แล้ว Education ตาม เพื่อดึงคนข้างนอกให้มาศึกษาดนตรีแจ๊ซ” ความตั้งใจหลักที่ อ.หลงเกริ่นมานี้ นำมาสู่การระดมไอเดียกับอาจารย์ท่านอื่น จนออกมาเป็น TIJC ครั้งแรก ในปี 2009 “ผมแบ่งออกมาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็น Workshop Master Class ชั่วโมงต่อชั่วโมง แต่บรรยากาศจะไม่ใช่มานั่งซ้อม ส่วนตอนกลางคืนจะจัดเป็นคอนเสิร์ตที่เอาศิลปินระดับโลกที่สอนเวิร์กช้อปมาเล่นให้ดู ซึ่งคนที่มาก็ให้เขาเลือกได้ตามใจเลยว่าจะมาช่วงไหนหรือจะมาทั้ง 2 ช่วงเลยก็ได้”

Jazz

ฟีดแบ็กครั้งแรกเป็นอย่างไร “เหงาหงอยมาก คือชื่องานมันน่ากลัวอยู่นะ คนก็เลยนึกว่าคงต้องลงทะเบียนก่อนถึงจะเข้าร่วมได้ เวิร์กช้อปก็มีคนมาแค่ 20-40 คน เผลอๆ คือเด็กมหิดลเกือบทั้งหมด ส่วนคอนเสิร์ตคนมาดูแค่ 200 -300 คนเอง แต่ ดร.สุกรีบอกว่า ถึงไม่สำเร็จแต่เขาชอบมาก เขาบอก เอาอีก ทำอีก เอาให้ใหญ่กว่านี้ (หัวเราะ)” อาจารย์เล่าด้วยน้ำเสียงสนุกสนาน ทำเอาเราตื่นเต้นไปกับสิ่งที่เขาจะเล่าต่อจากนี้เลย

Jazz

TIJC เทศกาลดนตรีแจ๊ซที่จะสะท้อนให้เห็นว่า
‘การศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร’

กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว แม้ครั้งแรกคนจะน้อย แต่ทีมงานก็ยังคงผลักดันงานนี้ต่อไป

“ณ วันนี้ประเทศเรามีปัญหาใหญ่สุดไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่คือเรื่องการศึกษา มันแย่ มันถึงได้มีนักการเมืองแย่ๆ นักการเมืองจะไม่ห่วยก็ต่อเมื่อมีระบบการศึกษาที่ดี มันเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทำให้ประเทศพัฒนา ลูกศิษย์ผมไปเล่นเทศกาลแจ๊ซที่ไต้หวัน ผมถามมีใครไปดูบ้างไหม เขาบอกมีอย่างน้อย 10,000 คน ผมไม่แปลกใจ เพราะการศึกษาเขาดี เศรษฐกิจเขาดี  เลยทำให้คนมีสำนึก อยากได้ศิลปะที่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นไปอีก ดังนั้น TIJC จะเป็นดั่งเฟืองตัวเล็กๆ ที่จะเข้ามาบอกว่า การศึกษาที่ดีนั้นเป็นอย่างไร”

Jazz

ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีก็จะทำให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้ การจัด TIJC ครั้งที่ผ่านมารวมถึงครั้งที่ 15 นี้ก็จะคอยทำหน้าที่นั้น เพื่อดึงนักดนตรีและคนรักดนตรีสไตล์นี้จากทั่วประเทศมาพบปะ แลกเปลี่ยนเสียงทำนองแจ๊ซและปล่อยของร่วมกันบนเวที Oval Stage และเวที Cat Stage ให้เต็มที่ เพื่อขยายชุมชนคนรักดนตรีแจ๊ซให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้มีนักดนตรีมาร่วมมากกว่า 700-800 คนแล้ว

Jazz

Jonathan Kreisberg

อ.หลง ยังได้ขยาย Workshop และ Master Class มาเป็น Camp ที่ได้ศิลปินระดับโลกอย่าง Jonathan Kreisberg, Makro Churnchet, Joe Nartin และ Eric Harland มาสอนในหัวข้อดนตรีแจ๊ซติดต่อกัน 3 วัน เสมือนจำลองห้องเรียนนิวยอร์กมาไว้ที่ศาลายา เพื่อให้ผู้เรียนได้มาลองจริง เรียนจริง เจ็บจริง สะสมเป็นประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านดนตรีแจ๊ซต่อไป ‘ลงมือทำ’ ถือเป็นการวางรากฐานการศึกษาที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับนักดนตรีไทยรุ่นใหม่ๆ ในอนาคตได้ “เราทำแบบนี้ผ่านมา 15 ปี ไม่รู้ว่าถูกหรือเปล่า แต่เห็นได้ว่ามันขับเคลื่อนวงการดนตรีแจ๊ซของไทยไปแบบก้าวกระโดดมากๆ”

Jazz

ถึงเวลาใช้ดนตรีแจ๊ซตามหาอัตลักษณ์ไทยกันแล้ว

“อัตลักษณ์ไทยคืออะไร ผมเองก็ไม่รู้ และผมว่าคนส่วนมากก็ไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร เพราะเราอยู่ที่นี่กันอยู่แล้ว ทุกวันนี้เราเอาเมโลดีไทยเดิม ไทยลาวดำเนินทราย เพลงพม่ารำขวานมา แล้วเอาฮาร์โมนีของฝรั่งมาห่อ แล้วเราก็บอกว่า นี่คืออัตลักษณ์ไทย เอาจริงๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราคือใคร บางทีความเป็นไทยแท้อาจหมายถึงเราต้องเป็นคนอื่นไม่ใช่เป็นคนไทย ถ้าเราไม่ภูมิใจในความเป็นเราให้ได้ สังคมมันก็ต้องเดินตามตูดอยู่ตลอด อยู่ในยุค Colonization ไม่มีวันจบ” อ. หลงเล่าถึงความสำคัญและความจำเป็นของการตามหาอัตลักษณ์ไทยให้ฟัง

Jazz

วงออร์เคสตรา Thailand Philharmonic Orchestra (TPO)

Jazz

วงออร์เคสตรา Thailand Philharmonic Orchestra (TPO)

Jazz

วง The Pomelo Town

สืบเนื่องจากที่ผ่านมา อ.หลงมองว่า คนไทยสนใจดนตรีแจ๊ซกันมาก แต่พอเล่นดนตรีได้แล้ว ก็มักจะเลือกหยิบเพลงจากวงดนตรีต่างประเทศมาแกะเล่น เพื่อการทำเหมือนมากว่าที่จะสร้างผลงานขึ้นเอง Thailand International Jazz Conference ครั้งที่ 15 นี้ มีไฮไลต์พิเศษที่จะเกิดขึ้นในหอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร นั่นก็คือการที่วงออร์เคสตรา Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) ร่วมกับวง The Pomelo Town ของอาจารย์ในสาขาวิชาดนตรีแจ๊ซ จะขึ้นมาโชว์อัตลักษณ์ของไทยผ่านการดึงชีวิตส่วนตัวของนักดนตรีมาแต่งเพลง แล้วนำเสนอในรูปแบบดนตรีแจ๊ซ

Jazz

“อย่างเพลงหนึ่งคือเอาบทสวดของพระมาขยาย แล้วใส่กลองเปิงมางมาผสมด้วย หรืออีกคนหนึ่งแต่งเพลงกล่อมเด็กขึ้นมา เพราะเหมือนเขาเคยได้ยินคนร้องเพลงกล่อมเด็กแล้วรู้สึกว่าผูกพันมากๆ แล้วเอามาร้องเสียงไทยแต่ไม่มีเนื้อเพลง ทั้งนี้ มันต้องเริ่มหาให้เจอแล้วว่าเราเป็นใคร มันยากนะ เพราะฉะนั้นเราจำเป็นที่จะต้องสร้างงานออกมา การแต่งเพลงมันก็จะทำให้แต่ละคนกลับไปสำรวจและค้นหาความเป็นไทยของตนเอง เมื่อเราเจอคุณค่าที่แท้จริงคืออะไร เราก็จะภูมิใจที่เราเป็นเรา เป็นคนในชาตินี้จากคำว่าอัตลักษณ์ของไทย”

Jazz

Eric Harland

กองสนับสนุนและความตั้งใจสร้างคนไทยเป็น Global Citizen

จากการนั่งคุยกับ อ.หลงถึงการทำงานเพื่อการศึกษาและพัฒนานักดนตรีแจ๊ซในไทย เขาก็ขอโม้ให้ฟังด้วยรอยยิ้มว่า ในวันนี้ชื่อ Thailand International Jazz Conference เป็นที่รู้จักของนักดนตรีแจ๊ซระดับโลกเกือบทั้งหมดแล้ว และมีหลายคนทีเดียวที่อยากมาเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ด้วย

“บางคนที่เคยมาเล่นคอนเสิร์ตกลางแจ้งในงานนี้ ถึงขนาดบอกกับเราว่านี่คือเสียงที่ดีที่สุดกลางแจ้งตั้งแต่เคยเล่นมา หรืออย่าง Jonathan Kreisberg ที่เคยมาแล้วครั้งหนึ่งถึงกลับติดต่อมาอีกว่าอยากมาอีก จนปีนี้มีโอกาสได้มาอีกรอบ เราก็บอกเอาคนแสบๆ มาอีกสักคนสิ เขาลาก Eric Harland มาด้วยเลย ซึ่งคนนี้คือมือกลองระดับโลก อีริกมาสอนที่แคมป์คือเต็ม เพราะใครๆ ก็อยากเห็นเขา”

Jazz

เราจะเห็นว่า TIJC ผลิตของที่ระลึกไว้ขายให้คนที่มาร่วมงานด้วย ซึ่งเงินที่ได้จากการขายนั้น อ.หลงจะนำไปซัพพอร์ตนักดนตรีที่ต้องการเข้าร่วมงานแต่ขัดสนซึ่งทุนทรัพย์ ทั้งนี้ ส่วนที่น่าเศร้า เพราะถึงแม้ อ.หลงจะย้ำทุกปีว่านี่คือเทศกาลเพื่อการศึกษา แต่ดูเหมือนว่างานนี้จะไม่เข้าตารัฐมากพอจะยอมมอบทุนสนับสนุนนักดนตรีแจ๊ซในบ้านเรา

“ยอมรับว่าเราหาเงินไม่เก่ง หาได้แต่คอนเทนต์และไอเดีย เพราะงั้นเลยมีคนมาพูดกับผมว่า สักวันหนึ่งก็คงจะเจ๊ง ผมก็โกรธอยู่ เราก็หวังว่าสักวันหนึ่งคนจะมองเห็นคุณค่า และถ้ารัฐมองเห็นจริง ก็คงไม่เป็นแบบนี้หรอก เงินสร้าง TIJC ทั้งหมด 15 ปี เอามาสร้างถนนตัดกันเส้นหนึ่งสั้นๆ ยังไม่ได้เลย แต่เราสร้างถนนไปดาวอังคารแล้ว คนไทยเริ่มออกต่างประเทศ เริ่มรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้จากงานนี้แล้ว ฉะนั้น เราก็จะทำต่อไป จบที่ไหนก็เท่านั้น ไม่ต้องไปกลัว”

Jazz

ครั้งหนึ่งความตั้งใจของ อ.หลงที่มีต่อการจัดเทศกาลดนตรีแจ๊ซนานาชาติคือ เขาอยากจะสร้างนักดนตรีไทยไปสู่ระดับโลก จนกระทั่งวันหนึ่งเป้าหมายที่ว่ามานั้นไม่ได้สลักสำคัญอะไรอีกแล้ว “เราต้องทำให้ประเทศของเราเป็นส่วนหนึ่งของโลก ผมมองว่าคนไทยจะต้องเป็น Global Citizen ให้ได้ เราจะภูมิใจในความเป็นเรา ไปที่ไหนก็ไปได้ โดยที่คุยกับฝรั่งรู้เรื่อง เหมือนฝรั่งที่อยากไปไหนก็ไปได้”

Jazz

Jazz

สำหรับ Thailand International Jazz Conference ครั้งที่ 15 จะจัดขึ้นในวันที่ 26-28 มกราคม 2567 นี้ ณ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง Facebook Page : Thailand International Jazz Conference (TIJC) และเว็บไซต์ : https://www.music.mahidol.ac.th/tijc/

Tags: