- ถิง ชู เป็นทั้งศิลปินนักปั้น และครูสอนปั้นดิน เธอเชื่อว่าศิลปะคือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ งานศิลป์ สถานที่ และทุกอย่างรอบๆ ตัว
- คาแรกเตอร์ของตุ๊กตาปั้นดินของ ถิง ชู สะท้อนถึงความน่ารัก อ่อนโยน ผ่านสีหน้า รอยยิ้ม และสีสันโทนพาสเทลของเหล่าตุ๊กตา
- ถิง ชู เชื่อว่าศิลปะไม่มีหลักการที่ตายตัว เช่นเดียวกับการปั้นดินที่ทุกคนสามารถสร้างสรรค์วิธีการได้อย่างอิสระ และตามสุนทรียะของตน
เพียงไม่กี่นาทีที่ ถิง ชู ศิลปินชาวไต้หวันลงรูปงานปั้นเซรามิกของเธอในไอจี Ting Chu Studio มักมีคนจับจองขอซื้อไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่หลายชิ้นเป็นงานศิลปะมีราคา และฟังก์ชันใช้งานเป็นของตกแต่งบ้าน ที่ไม่ได้มีประโยชน์ใช้สอยมากไปกว่านั้น
อาจเป็นเพราะความน่ารักตะมุตะมิ และรอยยิ้มละมุนบนใบหน้าของเหล่าตุ๊กตาเซรามิก ที่ดูแล้วชวนให้ยิ้ม แล้วบังเอิญไปกระทบอารมณ์ความรู้สึกของใครเข้า จึงทำให้ชิ้นงานของ ถิง ชู ในวันที่เราไปเยือนสตูดิโอของเธอ แทบไม่มีเหลือในสต็อก มีเพียงผลงานบางส่วนที่เธอไม่ได้ทำขาย และบางชิ้นก็ยังไม่แล้วเสร็จดี
ถิง ชู
ถิง ชู เป็นชาวไต้หวัน ครอบครัวของเธอทำธุรกิจและย้ายมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เธอเป็นเด็ก ถิง ชู มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน โดยเธอเป็นลูกคนที่สาม และมีพี่สาวคนที่สองที่ชื่อ เถียน ชู เป็นคนที่ทำให้เธอค้นพบความชอบด้านศิลปะและเริ่มหัดวาดรูปตั้งแต่อายุ 7 ขวบ
“เริ่มจากเห็นพี่สาววาดรูป ก็เลยวาดตาม สำหรับเราในตอนนั้น การวาดรูปเหมือนเป็นโลกที่เราสามารถหนีเข้าไปได้” โลกใบเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยจินตนาการไร้ขีดจำกัดของเด็กหญิง ถิง ชู ในเวลานั้น เป็นพื้นที่เซฟโซนที่ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัย และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่
“ตอนเด็กเราไม่ได้เก่งอะไรเลย การวาดรูปจึงเหมือนเป็นทางออกเดียว ที่ไม่มีใครมาตัดสิน เพราะไม่มีใครแคร์ว่าเราจะทำอะไร แต่ถ้าอยู่นอกพื้นที่นั้น เหมือนเราต้องสวมบทบาทเป็นอะไรบางอย่าง”
ถิง ชู ไม่เคยหยุดวาดรูป และยังเก็บพื้นที่เล็กๆ ของเธอเอาไว้อย่างเงียบๆ จนกระทั่งรู้สึกชัดเจนว่าชอบศิลปะ จึงตั้งใจที่จะสอบเข้าคณะวิจิตรศิลป์ แต่เพราะสังคมในยุค 20 ปีก่อนยังไม่ค่อยมีตลาดรองรับงานด้านนี้ ทำให้ครอบครัวไม่ค่อยเห็นด้วย ในที่สุดจึงเบนเข็มมาเรียนด้านสื่อสารมวลชน สาขาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “เป็นนักข่าวก็ยังดีกว่า” ถิง ชู บอกถึงเหตุผลของพ่อแม่ที่ไม่ได้คัดค้านเธอ
วาดภาพ
ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย แม้จะไม่ได้เรียนศิลปะโดยตรง แต่ถิง ชู ยังคงวาดรูปเรื่อยมา จนมีโอกาสได้วาดภาพประกอบในหนังสือนิทาน และพ็อกเก็ตบุ๊กอยู่หลายเล่ม “ทำไปทำมาก็ยาวนานถึง 10 ปีเลย” เธอเล่า เมื่อครบ 10 ปี เธอได้พบกับ อ.คามิน เลิศชัยประเสริฐ และมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันในโปรเจกต์ 31st Century Museum of Contemporary Spirit
“ภายใต้พื้นที่ตรงนั้น ทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า งานศิลปะที่แท้จริงเป็นประมาณนี้ แล้วจะนำมาใช้กับงานที่เราชอบยังไงบ้าง เริ่มจริงจังตั้งแต่ตอนนั้น และกล้าที่จะนำงานที่เราทำอยู่คนเดียวแบบแอบๆ งานภาพประกอบที่ไม่เคยคิดว่าเป็นงานศิลปะ แต่เป็นเหมือนงานที่เราทำกันตาย เริ่มนำออกมาให้มันสัมพันธ์กับตัวเรามากขึ้น”
ถิง ชู ยื่นหนังสือที่เธอวาดภาพประกอบให้เราดู ตัวละครในนั้นถูกร่างด้วยลายเส้นที่เรียบร้อย อ่อนโยน และมีกลิ่นอายแบบญี่ปุ่น “เราพยายามจะ Simplify และลดทอนให้สื่อสารง่ายที่สุด เมื่อก่อนวาดภาพหลายแนวมาก ทำให้คนจำเราไม่ได้ ทุกครั้งที่วาดรูปให้ลูกค้า เหมือนกับเราต้องเปลี่ยนตัวเองไปด้วย เลยรู้สึกว่าเราขายแค่ทักษะ แต่เขามองไม่เห็นเรา ตอนนั้นอยู่ในวัย 20 ต้นๆ อยากจะมีตัวตน เลยคิดว่าต้องหาอะไรที่เราวาดง่ายสุด แล้วคนสามารถเสพมันได้ ก็เลยออกมาเป็นลายเส้นแบบนี้”
นอกจากนี้ เธอยังยกให้ อิซาโอะ ทาคาฮาตะ (ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง ‘สุสานหิ่งห้อย’ แห่งสตูดิโอจิบลิ) เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน และทำให้มองเห็นแง่งามของชีวิตในทุกมิติ “งานของเขามีอิทธิพลต่อเรามาก อิซาโอะทำให้เห็นความงามของการใช้ชีวิตธรรมดา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใหน เป็นลูก แม่ น้อง พี่สาว เพื่อนร่วมงาน เนื้อหาข้างในมันเต็มไปด้วยความรู้สึก ความทรงจำ พลังงาน เขาเป็นผู้กำกับที่ทำให้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ถูกชูขึ้นมา และรายละเอียดเหล่านี้ควรค่าต่อชีวิตต่อการที่เราจะไปสัมพันธ์กับมัน
“ถ้าไม่เคยเห็นงานเขามาก่อน อาจจะคิดว่าต้องสร้างงานอลังการอย่างเดียว หรือต้องฝันๆเพ้อๆ เยอะๆ ดิบๆ คนถึงจะเสพได้ เราคงจะไม่อนุญาตให้ตัวเราเป็นอย่างที่เป็นอยู่ หรืออยู่กับความจริงแท้ของตัวเองในตอนนี้”
ปั้นดิน
ถิง ชู วาดภาพประกอบเป็นงานหลักเรื่อยมา จนวันหนึ่งเพื่อนศิลปินนักปั้นดิน เจิน–กฤชนันท์ ศรีระกิจ ชักชวนให้เธอมาทำงานร่วมกันที่สตูดิโอเซรามิก Slow Hands และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการค้นพบศักยภาพอีกด้านของตัวเอง “เราสนใจปรัชญาของคาร์ล กุสทัฟ ยุง (จิตแพทย์ชาวสวิส) ที่บอกว่าคนเรามีศักยภาพในตัวเองอนันต์และไม่ได้จำกัด เพียงแต่ว่าเราอาจจะคุ้นเคยกับเครื่องมือนี้ ลักษณะนี้หรือคาแรกเตอร์นี้ เราใช้มันบ่อยจนเคยชิน แต่จริงๆ ตัวเรายังทำอะไรได้อีกเยอะมาก”
จากคนที่ไม่เคยทำงานปั้นมาก่อนในชีวิต ถิง ชู เรียนรู้เทคนิคการปั้นขั้นพื้นฐานจากเจิน ค้นหาความรู้เรื่องของอนาโตมี และการใช้สีด้วยตนเอง รวมทั้งฝึกปั้นงานในรูปแบบซ้ำๆ เช่น ปั้นหูร้อยชิ้น ปั้นช้อนร้อยชิ้น “เราปั้นอยู่อย่างนั้นประมาณสองปีกว่า เป็นการฝึกแบบไม่รู้ตัว จนคนทักว่าทำไมไม่ลองปั้นรูปที่เราวาดบ้างล่ะ ตอนนั้นเลยเริ่มปั้นงานที่เป็นของตัวเองดูบ้าง ก็มีคนสนใจซื้อ และอยากให้สอน เราไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน ทุกอย่างเป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ”
สุนทรียะ
งานปั้นของ ถิง ชู เป็นรูปสัตว์ คน และธรรมชาติ เธอพยายามดึงสี เท็กซ์เจอร์ หรือรูปทรงที่วาดให้ใกล้เคียงกับงานปั้นมากที่สุด โดยทุกขั้นตอนเธอลงมือทำด้วยตนเอง ทั้งปั้นดิน ขึ้นรูป และการเผาไฟ “ทุกชิ้นงานเป็นการขึ้นกลวง ปั้นเสร็จก็ตัด คว้านข้างใน หรือเจาะรูให้มีช่องระบาย ซึ่งทำได้หลายวิธี เวลาสอนคนที่มาเรียน เราจะแนะนำแค่เทคนิค วิธีประกอบ การคว้าน การขึ้นรูปเพื่อให้ปลอดภัยตอนเผาไฟ และเครื่องมือที่ใช้ แล้วให้เขาเลือกเองว่าจะใช้ยังไงให้เข้ากับสุนทรียะของตัวเอง เพราะศิลปะไม่ใช่สิ่งตายตัว มันคือสุนทรียะในพื้นที่ ณ เวลาที่เหมาะสมสำหรับคนคนนั้น
“สมมติวันนี้เราอยู่ในพื้นที่ที่รู้สึกไม่ค่อยสวยงามเลย แต่ถ้าเรามีศิลปะ เรามีสัมพันธ์กับศิลปะ คือเรารู้สึกว่ามันไม่สวยงามยังไง เราจะมีวิธีการหามุมมองที่จะอยู่กับมัน หรือสื่อสารกับมัน ศิลปะคือการสื่อสาร การทำงานกับดินก็คือการสื่อสารหรือการสัมพันธ์ระหว่างเรากับดิน เลยเกิดเป็นสุนทรียภาพหรือความคิดสร้างสรรค์จากเงื่อนไขเหล่านี้”
ทุกวันนี้ ถิง ชู วาดภาพประกอบและทำงานปั้นควบคู่กัน เธอบอกกับเราว่า งานปั้นได้เงินน้อยกว่าแต่คือความมหัศจรรย์ “งานภาพวาดประกอบคืองานหาเลี้ยงชีพ แต่หลังๆ มานี้ คนจะจำเราได้ว่าทำงานปั้น แต่เราไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นศิลปิน เรารู้สึกว่า Ting Chu Studio เป็นเพียงดัมมีหนึ่ง เป็นอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่เรา 100%
“ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ถ้ามือสองข้างเราหายไป ก็ไม่เป็นไร ตัวเราอาจจะไปทำอาชีพอื่น Ting Chu Studio อาจจะจบไปเลยก็ได้ ความเป็นศิลปินไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นเพียงบทบาทหนึ่งที่เราต้องรับผิดชอบ และสารที่ต้องการจะสื่อผ่านบทบาทนี้ ก็เหมือนเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้น ใครจะคิดยังไงกับเราก็ได้ เป็นได้หมดเลย ตราบใดที่มันตอบโจทย์และสื่อสารกับคนอื่นได้ เพราะถึงจะเป็นอะไรก็ตาม เราก็ยังเป็นเราอยู่ดี”
Ting Chu Studio
117/4 ซอย 3 มุทิตา ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
โทร. 094-915-5639
Facebook : Ting Chu Studio
IG : tingchustudio