About
RESOUND

หลังฉากซีรีส์ ‘อนาคต’ กับการตีความ Sci-fi ไทยสุดจัดจ้าน ฉบับผู้กำกับ ‘กอล์ฟ-ปวีณ’

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับผู้กำกับกอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา เจาะเบื้องหลังคอนเซปต์อาร์ตและแกนใจแนวคิดของซีรีส์ ‘Tomorrow and I : อนาคต’ ที่ตีความ Sci-fi ไทยให้เสพง่ายขึ้น

ปี 2024 เป็นปีที่ซีรีส์และหนังไทยได้ลงบนสตรีมมิง Netflix เยอะขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เราได้เห็นฝีมือคนไทยที่พล็อตและงานภาพไต่ระดับความเก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ ราวกับว่าวงการภาพยนตร์ไทยได้โชว์ของดีกว่าเดิม และซีรีส์ไทยที่เราได้ดูส่งท้ายปี 2024 คือซีรีส์ Sci-fi พล็อตล้ำๆ อย่าง “Tomorrow And I : อนาคต”

ความอินในซีรีส์ที่ยังค้างคาในใจ ได้พาตัวเรามาเยือน จังก้าสตูดิโอ โปรดักชันเฮาส์ที่จัดทำซีรีส์อนาคต เพื่อมาพูดคุยกับคุณกอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับซีรีส์เรื่องนี้กันแบบเจาะลึกถึงที่

Tomorrow And I : อนาคต (เราขอเรียกชื่อซีรีส์แบบสั้นๆ ในที่นี้ว่าอนาคต) ซีรีส์ที่มีกระแสตั้งแต่ทีเซอร์ออกมา เหตุเพราะโดนทักท้วงว่ามีความคล้ายกับซีรีส์ Black Mirror ที่เป็นซีรีส์แบบจบในตอน ซึ่งอนาคตเองก็เป็นการมัดรวม 4 เรื่องราวที่ไม่ผูกโยงต่อกันเอาไว้ในซีรีส์เดียว และนานๆ ทีเราจะได้เห็นซีรีส์ไทยสไตล์นี้ในธีม Sci-fi เพราะที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับซีรีส์จบในตอนด้วยพล็อตผีไทย อย่างเด็กใหม่ (แนนโน๊ะ) หรือไม่ก็ เพื่อนเฮี้ยนโรงเรียนหลอน

“อนาคตเป็นซีรีส์ที่ได้ไอเดียจากการทำแนนโน๊ะภาค 2 เหมือนกันนะ ปกติแนนโน๊ะจะจัดการคนเลว แต่ภาคนี้แนนโน๊ะจัดการกับระบบแทน ฟีดแบ็กจากคนดูที่อินกับประเด็นทางสังคมในภาค 2 ก็มีเยอะมาก มันแปลว่ามีคนรอเนื้อหาแบบนี้อยู่”

ซีรีส์อนาคตจึงฮุกหมัดเข้าหาคนดูด้วย 4 ตอน 4 ประเด็นทางสังคม ตั้งแต่ตอน นิราศแกะดำ ที่พูดถึงเรื่องตัวตนและความเท่าเทียม, เทคโนโยนี เสียดสีในเรื่อง Sex Worker, ศาสดาต้า การถกเถียงว่าอะไรคือพุทธแท้พุทธเทียม? และ เด็กหญิงปลาหมึก ที่สะกิดใจคนดูด้วยประเด็น Climate Change

ขอเตือนไว้ก่อนว่า บทความนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาแบบไม่กั๊ก เพราะ ONCE ได้รู้เฉลยเกี่ยวกับเนื้อหาที่กอล์ฟแอบแฝงไว้ในแต่ละตอน และสิ่งที่ผู้กำกับกอล์ฟแฝงความหมายเอาไว้ซีรีส์นี้ ทำเอาเราขนลุกซู่เลยทีเดียว หากใครพร้อมแล้ว ไปเปิดหลังม่านส่องเบื้องหลังสุดเอ็กซ์คลูซีฟของซีรีส์อนาคตผ่านบทความนี้กัน

ซีรีส์อนาคต

3 ปี  4 ตอน

ถ้าให้เลือกว่าขั้นตอนไหนยากที่สุดของการทำซีรีส์นี้ กอล์ฟคงยืนยันว่าทุกขั้นตอนยากเท่ากันหมด เพราะระยะเวลา 3 ปีคือเวลาไม่น้อยเลย สำหรับการสร้างซีรีส์ 1 เรื่อง

“โปรเจกต์นี้ทำก่อนซีรีส์สาธุกับ Doctor Climax และอีกหลายๆ เรื่องเลยนะ แต่มาเสร็จทีหลังเขา”

ปีแรก สำหรับการรีเสิร์ชข้อมูล

ปีที่ 2 สำหรับการถ่ายทำ

ปีที่ 3 สำหรับการทำ CG

ไม่แปลกใจว่า ทำไมซีรีส์อนาคตเสร็จหลังเรื่องอื่นๆ และได้ออนแอร์เข้าจริงก็สิ้นปี 2024

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ เริ่มจากการที่กอล์ฟได้คุยกับ พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกที่กำลังศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งพีพีมีความคิดอยากทำ Sci-fi ไทยดูบ้าง แน่นอนว่ากอล์ฟก็ต้องกลับมาทำการบ้านว่า Sci-fi ไทยคืออะไร เพราะถ้ามาลองย้อนดูดีๆ ความเป็นภาพยนตร์ Sci-fi ของไทยมักดูเด๋อด๋า และไม่ถูกจริตคนไทยนัก

“มองว่า Sci-fi ไทยคงไม่ได้มีปืนเลเซอร์มายิงกัน ไม่ได้กอบกู้โลก ที่ไม่ทำอะไรแบบนั้น เพราะคนไทยยังต้องต่อสู้กับวิถีชีวิต หรืออะไรที่มันไม่เหมาะสมกับทุกวันนี้กันอยู่แล้ว เอาจริงๆ ที่สภาพความเป็นอยู่ของเราในตอนนี้ เราจะเอาสติเอาแรงที่ไหนไปสู้กับเอเลียนหรือ AI ที่จะครองโลกวะ มาคุยกันเรื่องสิ่งที่ต้องเจอปัจจุบันกันดีกว่า”

กอล์ฟจึงตีโจทย์ให้ Sci-fi ไทย คือการเล่าประเด็นทางสังคมในแบบที่ใช้เงื่อนไขของ ‘อนาคต’ หรือ ‘ความล้ำเทคโนโลยี’ มาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ซีรีส์ Sci-fi แบบไทยๆ ไม่ประดักประเดิด

 

ซีรีส์อนาคต

และประเด็นทางสังคมที่หยิบยกมาพูดในซีรีส์เรื่องนี้ ไม่ได้ถูกจำกัดว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเท่านั้นด้วย เพราะจะออนแอร์บน Netflix ทั้งที ก็คงต้องทำให้คนทั่วโลกรับสารได้เข้าใจตรงกัน และไม่เสียภาพลักษณ์ของไทยด้วย

แม้จะบอกว่าซีรีส์อนาคตไม่ทำให้เสียภาพลักษณ์ของไทย แต่บางตอนมีเนื้อหาที่เสียดสีอย่างโจ่งแจ้งขนาดนี้ Netflix มีกองเซ็นเซอร์แบบบ้านเราด้วยไหมนะ?

“การทำงานกับ Netflix มีสิ่งที่เรียกว่า Film Board การทำงานจะคนละแบบกับกองเซ็นเซอร์บ้านเรานะ เพราะ Netflix เป็นบริษัทต่างชาติครับ”

ซีรีส์อนาคต

กอล์ฟสรุปให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับการทำหนังในประเทศไทย เริ่มจากการเขียนบทและสร้างหนังให้เสร็จสรรพ แล้วจึงส่งต่อไปให้ทางกองเซ็นเซอร์ (กบว.) พิจารณาว่า หนังจะได้ผ่านเข้าไปฉายในโรงหนังหรือเปล่า ตัดภาพมาที่การทำหนังหรือซีรีส์กับ Netflix ที่ต้องมีการพัฒนาเรื่องพล็อตและบทหนังร่วมกันกับ Film Board ก่อน เรียกได้ว่าเป็นการตรวจดักตั้งแต่ต้นทาง ไม่ใช่การตัดฉับที่ปลายทางแบบกระบวนการส่งหนังไทย

“จริงๆ สคริปต์เทคโนโยนีเวอร์ชันแรกโดน Film Board ปฏิเสธนะ แต่ทำให้เรากลับมาทำการบ้านกับมันมากขึ้น และเล่าในแบบที่ยังคงประเด็นที่จะสื่อสารเอาไว้ได้ แต่ก็ไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศหรือของใครนะ”

เพราะในตอนเทคโนโยนีไม่ได้ระบุว่า เมือง ผู้คน หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประเทศไทย แต่เป็นเมืองสมมติ ผู้คนสมมติที่กำลังถกเถียงกันในเรื่องอาชีพโสเภณีเพียงเท่านั้น (แม้ว่าคนไทยจะทราบกันดีว่า แท้จริงแล้วเมืองสมมตินั้นหมายถึงสถานที่ไหน แต่ให้สิ่งนั้นถือเป็นเพียงประสบการณ์ร่วมกันของผู้ชมก็แล้วกัน)

แม้เทคโนโยนีจะเป็นตอนที่ 2 ของซีรีส์ที่ออนแอร์บน Netflix แต่กลับเป็นตอนสุดท้ายของกระบวนการถ่ายทำ เพราะกว่าสคริปต์จะผ่านก็กินเวลาเข้าไปนานโข แต่ถือเป็นตอนที่กอล์ฟและทีมงานได้ใช้เวลาด้วยมากที่สุด ซึ่งกระแสตอบรับเฉพาะตอนเทคโนโยนี เรียกได้ว่ามีแต่คำชมและเกิดการแลกเปลี่ยนกันในหมู่ผู้ชมมากที่สุดจากใน 4 ตอนเลยก็ว่าได้

ซีรีส์อนาคต

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

เราแอบสงสัยว่า ทั้ง 4 ตอนนี้ ถ้าไม่เรียงลำดับการเล่าเรื่องแบบที่ออนแอร์บน Netflix กอล์ฟจะเรียงลำดับเรื่องราวทั้ง 4 ตอนนี้ผูกโยงกันแบบไหนดี

“ตามฉบับตัวผม จะเรียงตามไทม์ไลน์ของยุคว่าอะไรเกิดขึ้นก่อน-หลัง”

ตอน ศาสดาต้า – อนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า

ตอน นิราศแกะดำ – อนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า

ตอน เทคโนโยนี – อนาคตในอีก 15 ปีข้างหน้า

ตอน เด็กหญิงปลาหมึก – อนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า

“จริงๆ ตอนผมไปเสนอ Netflix เรายกไปทั้งหมด 7 ตอนนะ แต่ทาง Netflix ดูแล้วมองว่า 7 ตอนนี่น่าจะทำสัก 5 ปี หรืออาจจะไม่ทันได้ฉายเลยนะ สุดท้ายเลยมาบรรจบที่ 4 ตอน ซึ่งเป็น 4 ประเด็นที่สมบูรณ์มากเลยครับ”

ซีรีส์อนาคต

อนาคต (อาจ) ย่ำอยู่กับที่

นอกจาก 4 ประเด็นนี้แล้ว กอล์ฟยังอยากพูดถึงประเด็นอื่นๆ เช่น Generation Gap การศึกษา หรือการพนันที่อยู่ใกล้ตัวพวกเรา แต่ทุกคนกำลังทำเป็นมองไม่เห็นมัน แต่แค่ 4 ประเด็นจาก 4 ตอน ก็ครอบคลุมถึงสิ่งที่สังคมไทยและสังคมโลกกำลังประสบปัญหาที่แก้ไม่ออกได้ดี แต่เมื่อ ONCE ได้คุยกับกอล์ฟทั้งที คงต้องมาคุยเรื่อง Art Direction หรือแนวคิดที่แฝงไว้ในแต่ละตอนกันบ้างว่า กอล์ฟและทีมงานออกแบบแต่ละตอนด้วยแนวคิดแบบไหน

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

01 ศาสดาต้า

จุดเด่นของตอนนี้คือการนำโฮโลแกรมมาใช้เป็นลูกเล่นตลอดทั้งเรื่อง ในขณะที่เนื้อหาของตอนนี้เหมือนเป็น ‘เวทีโต้วาทีของศาสนาพุทธ’ งานอาร์ตที่ใช้ในเรื่องจึงมีความเป็นไซเบอร์พังก์หน่อยๆ เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปแล้ว แต่ผู้คนยังคงถกเถียงในแนวคิด ยังติดกับดักของคำว่าศีลธรรมในใจ ตอนศาสดาต้าจึงเป็นการผนวกเอาความเป็นเทคโนโลยีและความเป็นปรัชญาเข้าไว้ด้วยกัน

ในแง่ของงานอาร์ตจากตอนนี้จึงเป็นจุดเสริมที่ทำให้ประเด็นของเรื่องแข็งแรงขึ้น ซึ่งเป็นตอนที่เชื่อว่าคนดูคงมีจังหวะพยักหน้าเห็นด้วยกับทั้งสองฝั่งคู่โต้วาที เพราะกลุ่มคนทั้งสองฝ่ายในตอนนี้ต่างก็มีเหตุผลอันหนักแน่นเป็นของตัวเอง

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

ในตอนจบอันของศาสดาต้ายังคงจบแบบปรัชญา เป็นการมอบบทให้คนดูกลับไปตกตะกอนต่อว่า ทั้งคุณและสังคมจะอยู่ร่วมกับศาสนาต่อไปอย่างไร?

“ตอนจบของศาสดาต้าคือ ผมอยากพูดแค่นี้แหละ ซึ่งหน้าที่ของซีรีส์ไม่ใช่การเคาะว่า คุณต้องทำอะไร เพราะหน้าที่ของมันคือ การทำให้คุณได้ฉุกคิดก็พอแล้ว”

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

02 นิราศแกะดำ

งานภาพในตอนนี้จุดเด่นอยู่ที่ความรู้สึกสะอาด สบายตา มีพื้นที่โล่ง เพราะในตอนนี้เด่นเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ แต่มองดีๆ จะพบว่า สถาปัตยกรรมในเรื่องถูกออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับ ‘โครโมโซม’ และ ‘DNA’ เพราะการโคลนนิงคือเนื้อหาหลักของตอนนี้

“อุปกรณ์ที่เห็นในแล็บคืออุปกรณ์ที่ใช้ทำ Genetics จริงๆ พวกเราไปยืมมาจากแล็บของปอย-ตรีชฎา เพราะผมไม่ได้ชวนปอยมาเล่นเรื่องนี้เพียงเพราะเป็น LGBTQ+ นะ เพราะวันแรกผมนึกถึงปอยในฐานะนักวิทยาศาสตร์”

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

กอล์ฟเล่าขยายความต่อว่า ในตอนนี้นอกจากจะพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม ประเด็นหลักที่อยากสื่อสารคือเรื่องตัวตน กอล์ฟเอาพล็อตการโคลนนิงมาเล่นกับคนดู เพราะกอล์ฟตั้งคำถามว่า ‘การทำสำเนาตัวเราเอง มันใช่ตัวตนของเราจริงๆ ไหม’ การโคลนนิงจึงควบรวมเข้ากับการแสดงตัวตนในแง่ทางสังคมได้อย่างพอดิบพอดี

ประโยคเด็ดจากตอนนี้ที่ตรึงใจกอล์ฟ ตรึงใจคนทั้งกองถ่าย ตรึงใจคนดู และถือเป็นหัวใจหลักของตอนนี้ คงเป็นประโยคที่ปอย-ตรีชฎาพูดว่า

‘คนที่เขาไม่ชอบร่างกายตัวเอง มันทรมานเหมือนคนไม่มีบ้านเลยนะเว้ย’

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

03 เทคโนโยนี

เทคโนโยนีถือเป็นตอนที่ Art Direction จัดจ้านที่สุดก็ว่าได้ เพราะความก้าวหน้าของเซ็กซ์โรบ็อต ขัดกับแฟชั่นและสีสันในเรื่องที่เป็นสไตล์ยุค 60-70 ซึ่งอธิบายแก่นของตอนนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะตอนเทคโนโยนีคือ การต่อสู้ของแนวคิดที่สวนทางกัน ระหว่างอาชีพโสเภณีกับศีลธรรมอันดีของสังคม

Art Direction ที่สื่อถึงความย้อนแย้งจึงนำเสนอมาในรูปแบบ Retrofuturistic คือสไตล์งานอาร์ตที่มองภาพฝันถึงอนาคต เป็นโลกในอุดมคติที่ถูกนึกคิดในยุคปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งถ้ามองจากประเด็นของตอนนี้ คงกล่าวได้ว่า สิ่งที่เจสซิก้า (ตัวเอก รับบทโดย วี-วิโอเล็ต วอเทียร์) กำลังต่อสู้อยู่ ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่มีทางประสบผลสำเร็จ

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

แต่เบื้องลึกที่กอล์ฟอยากสื่อสาร ทำเอาเราขนลุกซู่เมื่อได้ฟังเฉลยจากเจ้าตัว

“ถ้าเฉลยเลยคือ Retrofuturistic เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ฉะนั้น เรื่องราวทั้งหมดในเรื่องของเจสซิก้ายังไม่เกิดขึ้นจริงด้วยซ้ำ ทั้งหมดเป็นเพียงภาพฝัน เซ็กซ์โรบ็อตเป็นแค่จินตนาการจากตุ๊กตาบาร์บี้ในบ้านสมัยเด็กของเจสซิก้า ความจริงของตอนนี้มันจบอยู่ที่เด็กหญิงเจสซิก้านั่งนึกคิดอยู่ดาดฟ้าเท่านั้น”

อีกสิ่งที่ขยี้ให้เรารู้สึกเจ็บแสบกับตอนนี้มากกว่าเดิม คือตอนจบของเจสซิก้า ที่สุดท้ายเธอเลือกจะทำธุรกิจที่ไม่ขัดกับ ‘ศีลธรรมอันดีของสังคม’

“คนที่พยายามจะลุกขึ้นมาต่อสู้บางอย่างในประเทศนี้ สุดท้ายแล้วก็ต่อสู้ไม่ได้ ต่อให้คุณมีสติปัญญา มีความสามารถในการสร้างหุ่นยนต์ที่เหมือนคนขึ้นมาได้ แต่สุดท้ายประเทศนี้ไม่ได้อยากได้สิ่งนี้ ประเทศนี้ต้องการแค่หุ่นยนต์กระป๋องที่เก็บกวาดบ้าน ทำหน้าที่ตามที่สั่ง ไม่ต้องคิด ไม่ต้องฉลาด”

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

04 เด็กหญิงปลาหมึก

คอนเซ็ปต์ของตอนนี้มีความคล้ายคลึงกับตอนศาสดาต้า ความเป็นไซเบอร์พังก์ในตอนนี้ค่อนข้างชัดเจน เพราะเป็นตอนที่แม้ไทม์ไลน์จะอยู่ในยุค 30 ปีข้างหน้า แต่เมืองสลัมสมมติอย่าง ‘นีโอคลองเตย’ ยังดูไม่ไฮเทคตามยุคสมัยเอาเสียเลย และนั่นคือความตั้งใจของธีม Art Director

ความไฮเทคของยุคปรากฏขึ้นเฉพาะข้าวของเครื่องใช้บางอย่างในสลัม เช่น ทีวีโฮโลแกรม วิทยุไฮเทค หมากรุกโฮโลแกรม เพราะสิ่งของเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คน แต่เมืองกลับไม่ถูกพัฒนาไปตามเทคโนโลยีเหล่านั้น เพราะความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่

นอกจากการสะท้อนเรื่องความเหลื่อมล้ำ ตอนนี้ตั้งใจชูเรื่อง Climate Change เป็นหลัก เรานึกสงสัยว่า ทำไมกอล์ฟถึงเลือกใช้ ‘วิกฤตฝนตกไม่หยุด’ มาเล่น แทนที่จะหยิบเรื่องน้ำท่วมฉับพลัน หรือเรื่องอากาศร้อนระอุมาเล่าในตอนนี้

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

“เอาเข้าจริง แค่ฝนตกไม่หยุดติดต่อกัน 2 ปี ชีวิตก็บรรลัยแล้วครับ เพราะหนึ่งคือออกซิเจนต่ำลง โรคมากมายที่มาพร้อมความชื้น อากาศร้อนแค่เปิดแอร์ก็สบายแล้ว แต่ฝนตกทุกคนหนีไม่ได้ เพราะพวกเราอยู่ใต้ฟ้าเหมือนกันหมด”

ความสนุกของตอนนี้ไม่เพียงแค่วิธีการเล่าเรื่องที่มีความคอมเมดี แต่ยังหยิบยกเอาบุคคลสำคัญในหน้าสื่อมาอ้างอิงอยู่หลายคนด้วย แต่คนที่เรารู้สึกเซอร์ไพรส์ที่สุดคงเป็นตัวละครเด็กชายออทิสติก (พี่ชายของตัวเอกอย่าง เด็กหญิงปัน)

“ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าพี่ชายของปันเป็นคนที่คอยเตือนทุกคนเสมอ เขาเห็นข่าวเป็นคนแรก เขารู้ว่าฝนตก ตัวละครนี้คือตัวแทนน้องเกรตา ธันเบิร์ก เพราะสังคมล้อเลียนว่าน้องเป็นออทิสติก หรือแม้กระทั่งเสื้อกันฝนสีเหลืองก็สื่อถึงเขา เพราะน้องใส่ชุดนั้นตลอด ความออทิสติกมีหลายแบบ ทั้งหมกมุ่น ทั้งโฟกัส หรือการควบคุมตัวเองไม่ได้ ผมเลยหยิบยืมคาแรกเตอร์ของคนหลายมุมโลกมาใส่ไว้”

ซีรีส์อนาคต

เครดิตภาพ : Netflix

โค้งสุดท้ายของการพูดคุยกับกอล์ฟ เราแอบถามว่า ซีรีส์อนาคตจะมีซีซัน 2 ไหม กอล์ฟหัวเราะพร้อมกับตอบทันควันว่า

“ไม่น่ามีครับ เพราะคนดูยังไม่ได้เยอะขนาดนั้น แต่ผมก็ยังเชื่อในสิ่งที่ทำอยู่นะ แต่อาจจะปรับบริบทของมันไป ไม่แน่ว่ามันอาจจะได้ไปต่อในรูปแบบของภาพยนตร์ก็ได้”

ซีรีส์อนาคต

กอล์ฟเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมว่า สิ่งที่เขารู้สึกดีใจจากการทำซีรีส์เรื่องนี้คือ ในแต่ละตอนล้วนมีแฟนคลับในตัวของมันเอง เพราะโดยทั่วไปแล้ว ส่วนใหญ่คนดูมักจัดอันดับแต่ละตอนตามคุณภาพของเนื้อหาและงานภาพ แต่ซีรีส์อนาคตถูกจัดอันดับตามสิ่งที่คนดูมีความรู้สึกร่วมกับหนัง จัดอันดับตามความสนใจในประเด็นนั้นๆ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่กอล์ฟรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่สุด

“ที่เซอร์ไพรส์คือหนังไปได้ถึงทุกคนในสังคม ตั้งแต่นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านทั่วไป หรือกระทั่งมีผู้ชายคนหนึ่งเขาส่งข้อความมาหาผม แล้วบอกว่า เขาไม่เคยสนใจเรื่อง LGBTQ+ มาก่อน เคยจะรังเกียจคนกลุ่มนี้ด้วย แต่พอเขาดูนิราศแกะดำ กลายเป็นเขาได้เข้าใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น จากใจคนทำหนังเลยนะ นี่มันยิ่งกว่าคำรีวิวที่บอกว่าชอบหรือชมว่าเราเก่ง เพราะไปจุดประกายให้คนดูได้จริงๆ ครับ”

Tags: