About
TRENDS

Tourism for All

พลิกเกมสู้วิกฤตด้วย Tourism for All ปลุกพลังการท่องเที่ยว เพื่อ‘ทุกคน’ อย่าง ‘เท่าเทียม’

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง ภาพประกอบ ANMOM Date 24-10-2022 | View 2409
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • Tourism for All หรือการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เป็นแนวคิดที่รองรับกลุ่มนักเดินทาง ‘ทุกคน’ ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อจำกัดด้วยเพศ อายุ สภาพร่างกาย ความสามารถทางภาษา รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก
  • การศึกษาชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้เป็นตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ 88.6 พันล้านยูโรภายในปี 2568 เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะเดินทางพร้อมคนดูแล เฉลี่ยรวม 1.5 คนต่อการเดินทาง 1 ครั้ง
  • แนวคิดหลักที่สนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวสำหรับทุกคนที่จะต้องนำไปใช้คือ Universal Design ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน แต่ควรได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง เข้าใจและใช้งานได้มากที่สุด

เพราะการเดินทางทำให้คุณสามารถเป็นตัวของตัวเองในแบบต่างๆ ได้มากมาย บ้างได้ค้นพบตัวเอง ได้ทำสิ่งใหม่ๆ ฮีลใจในวันที่อ่อนล้า ปลุกความกล้าทลายกำแพงความกลัวและอีกร้อยพันเหตุผลที่ทุกคนควรมีสิทธิท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียมโดยไม่มีอุปสรรค ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา ผู้ทุพพลภาพหรือมีความต้องการพิเศษ เป็นต้น

ด้วยประมาณ 15% ของประชากรโลก หรือมากกว่า 1 พันล้านคนเป็นบุคคลทุพพลภาพหรือต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วทั่วโลก ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) บ่งบอกได้ถึงตลาดที่มีศักยภาพขนาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผลักดันให้แนวคิดการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All ) กำลังถูกให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบต่อสังคมด้านสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่นี่คือโอกาสทางเศรษฐกิจและการแข่งขันเลยก็ว่าได้

tour 2

การท่องเที่ยวสำหรับทุกคน

Tourism for All หรือการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล เป็นแนวคิดที่รองรับกลุ่มนักเดินทาง ‘ทุกคน’ ให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้อย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีข้อจำกัดด้วยเพศ อายุ สภาพร่างกาย ความสามารถทางภาษา รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก บริการของภาครัฐและเอกชน มี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ การท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้ (Accessible Tourism) การท่องเที่ยวเพื่อสังคม (Social Tourism) และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable tourism)

แนวคิดนี้จึงไม่ใช่แค่การจัดการโครงสร้างหรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเอื้อต่อการเดินทางของผู้ใช้วีลแชร์ ผู้สูญเสียสมรรถภาพทางร่างกาย บกพร่องทางการมองเห็นหรือการได้ยินเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ อย่างเช่น ผู้สูงอายุ พ่อแม่ที่เดินทางพร้อมเด็กเล็ก ผู้เป็นโรคภูมิแพ้และมีอาการป่วยอื่นๆ ผู้ทุพพลภาพที่มีความบกพร่องที่อาจมองไม่เห็น เช่น ภาวะด้านสติปัญหาหรือสุขภาพจิต ซึ่งล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลและการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน

ที่สำคัญ การเข้าถึงที่ว่านี้จะต้องสร้างสภาพแวดล้อม สินค้าและบริการที่เหมาะกับทุกความต้องการ สามารถเข้าถึงได้ทั้งทางกายภาพ การสื่อสารและการเข้าถึงเว็บไซต์ เพื่อมอบประสบการณ์ล้ำค่าให้กับนักเดินทางอย่างครอบคลุมมากที่สุด ควบคู่ไปกับการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของนักท่องเที่ยวและประชาชนในท้องถิ่น

แทนที่จะใช้เพียง ‘สัญลักษณ์ผู้พิการ’ พื้นที่ต่างๆ อาจมีสัญลักษณ์ที่เหมาะสมในแต่ละประเภท มีการให้ข้อมูลบนเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการเข้าถึง อาทิ การมีอุปกรณ์ช่วยฟังในทัวร์ มีการแปลภาษามือภายในสถานที่ท่องเที่ยว มีศูนย์ข้อมูลอักษรเบรลล์ เป็นต้น

tour 5

เครดิตภาพ : monticello / Shutterstock.com

จิ๊กซอว์พลิกเกมกู้วิกฤต

จะว่าไปแล้วการท่องเที่ยวสำหรับทุกคนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถูกละเลยมานาน…

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่คิดว่าเป็นตลาดที่คุ้มค่า ไม่ก็ไม่รู้ว่าจะตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้อย่างไร ทั้งที่ในความเป็นจริงนี่คือตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพไม่น้อยเลย

“นี่สามารถเป็นตัวเปลี่ยนเกมอย่างแท้จริงสำหรับแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจได้เลย มันจะช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวจากวิกฤตและกลับมาเติบโตอย่างทั่วถึงและยืดหยุ่นมากขึ้น” Zurab Pololikashvili เลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) กล่าวไว้ในวันคนพิการสากลเมื่อ 2 ปีก่อนหลังโลกได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าประชากรผู้พิการทั่วโลกมีมากกว่า 1 พันล้านคน โดยมีการคาดการณ์ว่าสัดส่วนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 40% เมื่อรวมกับกลุ่มคนประเภทอื่นที่อาจต้องการบริการที่เข้าถึงได้ชั่วคราว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ (มากกว่า 60 ปี) ที่คาดจะเพิ่มเป็น 22% ของประชากรโลกในปี 2593 คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 6 ของคนทั่วโลก เป็น 1 ใน 4 ของยุโรปและอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้การศึกษายังชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้เป็นตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ 88.6 พันล้านยูโรภายในปี 2568 เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักจะเดินทางพร้อมคนดูแล เฉลี่ยรวม 1.5 คนต่อการเดินทาง 1 ครั้ง อีกทั้งนักท่องเที่ยวสูงอายุหลายคนก็มีรายได้ที่มั่นคง มีเวลาว่างและความพร้อมมากขึ้น ดูได้จากการใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวที่มีความทุพพลภาพในสเปน มีค่าเฉลี่ยเกิน 800 ยูโรเมื่อเทียบกับคนทั่วไปที่ใช้เพียง 600 ยูโร

ไม่เพียงเป็นตลาดกลุ่มใหญ่และมีการใช้จ่ายสูง แต่ยังเหมาะกับแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวนอกฤดูกาลมาก เพราะคนไม่เยอะ ไม่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันใช้ สะดวกต่อการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น

tour 4

เข้าถึงอย่างเข้าใจ

ช่วง 3-4 ปีมานี้เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินเรื่อง Tourism for All ผ่านหูมาบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวทั่วไทย หรือการรณรงค์ของกลุ่มและองค์กร ทว่าต้องยอมรับกันว่าในทางปฏิบัติแล้วยังไม่ใกล้เคียงกับมาตรฐานสากล และเมื่อพูดถึงการมีส่วนร่วมและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อทุกคน แนวคิดหลักที่สนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาที่จะต้องนำไปใช้คือ Universal Design

เส้นทางที่มีสิ่งกีดขวางเอย ไม่มีทางลาดสำหรับวีลแชร์หรือถ้ามีก็มีความชันมากเกินไปเอย ไม่มีห้องน้ำสำหรับคนพิการในที่สาธารณะเอย ไม่มีสัญลักษณ์หรือตัวช่วยสำหรับผู้พิการทางสายตาหรือการได้ยิน ไม่มีข้อมูลสำหรับผู้ทุพพลภาพหรือต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระบบขนส่งที่ไม่เชื่อมต่อกับโรงแรมที่พัก เหล่านี้ล้วนเป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในบ้านเรา

The Centre for Excellence in Universal Design ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า Universal Design คือการออกแบบและองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง เข้าใจและใช้งานได้มากที่สุด โดยไม่มีข้อจำกัดของอายุ ขนาด ความสามารถหรือความทุพพลภาพ สภาพแวดล้อม (หรืออาคาร ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใดๆ ในสภาพแวดล้อมนั้น) และควรได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของทุกคนที่ต้องการใช้ นี่ไม่ใช่ข้อกำหนดพิเศษเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อยเท่านั้น แต่เป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการออกแบบที่ดี หากสภาพแวดล้อมสามารถเข้าถึงได้ ใช้งานสะดวกและน่าใช้ ทุกคนก็ได้ประโยชน์

ร้านอาหารมีข้อจำกัดในการเข้า-ออกลำบากสำหรับผู้ทุพพลภาพหรือไม่? โรงแรมมีขั้นตอนในการเข้าถึงและปฏิบัติตามได้ง่ายสำหรับผู้ต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า? เว็บไซต์ได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้ใช้ที่มีความต้องการแตกต่างกันแค่ไหน? คือความท้าทายที่จะต้องนึกถึงความต้องการของทุกคน ตั้งแต่กระบวนการค้นหา การจองการเดินทาง จุดหมายปลายทางไปจนถึงการเดินทางในระหว่างการเข้าพัก ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงถึงกัน

พูดง่ายๆ คือ Universal Design คือ การออกแบบที่ดีที่เข้าใจความต้องการของทุกคน

ไม่เพียงแค่การออกแบบที่ดีเท่านั้นที่จะทำให้การท่องเที่ยวเข้าถึงได้อย่างแท้จริง แต่มีพนักงาน เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของบุคคลที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษก็เป็นสิ่งสำคัญในการให้บริการ และหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุด คือการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ตระหนักและเข้าใจถึงความต้องหรือจ้างพนักงานผู้พิการร่วมทีม

tour 1

กรณีศึกษา Tourism for All ในโลก

ท่ามกลางโลกที่เริ่มตระหนักถึงผู้ทุพพลภาพมากขึ้นและการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับคนพิการเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยม ทำให้หลายประเทศพยายามออกแบบเมืองของพวกเขาให้เข้าถึงได้อย่างครอบคลุมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย

นี่คือ 5 เมืองท่องเที่ยวของโลกที่ได้รับความนิยมสำหรับการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้

บาร์เซโลน่า (สเปน) – ด้วยการท่องเที่ยวแห่งสเปนและคาตาโลเนียเห็นความสำคัญและผลักดันแนวคิดการเดินทางที่เข้าถึงได้อย่างจริงจัง ทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้ใช้รถเข็นจำนวนมากจากความสะดวกในการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะระบบขนส่ง 80% ของสถานีรถไฟใต้ดินและ 100% ของรถโดยสารเอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงได้ เช่นเดียวกับเส้นทางในเมืองเก่าที่ค่อนข้างเรียบ ง่ายต่อการสำรวจรอบๆ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใช้วีลแชร์ไม่เพียงได้รับสิทธิเข้าคิวก่อนเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวอย่างมหาวิหาร Sagrada Família เท่านั้นแต่ยังเข้าฟรีอีกด้วย! รวมทั้งสามารถสำรวจ La Rambla และ Mercat de la Boqueria ถนนและตลาดที่มีชื่อเสียงของบาร์เซโลนาได้ด้วยรถเข็น แม้แต่ชายหาดก็มีทางสำหรับรถเข็นและมีคนคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ด้วย

tour 3

พลายา เดล คาร์เมน (เม็กซิโก) – ห่างจากสนามบินนานาชาติแคนคูนเพียง 1 ชม. ที่นี่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแหล่งท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่มองหาแสงแดด ทะเลและหาดทราย โดยมีที่พักและชายหาดที่นักเดินทางทุกประเภทเข้าถึงได้ รวมทั้งผู้บกพร่องทางการเคลื่อนไหวและอื่นๆ มีทางลาดและรถเข็นสำหรับชายหาดให้บริการ มีอุปกรณ์ที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อให้ผู้พิการที่สนใจดำน้ำตื้นเพื่อชมแนวปะการังและชีวิตใต้ทะเล ขณะที่การเยี่ยมชมแหล่งโบราณคดีของชาวมายาที่อยู่ใกล้ๆ ส่วนใหญ่เข้าถึงได้หมด ซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยากสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่จะได้ใกล้ชิดกับซากปรักหักพังโบราณจริงๆ

ซิซิลี (อิตาลี) – อิตาลีอาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางแรกที่หลายคนนึกถึงเมื่อพูดถึงทริปวันหยุดพักผ่อนสำหรับผู้ทุพพลภาพ เพราะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ถนนและทางเท้าที่ไม่เรียบ และตรอกซอกซอยแคบๆ อย่างไรก็ตาม เกาะซิซิลีเป็นสถานที่ที่ดีเยี่ยมสำหรับการเข้าถึง และมีนักกีฬาคนพิการ 2 คนสร้างสถิติโลกในกินเนสบุ๊คที่นี่ คนหนึ่งเป็นผู้หญิงตาบอดคนแรกที่ดำน้ำได้ 41 เมตร อีกคนเป็นผู้อัมพาตคนแรกที่ดำน้ำได้ 59 เมตร นอกจากนี้นักเดินทางที่ทุพพลภาพ ยังสามารถร่วมกิจกรรมการดำน้ำลึก ขับรถออฟโรด การตกปลาแบบดั้งเดิม และการทำน้ำมันมะกอก เช่นเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่สร้างขึ้นโดยคำนึกถึงผู้พิการเป็นหลัก เช่น พิพิธภัณฑ์ที่ใช้การสัมผัสและสวนพฤกษศาสตร์ทางประสาทสัมผัส

tour 6

เมลเบิร์น (ออสเตรเลีย) – นอกจากระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าสะดวกและเข้าถึงได้ง่ายแล้ว การเยี่ยมชมเมืองกีฬาของออสเตรเลียจะมาพร้อมคู่มือในการเข้าถึงข้อมูลอย่าง Accessible Melbourne ซึ่งเป็น e-book ฟรีที่มีคำแนะนำสำหรับนักเดินทางที่มีความต้องการพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาร้านอาหารที่เป็นมิตรกับผู้ใช้รถเข็นที่ดีที่สุดในเมลเบิร์น เพลิดเพลินกับทัศนียภาพอันงดงามของ Great Ocean Road และเยี่ยมชมสวนสัตว์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้ง Parks Victoria ที่ง่ายต่อการเข้าถึง

พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่นิวยอร์ก (MoMA): “Please Touch the Art” – นี่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าตื่นเต้นสำหรับการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้ ซึ่งเป็นการทัวร์ชมศิลปะในพิพิธภัณฑ์สำหรับคนตาบอด ผู้เข้าร่วมสามารถสัมผัสงานศิลปะของพิพิธภัณฑ์ได้ ด้วยถุงมือพลาสติก มีไกด์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำอย่างดี และเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของวิธีการชื่นชม ตีความ และโต้ตอบกับงานศิลปะที่แตกต่างกัน ผู้บกพร่องทางสายตาอาจมีความเข้าใจและความประทับใจที่ผู้มองเห็นอาจไม่สามารถเข้าถึงได้ การเชื่อมโยงผู้รักศิลปะทั้งสองกลุ่มเข้าด้วยกันจึงสามารถเสริมสร้างประสบการณ์พิพิธภัณฑ์ให้กับทุกคนได้อย่างมาก


ที่มา
https://www.trainingaid.org/ideas-and-insights/accessible-tourism-solutions-businesses
https://www.unwto.org/news/accessible-tourism-identified-as-game-changer
https://www.iso.org/contents/news/2022/07/trending-in-global-tourism.html
https://www.e-unwto.org/doi/pdf/10.18111/9789284417919
https://www.lonelyplanet.com/articles/most-wheelchair-accessible-destinations
https://www.worldfootprints.com/6-top-and-emerging-accessible-destinations

Tags: