Travel Bubble...
รีสตาร์ทท่องเที่ยวโลก
Travel Bubble…รีสตาร์ทท่องเที่ยวโลก
- มารู้จักและเข้าใจศัพท์คำใหม่ ‘Travel Bubble’ หนึ่งในทางออกของสายเที่ยวทั่วโลก
- แผนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศที่จับคู่เดินทางกันในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจการค้า รวมถึงด้านการขนส่งอย่างน้อยก็ช่วยฟื้นการท่องเที่ยวท้องถิ่นได้บ้าง ในขณะที่นักเดินทางจากชาติอื่น ๆ ยังไม่กล้าไปเที่ยวในต่างแดนช่วงที่ไวรัสระบาดอยู่
- ขณะนี้รัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงไทย กำลังหาทางเปิด ‘ระเบียงท่องเที่ยว’ ที่อาจดีกว่าฟรีวีซ่า (Free Visa) เพื่อเปิดให้มีการเดินทางที่จำเป็นและช่วยฟื้นเศรษฐกิจที่เจอผลกระทบหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19
หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยและหลายๆ ประเทศเริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ณ เวลานี้หันไปทางไหนมักจะได้ยินแต่คำว่า 'นิว นอร์มอล' (New Normal) จนชินหู เช่นเดียวกับแผนรื้อฟื้นความเชื่อมั่นของหน่วยงานซึ่งดูแลด้านท่องเที่ยวและบริการต่างพากันเตรียมความพร้อมในการเจรจาเพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว คำว่า 'ทราเวล บับเบิล' (Travel Bubble) จึงถือเป็นศัพท์ใหม่ของการท่องเที่ยวโลกในยุคการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการกำหนดโซนท่องเที่ยวปลอดภัยและปลอดโรค โดยแต่ละประเทศจะเจรจาจับคู่กันเพื่อให้คนสามารถเดินทางระหว่างกันโดยไม่มีการกักตัว แต่ต้องมีการตรวจโรคโควิด-19 และมีเอกสารรับรองเรื่องสุขภาพแจ้งแก่ประเทศปลายทางหรือการจับคู่ประเทศที่สามารถจัดการสถานการณ์โรคได้อย่างดี นี่จึงอาจเป็นหนทางแรกๆ ในการกู้ชีพจากอาการโคม่าทางเศรษฐกิจของหลายประเทศที่น่าจับตา
รู้จัก Travel Bubble
Travel Bubble หรือระเบียงท่องเที่ยว คือกลุ่มประเทศนั้นๆ ตกลงจะเปิดประเทศให้แก่กันและกัน เพื่อให้ผู้คนเดินทางไปในอีกประเทศหนึ่งได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน แน่นอนว่าต้องใช้ความเชื่อมั่นและความเชื่อใจอย่างมากในการควบคุมไวรัสของอีกประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบ การติดตาม และการกักตัวที่มีประสิทธิภาพ
ทำไมถึงต้องมี Travel Bubble
เนื่องจากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ถ้าจะรอให้ทุกประเทศควบคุมการระบาดได้ เศรษฐกิจทั่วโลกคงพังพินาศ Travel Bubble จึงอนุญาตให้ประชากรของประเทศที่มีการจัดการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพสามารถเดินทางระหว่างกัน ทั้งเพื่อการเจรจาธุรกิจ การประชุม หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยวได้ โดยขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นๆ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจการบินและการท่องเที่ยวของประเทศ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเริ่มมีการหมุนเวียน จากที่มีการกลับมาจับจ่ายใช้สอยเกิดขึ้น
โดย The Economist ระบุว่า Travel Bubble ระหว่างประเทศที่มีการจัดการที่ดีเหล่านี้เทียบเท่ากับ 35% ของ GDP ทั่วโลกเลยทีเดียว และนับเป็น 42% ของค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวทั่วโลก ขณะที่ “Per Block” นักวิจัยจาก Oxford ก็ได้เผยว่าวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ “ทั้งสองประเทศนั้นจะต้องไม่มีจำนวนเคสผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเลย” และจะต้องไม่อนุญาตประเทศอื่นๆ เข้ามาอีกด้วย ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยให้คนสามารถเดินทางและกักตัวได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้นและยังปลอดภัย รวมถึงการทำ Travel Bubble อนุญาตให้คนแต่ละประเทศนั้นเดินทางได้ ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้
ประเทศไหนที่บ้างเริ่มแนวคิดนี้
เริ่มจากประเทศในกลุ่มประเทศบอลติกอย่างเอสโทเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย คือประเทศแรกๆ ที่มีการใช้นโยบายนี้ โดยได้เริ่มเปิดประเทศเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้พำนักในประเทศเหล่านี้เดินทางไปยัง 3 ประเทศนี้ได้ ในส่วนของฟินแลนด์และโปแลนด์ หากจำนวนผู้ติดเชื้อเหลือน้อยลง ก็อาจจะเข้าร่วมในกลุ่มประเทศบอลติกเช่นกัน
ด้านออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ข้อตกลงนี้มีชื่อว่า Trans-Tasman Travel Bubble สองประเทศนี้ก็เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่จัดการและควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นทางรัฐบาลได้เตรียมวางแผนที่จะอนุญาตให้ผู้พักอาศัยในสองประเทศนี้เดินทางไปกลับได้ ซึ่งหากจำนวนผู้ติดเชื้อในออสเตรเลียนั้นเหลือศูนย์ทั้งสองประเทศก็อาจจะทำข้อตกลงอย่างเสร็จสมบูรณ์ และเยอรมนีก็กำลังวางแผนการเปิดประเทศกับฝรั่งเศส ออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ หากมีการควบคุมไวรัสที่มีประสิทธิภาพ
ไทยเตรียมจับคู่การท่องเที่ยว
ปฎิเสธไม่ได้ว่าไทยถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก และแน่นอนว่าก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ในการเข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจับคู่การเดินทางเช่นกัน ซึ่งหลายหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านนี้ต่างมองว่า หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นแล้ว จากการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ติดเชื้อส่วนมากนั้นเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเท่านั้น การทำ Travel Bubble ของไทยก็เป็นหนึ่งในความหวังของหลายภาคส่วนในการรีสตาร์ทธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกๆ ที่จะเดินทางเข้าไทยจะเป็นนักธุรกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนกระแสการค้าและตลาดการจัดประชุม สัมมนา ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลและจัดแสดงสินค้า (ไมซ์) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางเพื่อสุขภาพและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเป็นกลุ่มขนาดเล็กด้วยตัวเอง โดยทางไทยเองต้องมีมาตรการสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนในประเทศว่าจะไม่มีการระบาดซ้ำ โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2563