เทรลทัวร์ทิวเขา
Ultra Trail du Mont Blanc เทรล – ทัวร์ – ทิวเขา…สักครั้งในชีวิตของสายวิ่ง
- ไปทำความรู้จักกับงานวิ่งเทรลระดับโลกที่เป็นความฝันของสายวิ่งไกล Ultra Trail du Mont Blanc หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า UTMB
- เส้นทางวิ่งในรายการนี้ น่าจะติดอันดับเส้นทางวิ่งที่สวยที่สุดของโลก เพราะเป็นการเสียเหงื่อที่แลกมาด้วยวิวทิวทัศน์สุดอลังการของเทือกเขามงบล็อง
- หนึ่งในนักวิ่งจากไทยที่เข้าร่วมรายการนี้ คือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เขาฟอร์มทีมกับสว่างจิต แซ่โง้ว และ สุภัทร บุญเจือ ผู้พิชิต Thailand by UTMB ทั้ง Zero และ First edition ในนามทีม True South Thailand
พูดถึงอีเวนต์ใหญ่ในฝรั่งเศส ใครต่อใครอาจนึกถึงงานปารีสแฟชั่นวีค ไม่ก็เทศกาลหนังเมืองคานส์ หรือศึกจักรยานทางไกลตูร์เดอฟรองซ์ และแน่นอน...โอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าภาพ แต่ดินแดนน้ำหอมแห่งนี้ยังมีอีกอีเวนต์ใหญ่ที่หลายคนโดยเฉพาะที่ไม่ได้อยู่ในวงการวิ่งอาจยังไม่รู้จัก นั่นคือ Ultra Trail du Mont Blanc หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า UTMB
ปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี นักวิ่งเทรลระดับหัวกะทิจากทั่วโลกนับหมื่นคนจะเดินทางมาที่ Chamonix Mont-Blanc เมืองตากอากาศในฝรั่งเศสที่มีชายแดนติดกับประเทศอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าร่วมผจญภัยในเส้นทางสุดท้าทายผ่าน 3 ประเทศ
เป็นสนามในฝันของเหล่านักวิ่งอัลตร้ามาราธอน ที่ต้องวิ่งกันแบบข้ามวันข้ามคืนกว่า 170 กม.บนความสูง 10,000 เมตร!
งานนี้ ถ้าพูดกันจริงๆ แล้วก็เหมือนมหกรรมกีฬาโอลิมปิกของเหล่านักกีฬา ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายของนักเตะ หรือศึกซูเปอร์โบว์ลของอเมริกันฟุตบอล ซึ่งหลังจากต้องยกเลิกการแข่งขันไปเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปีนี้ความตื่นเต้นกำลังจะกลับมาเริ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 23-29 สิงหาคมนี้
และที่สำคัญ…ครั้งนี้มีนักวิ่งไทยเข้าร่วมผจญภัยด้วยกัน 10 คน หนึ่งในนั้นคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ…
เดินทางสู่ Chamonix
Chamonix (อ่านว่า ชาโมนี) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่โด่งดังสำหรับคนที่อยากท่องธรรมชาติที่ใกล้ชิดกับเทือกเขามงบล็อง ในฤดูร้อน เมืองนี้คือเมืองตากอากาศ พอถึงฤดูหนาวก็จะกลายเป็นเมืองแห่งการเล่นสกี มากไปกว่านั้น Chamonix คือเมืองที่ได้รับเลือกเป็นเมืองแรกในการจัดโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 1925
คนที่มาเมือง Chamonix ส่วนใหญ่อยากมาเห็นยอดมงบล็องเป็นขวัญตากันทั้งนั้น เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหนของเมือง ก็มองเห็นมงบล็องตระหง่านอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลาจนรู้สึกว่าการได้ถูกกอดโดยทิวเขาสีขาวโพลนนั้นเหมือนกำลังยืนอยู่ในฉากดินแดนแห่งฝัน
และอีกฝันหนึ่งของคนที่เดินทางมาเยือนเมืองนี้ ก็คือการได้ร่วมงาน Ultra Trail du Mont Blanc การวิ่งเทรลที่สำคัญที่สุดในโลกซึ่งจะมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดในเมืองนี้ด้วยเช่นกัน…
ปฐมบท UTMB
เป็นเวลา 18 ปีแล้วที่ มิเชล โปเลตติ เปลี่ยนแรงบันดาลใจจากประสบการณ์การเป็นนักสกีครอสคันทรีและนักวิ่งบนภูเขาในวัยทีนสู่การเป็นหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง UTMB ร่วมกับภรรยา แคทเทอรีน โปเลตติ โดยมีจุดเริ่มต้นจากความชอบในกีฬาเอ็กซ์ตรีมระยะทางไกลบวกกับความงดงามของวิวทิวทัศน์ของยอดเขามงบล็องที่จุดประกายความคิดอยากให้มีกิจกรรมเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ทุกครั้งเมื่อขับรถกลับบ้าน
“คุณมักจะพบกับวิวเดิมๆ ของภูเขา ดังนั้นภรรยาของผม แคทเทอรีน และผม จึงเริ่มคิดกันว่าคงจะวิเศษมากหากได้เห็นวิวนี้อยู่ในการแข่งขัน” เขาอธิบายถึงจุดเริ่มต้น
ปรากฏว่าจากนั้นมีงานวิ่งบนถนนรายการหนึ่งที่ใช้เส้นทางท้องถิ่นบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ยังใช้เส้นทางถนน ต่อมามีรายการวิ่งผลัด 7 คน Tour du Mont Blanc Relay ที่จัดโดยสโมสรในท้องถิ่น ซึ่งมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันประมาณ 300 คนจาก ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ แต่แล้วก็ต้องพับเก็บไป เพราะเกิดเหตุไฟไหม้อุโมงค์ Mont Blanc ที่เชื่อมระหว่างเมือง Chamonix ของฝรั่งเศสกับเมือง Courmayeur ประเทศอิตาลี ต้องหยุดไป 3 ปีเมื่อกลับมาเปิดใหม่ก็ไม่ได้รับความสนใจเหมือนเดิมทำให้ต้องยกเลิกไปในปี 2002
เป็นโอกาสให้ โปเลตติและภรรยาของเขา ตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะจัดอีเวนต์บนภูเขา Mont Blanc หลังจากโดน เรเน่ บาเชลาร์ ประธานชมรมวิ่งเทรล CMBM คะยั้นคะยอให้จัดแข่งวิ่งเทรลระหว่างเจอกันในช่วงเดือนกันยายนปีเดียวกันที่ Place du Triangle de l’amitie ซึ่งต่อมาเป็นจุดปล่อยตัวอันโด่งดังของ UTMB และเป็นสามแยกสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างฝรั่งเศส อิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ โดยมี ฌอง-โคลด มาร์มิเยร์ เป็นอีกหนึ่งคนที่มีส่วนสำคัญในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง
ในฐานะนักปีนเขาที่ยอดเยี่ยม มาร์มิเยร์ ไม่เพียงสร้างเส้นทางการแข่งขัน แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์ต่างๆ โดยเฉพาะการหาพันธมิตร การจดลิขสิทธิ์แบรนด์ รวมไปถึงการแนะนำว่าควรทำอะไร ซึ่งตอนนั้นพวกเขายังไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับการวิ่งเทรล แต่ในทีมเชื่อว่าการจัดแข่งขันอัลตร้ารันนิ่งรอบภูเขามงบล็องจะประสบความสำเร็จแน่นอน โดยปัจจุบัน Marmier ได้จากโลกนี้ไปแล้วเมื่อปี 2014 ขณะทำเส้นทางการแข่งขันประเภท PTL อยู่บนภูเขา ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว
สัปดาห์แห่งความท้าทาย
แม้ผู้คนในเมืองจะคิดว่าพวกเขาบ้าไปแล้วแต่ในช่วงแรก แต่การเปิดตัวครั้งแรกในปี 2003 ตามเส้นทาง Tour du Mont Blanc กลับได้รับความสนใจเกินคาด เมื่อพวกเขาตั้งเป้าไว้เพียง 300 คนและหากมีคนสมัครถึง 500 คนก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว แต่ปรากฏว่า มีนักวิ่งเข้าร่วมแข่งขันกว่า 700 คนจากหลายสิบประเทศ
“มันวิเศษมาก!” Poletti เผยความรู้สึกในการให้สัมภาษณ์กับ www.trailrunnermag.com แต่ด้วยสภาพอากาศที่เลวร้ายทำให้มีผู้จบการแข่งขันเพียง 10% เท่านั้น
ถึงอย่างนั้นจากระยะทาง 153 กม. ในปีแรกก็มีการปรับเพิ่มขึ้นอีกเป็น 155 กม. และเปลี่ยนแปลงแทบทุกครั้งจนปัจจุบันระยะ UTMB อยู่ที่ 170 กม. ความสูงสะสมประมาณ 10,000 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่มีนักวิ่งมากที่สุด และด้วยความต้องการเข้าร่วมแข่งขันเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วง 3 ปีแรกทำให้มีการเพิ่มระยะเป็นครั้งแรกในปี 2006 ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ รวมตอนนี้มีทั้งหมด 7 ระยะ ได้แก่
-UTMB: ระยะทาง 171 กม. ความสูงประมาณ 10,000 เมตร จำกัดเวลาที่ 46.30 ชม.
-CCC: ระยะทาง 101 กม. ความสูงประมาณ 6,100 เมตร จำกัดเวลาที่ 26.30 ชม.
-TDS: ระยะทาง 145 กม. ความสูงประมาณ 9,100 เมตร จำกัดเวลาที่ 44 ชม.
-OCC: ระยะทาง 56 กม. ความสูงประมาณ 3,500 จำกัดเวลาที่ 14:30 ชม.
-PTL: เป็นการแข่งขันประเภททีม (3 คน) ระยะทางประมาณ 300K รวมความสูง 25,000 เมตร
-MCC : การแข่งขันสำหรับอาสาสมัครหรือคนในชุมชน ระยะทาง 40 กิโลเมตร ความสูง 2,300 เมตร จำกัดเวลาที่ 10 ชม.
-YCC : การแข่งขันวิ่งระยะสั้น สำหรับรุ่นอายุ 16-22 ปี ระยะทาง 5-15 กิโลเมตร
“ความฝันของพวกเราคือมีงานตลอดสัปดาห์ ไม่ใช่แค่ 4 วัน เพราะเรานึกถึงการแข่งขันสกีครอสคันทรีในสวีเดนมาตลอด นั่นเป็นอีเวนต์ที่เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันอาทิตย์ เราต้องการบรรลุวัตถุประสงค์นั้น” โปเลตติ เผยถึงเหตุผลของการเพิ่มระยะ
ขณะที่แคทเทอรีน เสริมว่าการแข่งขันทุกระยะมีเป้าหมายเฉพาะ ในช่วงแรกๆ พวกเขามีนักวิ่งออกสตาร์ตจำนวนมากแต่ต้องมาหยุดที่ Courmayeur เพราะมันไกลเกินไปสำหรับคนเหล่านั้น และคิดว่ามันแย่มากที่ไม่อาจจบการแข่งขันได้ จึงเกิดไอเดียเพิ่มระยะ CCC ขึ้นมาเพื่อให้การแข่งขันเข้าถึงได้มากขึ้นเล็กน้อย โดยครั้งล่าสุด ระยะ UTMB มีผู้จบการแข่งขันประมาณ 61%
อย่างไรก็ตาม นักวิ่งที่สามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันรายการนี้ได้จะต้องมีคะแนนสะสมตามเกณฑ์ที่กำหนดใน 4 ระยะ (UTMP,CCC, TDS, OCC) เช่น ในระยะ UTMB จะต้องมีแต้ม iTRA 10 คะแนนจาก 2 รายการภายใน 2 ปีล่าสุด และยังต้องวัดดวงอีกครั้งจากการจับสลากเนื่องจากมีผู้สมัครเกินโควตา โดยปีนี้มีการเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขภาพเพิ่มเข้ามา โดยนักวิ่งจะต้องแสดงเอกสาร Health Pass อย่างใดอย่างหนึ่งจากใบรับรองการฉีดวัคซีนครบโดส ผลตรวจโควิด-19 เป็นลบแบบ PCR หรือแอนติเจน เทสต์ ไม่เกิน 48 ชม. หรือใบรับรองการหายจากโควิด-19
สปิริตสำคัญเหนือสิ่งใด
นอกจากความหลากหลายของระยะการแข่งขันและความต่อเนื่องของการแข่งขันตลอดสัปดาห์แล้ว เส้นทางการวิ่งเทรลบนเทือกเขาแอลป์ ผ่าน 3 ประเทศที่มีทั้งทิวทัศน์สวยงาม ความโหดของเส้นทางหน้าผา สันเขา โขดหิน หรือต้องวิ่งท่ามกลางความมืด ล้วนเป็นมนต์เสน่ห์ที่ทำให้นักวิ่งพันธ์อึดอยากมาวัดความแกร่งของตัวเองสักครั้งในชีวิต และนั่นคือเหตุผลของความสำเร็จในมุมมองของโปเลตติ ในวัย 66
“ผมชอบคิดว่างานที่เราทำคือส่วนหนึ่งของเหตุผลความสำเร็จของเรา เช่น เรามีการสื่อสารที่ดี แต่แน่นอน ถ้าไม่มี Mont Blanc มันก็คงไม่สำเร็จ”
การเดินทางที่แสนท้าทาย ณ ใจกลางเทือกเขานี้จะเปิดโอกาสให้นักวิ่งเทรลผ่านหุบเขาทั้ง 7 ธารน้ำแข็งกว่า 71 แห่ง และยอดเขาอีกมากมายบนเทืองเขาแอลป์ที่ตกแต่งด้วยธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร ผู้เข้าแข่งขันจะต้องดึงจุดแข็งและผลักดันขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่ในการวิ่งไปโดยรอบเขามงบล็องเพื่อไปถึงยังเส้นชัย
ที่สำคัญเงินรางวัลไม่ใช่ปัจจัยหลักของงานนี้ เมื่อผู้ชนะของรายการวิ่งเทรลอันดับท็อปของโลกไม่มีโบนัสเงินรางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านแต่อย่างใด กระทั่งปี 2018 ผู้จัดเพิ่งตัดสินใจมอบเงินรางวัลให้นักกีฬาเป็นครั้งแรกใน 4 ระยะการแข่งขัน (UTMB, TDS, CCC, OCC) แต่ก็ยังถือเป็นมูลค่าไม่มากนัก เมื่อเทียบรายการใหญ่อื่นๆ เช่น อันดับ 1-3 ของ UTMB จะได้รับโบนัส 2000, 1500 และ 1000 ยูโรตามลำดับ
“หากชุมชนต้องการให้กีฬามีความเป็นมืออาชีพและนักวิ่งที่ดีที่สุดคว้าเงินรางวัลหลายล้านดอลลาร์ นั่นไม่ใช่ความต้องการของผม ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ผมคิดว่าคอมมูนิตีของนักวิ่งเทรลต้องการให้กีฬานี้ยังคงเป็นอยู่อย่างนี้ ผมเชื่อว่าว่าหากเรามีเงินรางวัลมากมายในวิ่งเทรล เราจะไม่มีนักกีฬาเดิมๆ ผมไม่แน่ใจว่านักวิ่งอย่าง จิม วอล์มสลีย์ หรือ ทิม โทลเลฟสัน จะอยู่ในกีฬาชนิดนี้ ผมอยากให้พวกเขามีชีวิตที่มีความสุข อยากให้พวกเขาได้รับเงินมากพอที่จะมีชีวิตที่ดี แต่ก็ยังอยากรักษาสปิริตที่ดีนี้ไว้กับกีฬาวิ่งเทรล”
จากท้องถิ่นสู่วิ่งเทรลนานาชาติ
จากจุดเริ่มต้นของชมรมในท้องถิ่น UTMB ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของจำนวนนักวิ่งและมาตรฐานการจัดการแข่งขัน ทำให้มีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ไม่มีเวลามากพอจะทำทุกอย่างได้แม้ใจต้องการจะตอบตกลงแค่ไหน เพราะเกรงว่าหากให้คำแนะนำไปแล้วไม่ได้ปฏิบัติตามทำให้งานนั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่วางไว้คงเป็นเรื่องน่าผิดหวังและเสียภาพลักษณ์ของ UTMB
จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจสร้างแบรนด์ UTMB International เพื่อเป้าหมายในการขยายการแข่งขันไปทั่วทุกทวีปของโลก โดยพวกเขาคิดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะได้เห็นการแข่งขันวิ่งเทรล by UTMB ในเอเชียเป็น 10 รายการได้สบาย ซึ่งตอนนี้หนึ่งในนั้นคือไทย ขณะที่ UTMB ของจีนคือรายการที่ได้รับการชื่นชมจากรายการแม่และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
“เราต้องการให้ UTMB อยู่ในจุดสูงสุดของของพีระมิด เราอยากให้เป็นเหมือนกับ Summit of Trail Running แต่หากเราอยู่เพียงลำพังบนยอดสุดเหมือนราชาแห่งขุนเขา ย่อมมีคนต้องการล้มเราอยู่เสมอ นั่นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราต้องเสริมรากฐานให้แข็งแรง ด้วยการสร้างการแข่งขันสนามต่างๆ ที่มีคุณภาพสูงเหมือนกับ UTMB” แคทเทอรีน ในฐานะประธาน UTMB Group กล่าว
นักกีฬาไทยใน UTMB
ในบรรดานักวิ่งกว่า 10,000 คนจาก 92 ประเทศในปีนี้ เพจ “Thailand by UTMB” รายงานว่ามีนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 10 คน หนึ่งในนั้นคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีความชื่นชอบในกีฬาวิ่งเทรลและกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ มานานแล้ว โดยเขาลงแข่งในระยะ PTL เป็นประเภททีมร่วมกับ สว่างจิต แซ่โง้ว และ สุภัทร บุญเจือ ผู้พิชิต Thailand by UTMB ทั้ง Zero และ First edition ในนามทีม True South Thailand
ทั้งนี้การแข่งขันระยะนี้นอกจากเต็มไปด้วยความโหดหินของเส้นทางที่จะไม่มีเครื่องหมายบอกทางใดๆ ด้วย นักวิ่งจำเป็นต้องใช้ sense ในการนำทาง และในแต่ละปีเส้นทางจะแตกต่างกันไปซึ่งเลือกมาแล้วว่าเส้นทางนี้ต้องโชว์ความอุดมความสมบูรณ์และความหลากหลายของทัศนียภาพในฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ในภูเขามงบล็อง โดยผู้ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันจะคัดจากประสบการณ์ของผู้สมัครในแต่ละทีม
ขณะที่ระยะยอดฮิตอย่าง UTMB มีตัวแทนนักกีฬาไทยเข้าร่วมผจญภัยด้วยกัน 3 คน นำโดย “ซูเปอร์เจ” จันทรบูรณ์ เกรียงชัยไพรพนา นักวิ่งชายไทยที่มีค่าคะแนน Performance Index สูงที่สุดในประเทศ พร้อมด้วย พิชชานันท์ มหาโชค แชมป์ประเภทหญิงรายการ Thailand by UTMB และสุรฤกษ์ แพรสี ผู้พิชิต Thailand by UTMB 2020 ระยะอินทนนท์ 6 และยังเคยลงแข่ง UTMB 2019 มาแล้ว โดยจะปล่อยตัววันที่ 27 ส.ค.
สำหรับอีก 4 คนที่เหลือจะลงแข่งระยะ OCC 2 คน คือ รุ่งทิพย์ เชี่ยวอร่าม ผู้พิชิต Thailand by UTMB ระยะ Inthanon 4 พร้อมคว้าโล่รางวัลหญิงอันดับ 5 และ วรรณนิศา คงทอง แชมป์หญิงอันดับ 5 Thailand by UTMB ระยะ Inthanon 3 แชมป์หญิงอันดับ 2 ระยะ Inthanon 4 และระยะ CCC คือ ภาวิณี จิระชัยพิทักษ์ เป็นนักวิ่งไทยที่อยู่ประเทศไอร์แลนด์ ส่วนธนินทร์ เฉลิมชูศักดิ์สกุล ซึ่งอยู่ที่ฝรั่งเศส ลงแข่งระยะ MCC
ขอบคุณภาพ : เพจ Ultra Trail du Mont Blanc – UTMB
อ้างอิง
https://www.trailrunnermag.com/people/qas-people
https://www.trailrunnermag.com/people/qas-people
https://www.trailrunningmag.co.uk/articles/news/the-history-of-the-ultra-trail-du-mont-blanc
https://utmbmontblanc.com
https://www.chamonix.net/english/summer-activities/trail-running/ultra-trail-du-mont-blanc