About
CRAFTYARD

V-Craft

V-Craft แบรนด์คราฟต์คนพิการไม่จำกัดประเภท นำร่องโดยคนตาบอดสอนถักมาคราเม่

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เราจะพาไปรู้จักแนวคิดของ ผึ้ง-วันดี สันติวุฒิเมธี แห่ง V-Craft เจ้าของแบรนด์คนพิการที่ตั้งเป้าว่าอยากจะร่วมงานกับคนพิการหลากหลายประเภทและพาพวกเขาโตไปพร้อมกับธุรกิจ เริ่มจากงานถักมาคราเม่โดยคนตาบอดกับเวิร์กช็อปที่มีคนพิการเป็นผู้สอน

V-Craft คือแบรนด์คนพิการที่ไม่เหมือนใคร

เป้าหมายคือทำงานร่วมกับคนพิการหลากหลายประเภท

วิธีการคือพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการของลูกค้า และสื่อสารกับสังคมว่าคนพิการมีศักยภาพผ่านเวิร์กช็อปที่มีคนตาบอดเป็นผู้สอน

ผลลัพธ์ระยะยาวที่คาดหวังคือเพิ่มพูนทักษะและสร้างงานสร้างรายได้ให้คนพิการอย่างที่โครงการรัฐทำแล้วไม่เป็นผล

V-Craft

เรามีโอกาสได้คุยกับ ผึ้ง-วันดี สันติวุฒิเมธี นักเขียนสารคดีผู้สนใจเกี่ยวกับเด็ก สตรี คนชรา และคนพิการ เธอมีงานอดิเรกคือการทำงานคราฟต์ ซึ่งเธอเน้นว่าไปเรียนงานฝีมือมาเยอะมาก กับ ตาล-ปรียาวรีย์ มะโนจิตต์ นักเรียนตาบอดที่พลิกบทบาทมาเป็นครูสอนถักมาคราเม่ของเวิร์กช็อปในวันนี้

ผึ้งยังเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ V-Craft แบรนด์คนพิการอายุ 3 เดือนที่พัฒนาจากการถอดบทเรียนโครงการอบรมคนพิการที่ผึ้งเคยมีส่วนร่วมหลายปี สิ่งที่เธอเล่าให้เราฟังต่อจากนี้ยิ่งแสดงให้เห็นว่า เธอต้องการผลลัพธ์แตกต่างจากที่เคย และเธอก็เตรียมการมาอย่างดีด้วย

V-Craft

อยากทำสินค้าคนพิการที่ขายได้

“V-Craft คือการทำแบรนด์ที่พาคนพิการไปต่อด้วยกัน” ประโยคนี้อาจฟังดู cliche แต่ผึ้งคิดจริงและทำจริง

จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับภาครัฐและคนพิการหลายปี ทำให้ผึ้งเห็นเส้นทางงานฝีมือของคนตาบอด ตั้งแต่พวกเขาเริ่มต้นฝึกไปจนถึงขายผลิตภัณฑ์ และเธอพบช่องโหว่สำคัญอยู่ 2 อย่าง คือ การขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับการตลาดที่ไม่เป็นผล

ผึ้งสมมติเหตุการณ์ให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า คนพิการอาจได้เรียนทำดอกไม้แบบเดียวและต้องขายแค่ดอกไม้ไปทั้งชีวิต เพราะหลายครั้งเป็นการอบรมงานฝีมือแบบครั้งเดียวจบ

V-Craft

V-Craft ถือกำเนิดขึ้นด้วยความตั้งใจที่จะเติมศักยภาพให้คนพิการอย่างสม่ำเสมอ และไม่ละเลยแง่มุมธุรกิจ โดยจัดอบรมเดือนละ 1 ครั้ง พัฒนาสินค้าให้ทั้งสวยและใช้งานได้จริงอย่างกระเป๋าถือ ซึ่งเป็นงานถักผสมตะกร้าหวาย หรืองานถักกระเป๋าใส่โทรศัพท์ ซึ่งไม่ได้ทำขายแต่มีสอนในเวิร์กช็อปที่เราแวะมาดูในวันนี้

V-Craft

สินค้าของ V-Craft เป็นดีไซน์ที่ออกแบบให้คนพิการของ V-Craft ทำเท่านั้น และจะไม่มีสอนในเวิร์กช็อป ดังนั้น ถ้าใครถูกใจและอยากได้ก็ต้องยอมควักกระเป๋าตังค์กันสักหน่อย ส่วนรายได้จากการขาย ผึ้งก็ตกลงร่วมกับคนพิการโดยคำนวณจากค่าแรงขั้นต่ำและจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการผลิตแต่ละชิ้น

V-Craft

พลิกบทบาทเป็นครู

แบรนด์ V-Craft เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 แต่ผึ้งเผยว่าเธอซุ่มฝึกสอนนักเรียน 2 รุ่นมาปีหนึ่งแล้ว นอกจากผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ แบรนด์ยังจัดเวิร์กช็อปให้คนตาบอดเป็นครูสอนถักมาคราเม่ด้วย

“เรารอมาเกือบปีกว่าจะเริ่มขาย รอเวลาที่สินค้าคนพิการสวยงามจริงๆ”

V-Craft

“ถ้าเป็นงานปักนี่ คนตาบอดบางคนทำไม่ได้ พอเป็นงานถักปุ๊บมันง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีของให้เขาคลำ เปลี่ยนวิธีสื่อสารจากตาเป็นการสัมผัส”

มาคราเม่เหมาะกับสภาพพิการของคนตาบอดก็จริง แต่ความยากคือการถักลาย ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่คนตาบอดไม่ยอมหันหลังให้ พวกเขาเริ่มจากการหัดถักลายพื้นฐาน แล้วค่อยขยับไปถักกระเป๋าและสินค้าอื่นในการอบรมครั้งถัดๆ ไป

V-Craft

พอต้องทำสินค้าก็เลือกได้ว่าชอบลายไหนก็ทำลายนั้น แถมความสนุกอีกอย่างของมาคราเม่คือการออกแบบลาย โดยเอาลายพื้นฐานมาดีไซน์เป็นลายของตัวเองได้ตามชอบ ฉะนั้น พวกเขาจะภูมิใจในตัวเองและยิ่งรู้สึกมั่นใจมากขึ้นจากการพลิกบทบาทมาเป็นผู้สอน

“คนมักคิดว่าต้องบริจาคเงินให้คนพิการ เขาคือผู้ที่ต่ำกว่า เราคือผู้ให้ ไม่เคยนึกว่าคนพิการจะมาสอนแบบนี้ได้” ที่ผ่านมาคนพิการถูกกดไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ บางครั้งก็มาในรูปแบบของความสงสาร แต่เวิร์กช็อปรูปแบบใหม่นี้จะก่อให้เกิดความเคารพต่อคนพิการมากขึ้น

V-Craft

ระหว่างที่เราคุยกับผึ้งอยู่นั้น ตาลกำลังดูแลนักเรียนทั้งหมดด้วยตัวเอง เธอใช้วิธีสอนแบบตัวต่อตัว เพราะต้องถักเชือกให้ดูทีละคน ถามว่าทำอย่างไรนั้น ตาลเดินไปหาแต่ละคนได้ด้วยตัวเองเลย คนตาบอดจำได้ว่าอะไรหรือใครอยู่ตรงไหน หากนักเรียนเรียก เธอก็แค่เดินไปหา สัมผัสงานของพวกเขาแล้วแก้ไขตามที่ควรจะเป็น ถึงได้มีคำพูดที่ว่า ทำงานกับคนตาบอด อย่าไปย้ายของของเขา ง่ายๆ เท่านี้เอง

V-Craft

“แล้วคนที่มาเวิร์กช็อปอาจจะเป็นเจ้าของกิจการ หรืออาจทำงานอยู่ที่บริษัทใดก็ได้ เมื่อเขารู้ว่าคนพิการทำได้ขนาดนี้ เขาก็อาจจะบอกต่อที่ทำงานเขา และเมื่อผู้คนเห็นศักยภาพคนพิการ โอกาสที่พวกเขาจะมอบให้คนพิการก็มากขึ้น”

ในอีกแง่หนึ่ง หน้าที่ของเวิร์กช็อปจึงเป็นการสื่อสารกับสังคมว่าคนพิการก็มีศักยภาพ

V-Craft

คนตาบอดคือเฟสแรก

“อาชีพคนตาบอดมันจำกัด อยากให้มีอาชีพใหม่ๆ นอกจากขายล็อตเตอรีหรือคอลเซ็นเตอร์ บางอาชีพจำกัดอายุที่ 35 ปีก็มี แต่คนตาบอดหลายคนไม่ได้เรียนจบตามเกณฑ์ บางคนกว่าจะจบก็เกือบ 30 แล้ว สำหรับคนที่อายุเริ่มจะเกินอย่างพี่ ก็ต้องหาทางไปต่อ” ตาลเล่าถึงอุปสรรคด้านการงานจากประสบการณ์ส่วนตัว

แม้ว่าปัจจุบันมีกฎหมายจ้างงานมาตรา 33 ซึ่งระบุว่า บริษัทที่มีพนักงาน 100 คน จะต้องจ้างคนพิการ 1 คน แต่อัตราส่วนของการจ้างงานคนตาบอดก็น้อยกว่าคนพิการประเภทอื่น

V-Craft

“แบรนด์ V-Craft ก็เลยเริ่มที่คนตาบอดก่อน” ผึ้งบอกว่าแบรนด์นี้จะแบ่งเฟสในการสอนคนพิการ โดยเฟสแรกคือสอนคนตาบอด

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกไม่สนับสนุนการทำงานของคนตาบอด ทั้งที่คนตาบอดทำงานได้หลากหลาย เพราะกว่าจะฝึกให้คนพิการชำนาญต้องใช้ต้นทุนสูง ไม่ว่าทรัพยากรหรือเวลาที่ใช้ในการฝึก ถ้าพิมพ์งานก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีเสียง มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด และผึ้งเล่าว่าเธอรู้จักร้านกาแฟที่สอนคนตาบอดให้ใช้เครื่องชงกาแฟเป็น แต่ใช้เวลาเกือบสัปดาห์ในการสอน ขณะที่คนมองเห็นใช้เวลาประมาณ 1 วัน

V-Craft

ผึ้งรู้ดีว่าการทำแบรนด์ต้องใช้เวลา เธอเริ่มเก็บเงินจากอาชีพนักเขียน ซื้ออุปกรณ์ทีละนิดตามจำนวนนักเรียน ให้เวลาคนพิการฝึกฝนฝีมือ แม้จะไม่มีรายได้จากแบรนด์เลยเกือบปีตั้งแต่สอนคนพิการมา

“V-Craft อยากเป็นโมเดลตัวอย่างของการให้โอกาสและให้เวลาฝึกของคนพิการแสดงผล”

V-Craft

ในตอนนี้มีคนสั่งซื้อกระเป๋าผสมหวายล่วงหน้าแล้ว เพราะมาเจอเวิร์กช็อปสอนคนพิการถักมาคราเม่โดยบังเอิญ นี่เป็นโอกาสที่ผึ้งก็คาดไม่ถึงว่าจะได้รับจากการจัดเวิร์กช็อป และหลังจาก V-Craft สร้างตลาดที่แข็งแรงได้แล้ว แบรนด์จะขยายไปยังคนพิการประเภทอื่นด้วย

V-Craft

“ถ้าเราเลือกงานให้สอดคล้องกับสภาพคนพิการ คนพิการทุกประเภทก็จะทำงานได้ คนตาบอดถักงานชิ้นที่ไม่ยาวมาก ถ้ามันยาวขนาดเปลเชือกจะพัน กลับกันถ้าสอนคนพิการทางการได้ยิน เขาทำงานชิ้นใหญ่ได้”

V-Craft

แผนจะขยับขยายแบรนด์ไปร่วมงานกับคนพิการประเภทอื่นนั้นยังต้องรอดูกันต่อไป แต่จากที่มียอดสั่งซื้อตั้งแต่ยังไม่เปิดเพจ เราก็ทั้งคาดหวังปนตื่นเต้นว่าจะได้เห็นงานฝีมือประเภทใหม่ๆ จาก V-Craft ในเร็ววัน

สามารถติดตามพวกเขาได้ทางเฟซบุ๊ก : V Craft

Tags: