The Real Hunter
Wanderlust ร้านจากธุรกิจแต่ง Airbnb ของนักล่าเฟอร์นิเจอร์ที่ตระเวนยุโรปทีละหมื่น ก.ม.
- สำรวจธุรกิจของนักล่าเฟอร์นิเจอร์ ผู้ตระเวนเก็บไอเท็มจากกว่า 10 ประเทศในยุโรปด้วยการขับรถกว่า 10,000 กิโลเมตรต่อทริป ต่อยอดเป็น ARTpartment ธุรกิจตกแต่ง Airbnb และ Wanderlust ร้านเฟอร์นิเจอร์หายากที่การันตีความแรร์เพียงไม่ถึง 10 ชิ้นในประเทศไทย
ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้วที่ตกลงใจในความสัมพันธ์และธุรกิจ เจส-สิรพร รัตแพทย์ กับ รี-ดุสิต นนทะภา ทำโรงแรมในตึกแถวสูง 7 ชั้นขึ้นมา ลากยาวไปเปิดโรงแรมอีกแห่งในบาหลี ซึ่งสไตล์งานตกแต่งภายในเป็นเอกลักษณ์ด้วยฝีมือจักสานของคนท้องถิ่น ทั้งคู่จึงเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ ตามมา
หลังปิดกิจการในบาหลี เจสและรีขนเฟอร์นิเจอร์กลับมาตกแต่ง Airbnb ของตัวเอง จนบ้านเพิ่มเป็น 6 แห่ง แต่ละที่ทั้งโดดเด่นและทำรายได้ดีอย่างน่าประทับใจ เป็นเหตุให้มีคนจ้างไปตกแต่ง Airbnb เพราะคาดหวังผลตอบรับแบบเดียวกัน แม้แต่ลูกค้าที่ติดต่อให้ไปตกแต่งถึงต่างประเทศก็มี แต่ที่สำคัญกว่าเม็ดเงินคือดีไซน์สวย ซึ่งสร้างคุณค่าทางจิตใจต่อเจ้าของบ้านและลูกค้าด้วย
ปัจจุบันเจสและรีทำธุกิจ Airbnb รับตกแต่งภายในโดยมีเพจชื่อ ARTpartment แล้วต่อยอดเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ชื่อว่า Wanderlust จากการขับรถตระเวนยุโรปทีละกว่า 10,000 กิโลเมตรเพื่อตามเก็บไอเท็มใหม่ๆ และทั้งคู่ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้…
Right Person, Right Place, Right Time
เจสกับรีเป็นเพื่อนกันสมัยเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์ หลังเรียนจบต่างคนต่างก็เรียนต่อและทำงานคนละสาย จนกระทั่งงานเลี้ยงรุ่นดึงเส้นทางของทั้งคู่ให้มาบรรจบกันอีกครั้ง
“มันมีงานเลี้ยงรุ่นเลยได้เจอกับเขา เราก็บอกว่าอยากมีโรงแรม ส่วนเขาอยากมีอะพาร์ตเมนต์ เลยทำโรงแรมกันเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว มันเป็นตึกแถวห้องเดียวสูง 7 ชั้น ที่เอามาซอยห้อง สมัยนั้นเราเป็นคนแรกๆ ที่กล้าเอาตึกแถวมาซอย” เจสเล่าแล้วเสริมว่า ก่อนหน้านั้นเจสใช้เวลายามว่างไปกับเกม My Mini Life ที่พูดถึงทีไรก็ยิ้มกว้างเสมอ
“พอเล่นเกมแล้วมันรู้ตัวเอง เราใช้เงินในเกมซื้อเฟอร์นิเจอร์มาใส่ในบ้านได้ มันสนุกมาก เราก็เพิ่งรู้ตัวว่าเราชอบตกแต่งนี่นา”
เมื่ออายุกิจการเพียงขวบเดียว ทั้งคู่ก็ตัดสินใจเปิดโรงแรมที่บาหลีอีกแห่ง โดยเช่าบ้านเก่ามารีโนเวตแล้วปล่อยเช่ารายวัน พออยู่เกาะแล้วติดใจ ทีนี้เลยขายกิจการในบ้านเกิด หลังจากนั้นแขกในบาหลีเยอะจนลามมาถึงบ้านพักของตัวเอง สุดท้ายแล้วจึงมีบ้านเช่าเพิ่มจาก 3 ยูนิตเป็น 8 ยูนิต แค่นี้ก็ถือว่ากิจการต่างประเทศครั้งแรกมีแววรุ่งสุดๆ แล้ว
พอจัดบ้านเยอะเข้า เจสและรีก็สั่งทำเฟอร์นิเจอร์กับชาวอินโดนีเซียซะเลย ทำให้เกิดร้านเฟอร์นิเจอร์ร้านแรกของทั้งคู่ที่บาหลี
“ตอนอยู่บาหลีเราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ช่างอินโดนีเซียทำถึงกว่าเราเยอะ ทำได้ ‘ตามใจฉัน’ มาก เขามีเฟอร์นิเจอร์เครื่องสาน ของทำมือ ยิ่งได้ออเดอร์จากฝรั่งเยอะๆ ยิ่งได้ฝึกฝีมือ ขนาดเด็กๆ ยังไปนั่งดูพ่อแม่ทำงานหลังเลิกเรียน”
เจสและรีไม่ได้มองข้ามประเทศไทยไป แต่เมื่อขับรถขึ้นเหนือไปตามหาโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ที่ไหนว่าเป็นแหล่งสำคัญก็แวะไป แต่ทุกโรงงานที่เจอปฏิเสธออเดอร์แบบ Custom และรับทำเฉพาะแบบที่จัดไว้ให้ในแค็ตตาล็อกเท่านั้น
ทั้งนี้ เจสกับรีไม่ได้วางแผนลงหลักปักฐานห่างบ้านเกิด พวกเขาปิดกิจการแล้วขนเฟอร์นิเจอร์กลับมานับหนึ่งใหม่ที่บ้าน Airbnb ของตัวเองในทองหล่อ โดยนำอ่างทองเหลืองจากบาหลีไปตั้ง ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด นับแต่นั้นมาคือจุดเริ่มต้นของ 2 กิจการที่ดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน นั่นคือ ARTpartment ธุรกิจตกแต่งบ้าน Airbnb และ Wanderlust ร้านเฟอร์นิเจอร์ ณ เสนานิคม 1 ซอย 2
ART in Apartment
ความถนัดของทั้งสองคนชี้ชัดตั้งแต่สมัยเรียน เจสไม่เก่งวาดเขียน แต่ถนัดการจัดวางองค์ประกอบ แถมยังเรียนต่อเพาะช่าง สาขาพาณิชย์ศิลป์ เจสเรียกง่ายๆ ว่าทำโฆษณา ส่วนรีนั้นถนัดวาดภาพ Fine Art เมื่อทำธุรกิจตกแต่งบ้านเลยเสริมงานเพนต์ผนังเข้าไป
“ทุกๆ หลังจะต้องไม่ซ้ำกันและต้องไม่ซ้ำใครด้วย เพราะ Airbnb มีรายการเป็นร้อยเป็นพัน แล้วจะทำยังไงให้คนคลิกมาดูห้องของเราจนดันมาอยู่ข้างบนเอง ถึงแม้ราคาจะสูงกว่าของคนอื่น”
นี่คือหัวใจสำคัญในการตกแต่ง Airbnb จากปากของผู้ครอบครอง Airbnb Plus 3 หลัง จากทั้งหมดไม่ถึง 3,000 หลังบนโลก โดยแต่ละหลังต้องผ่านเช็กลิสต์ 200 ข้อ แต่จุดที่เจสบอกว่าเป็นเหตุผลให้บ้านได้รับเลือกแต่แรกคือดีไซน์ ซึ่งต้องโดดเด่นกว่าคนอื่น โดยสกิลการแต่งบ้านของทั้งคู่ไม่เพียงดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่รวมถึงเจ้าของ Airbnb คนอื่นด้วย
เจสและรีรับเหมาทำให้ทุกอย่าง ตั้งแต่ใส่เฟอร์นิเจอร์ เพนต์ผนัง จานชาม ผ้าเช็ดตัว ของใช้จำเป็นและของตกแต่งอื่นๆ และเลือกใส่น้ำหอมเป็นกลิ่นประจำบ้าน เรียกได้ว่าเงินก้อนเดียวจัดการครบทุกรายละเอียด ไม่มีงบบาน นี่คือจุดแข็งของ ARTpartment
“โรงแรมก็มีฟังก์ชันเหมือนกัน แต่ละที่ได้รับความสะดวกสบายหมด แต่ถ้ามา Airbnb บ้านแต่ละหลังมีเสน่ห์ของมัน” รีเน้นข้อดีของการเลือกพัก Airbnb แทนโรงแรม
มีภาพในหัวไหมว่าจะวางชิ้นไหนตรงไหน-เราถาม
“นี่เป็นคำถามที่ดีมาก เราไม่มีแพลนเวลาเข้าไปจัดบ้าน ส่วนใหญ่ขนเผื่อไปก่อนแล้วขนกลับ บางคนมาขอแบบ 3D แต่เราไม่ทำ ส่วนตัวมองว่าขายฝัน เพราะทำแล้วหาเฟอร์นิเจอร์ได้จริงหรือเปล่าและหาในไทยได้ไหม พอทำเสร็จมีเจ้าของบ้านเสียความรู้สึกเยอะมากเลยนะ” เจสบอก
“เรามีเฉพาะ Floor Plan ให้เห็นภาพรวมทั้งหมด” รีเสริม
เจสและรีใช้เวลาจัดของจริงเพียงวันสองวันเท่านั้น ส่วนขั้นตอนที่กินเวลาคือขั้นเตรียมของ เพราะนับรวมช่วงเวลารอของมาส่งด้วย แต่เบ็ดเสร็จแล้วใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์รวมเพนต์ผนัง
“เราวาดธีมที่เข้ากับเฟอร์นิเจอร์ โดยไม่ต้องใส่ดีเทลมาก ส่วนใหญ่คิดรูปเวลาไปเลือกเฟอร์นิเจอร์ บางทีก็ได้ไอเดียจากปลอกหมอน บางทีก็คิดก่อนว่าอยากใส่รูปแบบไหนบนผนัง แต่มีมุมขายนะ เราจะเตรียมมุมภาพแรกบนเว็บไซต์ไว้ เรารู้ว่าต้องใส่อะไร สร้างภาพจำยังไง” รีเล่าที่มาที่ไปของงานเพนต์ที่เสริมคาแรกเตอร์ห้องให้โดดเด่นขึ้นไปอีก
นักตกแต่งบ้านคู่นี้ยังไม่พลาดที่จะถามลูกค้าถึงจำนวนแขกที่ต้องการรองรับ เพื่อปรับฟังก์ชันของบ้านให้เหมาะสม อย่างห้องนั่งเล่นสำหรับบ้านที่รับแขกได้หลายคน เพื่อให้แขกมีพื้นที่รวมตัวกัน นอกจากนั้น คือเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับราคาห้อง โดยประเมินขนาดควบคู่กับคุณภาพของสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามงบของลูกค้า อย่างไรก็ตาม ฝีมือการตกแต่งของทั้งสองจะดันมูลค่าห้องขึ้นไปอีกแน่นอน
“หลายคนยังจับจุดไม่ได้ทั้งดีไซน์และเรตราคา ส่วนเราทำมาก่อนเลยรู้ว่า ห้องนี้ควรจะวันละเท่าไหร่ ใช้เวลากี่ปีถึงคืนทุน และเราเข้าไปดูก็รู้ว่าห้องขาดอะไร เราก็เติม ห้องที่เราทำส่วนใหญ่เลยราคาดีกว่าคนอื่น”
Home Is Where The Heart Is
ทั้งคู่รับงานต่างประเทศเป็นจริงเป็นจังครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว เริ่มต้นจากลูกค้าชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเคยจ้างให้ตกแต่งคอนโดในกรุงเทพฯ ก่อนจะติดใจเลยจ้างต่อไปแต่งบ้าน Airbnb ในญี่ปุ่น ลากยาวไปถึงโรงแรมขนาด 16 ห้อง โดยลูกค้าคนนี้เชื่อใจถึงขั้นโยนกุญแจไว้ให้แล้วรอดูผลลัพธ์ทีเดียว แต่เจสและรีมองไปไกลกว่านั้นอีก
“อยู่ญี่ปุ่นมีบ้านผุพังเยอะมาก เขาไม่ซื้อกันเพราะไม่สู้ค่ารีโนเวต คนทั้งหมู่บ้านก็จะหาวิธีทำให้บ้านร้างดูไม่น่ากลัว ไม่อย่างนั้นราคาบ้านแถวนั้นจะตกไปด้วย เราจะเข้าไปอุดช่องโหว่นั้น เพราะไม่อย่างงั้นมันจะพังจนซ่อมไม่ได้
เราสงสารบ้าน บ้านเก่ามีความทรงจำ มีร่องรอย เราเชียร์ให้คนหันกลับมามองบ้านเก่าแล้วฟื้นชีพมันขึ้นมา” เจสบอก
รีพูดต่อว่า สาเหตุที่คนไม่ค่อยชอบซื้อบ้านเก่า เพราะมองไม่ออกว่ารีโนเวตบ้านให้สวยได้ แต่ทั้งเขาและเจสรู้ดี เพียงแค่ก้าวเท้าเข้าไปก็จินตนาการภาพคร่าวๆ ได้แล้วว่ารีโนเวตได้ แถมสวยด้วย
ตัวอย่างที่เคยทำคือบ้านเก่าแถวหัวลำโพงใกล้กับโรงแรม Mustang Blu ซึ่งพื้นไม้นั้นเป็นแผ่นยาวแผ่นเดียวกับบ้านข้างๆ ทำให้เปลี่ยนพื้นไม่ได้ หรือบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่แค่เอามาลูบผนัง ความกรอบก็หลุดร่วงลงมาเป็นผง ซ้ำหนักกว่าเดิมคือเติม Rain Shower ในห้องน้ำแล้วลองเปิดใช้ ปรากฏว่าท่อน้ำทยอยหลุดทีละจุดเพราะกาวเสื่อม
ปัญหาที่มองไม่เห็นซ่อนตัวอยู่เยอะทีเดียว แต่ละบ้านต้องการการซ่อมบำรุงที่แตกต่างกันไปด้วย แต่เมื่อถามถึงความรู้สึก เจสกลับตอบว่า…
“สนุกมาก (เน้นเสียง)”
Furniture Hunts
หากถามว่าเฟอร์นิเจอร์ล้นแล้วไปไหน ก็เอามาไว้ที่ Wanderlust นี่แหละ เจ้าของร้านเลือกเฟอร์นิเจอร์เองกับมือทุกชิ้น เริ่มจากของเล็กๆ ใส่ในกระเป๋าเดินทางกลายเป็นตู้คอนเทนเนอร์อย่างทุกวันนี้ แถมบางชิ้นราคาหลายแสนบาท ครั้นจะตกแต่งในบ้าน Airbnb ก็เสียดายเลยเอามาขายแทน
“เราไปยุโรปครั้งละเดือนครึ่ง ขับรถประมาณหมื่นกว่ากิโลเมตร โดยแพลนหลวมๆ ไว้ ถ้าที่ไหนมีของเยอะก็อยู่ต่อ แล้วค่อยกระเถิบไปเรื่อยๆ แต่ละเมืองมีเสน่ห์ไม่เหมือนกันเลย อย่างงานจากสาธารณรัฐเช็ค (Czech Republic) เป็นแนววินเทจกับงานไม้ สวิตเซอร์แลนด์เป็นงานโมเดิร์น” รีผู้ซึ่งทำหน้าที่ขับรถยืนยันเองกับปาก
ยุโรปไม่ใช่แค่สวรรค์ของนักล่าเฟอร์นิเจอร์ ศิลปะในทวีปเฟื่องฟูทุกแขนงจนออกผลงานตรึงสายตาชาวโลกได้ตั้งแต่งานวาด แฟชั่น สถาปัตยกรรม จนถึงเฟอร์นิเจอร์ ดีไซเนอร์ชื่อดังหลายคนก็มีสัญชาติยุโรปกันเยอะ
“เราเลือกชิ้นที่ชอบ สภาพยังดีก็เอา เราเริ่มจากความไม่รู้จักแบรนด์หรือดีไซเนอร์เลย มาบังเอิญรู้ทีหลัง” รีบอก
งั้นมีขายต่ำกว่าราคาตลาดไหม-เราถาม
“มีอยู่แล้ว” เจสตอบพร้อมหัวเราะเสียงดัง นึกถึงตัวเองสมัยก่อนที่ไม่รู้ว่ามีขุมทรัพย์อยู่กับตัว รีเล่าเสริมว่าบางตัวมีคนมารุม 5-6 คน จึงอาศัยถามจากคนขายด้วยกันเองบ้าง ลูกค้าบ้าง เรียนรู้มาเรื่อยๆ จนตอนนี้รู้ทันหมดแล้ว
เฟอร์นิเจอร์ในร้านมาจากกว่า 10 ประเทศในยุโรป ทุกตัวดีไซน์สวย ทำจากวัสดุคุณภาพดีอย่างโซฟาหนังวัวแท้ โคมไฟซับเสียงสัญชาติสวีเดน ส่วนความคงทนยิ่งไม่ต้องพูดถึง
“เฟอร์นิเจอร์มีฟังก์ชันทุกตัวเลย ไอเดียตั้งแต่ปี 70’s 80’s ไม่รู้คิดได้ยังไง อายุแก่กว่าหลายๆ คนด้วยซ้ำ แต่สภาพยังดี แสดงว่ามันจะอยู่ต่อได้อีกหลายปี”
แต่ใช่ว่าเจสและรีไม่มีจุดหมาย นอกจากตลาดที่เล็งไว้ เจสและรีไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ถึงบ้านส่วนตัวคนยุโรป พอลองตื๊อให้เล่าก็ถามคำตอบคำ เจสบอกว่าเป็นความลับทางการค้าแล้วหัวเราะชอบใจ แต่ข้อดีคือลูกค้ามั่นใจในคุณภาพได้เลย ทั้งสองรับมาเองทุกตัวจึงรู้ที่มาที่ไป ไม่ใช่ของเก่าถูกโละทิ้งแล้วนำมาขายต่อแน่นอน
ส่วนงานดีไซเนอร์ที่อยู่ในครอบครอง เช่น Le Corbusier Philippe Starck เป็นต้น เจสบอกว่าขายที่ต่างประเทศอาจได้ราคาดีกว่าเท่าตัว แต่ก็ขนมาตั้งโชว์เป็นเครดิตร้าน แต่บางตัวก็ตัดใจขายได้อย่างเก้าอี้รูปปากของ Salvador Dali ที่เจสตกลงกับลูกค้าโดยไม่บอกรี รู้ตัวอีกทีลูกค้าก็โอนเงินมาแล้วเรียบร้อย
“เราขับรถอยู่ ทำอะไรไม่ได้” รีพูดยิ้มๆ โดยมีเจสนั่งหัวเราะอยู่ข้างๆ
ถึงอย่างไรเจสก็ยอมรับตามตรงว่าเก้าอี้ตัวนั้นคงหาจากที่ไหนไม่ได้แล้ว เฟอร์นิเจอร์ของ Wanderlust จึงไม่ใช่แค่สวยถึกทน แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมันกลายเป็นแรร์ไอเท็ม ดังนั้นเจสกับรีจะเก็บบางชิ้นไว้ไม่ยอมขายเด็ดขาด
ทำเล ณ ตึกหัวมุมดึงดูดสายตาเหมาะเจาะพอดี มีรูปปั้นรูปคนสีแดงตั้งติดกระจก ชั้นล่างส่องเข้าไปเห็นโซฟาชิ้นใหญ่และโคมไฟแขวนเต็มเพดาน ชั้นข้างบนมีโคมไฟกับเก้าอี้หลายวัสดุและดีไซน์ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ตัวเด็ดๆ จะมีรูปปรินต์พร้อมชื่อดีไซเนอร์มาแปะไว้ด้วย แต่ที่คาดไม่ถึงคือเครื่องเสียง เครื่องเล่นแผ่นเสียง และเครื่องพิมพ์ดีดด้วยนะ ส่วนชั้นบนสุดเป็นของชิ้นเล็กอย่างจานชามช้อนส้อมและของตกแต่งนานาชนิด
ใครอยากได้ของแปลกที่ไม่อยากซ้ำใครต้องแวะมาที่ Wanderlust เจ้าของร้านทั้งสองยืนยันว่าให้เต็มที่ก็ไม่เกิน 10 ชิ้นในประเทศไทย แถมร้านมีครบทุกหมวดหมู่ แต่ถ้าไม่รู้จะตั้งตรงไหนของห้องก็ปรึกษาทางร้านได้ ถ้าเข้ากันเจสก็เชียร์ให้ซื้อ ถ้าไม่เข้าก็บอกตามตรงไม่หลอกขาย เพราะทั้งสองเชื่อว่า สิ่งสิ่งหนึ่งจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่ออยู่ถูกที่ถูกทาง
Wanderluster
Map: https://maps.app.goo.gl/DFCV4AzUch2FKtZCA
วันและเวลาเปิดไม่แน่นอน เนื่องจากเจ้าของร้านตามล่าหาไอเท็มใหม่ๆ มาเอาใจลูกค้าตลอด ก่อนแวะไปที่ร้านก็ลองทักไปทางเพจก่อนนะ
Instagram: Wanderlust Facebook: ARTpartment