- Workation คือการเป็นอิสระจากสถานที่ทำงานแสนจำเจ โดยสามารถเปลี่ยนให้ทุกที่บนโลกใบนี้กลายเป็นห้องทำงานได้ พร้อมกับออกไปท่องเที่ยวได้ด้วย
- หลายบริษัทเริ่มนำแนวคิด Workation มาใช้เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานของพนักงาน แถมเพิ่มขีดความสามารถการทำงานในระยะยาว
- ไทยติดอันดับสถานที่ที่คนทั่วโลกอยากเดินทางมาพักผ่อนท่องเที่ยวและทำงานไปด้วย
หลายคนคงเคยแอบคิดในใจ อยากให้มีวันหยุดยาวๆ จะได้เที่ยวชาร์จพลังอย่างเต็มที่ แต่ในความเป็นจริง ก็ไม่กล้าลาพักร้อนนานๆ เพราะนอกจากจะห่วงงานที่คั่งค้างแล้ว ยังหวั่นใจว่าเจ้านายจะวางซองขาวไว้บนโต๊ะหรือเปล่า
แต่ตอนนี้ไอเดีย “เที่ยวได้ ทำงานด้วย” ไม่ใช่แค่ความฝันอีกต่อไป หลายๆ บริษัทเริ่มนำแนวคิด Workation มาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงาน เผลอๆ จะได้งานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะพนักงานได้พักสมองและเปิดหูเปิดตาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
เทรนด์ Workation กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิต “โควิด-19” ที่บีบให้หลายๆ อาชีพค้นพบวิธีเปลี่ยนสถานที่ต่างๆ บนโลกใบนี้ให้กลายเป็นสถานที่ทำงานได้ ไม่ใช่แค่การทำงานจากบ้าน (Work from Home)
แบบไหนที่ใช่ Workation
Workation มาจากการผสมคำระหว่าง “Work” ที่แปลว่า “ทำงาน” และ “Vacation” ที่หมายถึง “หยุดพักร้อน” เมื่อรวมกันแล้วก็คือ การทำงานในระหว่างหยุดพักร้อน
แต่ Workation มีความแตกต่างกับกลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์จากสถานที่ต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า “คนเร่ร่อนยุคดิจิทัล” (Digital Nomad) เพราะ Workation ต้องการความรื่นรมย์จากการพักผ่อนหรือเปิดหูเปิดตาในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ด้วย ไม่ใช่แค่อาศัยสถานที่หนึ่งๆ ทำงานให้เสร็จแบบ Digital Nomad
Workation เป็นการทำงานจากนอกออฟฟิศในระหว่างการหยุดพักร้อน ทำให้รีแลกซ์มากกว่า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงาน เพราะการอยู่ในสิ่งแวดล้อมแปลกใหม่ อาจทำให้ได้เรียนรู้หรือเกิดไอเดียใหม่ๆ บรรดาผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่ง รวมถึงคนทำงานมืออาชีพ ต่างก็คุ้นเคยกับการหอบงานไปทำด้วย เมื่อพวกเขาต้องการผ่อนคลาย หรือชาร์จพลัง แต่ไม่สามารถหยุดทำงานได้นานจนจบช่วงพักร้อน
เทรนด์นี้ ทำไมมาแรง
หลักใหญ่ใจความของ Workation อยู่ที่การเป็นอิสระจากสถานที่ทำงานแสนจำเจ โดยสามารถเปลี่ยนให้ทุกที่กลายเป็นห้องทำงานได้ ในขณะเดียวกันก็ออกไปท่องเที่ยวได้ด้วย
หลายๆ บริษัทในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเริ่มสนับสนุนไอเดีย Workation กันมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยเติมเต็มชีวิตให้พนักงาน ยังเป็นทางเลือกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานในระยะยาวด้วย แทนที่จะอนุญาตให้พนักงานหยุดยาวแบบไม่แตะงานเลย ก็ยอมให้หายหน้าไปจากออฟฟิศได้นานขึ้น แลกกับการหอบงานติดไม้ติดมือไปทำด้วย
ปัจจุบัน Workation ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป มีความยืดหยุ่นและเพิ่มสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานมากขึ้น
ประกอบกับเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการทำงานมากกว่าอดีต ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป ซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มการติดต่อสื่อสาร และเครื่องมือช่วยการทำงานทางไกลที่พัฒนาขึ้นมาก แต่ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกอาชีพจะทำแบบนี้ได้
ยิ่งตอนนี้ทั่วโลกกำลังรับมือกับ “โควิด-19” ที่ระบาดแบบมาราธอน ทำให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบ New Normal รวมถึงรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากบ้านจนถึง Workation เที่ยวได้ ทำงานไปด้วย
เช็กลิสต์ให้ดีก่อน Workation
คนที่ยกมือเชียร์ Workation ไม่ใช่ว่าอยากทำก็ทำได้เลย มีหลายเรื่องที่ต้องเช็กให้ชัวร์ก่อน ไม่งั้นงานอาจจะฟาวล์ พาลให้หมดอารมณ์เที่ยวไปอีก
โปรดจำไว้ว่า มี 3 เรื่องหลักๆ ที่ต้องให้ความสำคัญ หากจะ Workation เริ่มจาก 1.สถานที่ท่องเที่ยวที่จะไปนั้นเอื้อกับการทำงานไหม มีอินเทอร์เน็ต หรือ wi-fi พร้อมไหม สัญญาณโทรศัพท์ใช้การได้หรือเปล่า 2.ปลอดภัยหรือไม่ เพราะคงไม่ดีนักถ้าจะต้องทำงานไป คอยหลบพายุไป 3.ควรเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้แรงบันดาลใจ ตื่นเช้ามาเห็นท้องฟ้าสดใส น้ำทะเลสีคราม จะทำให้สมองปลอดโปร่ง ช่วยให้ได้ผลงานที่ดี
Workation ที่ดีควรวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะทำงานวันละกี่ชั่วโมง เพื่อให้งานเสร็จทันตามเป้าหมาย และมีเวลาเที่ยวเล่น ไม่ใช่แค่เปลี่ยนสถานที่ทำงาน ที่สำคัญ ต้องมีความเป็นมืออาชีพ ติดต่อเพื่อนร่วมทีมในเวลาทำงาน รับโทรศัพท์และตอบอีเมลที่จำเป็น พยายามหลับและตื่นให้ใกล้เคียงตารางชีวิตปกติ จะได้พักผ่อนเพียงพอ
ไทยติดอันดับจุดหมายของ Workation
รู้ไหมว่า ประเทศไทยติดอันดับสถานที่ที่คนทั่วโลกอยากเดินทางมาพักผ่อนท่องเที่ยวและทำงานไปด้วย จากผลสำรวจของ Airbnb กับ YouGov บริษัทข้อมูลและการวิจัยตลาดระดับโลก ที่สอบถามคนวัยทำงานกว่า 1,000 คนจากประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกอย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 15-19 ต.ค. 63
สำหรับเหตุผลที่ทำให้ไทยเป็นเป้าหมายของ Workation ได้แก่
1. ความหลากหลายของแต่ละท้องถิ่น จะวิวภูเขาหรือทะเล ชอบสีสันหรือความสงบ เมืองไทยตอบโจทย์ทุกความต้องการ
2. อาหารมากมายไม่จำเจ ร้านอร่อยๆ ไม่ได้มีเฉพาะในตัวเมืองใหญ่ แม้แต่ชนบทอันเงียบสงบ ก็ลิ้มรสอาหารอร่อยได้ แถมด้วยรถเข็นอาหารข้างทางหรือสตรีทฟู้ด ที่เลือกได้ไม่สิ้นสุด
3. สะดวกทุกการเชื่อมต่อจากอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกจังหวัด มี wi-fi ที่เสถียรและรวดเร็ว รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะให้เลือกหลากหลาย
4. ซึมซับวัฒนธรรมและเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ เพิ่มความพิเศษด้วยมิตรไมตรีจากคนในชุมชนนั้นๆ รวมทั้งวิถีชีวิตและศิลปหัตกรรมประจำท้องถิ่นที่โดดเด่น
5. เมืองไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะวีซ่าท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (STV หรือ Special Tourist Visa) ที่ออกมาล่าสุด จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพักผ่อนระยะยาวในไทย บวกกับการเป็นศูนย์กลางการบินที่เชื่อมต่อผู้คนมากกว่า 4 พันล้านคนที่อยู่ไกลออกไปเพียงบินไม่ถึง 6 ชั่วโมง
จะว่าไปแล้ว Workation ก็มีข้อดีมากมาย และน่าจะถูกใจไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่รักอิสระ ไม่ชอบนั่งจับเจ่าอยู่กับที่นานๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ อย่างน้อยต้องเป็นคนมีวินัยและความรับผิดชอบสูง เพราะความยากของ Workation คือ การสร้างความสมดุลระหว่างเวลาทำงานและช่วงเวลาพักผ่อนท่องเที่ยว
ที่มา