About
Leisure

ยายบาร์

Yayyyyy Record Bar บาร์แผ่นเสียงแนว Kissaten ย่านนางเลิ้งที่เปิดเพลงตามใจเจ้าของร้าน

เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ ภาพ Annetology Date 14-09-2024 | View 719
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • บาร์แผ่นเสียงที่บอกเล่าความเป็นชุมชนผ่านค็อกเทล กล้วยแขก และตึกแถวทำใหม่แต่ยังคงความเก่า เปิดร้านเพราะอยากเปิดเพลงที่เจ้าของร้านอยากเปิด และอยากให้ทุกคนที่มาได้มีพื้นที่เปิดเพลงที่ตนเองอยากฟัง

เพื่อกันความเข้าใจผิด ร้านนี้เรียกสั้นๆ ได้ว่า ‘ยายบาร์’ ตั้งอยู่ในตึกแถวเก่าที่เคยเป็นบ้านของคุณยายณี ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนของย่านนี้ และเคยมีชื่อสถานที่ว่า ‘ร้านยาย’ แต่สำหรับตอนนี้ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็น ‘Yayyyyy Record Bar’

บาร์แผ่นเสียงที่เกิดจากหุ้นส่วน 7 คนที่ไม่มีประสบการณ์ทำร้านอะไรใดๆ มาก่อนเลย จุดร่วมที่พวกเขามีคือความชอบในการเก็บสะสมแผ่นเสียง และความชอบในดนตรีแนว City Pop ฉะนั้นแล้วจุดแข็งของร้านนี้เห็นจะอยู่ที่เพลงมากกว่าแนวทางในการทำธุรกิจ

“คุณยายยังไม่เสียนะครับ” สะมะ-สมบูรณ์ ชุติวิโรจน์สกุล หนึ่งในหุ้นส่วนบอกเราเป็นอย่างแรกๆ ขณะกำลังหยิบแผ่นเพลงที่ตัวเองสะสมมาให้ดู ซึ่งด้วยความที่ร้านนี้มีหุ้นส่วนกว่า 7 คน จึงยากมากที่จะนิยามว่าร้านนี้เปิดเพลงแนวไหนเป็นหลัก ที่แน่ๆ มี City Pop เป็นตัวตั้งต้น ก่อนแตกแยกสาขาออกไปตามความสนใจของแต่ละคน บางวันถ้ามาที่ร้านอาจจะเจอแนว Hip Hop บางวันอาจจะเจอเพลงญี่ปุ่นยุค Y2K หรือบางวันอาจจะเจอแนว Funk Soul Classic ไปเลย

แต่ถ้าวันไหนมาที่ร้านแล้วเจอสะมะ พวกคุณอาจจะได้ฟังเพลงไทยที่ผมเองก็ไม่นึกว่าจะได้มายินที่ร้านนี้ เพราะในระหว่างที่กำลังคุยกันอยู่ สะมะก็หยิบแผ่นเสียงมาให้เราดูเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น คูณ 3 ซูเปอร์แก๊งค์, The Impossible (ดิ อิมพอสซิเบิล) ไปจนถึง Modern Dog และที่เป็นไม้ตายของเขาเลยคือ ทั้งรู้ก็รัก ของ ชรัส เฟื่องอารมย์

ว่าไปแล้วร้านนี้ก็เหมือนดนตรีเมดเลย์ที่เปิดสร้างขึ้นโดยคนที่อยากเปิดแผ่นเสียงที่ตัวเองมี และสะมะเชื่อว่า ร้านของพวกเขาจะทำให้คนได้รู้ว่าเสน่ห์ของแผ่นเสียงคืออะไร และในบางครั้งมันก็พาเขาไปที่ที่ไม่คิดว่าจะได้ไป พาไปเจอคนที่ไม่คิดว่าจะได้เจอ กลายเป็นประสบการณ์ที่แผ่นเสียงเท่านั้นจะมอบให้ได้ ซึ่งนั่นคือบาร์แห่งนี้ที่เชิญทุกคนพกแผ่นเสียงมาลองเปิดเองได้เลย

ยายบาร์

Introvert Bar

“เมื่อก่อนเรามักจะโดนบอกว่า เพลงแนว City Pop เอาไปเปิดที่ไหนไม่ได้หรอก พวกเราก็เลยจัดงานเปิดเพลงกันเอง ซึ่งพอลองจัดดู คนก็มากัน จนมาถึงจุดหนึ่งที่มองหน้ากัน เออ เราอยากทำร้านกันจริงๆ แหละ ร้านที่เราอยากจะเปิดเพลงอะไรก็ได้ที่เราอยากจะเปิด” สะมะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของร้านแผ่นเสียงแห่งนี้

ยายบาร์

ยายบาร์

โดยเขาและหุ้นส่วนพยายามที่จะทำร้านด้วย 3 แนวคิด

หนึ่ง Discover เขารับประกันว่า ถ้ามาที่ร้านนี้ คุณจะได้ฟังเพลงที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนแน่นอน และบางทีก็อาจจะเจอกับดีเจที่เชิญมาจากข้างนอก ซึ่งกำลังต้องการพื้นที่ปล่อยของอยู่พอดี รวมถึงวิธีการที่แหกขนบเดิมๆ เช่น บางร้านบอกว่าห้ามเปิดเพลงช้าติดกัน 3 เพลง ที่นี่เปิดติดกันไปเลย 1 ชั่วโมงเต็ม

สอง Connect แนวเพลงที่หลากหลายจะเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน พวกเขายินดีต้อนรับทุกคน ทุกแนว บางร้านอาจมีข้อจำกัดว่าไม่ให้เปิดเพลงแนวนี้ แต่ที่นี่ขอแค่คุณมีแผ่นก็สามารถมาขอลองเปิดได้เลย

สาม พอเกิดการเชื่อมโยง สิ่งที่จะตามมา และเขาหวังว่าจะเกิดขึ้นคือ Community ที่เชื่อมคนและดนตรีเข้าไว้ด้วยกัน

ยายบาร์

“บางคนบอกว่าที่นี่ดู Introvert Bar มาก” สะมะหัวเราะให้กับนิยามที่ได้รับ “เขาบอกว่าเป็นบาร์ที่มาคนเดียวแล้วไม่เขิน ซึ่งเป็นที่ต้องการมาก หรือถ้าอยากพูดคุย เราก็มีหน้าบาร์ให้พร้อม ซึ่งผมรู้สึกว่าเราตั้งร้านขึ้นมาเพื่อให้ประสบการณ์กับลูกค้า แต่พอลูกค้ามา ก็เหมือนเอาประสบการณ์ของเขาเข้ามาเติมเต็มร้านเราด้วย เลยออกมาเป็นร้านนี้”

ยายบาร์

Kissaten

มีชื่อร้านแล้ว มีแนวทางการทำร้านแล้ว ก็ต้องมีตัวอาคารที่ตั้งเป็นหนึ่งในหัวใจหลัก ซึ่งสะมะเล่าว่า เวลาไปญี่ปุ่น เขาค่อนข้างชอบร้านหรือบาร์แนว Kissaten เป็นพิเศษ ด้วยการตกแต่งที่ออกไปทางยุคโชวะ ความเป็นตึกเก่า บ้านเก่า แสงไฟสลัวที่กระทบกับแผ่นไม้ ให้บรรยากาศอบอุ่นแก่คนที่มา ส่งเสริมไปกับแนวเพลง City Pop ที่บอกเล่ากลิ่นอายของยุคสมัยผ่านเสียงดนตรี

ยายบาร์

“ผมชอบเพลงของ Yamashita Tatsuro เป็นพิเศษ” สะมะขอแวะเสริม

ส่งผลให้โจทย์แรกในการหาที่ตั้งของร้านต้องเป็นตึกเก่า ก่อนจะออกตระเวนเฟ้นหาในหลายๆ ย่าน ไม่ว่าจะเป็นบรรทัดทอง นานา กระทั่งเยาวราช จนแล้วจนรอดเขาก็ยังไม่ได้ตึกตามที่ต้องการ ท้ายสุดสะมะจึงต้องพึ่งพาความบังเอิญ และได้พาตัวเองมายังย่านที่ตนไม่เคยมาเลยในทีแรก นั่นคือ นางเลิ้ง

ยายบาร์

“ผมไม่เคยมาย่านนี้เลย รู้แค่ว่าเขาสร้างตึกแถวตรงนี้ต่อจากราชดำเนิน แล้วเราได้มาเจอกับตึกนี้ที่เคยเป็นของยายณี จากที่ได้ยินมา เขาเหมือนเป็น Community Leader ที่คอยดูแลชุมชนย่านนี้ ห้องเลยถูกใช้เป็น Community Center ของคนที่นี่เมื่อสักยุค 80 และยังเป็นร้านขายของไปด้วยชื่อว่า ‘ร้านยาย’ ป้ายยังอยู่หน้าร้านอยู่เลย (สะมะชี้ไปที่หน้าร้าน)

ยายบาร์

“เออ ตึกมีสตอรีนะ อยู่ๆ เราจะมาทำซี้ซั้วไม่ได้ ผมเลยตั้งชื่อว่า ‘ยายบาร์’ และพยายามเก็บความดั้งเดิมของตึกเอาไว้ให้ได้มากที่สุด จะเห็นว่าลวดลายบนผนังเป็นของเดิมที่เก็บไว้ ซึ่งสถานที่ตรงนี้ก็ต่อยอดมาที่แนวคิด Community ด้วย เพราะว่าตอนนี้ชั้น 2 ยังว่างอยู่ ผมก็คิดอยากจะให้เป็นพื้นที่สำหรับคนในชุมชนได้ใช้งาน กับพยายามทำให้ตึกกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง”

ยายบาร์

Community

ก่อนจะไปไกลกว่านี้ สะมะขอให้บาร์เทนเดอร์แนะนำค็อกเทลซิกเนเจอร์ของร้าน น่าเสียดายนิดหน่อยตรงที่เราคงไม่สาธยายได้ทุกแก้ว บอกรสชาติได้ทุกจิบ เพราะฉะนั้น เราจึงให้บาร์เทนเดอร์คัดสรรมาอย่างน้อย 2 แก้วที่เขามองว่าพิเศษกว่าแก้วอื่นๆ

“พวกนี้ก็จะเป็นสูตรที่มั่วขึ้นมาเอง เพราะค็อกเทลบางสูตรก็ตายตัว บางสูตรก็ดิ้นไปได้เรื่อยๆ” บาร์เทนเดอร์อธิบายถึงที่มาที่ไปของสูตรค็อกเทลในร้าน

ยายบาร์

แก้วแรก Nang Loeng Bramble เป็นค็อกเทลรสกล้วยที่ใช้ Nickel กล้วย พูดง่ายๆ คือเหล้ากล้วยที่ถูกกลั่นออกมาให้มีความหวานนิดหนึ่ง ล้อไปกับย่านนี้ที่มี่กล้วยเป็นของอร่อยระดับจุดขาย ออร์เดิร์ฟจะเสิร์ฟเป็นกล้วยเบรกแตก

ยายบาร์

แก้วที่สอง Highball Thai Tea ที่จะเบสมาจากชาไทยของร้านในเวลากลางวัน อ่านแล้วอาจจะสงสัย จริงๆ แล้วยายบาร์มีอีฟฟังก์ชันหนึ่ง นั่นคือในเวลากลางวัน ร้านนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ชาไทยชื่อว่า ‘คำหอม’ และกลายเป็นบาร์ในเวลากลางคืน สะมะบอกว่าเหมือน 2 คนในร่างเดียว

พูดถึงเรื่องกล้วยๆ สะมะก็เอ่ยถึงร้านกล้วยแขกที่อยู่ใกล้ๆ กันขึ้นมา

“ความเป็นชุมชนของตรงนี้คือการช่วยเหลือกัน ร้านแถวนี้พอเห็นเรามาใหม่ เขาก็ต้อนรับเรา อย่างข้างๆ ก็เป็นคุณป้าที่ขายกล้วยแขก เราก็ช่วยเพิ่มกล้วยแขกของป้าเข้าไปในเมนูเดลิเวอรีของร้านเรา เวลาใครสั่ง เราก็จะไปซื้อจากที่ป้าทำมาส่งให้ เพราะป้าเขาทำไม่เป็น” สะมะเล่า

ยายบาร์

สะมะมองเห็นและอยากให้ร้านของพวกเขาเป็นมากกว่าแค่บาร์เปิดแผ่นเสียงยามค่ำคืน เขาอยากให้สถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือน Community ที่พาคนมารู้จักกัน ได้มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน หรือบางทีอาจเป็นการแบ่งปันพื้นที่เพื่อมอบประสบการณ์ที่ยากจะหาจับต้องได้ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้ เพราะเขาเชื่อว่าแม้จะมีบาร์เกิดขึ้นมาค่อนข้างเยอะ แต่ร้านเขาก็พร้อมมอบประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใคร ไม่เรียงลำดับเพลง ไม่มีแนวที่ตายตัว ดีเจไม่ซ้ำหน้า บางทีลูกค้าที่มาบ่อยๆ อาจรู้สึกสวิงไปกับความไม่นิ่งนี้ได้เลย

ยายบาร์

ยายบาร์

“บางคนอาจสงสัยว่าการเปิดแผ่นเสียงกับฟังผ่านสตรีมมิงต่างกันยังไง ผมเชื่อว่าทุกแผ่นเสียงมีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่ออกแบบเอาไว้รอให้เราได้มาสัมผัส และบางครั้งก็เป็นเรื่องราวที่เราไม่เคยคิดเลยว่า การเก็บแผ่นเสียงจะพาเราไปอยู่ตรงจุดนั้น มีเรื่องหนึ่งผมอยากเล่าให้ฟัง

ยายบาร์

“ผมเคยทำงานด้านสังคมมาก่อน แล้วมีน้องคนหนึ่งมาขอความช่วยเหลือ พ่อของเขาพิการ แล้วบ้านเขาเป็นสถานีวิทยุเก่าที่ออกอากาศในชุมชน พ่อเขาเป็นดีเจ มีแผ่นเสียง มีเครื่องเล่น อยากให้ผมมาช่วยซื้อไปหน่อย พอไปถึงก็พบว่าแผ่นเต็มห้องเลย แต่ปลวกกินไปเยอะมาก เราก็ไปที่นั่น 3-4 วัน ไปเก็บ ไปรื้อ ไปทำความสะอาด และในระหว่างนั้นพ่อเขาก็เสีย ตอนที่เก็บๆ กัน เราก็มาลองดูว่าเครื่องเล่นยังใช้งานได้หรือเปล่า พอใส่เทปเข้าไปก็เป็นเสียงโฆษณา ‘พบกับคอนเสิร์ตติ๊ก ชิโร่ ได้ที่เดอะมอลล์บางแค’ เขานั่งร้องไห้บอกผมว่า นี่แหละเสียงพ่อเขา ม้วนนี้เขาขอเก็บไว้นะ” สะมะเล่าด้วยน้ำเสียงนิ่งเรียบ พร้อมกับแสดงความแปลกใจเมื่อนึกย้อนไปยังเรื่องราวที่เขาได้เจอ

ยายบาร์

ในตอนนี้ชั้น 2 ของร้านยังคงว่างอยู่ เราเลยถามสะมะถึงความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นบนชั้น 2 นี้ว่ามีอะไรบ้าง

อย่างแรกที่แน่นอนอยู่แล้วคือ เขาอยากให้เป็นพื้นที่สำหรับศิลปินในชุมชนได้ใช้จัดแสดงงานของพวกเขาที่อาจจะกำลังรอวันถูกค้นพบเหมือนแผ่นเสียงหายากบางแผ่น

ยายบาร์

อย่างที่สอง เขาอยากทำเป็นร้านแผ่นเสียงของตัวเอง ซึ่งก็ตั้งชื่อไว้เสร็จสรรพเรียบร้อย

“อยากตั้งชื่อว่า ซ่อนเธอไว้ในเพลง” สะมะหัวเราะให้กับชื่อที่คิดไว้ในอนาคต

ยายบาร์

Yayyyyy Record Bar
เวลาเปิด-ปิด: 18:00 – 00:00 (ปิดทุกวันจันทร์)
Facebook: Yayyyyy Record Bar
Instagram: Yayyyyy Record Bar
สถานที่: https://maps.app.goo.gl/LPe7YT7VJTNS9ZTU6

Tags: