- หากพูดถึงงานจักสาน หลายคนคงมีภาพจำในวัยเยาว์ว่า เป็นตะกร้ากระเป๋าที่คุณป้าคุณยายนิยมใช้เป็นส่วนใหญ่ แถมยังถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่คุ้มเหนื่อยเมื่อเทียบกับราคาขาย น้อยคนที่จะชื่นชอบ แต่ท่ามกลางความนิยมที่ลดน้อยลง ยังมีคนบางกลุ่มที่พยายามสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อลบภาพกระเป๋าสานแบบเดิมด้วยการดีไซน์ให้ดูทันสมัย
- CHOM hand craft แบรนด์ที่หยิบจับความโมเดิร์นมาผสมผสานเข้ากับงานสานอย่างผักตบชวาได้อย่างโดดเด่นมีเอกลักษณ์ เปลี่ยนภาพจำงานสานยุคก่อนๆ ด้วยรูปทรงดีไซน์และสีสันจนทำให้แบรนด์มีความเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
ในวันที่ใครหลายคนเริ่มมองว่างานจักสานเป็นเพียงงานของคนมีอายุ ใช้เวลาทำนาน ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับแรงที่เสียไป เป็นวันเดียวกันที่ แอล-อิสรัตน์ แซ่ลิ้ม เจ้าของ CHOM hand craft มองเห็นความเป็นไปได้บนสายอาชีพนี้
จนอยากลบความคิดนั้นแล้วทำให้พวกเขาเห็นว่า เธอสามารถสร้างสรรค์งานจากผักตบชวาให้ดูดีกว่าเดิมได้
• มองเห็นปัญหา
คุณแอลพูดถึงมุมมองที่มีต่อการซื้อขายงานฝีมือให้ฟังว่า โดยพื้นฐานคนทำงานฝีมือจะทำงานให้ดีที่สุดเพื่อขาย นั่นหมายความว่า เขาต้องได้ค่าตอบแทนที่ดีที่สุดเหมือนกัน ตัวคนทำงานฝีมือเองก็แฟร์กับคนซื้อ ฉะนั้นเราในฐานะของคนซื้อก็ต้องแฟร์ด้วย
“ต้องบอกก่อนว่าเริ่มแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำธุรกิจ แค่อยากแก้ปัญหาของคุณแม่แฟนที่เจอกับการทำเซ็ตตะกร้าชุดใหญ่ 2 อาทิตย์แล้วได้แค่ 400 บาท แม่เองก็รู้ว่ามันไปได้ไกลกว่านี้ แต่ถ้าเขาขายเกินกว่านั้น…ใครจะซื้อ ความน่ากลัวคือสิ่งนี้ซึ่งเราคิดว่าไม่ถูกต้อง” ด้วยความที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ เธอพอจะรู้ว่ามีกลุ่มคนที่สามารถซื้องานชิ้นแค่นี้ในราคาที่มากกว่านั้นได้ แล้วทำไมเธอต้องปล่อยให้แม่ทำตะกร้า 4 ใบ 400
เมื่อเริ่มเห็นแสงสว่างตรงทางออก การก้าวเดินไปในเส้นทางนั้นจึงเป็นขั้นตอนต่อไป
• เริ่มต้นจากศูนย์
“เราเริ่มวางระบบบางอย่าง ตอนแรกไม่รู้อะไรเลย งานสานก็ไม่เคยทำ ขายของก็ไม่เคยขาย แต่ว่าเราถ่ายรูปได้แล้วก็มีวิธีการสื่อสารทางออนไลน์เลยเริ่มต้นทำเพจ” เธอใช้ประสบการณ์จากการทำงานที่ผ่านมา สร้างมูลค่าให้กับงานสานมากกว่าที่เคยเป็น คุณแอลเล่าว่าตอนฝึกงานมีโอกาสได้เข้าไปทำในส่วนของการตลาดภายในโรงแรม ดูแลเพจให้กับโรงแรม ถ่ายภาพ เขียนแคปชัน ทำการตลาดออนไลน์ เลยเป็นที่มาของการทำหลายๆ อย่างได้ในวันนี้
จุดเริ่มต้นการเป็นช่างสานของคุณแอลไม่ได้เกิดจากวิชาความรู้ที่ได้รับถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่นเหมือนคนอื่น แต่เริ่มจากการศึกษาและเรียนรู้ใหม่ทั้งหมดจาก แม่ชม – รอดรัตน์ นักสานมืออาชีพผู้โลดแล่นอยู่ในวงการนี้มากว่า 30 ปี การทำงานร่วมกันระหว่างคนสองช่วงวัย จึงถูกเรียกว่า ‘งานสาน 2 Gen’
ถ้าย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เธอเป็นเพียงนักศึกษาจบใหม่ที่ตอบตัวเองได้ว่า การทำงานภายใต้ระบบออฟฟิศไม่ใช่คำตอบที่เธอมองไว้ เพราะเนื้อแท้แล้วเธออยากทำงานศิลปะเพื่อเลี้ยงชีพ อาจดูเป็นเรื่องยากแต่เธอเชื่อว่ามันเป็นไปได้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงรอยต่อของชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความท้าทาย แต่เธอกลับไม่เคยหยุดพยายามและเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำเสมอมา จนถึงทุกวันนี้
• เพราะเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้
“จริงๆ อันนี้มันเกิดจากนิสัยขี้ตะแบงของเรา เราเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ เราเชื่อว่ามันดีได้กว่านี้ ก็เลยอยากทำให้สิ่งที่เราเห็นให้มันเกิดขึ้นจริงๆ แค่รู้สึกว่าสิ่งที่เราคิดมันเป็นไปได้ เลยเริ่มแล้วก็ทำไปเรื่อยๆ” เธอพูดออกมาด้วยท่าทีและน้ำเสียงสบายๆ แต่เรากลับรับรู้ได้ถึง Passion มหาศาลในตัวผู้หญิงคนนี้
“คือเราไม่เชื่อการจัดประเภทบางอย่าง เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันเป็นไปได้ทั้งหมด เมื่อก่อนผ้าถูกทำมาเพื่ออะไรก็ไม่รู้ วันนึงยังเป็นรองเท้าได้ ของที่มันเคยมีทุกวันนี้ มันก็เคยไม่มีมาก่อน นั่นหมายความว่า เราทำของที่มันไม่เคยเกิดขึ้นให้มันเกิดขึ้นได้ เราเชื่อแบบนั้นเราก็เลยทำ เราทำเรื่องนี้ตอนอายุ 22 เราคิดว่าจะทำเรื่องนี้ 10 ปี โดยที่นั่งคิดแล้วว่าอีก 10 ปีเราจะอายุ 32 ถ้าเรื่องนี้มันจะแย่ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยรู้เรื่องผักตบแล้วไปทำอย่างอื่นต้องเก่งแน่ๆ ให้มันเป็นความเร่งที่ไม่รีบ เพราะในระหว่างนั้นเราไม่ได้ปล่อยปะละเลย เราก็ทำไปอย่างตั้งใจทุกครั้ง”
‘ลองดูก็ไม่เสียหาย’ ดูจะเป็นคำอธิบายความคิดของเธอได้เห็นภาพที่สุด แต่สำหรับ แอล-อิสรัตน์ การลองดูครั้งนี้มีทั้งความมุ่งมั่นและความอดทนเป็นส่วนประกอบสำคัญ เธอเต็มที่กับทุกวันโดยไม่เร่งรัดความสำเร็จ ทุกก้าวเดินจึงมั่นคงและแข็งแรง
• ค้นหาตัวตนและกลยุทธ์
แต่ช่วงแรกของการเริ่มต้นก็ไม่ได้ราบรื่นไปซะทีเดียว “ ช่วง 2 ปีแรกเราหาตัวตนเราไม่เจอ เรารู้สูตรว่าการทำแบรนด์ต้องมีตัวตนชัดเจน แต่คำถามคืออะไรคือตัวตนเรา จุดแข็งของแม่คือทำได้ทุกอย่าง สานตั้งแต่แผ่นรองแก้วยันเฟอร์นิเจอร์ทำได้ทุกลายแกะได้ทุกอย่าง ข้อดีคือทำได้ทุกอย่าง ข้อด้อยคือมันกว้างจนเราหาไม่เจอว่าอะไรคือของเรา”
“จนเราเริ่มเข้าใจว่า จริงๆ แล้วงานมันเหมือนกันหมด แต่ว่าคนซื้อของเพราะว่าใครทำต่างหาก พอเราเริ่มรู้เราเลยเริ่มเป็นตัวเองมากขึ้น” เห็นได้จากงานในช่วงหลังๆ แบรนด์เริ่มมีการใส่สีสัน ให้ความสำคัญกับการดีไซน์แต่ละชิ้นงาน เหมือนปลดล็อกให้คุณแอลและแม่ชมได้เริ่มทำในสิ่งที่อยากทำ
“…เราต้องศิลปินกันนิดนึง เราจะทำแค่นี้แล้วเราจะไม่ทำอีกแล้ว และไม่ว่าใครจะซื้อเราจะไม่ทำอีกแล้ว ในช่วงแรกมันยากพราะมันต้องกินต้องใช้ แต่เราต้องใจแข็ง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือว่า คนที่มีของชิ้นนี้เมื่อสองสามปีที่แล้ว พอเขารู้ว่าไม่ผลิตแล้วจะรู้สึกว่ามันพิเศษมาก”
เธอพูดถึงจุดเปลี่ยนจากแบรนด์เล็กๆ สู่แบรนด์ที่มีของลิมิเต็ด
แล้วมันจะมีคำถามตามมา… ทำไมต้องขายแพง? สำหรับเราคำตอบที่เป็นรูปธรรมที่สุดคงจะเป็นผลงาน กกทุกเส้น ถูกสานด้วยความละเมียดและประณีต ขั้นตอนการผลิตอัดแน่นด้วยความใส่ใจตลอดหลายชั่วโมง เหมือนกับที่คุณแอลบอกกับเราว่า “ถ้าคุณซื้อกระเป๋าใบนี้ซึ่งทำ 15 ชั่วโมง มันไม่ได้หมายความว่าคุณซื้อแค่กระเป๋า แต่ซื้อช่วงเวลาชีวิตนึงของเราไปด้วย” แนวคิดของแบรนด์ได้ตอบคำถามไปในตัวแล้วว่า ทำไมเราต้องให้คุณค่าและราคากับงานสานอย่างเหมาะสม
• ลายเส้นที่เริ่มมีลายเซ็น
หลังผ่านการเรียนรู้ สังเกต อดทนทดลองทำจนเกิดความชำนาญ เธอก็สามารถผสานตัวตนสู่งานสานได้อย่างลงตัว งานสานจึงมีทั้งแบบที่ดูแปลกตาเน้นดีไซน์เก๋ และรูปทรงธรรมดาง่ายต่อการใช้งาน เพราะคุณแอลอยากให้คนเลือกใช้ได้ตามความต้องการในแต่ละวัน “คือเราอยากให้ ของๆ เรามันใช้ได้กับทุกคน อยู่ได้กับทุกมู้ด มันจะมีประโยคน้ำเน่าอันนึงที่เราชอบพูดบ่อยๆ ก็คือ เราอยากอยู่ในทุกพาร์ทของคนๆ นึง”
เหตุที่งานสานของ CHOM hand craft ดูแปลกตาไปจากงานสานผักตบชวาทั่วไป เพราะแรงบันดาลใจในแต่ละชิ้นงานขึ้นอยู่กับจังหวะและเวลาของคุณแอลว่าในช่วงเวลานั้นเธออินกับอะไรเป็นพิเศษ “ช่วงที่อินกับงานปั้นมันก็จะมาจากการปั้น บางช่วงที่เราชอบดูแมลง มันก็จะมาจากแมลง แล้วบางครั้งมันก็เกิดจากอะไรก็ไม่รู้ที่เราอยากทำ” ความซับซ้อนของสี การขึ้นลายบนงานสาน รวมถึงรูปทรงแต่ละคอลเล็กชันจึงพิเศษและมีเสน่ห์แตกต่างกัน
มันคือการขายความอาร์ตบางอย่างที่ใช้งานได้ ผลงานทุกชิ้นมีตัวตนของคนทำแอบซ่อนอยู่
บางชิ้นทำให้เราเห็นว่าเธอกำลังก้าวข้ามกรอบเดิมของงานสานสู่ความสมัยใหม่ ต่อสู้กับภาพจำเก่าๆ เพื่อทลายกำแพงให้คนอื่นเห็นว่างานสานมันไม่ต้องมีแพทเทิร์น มันไม่ต้องเหลี่ยมไม่ต้องกลม แต่มันจะต้องเป็นงานกึ่งประติมากรรมด้วย งานของแบรนด์เลยมีตั้งแต่เครื่องประดับเล็กๆ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ๆ และที่สำคัญคือทำมือทุกชิ้น
• บทส่งท้าย
“สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราอยากเห็นคือ ลูกค้าที่เป็นรุ่นยายส่งของให้รุ่นหลาน เช่น ยายเคยสั่งทำรุ่นนี้มา มันไม่มีแล้วนะ” คุณแอลพูดปิดท้ายพร้อมรอยยิ้ม และฝากเคล็ดลับการดูแลรักษางานผักตบชวาไม่ว่าสะพายไปเที่ยวลุยไหนต่อไหน สามารถป้องกันการขึ้นราได้เพียงแค่นำมาตากแดด นอกจากนี้ยังมีบริการรับทำความสะอาดกระเป๋าผักตบชวาให้อีกด้วย
ปัจจุบัน CHOM hand craft มีจำหน่ายทั้งในโลกออนไลน์และห้างสรรพสินค้า SIAM Discoversy และ ICON SIAM นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปที่ When life gives you lemons (ซอยจรัญสนิทวงศ์ 91) ให้คนที่อยากเรียนรู้งานสานผักตบชวาในแบบฉบับของเธอเอง
เพจ Facebook : CHOM hand craft
เบอร์ติดต่อ : 09-8306-1279
สถานที่ Workshop : When life gives you lemons (ซอยจรัญสนิทวงศ์ 91) / SIAM Discoversy / ICON SIAM