About
RESOUND

The Maker Mind

‘สามารถ เขียวรัตน์’ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ ภาพ มาหยารัศมี Date 19-06-2022 | View 3996
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ทุกวันนี้กิจกรรมเอาท์ดอร์เป็นกระแสเติบโตไม่เคยเอาท์ เราเห็นภาพนี้ชัดหลังภาวะล็อกดาวน์ ผู้คนยิ่งโหยหาการท่องเที่ยว อยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน อยากใกล้ชิดธรรมชาติในมุมที่อิ่มเอม
  • ในต่างประเทศ ‘เรือแคนู’ (Canoe) คืออีกไอเท็มที่ชาวแคมเปอร์ต้องมี! ได้รับความนิยมมากในแคนาดา เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ พวกเขาใช้เรือแคนูเป็นพาหนะคู่กาย ค่อยๆ จ้วงพายออกไปตามหาสถานที่สงบ พักผ่อนหย่อนใจในป่าลึก ตั้งแคมป์บนเกาะเงียบๆ หลบหนีความวุ่นวายห่างไร้ผู้คน
  • ในเมืองไทยมีผู้หลงใหลไลฟ์สไตล์แบบนี้ แต่ยังน้อย…และน้อยหนึ่งในนั้น คือ มาด – สามารถ เขียวรัตน์ แคมเปอร์ผู้มีรสนิยมหลงใหลชีวิตเอาท์ดอร์ ในช่วงปีที่ผ่านมาเขาชาเลนจ์ตัวเองด้วยการลองผิดลองถูก ขวนขวายจน…สามารถ (สมชื่อ) ลงมือต่อเรือแคนูไม้ได้ด้วยตัวเอง 2 ลำ แล้วตั้งชื่อผลงานน่าภูมิใจชิ้นนี้ว่า ‘canoegreendee’

บอกตามตรง เรารู้จักเรือแคนูน้อยมาก รู้แค่ว่า...แคนูกับคายัก ดูภายนอกคล้ายๆ กันราวกับเป็นเครือญาติ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวสายผจญภัย ในบ้านเราค่อนข้างนิยมคายักมากกว่าแคนู ลองเสิร์ชหาข้อมูลเพิ่ม มีคนอธิบายเปรียบเทียบเอาไว้เข้าใจง่ายว่า แคนูเหมือนรถกระบะ แต่คายักเป็นรถสปอร์ต แคนูลำใหญ่กว่าบรรจุของได้เยอะกว่า ลักษณะของไม้พาย วิธีพายก็มีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างกัน แคนูนิยมพายในลำน้ำนิ่งๆ กระแสน้ำไม่แรงมาก ส่วนคายักเหมาะกับพายในทะเล

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

สมัยก่อนเรือแคนูได้รับการยกย่องว่า เป็น ‘พาหนะสมบูรณ์แบบ’ ชนพื้นเมืองอเมริกาเหนือใช้แคนนูสำหรับเดินทางหาอาหาร ล่าสัตว์ ขนส่งสินค้าไปตามเส้นทางน้ำขนาดเล็กไปจนถึงทะเลสาบขนาดใหญ่ได้รวดเร็วปลอดภัย การสร้างแคนูก็เป็นอีกเรื่องที่โคตรเจ๋ง! เรือแคนูของชาวเมารีในนิวซีแลนด์ก็ใช้ไม้ซุงขนาดมหึมายาวถึง 35 เมตร ชาวแคนาดาสร้างเรือแคนูโดยขุดลำต้นสนซีดาร์แดงยักษ์มาทั้งต้นแล้วใส่น้ำและหินร้อนๆ ลงไปช่วยให้ไม้อ่อนตัวดัดรูปทรงได้ ส่วนชาวอินเดียนแดงสร้างแคนูจากหนังกวางและเปลือกไม้เอิร์ซ เจ๋งไปกว่านั้น เรือแคนูสร้างขึ้นแทบไม่ได้ใช้ตะปู แม้แต่ตัวเดียว!

เราไปเจอทริปหนึ่งที่มีแกงค์พายแคนูออกไปผจญภัยตั้งแคมป์กันบนเกาะเล็กๆ กลางทะเลสาบแถบเมืองกาญจน์ สะดุดตากับแคนูไม้สุดคลาสสิกซึ่งแคนูลำนี้มาจากฝีมือหนุ่มไทยที่ต่อเองประกอบเองล้วนๆ

สามารถ เขียวรัตน์ คือชายหนุ่มคนนั้น…ยิ่งกว่านั้น แคนูที่เขาต่อขึ้นมา เขาเรียนรู้จากช่องยูทูบด้วยตัวเอง!

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

เรื่องของมาด (กับความ) สามารถ

เรานัดพบ มาด-สามารถ เขียวรัตน์ พร้อมๆ กับเจ้าเรือแคนูไม้คลาสิกจอดพักอยู่ในห้องโถงบริเวณพื้นที่ส่วนตัวของเขาที่เรียกว่า ‘กรีนแลนด์’ กวาดตาไปอีกมุม คือ ห้องที่ใช้ทำงานอดิเรก มีเรือลำหนึ่งกำลังขึ้นโครงอยู่ รอบๆ เต็มไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่เรารู้จักและไม่รู้จัก

เขาออกตัวว่า ไม่ได้รู้ประวัติของเรือแคนูอะไรมากนัก แต่รู้ว่าตัวเองกำลังโฟกัสตั้งใจกับการต่อเรือแคนูมานานนับปี หลังจากดูยูทูปของฝรั่งแล้วรู้สึกว่าเป็นงานอดิเรกที่น่าลองทำมากๆ อย่างน้อยก็เพื่ออัพสกิลและแก้เบื่อในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก

mad 19

ภาพโดย สามารถ เขียวรัตน์

มาด…อาจไม่ใช่ผู้คร่ำหวอดในวงการเรือแคนู ไม่ใช่นักกีฬาพายแคนู หรือเจ้าของโรงงานผลิตอะไรทั้งสิ้น เขาเคยเป็นอาร์ตไดเรคเตอร์ในยุคที่แมกกาซีนเฟื่องฟู เป็นสามีและคุณพ่อลูกหนึ่ง มีรถแลนด์ครุยเซอร์คันโปรดเป็นพาหนะคู่ใจ ด้วยสกิลด้านศิลปะที่ร่ำเรียนมาผสมทักษะงานช่างที่มีติดตัว ทำให้เขามีฝีมือในการทำเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน โต๊ะ เก้าอี้ ลังไม้ งานคัสตอมทั้งเอาไว้ใช้เอง บางชิ้นก็เพื่อขาย

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

มาด…มักหยิบเรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิต ฮ็อบบีที่ทำยามว่าง เก็บเกี่ยวภาพบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัวและชาวแกงค์กลุ่มเพื่อนที่มีไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กันมาโพสต์ไว้บ่อยๆ บนหน้าเฟสบุ๊กบ้าง อินสตาแกรมบ้าง แคมเปอร์คนนี้พิสมัยไลฟ์ไตล์เอาท์ดอร์มานานนับสิบปี จนวันหนึ่งเขาเรียนรู้ที่จะต่อเรือแคนู ประกอบมันขึ้นมาด้วยสองมือตัวเอง

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

 

“ ชีวิตผมก็เหมือนเด็กผู้ชายซนๆ ทั่วไป ชอบพายเรือตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนบ้านสวนมีบึงน้ำเล็กๆ ก็จะเอาโฟมมาต่อๆ กัน ลอยตุ๊บป่องเล่นน้ำ ตอนหลังพ่อซื้อเรือเป่าลมให้เล่น โตขึ้นก็ขยับเป็นพายเรือไม้ ถ้าว่างจากงานชอบเที่ยวเดินทางส่วนใหญ่เน้นแนวเอาท์ดอร์”

“จนวันหนึ่งผมไปเจอคลิปฝรั่งพายเรือแคนู ในคลิปเล่าเรื่องย้อนไปว่า พ่อแม่ทำโปรเจกต์ด้วยกันเป็นการต่อเรือไว้ลำหนึ่ง จนเรียนจบ แต่งงานกันก็ไปพายเรือกัน วันหนึ่งลูกไปรื้อของเจอกล่องอัลบั้มฟิล์มแล้วลองเอามาสแกนดู เป็นแรงบันดาลใจให้ออกไปรื้อค้นเรือที่พ่อกับแม่เคยต่อไว้ ต่อมาลูกเอามาซ่อมจนใช้งานได้ สุดท้ายได้เอากลับมาพายเที่ยวกันพ่อแม่ลูก”

“โมเมนต์นั้น ผมประทับใจมาก เป็นที่มาทำให้ลองไล่หาดูคลิปที่ฝรั่งทำเรือเอง ดูวนไปวนมาซ้ำๆ จนสมองเหมือนมันสั่งว่า เฮ้ย! เราน่าจะทำได้นะ เรามีสกิลงานไม้อยู่บ้าง ไม่น่าเกินความสามารถ ก็จัดเลย!”

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

Canoe No.1: ลองผิดลองถูก

เขาเริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลและเซฟเรฟเฟอร์เรนท์ของฝรั่งเก็บไว้ บางทีก็ดูยูทูป ดูวิธีขั้นตอนการทำ ด้วยความโชคดีที่ไปเจอภาพสเกลที่มีคนแชร์ไดเมนชั่น (มิติหรือโครงสร้างของเรือ) เอาไว้ คล้ายๆ กระดูกงู เขาเอาไปให้เพื่อนช่วยขยายสเกลให้ ศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มโตที่สั่งซื้อมาจากอีเบย์ เพื่อถอดแบบ และค่อยๆ แกะโครงสร้างของเรือ ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ลุยหาซื้ออุปกรณ์แล้วมุ่งมั่นลงมือทำ

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

“ฝรั่งทำเรือเองได้ เราก็น่าจะทำได้นะ ผมลองทำทุกอย่างที่ฝรั่งทำ ไปตามหาซื้อไม้ ส่วนใหญ่ไม้ที่ฝรั่งใช้คือ ไม้ซีดาร์ แต่ในบ้านเราไม่มีขาย จะใช้ไม้มะฮออกกานีก็เนื้อแข็งไปขึ้นโครงยาก บางคนแนะนำไม้ไทยอย่างไม้ยมหอม แต่ข้อจำกัดของผมคือ ไม้อะไรก็ได้ที่สัดส่วนความยาวไม่ต้องต่อไม้ ขอให้น้ำหนักเบา ราคาต้องไม่สูงมาก แคนูลำแรกผมเลยเลือกใช้ไม้เปอร์เซีย ได้มาจากร้านย่านบางโพ ยาวราวๆ 4.20 เมตร มันมีความเหนียว ราคาไม่แพง สารภาพว่าเริ่มทำลำแรกควบคู่ไปกับคำว่า ใช่ป่าววะ? ได้ไหมวะ? ถ้าทำไม่ได้ สุดท้ายก็อาจจะแปลงเป็นโคมไฟมั้ง (หัวเราะ)”

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

“ผมโพสต์ขั้นตอนทุกอย่างไว้ในโซเชียลฯ แบบแก้เขิน ใครถามก็บอกว่า ทำโคมไฟทรงเรือ (หัวเราะ) พอลงโพสต์บ่อยๆ ก็เริ่มมีเพื่อน มีคนรู้จักช่วยแชร์ในเฟสบุ๊ค ทำให้เจอกับรุ่นพี่ที่เขาเคยทำมาก่อนแล้ว ผมเล่าปัญหา ปรึกษานั่นนี่ ได้คำแนะนำมาปรับ ทำไปทำมาจนลูกสาวมาเห็นแล้วทักว่า เฮ้ย! พ่อทำเรือได้ด้วยเหรอ บางทีก็มาช่วยขัดบ้าง ภรรยาก็ไม่ว่าอะไร พวกเขาตื่นเต้นไปกับเราด้วย รู้ว่าเราสนุก”

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

“จริงๆ ที่อยากลองทำก็เพราะพวกเขาด้วย อยากก้าวข้ามการตั้งแคมป์แบบเดิมๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่บนบก จินตนาการว่าถ้าวันหนึ่งได้พายเรือที่เราต่อเองไปตามหาสถานที่ยูนีคๆ สวยๆ มีลูกและภรรยาไปกับเราด้วย มันน่าจะเป็นโมเมนต์ที่ดีมากๆ กับความทรงจำของครอบครัว (ยิ้ม)”

ทุกอย่างมีเวลาของมัน…ในที่สุดแคนูลำแรก มาดใช้เวลาราว 3 เดือนในการต่อประกอบจนเสร็จ เขาเล่าว่าได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก หมกมุ่นอยู่กับแคนู กินข้าวกับแคนู จิบกาแฟกับแคนู ฟังเพลงกับแคนู มีกิจวัตรอยู่กับแคนูในช่วงที่ว่างเว้นจากงานประจำ โดยที่มีกำลังใจกระบุงใหญ่จากคนข้างหลัง

แต่คงคิดว่าจะจบที่ลำนี้กันใช่ไหม? เปล่าเลย…เขาไปต่อ …

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

Canoe No.2: Greendee ดีกว่าเดิม

จากลำแรก…ลำที่สองก็ตามมาติดๆ เราถามว่าลำแรกได้ดั่งใจไหม? มาดตอบว่า

“แค่ตั้งเป้าแค่ว่าลอยน้ำได้ ไม่จมผมก็โอเคแล้วนะ (หัวเราะ) ส่วนลำที่สองไม่สวยเท่าของฝรั่งไม่เป็นไร แต่ขอให้สวยกว่าลำแรก ขอให้ดีกว่าเดิม วัดจากตัวเองก็โอเคแล้ว”

เขาตอบพร้อมกับชวนเราเดินไปดูเรือลำที่สองที่กำลังประกอบไปแล้วกว่า 80% มันคืองานคราฟท์ที่จับต้องได้ รอบๆ คืออุปกรณ์อะไรไม่รู้เยอะแยะไปหมด

“พอได้ลองทำก็ยิ่งชอบทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดของฝรั่ง แคนูลำที่สอง ผมเลยเลือกใช้ไม้สน โชคดีเราได้ไม้ยาวกว่าลำแรก ประมาณ 14 ฟุต ใช้เวลาทำเร็วขึ้นกว่าเดิมเดือนกว่าๆ ก็เกือบเสร็จแล้ว แต่จุดไหนที่ต้องละเมียด ผมก็ไม่เร่งนะ ค่อยๆ ทำไป วงเดือนลำก่อนลากเป็นงูเลื้อยเลย(หัวเราะ) ลำนี้เลื่อยมือล้วนๆ ลายไม้ก็ชัดสวยกว่า ที่เหลือจากนี้ก็จะค่อยๆ ขัดและเคลือบ ใส่ที่นั่ง”

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

“ขั้นตอนยากสุดคือ ทำกราบเรือ ภาษาแคนูเรียกว่า Stems ตรงโค้งๆ ต้องเอาไม้บางๆ มาบีบรวมกัน แล้วเอาไปอบไอน้ำจากนั้นเอามาดัดโค้งประกบให้พอดีกับเชฟเรือ เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ด้านหน้า คล้ายๆ กันชน ถ้าไซส์นี้เฉพาะน้ำหนักเรืออยู่ที่ราวๆ 25 กก. รองรับน้ำหนักได้ราวๆ 490 กก. จริงๆ คุณสมบัติเด่นของแคนูไม้ คือ ความเบา ถ้าพายเดี่ยวๆ ไม่บรรทุกของ มันเกือบจะเป็นรถซิ่งได้เหมือนกัน”

mad 20

ภาพโดย สามารถ เขียวรัตน์

mad 21

ภาพโดย สามารถ เขียวรัตน์

และแล้วเรือแคนูลำที่ 2 ต่อเสร็จสมบูรณ์พร้อมๆ กับป้ายชื่อ Canoe No.2 Greendee

เรือแล่นออกจากฝั่ง

มาดคิดว่าการได้พายเรือเที่ยวทางน้ำมันเป็นอีกมิติ ทำให้มุมมองเราเปลี่ยนไป “บางทีเราอยู่บนฝั่งแล้วมองลงไปในน้ำก็แบบนึง แต่พอเราอยู่ในเรือแล้วมองขึ้นมามันอีกอารมณ์ไปเลยนะ” นอกจากนี้การพายเรือแคนูยังเป็นกิจกรรมที่ดีในการเชื่อมสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว ลองไปลำบากไปแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบ้างกับชีวิตนอกบ้าน

mad 18

ภาพโดย สามารถ เขียวรัตน์

“ไปกับลูกและภรรยาก็ความรู้สึกอีกแบบ ไปกลุ่มเพื่อนก็อีกแบบ ส่วนใหญ่พวกเราชอบพายกันออกไปหาสถานที่เงียบๆ ไพรเวท ไม่ค่อยมีใครไป นอกจากการก้าวข้ามว่าออกไปตั้งแคมป์ที่มากกว่าบนบกแล้ว จริงๆ ที่ไหนไม่ได้สำคัญเลยนะ ความคอมพลีทอยู่ตรงโมเมนต์ที่ว่า ไปกับใคร คุยกันเรื่องอะไรกันตรงนั้นมากกว่า”

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

Endless Dream

“ถ้าฝันใกล้ๆ คืออยากมีสักทริปที่ได้ไปพายแคนูในสถานที่สวยๆ ในต่างประเทศกับลูกสักครั้ง หรือได้จับเรือแคนูไม้ทำเองของฝรั่ง ไม่จำเป็นต้องไปถึงไปโรงงานก็ได้ แค่อยากเห็นของจริง ส่วนฝันไกลผมชอบโมเดลหนึ่งของฝรั่ง อยากมีอาณาจักรเป็นแคมป์กราวด์ หรือเคบินริมน้ำสักแห่ง มีเรือแคนูจอดไว้สัก20 ลำ มีเซ็นเตอร์เป็นบ้านหลังใหญ่ๆ เอาไว้เช็กอิน ในนั้นขายเช่าอุปกรณ์เอาท์ดอร์ทุกรูปแบบ ถ้าใครอยากมาเที่ยว เรามีเรือให้เช่า จะขายแผนที่แจกเส้นทาง แนะนำให้ไปรูทนี้ๆ พายไปตรงไหนได้ ให้เขาออกไปพายเรือ ไปกางเตนท์ค้างคืน ถ้าฝันเป็นจริง มีโอกาสได้ทำแบบนี้คงดีมากๆ (ยิ้ม)”

สามารถ เขียวรัตน์ ชายผู้ต่อเรือแคนูไม้ ด้วยสองมือจากแบบฝึกหัดในยูทูบ

นี่ล่ะ…เรื่องของมาดกับแคนูของเขา

Tags: