le 19M by CHANEL
เบื้องหลัง le 19M ศูนย์รวมช่างฝีมือเก่าแก่ที่ CHANEL ตั้งใจอนุรักษ์งานคราฟต์ฝรั่งเศส
- CHANEL ซื้อเมซงงานฝีมือเก่าแก่ของฝรั่งเศสและประเทศต่างๆ รวม 38 แห่ง เพื่อช่วยไม่ให้งานฝีมืออายุกว่าร้อยปีต้องสูญหายไป
- ที่นี่จึงเป็นสถานที่ทำงานใหม่ใหญ่ยักษ์ของเมซง 11 แห่งของ CHANEL เป็นโรงเรียนสอนงานฝีมือและเป็นศูนย์กลางงานคราฟต์แฟชั่นของโลกก็ว่าได้
- le 19M โดดเด่นด้วยตัวอาคารคอนกรีตสมรรถนะสูงทรงสี่เหลี่ยม มีเสา 231 แท่งวางขัดกันเป็นโครงด้านนอก ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเส้นด้ายแนวยืนในการทอผ้า
งานปักเลื่อมพราวบนผ้าผืนยาว ซึ่งหากใช้เครื่องจักรไม่ช้านานก็คงเสร็จ แต่ ‘Petite Mains’ (เปอติต แมงส์ - มือน้อยๆ) ของผู้คนกว่า 600 ชีวิตสาละวนจับด้ายสนเข็มเพื่อทำให้รายละเอียด – ที่แม้เล็กจ้อยที่สุด – วิจิตรสมบูรณ์แบบที่สุดก่อนจะกลายเป็นอาภรณ์ชิ้นงาม ราคาอาจเหยียบล้าน (หรือหลายสิบล้าน) ของแบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลก
มือน้อยสอยร้อยผ้า
สตูดิโอหรือที่เรียกว่า ‘เมซง’ งานฝีมือเหล่านี้นับวันจะยิ่งสูญหาย นั่นทำให้ CHANEL เข้าซื้อกิจการเมซงงานฝีมือต่างๆ ในปารีส จาก 1 เป็น 2 เรื่อยไปจน 3, 4, 5,…จนปัจจุบันนับรวมได้ 38 แห่ง ทำหน้าที่สร้างสรรค์งานฝีมือด้านต่างๆ ให้กับ CHANEL และผลิตงานป้อนให้กับแบรนด์อื่นๆ ได้อย่างอิสระในนาม Paraffection (ปาราเฟ็กซิยง) ที่แปลความได้ประมาณว่า ‘เห็นแก่รัก’
Karl Lagerfeld อดีตครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ผู้ล่วงลับของ CHANEL ไม่เพียงแต่เข้าช่วยเหลือเมซงงานฝีมือเหล่านี้ให้สามารถผลิตงานได้ต่อไปเท่านั้น แต่เขายังประทับใจความละเอียดละเมียด ความวิจิตรวิลิศของงานฝีมือโบราณมากเสียจนอยากจะให้ทั้งโลกได้เห็น
ในปี 2002 CHANEL จึงสร้างคอลเลกชั่นใหม่และนำเสนอผ่านแฟชั่นโชว์ Les Métiers d’Art (เลส์ เมติเยร์ ดาร์ต) เพื่อแสดงศักยภาพ ‘มือน้อยๆ’ ของช่างฝีมือจากเมซงต่างๆ ใน Paraffection ซึ่งล้วนอายุเหยียบร้อยปีทั้งสิ้น เช่น Lesage (เลอซาจ) ซึ่งทำงานปักมือมาตั้งแต่ ค.ศ.1858, Lemarié (เลอมาริเย) ประดิษฐ์ดอกไม้มาตั้งแต่ปี 1880 หรือ Massaro ที่เริ่มทำรองเท้าในปี 1894 และรองเท้าสีเบจหัวสีดำอันเลื่องลือของ CHANEL ก็มาจากที่นี่
เมซงเหล่านี้อยู่ในตึกเก่าคร่ำคร่าที่กระจายตัวอยู่ทั่วปารีส (บางแห่งอยู่ไกลถึงสกอตแลนด์ เช่น House of Barrie ที่ทำแคชเมียร์ชั้นเลิศ) CHANEL จึงสร้างอาคารพื้นที่ 5,000 ตารางเมตรให้เป็นศูนย์ทำงาน แต่นั่นก็ยังไม่พอ เพราะว่า CHANEL เข้าซื้อเมซงต่างๆ เพิ่มเข้ามาอีกเรื่อยๆ
CHANEL จึงสร้างอาคารสูง 7 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 25,000 ตารางเมตร ซึ่งใหญ่กว่าเดิม 5 เท่า ตั้งอยู่ที่โอแบร์วิลลิเยร์ หรือเขต 19 ของปารีส ออฟฟิศใหม่ของเหล่ามือน้อยๆ จึงได้ชื่อว่า Le19M (เลอ ดิซ์ เนิฟ แฟม)
19 คือวันเกิดของ Coco Chanel ผู้ก่อตั้ง Chanel (เกิด 19 สิงหาคม ค.ศ.1883)
M หมายถึง Mains (แม็งส์ – มือ), Métier (เมติเยร์ – งานฝีมือ) และ Mode (โมด – แฟชั่น)
บ้านสร้าง (สรรค์) มือ
le 19M ออกแบบโดยสถาปนิก Rudy Ricciotti ซึ่งออกตัวว่าไม่ชอบด้านที่เป็นบริโภคนิยมของแฟชั่น แต่ชื่นชมบทบาท ‘ผู้สมทบยอดเยี่ยม’ ของฟันเฟืองเบื้องหลังทั้งหลาย สถาปนิกไม่อาจสร้างตึกได้โดยลำพัง หากปราศจากคนทำงานหน้าที่อื่นๆ ฉันใด แฟชั่นก็ไม่อาจแปรสภาพจากสเก็ตช์บนกระดาษมาเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ได้โดยปราศจากช่างฝีมือได้ฉันนั้น
คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ รู้ซึ้งถึงบทบาทของ ‘มือน้อยๆ’ เป็นอย่างดี หากก็ไม่มีชีวิตอยู่ถึงวันที่มือน้อยย้ายไปเย็บปักถักร้อยกันที่ le 19M เมื่อคาร์ลเสียชีวิตไปเสียก่อนในปี 2019
ส่วน le 19M เปิดม่านอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมปี 2021 ในแฟชั่นโชว์เมติเยร์ ดาร์ต ครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านใหม่แห่งนี้
อาคาร le 19M ก่อสร้างด้วยคอนกรีตสมรรถนะสูง (UHPC: Ultra-High Performance Concrete) ที่มีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงเสมือนเหล็ก มีเสาคอนกรีตทรงฟรีฟอร์มเป็นแท่งเรียวสูง 24 เมตร รวมทั้งสิ้น 231 แท่ง จัดวางแนวตั้งเป็นโครงด้านนอกตัวอาคารไว้อีกชั้นเพื่อช่วยตัวกรองแสงแดดให้ระอุน้อยลง รูดี้ตั้งชื่อเล่นให้ว่า ‘เส้นสปาเกตตี้’ แต่แท้จริงได้แรงบันดาลใจมาจากเส้นด้ายแนวยืนในการทอผ้า และวิธีการทำผ้าพลีตของ Lognon (โลนยง) หนึ่งในเมซงที่ย้ายเข้ามาพำนักใน Le 19M โดยแท่งเสาแต่ละต้นจะช่วยรองรับน้ำหนักกันและกัน เหมือนกระดาษอัดผ้าพลีตที่เมื่อพับทบกันเหมือนพัดแล้วก็กลับวางตั้งได้โดยไม่ล้ม แต่ถ้าเป็นกระดาษแผ่นเรียบจะพังพาบลงไป
อาคารแบ่งเป็น 3 หลังวางตั้งเป็นรูปสามเหลี่ยม เปิดพื้นที่ตรงกลางทำเป็นสวนร่มรื่นขนาด 1 ไร่ครึ่ง กำแพงด้านหนึ่งเป็นงานศิลปะเฟรสโกยาว 5 เมตรของศิลปิน Case Maclaim ที่วาดภาพบนปูนเปียกเป็นรูปอากัปกิริยาต่างๆ ของ ‘มือ’ ของช่างขณะทำงานฝีมือ
นอกจากแบ่งเป็นโซนสตูดิโอทำงานของเมซง 11 แห่งกับ ERES แบรนด์ชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำที่ CHANEL ซื้อกิจการด้วยแล้ว ก็ยังมี La Galerie du 19M (ลา กาเลอรี ดู ดิซ์เนิฟ แฟม) ศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างขวาง 1,200 ตารางเมตร สำหรับจัดนิทรรศการและจัดเวิร์กช็อปต่างๆ เช่น เวิร์กช็อปทอผ้าทวีด ผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ของ CHANELl แต่ว่าเป็นเส้นใยที่ทำจากผัก รวมไปถึงเวิร์กช็อปงานฝีมือที่เมซงต่างๆ หมุนเวียนกันมาจัดให้แก่ผู้ที่สนใจและนักเรียนแฟชั่นได้ฝึกฝีมือ
พื้นที่ส่วนนี้เองที่จะเชื่อมโลกการทำงานฝีมืออันสงบราวกับทำสมาธิของช่างฝีมือเข้ากับโลกภายนอก เพื่อให้เกิดพลังงานใหม่ๆ และเพื่อจะบ่มเพาะช่างฝีมือวัยหนุ่มสาวให้เข้ามาสืบทอดทักษะเก่าแก่ที่ส่งต่อกันมาหลายชั่วอายุคนของเมซงต่างๆ
แนวโน้มดูสดใสดีเมื่อปัจจุบันมีคนอายุต่ำกว่า 30 ปี เลือกอาชีพเป็นช่างฝีมือจำนวนไม่น้อย ทาง CHANEL ตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้างช่างฝีมือรุ่นใหม่ได้ปีละ 100 คน เพราะเมื่อมือน้อยๆ ไม่หายไปก็เป็นการรับประกันได้ด้วยว่างานฝีมือก็จะไม่สูญสิ้นไปด้วยเช่นกัน แม้ช่างจะนั่งทำงานบนเก้าอี้ Fendi ให้กับ Dior, Valentino, Givenchy หรือแบรนด์แฟชั่นอื่นๆ ในอาณาจักรของ CHANEL ก็ตาม
เมซงอายุกว่า 100 ปีจะขยับย้ายออฟฟิศไปแห่งใหม่ไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้ง่ายนัก แต่การทำงานที่มีเส้นใย ด้าย ขนนก แผ่นหนังเข้ามาข้องเกี่ยวนั้น ระบบกรองอากาศคือหัวใจสำคัญ เมื่อแรกที่ช่างฝีมือได้เข้ามาที่ le 19M ก็เจอะเข้ากับระบบกรองอากาศที่คอยกำจัดอนุภาคเล็กจ้อยจากวัตถุดิบปักเย็บต่างๆ ออกไป และได้ประจันกับแสงที่คุณสถาปนิกรูดี้สร้างแบบจำลองในคอมพิวเตอร์เพื่อปรับแสงให้สอดประสานกับสีของคอนกรีต จนได้แสงประณีตงามราวกับแสงที่ส่องลอดเข้ามาในอารามนักบวช ที่สำคัญยังเป็นแสงที่ช่างฝีมือแซ่ซ้องว่าช่วยเปิดตาให้พวกเขาเห็น ‘สีที่แท้จริงของสิ่งที่กำลังทำอยู่ในมือได้เป็นครั้งแรก’
คาดหวังได้ว่าต่อจากนี้ งานฝีมือที่ล้ำเลิศอยู่แล้วจะยิ่งบรรเจิดหนักขึ้นไปอีกด้วยอานุภาพแห่งการดีไซน์สภาพแวดล้อมและแสงของ le 19M
Photos Courtesy of CHANEL
ที่มา: https://www.le19m.fr/en/the-building
https://www.wsj.com/articles/behind-the-curtain-of-chanels-huge-couture-headquarters-11629981070
https://www.wallpaper.com/fashion/chanel-19M-metiers-dart-ateliers-paris