WAT About Siam
WAT About Siam จากเพจเที่ยววัดสู่เจดีย์เซรามิกฉลุลายที่ใครได้รับต้องคิดถึงเมืองไทย
- WAT About Siam เป็นเพจพาเที่ยววัด ที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่อย่าง เซน-ณภัทร โกศลสุภรัตน์ จากความหลงใหลในด้านศิลปวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่วัยเยาว์
- เซนพัฒนาจากความชอบด้านศิลปวัฒนธรรมไทย มาสู่งานดีไซน์แท่นวางเทียนเซรามิกทรงเจดีย์ระฆังคว่ำ โดยถอดแบบมาจากสถาปัตยกรรมวัดไทย ฉลุลายไทยรอบองค์เพื่อให้มองเห็นแสงสว่างเมื่อจุดเทียน
- แท่นวางเทียนเซรามิกของ WAT About Siam เป็นเครื่องเตือนใจให้เรานึกถึงการเดินทางท่องวัด เหมาะสำหรับเป็นของฝากของที่ระลึกหรือเป็นของตกแต่งบ้านแนวพุทธบูชา
เสน่ห์ของสถาปัตยกรรมวัดไทย ไม่เพียงแต่ถ่ายทอดความงดงามจับตาต้องใจให้แก่ผู้คนที่ชื่นชอบด้านศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย และดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอยากเข้ามาสัมผัสด้วยตา
หากแต่สองปีก่อนที่การเดินทางทั่วโลกต้องหยุดชะงักจากโรคระบาดโควิด ทัวร์เที่ยว (วัด) ไทยตกอยู่ในภาวะเงียบเหงา ซบเซา และร้างผู้คน แต่ช่วงเวลานั้นกลับจุดประกายให้คนรุ่นใหม่อย่าง เซน-ณภัทร โกศลศุภรัตน์ ผู้ก่อตั้งเพจพาเที่ยววัด WAT About Siamได้เริ่มต้นผลิต ‘เจดีย์เซรามิก’ แท่นวางเทียนแนวพุทธบูชา ที่ย่อส่วนมาจากสถาปัตยกรรมของวัดไทย สำหรับเป็นของฝากหรือของที่ระลึก ที่ชวนให้นึกถึงการมาเยือนวัดไทย
ซึมซับ
เซนเล่าว่า เธอซึมซับและสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่เด็ก เพราะครอบครัวมักจะพาไปเที่ยววัด และเล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมวัดไทยให้ฟังอยู่เสมอ
“คุณพ่อเคยเรียนมัคคุเทศก์ค่ะ สิ่งนี้จึงอยู่ในสายเลือดของท่าน ชอบเที่ยววัด เที่ยววัง ชอบเดินชมสถานที่เก่าๆ เวลาไปเที่ยววัด จะชอบอธิบายให้ฟังว่าอะไรคือช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันคืออะไร ครุฑยุดนาคมีที่มายังไง พอเรียนมหาวิทยาลัย เลยเลือกเรียนอักษรฯ จุฬาฯ (ภาคภาษาและวัฒนธรรม) หลักสูตรนานาชาติ ซึ่งก็มุ่งเน้นไปที่ศิลปวัฒนธรรมโดยตรง แต่จะเป็นการเรียนวัฒนธรรมศึกษาทั้งโลก ” เซนเล่าถึงที่มาของความสนใจ
“ตอนเรียนอักษรฯ ลองทำหลายอย่างมาก ตั้งแต่ละครเวที โรงแรม ลองฝึกงานหลายๆ แบบ แต่เรื่องของวัฒนธรรมไทยกลับเป็นสิ่งที่อยู่ในใจตลอดมา พอเรียนปริญญาตรีจบ เลยไปเรียนมัคคุเทศก์ต่อ 1 ปี ควบคู่กับทำงานประจำด้าน Digital Marketing ที่ไปเรียนมัคคุเทศก์เพราะคิดว่าอยากทำเป็นอาชีพเสริม จนเรียนจบปี 2019 สอบทุกอย่างจนได้ใบประกาศเป็นไกด์ได้ เจอโควิดมา ทำทัวร์ไม่ได้ ก็เลยเริ่มทำเพจตั้งแต่ช่วงนั้น”
สื่อสาร
ความรู้ที่เซนได้รับในตำราเรียน อาจเป็นเรื่องราวของวัฒนธรรมทั่วโลกก็จริง หากแต่ความรู้นอกตำราหรือเชิงลึกที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทย เธอบอกว่าได้มาจากการเรียนมัคคุเทศก์กับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
“อาจารย์คุณชายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการมัคคุเทศก์ ท่านบอกว่าถ้าอยากรู้จักวัฒนธรรมไทยหรือเรียนรู้วิถีชีวิตคนไทย ต้องไปที่วัด เพราะวัดเป็นทุกอย่างในชีวิตของคนไทยในอดีต คนอยุธยาถึงขนาดมีคติว่าเศรษฐีต้องสร้างวัดให้ลูกหลานได้นั่งเล่น สมัยก่อนวัดเป็นศูนย์รวมของอีเวนท์ต่างๆ ในประเทศ ทั้งการเกิด ก็จะตั้งชื่อที่วัด เรียนหนังสือก็เรียนกันที่วัด จัดงานบวช งานแต่ง งานเทศกาลมหรสพต่างๆ ก็ทำที่วัด ไม่สบายก็ยังไปที่วัด จนสถานที่สุดท้ายในชีวิต ก็ยังเป็นที่วัด เรียกได้ว่าตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตคนไทยในอดีตเกี่ยวข้องกับวัดหมด
“เราเองก็ชอบสถาปัตยกรรมในวัดเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เลยเป็นที่มาของการทำเพจเที่ยววัด แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของศาสนา เราตั้งใจให้คนที่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไรก็สามารถติดตามได้ จึงเน้นเรื่องของศิลปวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมในวัดมากกว่า”
เซน เล่าถึงความตั้งใจแรกที่สร้างเพจ WAT About Siam ซึ่งสอดแทรกเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมไทย และงานดีไซน์เจดีย์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวัดไทย
“ช่วงนั้นโควิดระบาด ทำทัวร์เที่ยววัดไม่ได้ เลยคิดว่าอยากลองทำโปรดักส์ ที่สื่อถึงศิลปวัฒนธรรมไทย เจดีย์ชิ้นนี้ถือเป็นชิ้นแรก เราคิดว่าถึงแม้ชาวต่างชาติจะมาเที่ยววัดในช่วงโควิดไม่ได้ ถ้าได้เห็นผลงานชิ้นนี้ บางครั้งก็อาจจะชวนให้เขานึกถึงเมืองไทย และถ้าวันหนึ่งที่เขากลับมาเที่ยวบ้านเราแล้วชอบ ถึงจะยกวัดกลับไปไม่ได้ ก็ยังมีของฝากที่จะทำให้เขานึกถึงวัฒนธรรมไทย เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไปในตัว”
เซนเล่าอย่างฉะฉาน สมเป็นอดีตพิธีกรประจำวงดนตรีสากลสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (C.U. Band) และยังเคยดำเนินรายการในงานสำคัญมากมาย เช่น งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ เวทีมหรสพ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง งานวันที่ระลึกวันทรงดนตรี งาน Thailand International Jazz Conference (TIJC) งานอุ่นไอรักคลายความหนาว เป็นต้น
ส่องแสง
เจดีย์เซรามิกชิ้นแรกของ WAT About Siam เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังที่ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา ผลงานการออกแบบดั้งเดิมของนักศึกษา (ในขณะนั้น) คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เซนเห็นเข้าเกิดปิ๊งไอเดีย จึงติดต่อขอซื้อแบบมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ โดยมีการปรับดีไซน์เพิ่มเติมเพื่อให้ช่างปั้นสามารถขึ้นรูปได้ตามสัดส่วนที่สมบูรณ์
“ถ้าไปวัดพระแก้ว จะเห็นองค์พระศรีรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังอิทธิพลลังกานี้เหมือนกัน แต่ถามว่าแท่นวางเทียนของเราใกล้เคียงเจดีย์รูปแบบไหนที่สุด จะเป็นเจดีย์ระฆังที่แพร่หลายในสมัยสุโขทัยค่ะ เพราะว่าไม่มีซุ้มจระนำ 4 ด้าน สมัยอยุธยากับรัตนโกสินทร์ส่วนมากจะมีซุ้มหมด เป็นเจดีย์ทรงคลาสสิกที่เราคิดว่าคนไทยน่าจะคุ้นเคยมากที่สุด และดีเทลต่างๆ ก็น่าจะสร้างออกมาเป็นเซรามิกค่อนข้างง่ายที่สุดแล้ว ก็เลยเริ่มจากเจดีย์ทรงนี้ ฉลุลายประจำยามรอบองค์เพื่อเวลาจุดเทียนจะได้มีแสงส่องออกมา”
‘The En-Lightening Stupa’ เป็นชื่อคอลเลกชันแรกของแท่นวางเทียนทรงเจดีย์ WAT About Siam มีทั้งหมด 3 สีด้วยกัน คือ ขาวด้าน ขาวเงา และสีดำ ใช้เทคนิคเผาเคลือบที่มีคุณสมบัติทนไฟสูง ใช้สำหรับจุดวางบนหิ้งพระ หรือตกแต่งบรรยากาศภายในบ้าน ก็สุดแสนจะโรแมนติกมีจำหน่ายเป็นเซ็ตกล่องพรีเมียมพร้อมเทียนหอมไขถั่วเหลืองทำมือจากธรรมชาติ 100% จำนวน 4 กลิ่นในธีมพรหมวิหาร 4 ได้แก่ เมตตา (กลิ่นมะลิ) กรุณา (กลิ่นคาโมมายด์) มุทิตา (กลิ่นชาขาว) และอุเบกขา (กลิ่นกำยาน) โดยมีการ์ดให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบเจดีย์ในประเทศแนบไว้ในกล่อง
สร้างสรรค์
ความประณีตงดงามของเจดีย์ย่อส่วน ถูกถ่ายทอดเป็นชิ้นงานดีไซน์ศิลปวัฒนธรรมไทยได้อย่างทันสมัย และยังทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องราวของศิลปวัฒนธรรมไทยผ่านงานดีไซน์ได้มากขึ้นด้วย
“ศิลปวัฒนธรรมไทยมีความเป็นเอกลักษณ์สูง แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายชาติ แต่เราก็เอามาประยุกต์ให้เป็นแบบของตัวเองได้อย่างโดดเด่น เรามองว่าสิ่งเหล่านี้สืบทอดกันมาหลายรุ่น เป็นอัตลักษณ์ที่มีเสน่ห์ และถ้าเราเก็บดูแลรักษาเอาไว้ ก็จะช่วยให้เรามี Ingredients ทางวัฒนธรรม ไปต่อยอดเป็น Soft Power รูปแบบต่างๆ ที่ทำให้เราโดดเด่นและแตกต่างได้ในยุคโลกาภิวัตน์นี้
“มันคือการประยุกต์เอาสิ่งเหล่านี้เข้ากับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน แทนที่จะเป็นวัดเฉยๆ ดีไซน์เป็นโปรดักส์รูปแบบต่างๆ ก็สามารถเป็นเครื่องเตือนใจได้ ถึงแม้จะอยู่ที่บ้าน รวมไปถึงการทำเรื่องศิลปวัฒนธรรมให้ทุกคนเอื้อมถึงได้นั้น เป็น gap ที่คนรุ่นใหม่อย่างเรามองว่า อยากทำให้เข้าถึงง่ายขึ้นโดยที่ไม่จำเป็นต้องไปตั้งอยู่ในวัดเท่านั้น”
“สำหรับเรา เป็นเรื่องสนุกดี ถ้านำมาทำให้เป็นเรื่องสนุกและคนเข้าถึงง่าย ก็น่าจะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้ยังอยู่กับเราไปได้อีกนานโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ถ้าเขาเห็นว่ามันสนุกและน่าสนใจ เขาจะสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ เพราะสุดท้ายแล้ว วัฒนธรรมก็เป็นเรื่องของเราทุกคน ในฐานะคนรุ่นใหม่ อยากจะมีพื้นที่ได้สร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้ มีอิสรภาพในการประยุกต์และถ่ายทอดบนความเหมาะสม” เซนทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
แวะไปติดตามให้กำลังใจเธอได้ทางเพจเฟซบุ๊ค WAT About Siam
สำหรับใครที่อยากอุดหนุนแท่นวางเทียนเซรามิกทรงเจดีย์ ปัจจุบันมีวางจำหน่ายแล้วทั้งหมด 3 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ร้าน JEDI Café & Bar (ตรงข้ามวัดภูเขาทอง) กรุงเทพฯ, ร้านกาแฟขณะ (khana coffee brewers) ข้างวัดเกตการามุ จ.เชียงใหม่ และบ้านอาจ้อ จ.ภูเก็ต หรือผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทุกวัน