About
CRAFTYARD

วิชาดิน

ดอนหมูดิน แบรนด์คราฟต์เซรามิก ปั้นดินเป็นปรัชญาจากชีวิตรอบตัว

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘ดอนหมูดิน’ ชื่อแบรนด์งานคราฟต์เซรามิกปั้นมือที่ตั้งตัวในพื้นที่บ้านของศิลปิน เปิ้น-วัลย์ริยา เพ็งสว่าง ในจังหวัดสกลนคร เอกลักษณ์ที่โดดเด่นในงานคือการนำเรื่องราวและเหตุการณ์รอบตัวเธอมาเป็นแรงบันดาลใจต่อการสร้างสรรค์งานปั้นเซรามิกโดยใช้เทคนิคเรียบง่ายแบบพื้นบ้าน
  • ปั้นด้วยมือ เผาตามวิถีพื้นบ้าน ยังมีอีกหนึ่งความโดดเด่นคือการใช้วัสดุ เช่น ดิน ขี้เถ้า เปลือกหอย ที่เน้นหาได้ในบ้านและพื้นที่ในหมู่บ้านมาใช้ในกระบวนในการทำเซรามิกและการเคลือบสี จากการลองผิดลองถูกด้วยตนเองอยู่เรื่อยๆ ทำให้เซรามิกของดอนหมูดินในวันนี้ ‘สวยงาม แปลกใหม่ แฝงไปด้วยปรัชญานำชีวิต และหายาก’

สกลนครดูเป็นเมืองสงบสุข แต่ใครจะรู้ว่าที่นี่กลับเป็นเมืองซุกซ่อนอาร์ทิสต์ไว้มากมาย หลายคนเลยที่มีความคิดอยากนำเสนอความเป็นเมืองผ่านการหยิบจับวิถีพื้นถิ่น หรือวัตถุดิบในจังหวัดมาสร้างสรรค์ ต่อยอดออกมาเป็นชิ้นงานหลากแขนงเพื่อส่งต่อคุณค่าของศิลปะให้ใครต่อใครได้มองเห็น

ท่ามกลางบทสนทนาสัพเพเหระระหว่างเรากับคนทำงานอาร์ต ชื่อศิลปินคนหนึ่งที่ถูกเอ่ยอยู่หลายหนก็เริ่มดึงดูดความสนใจของเรา “พี่เปิ้นคนนี้ เป็นศิลปินที่คนทำงานศิลปะในสกลต่างนับถือกันแทบทุกคน ทั้งการใช้ชีวิต เซรามิกของเขาเหมือนพาเราไปนั่งถอดวิชาชีวิตเลย”

การได้รู้จัก เปิ้น-วัลย์ริยา เพ็งสว่าง จากคำเล่าของศิลปินในวันนั้นนำพาให้เรามีโอกาสได้เดินเข้าบ้านกึ่งสตูดิโอเซรามิก ‘ดอนหมูดิน’ ที่เปิ้นตัวจริงเสียงจริงยืนต้อนรับหน้าประตูอยู่ก่อนแล้ว

ดอนหมูดิน

เซรามิกในบ้าน

ศิลปินคนนี้เกิดและเติบโตมากับวิถีชีวิตชาวนาในสกลนคร เธอย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ ด้วยอาชีพนักออกแบบสิ่งทอมานานกว่า 14 ปี ระหว่างนั้นก็ใช้วันหยุดเสาร์และอาทิตย์หันมาอยู่กับงานอดิเรกอย่าง ‘เซรามิก’ จากความชอบก่อตัวเป็นรู้สึกดี ทำให้งานอดิเรกกลายเป็นสิ่งที่อยากทำจริงจัง เธอจึงเรียนรู้การทำเซรามิกด้วยตนเอง เมื่อมีโอกาสลงเรียนเวิร์กช็อปกับอาจารย์บัทก์ แก้วงอก ศิลปินที่มีชื่อเสียงทางด้านเซรามิกคนแรกๆ ของประเทศไทย ศิลปินสาวก็ใช้ช่วงเวลานั้นเก็บเกี่ยวความรู้ และค้นหาสไตล์ที่เป็นเปิ้นไปในตัวด้วย

ดอนหมูดิน

ไม่พูดเปล่าเธอพาเราเดินไปยังหลังบ้าน ผ่านจุดเลี้ยงไก่ มุมน้องหมาเฝ้าบ้านที่หันไปอีกทางพบทุ่งนาข้าว และบ่อน้ำเลี้ยงปลา ก่อนมาถึงพื้นที่เก็บวัสดุทำเซรามิก ศิลปินสาวชี้ไปที่ดินก้อนหนักหลายกิโลตรงหน้า เอ่ยด้วยน้ำเสียงเป็นมิตรว่า ดินเนื้อสีดำนี้ขุดมาจากพื้นที่นาหลังบ้านเอง เมื่อร้อยเรียงความคิด เส้นทางเดินเท้าในระยะสั้นเมื่อกี้ ทำให้เราเริ่มเข้าใจความเป็นเธอบ้างแล้วล่ะ

ดอนหมูดิน

“เราอยากทำเซรามิกที่สื่อสารความเป็นเราจริงๆ พอเราลาออกจากงานกลับมาอยู่บ้าน เราเอาโนฮาวที่ได้เรียนกับอาจารย์มาตีความ ทดลองเรียนรู้ด้วยตัวเองอยู่ตลอด ทั้งเอาดิน ขี้เถ้า สีเคลือบ สีครามที่เขามักเอาไปย้อมผ้าใช่ไหม แต่เราเอามาเคลือบ (หัวเราะ) เราเน้นแหล่งวัตถุดิบที่หาได้จากพื้นที่รอบบ้าน และในหมู่บ้านเราทั้งหมดมาสร้างงาน”

ดอนหมูดิน

ชื่องาน Flower Object Name : ‘กาดอกไม้’ ตั้งใจจะปั้นกาน้ำทั่วไป แต่ระหว่างปั้นคิดอยากเอากาไปจัดดอกไม้ จึงออกมาเป็นรูปทรงนี้

คงเป็นเรื่องที่ดูน่าตื่นเต้นและสนุกน่าดู หากเราหยิบเอาสิ่งรอบบ้านมาทดลองดูว่า แต่ละอย่างนำมาใช้ประโยชน์และให้ความงามอย่างไรบ้าง สีเคลือบเซรามิกที่อยู่ในงานดอนหมูดิน นอกจากจะมาจากดินหรือขี้เถ้าจากการประกอบอาหาร ‘เปลือกหอย’ ที่เหลือจากมื้ออาหารก็นำมาเคลือบสีได้ดีทีเดียว เปิ้นออกปากเลยว่า สำหรับคนทำเซรามิกมือใหม่ ไม่ต้องไปหาซื้อเคลือบสีที่ไหน เปลือกหอยหาได้ง่ายสุดแล้ว

ดอนหมูดิน

ชื่องาน ‘ช้อนแครง’ มองเปลือกหอยให้เป็นช้อน

“เราจะดีลกับชาวบ้านว่าเก็บมาให้เรานะ เปลือกหอย มันมีแคลเซียมชนิดหนึ่งที่เมื่อเข้ากระบวนการเผาเคลือบแบบไม่สัมผัสกับไฟ คือการวางเปลือกหอยกลบชิ้นงาน แล้วเอาถ้วยครอบไว้ ความร้อนจะทำให้แคลเซียมปลิวไปเคลือบเซรามิกชิ้นนั้นๆ ออกมาเป็นสีสันสวยงามตามธรรมชาติ”

ดอนหมูดิน

ทุกชิ้น มีสตอรี่ซ่อนอยู่

แม้มีชิ้นงานเซรามิกแบบตั้งโชว์บ้างประปราย แต่โดยหลักแล้วเปิ้นเน้นทำเซรามิกประเภทภาชนะมากกว่า เพราะเป็นคนชอบทำอาหาร เลยชอบคิดหารูปทรงภาชนะให้เหมาะกับเมนูที่ทำ ส่วนอีกเหตุผล “ภาชนะเป็นสิ่งที่ทำให้เข้าถึงผู้คนได้ง่าย ใครๆ ก็ต้องใช้กัน”

ดอนหมูดิน

ชิ้นงาน Tea Pot Set บทสนทนาระหว่างเรา

ด้วยเทคนิคปั้นมือ และเตาเคลือบแบบเรียบง่ายตามวิถีชาวบ้าน ไม่มีฟอร์มตายตัว ไม่มีเทคโนโลยีเข้าช่วย แต่เด่นด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่เมื่อมองลึกลงไป งานของเธอกลับสื่อถึงแง่มุมชีวิต เชื้อเชิญคนดูได้ใช้เวลาครุ่นคิด บางครั้งอาจถึงขั้นตกตะกอนบางสิ่งเลยก็ว่าได้

ดอนหมูดิน

“เราเรียกงานตัวเองว่าเป็น Conceptual Ware ส่วนใหญ่บอกเล่าเรื่องความตาย งานทุกชิ้นมีชื่อเรียก มีสตอรี่ เราไม่ได้เรียนทฤษฎีเซรามิกโดยตรง ในการสร้างชิ้นงานเราเลยหยิบเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เหตุการณ์รอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงาน แล้วใช้ความเป็นนักออกแบบของเราคิดคอนเซ็ปต์ คิดชื่อ เพื่อเชื่อมโยงไปกับเรื่องราวนั้นๆ”

ดอนหมูดิน

ชื่องาน แม่คือพระอรหันต์ของบ้าน

เธอยกผลงานชิ้นสำคัญมาวางตรงหน้า ชิ้นงานนั้นมีชื่อว่า ‘แม่คือพระอรหันต์ของบ้าน’ “งานชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากแม่ของเราเสีย เราเอามวลสารหรือเถ้ากระดูกของแม่มาทำงาน มาปั้นเป็นโกศของแม่ ซึ่งเราบอกกับแม่ตั้งแต่ตอนที่แม่ยังอยู่แล้วว่าเราจะทำ พอเราทำงานชิ้นนี้แล้วเล่าเรื่องราวออกไป มันทำให้เราได้พบเจอและพูดคุยกับผู้คนเยอะมากเลยล่ะ”

ดอนหมูดิน

ชื่องาน ‘ใบไม้ร่วง’ ชิ้นงานที่ทำต่อจากโกศของแม่ ช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่เธอพบเจอกับความตายมาบ่อยครั้ง ทำให้เธอปั้นฟอร์มใบไม้ขึ้นมา

ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่กันที่เราเผลอยิ้มตาม เปิ้นทำให้เราเริ่มเข้าใจความเป็นแก่นแท้ของการทำงานปั้นเซรามิก อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสวยงาม หรือกระบวนการเสมอไป แต่หากการหยิบสิ่งรอบตัวมาต่อยอดเพื่อสร้างคุณค่าและเพิ่มมิติที่ฉีกไปจากกรอบการทำแบบเดิมๆ ชี้ชวนให้ได้ตีความต่อไปได้หลากหลายความคิด ดูเหมือนว่าการชมงานดอนหมูดิน คงเหมือนได้มาตกผลึกปรัชญาจิตนิยมเสียยังไงยังงั้น

ดอนหมูดิน

ชื่องาน ‘ใบไม้’ เพราะอยากมีผนังบ้านเป็นใบไม้ จึงใช้ใบยางชาดที่หาได้จากไร่ปลายนาแถวบ้านทำพิมพ์ในผลงานนี้

รากเหง้าของวันนี้

เซรามิก เป็นศาสตร์ที่รวมทั้งองค์ความรู้ด้านศิลปะและด้านวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เซรามิกฉบับของเปิ้นที่เลือกกระบวนการแบบพื้นบ้าน ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถหาสัดส่วน บวกลบส่วนผสมให้ออกมาเป็นชิ้นงานที่ลงตัว บางการทดลองกลับไม่เป็นตามหวัง บางครั้งเปิดเตาออกมาก็พบว่างานพังไม่มีชิ้นดี ช่วงที่วนอยู่กับการทดลอง จดสูตร และทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า เธอเอ่ยปากออกมาว่า รู้ซึ้งถึงคำว่าผิดหวังเลยจริงๆ

ดอนหมูดิน

ชื่องาน ‘Stone’s Flower’ แจกันสำหรับดอกไม้ 1 ดอก เลยตีดินเป็นทรงเหลี่ยมแล้วคว้านดินออกให้ใส่น้ำได้ ส่วนเคลือบทำจากเปลือกหอยแครง

แรงผลักดันที่ทำให้ไม่ย่อท้อคืออะไร? คำถามที่ทำให้เปิ้นคิดอยู่ชั่วครู่ก่อนจะโพล่งขึ้นมากลางคัน ‘รากเหง้า’

ดอนหมูดิน

“เพราะว่าครอบครัวของเราเป็นชาวนา เราอยู่อย่างวิถีชาวนา เรามีบ่อปลา มีนา เราปลูกข้าวเอง มีพื้นที่ที่พร้อมใช้ชีวิต เหมือนพ่อแม่วางรากฐานไว้ให้ ความลำบากทำให้เรามีวันนี้ พอมาทำงานเซรามิก มันเหมือนเราไม่ได้ลืมรากเหง้าตัวเอง ความอดทนมันช่วยเรา อย่างตอนที่ต้องนั่งเฝ้างานอยู่หน้าเตาเผา เราเลือกเตาแบบพื้นบ้านเพราะไม่ต้องการให้เทคโนโลยีมากำหนดชีวิตเรา มันเหนื่อยแล้วร้อนมากนะ แต่เราก็ผ่านมาได้ ทั้งหมดที่เป็นจุดแข็ง เราตกผลึกมาจากชีวิตที่มีมาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวใส่สกิลนั้นให้เราเยอะมาก”

ดอนหมูดิน

ชื่องาน ‘ทุ่งนา’ เคลือบจากขี้เถ้าไม้รวม ที่ได้จากการนึ่งข้าวเหนียวในตอนเช้า

ถ้าย้อนมองกลับไปที่เซรามิก มันคงจะเป็นศาสตร์ที่แม้ต้องอยู่กับความเหนื่อยยาก แต่ทำให้เธอได้อยู่กับตัวเอง

ดอนหมูดิน

ความหมายของ ‘ดอนหมูดิน’ จึงกลายเป็นชื่อแบรนด์ที่นอกจากจะล้อไปกับชื่อหมู่บ้าน ‘ดอนหมู’ ที่ศิลปินอาศัยอยู่ เป็นโลโก้หน้าหมูที่เธอออกแบบ เธอยังนิยามชื่อนั้นปิดท้ายบทสนทนาธรรม (คิดว่านะ) “ดอนหมูดินแสดงให้เห็นรากเหง้าของเรา และสะท้อนถึงชิ้นงานที่เราทำอยู่”

ดอนหมูดิน

ดอนหมูดิน

ชื่องาน ‘ชามแกง’ เป็นภาชนะทั่วไปที่ต้องมีติดบ้าน แต่ละใบจะปั้นให้มีน้ำหนักเบา เพราะเปิ้นคิดถึงช่วงตอนที่อายุมากๆ จะยังสามารถหยิบ จับ ใช้งานได้ตามปกติ

“ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรามันเป็นเรื่องดีเสมอนะ” ประโยคที่เธอบอกในวันนั้นกลับก้องอยู่ในความคิดจนถึงวันนี้ บางครั้งชีวิตอาจไม่ได้สมดั่งหวัง บางครั้งอีกเช่นกันที่ชีวิตมักสอดแทรกมุมมอง ไม่ว่าดีหรือร้าย ต่างก็เป็นคลังประสบการณ์ในการเลือกก้าวเดินต่อไป การดูดอนหมูดินอาจมอบหลักชีวิตกลับมา แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่เป็นเรานั่นล่ะ คงบอกได้ว่าจะก้าวเดินอย่างไร เหมือนอย่างที่เซรามิก และ เปิ้น ต่างเลือกที่จะอยู่ร่วมกันนั่นเอง

ใครที่สนใจอยากเข้ามาเวิร์กช็อปปั้นเซรามิกกับดอนหมูดินสามารถติดต่อศิลปินล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ สำหรับค่าใช้จ่าย คิดเพียงคอร์สละ 1,000 บาท/ คน ระยะเวลาเรียน 3 ชั่วโมง

ดอนหมูดิน
12 หมู่ที่ 5 หมู่บ้านดอนหมู ถนนสกล-นาแก อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
โทรศัพท์ : 089-128-7390
Facebook Page: ดอนหมูดิน
Instagram: donmoodin

Tags: