- ชวนทำความรู้จัก her. ไอจีของ ‘เพลง – พัชราภรณ์ ควรสงวน’ นักสร้างสรรค์ที่บอกเล่าการเดินทางทุกสภาวะอารมณ์ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งผ่านสื่อผสมทำมือที่ใช้วัสดุอย่างดอกไม้แห้ง กระดาษ มาเย็บปักอย่างสร้างสรรค์ ก่อนใช้ไฟสีเหลืองส่องเข้าไปในชิ้นงาน ให้เราได้เล่นกับแสงและเงา เสมือนได้ควบคุมฉากในโรงละคร
คนเรามีวิธีรับมือกับเรื่องราวต่างๆ แตกต่างกันออกไป บางคนเปิดเพลงจังหวะเร่งเร้าเพื่อเต้นระบายอารมณ์ บางคนรังสรรค์งานศิลปะ สาดสีอันเป็นสัญญะทางความรู้สึกให้อออกมาเป็นผลงานสุดแอ็บสแตร็กส์กลายเป็นชิ้นงานที่ทำให้ค้นพบประตูสู่เส้นทางใหม่
จุดเริ่มต้นการเปิดไอจีของ เพลง - พัชราภรณ์ ควรสงวน มาจากสาเหตุเดียวกัน ทุกผลงานของ her. คือการบอกเล่าตัวตนอีกด้านของเพลงที่พยายามจะก้าวผ่านลมมรสุมชีวิต ทั้งในวันที่จมดิ่งสู่ท้องอควาเรียม สู่การแหวกว่ายเพื่อหอบหิ้วเศษเสี้ยวหัวใจขึ้นมารับแสงสว่าง เพื่อที่จะประกอบร่างความเป็นเพลงขึ้นมาอีกครั้ง
‘…สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา’ ขอยืมคำพูดของเจ้าสุนัขจิ้งจอก จากเรื่องเจ้าชายน้อยมาใช้สักหน่อย เพราะศิลปะของเธอก็คงอยากให้ทุกคนมาฉายดวงไฟส่องดูการก้าวผ่านในแต่ละช่วงเวลาของเพลงด้วยประโยคนั้นด้วยเช่นกัน
Step 1 : หญิงสาวในคราบดอกไม้แห้ง
เพลงชอบวาดรูปดวงตาที่มีหยดน้ำตามาตั้งแต่จำความได้ แม้วาดซ้ำไปซ้ำมาแต่พอถามว่าเพราะอะไร เธอกลับครุ่นคิดอยู่นาน “ไม่รู้เหมือนกัน แค่รู้สึกอยากวาดดวงตาเศร้าๆ อาจเพราะเราวาดรูปไม่เป็น แต่อยากให้คนอื่นได้เห็นสิ่งที่อยู่ในหัวเรา” เช่นเดียวกับความชอบเก็บดอกไม้แห้งและแสงไฟสีเหลือง รู้ตัวอีกทีก็สะสมไว้เต็มห้องซะแล้ว อีกทั้งครั้งหนึ่งเพื่อนสนิทเคยนิยามเธอไว้ว่า เพลงดูเหมือนดอกไม้แห้งที่พยายามจะยืนต้นให้มีชีวิตอีกครั้ง
เพราะเคยพบจุดพลิกผันของชีวิตที่ทำเอาสูญเสียสิ่งยึดเหนี่ยว เพลงในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อกลายเป็นหญิงสาวแตกสลายที่ยืนอยู่ในโลกสีมืด “ช่วงนั้นเราหมดความเชื่อมั่นกับทุกอย่าง จำได้ว่าเงยหน้ามองท้องฟ้า มันว่างเปล่ามากจนเราร้องไห้ เพราะรู้สึกจริงๆ ว่าไม่เหลือใครอีกแล้ว เราเลยอยากสร้างโลกของเราด้วยสองมือของตัวเอง” เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นความชอบงานแฮนด์เมดให้ฟัง
เพราะชอบเขียนเป็นทุนเดิมจึงลองเย็บสมุดเองเป็นครั้งแรก “มันดูไม่สวยเอาซะเลย” พูดไปก็หัวเราะไปก่อนขยายความว่า ตั้งใจจะเขียนบันทึกทุกสภาวะความเจ็บปวด ในเวลาเดียวกันก็เลือกเข้าเรียนการละคร คณะอักษรเพื่อหวังพยุงจิตใจตลอดการเป็นนักศึกษาในรั้วมหาลัย
“มันจะมีวิชากำกับที่เราต้องดึงตัวเองออกมาอยู่ในมุมสูง เพื่อมองบริบทต่างๆ ส่วนเรียนแอคติ้ง เราต้องลงเข้าไปอยู่ในจิตใจของตัวละคร เราทำละครธีสิสที่ต้องเขียนบท สร้างตัวละคร และกำกับเอง ทุกกระบวนการมันสะท้อนทุกๆ พาร์ตความเจ็บปวดของเรา บางเรื่องเราเพิ่งรู้ตัวด้วยซ้ำว่าโกรธมันมากขนาดไหน ละครเวทีทำให้เราเข้าใจตัวเอง ตกตะกอนบาดแผลในใจ และมองถึงเหตุผลมากขึ้น ไดอารีทำมือเล่มแรกจากที่ไม่เคยชอบเลยกลายเป็นเล่มที่เรารักมากที่สุด” และเป็นครั้งแรกที่เธอยอมปล่อยให้หัวใจได้สัมผัสความสุขทั้งจากตัวเองและผู้คนรอบข้าง
Step 2 : her. ชิ้นงานที่มีวันร่วงโรย
หลังเรียนจบมหาลัย ทำงานประจำในร้านจัดดอกไม้ได้สักพักก็ตัดสินใจลาออก เพราะอยากริเริ่มงานทำมือตามความตั้งใจ
เริ่มจากรับทำสมุดทำมือตามออเดอร์ ออกแบบและเย็บปกเอง ตามด้วยโปสต์การ์ด สติกเกอร์ ภาพศิลปะสื่อผสม ที่เพลงหยิบศาสตร์การละครมาใช้ อย่างการนำไฟส่องเข้าไปยังส่วนใดส่วนหนึ่งของงาน แสงและเงาที่ตกกระทบดอกไม้แห้งหรือตัวชิ้นงาน จะสร้างจินตนาการและมุมมองใหม่ๆ อีกทั้งเรื่องเล่าที่เพลงเขียนประกอบงานศิลปะ จะพาให้เรารู้จักศิลปินมากขึ้น ส่องไอจีก็เหมือนได้เที่ยวชมอาร์ตแกลเลอรีของเพลงยังไงยังงั้นเลย
“งานเราจะมีความเฉพาะทาง คนที่เข้าใจก็คงจะชอบ เราจะเขียนโปรยไว้เลยว่า งานศิลปะของเราใช้ดอกไม้แห้งที่ไม่ได้สตัฟฟ์ไว้ เพราะอยากให้มันมีความสวยงาม และมีวันที่ลอกสลายไปในที่สุด” ทุกอย่างย่อมมีช่วงเวลาที่ต้องอยู่และช่วงเวลาที่ต้องไป ชีวิตที่ผ่านมาให้บทเรียนไว้แบบนั้น ดอกไม้แห้งจึงไม่ต่างอะไรกับวงจรชีวิตมนุษย์ในความคิดของเพลง
แต่ถึงเพลงจะเปลี่ยนความเศร้าให้เป็นผลงาน แต่ท้ายที่สุดจะต้องลงเอยด้วยแสงไฟแห่งความหวัง เพื่อฉายสิ่งสวยงามเสมอ นี่คือใจความหลักที่เพลงอยากสื่อออกไป พอได้ลงมือทำสิ่งที่ชอบก็เหมือนได้ฮีลหัวใจ จากตอนแรกที่จะเปิดไอจีลงงานศิลปะด้วยชื่อ hertear. เพลงตัดเหลือ her. อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน
“เราไม่ได้เศร้าเหมือนแต่ก่อนแล้ว ตอนนี้เรามองความเศร้าและแสงสีเหลืองเป็นเพื่อนที่ให้ความอบอุ่น เรามีความสุขที่เห็นสิ่งสวยงามของการแตกสลาย เห็นความเป็นไปของชีวิต her. มันจะต่อด้วยอะไรอีกก็ได้ มันเป็นการเดินทางของเด็กผู้หญิงที่อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หรือถ่ายทอดตัวตนของเราในทุกช่วงวัยมากที่สุด” แต่เพลงยังเก็บ #_hertear เอาไว้แท็กใต้ภาพผลงานในไอจีอยู่เสมอ
Step 3 : ศิลปะ และชีวิตที่มีความสุข
เพราะยังผูกติดกับภาพจำที่ว่า ศิลปะคือภาพเพนต์บนเฟรม ทำเอาเพลงไขว้เขวว่างานทำมือจะไปรอดหรือเปล่า
“เราเคยวิ่งหนีสิ่งที่ชอบเพื่อไปฝึกวาดรูป ไปในเวย์ที่เราไม่ถนัด พอลองดึงตัวเองเป็นบุคคลที่สามมองดู her. ก็ค้นพบว่า ศิลปะมันกว้างมาก เราไม่จำเป็นจะต้องสื่อสารในรูปแบบภาพบนเฟรมอย่างเดียวก็ได้ มีคนเข้ามาบอกว่าชอบที่งานเราไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ราวกับมันมีชีวิตของมัน เราเลยทำต่อเพราะเชื่อว่าคนที่มีมุมมองเดียวกัน โลกคงจะเหวี่ยงมาให้เจอกันเองแหละ”
หลังฝ่าฟันการหลงทางของตนเองมาสักระยะ แม้สับสนอยู่บ้าง แต่เธอเลือกละทิ้งสิ่งไม่จำเป็นแล้วหันมาโอบรับความสุขจากสิ่งเล็กๆ มากขึ้น “เพราะเราอยากมีชีวิตที่ดีเพื่อสร้างงานศิลปะต่อไป” กับโลกของ her. ที่เดินทางเข้าปีที่ 2 แล้ว ก็กำลังสนุกไปกับการหาเทคนิคใหม่ๆ อีกเช่นกัน และไม่แน่ว่าในอนาคต เธออาจจะไม่ได้ตั้งต้นสร้างศิลปะด้วยความเศร้าหรือดอกไม้แห้งเสมอไป
“เรามีความฝันอันสูงสุด คืออยากทำหนังสือที่เป็นเหมือนโรงละครในรูปแบบเล่ม ที่เจ้าของเล่มสามารถส่องแสงผ่านแต่ละจุดได้ อาจจะมีบางหน้าที่สามารถฉีกกระดาษก่อนแล้วค่อยไปที่หน้าต่อไป เสมือนว่าเรื่องราวในนั้นจะมีแต่เราที่เป็นเจ้าของเรื่องแต่เพียงผู้เดียว แต่อีกไกลเลยล่ะ (หัวเราะ)”
แต่เชื่อว่าคงไม่นาน เพราะเพลงเป็นคนที่มุ่งมั่นใน Passion ของเธอมาก ถ้าไม่เชื่อลองเข้าไปชมผลงานได้ทางไอจี her. เพลงจะอัพสตอรี่ทุกวันเพื่อบอกเล่ากระบวนการสร้างงานชิ้นต่างๆ ได้น่ารักมากๆ เชียวล่ะ