About
ART+CULTURE

Wild Street

‘มวย-ปิยศักดิ์’ ศิลปินสตรีตอาร์ตรักษ์สัตว์ป่าที่พ่นผลงานบนกำแพงมากว่า 20 ประเทศทั่วโลก

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 30-12-2023 | View 4065
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนรู้จักตัวตนและเรื่องราวเบื้องหลังความสวยงามบนกำแพงของ มวย-ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด ศิลปินสตรีตอาร์ต เจ้าของคาแรกเตอร์สะท้อนชีวิตสัตว์ป่า ภายใต้แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ที่สร้างสรรค์ผลงานไปทั่วโลกมากกว่า 20 ประเทศ

ความบังเอิญไปสะดุดตากับสตรีตอาร์ทภาพหนึ่งที่ท้ายเหมือง จ.พังงา เป็นภาพเต่าทะเลที่สวยงาม แต่แฝงไปด้วยความจริงเรื่องปัญหาขยะในทะเลได้โดนใจ จนอยากรู้จักตัวตนของผู้อยู่เบื้องหลังมากขึ้น นำมาสู่บทสนทนาครั้งนี้

ใครที่อยู่ในแวดวงศิลปะคงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นผลงานของ มวย-ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด ศิลปินสตรีตอาร์ตที่มีลายเซ็นชัดเจนเกี่ยวกับการนำเสนอชีวิตสัตว์ป่า มีผลงานโดดเด่นอยู่บนกำแพงและสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศมากมาย

“ผมตั้งใจให้สีเต่าและปะการังมีความรู้สึกหม่นๆ มีอวนด้านล่างเป็นกิมมิกเล็กน้อย และเพิ่มมูฟเมนต์ด้วยริ้วน้ำตาแทนริ้วน้ำ เพื่อให้คนตีความว่าความสวยงามของธรรมชาติควรจะสดใสกว่านี้ หรือจะปล่อยให้มันเป็นแบบนี้ต่อไป” มวยเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้

หลายคนถามว่าทำไมเต่าต้องร้องไห้ เขาบอกได้แค่ว่าถ้าต้องเจอสถานการณ์แบบนี้ เต่าจะร้องไห้ก็ไม่แปลก…เราก็คิดเช่นนั้น!

ก่อนเริ่มปีใหม่ด้วยเป้าหมายใหม่ในวันที่ศิลปะบนกำแพงเชื่อมโยงกับทุกคนได้มากขึ้น และคุณมีโอกาสจะได้เห็นผลงานเขาตามสถานที่ต่างๆ มากมาย เราอยากชวนมาทำความรู้จักตัวตนของเขาและเรื่องราวการเดินทางบนถนนสายนี้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

สตรีตอาร์ต

มวย-ปิยศักดิ์ เขียวสะอาด

จากเด็กไม่มีเส้นสู่เส้นทางสายสตรีต

แม้จะจบจากคณะวิจิตรศิลป์ สาขาจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ชีวิตศิลปินไม่ใช่อาชีพในฝันของมวย

“ผมชอบศิลปะ แต่รู้สึกว่าจุดที่ดีที่สุดของศิลปะสำหรับเราคืองานอดิเรก เพราะความสุข จากการได้คิดและสร้างสรรค์อย่างอิสระ มันเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น ส่วนความฝันของผมคืออยากเป็นนักฟุตบอล”

แต่ด้วยยุคที่คำว่า “เด็กเส้น” เป็นคำคุ้นหู เขาเลือกแสดงความไม่เห็นด้วยโดยการไม่เข้าร่วมอยู่ในระบบ เลยผันตัวไปเป็นนักฟุตบอลเดินสายเป็นหลัก ควบคู่ไปกับรับงานเพนต์ตามออเดอร์บ้างประปราย กระทั่งมีปัญหาบาดเจ็บเอ็นไขว้เข่าฉีกต้องหยุดเล่น ประกอบกับความเบื่อในการทำงานศิลปะตามออเดอร์ เลยถือโอกาสได้ไปเยี่ยมพี่สาวที่เยอรมนีและเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์

กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้หันมาสนใจงานด้านสตรีตอาร์ต

สตรีตอาร์ต

ระหว่างเดินเที่ยวไปเรื่อย เขาบังเอิญไปเจองานศิลปะข้างถนนในต่างแดน แล้วเกิดความประทับใจในเทคนิคการใช้สเปรย์สร้างสรรค์ผลงานที่มีรายละเอียดได้อย่างยอดเยี่ยม และทำให้ฉุกคิดได้ว่าพื้นที่ตรงนี้หรือศิลปะข้างถนนนี่แหละน่าจะเหมาะกับงานของตัวเอง

“ผมมีเรื่องที่อยากพูดแต่ไม่อยากพูดในแกลเลอรี ณ ตอนนั้นผมค่อนข้างจะปฏิเสธแกลเลอรีพอสมควร เพราะรู้สึกว่ามันจำกัดคนดู และมีจริตบางอย่างที่รู้สึกเหมือนผลักหลายคนออกไป มันดูชั้นสูงไปหน่อยเลยไม่ค่อยถูกจริต เมื่อมาเจองานตรงนี้เลยคิดว่าน่าจะตอบโจทย์เรา เพราะขนาดไม่สนใจยังเจอ”

สตรีตอาร์ตจึงกลายเป็นความสนใจของเขานับแต่นั้นมา

สตรีตอาร์ต

แจ้งเกิดจากผลงานคดีเสือดำ

เมื่อกลับมาไทยมวยใช้เวลาถึง 3 ปีในการสเก็ตช์อยู่อย่างเดียว เพื่อหาตัวตนของตัวเองโดยไม่เคยจับสเปรย์เลย ด้วยความเข้าใจผิดว่าต้องมีคาแรกเตอร์และเอกลักษณ์ จนย่างเข้าปีที่ 4 นึกถึงตอนเรียนว่าถ้าไม่ลงมือทำแล้วจะมีเอกลักษณ์ได้อย่างไร

“ในเมื่อเราเป็นคนเบื่อง่าย ทำไมต้องไประบุตัวให้อยู่ภายใต้คาแรกเตอร์ใดคาแรกเตอร์หนึ่ง ยิ่งเรามีเรื่องอยากจะพูดเยอะ คาแรกเตอร์ตัวหนึ่งมันไม่ได้เหมาะสมกับทุกเรื่อง มันมีความเหมาะสมของมันในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละตัวละคร”

คิดได้เช่นนั้น เขาออกไปซื้อสเปรย์มาพ่นกำแพงบ้านเช่าตัวเองเป็นรูปหน้าลิง ใช้เวลาไม่ถึง 30 นาที ผลงานที่ได้อาจไม่สวยงามมากแต่ก็ไม่เละ ซึ่งน่าจะเป็นข้อดีของ 3 ปีที่ผ่านมา มันได้เก็บทุกอย่างเข้าหัวและศึกษาทุกเทคนิคเลยจับทางได้เร็ว ก่อนจบปี 2014 ด้วยผลงาน 12 ชิ้น โดยวางเป้าการพ่นแค่พื้นที่รกร้างกับพื้นที่ที่ขออนุญาตเท่านั้น

สตรีตอาร์ต

“ด้วยตัวงานของผมต้องการสื่อสารกับคน ต่อให้เนื้อหาเราดีแค่ไหน แต่ถ้าไปทำในที่ละเมิดสิทธิคนอื่น มันอาจไปลดทอนเนื้อหาว่าไม่ดีจริง เลยวางตำแหน่งตัวเองไว้แบบนี้และไม่เคยมีปัญหากับเจ้าของสถานที่”

เมื่อถามถึงชิ้นงานที่รู้สึกภูมิใจมากที่สุด มวยนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนตอบว่า “ผมชอบงานชุดแม่สอด (ร้าน Wisdom Field)” ก่อนเล่าต่อว่า ตอนแรกตั้งใจจะไปพ่นงานที่สนุกสนานทั่วไปตามสไตล์พื้นที่กำแพงใหญ่ แต่เมื่อไปถึงกลับพบความแห้งแล้งกว่าที่คิด เลยลบทุกอย่างทิ้งและปล่อยไหลไปตามสิ่งที่อยากจะพูดหน้างาน งานชุดนี้มีประมาณ 12 ชิ้นหลักๆ

สตรีตอาร์ต

หนึ่งในนั้นคือภาพเต่าสะพายกระเป๋า บ้านต้นไม้ที่มีกระต่ายของเขาอยู่ข้างใน ในมือถือต้นกล้าอยู่บนจักรยานล้อเดียว งานชิ้นแรกที่ทำให้ได้ไปร่วมงานในต่างประเทศ ส่วนชิ้นงานที่แจ้งเกิดในประเทศไทย คือผลงานเกี่ยวกับคดีล่าเสือดำ

สตรีตอาร์ต

“แต่ผมไม่ค่อยภูมิใจที่คนรู้จักจากงานชิ้นนั้น (คดีเสือดำ) เท่าไหร่ เพราะถ้ามองว่าผมเป็นศิลปินที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับสัตว์ป่า ผมอยากให้คนนึกถึงเนื้อหาเรื่องสัตว์ป่าโดยไม่ต้องมีคนเข้ามาผสม แต่งานนี้คนจ้องจะด่าไปตัวเปรมชัย (กรรณสูต) ทั้งที่ตัวเนื้องาน ผมไม่ได้พูดถึงคนคนนี้เป็นพิเศษด้วยซ้ำ ผมพูดถึงกระบวนการบางอย่างที่ปกป้องคนคนนี้ ซึ่งมันไม่ได้มีผลแค่ชีวิตสัตว์ แต่หมายถึงชีวิตคนด้วย”

“ผมไม่ได้ทำเพื่อแก้แค้นให้เสือดำ มันไม่แฟร์ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เขาเสียชีวิต แต่เมื่อมันเรียกคืนไม่ได้แล้ว สิ่งที่ทำได้คือการปกป้องชีวิตต่อไปมากกว่า มีมาตรการก่อนและหลังที่เข้มข้นกว่านี้ นั่นคือสิ่งที่ผมทำ”

สตรีตอาร์ต

สตรีตอาร์ต

ธรรมชาติ สัตว์ป่า ศิลปะ
ก็กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

ทำไมต้องเป็นสัตว์ป่า…เป็นคำถามที่เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ไม่ต่างจากเรา

“เรามีภูมิหลังเกี่ยวกับธรรมชาติ” เขาโตมากับพื้นที่นอกเมืองเชียงใหม่ ไม่ใช่แค่อยู่ท่ามกลางหุบเขา หากยังห่างไกลจากชุมชนใน อ.พร้าว แต่ใกล้ชิดและเห็นสัตว์ป่าได้ง่ายมาก แม้กระทั่งช่วงเรียนอยู่ มช.ก็เห็นสัตว์ป่าอยู่บ่อย ทว่าหลายปีมานี้สัตว์เหล่านั้นหายกันไปเกือบหมด จึงอยากให้นำชีวิตสัตว์ป่าออกมาให้คนเมืองได้เห็นมากขึ้นในรูปแบบศิลปะ เพื่อกระตุ้นให้คิดว่ายังมีพวกเขา (สัตว์ป่า) อยู่ ไม่ใช่แค่หมาแมว

สตรีตอาร์ต

แน่นอนว่าเนื้อหาทุกชิ้นล้วนมีแนวคิดพื้นฐานเรื่องการอนุรักษ์ อาจจะแตกต่างกันไปตามบริบท สถานการณ์ สถานที่และสิ่งที่ต้องการพูดถึงในเวลานั้น แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำประเด็นด้านลบเกี่ยวกับธรรมชาติมานำเสนอให้เป็นบวก

สตรีตอาร์ต

“ผมไม่ได้มาในแนวทางการนำเสนอการอนุรักษ์จ๋าเพื่อให้คนเข้าใจเลย แต่ต้องการเชื่อมกลุ่มคนที่เข้าใจตรงกันและไม่ตรงกันให้มาพบกันในเนื้องานของเรา และพยายามไม่ชี้นำหรือยัดเยียดความคิดในงาน”

“ผมชอบทำงานให้ชวนคิดแล้วดึงไปตีความตามค่าประสบการณ์ของแต่ละคน เช่น ภาพช้างยิ้ม คนหนึ่งอาจจะมองว่ายิ้มแบบน่ารัก คนหนึ่งอาจมองว่ายิ้มกวน ส่วนอีกคนอาจมองว่ายิ้มแบบเลศนัย เพราะเชื่อว่าการทำให้เขารู้สึกและตีความไปในทางของตัวเอง แล้วไปบอกต่อจะมีความยั่งยืนมากกว่า”

สตรีตอาร์ต

หลากมุมมองวัฒนธรรมสตรีตอาร์ทจากต่างแดน

ชื่อเสียงเรียงนามของมวยไม่เพียงเป็นที่ยอมรับในแวดวงสตรีตอาร์ตเมืองไทย แต่ยังดังไกลไปถึงต่างแดนจากการได้ร่วมแสดงผลงานเฟสติวัลอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในงาน Meeting of Style ที่ประเทศจีน ช่วงปี 2015-2016 ซึ่งเป็นงานเปิดให้ส่งตัวอย่างผลงานเข้าไป เพื่อคัดเลือกศิลปินที่จะเข้าร่วมงาน

“แต่ผมไม่ได้ส่งไป เป็นเพื่อนจากจีนติดต่อมาทางรุ่นพี่ในเมืองไทยว่าอยากให้คนไทยไปร่วมด้วย เลยมีการคัดเลือกตัวแทนไป 4 คนและผมเป็นหนึ่งในนั้น”

ถึงวันนี้ศิลปินดังจากภาคเหนือออกไปพ่นในงานเฟสติวัลทั่วโลกมาแล้ว 49 ครั้งใน 21 ประเทศ รวมถึงเทศการสตรีตอาร์ตที่เยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลีที่ขึ้นชื่อทางด้านนี้ แต่หากจะให้เลือกประเทศที่น่าประทับใจที่สุดคงตอบยาก เพราะแต่ละที่จะมีความน่าประทับใจแตกต่างกันไป

อย่างอินโดนีเซียจะมีบรรยากาศอบอุ่นเป็นพิเศษ เพราะเขามีศิลปินเยอะมาก มีรากวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง ฮิปฮอปและกราฟฟิตีอยู่ด้วยกัน ต่อให้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงมานาน ก็มีความเป็นมิตรสูงมาก พร้อมจะพาไปพ่นได้ทุกวันโดยไม่มีข้ออ้าง หรือถ้าความเป็นเมืองสตรีตอาร์ต เขาชอบเกาะเรอูนียงของฝรั่งเศส

นอกจากบรรยากาศและแลนด์สเคปสวยมากแล้ว ในแง่ของกราฟฟิตีในทุกๆ สะพานหรือทางเชื่อมแม่น้ำจากเขาลงทะเลมีที่ให้พ่นตลอด ที่สำคัญพ่อแม่จะสนับสนุนให้ลูกมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ไม่ปฏิเสธกราฟฟิตี สตรีตอาร์ต หรือใดๆ เลย

“สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในต่างประเทศคือการมีส่วนร่วม ด้วยความที่วัฒนธรรมเขาแข็งแรง ทุกคนไม่ได้มองสิ่งเหล่านี้ (กราฟฟิตีหรือสตรีตอาร์ต) เป็นมลภาวะหรือสิ่งรกหูรกตา ทุกคนมานั่งดูตั้งแต่ต้นจนจบ มีรูปแบบงานที่สนใจในเนื้อกระบวนการมากกว่าบ้านเรา ที่ยังมองในเรื่องความสวยงามเสียส่วนใหญ่ โดยไม่ได้สนใจเนื้อหาบนรูป”

สตรีตอาร์ต

อีกอย่างคือการทำงานที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ในต่างประเทศเขาเลือกเราจากความเป็นเรา ปล่อยให้ทำทุกอย่างตามแนวคิดของศิลปิน แต่ในบ้านเรายังชอบเลือกศิลปินไปสนองความต้องการของตัวเอง ซึ่งไม่ดีทั้งต่อตัวศิลปินและความก้าวหน้าของวงการ นี่คือสิ่งที่หลายๆ คนยังบ่นกันอยู่

“ผมไม่บ่นแล้ว อะไรที่ไม่แฮปปี้ ผมไม่ทำ เพราะฉะนั้นทุกที่ที่ผมไปพ่นในไทยคือคุยกันแล้ว เขายอมให้ผมทำแบบนั้น”

ถึงอย่างนั้นการได้ไปมาหลายประเทศกลับยิ่งรู้สึกชอบประเทศตัวเองมากขึ้น

จากที่เคยอยากไปใช้ชีวิตอยู่ในดงศิลปะที่ต่างประเทศ กลับรู้สึกว่าประเทศไทยที่เราว่าๆ บ่นๆ กันอยู่มันดีจังเลย ไม่ใช่ว่าดีเลิศประเสริฐศรี แต่มันเอื้อต่อการทำงานด้านนี้ เพราะทั้งสถานที่ กฎหมาย รวมถึงสภาพอากาศที่พ่นได้ทั้งปี มันเอื้อมากกว่า ในขณะที่ในต่างประเทศค่อนข้างมีความยุ่งยากในกระบวนการ มีกำแพงให้พ่นถูกกฎหมายค่อนข้างจำกัด

สตรีตอาร์ต

แก่นของสตรีตอาร์ตกับโปรเจ็กต์ในฝัน

แม้วันนี้เส้นทางการเป็นศิลปินสตรีตอาร์ตของมวย จะเดินทางมาถึงจุดที่คงไม่มีใครในวงการสตรีตอาร์ตบ้านเราไม่รู้จัก แต่ 70-80% ของงานที่หลายคนเห็นผ่านสื่อทั้งหลาย เป็นการพ่นเล่นและทำงานร่วมกับชุมชน

“ผมชอบงานพ่นเล่นและการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมมากกว่างานเลี้ยงชีพ (งานจ้าง) เพราะตรงนั้นมันให้อิสระเรามากๆ”

มันคือรากของวัฒนธรรมกราฟฟิตีและสตรีตอาร์ต แต่ปัจจุบันที่กระแสความนิยมของสตรีตอาร์ตเติบโตขึ้นมา ทำให้บ่อยครั้งลักษณะงานกลายเป็นอยู่ในรากของแฟชั่น ไม่ใช่วิถีดั้งเดิม จนในแต่ละที่มีงานลักษณะคล้ายกันไปหมด ซึ่งเขามองว่าเป็นความล้มเหลวของวงการ แต่อาจดีต่อรายได้สำหรับตัวบุคคล

สตรีตอาร์ต

ความเป็นสตรีตอาร์ตไม่ใช่แค่ลักษณะการเพนต์และพ่นที่มีเทคนิค แต่ด้วยรูปแบบการทำงานและสถานที่ มันคือวัฒนธรรมของการสร้างสรรค์ศิลปะข้างถนน พื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะด้วยเงินหรือไม่ก็ตาม ไม่ใช่ออกเฉพาะงานอีเวนต์หรือแสดงงาน ซึ่งจะสร้างความเข้าใจผิดให้กับคนรุ่นหลังที่อาจนั่งทำงานตามกระแส ก็เรียกตัวเองว่าสตรีตอาร์ทิสต์แล้ว เพราะจะไม่ใช่ตัวจริงสำหรับวงการในต่างประเทศ และจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนในวงการกลุ่มอันเดอร์กราวน์ เมื่อทั้งสองฝั่งไม่มาเจอกันและไม่มีการส่งต่ออย่างถูกต้องให้คนรุ่นใหม่ ก็จะไม่เกิดการพัฒนา

สตรีตอาร์ต

ล่าสุดมวยเตรียมต่อยอด North Walls Project ร่วมกับกลุ่มเพื่อนศิลปินไปพ่นกำแพงให้โรงเรียน และเว้นการแสดงงานในปีนี้ เพราะมีคนแสดงงานกันเยอะมากแล้ว และกลัวว่าเนื้อหาจะถูกลดทอนลงไป เพราะคิดว่าอยากแสดงงานหาเงิน

แต่ก็มีงานแสดงในฝันนะ!

สตรีตอาร์ต

“ผมต้องการเนรมิตพื้นที่ตรงนั้นให้เป็นในเรื่องอยากจะทำ ที่ที่อยากแสดงอาจไม่ใช่แกลเลอรี แต่เป็นชุมชนที่คนเข้าไปชมงานได้มากกว่า เป็นพื้นที่เปิดกว้างหน่อย เปิดโล่ง แสดงงานกันตรงนั้นแบบนั้น เพราะทุกครั้งที่แสดงงาน ผมจะคุยกับผู้จัดตลอดว่าไม่สนเรื่องขายงาน ถ้าอยาก เป็นหน้าที่ของพี่ แต่ผมจะทำงาน เลยแสดงงานน้อย เพราะเกรงใจแกลเลอรีด้วย”

อนาคตศิลปินหนุ่มมีแนวคิดจะเพิ่มเนื้อหาที่จริงจังมากขึ้น ค่อยๆ แทรกข้อความที่มีความน่ารักในความเป็นมวยน้อยลง แต่ก็ไม่ทิ้งไปเสียทีเดียว แค่มีอีกพาร์ตหนึ่งควบคู่กันไป พร้อมกับเพิ่มเนื้อหาที่เข้าใจง่ายขึ้น เช่น จะย่อยเนื้อหาง่ายๆ เป็นลายสกรีนไปอยู่บนเสื้อ

สตรีตอาร์ต

แม้จะรู้สึกเป็นเกียรติทุกครั้งที่มีคนพูดถึงในฐานะศิลปินนักเคลื่อนไหว แต่ก็ไม่เคยมองว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นเลอค่ามากไปกว่างานศิลปะ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันทำให้เป็นเช่นนั้น

สตรีตอาร์ต

“มันจะเป็นมากกว่าศิลปะก็ต่อเมื่อได้ทำหน้าที่อื่น แม้รู้ว่าเราได้สอดแทรกข้อความอะไรอยู่ในนั้น อยากให้คนรักสัตว์ช่วยกันดูแลธรรมชาติ แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคนหยิบไปใช้ จะทำให้มันเป็นมากกว่าศิลปะหรือไม่” มวยฝากข้อคิดเอาไว้ก่อนปิดบทสนทนา


ขอบคุณภาพ : Piyasak Khiaosaard

นอกจากผลงานบนกำแพงทั้งในและต่างประเทศ สามารถติดตามเขาและผลงานได้
Instagram : mauy_msv  และ
Facebook: Piyasak Khiaosaard (Mauy)

Tags: