I Am Home
ครั้งแรกของ COLLAGECANTO กับนิทรรศการของคนติดบ้านเล่าผ่านงานตัดกระดาษและนิตติ้ง
- ‘COLLAGECANTO’ หรือ ‘บัว – วรรณประภา ตุงคะสมิต’ ศิลปินที่สร้างสรรค์ศิลปะ Paper Cutting และ Collage Art จะมาบอกเล่าเส้นทางการเป็นศิลปินนักตัดกระดาษ แล้วพาชมนิทรรศการล่าสุดของเธอ ‘I am Home’ ที่นำเสนอความผูกพันระหว่างเธอกับบ้าน ผ่านศิลปะกระดาษที่ผสมผสานระหว่างเทคนิค Paper Cutting และ Knitting เป็นครั้งแรก
ถ้าให้เอ่ยถึงศิลปินไทยที่หยิบกระดาษมาสร้างสรรค์ศิลปะการตัดกระดาษจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เราจะนึกถึงบัว หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อ COLLAGECANTO เราเดินทางมาหาเธอที่ละลานตาไฟน์อาร์ต เพราะเธอกำลังจัดนิทรรศการใหม่ล่าสุดในชื่อ ‘I am Home’ เพื่อบอกเล่าความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เธอ’ และ ‘บ้านของเธอ’ ออกมาในชุดผลงานการตัดกระดาษผสมกับการถักกระดาษที่เธอเปรยกับเราว่ายังไม่เคยทำมาก่อนเลย
ส่วนความสัมพันธ์ระหว่าง บัว กับ กระดาษ คือความผูกพันที่ตั้งแต่เมื่อจำความได้ เจ้าแผ่นกระดาษก็เข้ามาเป็นสื่อแรกๆ ที่เธอใช้สื่อสารผ่านการเขียนหนังสือและวาดภาพ ที่นับวันก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเธอมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในช่วงเวลาที่หมดภาระงาน เธอจะหยิบกระดาษมาสร้างสรรค์ศิลปะเป็นงานอดิเรกที่คอยมอบความสนุกให้เธอมาตลอดกว่า 10 ปี
เพราะฝึกงานนิตยสาร ฉันเลยจ๊ะเอ๋กับ Collage Art
พูดถึงช่วงวัยนักเรียน ถ้าเอ่ยถึงวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เชื่อว่าจะต้องมีบางคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ชอบเพราะเรียนยากมาก บัวเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ศิลปะจึงกลายเป็นวิชาที่เธอในวัยเด็กชื่นชอบที่สุด งานอดิเรกของเด็กหญิงบัวจึงหนีไม่พ้นนั่งดูการ์ตูนและวาดรูประบายสี
ในยุคอนาล็อกกึ่งเข้ายุคดิจิทัลปี 2000 ต้นๆ บัวบอกเราว่าเป็นช่วงที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้าถึงง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉพาะวงการนิตยสารบ้านเราจัดได้ว่ากำลังรุ่งเรืองสุดๆ บัวในวัยนักศึกษามีโอกาสได้เข้าร่วมฝึกงานกับนิตยสาร a day (โครงการ a day junior รุ่น 2) ที่เธอมองว่าเป็นนิตยสารค่ายแรกๆ ที่หันมาพูดคุยเรื่องวัฒนธรรมดนตรี ศิลปะภาพยนตร์ และค่ายเพลงอิสระได้อย่างสดใหม่มากๆ
“ตอนนั้นมันสนุกมากๆ เพราะเราไปด้วยความไม่รู้อะไรเลย พอได้มาอยู่ในกองบรรณาธิการ ได้รู้จักอะไรกว้างมากๆ ตอนนั้นฝึกทำคอนเทนต์ เขียนคอลัมน์ เวลามีนิทรรศการอะไรก็ต้องออกไปสัมภาษณ์ศิลปิน เราก็เรียนรู้มุมมองต่างๆ ได้เห็นการทำงานสร้างสรรค์มากมายจากศิลปินหลายคน เราเห็นโลกที่กว้างขึ้นไปจากเดิมมาก” บัวเล่าไปด้วยความตื่นเต้น
หลังฝึกงานจบ เธอทำงานประจำอยู่ที่นิตยสารแห่งหนึ่ง ในช่วงนั้นเองบัวเริ่มสนใจศิลปะคอลลาจของศิลปินต่างชาติคนหนึ่ง จนถึงกลับยอมสั่งซื้อหนังสือจาก Amazon เลย เพราะเมืองไทยยังไม่ค่อยมีหนังสืออาร์ตของเมืองนอกเข้ามาวางขายเท่าไหร่ และนั่นก็คือประตูด่านแรกที่ทำให้ศิลปินสาวเริ่มอยากสร้างชิ้นงานคอลลาจของตนเองดูบ้าง
กระดาษเป็นสื่อที่เป็นมิตร ใกล้ตัว ต้นทุนไม่เยอะ ผนวกกับเธอชอบสะสมตั๋ว ภาพประกอบจากนิตยสารเก่า ศิลปินสาวก็เลยใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานมานั่งจดจ่ออยู่กับการฉีก ตัด และแปะกระดาษแบบคอลลาจ ทำไปได้สักพัก ก็มีคนชักชวนให้มาทำภาพประกอบ ประกอบคอลัมน์ในนิตยสารบ้างประปราย แต่กลับจุดประกายที่ให้เธออยากพัฒนาศิลปะต่อไปอีกขั้น
Papercut ทำฉันหมกหมุ่นไปกับการกรีดและตัดฉับๆ
พอเข้าวงการคอลลาจแบบออกไม่ได้ ศิลปินสาวบังเอิญไปเจอ ‘Illustration Friday’ เป็นเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะได้ทุกรูปแบบ โดยทางเว็บไซต์จะกำหนดหัวข้อทุกๆ วันศุกร์ เพื่อให้ผู้คนร่วมลงผลงานตามหัวข้อนั้นๆ พื้นที่แห่งนี้ล่ะที่ทำให้เธอเริ่มมองเห็นคอมมูนิตี้ของคนทำงานคอลลาจหลายรูปแบบ ส่วนตัวบัวเองก็ตั้งธงไว้ว่าจะทำงานคอลลาจทุกๆ วีค พอเธอลงผลงานอย่างสม่ำเสมอ ก็มีคนค่อยๆ เข้ามาคอมเมนต์และรู้จักงานเธอมากขึ้น
งานอดิเรกอีกอย่างหนึ่งของบัวคือการเขียนกลอนสั้นแบบ Canto เพื่อส่งไปยังนิตยสารต่างๆ ที่มักให้ผู้อ่านทางบ้านได้ส่งมาร่วมสนุก ในวันที่บัวสร้าง Blog ของตนเองขึ้นเพื่อลงผลงานคอลลาจพร้อมกลอนประกอบสั้นๆ มันจึงกลายมาเป็นที่มาของชื่อ COLLAGECANTO นั่นเอง
“พอรู้จักศิลปินคอลลาจหลายสไตล์ เราก็พบว่ามีศิลปินที่ทำงานกระดาษ Papercut ด้วย ทำให้เรารู้ว่ากระดาษไม่ได้มีดีแค่การตัด แต่ยังมีเรื่องของสไตล์ มีเรื่องราว ประจวบกับเราทำงานคอลลาจที่เป็นเรื่องของการตัดอยู่แล้ว เราก็ เฮ้ย! เราก็ทำได้นะ เลยเริ่มหันมาฝึกตัดกระดาษดูบ้าง”
ศิลปะการตัดกระดาษไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์มากมาย แค่มีกระดาษ 1 แผ่น และมีดคัตเตอร์ที่หาได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปก็สามารถเริ่มฝึกฝน เรียนรู้การฉลุกระดาษให้ออกในรูปทรงด้วยตนเองได้ บัวพิสูจน์มาแล้ว เธอถึงได้บอกกับเราว่า ใครๆ ก็ลงมือทำได้
ส่วนงานศิลปะสไตล์ของบัวเองมีตั้งแต่การตัด กรีด และฉลุกระดาษออกมาเป็นรูปสัตว์ ต้นไม้ คน อาหาร โครงกระดูกมนุษย์ บางชิ้นเป็นศิลปะตัดกระดาษที่ผสมไปกับคอลลาจด้วย ซึ่งเสน่ห์เฉพาะตัวในงานของเธอก็คือ การสื่อความที่เข้าใจง่ายแต่เน้นดีเทลของกระดาษแบบละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นการตัดเป็นเส้นบางๆ จนไปถึงเส้นซี่ๆ หรือจะตัดเป็นรูปทรงกลมมนก็ได้ ซึ่งลวดลายที่เราเห็นนั้นน่าจะสะท้อนถึงอิทธิพลที่บัวชื่นชอบลายลูกไม้บนผ้าของแม่
I am Home นิทรรศการที่เล่าเรื่องส่วนตัวผ่าน ‘บ้าน’
ปัจจุบันเธอเป็นฟรีแลนซ์ที่ใช้พื้นที่ในบ้านเป็นที่ทำงาน มีสตูดิโอทำงานศิลปะอยู่ในบ้าน ก็คงไม่แปลกอะไรที่เธอจะกลายเป็นคนติดบ้านมากขึ้น ซึ่งอีกในแง่มุมหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตคนรุ่นปัจจุบันถึงความผูกพันกับบ้านด้วย
บัวเกิดแรงจูงใจอยากลองสร้างผลงานให้แตกต่างไปจากเดิม เธอจึงหยิบคำว่า ‘บ้าน’ มาเล่าเรื่องในนิทรรศการเดี่ยว ‘I am Home’ เพื่อนำเสนอความผูกพันระหว่างเธอและบ้านปะปนไปกับจินตนาการ ออกมาเป็นศิลปะการตัดกระดาษผสมผสานกับเทคนิค Knitting หรือในที่นี้คือการถักกระดาษนั่นเอง
ภายในงานเราจะได้เห็นคอลเล็กชันผลงานในชุด ‘Lacyscape’ ที่พาย้อนกลับไปดูการทำงานคอลลาจของบัวในช่วงต้นๆ เธอยังเว้นพื้นที่บางส่วนของภาพเพื่อแทรกเทคนิคการตัดกระดาษเข้าไป แต่ถ้าอยากดูการถักกระดาษจ๋าๆ บัวก็พร้อมนำเสนอ ‘Windows Calendar’ ชุดผลงานที่เกิดในช่วงที่นั่งทำงานที่บ้าน เธอมักชอบมองวิวผ่านหน้าต่างอยู่เสมอ จึงได้ริเริ่มถักกระดาษออกมาเป็นหน้าต่าง 12 บาน บอกเล่าถึงทิวทัศน์ที่เธอมองตลอด 12 เดือน
บัวเล่าถึงกระบวนการทำงานให้ฟังว่า เธอจะตั้งหัวข้อขึ้นมาก่อน พอรู้ว่าจะเล่าเรื่องอะไร ก็จะเริ่มถ่ายภาพต้นไม้ สัตว์ หรือสิ่งของ แล้วนำมาจัดวางรวมกันแบบคอลลาจในโปรแกรม Photoshop ก่อน จากนั้นปรินต์ออกมาทาบ ใช้คัตเตอร์กรีดหรือฉลุเนื้อกระดาษตามแม่แบบ ในส่วนของการถักก็จะนำกระดาษที่ผ่านเครื่องทำลายกระดาษมาถัก ซึ่งต้องประคับประคองน้ำหนักมือให้ดี เพื่อสร้างลายถักให้เรียงกันอย่างสม่ำเสมอและไม่เกิดช่องว่างที่แน่นจนเกินไป
บัวพาเรามาดูผลงานที่แสดงให้เห็นถึงการสะสมประสบการณ์และฝีมือมายาวนานด้วยคอลเล็กชัน ‘Layers of Home’ บ้าน 5 หลัง ประกอบด้วย Pathwork House, Doll House, Alfhol, House of Rock, House of Blades จัดวางเรียงกันตามอย่างตุ๊กตาแม่ลูกดก บอกเล่าสวนในบ้าน ความชอบในวัยเด็ก ความเชื่อเรื่องภูตจิ๋ว บ้านที่มาจากหินที่อยู่ในสวน บ้านที่เก็บมีดทำงานของเธอถึง 365 เล่ม ความพิเศษก็คือบางชิ้นผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมได้ด้วยนะ
“อย่างบ้านหลังแรกชื่อ Pathwork House หลังใหญ่สุด ซึ่งเป็นเสมือนบ้านที่เป็นโรงเรือนปลูกต้นไม้ ปลูกเฟิร์นในสวน เหมือนกับบ้านของเราที่ให้ความรู้สึกโฮมมี่มากๆ ด้วยความที่เราชอบเดินดูนก ดูหิน ดูกระรอกในสวน เราเลยใช้ลวดลายลูกไม้จากผ้ามาตัดกระดาษเป็นบ้านผสมกับการถักกระดาษแล้วตั้งวางเอาไว้ให้คนเดินลอดได้ ซึ่งระหว่างที่อยู่ในบ้านถ้าเงยหน้าก็จะเห็นแสงไฟเล็ดลอดเข้ามา เสมือนเดินในสวนแบบบ้านเราเลย”
ยังมีผลงาน The Root House บ้านที่มีรากที่ผสมไปกับศิลปะการผูกเชือกมาคราเม่ และ The Fern Collection ผลงานสะสมเฟิร์นผสมกับความชื่นชอบของเธอในช่วงเวลาต่างๆ
นิทรรศการครั้งนี้หากนับตั้งแต่ไอเดียที่แพลนไว้ก่อนหน้า มาจนถึงวันเสร็จชิ้นงาน นับว่าใช้เวลาถึง 3 ปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ พอเราถามเธอถึงคำว่าบ้านอีกครั้ง เธอเล่าว่า ความหมายอาจไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม บ้านของเธอยังคงเป็นสถานที่ที่เธอได้เติบโต ได้ใช้ชีวิต ได้อยู่กับครอบครัวที่สนิท และยังได้ทำงานในบ้านที่ให้ความอบอุ่นกับเธออยู่เสมอ แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คงจะเป็นการได้กลับมาสำรวจความรู้สึกในวันวานผ่านชิ้นงานมากกว่า
“พอเราเอาบ้านมาแตกเป็นเลเยอร์ มองพื้นที่บางส่วนของบ้านก็เฮ้ย อะไรที่เราไม่ได้รู้สึกพิเศษหรือชินไปแล้วในตอนนี้ เมื่อก่อนเราเคยรู้สึกแบบนั้นนะ หรือเคยอยากได้ของชิ้นนี้นะ มันเป็นการระลึกถึงโมเมนต์สมัยก่อนเลยที่เราอาจจะลืมไป”
บัวอยากให้ทุกคนให้กลับมาพบเจอเซฟโซนที่เรียกว่าบ้านในแบบของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องมีหน้าตาที่เป็นบ้าน แต่อาจเป็นอย่างอื่นก็ได้
หวังว่าระหว่างเดินดูงานทุกคนจะพบคำตอบ
ใครที่ชื่นชอบผลงานของ COLLAGECANTO สามารถมาชมนิทรรศการ I am home ได้ จัดแสดงที่ ละลานตา ไฟน์อาร์ต ตั้งแต่วันนี้ – 24 กุมภาพันธ์ 2024 (หยุดวันอาทิตย์และวันจันทร์)
นอกจากนี้ ใครที่สนใจศิลปะการตัดกระดาษและอยากเรียนรู้ เธอก็มีจัดเวิร์กช้อปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 มกราคมนี้ด้วยนะ ใครสนใจก็เข้ามาจองคิวล่วงหน้าได้ที่ Line ID : @lalantafineart