

The Alchemist of Things
บุกสตูดิโอ TAM:DA ของเป๋-ธนวัต ผู้ใช้ DNA ครีเอทีฟเสกของมือสองเป็นงานอาร์ตมากด้วยคาแรกเตอร์
- คุยกับ เป๋-ธนวัต มณีนาวา ศิลปินหัวใจครีเอทีฟที่สร้างสรรค์ให้วัสดุมือสองและของเก่าในบ้าน กลายเป็นของตกแต่งบ้านและ Installation Art โดยไร้การดัดแปลงสี-รูปร่างดั้งเดิมของวัสดุทุกชิ้น
“มีแค่ตู้เย็นกับเครื่องปรินต์ที่เป็นมือหนึ่ง”
เป๋-ธนวัต มณีนาวา พูดด้วยเสียงหัวเราะพร้อมกับชี้ไปรอบๆ สตูดิโอ TAM:DA แห่งนี้แล้วอธิบายต่อ
“ชั้นวางของอันนี้ก็ต่อท่อเอง โต๊ะไม้ก็ทำจากไม้เก่า แก้วน้ำที่กินอยู่ตอนนี้ก็มือสองนะ เรียกได้ว่าห้องนี้มีแต่ของมือสอง 100% เลย”
ONCE ยืนอยู่ท่ามกลางดงของมือสอง โดยที่แทบไม่รู้สึกว่าสิ่งของตรงหน้าเป็นของมือสองเลยสักนิดเดียว เพราะอุปกรณ์ชิ้นน้อยใหญ่ตรงหน้า เหมือนหุ่นยนต์สัตว์ประหลาดที่เกิดขึ้นจากฝีมือนักทดลองแสนซุกซน แต่เมื่อเพ่งมองดูดีๆ จะเห็นว่าสัตว์ประหลาดเหล่านั้นทำจากเครื่องดูดฝุ่นบ้าง ถาดทำน้ำแข็งบ้าง ท่อแอร์บ้าง หรือกระทั่งแปรงสีฟันก็มี
เพราะสตูดิโอ TAM:DA คือสตูดิโอ “ทำดะ” ที่หยิบเอาสิ่งของที่คนไม่เห็นคุณค่ามา “ทำขึ้นใหม่” แต่จะทำอะไรขึ้นมาใหม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของเป๋ บ้างก็เอาของใช้พลาสติกมาทำเป็นมังกร เอากระปุกครีมมาทำเป็นประติมากรรมรูปคนขนาดใหญ่จนเรียกได้ว่าเป็น Installation Art ชิ้นหนึ่งเลยก็ว่าได้ และทั้งหมดนั้นเป๋ไม่ได้อยากนิยามว่าตัวเองเป็นศิลปินที่สร้างผลงานศิลปะ จะบอกว่าเป็นนักออกแบบก็ไม่เชิง แต่เรียกว่ามี “DNA คนสายครีเอทีฟ” อยู่ในสายเลือดคงจะถูกต้องที่สุด
แล้วคนสายครีเอทีฟเขาทำงานอาร์ตกันยังไงนะ ONCE จะพามาดูแปลนการคิด-การเลือก-การทำแบบทำดะกันว่า กว่าจะเป็น Installation Art จากของมือสองเจ๋งๆ หรือเฟอร์นิเจอร์จากของมือสองหน้าตาแปลกๆ ได้ เป๋ที่มี DNA ของคนครีเอทีฟมองโลกรอบตัวของเขาแบบไหนกันนะ
คิดแบบทำดะ
ก่อนหน้าที่จะมาเคาะประตูสตูดิโอทำดะ เรามักเห็นผลงานของเป๋ผ่านเฟซบุ๊กเพจ TAM:DA ที่ไม่ว่าจะเลื่อนไปดูโพสต์ไหน ก็เรียกรอยยิ้มจากเราได้เสมอ เพราะชิ้นงานแต่ละชิ้นจากความครีเอทีฟของเป๋ไม่ใช่แค่การเห็นภาพแปลกใหม่ที่คนอื่นคาดไม่ถึง แต่เป๋ใส่ความสนุกลงไปในงานทุกชิ้นจนเรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ
“จำไม่ได้แล้วว่างานประดิษฐ์ชิ้นแรกของชีวิตคืออะไร เพราะตั้งแต่ 5 ขวบก็เริ่มหยิบจับของเล่นหรือของในบ้านมาต่อกันแล้ว”
เดิมทีทำดะตั้งใจจะทำเป็นแบรนด์โปรดักต์ดีไซน์ ขายข้าวของเครื่องใช้ที่ออกแบบเก๋ๆ โพสต์แรกของเพจเฟซบุ๊ก TAM:DA จึงประเดิมด้วย ‘โคมไฟพูเดิล’ ทำจากลูกบอลสีเงินที่เหลือจากแต่งต้นคริสต์มาส
“ตอนนั้นคิดว่าโพสต์แค่ชิ้นงานที่อยากขายอย่างเดียวอาจจะทำให้เพจดูนิ่งเกินไป ผมเลยโพสต์ชิ้นงานที่ตัวเองทำบ้าๆ บอๆ ในแต่ละวัน เอาของใกล้ตัวมาทำให้มีประโยชน์ ปรากฏว่าคนไม่ได้สนใจที่เราขายพูเดิลเลยว่ะ เขาไปชอบสิ่งที่เราทำดะจริงๆ เลยกลายเป็นเอกลักษณ์ของทำดะที่มันมาด้วยธรรมชาติและความสนุกของตัวเราเอง”
การทำดะของเป๋ก็ไม่ได้ทำบ้าๆ บอๆ แบบหัวเดียวกระเทียมลีบ เพราะมีคนรู้ใจอย่าง แนน-วิจิตรากรณ์ วชิรศรีสุนทรา มาลงมือสร้างสรรค์สิ่งบ้าๆ บอๆ ไปกับเป๋ด้วย ซึ่งความตั้งใจแรกของทั้งคู่คือการทำแบรนด์ออกแบบของตกแต่งภายในเก๋ๆ แต่เมื่อธรรมชาติของทั้งคู่คือการทำดะ งานของเป๋และแนนจึงขยับขยายเป็นได้ทั้งการทำงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ และงานสไตล์ Installation Art ด้วย
แล้วหัวเรือการออกแบบงานทุกชิ้นอย่างเป๋ เริ่มร่างแปลนหรือมีสารตั้งต้นในการคิดออกแบบผลงานแต่ละชิ้น ให้ออกมามีเอกลักษณ์และสนุกขนาดนี้ได้ยังไงกันนะ
“วิธีการคิดงานของทำดะแบ่งออกเป็นเป็น 2 ประเภทคือ คิดจากคอนเซปต์ และคิดจากวัสดุ เช่น ถ้าทำดะมีลูกค้าแบรนด์สว่านมาขอให้เราทำงานให้ โดยมีโจทย์คือให้ทำดะเอาสว่านเหลือใช้กองหนึ่งของโรงงานเขาไปทำอะไรสักอย่างหน่อย ทำดะก็จะมีหน้าที่ไปดูวัสดุก่อนว่า เขามีวัสดุแบบไหน แล้วทำดะมีอะไรบ้าง จากนั้นการคิดผลงานจะตามมาทีหลัง
“ส่วนถ้าคิดจากคอนเซปต์ก่อน ขอยกตัวอย่างโจทย์ที่ลูกค้าอยากได้คือ มาลัยยักษ์ในงานสงกรานต์ เรารู้แล้วว่าต้องทำออกมาเป็นรูปร่างมาลัย แต่เราก็ต้องไปคุ้ยว่า ถ้าไม่เป็นการนำพวงมาลัยของจริงมาทำแล้ว วัสดุที่ใช้จะเป็นอะไรได้บ้าง ฉะนั้น เราก็ต้องไปคุ้ยขยะกันครับ”
เลือกแบบทำดะ
“ชอบทั้งคู่นะ เราชอบทำอะไรที่มันมีโจทย์ ตามสไตล์ DNA ครีเอทีฟ มันท้าทาย”
เป๋ตอบหลังจากที่เราสงสัยว่า เป๋และแนนชอบทำงานสไตล์ไหนมากกว่ากัน ระหว่างงานออกแบบของตกแต่ง/เฟอร์นิเจอร์ (ที่เป็นความตั้งใจแรกของทำดะ) กับงานสไตล์ Installation Art ดังนั้น งานของทำดะจึงมีแกนหลักสำคัญอยู่ 2 อย่างคือ ‘วัสดุ’ และ ‘คอนเซปต์’
วัสดุแต่ละชิ้นที่เป๋และแนนใช้ในการทำงาน ส่วนใหญ่ได้มาจากของมือสองที่วัดสวนแก้ว (วัดใกล้บ้าน) เพราะที่นี่รับบริจาคของมือสอง ไม่ว่าจะน้อยใหญ่ก็รับหมด รับแม้กระทั่งวัสดุ Dead Stock ที่มีอยู่หลายพันชิ้นก็ด้วย
แต่ไม่ว่าสารตั้งต้นของงานจะเป็นวัสดุหรือคอนเซปต์ แต่เรามองว่าความยากคือการหยิบวัสดุเหล่านั้นมาทำให้เป็นรูปร่างที่ ‘ใครดูก็ร้องอ๋อ’ ว่าสิ่งของเหล่านั้นถูกประกอบเป็นตัวอะไร ซึ่งเรามองเห็นอีกความยากยิ่งขึ้นไปอีกคือการที่เป๋และแนนไม่สามารถเลือกสีที่จะใช้ทำเป็นรูปร่างหนึ่งๆ ได้ตามใจชอบ เพราะวัสดุมือสองแต่ละชิ้นก็มีสีที่ผิดเพี้ยนแตกต่างกันไป
แต่ความยากที่ว่านั้นคงเป็นปัญหาแค่กับคนที่ไม่มี DNA ครีเอทีฟแบบเราน่ะสิ
“เรื่องสีไม่จำเป็นต้องเหมือนกันนะ อย่างสีตาของมังกร ถ้าดูดีๆ คือสีไม่เหมือนกันเลย เพราะถ้าให้กำหนดสีที่จะต้องระบายในเฟรมสักเฟรม มันยากสำหรับผมมากกว่านะ วัสดุที่สีกำหนดมาแล้ว มันคือความสนุกที่ผมมองว่า วัสดุชิ้นนั้นจะใช้สีซ้ำก็ได้ หรือไม่ซ้ำก็สนุกดีเหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญอยู่ที่ตำแหน่งการจัดวางวัสดุพวกนั้นต่างหาก แกนหลักของงานเราจึงไม่ใช่เรื่องสี แต่เป็นการที่คนดูออกว่า ผลงานที่ภาพรวมหน้าตาแบบนี้เนี่ย วัสดุแต่ละชิ้นที่นำมาประกอบ มันทำมาจากวัสดุอะไร”
สิ่งที่เป๋และแนนพยายามไม่ปรับเปลี่ยนมากที่สุดคือ การเปลี่ยนความดั้งเดิมของวัสดุ งานของทำดะไม่ใช่การนำขยะหรือของมือสองมาขยุมหรือปั้นก่อรวมกันให้เกิดเป็นชิ้นงาน แต่เป็นการนำวัสดุที่มีรูปร่างเหมาะสมในตัวของมันเอง มาสร้างเป็นชิ้นงานที่มีหน้าตาแปลกใหม่ โดยไม่พ่นสี ทุบ ดัด หรือใช้ความร้อนใดๆ กับวัสดุมือสองเหล่านั้นเลย
“ความตั้งใจคืออยากให้คนที่ได้เห็นผลงานรู้สึกว่า เอ๊ะ วัสดุที่อยู่ในผลงานคือสิ่งที่เขาเคยเห็นหรือเคยใช้ในบ้าน อย่างฟันมังกรที่ทำจากถาดรองน้ำแข็ง ลิ้นมังกรที่ทำจากของเล่นสมัยเด็กๆ ความยากคือการทำให้คนยังดูออกว่าภาพรวมของงานคืออะไร และเป็นงานที่ทำจากวัสดุที่ทุกคนคุ้นชิน สีจึงไม่ใช่ความยากของทำดะเลย”
แต่การได้มาซึ่งวัสดุที่ถูกใจและได้ตำแหน่งการจัดวางที่ถูกต้อง ย่อมเป็นกระบวนการที่ยากโดยไม่ต้องสงสัยเลย เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นของมือสอง นั่นแปลว่าทุกครั้งของการลงพื้นที่ไปหาวัสดุ ทั้งเป๋และแนนต้องวัดใจกับของที่มีอยู่หน้างานเท่านั้น
“ของแต่ละชิ้นที่อยู่ในห้องนี้ ไม่ได้บดเลย ทำดะใช้ทั้งชิ้น เพราะฉะนั้น การจะเอาของทั้งชิ้นมาทำให้ได้เป็นรูปร่างหรือรูปทรงที่ต้องการ ต้องใช้เวลาในการเสาะหา บางอันเป็นของที่ตามหาก็จริง แต่พอมาอยู่รวมกันแล้วมันไม่ใช่รูปร่างใหม่ที่เราต้องการ ฉะนั้น การหาวัสดุของเราคือการที่ต้องจับต้องเล่น”
ท่ามกลางความยากก็ยังซ่อนความสนุกสำหรับเป๋และแนนเอาไว้อยู่ เพราะของมือสองที่วัดสวนแก้ว ไม่ได้มีเพียงแค่ข้าวของที่ถูกบริจาคในยุคนี้เท่านั้น บางบ้านก็เก็บของเก่าไว้นานเป็น 10-20 ปี เมื่อถึงวันล้างบ้านครั้งใหญ่จึงค่อยได้ฤกษ์เอามาบริจาคที่วัดสวนแก้ว วัดใกล้บ้านของเป๋และแนนจึงเป็นแหล่งมือสองของหลากยุคชั้นดี ที่แม้ว่าจะต้องคุ้ยเขี่ยกันหนักเสียหน่อย แต่ก็คุ้มค่าที่จะลุยไปกับมัน
“ของบางอย่างในวัดสวนแก้ว หาตามร้านรวงปัจจุบันไม่ได้แล้วนะ จะไปหาที่ร้านขายของ 20 บาทก็ยังไม่มีเลย ซึ่งตอนที่เราไปคุ้ยกันก็จะมีหลายแบบให้เลือกหา ของบางอย่างจะถูกขายเป็นกองใหญ่ แล้วให้พ่อค้าแม่ค้ามาประมูลต่อ แต่ทำดะไม่ได้ไปประมูลเอาทั้งกองนะ เราไปขอซื้อต่อแบบรายชิ้น จากพ่อค้าแม่ค้าที่เขาประมูลมาได้ เพราะงานของเราไม่ได้จะใช้วัสดุมือสองอะไรก็ได้ มันต้องเล่นและเลือก”
ทำแบบทำดะ
ระหว่างที่นั่งคุยเพลินๆ มาเกินครึ่งทาง เราสังเกตว่าเหมือนในสตูดิโอนี้ไม่ได้มีแค่ เป๋ แนน และทีม ONCE แต่ยังมี…
ไม่ใช่กุ๊กกู๋หรอกนะ
แต่เราแค่รู้สึกเหมือนมีน้องๆ ของเล่นหน้าตาน่ารัก (บางตัวก็ดูประหลาดดี) ตั้งรายล้อมทุกซอกทุกมุมของสตูดิโอทำดะ ONCE เลยเดาว่าเป๋น่าจะอินกับตัวการ์ตูน หรืองานที่คล้ายๆ การ์ตูนเรื่อง Toy Story
“พวกที่มีหน้าเพิ่งมายุคหลังๆ นี้เอง ทำดะมียุคของมันนะ ช่วงแรกๆ ยังไม่ได้ทำออกมาเป็นหน้าตาแบบนี้เลย เพราะช่วงแรกผมก็ทำงานที่เน้นเกิดประโยชน์ อย่างโคมไฟ เก้าอี้ เชิงเทียน หลังๆ คือทำดะมันสนุกเกินจนไม่ทำของที่มีประโยชน์ละ ทำสัตว์ประหลาด สนุกดี”
เป๋หัวเราะร่าก่อนจะหยิบสิ่งของที่มีรูปร่างเหมือนไฟท้ายมาให้ ONCE ได้ลองจับดู พลิกไปมาจึงได้ถึงบางอ้อว่า นี่คือกระเป๋าที่ทำจากไฟท้ายรถยนต์ (เจ๋งเป็นบ้า!)
“อันนี้คือหนึ่งในงานยุคแรกๆ ของทำดะเลย เป็นงานที่ทำดะได้คอลแล็บกับ PDM คือการเอาไฟท้ายมาทำเป็นกระเป๋า ใช้งานได้จริงนะชิ้นนี้”
ความหลากหลายของทำดะคือความสนุกที่ไม่มีจำกัดของเป๋ มองไปรอบๆ อีกกี่ทีก็ไม่แปลกใจว่า ทำไมทำดะถึงสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ได้ทุกผลงานขนาดนี้ เพราะข้างตู้เหล็กใกล้กันกับพวกเรา มีแปลนรูปสเกตช์โมเดลต่างๆ เอาไว้มากมาย เดาว่าเป็นภาพครีเอทีฟในหัวของเป๋ แม้ว่าจะไม่ได้นำมาประดิษฐ์เป็นชิ้นงาน แต่การร่างและจดไอเดียที่ลอยฟุ้งในห้วงความคิดลงบนกระดาษไว้ ย่อมนำไปต่อยอดในงานอื่นๆ ได้อีกมาก
และไม่ใช่แค่ความคิดสร้างสรรค์ในหัวเป๋ที่สร้างความเป็นไปได้หลายอย่าง แต่ทำดะเองก็แปลงร่างไปทำงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่สตูดิโอโปรดักต์ดีไซน์เช่นกัน
“เรามีเวิร์กช้อปบ่อยนะ งานล่าสุดน่าจะที่ขอนแก่น เป็นงานที่เรามีวัสดุให้ มีหุ่นตั้งโชว์ไว้ในงานว่า วัสดุเหล่านี้ ทำดะเอามาทำเป็นหุ่นตัวนี้ได้นะ แต่เวิร์กช้อปนั้นจะไม่ให้เด็กมาทำตามที่เราบอก”
เวิร์กช้อปสไตล์ทำดะคือเตรียมวัสดุและอุปกรณ์เอาไว้ให้เด็กๆ ไปเลือกหยิบจับและลองเล่นด้วยตัวเอง ไม่ใช่การเซ็ตอุปกรณ์ไว้เหมือนกันทุกโต๊ะ แล้วสอนให้ประดิษฐ์ตามขั้นตอนพร้อมๆ กัน ซึ่งสิ่งที่ทำดะทำคือคอยดูแลเด็กๆ ในเวิร์กช้อปมีแต่การช่วยเหลือเชิงเทคนิค เช่น การขันนอต ใส่สกรู การติดกาวบางอย่างที่ต้องใช้ความชำนาญ เรียกได้ว่าเป็นเวิร์กช้อปที่ให้พื้นที่เด็กๆ ได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์กันอย่างเต็มแมกซ์ (คุณพ่อคุณแม่ต้องหากิจกรรมช่วงรอเด็กๆ หน่อยนะคะ เพราะงานของทำดะเปิดให้เด็กๆ ใส่เต็มความสนุกกันได้ทั้งวันเลย)
“มันคือการที่เอาจินตนาการของเด็กกับความเป็นช่างเทคนิคของทีมทำดะมารวมกัน จนได้ของที่โอเค เป็นเวิร์กช้อปที่ถ้าเด็กๆ เข้ามา 100 คน ก็จะออกจากงานไปพร้อมกับของที่แตกต่างกัน 100 ชิ้น”
ไม่เพียงแค่เวิร์กช้อปที่ทำดะอยากจะขยับขยายความสนุกออกไปให้มากกว่าการทำสตูดิโอ แต่เป๋และแนนยังมีภาพในฝันของทำดะที่น่าสนุกยิ่งกว่านั้น และเชื่อว่าเหล่าคุณพ่อคุณแม่ต้องถูกใจแน่ๆ
“พวกเราคิดไว้ว่าอยากทำเป็นสถานที่ คาเฟ่เล็กๆ หรือโรงงานอะไรสักอย่างที่เป็นโรงงานทำดะ ให้ทุกคนได้เข้ามาเลือกวัสดุมือสอง หรือวัสดุที่คนไม่เห็นค่า แยกของเป็นลิ้นชักเลย แล้วก็เปิดให้คนมาเลือกวัสดุไปทำและเอากลับบ้านไป เป็นพื้นที่ของเด็กๆ และพ่อแม่ด้วย แล้วก็เอาไว้เป็นพื้นที่โชว์ผลงานของทำดะด้วย”
ได้ยินแบบนั้นทีม ONCE ก็ตื่นเต้นไม่น้อย เพราะคนเขียนเองที่มีหลานก็อยากให้เด็กๆ ได้มีสนามเด็กเล่นที่แปลกใหม่ ได้ทดลองทำในสิ่งที่ไม่ต้องถูกตีกรอบทางศิลปะ ซึ่งทำดะไม่ได้ตอบโจทย์แค่สำหรับเป๋และแนนอีกต่อไป แต่ทำดะจะเป็นพื้นที่ที่ตอบโจทย์การเป็นพื้นที่อิสระทางความคิดได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
ก่อนจะบอกลาเป๋และแนน ทีม ONCE ขอซนกันก่อนกลับ เพราะดันหันไปเห็นโคมไฟหน้าตาประหลาด เป๋เลยหยิบโคมไฟหนอนมาประกอบร่างให้เราดู เป็นโคมไฟที่ทำจากท่อแอร์ที่ถูกทิ้ง
แต่ชิ้นนี้ไม่ได้ขายหรอกนะ (แม้จะออกแบบแพ็กเกจโคมไฟชิ้นนี้เสร็จแล้วก็ตามที) เพราะความสนุกของทำดะ ไม่ได้หยุดอยู่ที่การทำแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านอย่าง ‘โคมไฟพูเดิล’ อีกต่อไปแล้ว