

Bluegrass Bangkok
Bluegrass Underground Bangkok สังคมที่ก่อตัวจากความรักจนนักดนตรีบลูแกรสทั่วโลกต้องแวะหา
- รู้จัก Bluegrass Underground Bangkok กลุ่มดนตรีบลูแกรสที่แสดงดนตรีกันสนุกๆ ในตลาดรถไฟฯ จนกลายเป็นคอมมูนิตีแข็งแกร่ง มีนักดนตรีระดับโลกมาร่วมแจม ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันระดับโลก และทำให้คนไทยรู้จักแนวเพลงที่ไม่คุ้นเคย
ในฐานะคนชอบท่องเที่ยวต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจทุกครั้งที่ได้พบเจอยามเดินย่ำเท้าเที่ยวในต่างแดน คือกลุ่มนักดนตรีในพื้นที่สาธารณะ แม้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ซึ่งคงไม่แปลกที่ได้พบเจอ ผู้เขียนก็ไม่เคยสนใจความจริงข้อนี้ เพราะทุกครั้งที่ได้นั่งลงบนฟุตพาท หรือพื้นที่ข้างถนน เพื่อชมการบรรเลงดนตรีก็ได้รับความสุขเป็นอย่างดี
ผู้เขียนไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้ในไทยมากนัก แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะมานานแล้ว แต่ความคิดนี้ก็หมดไป เมื่อผู้เขียนเดินทางมาที่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ และพบกลุ่มคนล้อมวงกันเล่นกีตาร์โปร่ง ร่วมกันบรรเลงบทเพลงออกมาในทำนองคันทรี
ตอนแรกผู้เขียนคิดว่าเป็นเพียงกลุ่มคนที่รวมตัวกันเล่นเพลงแนวคันทรีธรรมดาๆ แต่เมื่อได้กลับไปที่นั่นอีกหลายครั้ง ก็เริ่มสังเกตเห็นรายละเอียดใหม่ๆ—เครื่องดนตรีอย่างแบนโจ แมนโดลิน และการเลือกบทเพลงที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่แนวคันทรี หากแต่คือ บลูแกรส (Bluegrass) ดนตรีโฟล์กอเมริกันที่มีรากจากเสียงพื้นบ้านและวัฒนธรรมชาวเขาแอปพาเลเชียน
ไม่นานนักก็ได้รู้ว่า วงดนตรีนี้ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มคนเล่นเพลงข้างทางอย่างที่คิด แต่คือกลุ่มที่รวมตัวกันจริงจัง ในนามของ Bluegrass Underground Bangkok หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า บลูแกรสบางกอก
จากวงเล็กๆ ที่รวมตัวกันในมุมหนึ่งของตลาดนัด วันนี้ Bluegrass Underground Bangkok ขยับขยายทั้งจำนวนสมาชิกและกลุ่มผู้ชม กลายเป็นชุมชนขนาดย่อมที่เชื่อมโยงกันด้วยเสียงดนตรี มีทั้งคนเล่นจริงจังและผู้ที่มาเรียนรู้ เริ่มต้นจากความรักในเสียงแบนโจและจังหวะดีดเร็วๆ ของดนตรีบลูแกรส แล้วค่อยๆ เติบโตเป็นวงที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง
สองสมาชิกสำคัญของกลุ่ม อย่าง ประวิทย์ ชำนาญเดชากุล และ ซันนี สัจจะเทพ จะพาเราเดินทางไปพบกับบทบรรเลงของดนตรีบลูแกรส กับเป้าหมายปลายทางที่ยิ่งใหญ่กว่าเสียงดนตรี
เพลงจากผู้คน
ทุกครั้งที่พวกเขามารวมตัวกันจะปักหมุดที่หน้าร้านขายของเก่าชื่อว่าจี่เชียง ไม่เคยเปลี่ยนที่ไปยังจุดอื่นในตลาดรถไฟศรีนครินทร์ “ผมเป็นเจ้าของร้านแห่งนี้แหละ” ประวิทย์เล่า “ผมเริ่มเล่นดนตรีก็เพราะว่าเป็นเจ้าของร้านขายของเก่านี่แหละ”
ประวิทย์หลงใหลในดนตรีคันทรี และอาชีพค้าขายของเก่าก็พาเขาไปเจอเครื่องดนตรีเก่าๆ จำนวนไม่น้อย เมื่อได้ครอบครองหลายชิ้นก็ชักคันมืออยากจะเล่น จึงเริ่มต้นด้วยการเป็นนักดนตรีสไตล์คันทรี แต่สิ่งที่พีคสุดคือเจ้าของร้านขายของเก่าคนนี้ชอบแนวดนตรีบลูแกรสมานานแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านั้นเขาเข้าใจผิดว่ามันคือคันทรี
“ผมชอบดนตรีในหนังคาวบอย เสียงแบนโจ เสียงแมนโดลิน มารู้ทีหลังว่าเป็นบลูแกรส” ประวิทย์เล่าเรื่องราวแบบตรงไปตรงมา “แต่มันก็ไม่แปลกนะ เพลงทั้งสองแนวมีส่วนทับกันอยู่พอสมควร ทุกวันนี้ผมก็ยังเล่นดนตรีคันทรีอยู่เหมือนกัน”
ประวิทย์แยกแยะดนตรีสองแนวนี้ไม่ออกให้เข้าใจง่ายๆ คันทรีคือดนตรีที่เน้นใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า และใช้กลองในการบรรเลงเพลง ขณะที่บลูแกรสเหมือนดนตรีอะคูสติก ไม่ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า รวมไปถึงไม่มีเครื่องดนตรีคุมจังหวะประเภทกลองด้วยเช่นกัน แต่ใช้เครื่องดนตรีสายเป็นตัวคุมจังหวะแทน เพราะบลูแกรสจะเล่นด้วยเครื่องดนตรีสายเท่านั้น
“จุดเริ่มต้นของดนตรีบลูแกรสเกิดขึ้นในอเมริกา เหมือนกับว่าพวกแรงงานผู้ชาย คนทำงานเหมือง คนสร้างทางรถไฟ ทำงานเสร็จก็มารวมตัวกันหลังเลิกงาน ระหว่างที่รอผู้หญิงทำกับข้าว พวกผู้ชายก็หยิบเครื่องดนตรีมารวมวงกันเล่นดนตรีระหว่างที่รอเมียทำกับข้าว
“จริงๆ เพลงบลูแกรสก็จะคล้ายกับแนวเพลงไอริชด้วย เพราะว่ากลุ่มแรงงานที่เล่นดนตรีกันอพยพมาจากไอร์แลนด์ ก็เลยมีเครื่องดนตรีที่ชอบอย่าง แมนโดลินหอบตามมาด้วย แล้วมาผสมกับเครื่องดนตรีอเมริกา แต่ที่ต่างกันคือเพลงไอริชจะเล่นพร้อมกันทุกคน แต่บลูแกรสจะหมุนตัวเอกโชว์ไปเรื่อยๆ แต่จริงๆ ก็ถือว่ามีรากเหง้าเดียวกัน” เขาขยายความโดดเด่นของดนตรีบลูแกรส
“บลูแกรสก็คือหนึ่งในเพลงของประชาชนครับ เป็นบทเพลงสำหรับทุกคน จริงๆ บลูแกรสก็ถือว่าเป็นแนวเพลงในจำพวกของโฟล์ก (Folk) ซึ่งถือเป็นเพลงของประชาชนอยู่แล้ว” ซันนี กล่าวเสริม
ไม่เสียชื่อเพลงของประชาชน เพราะหากไม่มีผู้คนกลุ่ม Bluegrass Underground Bangkok คงไม่เกิดขึ้น…ประวิทย์เล่าว่า จุดแรกเริ่มสุดเขาประกาศหาคนมาร่วมบรรเลงดนตรีหน้าร้านจี่เชียงของเขา เพราะอยากฟอร์มวงเพื่อวัดความสามารถของตัวเอง บวกกับอยากจะไปเล่นในร้านเบียร์แบบคนอื่นบ้าง และหนึ่งในคนที่ได้รับรู้เรื่องราวและตัดสินใจเดินทางมาที่ร้านแห่งนี้ ก็คือตัวของซันนีนี่แหละ
“ช่วงโควิดผมไปนั่งเล่นบ้านเพื่อนประมาณตี 2 ผมฟังเพลงที่มีแบนโจ ก็รู้สึกสนใจอยากเล่น ก็ไปซื้อมาฝึกเองกับ Youtube ฝึกไปเรื่อยๆ จนเล่นได้หลายเพลง ผมก็เริ่มหาว่ามีใครเล่นแบนโจในไทยบ้าง ก็มีคนบอกผมว่าให้มาที่นี่
“เสน่ห์ของดนตรีบลูแกรสคือการแจม เหมือนกับเป็นดนตรีที่ต้องการสังคม เปิดโอกาสให้คนมาแฮงก์เอาต์กัน คือเป็นเรื่องปกติที่นักดนตรีไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือมือโปร ทุกคนสามารถมาร่วมเล่นดนตรีด้วยกันได้
“ตอนนั้นผมก็เป็นมือใหม่นะ ซึ่งผมมาที่นี่ ทุกคนเป็นมิตรกับผมมาก ทุกคนให้ผมมานั่งดูฝึกไปด้วย เล่นไปด้วยครับ” ซันนีกล่าว
ดนตรีของสังคม
เราเริ่มพูดคุยก่อนถึงเวลาที่กลุ่ม Bluegrass Underground Bangkok จะนัดเล่นดนตรีกันในเวลานี้ ซึ่งเมื่อเวลาล่วงเลยก็มีคนเดินถือเครื่องดนตรีมารวมตัวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกคนนั่งพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน บางคนเริ่มซ้อมเล่นตรีกันแล้ว คำบอกเล่าที่ผู้เขียนได้ยินกลายเป็นภาพความจริงที่ปรากฏตรงหน้าอย่างรวดเร็ว
การสนทนายังคงดำเนินต่อไป แต่แม้อีกไม่กี่อึดใจก็ถึงเวลานัดหมายเริ่มเล่นตามกำหนดการแต่ดูเหมือนนักดนตรีหลายคนจะอดใจไม่ไหว พวกเขาเริ่มบรรเลงบทเพลงในทันที กลายเป็นบรรยากาศที่ผู้เขียนชื่นชอบอย่างมาก เพราะสามารถทำงานไปด้วย พร้อมกับฟังดนตรีไพเราะที่ถูกใจไปพร้อมกันได้
“ผมชอบความรู้สึกการมาเล่นดนตรีด้วยกันที่นี่ เหมือนกับว่าไม่ต้องคุยอะไรมาก เราสื่อสารกันด้วยดนตรี พอเล่นก็รู้สึกผ่อนคลายครับ ยิ่งมีคนมาแจมยิ่งสนุก เรียนกับครูที่มาจากต่างประเทศ ทุกคนก็เฟรนด์ลี่มาก ผมคิดว่ายบลูแกรสคือดนตรีที่เป็นมิตรจริงๆ ครับ” ซันนีสะท้อนภาพที่สอดคล้องกับความจริงที่ผู้เขียนกำลังรับรู้
แม้ว่าในตอนแรกกลุ่มนักดนตรีที่บรรเลงเพลงบลูแกรส จะมีแต่มืออาชีพ เล่นประสานกันแบบมองตาก็รู้ใจ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีเข้ามาแจม ไม่ว่าจะเป็นหญิงสูงวัยชาวญี่ปุ่นที่พาแมนโดลินส่วนตัวมาด้วย เธอทำอะไรไม่ได้มากกว่าการตีคอร์ดธรรมดา ซึ่งเป็นพื้นฐานแรกเริ่มของดนตรีบลูแกรส แตกต่างจากมือโปรที่บรรเลงเพลงได้อย่างอัศจรรย์
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกเป็นส่วนเกินแต่อย่างใด ในแววตากลับเต็มไปด้วยความตั้งใจที่จะเล่นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ทำนอง และเมื่อแต่ละเพลงจบลง เธอก็สื่อสารถามทุกคนถึงการเล่นเพื่อหวังพัฒนาตัวเองต่อไป
“จริงๆ การเล่นบลูแกรสเริ่มต้นได้ง่ายๆ ครับ ขอแค่คุณรู้คอร์ต G, C, D, A แค่นี้ก็เริ่มได้แล้ว เราไม่ได้ให้คุณมาเล่นโซโลเหมือนคนเก่งๆ แต่เหมือนคุณก็ตีคอร์ดไป เรียนรู้จังหวะของมัน คอยเรียนรู้ว่าเพลงนี้มีคอร์ดอะไรบ้างแล้วก็ลองเล่นดู เล่นตามนั้นไปก่อน พอได้ทีละเพลง มันก็ไปต่อเพลงต่อไปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเป็นเสน่ห์อีกแบบ ไม่ต้องมีความรู้มากแต่เล่นได้เลย หลังจากนั้นค่อยพัฒนาเรียนรู้ไปกับมัน” ซันนีกล่าว
ยิ่งเวลาผ่านไป ผู้เขียนยิ่งเห็นเสน่ห์ของดนตรีบลูแกรสมากขึ้น จากเริ่มต้นประมาณ 5-6 คน จำนวนเพิ่มกลายเป็น 10 คน แต่ละคนถือเครื่องดนตรีของตัวเองมา ไม่ว่าจะเป็น แมนโดลิน แบนโจ หรือกีตาร์โปร่ง วงกลมที่นักดนตรีนั่งล้อมรอบกันเริ่มใหญ่ขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปอีกไม่นาน ผู้เขียนพบว่ามีคนรวมตัวเล่นกันเกือบ 20 คน เพราะมีทั้งน้องๆ เด็กรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเล่นมาก่อน อยากมาเรียนรู้กับดนตรีสไตล์ใหม่ (เจ้าตัวบอกว่าปกติเล่นไวโอลิน แต่อยากลองมาเล่นเชลโล หนึ่งในเครื่องดนตรีของแนวเพลงบลูแกรสดูบ้าง) ไปจนถึงหนุ่มต่างชาติที่แค่มาเดินเที่ยว แต่ทันทีที่เขาบอกว่าเป็นนักดนตรีกีตาร์คลาสสิก ทางกลุ่มก็ชวนให้เขานั่งลงบนเก้าอี้ จัดหากีตาร์มาให้ และพาทุกคนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเลงบทเพลงบลูแกรส
“บลูแกรสไม่ใช่แค่ดนตรีครับ แต่เป็นสังคมดนตรี” ประวิทย์กล่าว “เพราะใครอยากจะมาร่วมเล่น เราเปิดรับทุกคน ใครมีความรู้อะไรใหม่ๆ ก็มาแบ่งปันกัน ใครไม่มีอุปกรณ์ เราเอาอุปกรณ์มาแบ่งให้กัน ที่ร้านของผมก็มีอุปกรณ์ครับ ใครอยากมาเล่นม าตัวเปล่าได้เลย มาแค่ตัวกับหัวใจก็พอ”
ทั้งประวิทย์และซันนีต่างเล่าว่า การแจมคือวัฒนธรรมฝังลึกของบลูแกรส สำหรับนักดนตรีบลูแกรส ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน ก็ต้องหาชุมชนคนรักดนตรีแนวนี้ และตามไปร่วมแจมบรรเลงบทเพลงร่วมกัน นี่คือเรื่องปกติของสังคมบลูแกรส และไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ทุกคนต่างยินดีและมีความสุขที่ได้เห็นว่ามีคนรักบลูแกรสหน้าใหม่ หรือจากต่างแดนชื่นชอบในดนตรีแบบเดียวกับพวกเรา
“ปกติเวลาผมไปทำงานต่างประเทศ ก็ไปร่วมแจมนะครับ ยิ่งไปเล่นก็เหมือนได้เพื่อนได้คอนเน็กชัน คือบลูแกรสเหมือนเป็นอะไรที่เชื่อมคนเข้าหากัน จริงๆ นักดนตรีบลูแกรสบางคน รู้ว่ามีการจัดการเทศกาลที่ไหน เขาบินไปแจมเองเลยนะครับ ไม่ต้องเชิญด้วยซ้ำ มันมาจากแพสชันของเรา” ซันนีเล่าเรื่องราว
“มันเหมือนวิถีชีวิต ดนตรีบลูแกรสไม่จำเป็นต้องเก่งถึงจะเข้าร่วมได้ ต่อให้เป็นมือใหม่ที่สุด คุณก็เข้าร่วมได้เลย ทำให้คนใหม่ๆ รู้สึกสนุกตั้งแต่ครั้งแรกๆ ที่มาเล่น คนเก่าๆ ก็ได้มิตรภาพจากนักดนตรีรุ่นใหม่ เป็นอะไรที่อบอุ่นมาก”
เสน่ห์แบบนี้เกิดขึ้นกับ Bluegrass Underground Bangkok เห็นได้ชัดว่ามีนักดนตรีต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาร่วมแจมกับกลุ่มตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บางคนเป็นแค่นักท่องเที่ยวที่แวะมาในกรุงเทพฯ และอาศัยโอกาสนี้มาเล่นดนตรี ไปจนถึงคนที่ตั้งใจเดินทางมาร่วมเล่นดนตรีที่นี่โดยเฉพาะก็มีเหมือนกัน
ทั้งประวิทย์และซันนีเล่าให้ฟังว่า ในวันที่ผู้เขียนเดินทางไปสัมภาษณ์ก็มีศิลปินบลูแกรสยอดฝีมือระดับอาจารย์ร่วมเล่นอยู่ด้วย จากวันที่ทั้งสองคนเคยฝึกเล่นเพลงบลูแกรสจากศิลปินเหล่านี้ในอินเทอร์เน็ต วันนี้พวกเขาได้เล่นดนตรีร่วมกันในตลาดรถไฟศรีนครินทร์

นอกจากนี้ ทางเพจได้ปักบริเวณหน้าร้านจี่เชียงลงบน Google เพียงแค่เสิร์ชคำว่า Bluegrass Bangkok ก็จะปรากฏสถานที่แห่งนี้ในชื่อ Bluegrass Jam Spot ยิ่งทำให้คนต่างชาติที่ตามหาพื้นที่เล่นดนตรีบลูแกรสเจอที่นี่ได้ง่ายขึ้น และทำให้คอมมูนิตีแห่งนี้เติบโตเป็นอย่างดี
ฝันของบลูแกรสไทย
ปัจจุบันกลุ่ม Bluegrass Underground Bangkok ไม่ได้แค่เล่นเป็นประจำอยู่ที่หน้าร้านจี่เชียงเพียงอย่างเดียว แต่ออกเดินทางไปแสดงในสถานที่ต่างๆ ตามงานจ้างที่มีเข้ามา โดยเฉพาะในส่วนของร้านอาหารเครื่องดื่ม จนถือว่ากลุ่มได้เติบโตมีที่ยืนในการแสดงแบบจริงจัง ช่วยต่อยอดให้ภาพของดนตรีบลูแกรสชัดเจนในประเทศไทยมากกว่าเดิม
ล่าสุดพวกเขายังการได้รับการสนับสนุนจาก International Bluegrass Music Association หรือ IBMA องค์กรระดับโลกของดนตรีบลูแกรส เป็นเหมือนการตอกย้ำว่า การเดินทางของกลุ่ม Bluegrass Underground Bangkok มาได้ไกลมาก จนทำให้พวกเขากล้าฝันที่จะไปต่อกับการขับเคลื่อนดนตรีแนวนี้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
“ผมคิดว่าตอนนี้กลุ่มเราค่อนข้างแข็งแรงนะ พอมีพื้นที่ ก็มีคนเข้ามาเพิ่ม อนาคตผมก็อยากให้เราเป็นศูนย์กลางของดนตรีบลูแกรสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยากให้เราเป็นจุดหมายของนักดนตรีบลูแกรส
“แต่ในอีกเป้าหมายหนึ่ง ก็อยากให้คนไทยได้ฟังบลูแกรสมากขึ้นครับ มันคือเป้าหมายตั้งแต่แรกส่วนตัวของผม คืออยากให้คนไทยรู้จักบลูแกรส ก็อยากไปทัวร์หลายที่ในไทยครับ บรรยากาศมันต่างกันออกไปเลย” ซันนีกล่าว
“สำหรับผม อยากให้บลูแกรสไปไกลขึ้น เพราะเรายิ่งไปไกลขึ้น คนมาเล่นตรงนี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นครับ” ประวิทย์เล่ามุมมองของเขา “จริงๆ บลูแกรสเล่นล้อมวงกันได้เป็นร้อยคนเลยนะครับ ผมคิดว่ายิ่งคนเล่นเยอะ คนทั่วไปก็ยิ่งสนใจครับ
“ความดีใจส่วนตัวของผมคือมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาเล่น เพราะเราอยากให้คนเล่นเยอะอยู่แล้ว มีคนสนใจมีคนใหม่เข้ามา ผมก็มีความสุข เราค่อยๆ ขยายตัวออกไป อย่างคนไทยด้วยกัน บางคนก็แค่สนใจว่า ‘ดนตรีแบบนี้คืออะไร?’ เข้ามาแวะเล่นเสร็จแล้วก็ไปต่อแบบนั้นครับ
“นอกจากอยากให้คนไทยรู้จัก ผมก็อยากให้เราได้รับเชิญไปเล่นต่างประเทศบ้าง อยากให้เราต่อยอดทำกิจกรรมที่ใหญ่ขึ้น อยากได้รับเชิญให้เป็นเล่นที่อเมริกาเหมือนกันนะ” ประวิทย์เล่าถึงความฝันที่อยากไปเล่นบลูแกรสบนแผ่นดินกำเนิดของดนตรีแนวนี้สักครั้ง
ผู้เขียนร่ำลากับทีม Bluegrass Underground Bangkok ในช่วงเวลาเกือบ 20 นาฬิกา หลังจากชมพวกเขาบรรเลงเพลงหลายชั่วโมง แต่ก็ยังคงเดินเล่นในตลาดนัดศรีนครินทร์ต่อไป จนกระทั่งผ่านไปถึงช่วง 4 ทุ่ม ผู้เขียนก็ยังเห็นนักดนตรีกลุ่มนี้บรรเลงเพลงกันสนุกสนานอย่างมีความสุข แม้ว่าบางคนที่เล่นตั้งแต่ช่วงเย็นจะเริ่มพักผ่อนไปบ้าง แต่บางคนก็ยังคงเล่นกีตาร์ เล่นแมนโดลิน เล่นแบนโจ สร้างเสียงอันไพเราะต่อไป และมีหน้าใหม่เข้ามาเล่น ไม่ใช่คนเดิมในตอนที่ผู้เขียนยังคงตั้งใจนั่งดูอยู่
แต่ไม่ว่าจะเล่นน้อยเล่นมาก เล่นช่วงเย็นหรือช่วงดึก สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือเสียงเพราะอันมีเสน่ห์ของดนตรีบลูแกรส ความงดงามของดนตรีแนวนี้ยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าคนเล่นจะเปลี่ยนหน้าเป็นใครก็ตาม
ความสุขคืออีกสิ่งที่ไม่เคยหายไปไหน เราเห็นรอยยิ้มจากคนที่เล่นดนตรี มากไปกว่านั้นคือบางคนที่ไม่ได้เล่นก็ยังพูดคุยกันอย่างออกรส
จนถึงตรงนี้ ไม่แปลกใจที่กลุ่มดนตรีนอกกระแสแบบนี้มีอายุยืนยาวมาหลายปี และมีคนเล่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีคนหน้าใหม่อยากเข้ามาสัมผัสเสน่ห์ของดนตรีบลูแกรสอยู่ตลอด เพราะสุดท้ายเราได้เห็นทุกคนมารวมตัวกันด้วยใจที่รักในเสียงดนตรีจริงๆ และการทำอะไรที่เรารัก มันตามมาด้วยความสุขเสมอ จริงไหม? 🙂
Bluegrass Underground Bangkok
Map: https://maps.app.goo.gl/RNZwXCY2nVpVXUWa8
Facebook: https://www.facebook.com/bluegrassbkk
Youtube: https://www.youtube.com/@bluegras
Website: https://www.bluegrassbangkok.com/