About
CRAFTYARD

Engineering Paper

รู้จักตัวตน Kias Matt ผู้อยู่เบื้องหลังการทำหนังสือป๊อบอัพแรร์ไอเท็มท่ามกลางโลกยุคดิจิทัล

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับแป๋ม Kias Matt ศิลปินและนักออกแบบหนังสือป๊อปอัพในประเทศไทยที่เชื่อมั่นว่ากลไกกระดาษ (Pop-up) ส่งต่อสารบางอย่างให้สังคมได้ และยังคงรักในศาสตร์นี้ท่ามกลางโลกยุคดิจิทัลที่สิ่งพิมพ์กลายเป็นของหายาก จนได้ออกหนังสือป๊อปอัพเล่มทดลองเล่มแรกชื่อว่า ‘แช่วับ’ ที่ทำจากเศษขยะรอบตัวของเรา

การทำหนังสือสามมิติหรือป๊อปอัพนั้นเต็มไปด้วยกลไกซับซ้อน เป็นงานฝีมือที่ใช้ความละเอียดขั้นสูง ที่เป็นได้ทั้งกึ่งหนังสือและกึ่งงานศิลปะที่ดึงดูดความสนใจโดยเฉพาะเหล่าเด็กๆ และหนังสือเหล่านี้มี Pop-up Creator หรือนักออกแบบหนังสือป๊อปอัพอยู่เบื้องหลัง ซึ่ง ‘แป๋ม–กนกมาศ มัทนารมยกิจ’ เป็นหนึ่งในนั้น

งานของแป๋มได้รับการยอมรับว่าเป็นหนังสือป๊อบอัพที่ซับซ้อน ละเอียดเกินใคร ทุกคนรู้จักเธอดีในชื่อว่า ‘Kias Matt’ ซึ่งแปลงมาจากชื่อนามสกุลจริงอย่าง Kanokmas Mattayaromyakit คำว่า Kias มาจากพยัญชนะตัวแรกของชื่อจริงแล้วนำไปเชื่อมกับ –ias ที่มีความหมายเช่นผู้บุกเบิกหรือผู้ที่ทำเพื่อคนอื่น จนกลายเป็น Kias ที่คล้ายๆ กับคำว่า Fiats ก็เลยให้ความรู้สึกฮึกเหิม แข็งแกร่ง ส่วน Matt ก็มาจากคำย่อแรกของชื่อสกุล

ในยุคที่ใครก็ว่าสิ่งพิมพ์ถูกแทนที่ด้วยโลกดิจิทัล แต่แป๋มกลับทำให้สปอตไลท์สาดจับหนังสือป๊อบอัพกระดาษได้อย่างน่าทึ่ง

Kias Matt

1

แป๋มเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งต่างจากศาสตร์ทางด้านศิลปะที่ชอบอยู่พอตัว แต่เธอก็พยายามพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งที่ชอบ เช่น รับจ๊อบเป็นผู้ช่วยสอนอาจารย์ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะหลายแขนง ทำให้ได้ความรู้ในส่วนนั้นไปด้วย

พอเรียนจบก็ลองผิดลองถูกกับงานหลากอาชีพเพื่อเก็บเงินไปเรียนออกแบบด้านกราฟิกดีไซน์ ข้อดีของแป๋มคือถ้าเป็นคนที่ชอบอะไรก็จะพยายามทำสิ่งนั้นให้ได้ จนอายุเข้าปีที่ 28 เธอเริ่มเข้าใกล้สิ่งที่ชอบมากขึ้นเมื่อพบว่าเมืองไทยมีแหล่งผลิตหนังสือป๊อปอัพ 1 ใน 2 ของโลก คือที่ ‘ศิริครีเอทีฟ’ ฉะเชิงเทรา เลยถือโอกาสเข้าไปสมัครงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เพราะคิดว่าคงเป็นโอกาสเดียวที่ได้คลุกคลีงานออกแบบและงานศิลปะ

ที่นี่มีการผลิตหนังสือป๊อบอัพด้วยกลไกกระดาษ และมีอาชีพ Paper Engineer อยู่ด้วย นั่นทำให้ชัดเจนแล้วว่านี่คือสิ่งที่อยากทำ

Kias Matt

ที่นั่นแป๋มเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านกราฟิกดีไซเนอร์ออกแบบหนังสือป๊อปอัพ งานชิ้นแรกที่เธอรับผิดชอบคือการออกแบบหนังสือป๊อปอัพให้ศิลปินวาดภาพประกอบชาวรัสเซีย เธอบอกกับเราอย่างภูมิใจว่าเป็นงานแรกที่ทำในนามศิริครีเอทีฟร่วมกับทีม

3 ปีถัดมา สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มดร็อปลง บริษัทเลยต้องปิดตัว แป๋มเริ่มงานใหม่ที่บริษัทแห่งหนึ่งแถวบางนา ซึ่งเป็นงานคนละขั้วกับงานเดิม แต่ตอนนั้นเธอเชื่อว่า ต่อให้อะไรจะนำเธอไปทิศทางไหน สิ่งที่ชอบต้องหวนกลับมาหาเธอในสักวัน

Kias Matt

2

แป๋มทำงานที่บางนาจนสองปีผ่านไปก็เริ่มคิดถึงการทำหนังสือป๊อปอัพ แต่ก็ยังไม่มีทุนมากพอ เพราะหนังสือป๊อปอัพเป็นตลาดที่ค่อนข้างยูนีค “ยากกว่าการทำป๊อปอัพ คือการขายป๊อปอัพในประเทศไทย” แป๋มพูดติดตลก

เธอเริ่มเก็บเงินอีกรอบพร้อมกับศึกษาข้อมูลเรื่องการทำหนังสือป๊อปอัพในไทยไปด้วย จนมีลูกค้ารายหนึ่งติดต่อมาให้ออกแบบแพตเทิร์นของป๊อปอัพในรูปแบบกิจกรรมออนไลน์ นั่นเป็นการกลับมาทำป๊อปอัพอีกครั้งในนามของแป๋มอย่างเต็มตัว หลังจากนั้นเธอก็รับออกแบบทำป๊อปอัพมาเรื่อยๆ

Kias Matt

แล้ววันหนึ่งเมื่อโอกาสมาถึง หนังสือป๊อปอัพเล่มทดลองเล่มแรกชื่อว่า ‘แช่วับ’ ของเธอก็เป็นจริง โดยเป็นผลงานจากเศษขยะรอบตัวที่ลอยอยู่ตามแหล่งน้ำ ซึ่งได้ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือเด็กอย่าง ครูชีวัน วิสาสะ จากชมรมนิทานเดินทาง, อ้อยและบอม แห่ง Littleblackoz Studio และเกื้อกมล นิยม ซึ่งทั้งหมดมาช่วยดูแลและให้คำแนะนำ

Kias Matt

ในหนังสือป๊อปอัพเล่มนี้จะเป็นงานคอลลาจมือกับดิจิทัลคอลลาจ ซึ่งงานคอลลาจมือ คือการนำวัสดุรอบตัวอย่างถุงขนม เศษผ้า กระดาษนิตยสารเก่า มาตัดแปะด้วยมือตามแบบที่คิดไว้ แต่ขั้นตอนจะซับซ้อนกว่า เพราะต้องนำไปสแกนหรือถ่ายรูปแล้วแปลงเป็นไฟล์รูปอีกทีเพื่อใช้ทำภาพประกอบ

Kias Matt

ส่วนดิจิทัลคอลลาจ คือการนำเอาวัสดุข้างต้นไปสแกนหรือถ่ายรูป จากนั้นนำไปแปลงเป็นไฟล์รูปภาพเพื่อใช้สำหรับตัดแต่งในโปรแกรมได้เลยทันที วิธีนี้จึงเร็วกว่าการทำงานแบบคอลลาจมือ

Kias Matt

แช่วับมีแนวคิดมาจากการที่แป๋มเป็นคนที่สนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคม นับเป็นจุดเปลี่ยนของการทำหนังสือป๊อปอัพของแป๋มก็ว่าได้ ซึ่งมาจากช่วงที่เธอนำหนังสือป๊อปอัพแช่วับไปจัดแสดงร่วมกับนิทรรศการเดี่ยวชื่อ ‘ความซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ (Hidden Complexity)’ ที่หอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

Kias Matt

3

แป๋มเปิดหนังสือแช่วับพร้อมอธิบายด้วยถ้อยคำที่มั่นใจไปด้วย “ก่อนทำหนังสือเราเห็นปัญหามาตลอด ทั้งภาวะโลกร้อน ทั้งการจัดการขยะในเมืองไทย การเทขยะลงในท่อระบายน้ำซึ่งเป็นที่สาธารณะ หรือภาพแพขยะตามสื่อต่างๆ ทำให้เราคิดว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราทำอะไรได้บ้าง เราใช้เสียงเล็กๆ หรือความสามารถของเราทำอะไรได้อีกไหม เพราะเราเปลี่ยนพฤติกรรมใครไม่ได้ เราเลยอยากส่งเสริมประเด็นเรื่องการเคารพให้เกียรติกัน ให้คุณค่าแก่ตัวเอง และเคารพสิ่งแวดล้อม เราเลยไปขอทุนจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยมาทำหนังสือ ซึ่งเซอร์ไพรส์ทีหลังว่าเราได้ทุนมาทำหนังสือป๊อปอัพเล่มนี้จนได้

Kias Matt

“แต่จะว่าไปเราเองก็ต้องยอมรับว่า เราสร้างขยะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเลยเอาขยะที่สร้างเองในชีวิตประจำวันมาทำให้เห็นว่าจะสร้างงานศิลปะที่ส่งเสริมกับประเด็นข้างต้นได้อย่างไร อีกนัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นภาพสัตว์ทะเลที่ต้องอาศัยในน้ำท่ามกลางแพขยะจนล้มหายตายจาก นอกจากนั้นอยากเปิดเป็นพื้นที่ให้คนได้จินตนาการเอง เพราะเราคิดว่า คนเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมกันได้ก็ต้องเกิดจากการที่เขาเชื่อหรือคิดได้เองเมื่อเขาได้มองเห็นสิ่งที่เราสื่อออกไป”

Kias Matt

Kias Matt

ในหนังสือป๊อปอัพแช่วับจะมีสัตว์ทะเลเป็นตัวดำเนินเรื่องอย่าง ‘แมงกะพรุน’ ที่ชื่อ ‘แช่วับ’ ‘ครับผม’ ‘ไคล่า’ หรือจะเป็น ‘ทากทะเล’ อย่าง ‘หลุนหลุน’ คือตัวละครที่บ่งบอกถึงความสมดุลในระบบนิเวศทางทะเล หรือกระเบนราหู เต่ามะเฟือง ซึ่งนอกจากตัวละครหลักแล้ว ตัวละครอื่นในเล่มยังอิงจากเหตุการณ์ความเป็นจริงทางระบบนิเวศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย

Kias Matt

“นอกจากนี้เรายังทำเป็นการ์ดเกมแช่วับแบบทดลองจำหน่ายทางออนไลน์ 100 กล่อง จนมีฟีดแบ็กที่ประทับใจจากคุณครูที่เชียงใหม่เขามาขอบคุณเราที่ทำเกมดีๆ ให้เด็กเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าแก่ตัวเองและเคารพกัน เช่นการแทนคำว่า ‘สวัสดี’ ‘ขอบคุณ’ ‘ขอโทษ’ ‘ไม่เป็นไร’ ‘ยินดีด้วยนะ’ ผ่านตัวละครลงไปในการ์ดเกม โดยได้อินสไปร์มาจากการ์ดเกม Taco Cat Goat Cheese Pizza แล้วนำมาประยุกต์ให้เด็กเล่นแบบง่ายๆ”

Kias Matt

Kias Matt

4

แป๋มเปิดสอนเวิร์กช็อปการทำกลไกกระดาษมาประมาณ 5 ปี ซึ่งสอนตั้งแต่ขั้นเบสิก ทั้งจากการลงมือทำจริงด้วยเทคนิค กลวิธี ทักษะ หรือการได้เจอและเห็นได้งานของศิลปินป๊อปอัพต่างชาติ แล้วนำมาถ่ายทอดให้ผู้เรียนอีกที ซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มเด็กอายุ 8-12 ปี ไปจนถึงวัยทำงานหลากหลายอาชีพที่แสวงหางานอดิเรกเป็นกิจกรรมยามว่าง

Kias Matt

Kias Matt

ในมุมมองของแป๋มที่มีต่อป๊อปอัพในไทย เธอมองต่อไปไกลๆ เลยว่าอาจต้องมองหาตลาดหนังสือป๊อปอัพที่ต่างประเทศเผื่อไว้เป็นพาร์ตเนอร์กัน ซึ่งเธอขอตะลุยดูงานอาร์ตบุ๊กแฟร์ที่เมืองไทเป ญี่ปุ่น หรืออินโดนีเซียเพื่อเบิกเนตรและโอบอุ้มตลาดหนังสือป๊อปอัพในไทยให้ไปต่อได้

Kias Matt

Kias Matt

Kias Matt

Kias Matt

“เพราะหนังสือป๊อปอัพในไทยเป็นตลาดที่เล็กมากกก (ลากเสียงยาว) ถ้าคนที่ไม่เข้าใจจะถามว่าทำไมถึงใช้เวลาทำป๊อปอัพนาน ทำไมป๊อปอัพถึงมีต้นทุนสูง ก็เพราะป๊อปอัพคืองานทำมือที่ต้องใช้สกิลและประสบการณ์ที่ไม่ได้ออกแบบด้วยโปรแกรมสามมิติหรือให้ AI ร่างแบบออกมาแล้วเป็นป๊อปอัพได้อย่างใจคิด ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่ AI จะไม่มีทางแทนที่ป๊อปอัพได้เลย” แป๋มยืนยัน

สำหรับคนที่สนใจกลไกกระดาษ แป๋มแนะนำให้ลองฝึกทำเยอะๆ และไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้ เพราะถ้าได้เปรียบเรื่องภาษาที่สาม เผลอๆ อาจโกอินเตอร์ทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ได้เลย

Kias Matt

Kias Matt

How-to Pop-up Book

ป๊อปอัพคือกลไกกระดาษที่มีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างซับซ้อน ที่มีขั้นตอนคร่าวๆ โดยเริ่มจากการสเก็ตช์แล้วขึ้นงานต้นแบบ (Prototype) ด้วยมือ เสร็จแล้วร่างดีไซน์จากต้นแบบให้ตรงตามแพตเทิร์นของป๊อปอัพนั้นๆ ที่เรียกว่า ไดไลน์ (Dielie) จากนั้นจึงปรินต์ภาพออกมาตัดแปะประกอบเป็นรูปร่าง แล้วนำไปขึ้นเป็นม็อกอัพสีขาว ถึงขั้นตอนนี้ถ้ากลไกกระดาษไม่มีปัญหาก็นำภาพภาพประกอบ (Illustration) ใส่ในแพตเทิร์นของไดไลน์เพื่อทำเป็นอาร์ตเวิร์กได้เลย สุดท้ายก็ปรินต์ภาพออกมาอีกรอบ หากมีแก้จุดใดจุดหนึ่งให้กลับไปเริ่มใหม่แล้ววนไปจนกว่าป๊อปอัพจะออกมาเป็นชิ้นงานที่ลงตัว

สนใจเวิร์กช็อปการทำกลไกกระดาษรูปแบบต่างๆ (ที่นอกเหนือจากการทำป๊อปอัพ) ติดต่อได้ที่ FB: Kias Matt หรือ IG: kiasmatt

Tags: