Queer, Bold, and Online
‘ตั๋ง- พนิช’ ผู้กำกับ MV ‘ฟ้ารักพ่อ’ หมุดหมายเควียร์ในสื่อไทยที่ได้แรงบันดาลใจจากอินเทอร์เน็ตคัลเจอร์
- คุยกับ ‘ตั๋ง -พนิช พงษ์พานิช’ ผู้กำกับ MV ที่ผลงานเปรียบเสมือนคลังสมบัติป๊อปคัลเจอร์ และตัวแทนของเควียร์ในมีเดียไทย กับเบื้องหลังความสนุกแบบป๊อปๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเริ่มท่องโลกอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ยัง 7 ขวบ
ป๊อป เควียร์ และ อินเทอร์เน็ตคัลเจอร์ คือ 3 คำที่ครอบคลุมคาแรคเตอร์งานของตั๋ง
แม้จะมีชั่วโมงบินในการเป็นผู้กำกับเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น แต่งานกำกับของ ‘ตั๋ง -พนิช พงษ์พานิช’ ก็มีชื่อเสียงในระดับที่ว่า พูดชื่อเพลงไปไม่มีทางไม่รู้จักแน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ‘DEJAYOU’ ของวงเกิร์ลกรุ๊ปแห่งยุคอย่าง PiXXiE ‘แอ่นระแนง (Arch)’ ของตูน ALIE BLACKCOBRA แฟชั่นไอคอนและสมาชิกแก๊งหิ้วหวี ‘HEY HEY’ ผลงาน feat. ของแร็ปเปอร์ระดับประเทศอย่าง MILLI และแม่ฮาย อาภาพร และเพลงดังที่เพิ่งไปแสดงเปิดเวที Miss Universe Thailand 2024 ‘ฟ้ารักพ่อ (DILF)’ ของ Badmixy feat. ยุ้ยญาติเยอะ ที่พาเอาความ iconic ของตัวละคร ‘เรยา’ จาก ‘ดอกส้มสีทอง ’ กลับมาอีกครั้ง
“โมเมนต์เด็ดๆ ในโลกอินเทอร์เน็ต” เป็นเเรงบันดาลใจ ทำให้มิวสิกวิดีโอของตั๋งเป็นเหมือนคลังประวัติศาสตร์ของป๊อปคัลเจอร์ที่กลับมาย้อนดูเมื่อไหร่ ก็อดขำและนึกถึงความสนุกแบบสมัยก่อนไม่ได้ รวมไปถึงความหลากหลายที่ตั๋งตั้งใจใส่ไปในผลงานของเขาให้ได้มากที่สุด เพื่อให้คนดูไม่ยึดติดกับภาพจำเดิมๆ ในสื่อ ทำให้งานของเขาเป็นคอมฟอร์ตอาร์ตของคนในคอมมูเควียร์
ตั๋งไม่ใช่แค่ผู้กำกับ เขามองตัวเองเป็นสื่อ และสิ่งที่เขาทำสร้างอิมแพ็ก
Internet Kid
ตั๋งได้งานกำกับมิวสิกวิดีโอตัวแรกเพราะคนเชื่อว่าเขาทำได้ แม้จะไม่มีพอร์ต ไม่มีผลงานกำกับอะไรที่โดดเด่นนอกจากโฆษณาทาวน์โฮม 1 ตัว และแฟชั่นฟิล์มที่ถ่ายเล่นๆ สมัยเรียน ‘lovephobia’ – Mints ก็คือเพลงที่ปูทางให้ตั๋งได้นั่งเก้าอี้ไดเร็กเตอร์แบบเต็มตัว
จนวันนี้ก็ผ่านมา 5 ปีแล้ว ถึงตั๋งจะยังมองว่าตัวเองไม่ได้ประสบความสำเร็จสักเท่าไร แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปคือ คนไม่ได้เดินเข้ามาหาตั๋ง เพราะว่าเขาสามารถ “ทำได้ในราคาเท่านี้” แต่เข้ามาเพราะ “อยากได้ภาพแบบนี้” ซะมากกว่า
แล้วภาพที่ว่านั้นเป็นยังไง? อะไรที่ทำให้ MV ที่ตั๋งกำกับได้รับความสนใจแทบทุกตัว?
“เรารู้สึกว่าลายเส้นเรามีความ ‘อินเทอร์เน็ตคัลเจอร์’ มีมุมมองอเมริกันป๊อปๆ ประมาณนึง พี่ๆ เขาก็พูดมาตลอดว่า งานตั๋งดูมีความอเมริกันบางอย่างเนอะ มันอาจจะเป็นเพราะงานที่เราเสพ แล้วก็เคยไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกามาปีนึงด้วย” ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ก็อย่าง ‘IDGCHA (ไม่เก็ตอ่า..)’ – Silvy Pavida ที่ตั๋งเอาภาพปาปารัสซีในตำนานของการรวมตัวไอคอนตัวแม่อย่าง บริทนีย์ สเปียร์ส, ลินด์ซีย์ โลแฮน, และ ปารีส ฮิลตัน มารีเมกอีกครั้ง
“เราเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ตตอนเด็กมากๆ จำได้เลยว่าสมัครอีเมลครั้งแรกตอน ป.1 ตอนนั้นยุค PangYa ยุค Flyff เข้าไปในเกมออนไลน์ เขาถามเราว่า “อายุเท่าไหร่?” เราบอกว่าเรา 7 ขวบ ไม่มีใครเชื่อเลย! เด็กมากจริงๆ
แต่มันก็ทำให้เรามีความเข้าใจในสื่อพวกนี้สูง ชั่วโมงบินเยอะ เห็นการเปลี่ยนผ่านของโลกอินเทอร์เน็ต เห็นการเกิดขึ้น คงอยู่ และดับไปของทุกๆ มีม (หัวเราะ) เป็น watcher ของอินเทอร์เน็ตแหละ มันเลยออกมาผ่านงาน ” พูดถึงมีมหรือ lore (ตำนาน) ในอินเทอร์เน็ตแล้ว ตั๋งสรุปว่าสิ่งที่เจ๋งของมันอีกอย่างหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ามันทำให้คนที่ไม่รู้จักกัน ไม่เคยเห็นหน้ากันด้วยซ้ำ มาขำในสิ่งเดียวกัน
พอต้นคิดมาจากอะไรที่ ‘iconic ’ และ ‘ตลก’ แล้ว การตีความ MV เลยไม่ได้ซับซ้อนเข้าใจยากจนเกินไป ตั๋งอธิบายหลังจากเราพยายามเค้นกระบวนการในการคิดงานของเขา ซึ่งตอบยาก เพราะบางทีก็ไม่มีอะไรเลย นอกจากการดึงความเป็นศิลปินออกมาให้ได้มากที่สุด “มันคือการหาความพอดี”
“อย่างเพลง ‘HEY HEY’ จริงๆ ก็คืออยากเห็น ‘พัชราภากรุ๊ป’ แค่นั้นเลย” ตั๋งพูดถึงงานอีเวนต์รวมดาราสาวตัวท็อปของวงการไทยอย่าง อั้ม -พัชราภา, ไอซ์ อภิษฎา, เมย์ พิชญ์นาฏ ฯลฯ พร้อมหัวเราะ สาเหตุที่อีเวนต์นี้กลายเป็นตำนานในโลกอินเทอร์เน็ตมาจนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะความคอนทราสท์ที่ดาราสาวที่ขึ้นหน้าขึ้นผมมาแบบจัดเต็ม กลับต้องเจอหน้างานที่เป็นเพียงพรมแดงปูบนถนนลูกรัง
“มันดูโจ๊ก มันดูเข้ากับเพลง มันแตกอะ! แล้วใครจะเหมาะที่จะเป็นแคสต์ไปกว่าแก๊งหิ้วหวี ถ้าเทียบ 10 ปีที่แล้วคือพลังเท่ากับเเก๊งพัชราภากรุ๊ปเลยนะ มันคือการจับอะไรบางอย่างมาชนกันแล้วแบบ ถูก! อะไรอย่างงี้แหละ”
วิธีคิดของ MV ‘ฟ้ารักพ่อ’ ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก ในฐานะคนที่แทบจะไม่ดูทีวีเลย แต่เปิดดูเพื่อละครหลังข่าว(น้ำดี) อย่าง ‘ดอกส้มสีทอง’ ตั๋งมองเห็นเอเลเมนต์ชวนขำในละครเรื่องนี้ที่ถ้าไม่ได้เอามาทำอะไรสักอย่างก็คงพลาดสุดๆ “อย่างประโยค ‘ไม่ทราบว่า K ย่อมาจากอะไรคะ?’ นี่ก็แบบ เฮ้ย ทำไมตอนนั้นมันไม่เป็นมีมวะ? คืออันนี้มันแบบตลกมากอะ” แล้วก็เช่นเคย สิ่งที่ว่าฮา ตั๋งก็หยิบเอามาใช้
Representation Matters
อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดแบบตะโกนในงานของตั๋งคือ ‘ความเควียร์’ นอกจาก MVเพลง ‘HEY HEY’ จะขนคนดังเเละอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นเควียร์มาแบบเรียกได้ว่าแทบจะทั้งวงการแล้ว สังเกตว่าใน MV แทบทุกตัว ศิลปินที่ตั๋งร่วมมือด้วยก็มักจะเป็นคนในคอมมูนิตีกันทั้งนั้น
การมีพื้นที่สื่อให้คนทุกแบบในสังคมสำคัญมากๆ สำหรับผู้กำกับคนนี้ เขาอยากเห็นคนทุกแบบในงานของเขา อยากให้คนดูรู้สึกว่าไม่ว่าใครก็สามารถมาอยู่ในมิวสิกวิดีโอได้ ไม่จำเเป็นต้องสวยงามตามสเเตนดาร์ดเสมอไป
ตั๋งชวนให้ไปไล่ดูตั้งแต่งานแรกจนถึงงานล่าสุดว่า เจตจำนงของเขาชัดเจนจริงไหม พร้อมกับย้ำว่า “ถ้าไม่ได้ถูกบังคับ เเคสต์เราจะมีความหลากหลายตลอด” สิ่งที่เขาทำคือการสร้างความคุ้นชิน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีใครในสังคมถูกทรีตต่างออกไปจากใคร
และเมื่อต้นปีที่ผ่านมานี่เองที่ตั๋งเริ่มมองงานตัวเองในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ความสนุกของการเป็นผู้กำกับ MV ที่เขาเพิ่งค้นพบคือ การเป็นผู้กุมการตีความของเพลงนั้นๆ การทำให้ “ทุกคนในสังคมรับทราบสิ่งเดียวกันเกี่ยวกับเพลงนั้น” เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เพียงแค่การสร้างภาพประกอบเสียงดนตรี หรือการปลุกกระแสอะไร มันคือการสร้างสิ่งที่มีความหมาย
“เวลาเราเห็นตุ๊ดตัวเล็กๆ ใน TikTok เต้นเพลง ‘ฟ้ารักพ่อ’ เรารู้สึกว่ามันเหมือนหมุดหมายนึงในชีวิตของเกย์เด็กเหมือนกันนะ นึกออกไหม สิ่งที่เราทำมันอิมแพ็กต่อสังคม อิมแพ็กต่อวัฒนธรรมเควียร์ ต่อภาพรวมของสังคมโดยรวมเหมือนกัน เราเลยเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่าทุกครั้งที่เราจะปล่อยงานอะไรออกไป มันคือพาร์ตนึงของประวัติศาสตร์นะเว้ย!” ฟังแล้วก็ได้แต่ขนลุก เพราะผลกระทบที่ตั๋งเล่ามาแบบเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวมันจริงที่สุด นึกภาพว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเกย์เด็กคนนั้นคงกลับมาฟังเพลงนี้ แล้วนึกถึงโมเมนต์ที่เต้นท่อน “My Sugar Daddy หมดใจเลยที่ฟ้าให้พ่อ” ในชุดแอร์โฮสเตสที่มิกซ์และแมตช์เองแน่ๆ
ด้วยความดีใจที่เห็นคนในวงการศิลปะบ้านเราให้ค่ากับพลังของสื่อขนาดนี้ เราชวนตั๋งคุยต่อด้วยความอยากรู้ว่า ถ้าอย่างนั้นมีอะไรอีกไหมที่อยากเห็นแต่ยังไม่ได้เห็นในเควียร์มีเดียของไทย?
ตั๋งสวนตอบอย่างไวเหมือนเตรียมคำตอบไว้นานแล้ว “เราอยากเห็นรายการล่าท้าผีที่เป็นกะเทย (หัวเราะ)
ดูจะสนุกมาก ถ้าเป็นรายการล่าท้าผีเเล้วสมาชิกทุกคนเป็นกะเทยหมด ตากล้องก็ด้วย แขกรับเชิญที่เป็นเหมือนผู้มีญาณพิเศษ ก็ต้องเป็นเหมือนพวกผู้วิเศษในข่าวชาวบ้าน เราว่ามันน่าจะตลกมาก อย่างน้องหญิง คลื่นพลังบุญอะ เขาทำรายได้นะ อยากเห็นอะไรอย่างงี้ รายการคอนเซปต์เเปลกๆ หรือว่าซิตคอมเควียร์คอนเซปต์แปลกๆ ก็น่าจะสนุกดี”
What’s Next?
สำหรับตั๋ง การเป็นผู้กำกับคือการมองเห็นความสวยงามในทุกๆ สิ่ง ไม่ว่า subject ที่นำมาเล่าจะเป็นสิ่งที่คนมองว่าสวยหรือไม่สวย “ทุกอย่างมีความสวยงามในตัวของมันเสมอ และผู้กำกับก็คือคนที่จะต้องดึงความสวยงามนั้นออกมาเล่าเรื่องให้ได้”
ยกตัวอย่างง่ายๆ มันก็เหมือนกับแฟชั่นที่คนมองว่าเป็นแค่เปลือก หรืออินเทอร์เน็ตคัลเจอร์ที่คนมองว่าฉาบฉวย แต่แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้บอกเล่าอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสังคมเรา เพราะมันคือสิ่งประกอบสร้างจากมนุษย์ “ไม่ต้อง shame ความตื้น อินดี้ปีลึกก็ไม่ได้แปลว่าผิด มันไม่มีดีหรือไม่ดีหรอก มันคือสิ่งที่เราสื่อสารออกไปมากกว่า”
เมื่อถามถึงอนาคต ตั๋งไม่จำกัดการสร้างสรรค์ผลงานตัวเองอยู่แค่ในฐานะผู้กำกับ เขาอยากเป็นศิลปิน อยากทำงานเบื้องหน้า และอยากเป็นแฟชั่นไอคอน! “ฟังดูอาจจะตลก” ตั๋งพูดดักไว้ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องมือในการสื่อสารทั้งสิ้น และมันสำคัญสำหรับเขา
เพราะเขายังคงยืนกรานที่จะพูดในประเด็นสังคมที่ควรจะพูด ด้วยความคิดที่ว่า “ถ้าต้องมีใครสักคนที่พูด ทำไมคนคนนั้นไม่เป็นเรา”
สุดท้าย เด็ก 7 ขวบในเกมออนไลน์คนนั้นก็ยังโตมาแบบเป็นนักเสพคอนเทนต์จากอินเทอร์เน็ตคนเดิม ที่ไ่ม่เบือนหน้าหนีจากสิ่งใหม่ๆ เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหวังใน Gen Alpha และในขณะเดียวกันไม่ทิ้งสิ่งเก่าๆ ไป “เรายัง fitcheck อะไรอย่างงี้อยู่เลย แล้วที่ตลกมากคือ ก่อนหน้านี้เราปล่อยตัวมาก และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เรากลับมาดูแลตัวเองได้คือการดูรายการไอดอล 789 Survival” ตั๋งพูดถึงความ random ในชีวิตที่เกิดขึ้นจากการเล่นเน็ตเช่นเคยพร้อมระเบิดหัวเราะ
เราใช้เวลาในบ่ายวันนั้นสาธยายกันเรื่องเทรนด์ในอินเทอร์เน็ตกันอย่างยืดยาว ซึ่งเราเชื่อว่านี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ผลงานของตั๋งแตกต่างออกมาจากงานกำกับของคนอื่นๆ เพราะว่าเขามองเห็นสิ่งธรรมดาๆ ในชีวิตและนำมาเล่าในแบบที่คนอื่นอาจคาดไม่ถึง
ติดตามชมผลงานของ ตั๋ง พนิช ได้ที่
Vimeo: vimeo.com/tungpainch
Instagram: tung.panich
Facebook: Panich Pongpanich