About
ART+CULTURE

Music Today

รีแคป Today at Apple แชร์ทริกจาก Cocktail กับ Gene Lab แบบหมดเปลือกตั้งแต่อัดเสียงยันทำใบบรีฟ

เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ Date 05-09-2024 | View 884
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • รีแคปเซสชันสำรวจเบื้องหลังวงการดนตรีกับ Cocktail และ Gene Lab ที่งานทุกชิ้น การตลาดทุกแผน ใบบรีฟทุกไฟล์สามารถเริ่มต้นและจบลงได้ด้วยการเข้าใจสิ่งที่กำลังทำ

สมาชิกวง Cocktail ทั้ง 6 คน ได้แก่ โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ, เชา-ชวรัตน์ หรรษคุณาฒัย, ฟิลิปส์-ฟิลิปส์ เปรมสิริกรณ์, ปาร์ค-เกริกเกียรติ สว่างวงศ์, เหน่ง-วิวัฒน์ สว่างวรรณรัตน์ และ เอ็กซ์-ชรัณ ตัณฑนันทน์ ร่วมกับผู้บริหารจาก Gene Lab อีก 3 คน ได้แก่ หมี-พณิช ฉ่ำวิเศษ Senior Labor Director, เคน-นวพร วารีนิล Senior Art Director และ ฮอล-ชัชชนท อาภาสโชคทวี Senior Marketing Communicator

นี่คือรายชื่อผู้บรรยายในเซสชัน Today at Apple : หัวข้อสำรวจเบื้องหลังวงการดนตรีกับ Cocktail และ Gene Lab ที่ผมได้รับในอีเมล การนั่งฟังพวกเขาเหล่านี้เป็นเวลาหลักชั่วโมงที่ Apple Store Iconsiam ร่วมกับการถอดเทปที่บ้านอีกสิบกว่าหน้า ทำให้ต้องยอมรับว่า ผมยังทำเพลงไม่เป็นเหมือนเดิม และคงอีกนานกว่า ONCE จะได้มีศิลปินเป็นของตัวเอง

ถึงอย่างนั้นความพิเศษของเซสชันนี้ คือการที่เราได้เห็นว่ากว่าจะออกมาเป็น 1 บทเพลงที่มีทำนองติดหู มีเนื้อหาเปี่ยมความหมาย และเนื้อร้องที่สามารถร้องตามได้ในทุกการแสดงสด นักดนตรีต้องผ่านขั้นตอนไหนกันมาบ้าง ทั้งการถกเถียงกับตัวเอง ถกเถียงกับเพื่อนในวง และถกเถียงกับจินตนาการ ซึ่งการได้รับรู้เบื้องหลังของงานศิลปะ ทำให้เรายิ่งเห็นคุณค่าของมันมากกว่าเดิมเข้าไปอีก

หรือถ้าใครเป็นสายธุรกิจ ฝั่งของค่าย Gene Lab เองก็ได้นำงานหลังบ้านมาโชว์ให้ดูอย่างไม่มีกั๊ก จะเป็นอย่างไรเมื่องานศิลปะเข้าสู่กระบวนการทางธุรกิจที่ค่ายต้องนำเสนอออกไปให้ถึงผู้คนให้ได้มากที่สุด ทั้งในแง่มุมของการคัดเลือกศิลปิน การตลาดที่อยากให้คนฟังเข้าใจเหมือนที่คนทำเข้าใจ และรูปภาพที่สะท้อนเนื้อหาของเพลงออกมาได้อย่างครบถ้วน

ระหว่างนั่งฟังเซสชัน ผมก็นึกขึ้นได้ว่า แทนที่เราจะทำเป็นโพสต์เฟซบุ๊กสรุปทั่วไป เราลองเปลี่ยนมาทำบทความรีแคปสิ่งที่เกิดขึ้นดีกว่า เพราะนอกจากครบถ้วนเรื่อง Art จากปากคนทำเพลงแล้ว ยังมีใจความของเรื่อง Culture ที่ถูกบอกเล่าผ่านค่ายเพลงอีกทีหนึ่งด้วย

Cocktail

Pre-Production

Demo Session

โอมย้ำก่อนเริ่มบรรยาย (หรือเรียกเป็นการแบ่งปันเพื่อให้ทางการน้อยลง) ว่า กรณีศึกษาต่อไปนี้เป็นสิ่งที่วง Cocktail ทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นจะทำแบบนี้ เนื่องจากวิธีการสร้างสรรค์ผลงาน วิธีคิด ลำดับความคิด การสร้างงานออกมาของแต่ละค่าย แต่ละศิลปิน มีขั้นตอนที่ไม่เหมือนกัน โดยตามที่เขาเคยเห็นมา การเริ่มต้นทำเพลงมีอยู่ด้วยกันอยู่หลักๆ 3 ประเภท

หนึ่ง เริ่มต้นจากมีคนขึ้นดนตรีมาให้ก่อน แล้วส่งไปให้คนทำทำนอง จากนั้นจึงส่งต่อไปทำเนื้อร้อง

สอง เริ่มต้นจากเนื้อเพลง เขียนออกมาเป็นกลอน ร้อยแก้ว ร้องกรองเปล่าๆ แล้วส่งไปทำทำนอง ก่อนจะทำดนตรีทีหลัง

สาม คือกรณีค็อกเทล ซึ่งจะเป็นเพลงดิบที่โอมเขียนทั้งเนื้อทั้งทำนองโดยยังไม่ได้ผ่านการ Arrangement (เรียบเรียง) ยังไม่ได้แบ่งด้วยซ้ำว่าท่อนไหนจะมาก่อนมาหลัง และเมื่อได้เพลงดิบมา เขาก็จะส่งต่อให้เพื่อนๆ ในวง

“ผมแต่งเพลงขึ้นจากความคิดว่า ผมอยากได้ยินอะไรบ้าง ผมจะฮัมเพลงก่อนจดออกมาว่ารู้สึกยังไง Voice Note จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้มากที่สุด เราแค่ยกมือถือขึ้นมาแล้วบันทึกไว้ บางครั้งก็มีแค่ท่อนเดียว ประโยคเดียว คำเดียว

Cocktail

“หลังจากนั้นเมื่อตกผลึกมาเป็นเพลง ผมจะส่งต่อไปให้เพื่อน ๆ ทำในกระบวนการของการ arrangement ซึ่งในวงดนตรี ผมมองว่ามีหลัก ๆ อยู่ 2 พาร์ท คือพาร์ทของ Rhythm (เครื่องจังหวะ) และพาร์ทของ Melody (เครื่องเมโลดี้) ซึ่งส่วนใหญ่ผมมักจะคุยกับทาง rhythm ที่เปรียบเป็นกระดูกสันหลังของดนตรีก่อนเสมอในระยะหลังมา นั่นคือฟิลิปส์ (มือกลอง) เพราะผมอยากให้มั่นใจว่าจังหวะมันอยู่ประมาณนี้ ความเร็วอยู่ประมาณนี้ อารมณ์ที่อยากจะถ่ายทอดทั้งหมดถูกกำหนดด้วยกระดูกสันหลังที่ถูกต้อง พอเราคุยตรงนี้เสร็จ มันจะเป็นขั้นตอนของการบันทึกเดโม่หยาบ ๆ ขึ้นมาเพื่อส่งต่อให้เพื่อน ๆ หรือบางครั้งอาจจะเป็นการเจอกันห้องในซ้อมแล้วเล่นให้ฟังสด ๆ ตรงนั้นเลย” โอมอธิบายขั้นตอนก่อนส่งต่อให้ฟิลิปส์

Rehearsal

“ผมเป็นกระดูกสันหลังที่เขาว่าเมื่อกี้” ฟิลิปส์พูดเปิดตัว

ฟิลิปส์ยกตัวอย่างเพลง ‘คุกเข่า’ ที่ตอนเริ่มต้นไม่ได้มีเดโมเป็นเรื่องเป็นราว จะมีก็แค่จังหวะในแบบที่วงอยากได้ เป็นการพยายามผสมผสานความแปลกใหม่ จนออกมาเป็นเพลงที่มีจังหวะทั้งแบบช้าและแบบเร็ว

“การพูดคุยอาจจะง่ายๆ แต่เราผ่านการซ้อมกัน และเรียบเรียงออกมาค่อนข้างเยอะ ในหนึ่งเพลงจะมีการซ้อมที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกรอบเวลาของแต่ละเพลง อย่าง ‘คุกเข่า’ เราใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่ก็จะมีช่วงเวลาที่ทำเพลงแล้วกระบวนการไม่ได้เยอะขนาดนั้น ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่สามารถสร้างงานโดยที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์จริง หรือทุกคนไม่ต้องมาเจอกันก็มี” ฟิลิปส์เล่า

โอมเสริมว่า นั่นคือการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะไม่มีเสียงออกมา ได้ยินแค่ตัวเอง แล้วทุกอย่างจะถูกบันทึกเข้าสู่ Logic Pro X เปรียบเหมือนบันทึกการประชุม ทุกคนสามารถซ้อมไปตามความรู้สึกได้เลย แล้วค่อยมาย้อนดูว่าช่วงไหนที่เราชอบจากทั้งชั่วโมงที่บันทึกมา

ในการซ้อม เพลงที่เราทุกคนได้ยินอาจมีหลายเวอร์ชัน ช้าบ้าง เร็วบ้าง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการ Brainstrom ก่อนจะเริ่มต้นทำ Demo Session อย่างละเอียด

“พอเราแต่งเพลงเสร็จ ทำการ Arrangement ด้วยการทำเดโมหยาบๆ ขึ้นมาเพื่อดูภาพรวม แล้วทำไมเราต้องมาทำเดโมละเอียดอีกทีหนึ่ง ในความเป็นพาณิชย์ศิลป์ (ศิลปะเพื่อการค้าขาย) การสื่อสารผ่านเดโมเป็นสิ่งสำคัญ ทีมที่โปรโมตอาจต้องการได้ยินเพลงที่มีอารมณ์ใกล้เคียงกับของจริง เพื่อให้เขาสามารถทำงานได้ทันตามปฏิทิน โดยที่ไม่ต้องรอให้เพลงจริงบันทึกเสร็จ” โอมเสริม

เมื่อมาถึงขั้นตอน Arrangement ฟิลิปส์จึงขอส่งต่อให้เชา มือกีตาร์ของวง

“ในขณะนี้ผมขอเชิญผู้ชายหนึ่งท่านที่ชื่อว่าคุณชวรัตน์ขึ้นมาบนเวทีครับ”

Arranging

“หน้าที่หลักๆ ของผมคือ Arranger” เชาเปรยถึงหน้าที่ของตัวเอง “การเรียบเรียงเสียงประสานที่เป็นเมโลดีทั้งหมด คือการสร้างมิติของเพลง อย่างที่ทุกคนได้ยิน เพลงเพลงหนึ่งไม่ได้มีแค่กีตาร์ กลอง เบส มันมีเครื่องดนตรีอื่นๆ ด้วย

“ในทีแรกผมไม่มีความรู้เลยว่าจะเริ่มทำเสียงออร์เคสตรายังไง ซึ่งการเขียน MIDI (เสียงแบบดิจิทัล) หรือการทำไลน์ประสานผ่าน Logic Pro จะค่อนข้างสะดวก ก็อาศัยความรู้พื้นฐานทางดนตรี เริ่มจากเขียนไลน์เบส เสียงที่สูงขึ้นมาก็จะเป็นเชลโล จากนั้นก็เป็นวิโอลา ยอมรับว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องการเรียบเรียงเสียงประสานวงออร์เคสตราเป๊ะมาก เพราะฉะนั้น เราต้องพึ่งเทคโนโลยี ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือตัว Logic Pro ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นมากเลย มันสามารถทำให้สิ่งที่อยู่บนหน้าจอออกมาเป็นรูปแบบสกอร์ (ตัวโน้ต) เพื่อนำไปใช้ต่อหรือส่งต่อให้นักดนตรีคนอื่นได้อย่างสะดวกมากขึ้น”

Cocktail

เชาเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างคนเราไม่จำเป็นต้องรู้ก่อนถึงจะลงมือทำได้ ถ้าเรามีจินตนาการ มีสิ่งที่อยากได้ยินอยู่ในหัว จงอย่ากลัวที่จะศึกษา ทดลอง และลงมือทำ

Discussion

เช่นเดียวกับทุกการสร้างสรรค์ผลงาน เมื่อเสร็จแล้วใช่ว่าทุกอย่างนิ่ง โอมเองก็เชื่อเช่นนั้น

“เมื่อจินตนาการถูกสร้างเป็นรูปเป็นร่างจนเห็นผลจริง เราอยู่กับมันสักคืนสองคืนไม่ได้แปลว่าเราจะรู้สึกเหมือนเดิม ความรู้สึกเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ บางครั้งของที่อยู่ในจินตนาการอาจจะให้ความรู้สึกแบบหนึ่ง แต่เมื่อปฏิบัติจริงอาจไม่ได้ให้ความรู้สึกอย่างที่คิด”

ขั้นตอน Discussion จึงเป็นสิ่งที่ยังคงต้องทำกันอยู่ และทุกครั้งที่วงมีการทบทวนเดโม โอมบอกว่าเกือบ 100% เพลงจริงยังต่างไปจากเดโม่

เขายกตัวอย่างอัลบั้ม ‘Fate’ ที่เกือบทั้งชุดมีการแต่งและพูดคุยในลักษณะออนไลน์ ในช่วงปี 2020 ก่อนที่จะไปเจอกันในห้องซ้อมหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้รวมตัวทำกิจกรรมได้

“อัลบั้มนี้พวกเราจึงทำงานค่อนข้างเป็นระบบ เพราะเราว่าง” โอมจบขั้นตอน Pre-Production พร้อมเสียงหัวเราะจากกลุ่มผู้ฟัง

Production

Record

การบันทึกเสียงนั้นมีตัวเลือกที่หลากหลาย เพลงที่ถูกแต่งขึ้นย่อมมีความหมายที่ต่างกัน มีห้วงอารมณ์ที่ต่างกัน มีการใช้งานที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับตัวเพลง ลักษณะเพลง และคาแรกเตอร์ของเพลง วงจึงมีการเลือกใช้ห้องบันทึกเสียง และอุปกรณ์บันทึกเสียงที่สอดคล้องไปกับเพลงนั้นๆ โดยที่ไม่ยึดติดว่าต้องอยู่ในห้องใดห้องหนึ่งเป็นหลัก เพราะเพลงสำคัญที่สุด

“เราเลือกไปในที่ที่คิดว่าจะทำให้เพลงนั้นออกมาดีที่สุดได้อย่างไร และไม่ได้แปลว่าเพลงหนึ่งเพลงจะอัดในห้องห้องเดียว อาจจะเลือกอัดกลองที่ห้องหนึ่ง กีตาร์ที่ห้องหนึ่ง กลองกับเบสอีกห้องหนึ่ง” โอมอธิบาย

นอกจากขนาดของห้องที่ต่างกัน ยังมี Room ที่ต่างกัน

“Room คือการกำหนด Ambient ของห้องนั้นๆ อย่างเช่น กลองเราจะอัดกันที่ Room ขนาดแค่นี้ เพราะต้องการความ Punch (เสียงกระแทก) แค่เล็กๆ ตรงๆ อย่างเพลง Rock” เหน่ง (มือกีตาร์) พูดเสริม

วัสดุที่ต่างกันก็ให้ผลที่แตกต่างกัน อีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างคือ Sound Engineer (วิศวกรเสียง) ที่อาจจะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบันทึกเครื่องดนตรีบางอย่างที่แตกต่างกันไปอีก เช่น คนนี้มีความถนัดเป็นพิเศษในการบันทึกกีตาร์ไฟฟ้า คนนี้มีความถนัดเป็นพิเศษในการบันทึกออร์เคสตรา หรือห้องบางห้องสร้างขึ้นมาโดยผู้เชี่ยวชาญบางเรื่อง เช่น ห้องนี้สร้างโดยมือกลองก็อาจจะมีอุปกรณ์สำหรับมือกลองเป็นพิเศษ

Cocktail

พูดถึงวิธีการอัดเพลง บางเพลงอาจเลือกที่จะอัดทีละชิ้น บางเพลงอาจเลือกที่จะอัดพร้อมกันทุกชิ้นเพื่อให้ได้อารมณ์ของการเล่นสด โดยจะมีการตั้ง Partition Board ที่เหมือนเป็นม่านกั้นเสียงให้แยกทุกคนออกจากกันได้ หรือใช้ห้อง Isolation ในการร้องเพื่อไม่ให้ดนตรีรั่วเข้ามา ซึ่งหนึ่งในสตูดิโอที่ใช้ในการอัดเสียงพร้อมกัน หรือใช้เพื่ออัดออร์เคสตรามีชื่อว่า ‘Studio 28’

“ผมจะร้องอยู่ในห้อง Iso B ส่วนกลองอยู่ใน Iso C ส่วนห้อง Iso A ผมยังไม่เคยใช้เลยครับ” โอมพูดติดตลก

สำหรับการอัดทีละเครื่องดนตรี เหน่งอธิบายว่าโดยพื้นฐานแล้ว จะเริ่มอัดจากเครื่องที่มีคลื่นความถี่ต่ำเป็นอย่างแรกเพื่อใช้เป็นพื้นฐานของเพลง นั่นคือกลอง ซึ่งในระหว่างการอัดจะเปิดเดโมคลอไปด้วยเพื่อคุมไม่ให้เพลงจริงกับเดโมหลุดจากกันเกินไป หลังจากนั้นจึงเริ่มอัดเบสและกีตาร์เป็นลำดับต่อมา สองชิ้นนี้สามารถสลับก่อนหลังได้ตามความสะดวกของนักดนตรี แล้วค่อยขยับขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นเปียโน ออร์เคสตรา จนถึง Synthesizer (เสียงสังเคราะห์)

“20 ปีที่ผ่านมา เราลองลำดับการบันทึกเสียงมาแล้วทุกแบบ” โอมเสริม “แน่นอนว่าเริ่มจากกลองที่เป็นกระดูกสันหลังเป็นเรื่องที่ง่าย แต่บางครั้งการทำเดโมที่กลองชัดเจนอยู่แล้ว และแต่ละคนมีเวลาว่างไม่เท่ากัน เราอาจไม่ได้เริ่มจากกลอง อย่างเพลงล่าสุดที่ทำไป ผมอัดร้องเป็นอย่างแรกครับ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้แนะนำ เพราะนักร้องมักจะจับอารมณ์จากสิ่งที่ได้ยินแล้วถ่ายทอดออกมา แต่ในกรณีของผมที่เป็นคนเขียนเพลงจึงเข้าใจอารมณ์นั้นได้ง่ายกว่า ผมไม่อยากให้ยึดติดว่าวิธีการต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ มันเริ่มจากเบสหรือกีตาร์ก่อนก็ได้ ทำได้ทุกอย่าง ไม่ได้บอกว่าแบบนี้ดีที่สุด แต่สำหรับค็อกเทล ถ้าทุกคนมีเวลาเท่ากัน สิ่งที่เราจะเริ่มเป็นอย่างแรกคือกระดูกสันหลัง เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ไปจนถึงเครื่องสำอาง

“ขอให้ผลลัพธ์ออกมาแล้วคุณมีความสุข ความสุขถูกบันทึกอยู่ในดนตรีเหล่านี้ ถ้าเล่นแล้วไม่มีความสุข คนฟังจะมีความสุขได้ยังไง” โอมพูดถึงใจความสำคัญของการบันทึกเสียงเพลงที่มีจุดตั้งต้นมาจากจินตนาการในหัว

Mix / Mastering

“ความเชื่อของผม การเล่นดนตรีคือการบันทึกห้วงอารมณ์หนึ่งเอาไว้ อารมณ์จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ในการบันทึกอาจจะมีรอบที่ดีที่สุด หรือรอบที่ชอบมาทั้งหมด แต่ผิดอยู่นิดเดียว การ Editing คือการแก้ไข ลบ ตัด ต่อในส่วนนั้น แต่ก็ไม่ผิดถ้าบางท่านเลือกจะเอา Demo Session มาใช้เลย ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากนำเสนองานในลักษณะไหน และวัตถุประสงค์ไหน บางครั้งการ Edit ช่วยให้เปลี่ยน Arrangement กลางอากาศได้ เช่น เราทำท่อน A B ฮุก โซโล C ฮุก โซโล บริดจ์ อยู่ๆ เราไม่อยากให้มีท่อน C แล้วเพราะมากไป เราเฉือน C ออกแล้วเลื่อนที่เหลือมาชนได้เลย ซึ่งหลังจากเสร็จตรงนี้ก็จะเป็นการรวบยอดเพื่อเตรียมไปผสมเสียง” โอมพูดถึงการ Editing แบบเร็วๆ

ขั้นตอนการผสมเสียง (Mixing) โอมพูดย้ำว่า นี่เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ก่อนจะส่งต่อให้ปาร์ค (มือเบส) อธิบายในส่วนนี้

“อยากให้มองการผสมเสียงเหมือนทำข้าวผัด” ปาร์คอธิบายให้เห็นภาพ “กีตาร์เป็นเนื้อหมู เบสเป็นกระเทียม กลองเป็นข้าว ขั้นตอนนี้คือการเอาทุกอย่างมาวางรวมกัน แล้วจัดการให้ออกมาไพเราะที่สุด บอกเล่าสิ่งที่วงต้องการสื่อสารผ่านเพลงออกไปให้ถูกต้องที่สุด ซึ่งกระบวนการอาจจะเริ่มต้นที่การจัด Balancing (สมดุล) กีตาร์ดังไป เบสดังไป โดยวงจะเข้าไปฟังเวลา Sound Engineer ผสมเสียงว่า เราโอเคหรือยัง แจ้งให้ทราบ และเขาจะจัดการให้ ต่อมาคือการจัดการเรื่อง EQ (ความถี่ของเสียง) โทนโดยรวมของเพลง ความทุ้ม กลาง แหลม”

Cocktail

อย่างที่โอมบอกไปว่าขั้นตอนนี้สำคัญ ยิ่งเรื่องของสูง กลาง ต่ำ มีผลมากต่อเสียงร้อง เพราะหากจัดคลื่นความถี่ผิดไปเพียงนิดเดียว อาจทำให้เสียงร้องเดียวกัน จาก source เดียวกัน จากไมค์เดียวกัน ฟังเพราะดีไม่มีอะไร กลายเป็นเสียงคนร้องเพลงไม่เป็นได้ในทันที เนื่องจากคนเรามีเนื้อเสียงที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งโอมยกตัวอย่างผ่านการร้องประสานของคน 3 คน

“การที่เราอยากได้ยิน 3 คนร้องประสานกัน แม้ว่านักร้องอีกท่านจะร้องดีกว่า เก่งกว่า ดังกว่า แต่คลื่นความถี่ของเสียงเขามีธรรมชาติที่จะถูกอีกคลื่นความถี่หนึ่งกิน หมายความว่าเมื่อจัดวางเสียงร้องเข้าไป มันจะเกิดอาการที่เสียงกลืนอีกเสียงหนึ่งแล้วหายไป มันไม่ใช่แค่จัดการความดังเบาเพื่อให้ได้ยินชัด มันคือการจัดการคลื่นความถี่และการเดินทางของเสียงที่มาถึงหูในระยะที่ห่างกันระดับมิลลิเซคันด์

“ยกตัวอย่างเวลาเราฟัง Airpod Max หูฟังมีอยู่แค่ซ้ายขวา ทำไมเราถึงได้ยิน Spatial Audio (การนำระบบเสียงรอบทิศทาง 5.1 / 7.1 หรือ Dolby Atmos มาจำลองใช้งานกับหูฟัง) นั่นคือการเดินทางของเสียงที่หน่วงไม่เท่ากัน เราดีไซน์ให้เสียงบางช่วงเดินทางมาถึงหูก่อน บางคลื่นเดินทางมาถึงทีหลัง ทำให้ระบบประสาทสามารถแยกแยะระยะของการเดินทางได้ว่าอะไรใกล้อะไรไกล เทคโนโลยี Mixing ทุกวันนี้ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้การจัดวางงานศิลปะมีมิติ และไปได้ไกลกว่าแค่การทำดนตรีแบบปกติ หลักการเหล่านี้เลยทำให้เราสำรวจวิธีอื่นๆ ได้มากมาย

“อัลบั้ม ‘Cocktail Classic’ ตรรกะของการ Mix คืออยากให้ทุกคนรู้สึกเหมือนอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยจึงมีการผสมเสียงคนดูให้มาจากข้างหลัง เพื่อให้แน่ใจว่าถ้าฟังแบบ Spatial Audio แล้ว คุณจะได้ยินเสียงคนปรบมืออยู่ข้างๆ ส่วนเสียงออร์เคสตรามาจากข้างหน้า สะท้อนขึ้นข้างบนแล้วลงมาด้วย ถ้าลองกลับไปฟัง อยากให้สังเกตครับ เทียบกับบันทึกการแสดงสดของศิลปินทั่วไป เสียงปรบมือและเสียงคนในฮอลล์จะดังผิดปกติ เพราะคือการจำลองว่าคุณนั่งอยู่ตรงนั้น คุณควรได้ยินแบบนั้นครับ” โอมอธิบายพร้อมยกตัวอย่าง

ต่อมาคือขั้นตอน Mastering การจัดการเสียงครั้งสุดท้ายก่อนที่จะนำมาเผยแพร่ออกไป ซึ่งในส่วนนี้ โดยปกติวงจะทำงานร่วมกับ Mastering Engineer ซึ่งตั้งแต่อัลบั้ม ‘Fate’ ค็อกเทลมีโอกาสได้ส่งไป Mastering ที่ Sterling Sound ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Ted Jensen ซึ่งขั้นตอนนี้จะจัดการให้ว่า ใน 1 อัลบั้มจะต้องทำยังไงให้เพลงไปในทิศทางเดียวกันเวลาเปิดฟังอย่างต่อเนื่อง เมื่อผ่านการ Mastering เรียบร้อย นั่นคือตอนที่เพลงตัวสมบูรณ์ได้ออกมาให้พร้อมฟังกันแล้ว

ในส่วนของการทำให้เพลงไปในทิศทางเดียวกันเวลาเปิดฟังอย่างต่อเนื่อง เชาออกมาเสริมว่า มันต้องฟังผ่านหลายๆ อุปกรณ์ เพราะคนฟังจากอุปกรณ์ที่แตกต่างกันไป จากวิทยุ จากลำโพง จากมือถือ การ Mastering จึงสำคัญที่ว่าเพลงต้องได้ยินพอๆ กันในทุกอุปกรณ์และทุกแพลตฟอร์ม

“จากประสบการณ์ของผมเวลา Master ผมจะเริ่มฟังจากมือถือก่อน เพราะทุกวันนี้คนใช้มือถือเยอะที่สุด เช็กว่าได้ยินเคลียร์ไหม แล้วจึงค่อยๆ ไล่ระดับไป ดูว่าโดดไหม ดีเลย์ไหม แต่ละจุดให้เสียงเหมือนกันไหม เทียบความแตกต่างดูว่าแต่ละลำโพงตอบสนองตามเสียงที่เราต้องการไหม” เชาเล่า

Cocktail

เมื่อการ Mastering จบ สำหรับคนฟัง สิ่งที่ได้รับคือเพลงและอัลบั้มสำหรับเปิดฟัง แต่สำหรับศิลปิน ‘Stem’ คือสิ่งที่จะถูกส่งกลับมาหาเจ้าของเพลง เหล่าเสียงที่ถูกวางอย่างสะเปะสะปะในขั้นตอน Mixing จะมีการจัดระเบียบทุกอย่างให้เรียบร้อย รวบดนตรี 1 ไลน์ให้เป็น 1 เส้น แยกแทร็กให้อย่างละเอียด

Post-Production
Concert

“สำหรับผม Stem เป็นสิ่งที่มีค่ามากๆ แต่ต้องแยกให้ออกนะครับ คนละเรื่องกับ Stem Cell นะครับ” โอมพูดถึง Stem ซึ่งถูกใช้แทนเครื่องดนตรีบางเครื่องที่วงไม่สมารถนำไปเล่นสดได้ ก่อนจะส่งต่อไมค์ให้เอ็กซ์ (มือคีย์บอร์ด) กับฟิลิปส์ที่ดูแลในส่วนนี้ขึ้นมาอธิบาย

โดยฟิลิปส์ได้เปิดสมาชิกคนสำคัญของวงที่อาศัยอยู่ในแมคบุ๊กให้ดูกัน นั่นคือ MD (Mini Disc) ซึ่งใครเห็นก็คงไม่รู้ว่าคืออะไร ยิ่งมีไฟล์ชื่อว่า FIIFA No.1 ด้วยแล้ว ยิ่งไม่เข้าใจไปกันใหญ่

เอ็กซ์อธิบายถึงสมาชิกคนนี้ว่าเป็นเสียงที่ไม่ใช่เสียงของนักดนตรีหลักบนเวที เช่น ถ้าวันไหนคุณได้ยินเสียงคีย์บอร์ด แต่ไม่เห็นเอ็กซ์อยู่บนเวที ขอให้รู้ไว้ว่า MD คือตัวที่แสดงส่วนนั้นแทน ทั้งหมดเพื่อให้คนดูได้รับคุณภาพของการแสดงสดอย่างครบถ้วน เหล่าเสียงซัพพอร์ตต่างๆ เช่น ออร์เคสตราเซสชันจึงถูกจัดเก็บอยู่ในแมคบุ๊กผ่าน Logic Pro X ซึ่งมีทุกเพลงของวง และหลากหลายเวอร์ชันให้เลือกเปิดตามสถานการณ์

Gene Lab

“ถ้ามันจะมีปัญหา มันเกิดจากความผิดพลาดของผมเองที่เปิดเพลงผิดบ้าง” ฟิลิปส์เล่าถึงหน้าที่ของเขาที่ต่อไปนี้คนฟังคงสังเกตมากขึ้น “บางทีอ่านลิสต์เพลงตกบ้าง ด้วยความที่เพลงของเรามีค่อนข้างเยอะ และถูกเลือกใช้เยอะมาก บางทีมันจะต้องมีการข้ามเพลง หรือมีการปิดและเปิด ทีนี้ผมอยากจะสาธิตหนึ่งเพลง ให้ทุกคนจินตนาการนะครับว่า ผมอยู่ที่กลอง พอผมกดเปิดเพลงปั๊ป ทุกคนในวงจะได้ยินเสียงเมโทรโนมครับ ติ๊ก ๆ ๆ ๆ พอพี่โอมเปลี่ยนไปคุยกับคนดู ผมก็ต้องรีบปิด”

“แล้วเขาต้องมานั่งจับจังหวะว่าผมจะขึ้นเพลงยังไง” โอมยกตัวอย่างสถานการณ์ “ต่อไปนี้พบกับเพลง ‘เธอทำให้ฉันเสียใจ’ พอเขากดเปิด MD ผมก็อาจจะ แป๊บๆๆ ขอคุยกับคนนี้อีกนิดหนึ่ง เขาก็ต้องปิดอีก”

Cocktail

Behind the Scene

ในเรื่องของคนเบื้องหลัง ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่หน้าด่านในการทำให้เพลงของศิลปินได้เดินทางออกไปพบกับผู้คน ทั้งในแง่ของการตลาด การสื่อสารผ่านรูปภาพ ไปจนถึงการดูแลศิลปินเสมือนลูกค้าคนหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่ Gene Lab เป็น ในฐานะค่ายเพลงที่มองว่าตัวเองคือ Artist Management

ศิลปินอยากได้แบบไหน ค่ายจะพยายามทำให้ได้ตามที่ต้องการ ส่วนหนึ่งเพื่อให้ศิลปินภูมิใจในผลงานของตนเอง ขณะเดียวกันศิลปินเองก็ต้องภูมิใจในงานที่ทำเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่วนค่ายจะดูเรื่องการค้าขายให้เอง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ หมี-พณิช ฉ่ำวิเศษ หนึ่งในผู้บริหารได้อธิบายเพื่อความเข้าใจของทุกคน

“ในตอนนี้เราเปิดมา 6 ปี มีศิลปิน 12 เบอร์ ออกมาแล้ว 14 อัลบั้ม 185 ซิงเกิล ซึ่งตัวศิลปินเราตามหาจาก 2 วิธี หนึ่งคือการสเกาต์ เราไปเห็นศิลปินตามที่ต่างๆ แล้วเข้าไปชวนเขามาอยู่ในค่าย สองคือการออดิชันจากรายการต่างๆ รายการ 19 Lab ก็เป็นการออดิชันวิธีหนึ่งเหมือนกัน สาเหตุหนึ่งที่เราทำออดิชัน เพราะเราอยากให้ศิลปินมีฐานแฟนตั้งแต่วันแรก พอเขามีผลงานจะได้ต่อยอดไปได้เลย” หมีเล่า

Gene Lab

ภาพรวมของ Gene Lab ประกอบไปด้วย 4 ข้อ Artist, Music, Plan และ Visual โดยเริ่มงานจากตัวศิลปิน เขาเป็นใคร มีสไตล์แบบไหน ทำงานยังไง แล้วให้เขาสร้างเพลงหรือหาคนทำเพลงให้ จากนั้นทางค่ายจะเลือกว่าศิลปินแต่ละคนเหมาะกับแผนโปรโมตแบบไหน และจะออกมาเป็นยังไง ซึ่งทาง Gene Lab พยายามจะให้ทุกซิงเกิลมี Killer Content ที่คนสามารถจำได้ว่า คอนเทนต์นี้เป็นของใคร

การจะได้มาซึ่งคอนเทนต์ สิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้ คืองานศิลป์จากฝีมือของ เคน-นวพร วารีนิล ผู้กำกับศิลป์ เจ้าของภาพปกซิงเกิลและอัลบั้มที่ใครหลายคนน่าจะคุ้นตากันไม่น้อย

“จริงๆ แล้วการเปลี่ยนเพลงเป็นภาพมีที่มาจากศิลปินผู้ผลิตผลงาน เราต้องคุยกับพี่ๆ ก่อนว่า เพลงนี้พี่เล่าเรื่องอะไรบ้าง พี่ต้องการจะสื่อสารอะไรบ้าง ถามพี่ๆ ทุกคนว่าภาพในหัวตอนที่เขาสร้างผลงานเป็นยังไง” เคนเล่าถึงกระบวนการทำงาน

เคนยกตัวอย่างเพลง ‘ฝนตกไหม’ ที่ได้ไอเดียหลังฟังเพลงจบ แล้วโอมโทร.มาเล่าว่า “จริงๆ แล้ว ฝนตกไหมเป็นคำถามเกี่ยวกับความคิดถึง เราคิดถึงเขา แต่เราพูดว่าฝนตกไหมแทนคำว่าคิดถึง” ภาพที่ออกมาจึงเป็นรูปของฝนที่ตกในร่มเปรียบเสมือนฝนที่ตกอยู่ในใจ

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือเพลง ‘ผู้เดียว’ ของ Tilly Birds ที่มีท่อนหนึ่งร้องว่า ‘เพียงแค่เธอมองดูกระจกบานนั้น เธออาจจะเห็นใบหน้าใครสักคนอยู่ในนั้น’ ซึ่งท่อนนั้นพูดถึงตัวเอง เคนจึงเลือกใช้กระจกเพื่อแทนการสะท้อนความรู้สึกของคนที่มองเข้ามายังปกนี้ เช่นเดียวกับภาพของศิลปินที่จะถือกระจกเหมือนกัน มันคือการทำ Art Direction ให้ต่อเนื่องกัน

Cocktail

“ทีนี้เราจะเปลี่ยน Art Direction ให้เป็น Promo Material ซึ่งจะเกี่ยวกับการโปรโมตชิ้นงานต่างๆ ของแต่ละเพลง แต่ละซิงเกิล เช่น ‘แรงเสียดทาน’ ตัวชิ้นงานที่ดึงมาใช้ คือการที่วงมีสมาชิก 6 คนแบบออฟฟิเชียลครั้งแรก เลยต้องมีคอนเทนต์ที่เล่าหน้าตาพี่ๆ เพื่อแนะนำสมาชิกใหม่ด้วย ตัวแผนโปรโมตจะสร้างขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้ ต้องถูกสร้างขึ้นมาจากแผนที่ดีครับ” เคนอธิบายเพื่อเข้าสู่ส่วนต่อไปที่รับผิดชอบโดย ฮอล-ชัชชนท อาภาสโชคทวี ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด

ฮอลเล่าว่า ทันทีที่รู้ว่าเพลงไหนจะถูกปล่อย นั่นคือเวลาที่ต้องเข้าสู่กระบวนการคิดงานทันที เขายกตัวอย่างตอนที่โอมโทร.มาหาเขา ไม่พูดอะไร แต่เล่นกีตาร์และร้องให้ฟังแทน ก่อนจะถามว่าเพลงนี้เป็นยังไงบ้าง เขารู้สึกยังไง ซึ่งหน้าที่ของการตลาด คือการตีความวัตถุดิบนั้น จัดเรียงความคิด วางไดเร็กชันที่จะทำให้คนมองเห็น และทำให้คนฟังเข้าใจในแบบที่ตนเข้าใจ หรือตีความไปไกลกว่าสารตั้งต้นเดิม ทั้งหมดนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายทางการตลาด โดยแรกเริ่ม แผนทั้งหมดจะถูกคิดและรวบรวมอยู่ในโน้ตของมือถือ

“ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก สำคัญที่สุดคือเรื่องของแผนครับ เรารู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น รู้ว่าวัตถุดิบเป็นอย่างไร เราต้องจัดเรียงให้ได้ว่าจะปล่อยรูปก่อน ปล่อย Text ก่อน ปล่อย Teaser ก่อน หรือ Official Poster ให้เห็นก่อนว่า MV เป็นยังไง หลังจากนั้นเราจะบิลด์คอนเทนต์แบบไหน ขยี้ยังไงให้คนรู้สึกอินมากกว่าเดิม ซึ่งจะถูกปล่อยไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์ที่เกิดขึ้นกับซิงเกิลนั้นๆ แต่ว่ามีอย่างหนึ่งที่ผมกับโอมมักจะคุยๆ กันว่า ‘อะไรที่เป็นปริศนาอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเฉลย’ บางทีการไม่เฉลยก็เป็นการตลาดอีกอย่างหนึ่งที่ถูกต้อง เพราะมันจะถูกพูดถึง ถกเถียง และอยู่ในควมทรงจำของทุกคน”

อย่างไรก็ตาม โอมและหมีในฐานะผู้บริหารได้เคยบอกกับฮอลว่า การทำงานที่ไดเร็กชันสามารถไปด้วยกันได้ ควรจะต้องมีใบบรีฟที่ถูกกำหนดไดเร็กชันเพื่อให้ทั้งฝั่งผู้กำกับ ฝั่งอาร์ต ฝั่งครีเอทีฟ และทุกคนเข้าใจเป็นภาพเดียวกัน โดยที่ใบบรีฟนั้นจะมาจากศิลปินว่ามีความต้องการยังไง อย่างเล่าเรื่องแบบไหน เพราะค่ายทำงานภายใต้ความต้องการของวงเป็นหลัก

“ทีนี้จะทำยังไงให้เรารู้เท่าทันโซเชียล มันคือการเสพสื่อเลยครับ เราจำเป็นต้องดูให้เยอะที่สุด ถ้าเรารู้เยอะ เราจะแปรเปลี่ยนสิ่งนั้นให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของเราได้ สำหรับผม เวลาทำมาร์เก็ตติงเกี่ยวกับตลาดใดๆ เพลงและวงคือสิ่งสำคัญที่สุด ผมแค่มีหน้าที่เอามาต่อยอดเพื่อให้พวกคุณได้เห็นในรูปแบบอื่นๆ” ฮอลพูดปิดท้าย ก่อนที่หัวข้อในวันนี้จะจบลง

สมาชิกวง Cocktail ย้ำเสมอว่า เคล็ดเหล่านี้ไม่ลับเลยแม้แต่น้อย ในฝั่งของคนเบื้องหลังจาก Gene Lab เองก็บอกว่า ทริกของการทำทั้งหมดนี้คือการทำให้ดีที่สุดในทุกๆ แพลตฟอร์ม และมองว่ามันแยกจากกัน เซสชัน Today at Apple จึงนี้ไม่เพียงแต่เปิดม่านหลังเวทีให้เห็นถึงการทำงานศิลปะที่จะถูกส่งต่อเพื่อเข้าสู่กระบวนการค้าขาย แต่ยังทำให้เห็นว่าการทำงานทั้งหมดนี้พึ่งพา 3 สิ่งด้วยกัน

หนึ่ง จินตนาการ
สอง ความเข้าใจในชิ้นงานและวัตถุดิบ
สาม ข้อนี้น่าจะสำคัญกับทุกคน นั่นคือความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ

Tags: