About
BALANCE

Dendrophile

สำรวจโลกของ ‘ปอ – กิตติธัช วุฒิพันธ์’ หมอยาผู้คลั่งรักต้นไม้ที่เล่าเรื่องต้นไม้ได้เป็นฉากๆ

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 08-12-2024 | View 1106
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พามารู้จัก ปอ – กิตติธัช วุฒิพันธ์ ผู้รอบรู้เรื่องต้นไม้ชนิดหาตัวจับยากคนหนึ่งที่เราขอยกให้เป็น Encyclopedia ด้านพฤกษศาสตร์ ความคลั่งรักต้นไม้นำพาเขาให้ได้เป็นทั้งเภสัชกร ลูกเรือเทคนิคบริษัทการบินไทย และเจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพน้ำมันหอมระเหย

ปักธงในใจว่าจะมาชวน ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์ Plant Specialist คุยเรื่อง ‘ต้นไม้’ แต่คิดไม่ถึงเลยว่าจะน่าสนใจและเชื่อมโยงกับชีวิตเราได้ขนาดนี้ เอาแค่แต่ละต้นที่เขาเอ่ยชื่อมา เช่น หูช้าง เฉียงพร้านางแอ สยาเหลือง ปุดเดือน กระเช้าผีมด น้ำเต้าผี จิกนมยาน โตมาก็เพิ่งเคยได้ยินนี่ล่ะ

แม้เราจะไม่รู้จักและไม่เคยเห็นหน้าค่าตาต้นไม้เหล่านั้นมาก่อน แต่ความเอกอุเรื่องต้นไม้ของปอบวกกับสกิลการเป็น Story Teller ระดับตัวแด๊ด ทำให้เรื่องราววงศ์วานว่านเครือที่ซับซ้อนของพรรณไม้ และสาระความรู้เฉพาะทางที่เต็มไปด้วยชื่อทางวิทยาศาสตร์ยาวๆ ยากๆ รวมถึงประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมา กลายเป็นเรื่องฟังสนุกและเข้าใจง่ายขึ้นเป็นกอง

มาดูกันว่า ทำไมขนมถั่วแปบถึงไปเอี่ยวกับป่าชายหาดได้ การวิ่งเทรลสะเทือนถึงดวงดาวได้ยังไง ไหงปูแสมถึงเป็นนางแบกแห่งป่าชายเลนได้ และต้นไม้กันยุงกันงูได้จริงหรือเปล่า ฯลฯ

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

วัดป่าภูผาสูง  เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

ฮาลาบาลา…ป่าโรงหนังสีเงิน

ความรักธรรมชาติและชอบต้นไม้ของปอเกิดจากไม้กระถางที่คุณแม่ชอบปลูก แม้จะเป็นต้นไม้ธรรมดาแต่ช่วยสร้างความคุ้นเคยและทำให้ได้รู้จักต้นไม้ ยิ่งได้มาเห็นป่าจริงๆ ที่วัดป่าภูผาสูง จ.นครราชสีมา ความตื่นตาตื่นใจเหมือนมาเติมเชื้อไฟความสนใจต้นไม้ในตัวเขาให้ยิ่งลุกโหมขึ้น

ปอสงสัยว่าทำไมต้นไม้ในป่าถึงขึ้นแบบนั้น เขาค้นหาคำตอบจากสารานุกรมสำหรับเด็กและเยาวชนในห้องสมุด อ่านแล้วอ่านอีกจนขึ้นใจแต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ กระทั่งได้มาเป็นนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

“ความชอบต้นไม้ของผมน่าจะทำอะไรได้มากกว่าแค่การปลูกให้สวยงาม ผมชอบต้นไม้ที่มีคุณค่า มีกิมมิกของตัวเอง เลยอยากศึกษาลึกลงไปว่าต้นไม้ช่วยคนได้ยังไง การเรียนเภสัชฯ จะได้รู้ที่มาของยา ได้เดินป่าได้รู้ว่าต้นไม้ในธรรมชาติเป็นอยู่ยังไง ซึ่งคนสมัยโบราณนำต้นไม้มาปรุงเป็นยาทั้งนั้น ไม่มียาเม็ดยาแผงอย่างปัจจุบันหรอก ยิ่งได้เพื่อนพาร์ตเนอร์แล็บเป็นขาลุยเหมือนกัน ผมเลยเริ่มออกเดินทางไปดูต้นโน้นต้นนี้มากขึ้น”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

เราขอให้ปอเลือกทริปประทับใจ เจ้าตัวไม่ลังเลเลือกทริปลงพื้นเต็มสตีมครั้งแรกเพื่อเก็บพืชสมุนไพรที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาส สมัยเรียนอยู่ปี 3 (พ.ศ.2545) ซึ่งยังไม่มีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภารกิจสำรวจพันธุ์ไม้วงศ์กระดังงาซึ่งมีสารสำคัญทางยาค่อนข้างเยอะจึงเกิดขึ้น

“แค่ลงจากรถ ผมก็อ้าปากค้างแล้ว ป่าสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่เหมือนที่อื่น โดยเฉพาะป่าฮาลาบาลา เป็นป่าสีเงิน เรือนยอดต้นไม้ดูเหมือนเมฆสีเงินก้อนยักษ์อยู่เต็มไปหมด มันคือต้นสยาเหลือง (Shorea curtisii) ที่เป็นประชากรหลักของป่านั้น ต้นสยาเหลืองชู้ตตัวเองขึ้นไปกิ่งก้านอยู่ที่ความสูง 30 เมตร (นึกถึงต้นไม้สูงๆ แล้วบนยอดเป็นพุ่มๆ เหมือนบร็อกโคลี) ความรู้สึกผมเหมือนเดินเข้าโรงหนัง เพดานของโรงหนังคือพุ่มแน่นทึบของสยาเหลือง ทิ้งช่องว่างโปร่งๆไว้ให้ต้นปลาไหลเผือกทะยานไปแผ่พุ่มใบเหมือนดอกไม้ไฟลอยอยู่กลางป่า ไม้พุ่มด้านล่างสูงประมาณบ่าหรือเอว ก็เปรียบเหมือนพนักเก้าอี้ ไม้พุ่มกลุ่มนี้แหละเจ๋ง เพราะเป็นพืชกลุ่มขิงที่เป็นพระเอกด้านสารสกัด สารสกัดดีๆ แปลกๆ หลายตัวมาจากพืชวงศ์ขิง”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

ชีวเคมีค้ำจุนโลก

ว่าแต่เรียนเภสัชฯ จะต้องลงพื้นที่เก็บตัวอย่างพืชเองเลย หรือว่ามีแปลงปลูกไว้สำหรับใช้วิจัยโดยเฉพาะ

คำถามนี้โดนใจคนตอบ เพราะเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าถึงโลกการปรุงยา

“อย่างแรกดูจากของเดิมว่าเป็นสารตัวไหน โครงสร้างทางเคมีเป็นยังไง แล้วสังเคราะห์เลียนแบบเพื่อลองปรับเปลี่ยนโครงสร้างนิดๆ หน่อยๆ ได้ออกมาเป็นยาประหลาดๆ ของฝรั่งที่สักพักก็งอกเจเนอเรชันใหม่มาเรื่อยๆ กับสองเป็นการค้นคว้าหายาตัวใหม่ โดยสำรวจจากธรรมชาติว่ามีการผลิตสารอะไรออกมาเพื่อใช้ป้องกันตัวเองบ้าง อย่างบอระเพ็ดจะมีสารขมที่เรียกว่า แอลคาลอยด์ (Alkaloid) มักมีฤทธิ์ทางยาเยอะกว่าสารกลุ่มอื่น จากนั้นก็ค้นคว้าว่ามีพืชชนิดไหนที่ผลิตแอลคาลอยด์ได้บ้างเพื่อนำมาสกัด”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

คีย์เมสเสจที่ปอบอกเราคือ “ทุกอย่างในโลกนี้อยู่ภายใต้ระบบของชีวเคมี” ปออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า “ชีวเคมีก็คือสารเคมีที่ต้นไม้สร้างขึ้นมาเพื่อให้อยู่รอด บางคนเรียกพฤกษเคมีบ้าง สารสกัดจากพืชบ้าง เป็นสารที่มนุษย์เรานำมาใช้ประโยชน์”

ปอยกมะกรูดมาเป็นตัวอย่าง “ถ้าขยี้ใบดมดูจะมีกลิ่นที่คนดันชอบ แต่สัตว์ไม่ชอบ มะกรูดเลยไม่โดนทำลาย ยกเว้นหนอนผีเสื้อมะนาวนะ เพราะมันกินใบพืชตระกูลส้ม” เอ้า… แล้วมะกรูดกับส้มเป็นญาติกันเหรอเนี่ย

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

ปอยิ้มเข้าใจในความงงของเรา “ถ้านำสารฉุนๆ จากมะกรูดไปวิจัยจะพบน้ำมันหอมระเหยหลายตัว หนึ่งในนั้นชื่อลิโมนีน (Limonene) เป็นเอกลักษณ์กลิ่นพืชกลุ่มตระกูลซิตรัส (Citrus) ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ มีความเลมอนอยู่ ลองดมตะไคร้ดีๆ สิ จะมีกลิ่นเลมอน ฝรั่งถึงเรียกว่า Lemon Grass เป็นกลุ่มสารที่พืชสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวจากแมลงและสัตว์อื่นไม่ให้มากินมัน นอกจากมีกลิ่นแล้วก็มักมีฤทธิ์อย่างอื่นตามมา เช่น ขับลม ช่วยย่อย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกินต้มยำหรืออาหารไทยแล้วสบายท้อง ท้องไม่อืด เพราะเรามีสมุนไพรเยอะ พวกขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

กิมมิกต้นไม้

ไทยอยู่ในเขตร้อนชื้นซึ่งเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสรรพชีวิต ทั้งพืชและสัตว์จึงมีสายพันธุ์หลากหลายมาก “ถ้าเอาสายวัดมาขึงพื้นที่ 1 ตารางเมตรในป่าแถบสแกนดิเนเวีย จะเจอพืชซ้ำๆ กัน อาจมีแค่ไม่กี่ชนิด แต่ถ้าเป็นป่าบ้านเราจะเจอพืชหลาบสิบชนิด ฉะนั้น การมาอยู่รวมกัน ต้องแก่งแย่งอาหาร จับจองพื้นที่ ความรักตัวกลัวตาย ทำให้เกิดการสร้างสารพิเศษหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้อยู่รอด แล้วมนุษย์เราก็ใช้ประโยชน์จากตรงนั้น ต้นไม้ทุกต้นจึงใช้ทำยาได้หมด อยู่ที่เราว่าจะใช้หรือไม่

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

กระเช้าผีมด เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

“อย่าง กระเช้าผีมด (Hydnophytum formicarum) เป็นพืชอิงอาศัยเกาะตามคาคบไม้ อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องอยู่กับมด ข้างในเป็นโพรงมีรูพรุนเหมือนสมอง มันยอมอุทิศร่างกายให้มดดำเข้าไปทำรัง แล้วอาศัยดูดซึมสารอาหารจากมูลมดไปสร้างตัวใหม่ ธรรมชาติมันว้าวมาก”

อีกต้นที่ปอนึกถึงคือ ปุดเดือน (Hedychium longicornutum) ตามสำมะโนครัวเป็นพืชวงศ์ขิง “พื้นป่าฮาลาบาลาเต็มไปด้วยพืชกลุ่มขิง มีขิงตัวหนึ่งมันรู้สึกถึงความเบียดเสียด แย่งกันอยู่แย่งกันกิน เลยกระโดดไปเป็นกล้วยไม้แทน หน้าตายังเป็นขิงแต่เอารากตัวเองโอบรัดกิ่งไม้ได้แบบกล้วยไม้ ดอกใหญ่มากสีแดงแปร๊ด สวยมาก ต้นไม้ก็เหมือนคน ต้องหาพื้นที่ใหม่ๆ ในการทำมาหากิน”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

สำรวจต้นไม้เกาะพระทอง เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

จากป่าดิบชื้นฮาลาบาลา ปอพาเราไปยังเกาะพระทอง จ.พังงา ตั้งใจไปดูต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง “ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงโดนน้ำเค็มไม่ได้เลย ต้องอยู่ในที่ที่เป็นน้ำจืดสนิทจริงๆ เท่านั้น ขนาดใช้น้ำก๊อกน้ำประปารดยังตายเลย แล้วมันมาอยู่บนเกาะกลางอันดามันได้ยังไง” นั่นสินะ… “ภาคใต้ฝนชุกแต่ก็ไม่ได้ตกทั้งปี แต่โครงสร้างบางอย่างของทรายที่นี่เก็บกักน้ำฝนไว้ได้ ชาวบ้านจึงมีน้ำจืดใช้ตลอดปี แต่ต้องรักษาระดับน้ำจืดไม่ให้ต่ำเกินไป ไม่งั้นน้ำเค็มจากทะเลจะเข้ามาแทนที่ เป็นการปรับตัวของชาวบ้านและเป็นวิวัฒนาการของหม้อข้าวหม้อแกงลิง ทำให้อยู่ด้วยกันได้”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

เล่าถึงต้นไม้มาหลายต้น ปอคงอยากให้เราได้เห็นต้นจริงที่กำลังพูดถึงบ้าง เลยชวนหันไปดูต้น หมากพร้าว ข้างรั้ว “ดูเผินๆ คล้ายต้นหมากทั่วไป เพราะออกผลเป็นพวงเหมือนกันแต่ลูกใหญ่กว่า ใหญ่เท่าละมุดเลย แล้วก็มีสารคาเทชิน (Catachin) แบบเดียวกัน แต่ที่ต่างคือพุ่มใบจะเหมือนใบมะพร้าว สารแอลคาลอยด์ในเมล็ดช่วยให้หมากพร้าวรอดจากการถูกสัตว์แทะกิน เมื่อเมล็ดตกพื้นเลยงอกต้นใหม่ได้ แต่คนกินแล้วดันชอบ เมาเคลิ้มดี ในอดีตที่คนยังนิยมกินหมาก หมากพร้าวจึงเคยใช้เป็นเครื่องราชบรรณาการ เพราะสวย ใหญ่ ดูไฮโซกว่าหมากสงที่ชาวบ้านกิน”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

MarineEcology เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

เปิดตัวคณะตลกแห่งป่าชายเลน

“สิ่งที่ผมสนใจมีแค่ต้นไม้ ปลาและแมลง ไม่เคยหันเหไปจาก 3 สิ่งนี้เลย การเรียนเภสัชฯ ให้จิกซอว์ผมมาตัวนึง การศึกษาเรื่องพืชได้ตัวนึง เรียน Marine Ecology ก็ได้มาอีกตัว เอามาต่อกันกลายเป็นภาพใหญ่ที่ผมไม่เคยรู้เลยว่าจะลิงก์กัน”

Marine Ecology ที่ปอพูดถึงคือโครงการสอนวิชานิเวศวิทยาทางทะเลที่คนเรียนต้องไปอยู่ภูเก็ต 1 เดือน เป็นคอร์สที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ภูเก็ต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดขึ้น “ตั้งใจไปเรียนรู้เรื่องปลาแต่ได้ศึกษานิเวศวิทยาทางทะเล ตั้งแต่ป่าชายเลน แนวปะการัง กระทั่งก้นบึ้งมหาสมุทรเลย ความรู้จากคอร์สนี้ทำให้ผมเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

เพื่อให้เห็นภาพ ปอเปิดตัวคณะตลกแห่งป่าชายเลน ดินป่าชายเลนนอกจากจะเค็มแล้วยังระบายน้ำไม่ดี ทำให้ออกซิเจนซึมลงไปในดินได้ไม่เกิน 3 มิลลิเมตรเท่านั้น (ประมาณ 0.3 เซนติเมตร) แต่ที่รากไม้ไม่ขาดอากาศหายใจ เพราะได้ปูแสมมาขุดรูช่วยไว้ (ปูแสมคือปูที่ใส่ในส้มตำนั่นแหละ)

“ใบไม้ที่ร่วงอยู่ในป่าชายเลนอย่างต้นโกงกาง ในสายตาเราอาจดูเหมือนไร้ค่า แต่จริงๆ แล้วต้นไม้ในป่าโกงกางมีสารฝาด (Tannin) เยอะ ในทางเภสัชฯ สารฝาดคือสารกลุ่ม Phenolic Compounds เป็นเหมือนมือคอยดึงเศษโปรตีนจากใบไม้และซากสัตว์ต่างๆ ที่กำลังจะเน่า แล้วจับมาขยำเป็นก้อนขยุกขยุยที่มีทั้งกรดอะมิโน แร่ธาตุ และแบคทีเรียให้ไปเกาะรวมกันอยู่บนใบไม้ที่ร่วงลงในน้ำ เจ้าก้อนนี้แหละคืออาหารของปูแสม การปลูกป่าชายเลนเป็นสิ่งดี แต่ต้องไม่ใช่แค่มาปลูกต้นโกงกาง เพราะไม่ช่วยอะไร ระบบนิเวศในป่าชายเลนเปรียบเหมือนคณะตลก ต้องมีแสม โกงกาง พังกาหัวสุม และต้องอนุรักษ์ปูแสมและสัตว์น้ำอื่นๆ ให้เกิดสมดุลธรรมชาติด้วย”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

สุคนธบำบัด

เราชวนปอคุยถึงธุรกิจผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยแบรนด์แคลิกซ์ (Calyx) ของเขาที่เกิดจากความรู้สึกว่า ต้นไม้ทำอะไรได้มากกว่าที่เห็น ปอใช้ความรู้ที่มีเสริมด้วยอโรมา เทอราปีใส่ในผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ตัวมีที่ปอได้ไอเดียจากปัญหาในชีวิตประจำวันของตัวเองและครอบครัวทั้งสิ้น

ตัวแรก Sanitizer “ตอนนั้นเป็นช่วงโควิด ต้องพกแอลกอฮอล์ไว้ล้างมือ ผมมองว่า ไหนๆ เสียเงินซื้อแล้วต้องคุ้มค่าที่สุด ถ้าใช้แค่ให้มือสะอาดอย่างเดียวคงไม่พอมั้ง ต้องถนอมมือและไม่เหนอะหนะด้วย ลองทำใช้เองก่อนแล้วแจกให้คนรอบตัวใช้กัน ทุกคนชอบและเชียร์ให้ทำขายเ เลยจับพลัดจับผลูเปิดบริษัทเมื่อปี 2020”

ตัวที่ 2 ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง “ตอนลงพื้นที่ป่าฮาลาบาลา ต้องกางเต็นท์กินนอนในป่าเป็น 10 วัน เจอทั้งยุงทั้งทาก เข้าใจว่าเราไปบ้านเขา ปัญหาคือผมดันเกลียดกลิ่นตะไคร้หอมที่ใช้ฉีดกันยุง แต่ได้ไปเจอต้นเสม็ดขาวว่ามันอยู่กับมดคันไฟได้ เลยคิดว่าน่าจะประยุกต์ใช้กันยุงได้ ผมนำมาต่อยอดปรับสูตรให้ใช้ได้ทั้งก่อนและหลัง กันและแก้ในขั้นตอนเดียว” สเปรย์ของปอเลยทั้งกันยุงกัดและลดอาการบวมแดงหากถูกยุงกัดแล้ว โดยไม่ทิ้งกลิ่นฉุนหรืออาการแสบร้อน ปอเลือกแอลกอฮอล์ระดับฟู้ดเกรดเพื่อให้ใช้สะดวก ฉีดแล้วมือหยิบจับอาหารต่อได้เลย

ตัวที่ 3 เป็นสเปรย์ 3 in 1 ใช้พ่นหมอนช่วยให้หลับสบาย แก้ปัญหานอนไม่หลับของคุณแม่ “ผมใช้เจอราเนียม (Geranium) ที่ทำให้หลับแบบน็อกเอาต์ได้ ใครหลับยากแค่สเปรย์ก็ช่วยได้” แล้วยังช่วยกำจัดไรฝุ่นที่เครื่องนอนให้น้องชายที่เป็นภูมิแพ้ “สมุนไพรที่ฆ่าไรฝุ่นได้อยู่หมัดคือกานพลูแต่ปัญหาคือสารยูจีนอล (Eugenol) ในกานพลูที่เป็นยาชาสุดวิเศษ ใครนึกไม่ออก นึกถึงกลิ่นน้ำมันกานพลูที่ใช้เป็นยาชาแก้ปวดฟัน ถ้าใช้พ่นใส่หมอนก่อนนอน ผมว่าคงไม่เวิร์กแน่ๆ ผมเลยเลือกสมุนไพรตัวอื่นที่มีสารคล้ายๆ กันแต่กลิ่นทำให้หลับได้ดีกว่ามาใช้ทดแทน” นอกจากนี้ สเปรย์นี้ยังเหมาะกับผู้ที่อยู่คอนโด วันไหนนึกอยากทำอาหาร ก็ช่วยกำจัดกลิ่นในห้องได้ด้วย

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

Inflight Manager และ Technical Cabin ของการบินไทย    เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

ตัวที่ 4 อันนี้สนองนี้ดปอเต็มๆ “ผมเป็นลูกเรือเทคนิค (Inflight Manager และ Technical Cabin ของการบินไทย) ตอนเข้าไปตรวจเครื่องบิน ต้องทำงานในห้องเครื่องร้อนๆ ที่ไม่มีแอร์ เลยทำสเปรย์ให้ความเย็น (Heat Blaster) แต่จะฉีดดับร้อนอย่างเดียว มันไม่เก๋ แบรนด์ผมต้องทำได้มากกว่านั้น เลยใส่ยูคาลิปตัสที่นอกจากให้กลิ่นหอมเย็นแล้วยังช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ตัวการทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นอับได้ด้วย สังเกตไหมว่าเสื้อบางตัวพอเจอไอเหงื่อเราจะมีกลิ่นตุ่ยๆ ใช้สเปรย์นี้ฉีดได้เลย ไม่ทิ้งคราบ”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

ต้นไหนบ้างที่ปอเชียร์ให้ปลูก

ด้วยความรอบรู้เรื่องต้นไม้ หมวกอีกใบที่ปอสวมคือการเป็นที่ปรึกษาด้านต้นไม้ให้บริษัทรับจัดสวนของเพื่อน

“หลักการเลือกต้นไม้ของผมคือดูแลง่ายและสวยนาน ถ้าสวยชั่วออกดอกเต็มต้นแบบไม้ยอดนิยมที่หมู่บ้านจัดสรรนิยมลงไว้ให้ลูกบ้าน ทั้งหูกระจง แคนา คูน กัลปพฤกษ์ หรือกระพี้จั่น ไม่เอานะ สวยจริง แต่ก่อนออกดอกจะทิ้งใบทั้งต้น ยิ่งเป็นต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball Tree) หรือที่คนมักเรียกว่า ต้นสาละลังกาทิ้งใบปีละ 3 รอบ ไม้พวกนี้ไม่ควรปลูกที่บ้าน”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

สักน้ำ เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

ชมพู่น้ำดอกไม้ เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

แล้วต้นไหนบ้างที่ปอแนะนำ

“ถ้าไม้ใหญ่พวกขี้เหล็ก ชะมวงก็ดีนะ ต้นใหญ่ใช้เป็นไม้ประธานในสวนได้ แถมยังได้กินด้วย พรรณไม้ไทยเจ๋งๆ ดีๆ มีเยอะมาก อย่าง สักน้ำ ผมปลูกติดกำแพงเลย ไม่มีปัญหารากชอนไช ทรงพุ่มเปลวเทียนให้ร่มเงาประมาณหนึ่ง” ปอพูดพลางชวนเราไปดูต้นจริง “ต้นนี้ปลูกมา 15 ปีแล้ว ไม่เคยต้องตัดแต่งกิ่งเลย ดูแลง่ายมาก เพราะผมขี้เกียจ (หัวเราะ) แล้วเก๋ที่มีดอกและกลิ่นหอมเหมือนจันทน์กะพ้อเลย เพราะเป็นพี่น้องสนิทกัน หรือต้นแปรงล้างขวด (ต้นหลิว) เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ปลูกในบ้านได้ ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ทรงพุ่มโปร่ง ถ้าอยากได้ไม้ผล ชมพู่น้ำดอกไม้ ก็น่าสนใจ เป็นชมพู่ป่า ลูกกินได้ให้คุณค่าทางอาหารสูง ผลสุกกลิ่นหอมคล้ายกุหลาบ ทรงพุ่มกลมเป็นอมยิ้ม ไม่ต้องตัดแต่งเลย”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

ปอผ่าสาม เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

ถ้าเป็นไม้ริมรั้วล่ะ ต้นไหนน่าสนใจบ้าง

“มุมมองนักจัดสวน ผมขอเชียร์ ต้นข่อย สวยดูดีมีระดับกว่าไทรเกาหลีเยอะ ไม่ว่าจะเทกซ์เจอร์ การสะท้อนแสงของใบ ขอบใบหยักสวย ที่สำคัญเลี้ยงง่ายมาก ปล่อยทิ้งขว้างได้ไม่ตาย แต่ถ้าปลูกแล้วได้ใช้ประโยชน์ด้วยก็ต้องต้นคริสตินา เป็นเสม็ดแดงชนิดหนึ่ง อยู่ในแฟมมิลีเดียวกับชมพู่ ยอดกินได้มีแอนติออกซิแดนซ์ช่วยเรื่องความอ่อนเยาว์

“อีกต้นที่ผมชอบมากคือ ต้นปอผ่าสาม ไม้ไทยแท้ ดอกเล็กออกเป็นช่อ เมล็ดมันคนกินได้นกกินได้ ข้อดีคือเป็นไม้ที่ทนสุดๆ ทนแดด ทนแล้ง ทนแฉะ ทนเค็ม” ปอร่ายคุณสมบัติต้นปอผ่าสามพลางหันมากระเซ้าเรา “จะต้องการอะไรมากกว่านี้อีก” แล้วทนน้ำท่วมไหม เราถามกลับไปให้เข้ากับสถานการณ์ก่อนหน้านี้ ปอหัวเราะ “ถ้าท่วมไม่นานก็พอไหว”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

เสี้ยวดงละคร เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

ส่วนไม้เลื้อย ปอชอบเสี้ยวดงละคร หรือส้มเสี้ยวเถา Phanera lakhonensis ไม้ไทยแท้จากริมฝั่งโขง ดอกสีชมพูอ่อนๆ หอมเหมือนดอกลิลลี่ ออกดอกเก่ง ใบไม่ใหญ่ เถาไม่รก

มาถึงเรื่องที่อยากให้กูรูปอช่วยเคลียร์ให้ชัด “ที่บอกว่าต้นไม้กันยุงได้ ก็จริงอยู่ แต่ต้องทุบให้กลิ่นออกนะ ถึงจะไล่ยุงได้ ปกติต้นไม้จะไม่ปล่อยกลิ่นนี้ออกมา เพราะมันเก็บไว้ป้องกันตัว” แล้วไม้กันงูล่ะ “ผมเป็นศิษย์รุ่นแรกของสถานเสาวภา ผ่านคอร์สจับงูพิษมาแล้ว ขอยืนยันว่าต้นไม้กันงูได้ไม่มีจริง ส่วนที่พูดกันว่างูกลัวมะนาว ผมอยากบอกว่าเคยมีคนถูกงูกัดตายในสวนมะนาวมาแล้ว แต่ถ้าต้นไม้ที่งูไม่ค่อยชอบล่ะก็พอมี เช่น ถ้าไม่พุ่มก็กลุ่มการะเกดหนู ใต้ใบมีหนามเล็กๆ เรียงกันสะเปะสะปะแต่แน่น ถ้าเป็นไม้เลื้อยก็มีเหลืองชัชวาล (Cat’s Claw) มีเถา (Tendril) เป็นหนวดเล็กๆ ตรงปลาย เป็นเหมือนมือเอาไว้เกาะเกี่ยว ลองใช้นิ้วแตะแล้วรูดดูจะมีความคมเล็กๆ คล้ายเล็บแมว แต่ไม่ถึงกับบาดมือ งูเลยไม่ชอบ”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

เปิดไซเรนต้นไม้ที่เผชิญวิกฤต

ปอบอกเราว่า ป่าที่น่าห่วงสุดคือป่าชายหาด ด้วยลักษณะเฉพาะที่ดูคล้ายป่าเสื่อมโทรมจึงมักถูกละเลย หรือไม่ก็ได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้อง อย่างที่ชาวบ้านนำต้นสนไปปลูกเพื่อเพิ่มทัศนียภาพ โดยไม่รู้ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง

“สนไม่ใช่ไม้ของป่าชายหาด พอใบร่วงจะทำให้โครงสร้างดินเปลี่ยน เคยกินขนมถั่วแปบ ขนมด้วง หรือปลากริมไข่เต่าไหม จะให้อร่อยต้องใส่แป้งเท้ายายม่อม และแป้งนี้ถ้าของจริงต้องทำจากต้นเท้ายายม่อม ซึ่งต้องปลูกในดินทรายชายหาด พอเอาต้นสน ต้นกระถินเทพาไปปลูก สภาพดินเปลี่ยน เท้ายายม่อมก็อยู่ไม่ได้

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

ผมอยากให้คนทั่วไปรู้จักระบบนิเวศชายหาดให้มากขึ้นว่าไม่ได้มีแค่ผักบุ้งทะเล มะพร้าว หรือต้นสนนะ ยังมีหญ้าลอยลม ที่ใบงอกจากต้นแล้วม้วนแหลมเหมือนเม่นทะเลทำให้กลิ้งบนทรายหรือที่ที่มีน้ำท่วมขังของป่าชายหาดได้ เป็นพืชที่เท่มาก”

ปอยังให้มุมมองส่วนตัวเกี่ยวกับป่าว่า “ผมคิดว่าคนเข้าไปยุ่งกับป่ามากเกินไป อย่างการวิ่งเทรลในอุทยานแห่งชาติ ทั้งที่เป็นพื้นที่บอบบางมาก บนพื้นมีไม้กินแมลงซ่อนอยู่ แต่มันเล็กมาก มองตาเปล่าไม่เห็น ส่วนป่าคือพื้นที่อนุรักษ์น้ำที่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำฝายกั้นมัน เพราะฝายจะทำให้ระบบนิเวศของป่าเปลี่ยนไป ต้องปล่อยป่าให้อยู่ตามธรรมชาติ แม้แต่โครงการปลูกป่าก็ไม่ต้อง เพราะการนำไม้ต่างถิ่นเข้าไป จะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไปในอนาคต”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

หูช้าง เครดิตภาพ : กิตติธัช วุฒิพันธ์

 

ในฐานะคนรักต้นไม้ ปอสนใจต้นไม้หายากด้วย ปอเล่าถึงการไปช่วย ต้นหูช้าง (Limahlania crenulata หรือ Cabbage Tree) ให้รอดตายได้อย่างหวุดหวิด “มีคนโพสต์รูปต้นไม้แล้วถามเข้าไปในเพจนี่ต้นอะไร ผมเห็นแล้วจำได้ว่าคือต้นหูช้าง ใบเหมือนกะหล่ำปลีอยู่บนยอดไม้ และยาวเกือบ 2 ฟุต ลำต้นมีหนามแหลมอยู่ทั่ว เป็นไม้ถิ่นทางใต้ เลยรีบติดต่อหลังไมค์ไปถามรายละเอียดจนรู้ว่า ต้นนี้อยู่แถวราษฎร์บูรณะ และกำลังจะถูกโค่นเพราะจะถมที่สร้างคอนโด วันที่ไปขุดล้อมช่วยมาก็ฉุกละหุกมาก เพราะใกล้ค่ำแล้วแต่รถถมดินมาถึงล่ะ ผมกับเพื่อนเลยรีบช่วยกันล้อมออกมาได้ทัน ส่วนหูช้างต้นแม่ กทม.รับเรื่องและเข้ามาดูแลอนุรักษ์ไว้ นี่เป็นหูช้าง 3 ต้นสุดท้ายในกรุงเทพฯ ซึ่งตัวอย่างช่อดอก ผล และใบ ได้ส่งไปเก็บเป็นข้อมูลทางวิชาการอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พืชกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว”

ปกติถ้าปอไปสำรวจต้นไม้แล้วเจอไม้หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ก็จะส่งข้อมูลหรือส่งต่อให้มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสวนหลวง ร.9 ได้อัปเดตฐานข้อมูลหรือเพาะขยายพันธุ์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป “ตอนผมปีนผาหินสำรวจต้นไม้ที่กระบี่ เจอเมล็ดต้นน้ำเต้าผี (Alsomitra Macrocarpa) ซึ่งเป็นไม้เถาเลื้อยอยู่สูงเป็นสิบๆ เมตร เราแทบไม่มีโอกาสได้เก็บตัวอย่างช่อดอกหรือใบเลย แต่ครั้งนั้นเมล็ดตกอยู่ที่ซอกหินพอดี เลยเก็บมาได้ ความพิเศษของมันคือเป็นเมล็ดที่บินได้เหมือนผีเสื้อเพื่อกระจายพันธุ์ นึกภาพผลแห้งแตกออกข้างในมีชั้นฟองน้ำนุ่ม เมล็ดเรียงกันแน่น มีปีกบางสองข้างคล้ายผีเสื้อ สวนพฤกษศาสตร์ทั่วโลกมีหมด แต่บ้านเรายังไม่มีทั้งที่เป็นไม้บ้านเรา ล่าสุดทราบจากสวนหลวง ร.9 ว่าต้นที่ผมเพาะจากเมล็ดที่เก็บได้แล้วนำต้นไปมอบให้ ตอนนี้ออกดอกแล้ว ได้แต่รอลุ้นว่าเมื่อไหร่จะติดเมล็ด”

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

สุดท้ายปอฝากไว้ว่า “ผมไม่อยากให้ยึดติดกับชื่อมงคลที่คนขายตั้งขึ้นมาหวังผลทางการตลาด เราต้องมีสติ ไม่มีจริงหรอกครับ ปลูกแล้วเมตตามหานิยม เหนี่ยวนำโชคลาภ ร่ำรวยเงินทอง มันจะเป็นไปได้ยังไง ในเมื่อต้นไม้เองยังเอาตัวแทบไม่รอดเลย แล้วความรู้ในตำราบันทึกไว้ในชื่อเดิม ถ้าเราไปเปลี่ยนชื่อแล้วเรียกต่อๆ กัน ต่อไปคนที่รู้จริงก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป ความรู้ที่เคยมีก็หายไปด้วยเพราะไม่รู้ว่าแท้จริงต้นนี้ชื่ออะไร อย่างจิกนมยาน ต้นสวยมากเลย ตอนออกลูกจะเหมือนเต้านมแล้วปลายเหมือนหัวนม คนโบราณเลยเรียกจิกนมยาน ก็มาเปลี่ยนเป็นจิกเศรษฐี หรือเฉียงพร้านางแอ เป็นต้นไม้ที่น่าสนใจมาก เป็นพี่น้องสายพันธุ์เดียวกับต้นโกงกาง แต่ปล่อยญาติอยู่ชายเลน ตัวเองหนีขึ้นเขา ไปตายเอาดาบหน้า เป็นไม้สวย เลี้ยงง่าย ทนทาน ไม่มีปัญหาใบร่วง แม่ค้าเปลี่ยนชื่อเป็นต้นมั่งมีแล้ว

จากการช่วยต้นหูช้าง ปอเลยอยากฝากถึงการตัดต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ใหญ่ที่ไม่รู้จัก ควรปรึกษารุกขกรหรือผู้รู้ก่อน อย่างน้อยลองโพสต์ถามในเพจนี่ต้นอะไรก่อนก็ไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร เป็นอีกทางที่จะช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ไม่ให้สูญพันธุ์

ปอ - กิตติธัช วุฒิพันธ์

คุยกับปอครั้งนี้ ทำให้เรารู้สึกรักและหวงต้นไม้ขึ้นเยอะ ยิ่งต้นไม้ที่อยู่มานานก็มีคุณค่าไม่ต่างจากโบราณสถาน เป็นสิ่งมีชีวิตที่บันทึกเรื่องราวในอดีตผ่านการดำรงอยู่ของมัน เป็นเรื่องเศร้าและน่าเสียดายมาก หากต้องถูกตัดโค่นไปเพียงเพราะคนไม่รู้จักว่ามันคือต้นอะไร มีประโยชน์หรือสำคัญอย่างไร

ลองกลับไปสำรวจสวนที่บ้านกันดู ใครจะรู้ อาจมีไม้เก่าแก่โบราณที่เปรียบเหมือนญาติผู้ใหญ่ยืนต้นรอลูกหลานกลับไปดูแลอยู่ก็ได้นะ

Tags: