About
RESOUND

Charoenkrung Revival

พรทิพย์ อรรถการวงศ์ กับภารกิจ ATT 19 อาร์ตแกลเลอรีที่ปลุกชีวิตเจริญกรุงด้วยงานศิลปะ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ATT 19 แกลเลอรีที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร ภายใต้การดูแลของ มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ กับการเปลี่ยนอดีตโรงเรียนให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ ผสมกับอิทธิพลของครอบครัวที่สร้างตัวตนให้สถานที่แห่งนี้ ต่อยอดสู่การเป็นพื้นที่จัดแสดงศิลปะที่ต้องการให้ทุกคนเข้าถึงได้ และส่งต่อความรู้ให้กับทุกคน

ย่านเจริญกรุงถือว่าเป็นแหล่งรวมแกลเลอรีศิลปะมากมาย และหนึ่งในนั้นมีแห่งหนึ่งที่น่าสนใจแฝงตัวอยู่ในซอยเจริญกรุง 30

ผมยังจำความรู้สึกที่เดินมายังสถานที่แห่งนี้ได้ดี เพราะว่าเปิด Google Map แต่ดันหาไม่เจอว่าอยู่ตรงไหน? ก่อนจะตัดสินใจเดินเข้าตรอกแคบๆ ไปตามจุดของแผนที่ เพื่อเข้าไปเจอประตูลวดลายคล้ายเทพเจ้าจีน มองเข้าไปข้างในเป็นร้านกาแฟ และหันไปอีกฝั่งทางซ้ายเป็นพื้นที่คล้ายสถานที่เก็บของเก่า ทำให้ถึงกับงงว่า แล้วแกลเลอรีอยู่ตรงไหนในสถานที่แห่งนี้?

ที่นี่คือ ATT 19 แกลเลอรีที่มีความแตกต่างไม่เหมือนใคร แค่จากความทรงจำแรกของผมก็ยิ่งชัดเจนว่าที่นี่ไม่เหมือนกับพื้นที่จัดแสดงศิลปะแห่งอื่นที่เคยไปเยือน ความโดดเด่นของสถานที่แห่งนี้คือที่มาของบทความนี้ แม้ว่าเวลาผ่านไป ผมจะเริ่มรับรู้ถึงตัวตนอันมีเอกลักษณ์ของที่นี่ แต่ก็ยังมีคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ

ทั้งประตูลวดลายเทพจีนที่ดูไม่เกี่ยวอะไรกับอาคารที่มีความโมเดิร์น หรือห้องเก็บของเก่าที่แท้จริงคือร้านขายของ ไปจนถึงร้านกาแฟที่คนเข้าออกอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างมารวมตัวกันเป็น ATT 19 ได้อย่างไร?

คนที่ให้คำตอบเราได้ดีที่สุดคือคนที่ดูแลสถานที่แห่งนี้ อย่าง มุก-พรทิพย์ อรรถการวงศ์ ซึ่งเธอนิยามตัวเองว่า เป็นทั้งเจ้าของและภัณฑารักษ์จำเป็นของ ATT 19

คำบอกเล่าของเธอทำให้เราเข้าใจตัวตนของที่นี่ ซึ่งได้คำตอบที่ช่วยให้หายสงสัยแน่นอนว่า แกลเลอรีที่แตกต่างแห่งนี้หล่อหลอมจนกลายเป็นพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ตัวตน และอุดมการณ์ที่ชัดเจนได้อย่างไร?

ATT 19

จากโรงเรียนสู่การตามหาตัวตน

ที่มาที่ไปทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นกับสถานที่ซึ่งผู้เขียนนั่งคุยกับมุก แต่เป็นตึกที่อยู่ข้างๆ อย่าง Lek Gallery Art ซึ่งเป็นแกลเลอรีของ พรเทพ-จรรยา อรรถการวงศ์ คุณพ่อและคุณแม่ของเธอ ที่เป็นจุดเริ่มต้นแท้จริงของสถานที่อย่าง ATT 19

“ที่ตั้งของ ATT 19 สมัยก่อนเป็นโรงเรียนอาทรศึกษา เป็นโรงเรียนธรรมดาตอนกลางวัน ตอนกลางคืนเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน กับครอบครัวของเราก็เหมือนเป็นเพื่อนบ้าน แชร์รั้วบ้านกัน ซึ่งประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนเริ่มซบเซา มีจำนวนนักเรียนน้อยลง ทำให้ทางโรงเรียนเข้ามาคุยกับคุณพ่อ

“โจทย์จริงๆ ของโรงเรียนตอนนั้นไม่อยากให้ทุบอาคารทิ้ง นี่คือเหตุผลที่เข้ามาหาครอบครัวเราก่อน ก็คิดเหมือนกันว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ เพราะเราก็ไม่ได้มีกำลังซื้อมากมายอะไร ถ้าจะซื้อก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปเหมือนกัน

ATT 19

“สุดท้ายเราก็ซื้อมา เพราะคุณพ่อเป็นสถาปนิก ชอบโครงสร้างของตึก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็รู้ว่าคงไม่ได้บริหารที่นี่ ก็เลยยกให้มุกกับพี่สาว (พันธ์ทิพย์ อรรถการวงศ์) ดูแลแทน”

จากการพูดคุยกันในครอบครัวอรรถการวงศ์ ได้ตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนอาทรศึกษา ให้กลายเป็นแกลเลอรีแห่งที่ 2 ของตระกูลในซอยเจริญกรุง 30 อย่างไรก็ตาม มุกบอกกับเราว่า ทั้งสถานที่และไอเดียของ ATT 19 ที่เรามองเห็นและสัมผัสได้ในตอนนี้ ไม่เหมือนกับ ATT 19 ในวันที่เริ่มต้นอย่างสิ้นเชิง

“ที่ที่เรานั่งคุยกันอยู่ (พื้นที่ส่วนของร้านกาแฟ) สมัยก่อนเป็นลานจอดรถกับลานออกกำลังกายของเด็กๆ ถ้าไม่บอก หลายคนก็คิดว่าเป็นแบบนี้อยู่แล้ว แต่จริงๆ เราปรับปรุงใหม่หมด ใช้เวลาประมาณ 2 ปี”

มุกบอกว่า หากไม่เคยเห็นสถานที่แห่งนี้ก่อนจะรีโนเวตใหม่ คงนึกไม่ออก แน่นอนว่าโครงสร้างด้านสถาปัตยกรรมของ ATT 19 เปลี่ยนไปมากแค่ไหน เธอยกเครดิตเรื่องนี้ให้กับคุณพ่อของเธอ ซึ่งปกติก็ออกแบบให้ทุกร้านในครอบครัวอรรถการวงศ์

“เมื่อก่อนเป็นแค่เรือนไม้ซึ่งเราจะเห็นโครงสร้างดั้งเดิมอยู่ เราเริ่มต้นจากตรงนั้น ต่อเติมเพิ่มขึ้นมา ความตั้งใจของคุณพ่อ อยากสร้างให้เหมือนว่าเป็นแบบนี้มาตั้งแต่แรก ทำให้เราใช้วัสดุเดิมในการก่อสร้างต่อหมดเลย ก็ไปแกะกันมา แล้วก็รียูสวัตถุดิบเก่าของบ้านมาต่อเติมใหม่ด้วย

ATT 19

“ส่วนไอเดียในตอนแรกต้องบอกก่อนว่า แกลเลอรีของคุณพ่อคุณแม่เป็นเหมือนร้านขายของเก่าสะสม เวลาทำงาน เขาจะชินกับการนัดล่วงหน้า เช่น วันนี้มีลูกค้าติดต่อเข้ามา 3 คน ก็รับแค่ 3 คน ไม่รับคน วอล์กอินอะไรแบบนี้ จะไม่ชินกับการทำพื้นที่ให้เป็น Public Space หรือพื้นที่เพื่อสังคมเท่าไหร่

“ตอนแรกเราวางแผนจะเปิดเป็นร้านขายของเกี่ยวกับศิลปะในราคาไม่แพง ผสานกับธุรกิจครอบครัวคือพี่สาวมุกเป็นเชฟก็เปิดร้านอาหาร ส่วนตัวมุกมีแบรนด์แฟชั่นของตัวเอง จริงๆ ทำงานด้านแฟชั่นมาก่อนจะมาทำตรงนี้

“แต่ด้วยความที่จุดประสงค์ที่เราซื้อที่นี่คือต้องการจะรักษาตึกเอาไว้ ทำให้พอทำจริง ก็เหมือนไม่ได้มีเป้าที่ชัดเจนว่าอยากทำอะไรกับตรงนี้กันแน่”

ATT 19

ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือไม่ การเปิดตัวของ ATT 19 มาพร้อมกับช่วงการจัดงาน Bangkok Design Week 2019 ทำให้แกลเลอรีน้องใหม่ (ในเวลานั้น) เข้าร่วมงานนี้ และเปิดโอกาสใหม่เข้ามาอีกมากมาย

“คนมาเยอะมากเลยนะ ส่วนหนึ่งด้วยความเป็นดีไซน์วีก อีกส่วนคือช่วงที่ปรับปรุงที่นี่ เราปิดไปนาน คนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น รู้แค่ว่าโรงเรียนปิด แต่ไม่รู้ว่าทำอะไร เพราะเราใช้ทีมงานเล็กๆ ของที่บ้านมาช่วยกันสร้าง

“พอสุดท้ายเปิดตัวเป็นอาร์ตสเปซแห่งใหม่ คนก็สนใจ ซึ่งเรารู้สึกดีนะ เพราะเวลาร่วมกับดีไซน์วีก เราเปิดพื้นที่ให้ศิลปินทุกคนใช้ฟรี ซึ่งเราอยากทำแบบนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

“อันนี้ต้องให้เครดิตพี่เชอ พี่สาวของมุกนะ ที่พาเราไปเข้ากับดีไซน์วีก ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับผู้คนเยอะมาก เหมือนกับเราไม่ได้เปิดเป็นไพรเวตแกลเลอรีแบบทั่วไป

“การที่เราได้เจอกับคนหลากหลาย ทำให้ได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว พื้นที่ในการดูผลงาน ขาดหายไปมากในเมืองไทย”

ATT 19

แกลเลอรีที่ต้องการสร้างโอกาส

แม้จะเรียกว่าแกลเลอรี แต่ที่นี่ไม่ได้โชว์แค่นิทรรศการศิลปะบนพื้นที่ชั้น 2 เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่พิเศษคือบริเวณชั้น 1 ของส่วนแกลเลอรี ยังมีผลงานมากมายหลากหลายรูปแบบ ทั้งของเก่า เฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะแฮนด์เมด เสื้อผ้าแฟชั่นสุดจัดจ้าน รวมถึงข้าวของอีกมากมายเต็มไปหมด

ผู้เขียนยังจับความรู้สึกที่มา ATT 19 ครั้งแรกได้ดี บริเวณชั้น 1 ของที่นี่เหมือนห้องเก็บของขนาดใหญ่ที่มีของมากมาย ซึ่งเต็มไปด้วยคาแรกเตอร์สมกับเป็นอาร์ตสเปซ มีความน่าสนใจ มีเรื่องราว มีความแปลกใหม่ให้เราค้นหาเต็มไปหมด

ATT 19

บางครั้งของพวกนี้ก็ไปแฝงตัวอยู่ในนิทรรศการที่จัดแสดงบนชั้น 2 บางชิ้นดูสวยกลมกลืนจนนึกว่าเป็นผลงานของศิลปินเอง ซึ่งพื้นที่ชั้น 1 อาจเรียกว่าเป็นหัวใจของ ATT 19 ที่ทำให้สถานที่แห่งนี้มีคาแรกเตอร์โดดเด่นไม่เหมือนที่ไหน และที่สำคัญได้กลายเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์หลายต่อหลายคน

“ตอนเรียนอยู่เมืองนอก ก็ไม่รู้อะไรหรอก แต่พอกลับมาเมืองไทย ได้เห็นภาพที่เปรียบเทียบกัน … ณ วันที่เราเปิด ATT 19 รู้สึกว่า แกลเลอรีมีความปิดกั้นอยู่ คือทุกวันนี้ดีขึ้นมากนะ แต่ย้อนกลับไปตอนนั้น เรารู้สึกว่าคนไทยรู้สึกไม่ค่อยสบายใจที่จะเดินเข้าไปในแกลเลอรีศิลปะ

ATT 19

“ช่วงเปิดปีแรก มีเด็กเปิดประตูแต่โผล่แค่หัวเข้ามาถามว่า ‘พี่คะ ที่นี่เข้าได้ไหมคะ?’ บ่อยมาก หรือน้องนักเรียนถามว่า ‘ที่นี่นักเรียนเข้าได้ไหมคะ?’ ยิ่งทำให้อยากทลายกำแพงที่ว่าแกลเลอรีเป็นสถานที่น่ากลัว

“เราทำพื้นที่ตรงนี้ มีความคิดหนึ่งคืออยากทำให้รู้สึกเหมือนบ้าน เปิดบ้านให้คนรู้ว่า ครอบครัวเราชอบอะไร ซึ่งครอบครัวเราสะสมของเก่าแต่ไม่ใช่ของที่แพงหรือมีราคามีมูลค่าสูง แต่เป็นของที่มีมูลค่าทางใจ ให้เห็นการใช้ชีวิตกับศิลปะ ให้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ของสังคมด้วย”

มุกบอกกับเราว่า ในช่วงแรกที่ ATT 19 เปิดตัว มีกลุ่มนักศึกษาและวัยรุ่นแวะมาดูผลงานที่นี่เป็นจำนวนมาก ยิ่งทำให้เธอเชื่อว่า ประเทศไทยยังขาดพื้นที่การแสดงผลงานทางศิลปะ เธอมองไปที่ตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานชาวไทยมากขึ้น จนขยับเป็นการสร้าง ‘โอกาส’ ในระดับต่อไปของแกลเลอรีแห่งนี้

ATT 19

“ตอนแรกหลักการเรายังไม่ได้เข้มแข็ง เราก็เลือกแต่ศิลปินที่ชอบ” มุกเล่าถึงเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินมาจัดนิทรรศการที่ ATT 19

“แต่พอมาระยะหลังรู้สึกว่าต้องให้โอกาสศิลปินไทยก่อน กลายเป็นหลักการของเราที่อยากสนับสนุนศิลปินไทย อยากให้สิ่งที่คนไทยทำซึ่งคนอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนคนต่างชาติก็ต้องมีความพิเศษจริงๆ ถึงจะนำงานมาแสดงที่นี่ได้”

ผู้เขียนเคยเข้าชมงานของศิลปินจากนิวยอร์ก อย่าง Craig Ancelowitz  ซึ่งมาจัดแสดงที่ ATT 19 มุกเล่าให้ฟังว่า ที่เธอหยิบงานของ Craig มาจัดแสดง เพราะนิทรรศการของเขาเล่าถึงความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ซึ่งผู้เขียนที่ผ่านการดูงานของ Craig มาแล้ว ก็เข้าใจได้ไม่ยาก Craig Ancelowitz นักธุรกิจในร่างศิลปินจากนิวยอร์กที่เชื่อมโลกสองใบด้วยกระดาษญี่ปุ่นโบราณ

“สำหรับงานนิทรรศการศิลปะ เราจัดโชว์ที่นี่ บริเวณชั้น 2 ไม่คิดค่าเช่า ทำแบบนี้มาตั้งแต่เริ่ม ไม่คิดค่าเช่า ไม่คิดค่าติดตั้ง ไม่คิดค่าพีอาร์ คือศิลปินจัดโชว์ฟรี”

ATT 19

ตัวตนของ ATT 19

การมอบโอกาสให้ศิลปินและผู้สนใจศิลปินชาวไทย คือหนึ่งในตัวตนที่ชัดเจนของแกลเลอรีแห่งนี้ แต่ขณะเดียวกันมุกก็เล่าถึงความยากในการทำงานของเธอให้ฟัง เนื่องจากที่นี่จะเลือกศิลปินที่จะเข้ามาจัดนิทรรศการด้วยตัวเองทั้งหมด ทำให้ไม่ใช่การตัดสินใจได้ง่ายๆ บางครั้งจำต้องปฏิเสธผลงานที่น่าสนใจของศิลปินหลายคนไป

“มุกคิดว่าเทสครอบครัวเราค่อนข้างชัด คือชอบของเก่าผสมของใหม่ เหมือนเรื่องพวกนี้มันสร้างมาตั้งแต่เด็กแล้ว ด้วยความที่คุณพ่อกับคุณแม่เป็นคนให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์มาก แต่ก็ชอบเอาของเก่ามาทำงานให้เป็นของชิ้นใหม่ด้วยเหมือนกัน

“มีการปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่บ้างเวลาเลือกศิลปิน บางครั้งก็ไม่เห็นด้วยกับเรานะ แต่ว่าเราก็มีโจทย์เหมือนกัน คืออยากจัดโชว์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่งานที่มีแต่เด็กเรียนศิลปะ เด็กเรียนออกแบบ หรือเด็กเรียนสถาปัตย์เข้ามาดูแล้วเข้าใจ แต่พี่ที่ขี่วินมอเตอร์ไซค์ก็ต้องเข้าใจว่าคืออะไร

ATT 19

“มีวันนึงนั่งวินมาทำงานที่นี่ เขาก็ถามนะว่า ‘ข้างในคืออะไร?’ เราตอบว่า ‘ข้างในจัดแสดงงานศิลปะ’ เขาถามต่อว่า ‘พาลูกมาดูได้ไหม’ เราก็ตอบ ‘พามาได้เลย’ อะไรแบบนี้

“ด้วยความที่สัมผัสกับคนหลายแบบ เรารู้สึกว่าสิ่งนี้คือตัวกรองที่ทำให้งานศิลปะที่จัดที่นี่ต้องทำให้คนเข้าถึงง่ายที่สุด เหมือนเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่ง คือเราอยากให้งานศิลปะเป็นมิตรกับทุกคน เป็นพื้นที่ที่ใครมาดูก็ไม่ต้องรู้สึกกดดัน

“จะต้องไม่มีความรู้สึกว่า ATT 19 จะต้องได้อะไรจากคนที่มาที่นี่ ต้องไม่มีอะไรแบบนั้นที่แกลเลอรีนี้ อยากให้ทุกคนเข้ามาได้ และกลับไปโดยที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเลย

ATT 19

“เคยมีคนถามเหมือนกันนะ ทำไมไมเก็บค่าเข้าชม? แต่เรามองภาพที่ใหญ่กว่านั้น อยากให้วงการศิลปะและศิลปินได้รับการสนับสนุนจากคนทั่วไป

“ความเป็นจริงคือคนที่ชอบงานศิลปะและซื้อผลงานได้จริง มีน้อย แต่ยังมีคนที่เขาชอบผลงานแต่จ่ายไม่ได้อยู่ เพราะฉะนั้น การที่เราเปิดกว้างให้เข้ามาชมฟรี สำคัญมากสำหรับเรา

“ถ้าพูดในเชิงธุรกิจให้ลึกลงไป ศิลปินส่วนใหญ่ที่เรานำงานมาจัดแสดง เป็นเหมือนมือใหม่ คนที่เพิ่งเปิดตัวในวงการศิลปะ ไม่ใช่คนมีชื่อเสียงอะไร เพราะเราอยากจะโปรโมตให้คนเห็นว่า มีศิลปินแบบนี้อยู่นะ มีคนอยู่เบื้องหลังผลงานพวกนี้

ATT 19

“เราไม่อยากให้เอาคนดังมาจัดงานแล้วโฟกัสที่การซื้อผลงานของคนนั้นไปเก็บสะสมอย่างเดียว อยากให้คนสนับสนุนงานของศิลปิน เพราะความเป็นตัวตนของเขา อยากให้ชีวิตของคนสะท้อนผ่านผลงานพวกนี้ด้วย ให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของเขา

“เราแค่อยากโชว์งานที่เจ๋งที่สุดที่เป็นของคนไทย และก็ทำงานส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด เราเชื่อว่าสุดท้ายพอคนเห็น จะเข้ามาสนับสนุนเราเอง

“เราเชื่อว่างานที่แสดงเกี่ยวกับงานฝีมือของความเป็นมนุษย์ ห็นการสนับสนุนของกันและกันอยู่ในเนื้องาน คิดว่าพอคนมาที่นี่ เขาเห็นตรงนั้น ทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย เชื่อใจ และอยากสนับสนุนเรา

“การสนับสนุนคืออะไรก็ได้นะ อุดหนุนกาแฟของเราก็ได้ แม้แต่การพูดบอกปากต่อปากเกี่ยวกับที่นี่ หรือการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นการสนับสนุนเหมือนกัน”

ATT 19

ร้านขายของในร่างห้องเก็บของเก่า

พูดถึงมุมทางธุรกิจ แท้จริงแล้ว ATT 19 มีช่องทางในการหารายได้ที่ชัดเจนคือร้านขายของบริเวณชั้น 1 ซึ่งมีของมากมายให้เลือกซื้อ ตั้งแต่ราคาย่อมเยา ไปจนถึงของหลายพันบาท

ผู้เขียนบอกเล่าถึงพื้นที่แห่งนี้ไปแล้วในช่วงต้นของบทความ แต่ไม่เฉลยว่า แท้จริงแล้วส่วนนี้คือร้านขายของไม่ใช่ห้องเก็บของเก่า เพราะนี่คือประสบการณ์จริงของผู้เขียนที่เดินทางมา ATT 19 ในครั้งแรกๆ ไม่รู้เลยว่าที่นี่คือร้านขายของ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ได้มาที่นี่และเดินดูของไปเรื่อยๆ จนสังเกตเห็นว่าด้านหลังมีราคาซ่อนอยู่ และเมื่อลองหยิบของต่างๆ ออกมาดูแบบจริงจัง ก็พบว่าของที่จัดโชว์อยู่เกือบทุกชิ้นมีราคาบอกไว้ทั้งสิ้น

ATT 19

“ทำไมถึงเลือกทำแบบนี้ เพราะพูดตรงๆ มีโอกาสที่ของจะขายไม่ได้นะ ถ้าเกิดคนไม่รู้ เพราะไม่มีป้ายหรือใครมายืนบอกว่า ตรงนี้คือร้านขายของ ไม่ใช่ห้องเก็บของเก่า” ผู้เขียนถามคำถามกับมุก ในฐานะเรื่องที่ค้างคาใจที่สุดส่วนตัวกับสถานที่แห่งนี้

“ทำไมถึงทำแบบนี้เหรอ … คงเพราะเราเชื่อมั่นในตัวเองนะ” มุกตอบ “เราตั้งใจว่าคนที่เดินเข้ามาถึงจะไม่ซื้อ อย่างน้อยก็มีความสุข

“ใช่ คนที่มาบ่อยจะสังเกตเห็นเองว่าตรงนี้มีของขาย คนที่มาที่นี่หลายรอบบางทีก็เหมือนมาตามหาว่า ที่นี่มีอะไรใหม่เข้ามาบ้าง เหมือนกลายเป็นการตามหาสมบัติ เพราะของที่นี่เราจัดใหม่ตลอด แต่จัดให้ดูคล้ายเดิมตลอดเหมือนกัน

ATT 19

“มันเหมือนกับ If you know, you know แบบนั้นเลย เพราะเราอยากจัดให้ส่วนนี้เหมือนบ้าน คือคนที่เขาจะมาซื้อก็ซื้อไป คนที่ไม่ได้จะซื้อก็แค่มาดู เราไม่อยากกันใครออกไป ไม่อยากให้ที่นี่เหมือนร้านขายของที่คนจะต้องมาดูสินค้า แล้วมีคนมายืนกดดัน อะไรแบบนั้น

“ด้วยความที่เราเป็นคนเรียนแฟชั่นมาก่อน สมัยอยู่นิวยอร์ก ก็ชอบไปร้านแบรนด์ดังๆ ไปพลิกดูเสื้อผ้าแบรนด์เป็นแสน เขาเย็บตะเข็บยังไง ซึ่งที่นู่นจะเข้าใจว่า ‘อ๋อ นี่คือพวกเด็กแฟชั่นมาดู’ เขาก็จะไม่ยุ่ง และมันคือพื้นที่หาความรู้นะ

“เราแค่อยากให้พื้นที่แบบนี้กับใครหลายคน ให้ตรงนี้เป็นพื้นที่หาความรู้ บางทีเขาอาจจะต่อยอดไปเป็นดีไซเนอร์ชื่อดังก็ได้นะ คือเราอยากสร้างพื้นที่ให้เป็นมิตรกับทุกคน เป็นรากฐานที่แข็งแรงให้กับศิลปินและคนรุ่นใหม่ในวงการศิลปะ”

ATT 19

ไม่ใช่แค่สถานที่แต่เป็นผู้คน

นอกจากส่วนของจัดแสดงงานศิลปะ อีกส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือร้านกาแฟของ ATT 19 สถานที่ซึ่งคนเข้าออกเยอะไม่แพ้กับส่วนของแกลเลอรี

มุกเล่าว่า ที่นี่คุณแม่มีบทบาทสำคัญ เพราะทำเค้กมาวางขายที่นี่ทุกวัน แสดงความผูกพันและตัวตนของครอบครัวอรรถการวงศ์ได้เป็นอย่างดี แถมยังมีความหมายมากกว่านั้น

“เมื่อก่อนตรงนี้เป็นบาร์ของพี่สาว แต่พอเจอ COVID-19 ก็ไม่ได้ทำต่อ แล้วพอช่วงหมดการระบาด คุณแม่อินกับการทำเค้กพอดี ก็เลยมาเปิดเป็นคาเฟ่ดีกว่า

“บวกกับช่วง COVID-19 อีกเหมือนกัน ร้านอาหารของคุณพ่อคุณแม่ปิดตัวไป เพราะพ่อครัวเสียชีวิต แล้วพี่ๆ ในร้านอีก 2 คน ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร เพราะเขาทำร้านอาหารมาตลอด ก็เลยเปิดคาเฟ่ พี่ทั้ง 2 คนจะได้มาทำงานด้วย

ATT 19

“อีกมุมคือ ATT 19 ก่อนหน้านี้ไม่มีที่นั่ง บางทีผู้สูงอายุมาไม่มีที่นั่งพัก เลยเปิดตรงนี้ให้มีที่ให้คนได้นั่งด้วย จริงๆ ส่วนด้านหลังก็จะเป็นร้านไฟน์ไดนิงของพี่สาวมุกด้วย แต่จะเปิดแค่เสาร์-อาทิตย์

“ทุกวันนี้บางคนมาที่นี่ แค่มาคาเฟ่ไม่ไปส่วนแกลเลอรีก็มีเหมือนกัน แต่เราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดที่นี่จริงๆ ก็เหมือนกับส่วนอื่นของ ATT 19 พื้นที่ตรงนี้สร้างขึ้นจากการที่เราได้เจอผู้คน บางทีคนมาแกลเลอรีแล้วพูดว่า ‘อยากได้ที่นั่งพัก’ หรือตอนแรกคาเฟ่เราไม่ได้ขายอาหาร แต่ลูกค้าบอกว่าอยากกิน เราก็เริ่มทำเมนูง่าย ๆแบบสลัดไก่ขึ้นมา อะไรแบบนี้

ATT 19

“ถ้าคนไม่พูด เราคงไม่ทำ หลายอย่างที่นี่เป็นแบบนั้น แต่ก็ดีนะ เหมือนกับว่าที่นี่สามารถเติมเต็มคนที่เข้ามาเยือนได้จริงๆ”

มาถึงตรงนี้ได้เห็นตัวตนของ ATT 19 แบบครบถ้วน แต่ก่อนจะปิดบทสนทนา ผู้เขียนถามคำถามสุดท้ายว่า “อยากให้คนนอกมอง ATT 19 แบบไหน?” กับคนที่ปลุกปั้นสถานที่แห่งนี้มายาวนานหลายปี มุกตอบคำถามสุดท้าย และสำหรับผู้เขียนนี่คือคำนิยามของสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างดี

ATT 19

“เรามอง ATT 19 เป็นพื้นที่ที่ให้ เราไม่ได้เพอร์เฟกต์ แค่อยากหยิบยื่นอะไรดีๆ ให้คนเอาไปต่อยอดแบบไม่ต้องซีเรียส คือไม่ต้องมาดูแล้วรู้สึก mind-blowing อะไรขนาดนั้น แค่ถ้า ATT 19 จัดเวิร์กช้อป แล้วได้มาเข้าร่วม แค่นั้นก็พอแล้ว

“ไม่ว่าจะมาใช้เวลาที่นี่ 30 นาที 1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมง แค่อยากให้ทุกคนรู้สึกสบายใจ ให้ ATT 19 เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย มาแล้วได้อะไรกลับไปทุกครั้งแบบสม่ำเสมอ นี่คือความสำเร็จแล้ว”

Tags: