

Khao Yai Mystery
ชม ‘ศิลป่า’ กลางเขาใหญ่ Khao Yai Art Forest สถานที่ชวนตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิต
- ONCE พาทุกคนเดินทางเที่ยว Khao Yai Art Forest แลนด์อาร์ตที่จัดแสดงผลงานศิลปะท่ามกลางเขาใหญ่ที่จะพาเราบุกตะลุยป่าตามหาความหมายของชีวิต พร้อมชิมอาหารอร่อยจากฝีมือของ เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์
เขาใหญ่คือหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเมืองไทย ด้วยบรรยากาศธรรมชาติที่งดงามและผ่อนคลาย อีกทั้งไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร นักท่องเที่ยวจำนวนมากจึงแพ็คกระเป๋าเดินทางไปหาช่วงเวลาดีๆ กับพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทยแห่งนี้
แต่รู้ไหมว่า มีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปในเขาใหญ่ ซึ่งเรานั่งรถจนหมดเขตถนนลาดยางเข้าสู่ถนนดินแดงลูกรัง จนสัญญาณมือถือหายไป เพื่อไปพบกับงานศิลปะระดับโลกที่รอเราอยู่
นี่คือ Khao Yai Art Forest หรือ เขาใหญ่อาร์ตฟอเรสต์ แลนด์มาร์กศิลปะที่ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่อันกว้างขวางรอบล้อมด้วยขุนเขา ที่มอบบรรยากาศความผ่อนคลาย เดินป่าชื่นชมธรรมชาติ และแง่คิดที่พาเรากลับมาทบทวนตัวเองรวมถึงโลกใบนี้อีกครั้ง
แมงมุมของความเป็นแม่
เราเริ่มต้นการเดินทางด้วยผลงานชิ้นแรกที่เดินทางมาถึงที่นี่ก็จะเห็นได้อย่างเด่นชัดทันที แถมยังเป็นผลงานศิลปะไฮไลต์ของที่นี่ด้วย เพราะเป็นครั้งแรกที่เจ้าผลงานชิ้นนี้ถูกจับมาตั้งท่ามกลางธรรมชาติแห่งนี้
นี่คือ Maman (มามอง) ประติมากรรมระดับตำนานของศิลปินผู้ล่วงลับชาวฝรั่งเศสอย่าง หลุยส์ บูชัว (Louise Bourgeois) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแมงมุมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความสูง 30 ฟุต และกว้างอีก 33 ฟุต
ตัวแมงมุมยักษ์นี้สร้างจากเหล็กสเตนเลสทั้งตัว พร้อมกับมีรังไข่ซ่อนอยู่ใต้ลำตัว โดยไข่ทุกชิ้นทำจากหินอ่อนจำนวนทั้งหมด 32 ชิ้น มีทั้งหมด 8 ตัวบนโลกเท่านั้น โดย 7 ตัวตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ระดับโลก และอีก 1 ตัวได้ย้ายมาพำนักชั่วคราวที่เขาใหญ่ของเรา
แม้ว่า Maman จะใหญ่โตมโหฬาร สิ่งที่ทำให้เจ้าแมงมุมตัวนี้กลายเป็นผลงานศิลปะระดับตำนานกลับไม่ใช่แค่เรื่องขนาดของมัน แต่เป็นความหมายอันลึกซึ้งที่ซ่อนอยู่ เนื่องจาก หลุยส์ บูชัว อุทิศผลงานชิ้นนี้ให้กับมารดาสุดที่รักของเขา
คำว่า Maman ในภาษาฝรั่งเศสแปลความตรงตัวคือ “แม่” ซึ่งตัวหลุยส์ บูชัว อยากให้ผลงานของเขาสะท้อนพลังอันแข็งแกร่งของแม่ออกมา ในขณะที่หลายคนมองแมงมุมยักษ์เป็นสิ่งที่น่ากลัว ตัวศิลปินฝรั่งเศสคนนี้เลือกสะท้อนแมงมุมยักษ์ในมุมของสัตว์ที่รักและห่วงใยลูก เส้นใยของแมงมุมคือสิ่งที่ถักทอด้วยความรัก
“แมงมุมเป็นมิตรกับผมเพราะพวกมันกินยุง เราทุกคนรู้กันดีว่ายุงแพร่เชื้อโรค … ดังนั้น แมงมุมก็คอยปกป้องผม เหมือนแม่ของผม” หลุยส์ บูชัว กล่าวถึงเบื้องหลังของผลงานชิ้นนี้
นอกจากความพิเศษสุดๆ ของผลงานแล้ว การได้ Maman มาตั้งที่เขาใหญ่ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะความต้องการของหลุยส์ บูชัว เขาต้องการให้ผลงานชิ้นนี้ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ระดับโลก หรือสถานที่สำคัญเท่านั้น ทำให้เจ้า Maman ไม่เคยมาตั้งท่ามกลางธรรมชาติมาก่อนเลย
แต่ทาง Khao Yai Art Forest ก็สามารถเกลี่ยกล่อมและแสดงให้เห็นว่าการพาแมงมุมยักษ์มาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติจะสร้างมิติใหม่ให้กับผลงานชิ้นนี้ได้อย่างไร จนได้ Maman มายืนโชว์กลางป่าเป็นครั้งแรก
ผลงาน Maman จะอยู่ที่เขาใหญ่ถึงปลายเดือนสิงหาคมเท่านั้น ก่อนจะเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาเพื่อออกเดินทางต่ออีกครั้ง เพราะฉะนั้น ใครอยากพบกับผลงานระดับโลกชิ้นนี้ตัวเป็นๆ รีบเดินทางไปเยือนเขาใหญ่อาร์ตฟอเรสต์ด่วนๆ
ช่วงพักแวะกินข้าวเที่ยงเติมพลัง
ก่อนจะลุยป่าเราแวะกินข้าวกันสักเล็กน้อย เพราะที่นี่มีบริการอาหารเหมือนกัน แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่ได้เปิดเต็มตัว แต่ก็สามารถสั่งจองได้ที่บริเวณรีเซปต์ชันของที่นี่ หรือจะจองผ่านเว็บไซต์ก็ได้เช่นกัน ซึ่งในอนาคตที่นี่จะเปิดเป็นร้านคาเฟ่ไม้ไผ่ให้ทุกคนวอล์กอินเข้ามาใช้บริการได้ตามสะดวก
อาหารของที่นี่รังสรรค์เมนูผ่านเชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ เจ้าของร้านซาหมวย & ซัน จากจังหวัดอุดรธานีที่มานำเสนอเมนูให้เราเห็นเสน่ห์ของเขาใหญ่และได้ลิ้มลองไปพร้อมกับบรรยากาศดีๆ กับเพิงไม้ไผ่ที่แสนสงบเรียบง่าย
เราได้ชิมเมนูเด็ดอย่าง ข้าวผัดรถไฟ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการที่รถไฟสายแรกของประเทศไทยอย่างกรุงเทพฯ-ปากช่อง ได้เป็นจุดเริ่มต้นแปรเปลี่ยนให้พื้นที่เขาใหญ่ที่เคยเป็นสถานที่อันตรายในอดีตเปลี่ยนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่อนุรักษ์แบบปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังมีซุปข้าวโพดเย็น ยำผลไม้ และหลามปลาเสิร์ฟคู่มาด้วย ซึ่งทุกเมนูล้วนใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นในพื้นที่เขาใหญ่และใกล้เคียง โดยเฉพาะทางหลามปลาที่นำปลาจากเขื่อนลำตะคอง จากจังหวัดนครราชสีมาที่อยู่ติดกับเขตของเขาใหญ่มาใช้ในการรังสรรค์เมนูนี้
ปิดท้ายด้วยของหวานชื่นใจแบบ กรานิตากระเจี๊ยบผสมเก๊กฮวย พาให้เรามีแรงเดินลุยป่าต่อเพื่อชมงานศิลปะกันต่อในช่วงบ่าย
พระเจ้าอยู่แห่งไหน?
หลังจากอิ่มท้องบวกกับมีฝนตกมาต้อนรับดับร้อน เราก็ได้ฤกษ์บุกลุยป่าชมงานศิลปะ โดยชิ้นแรกที่ได้พบเจอคือผลงานที่มีชื่อว่า “GOD” จากศิลปินชาวอิตาลี ฟรานเชสโก อารีนา
ประติมากรรมนี้สร้างขึ้นมาเพื่อสถานที่แห่งนี้โดยเฉพาะ หลังจากมีการเชิญศิลปินหญิงคนนี้มาที่เขาใหญ่เพื่อหาแรงบันดาลใจ ก่อนที่เธอจะนำความสนใจส่วนตัวในเรื่องหินกับธรรมชาติมาสร้างสรรค์ผลงานผ่านหิน 2 ก้อนใหญ่จากจังหวัดกาญจนบุรี
ฟรานเชสโก อารีนา ตัดหิน 2 ก้อนแล้วนำมาวางต่อกัน พร้อมกับตั้งชื่อให้ว่า GOD ซึ่งไม่ได้ตั้งไว้เท่ๆ แต่เธอนิยามว่านี่คือพระเจ้าตัวจริงเสียงจริงที่มาตั้งอยู่กลางป่า เพื่อตั้งคำถามกับความเชื่อว่า อะไรกันแน่คือพระเจ้าที่แท้จริง
ศิลปินต้องการให้มนุษย์ตั้งคำถามว่า ท่ามกลางความเชื่อมากมาย ธรรมชาติกลับกลายเป็นสิ่งเดียวที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ ธรรมชาติคือพระเจ้าของมนุษย์หรือเปล่า? นั่นคือสิ่งที่งานนี้ชวนให้เราขบคิด
ประกอบกับสถานการณ์จริงของฝนที่ตกหยุดตกหยุดสลับไปมาแบบเอาแน่เอานอนไม่ได้ เหมือนธรรมชาติตั้งใจแสดงให้เห็นภาพของงานชิ้นนี้ออกมาอย่างชัดเจนว่า เราไม่สามารถควบคุมอะไรกับธรรมชาติได้เลย
บางทีธรรมชาติอาจจะเป็นพระเจ้าที่แท้จริงก็เป็นได้?
ธรรมชาติของความไม่จีรัง
เราเดินทางทะลุป่ากันต่อบนเส้นทางที่เริ่มสูงชันขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพบเจอกับผลงานชุดที่เรียกว่า Pilgrimage to Eternity โดยศิลปินไทยอย่าง อุบัติสัตย์ ซึ่งเป็นอีกผลงานที่จะอยู่ถาวรที่นี่
ศิลปินจากเชียงใหม่รายนี้นำชิ้นส่วนของเจดีย์จำนวนทั้งหมด 10 ชิ้นวางไว้ทั่วพื้นที่เขาใหญ่อาร์ตฟอเรสต์ พร้อมกับนำดินของเขาใหญ่ทาคลุมส่วนของเจดีย์แล้วปล่อยให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ
ผลงานชิ้นนี้ตั้งใจนำเสนอแนวคิดความไม่ยั่งยืนตามหลักพุทธศาสนาที่จะแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของชิ้นส่วนเจดีย์เหล่านี้ตามวันเวลาที่เปลี่ยนไป
แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการแสดงถึงพลังธรรมชาติ เพราะความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดจากธรรมชาติเป็นผู้กำหนด งานของอุบัตสัตย์จึงพร้อมที่จะชวนเราตั้งคำถามไปด้วยเช่นกันว่า ธรรมชาติ กับ ความเชื่อทางศาสนา มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันมากน้อยแค่ไหน? และบางทีเราอาจจะแยกสองสิ่งนี้ไม่ออกก็ได้
วงเวียนแห่งความนึกคิด
เราเดินขึ้นเขากันแบบต่อเนื่องมากพอจนในที่สุดก็มีสัญญาณมือถือกลับมาชั่วขณะ แต่นอกจากข้อความต่างๆ ที่เด้งขึ้นมารัวๆ สิ่งสำคัญที่รอออยู่ที่นี่คือผลงานศิลปะชื่อ Madrid Circle โดยศิลปินชาวอังกฤษ ริชาร์ด ลอง (Richard Long)
ผลงานแลนด์อาร์ตผ่านการนำหินมาเรียงต่อกันเป็นรูปวงกลมชิ้นนี้วางไว้บนเนินเขาสูง นอกจากจะเพื่อความโดดเด่นและสวยงามแล้ว ก็เป็นเพราะงานชิ้นนี้ต้องการใช้พื้นที่เพื่อให้เราได้เดินวนชมมันสักหน่อย เพราะ ริชาร์ด ลอง คือศิลปินที่ชอบทำงานกับการเดินเป็นอย่างมาก
นี่คืองานที่ ริชาร์ด ลอง ต้องการแสดงให้เห็นถึงวัฏจักรชีวิตที่ดำเนินไป แต่สุดท้ายทุกอย่างก็จะวนกลับมาที่เดิมอยู่ดี ความต้องการของศิลปินคืออยากให้ผู้ชมงานของเขาได้ใช้เวลาผ่านการเดินเพื่อฝึกสติและรับรู้ตัวเอง
ศิลปะคืออะไร?
ลงจากเขามาเข้าป่าเล็กๆ ส่วนภาคพื้นดินจะมีจอหนังเพื่อฉายผลงานวีดิทัศน์ Two Planets จาก อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ซึ่งได้นำภาพศิลปะดังระดับโลก ไปให้ชาวบ้านในชนบทอันห่างไกลดู โดยไม่มีการบ่งบอกความหมายหรือตีความใดๆ ทั้งสิ้น
วีดิทัศน์นี้จะฉายบทสนทนาระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่มีต่อผลงานศิลปะแต่ละชิ้น เราจะได้เห็นการตีความของพวกเขาซึ่งกลายเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจอย่างมากว่า ถ้าคนที่ไม่รู้จักผลงานศิลปะ ไม่รู้จักชื่อเสียง ไม่รู้จักความหมาย ไม่รู้จักมูลค่า แล้วของงานศิลปะเหล่านี้มีความหมายอะไรกับพวกเขา
นี่คืองานที่ศิลปินตั้งใจที่จะตั้งคำถามว่า คุณค่าของงานศิลปะคืออะไร หรืออยู่ตรงไหนกันแน่? หากปราศจากชื่อเสียง หรือมูลค่า เป็นเรื่องราวที่ชวนให้เราค้นหาคำตอบในห้วงเวลาที่อยู่ท่ามกลางผืนป่าแบบนี้
หมอกหนาแห่งความไม่แน่นอน
มาถึงอีกงานศิลปะแลนด์อาร์ตที่เป็นไฮไลต์ของที่นี่ นั่นคือ Fog Land โดย ฟูจิโกะ นากายะ (Fujiko Nakaya) ซึ่งก่อนสร้างผลงานชิ้นนี้ ศิลปินได้เดินทางมาถึงเขาใหญ่ด้วยตัวเอง ก่อนจะเลือกพื้นที่ตรงนี้มาทำเป็นทะเลหมอกที่สวยงามออกมา
แรงบันดาลใจนี้ได้มาจากคุณพ่อของฟูจิโกะซึ่งเป็นคนแรกที่คิดค้นหิมะเทียมคนแรกของโลก ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นผลงานเพื่อสะท้อนความไม่จีรังยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านทะเลหมอกที่จะเปิดเพียงแค่ 15 นาทีต่อวันเท่านั้น
แม้ว่าเราจะได้ใช้เวลาท่ามกลางหมอกที่งดงาม ผู้คนต่างสนุกสนานกับหมอกและพื้นที่ตรงนี้ แต่สุดท้ายเมื่อเวลาหมด ทุกอย่างก็จางหายไป กลับมาเป็นเนินเขาที่ว่างเปล่าอีกครั้ง
นอกจากนี้ งาน Fog Land ยังสะท้อนความไม่จีรังผ่านตัวของผลงานเอง เนื่องจากหมอกที่ปล่อยออกมาไม่ทางเหมือนเดิม เพราะหมอกจะเปลี่ยนแปลงไปตามแรงลม อุณหภูมิ และปัจจัยต่างๆ ตามธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ เป็นอีกผลงานที่สะท้อนเรื่องความไม่แน่นอนของชีวิตให้เห็นธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
มื้อค่ำก่อนจากลา
หลังจากเดินเที่ยวจนอิ่มใจแล้ว ทาง Khao Yai Art Forest ก็ยังมีบริการอาหารค่ำ ที่สามารถสั่งจองได้เหมือนมื้อกลางวัน โดยในมื้อค่ำก็จะได้รับบรรยากาศอีกแบบกับดินเนอร์ใต้แสงไฟกับมื้ออาหารแบบจัดเต็มยิ่งกว่าเดิม
เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ยังคงเป็นคนรังสรรค์อาหารเช่นเดิม เริ่มต้นด้วยซุปเย็นแตงโมผสมน้ำมะเขือเทศแบบสดชื่น ก่อนจะตามมาด้วยเมี่ยงทูเวย์ หรือเมี่ยง 2 คำกินคู่กัน หลังจากนั้นจึงเป็นขนมเบื้องญวนกรอบๆ ราดน้ำจิ้มอร่อยดีเหลือเกิน
หลังจากนั้นก็จะมาถึงเมนูเนื้อสัตว์ที่จะเสิร์ฟปลาเนื้ออ่อนย่างเกลือสไตล์อีสานคู่กับเนื้อกวางย่างพริกไทยดำอร่อยๆ ก่อนจะตามด้วยข้าวยำป่าที่นำวัตถุดิบท้องถิ่นมายำ กลายเป็นข้าวที่มีรสชาติเปรี้ยวหวานกรุบกรอบ
ก่อนที่เราจะปิดท้ายด้วย กรานต้า ขมิ้นผสมน้ำผึ้งและเลมอน ให้รสชาติเปรี้ยวสดชื่น หายเหนื่อยจากการเดินป่าตลอดทั้งวัน และสุดท้ายคือไข่ป่าม คัสตาร์ดไข่ย่างไฟอ่อน เสิร์ฟพร้อมชาไผ่ที่มอบความสบายท่ามกลางบรรยากาศที่งดงามของเขาใหญ่
เป็นช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมกับ Khao Yai Art Forest แม้ว่าสภาพอากาศร้อน และฝนที่ตกลงมาเป็นช่วงๆ เป็นอุปสรรคเล็กน้อยของการเดินทาง แต่มันก็สะท้อนรสชาติของชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม ว่าการเดินทางของเราไม่มีทางที่จะควบคุมทุกอย่างได้ แต่การเดินทางของชีวิตก็จะต้องเดินหน้าต่อไป
นอกจากนี้ ท่ามกลางธรรมชาติที่นิ่งสงบ ไม่ต้องมีสัญญาณโทรศัพท์มารบกวนใจ การได้มา Khao Yai Art Forest ก็พาให้เราได้สำรวจตัวเอง เห็นความหมายของชีวิตมากขึ้น และย้ำเตือนเราอีกครั้งว่า บางทีสิ่งที่มนุษย์ตามหามากที่สุดอาจไม่ใช่อะไรอื่นไกล นอกจากความสงบเรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติก็เป็นได้
Khao Yai Art Forest
Map: https://maps.app.goo.gl/44PFuo9J1kG4Xj5J9
Instagram: https://www.instagram.com/khaoyai_art_forest/
Website: https://www.khaoyaiart.com/
ซื้อตั๋วเข้าชม: https://www.tickettailor.com/events/khaoyaiart/