ตะกั่วป่าเก๋าเก๋า
ฮกกี่เหลา…ร้านเก๋าแห่งตะกั่วป่า เน้นวัตถุดิบคุณภาพ เคียงข้างชุมชน
- ฮกกี่เหลา เป็นร้านในตำนานคู่ตะกั่วป่าที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน แต่แม้เวลาจะผ่านไปกี่ปี ทุกจานของฮกกี่เหลาให้ความสำคัญกับปากท้องของคนท้องถิ่น ด้วยหลักคิดที่ว่า ‘ไม่เลือกลูกค้า มีเงินแค่ 50 บาทในกระเป๋าก็กล้าเข้ามากินได้’
- พี่เอก-เอกบุตร ชิณโสภณพันธ์ ทายาทรุ่นสามที่รับช่วงสานต่อกิจการเปิดอกคุยกับเราถึงความเป็นมาของฮกกี่เหลาที่เกิดจากความเป็นครอบครัวช่างกิน ช่างเลือก จนกลายเป็น DNA ของร้านอาหารที่สามารถสรรหาวัตถุดิบเด็ดๆ มาเสิร์ฟได้ถ้าลูกค้าต้องการ
“เราต้องไม่เลือกลูกค้า ใครมีเงิน 50 บาทในกระเป๋าก็กล้าเข้ามากินได้”
คติประจำร้านที่ เอก-เอกบุตร ชิณโสภณพันธ์ พี่ใหญ่ทายาทรุ่นสามบอกว่าคุณพ่อเน้นย้ำมาเสมอตั้งแต่เปิดกิจการและทำให้ชื่อของ “ฮกกี่เหลา” ครองใจคนตะกั่วป่า อำเภอหนึ่งของจังหวัดพังงามานาน 40 ปีด้วยรสชาติอาหารถูกปากในราคาถูกใจสอดคล้องไปกับความหมายของชื่อร้านอย่างลงตัว
ฮกกี่เหลา เป็นภาษาจีนมาจากคำว่า “ฮกลกซิ่ว” ตัวแทนเทพเจ้าของจีนที่เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง รุ่งเรือง ยั่งยืน ส่วนคำว่า “เหลา” แปลว่าภัตตาคาร รวมแล้วจึงหมายถึงร้านอาหารที่ดี เป็นร้านอาหารไทย-จีน ตั้งอยู่ในตัวอำเภอข้างธนาคารกรุงไทย สาขาย่านยาว
นอกจากราคาเป็นมิตรแล้ว การเสาะหาวัตถุดิบชั้นดีจากทั่วทุกที่ทั้งในและต่างประเทศมาปรุงในแบบฉบับของครอบครัวก็เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้รับความไว้วางใจให้ออกงานจัดโต๊ะจีนมานับไม่ถ้วนทั้งในพังงาและอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ รวมไปถึงงานใหญ่อย่างการประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ ที่จังหวัดภูเก็ต พร้อมกับได้สัญลักษณ์ บิบ กูร์มองด์ ของมิชลิน ไกด์ปีล่าสุด
ที่สำคัญ...เป็นร้านอาหารที่เอาใจใส่กับความสัมพันธ์และการเคียงข้างชุมชน
แรกเริ่ม…ฮกกี่เหลา
เอกเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นของร้านเก่าแก่ประจำถิ่นว่า หลังล้มจากธุรกิจทำเสื้อผ้าส่งออกที่กรุงเทพเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ คุณพ่อสุรชัย ชินโสภณพันธ์ ตัดสินใจพาครอบครัวย้ายกลับมาเปิดร้านไดนาโมสาขาโคกกลอยตามคำชวนของน้าชาย ซึ่งทุกอย่างไปได้ด้วยดี ฐานะทางการเงินก็กลับมาอู้ฟู่อีกครั้ง แต่แล้วเมื่อแร่หมดก็เจ๊งอีกครั้ง
คราวนี้คุณพ่อและคุณแม่รัฒนากลับมาตั้งหลักที่ตะกั่วป่าและทำในสิ่งที่ถนัด นั่นคือการทำอาหาร ซึ่งอยู่ในสายเลือด
“จริงๆ อาม่าคือผู้บุกเบิกในการทำร้านอาหารมาก่อนจากการเปิดขายอาหารตามสั่งที่ตลาดเก่าอยู่ข้างๆ ร้านซ่อมไดนาโมของอากงในสมัยแร่รุ่งเรือง ส่วนพ่อแม่เองก็เป็นคนชอบกินอาหาร เวลาเดินทางไปติดต่องานที่ไหนก็ชอบไปชิมและกลับมาลองทำเอง ตอนเปิดร้านอยู่โคกกลอย มาม๊าก็ขายข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ไปด้วย มีลูกค้าประจำอย่างท่านจุรินทร์ (ลักษณวิศิษฏ์) และครอบครัว ที่สำคัญป๊ากับมาม๊ามองว่า อย่างน้อยถ้าทำร้านอาหารไม่อดแน่นอน ปากกัดตีนถีบยังไงลูกก็ยังมีกิน”
ร้านฮกกี่เหลาจึงเกิดขึ้นด้วยความร่วมด้วยช่วยกันของคุณพ่อ คุณแม่ และอาม่า ช่วยกันหาที่เปิดร้านและลงตัวที่บริเวณหน้าโรงหนังรามาเก่า ซึ่งถือเป็นย่านธุรกิจที่มีทำเลเหมาะแก่การค้าขายในเวลานั้น โดยเริ่มต้นจากเมนูอาหารจานเดียว มีกับข้าวและขนมเล็กน้อย
“เปิดแทบจะ 24 ชม. ขายเช้าเอาเงินตอนเช้าไปจ่ายตลาดขายเที่ยง เอาเงินเที่ยงไปจ่ายตลาดขายเย็น เอาเงินเย็นไปหมุนขายตอนค่ำ ปิดร้านตี 2-3 พอ 6 โมงเช้าก็เปิดอีก ทำอยู่แบบนั้นอยู่หลายปีเพราะเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ” พี่ชายคนโต ซึ่งออกมาช่วยงานแบบเต็มตัวตั้งแต่อายุ 15 ปี กล่าว
จากร้านอาหารสู่กิจการโต๊ะจีน
หลังจากค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย พัฒนาเมนูอาหารและเพิ่มประสบการณ์มากขึ้น สุรชัย ผู้เป็นพ่อก็เริ่มมองเห็นช่องทางและโอกาสในการขยายธุรกิจไปรับจัดเลี้ยง เพื่ออนาคตของลูกๆ ทั้ง 3 คน เพราะตอนนั้นกิจการโต๊ะจีนในพื้นที่มีเพียง 2-3 ร้าน ส่วนแบ่งการตลาดยังน้อย แต่ก็ต้องเจอกับบททดสอบมากมาย
“ตอนนั้นเริ่มจากงานแรกแค่ 10 โต๊ะก็โดนรับน้องสารพัด ตั้งแต่ถูกไปกว้านจองโต๊ะเก้าอี้ที่จะเช่าทั้งหมด โชคดีเจ้าของโรงหนังใจดีให้โต๊ะเก้าอี้ในโรงหนังมาใช้ ส่วนลูกน้องก็หาไม่ค่อยได้ต้องเอาญาติพี่น้องมาช่วยกัน ทั้งเครียดทั้งมึน แต่พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางก็ง่ายขึ้น” ทายาทรุ่นสาม กล่าว
ในเวลาไม่กี่ปีชื่อของฮกกี่เหลา ก็เริ่มเป็นที่รู้จักและเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมกับแนวคิดไม่หยุดอยู่กับที่
เอกเล่าว่าด้วยความที่พ่อกับแม่ชอบเดินทางอยู่แล้ว จึงมักจะไปหาไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานฟู้ดแฟร์ที่กรุงเทพ งานอาหารที่ฮ่องกง ไปอบรมเชฟที่ไต้หวัน ไปดูงานโต๊ะจีนนครปฐม หรือไปเดินเยาวราช เพื่อตามเทรนด์อาหารใหม่ที่จะมาก่อนเสมอ เพื่อนำมาปรับปรุงและประยุกต์ออกมาเป็นอาหารในแบบฉบับของตัวเองและเสิร์ฟความแปลกใหม่ให้ลูกค้า จนได้รับจ้างไปออกงานนอกพื้นที่ทั้งภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ ระนอง หรือไกลๆ อย่าง หาดใหญ่ สงขลา และชุมพร จากคำบอกต่อปากต่อปากบ้าง เป็นแขกที่มาในงานแล้วประทับใจอาหารบ้าง จากคนสนิทมิตรสหายบ้างมาจนถึงทุกวันนี้
“ช่วงพีคเคยต้องปิดร้านออกงานต่อเนื่องอยู่เป็นเดือน มีช่วงหนึ่งหลังออกรายการของแหม่ม (สุริวิภา) วันเดียวมีคนโทรมาเกือบ 1000 สาย หลังจากนั้นอีกวันละ 200-300 สายเพื่อสอบถามการเดินทางมาที่ร้านแต่ร้านต้องปิดยาวเพราะมีคิวออกงานต่อเนื่อง บางคนมาถึงหน้าร้านแล้วก็ต้องกลับ”
เมนูของอร่อยจากทั่วทิศ
เมนูส่วนใหญ่ของที่นี่ไม่ได้มาจากสูตรเด็ดดั้งเดิมของครอบครัวเหมือนกับหลายๆ ร้าน แต่เกิดจากเดินทางไปกินหรือเจอวัตถุดิบอะไรถูกใจมาก็นำกลับมาลองทำพลิกแพลงในแบบฉบับของตัวเอง ปรับรสชาติให้เข้ากับคนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ทุกคนต้องได้กินของอร่อยเหมือนที่พวกเขาได้กิน”
อาทิ เมนูเต้าหู้เจี๋ยน ที่หน้าตาอาจจะดูธรรมดา แต่ความพิเศษอยู่ที่วัตถุดิบเพราะทำจากเต้าหู้คลองแงะที่ยังทำด้วยน้ำบ่อบาดาลและใช้มือผูกถุงผ้า เอาไม้เอาหินทับตามกรรมวิธีแบบสมัยก่อน ซึ่งทำกันเองเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนอยู่ที่หาดใหญ่ ในขณะที่ส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรหมดแล้ว จุดเด่นของเต้าหูตัวนี้คือจะมีความนุ่มมากกว่าเต้าหู้ในพื้นที่ ถือเป็นความโชคดีของเราที่มีโอกาสได้ลิ้มลอง เพราะเมนูนี้ไม่ได้มีทุกวัน
“เราเคยต้องไปเอาปลาจีน-ผักน้ำจากเบตง ลูกชิ้นปลาภูเก็ต แฮมยูนนานจากเยาวราช เป๋าฮี้อกระป๋องจากฮ่องกง มาแล้วในการออกงาน ถ้าลูกค้ากล้าทุ่มเราก็กล้าวิ่งหาวัตถุดิบชั้นเลิศมาให้ เช่นเดียวกับงานประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ที่จัดกุ้งมังกร 7 สีของดีประจำถิ่นภูเก็ตเป็นไฮไลต์”
เพราะฉะนั้นเมนูในร้านจะค่อนข้างมีความหลากหลายและมีจานเด็ดที่อาจไม่ได้เป็นอาหารดั้งเดิม อาทิ เอ็นขาหมูราดหอยเป๋าฮื้อ เป็นเอ็นขาหมูล้วนๆ ตุ๋นเปื่อยผัดเป๋าฮื้อน้ำมันหอยราด ไส้กรอกกุ้งสด ที่ใช้เนื้อกุ้งสดสับปรุงรสแล้วห่อฟองเต้าหู้ทอด หมูอบผักแห้งจีน ที่ใช้หมูสามชั้นตุ๋นเปื่อยกับผักกาดดองแห้งแบบจีน
ส่วนอาหารไทยก็มี กุ้งผัดซอสมะขาม เนื้อปลาผัดพริกสด เมนูคิดขึ้นใหม่ตอนไปออกรายการครัวคุณต๋อยและลูกค้าชอบ กับแกงส้มยอดมะพร้าว ที่สัมผัสได้ถึงจัดจ้านแบบตะกั่วป่าจากเครื่องแกงทำเอง
ธุรกิจเคียงข้างชุมชน
ไม่ใช่แค่ราคามิตรภาพจากการถือคติของคุณพ่อสุรชัยที่ต้องการเป็นร้านอาหารสำหรับทุกคน ตั้งแต่คนกวาดถนนไปจนถึงเศรษฐีอย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นเท่านั้นที่สะท้อนถึงความยึดโยงกับท้องถิ่น แต่งานราช งานหลวงก็ไม่เคยขาด อะไรช่วยได้ก็พร้อมช่วยเสมอ
“พ่อสอนเสมอว่าทุกงานไม่จำเป็นต้องมีกำไรตลอด ขาดทุนบ้างกำไรบ้างสลับกันไป เราต้องให้บริการคนในพื้นที่ให้มากที่สุด เพราะเขาจะอยู่กับเราตลอด นักท่องเที่ยวอาจจะมา 1-2 วันก็ไป แต่คนในพื้นที่อยู่กับเราตลอดชีวิต เวลาแต่งงาน บวชลูก งานศพ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก็จะคิดถึงเรา”
เอก เผยถึงวิธีคิดของผู้เป็นพ่อและอดีตประธานหอการค้าจังหวัดพังงา
หากยังจำเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี 2547 ครั้งนั้นจังหวัดพังงาได้รับความเสียหายอย่างหนักและฮกกี่เหลาไม่รอช้าที่จะยื่นมือเข้าช่วยเหลือตามความถนัดทันที
“วันนั้นเรากลับจากการออกงานเลี้ยงประจำปีที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตถึงบ้านประมาณ 7 โมงของยังไม่เอาลงจากรถ พอทราบว่ามีคลื่นยักษ์ถล่มมีตายเยอะมาก เราก็คุยกันว่าคนคงไม่เหลืออะไร ของบนรถทั้งหมดเลยเอาไปลงหน้าอำเภอแล้วก็ทำข้าวมื้อแรกแจก เราไม่รู้ใครเป็นใครรู้แค่ว่าทุกคนลำบาก 7 วันแรกเราทำแจกวันละ 2-3 หมื่นชุด โดยยังไม่รู้ว่าใครจะจ่ายแต่อย่างน้อยได้ช่วยบรรเทาทุกข์ไปส่วนหนึ่ง อย่างน้อยก็คนมีข้าวกิน เราขอให้เรือนจำหุงข้าวให้เพราะมึซึ้งอันใหญ่ มีจิตอาสามาช่วยโดยไม่ต้องประกาศ ใครว่างใครรู้ว่าเราทำก็มาช่วยกันเป็นอะไรที่ดีมาก” เอกเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่ยังจำไม่ลืม
แม้แต่ในทุกวันนี้ที่รุ่นลูกจะขอขึ้นราคาบางอย่างเพราะต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น แต่กลับได้คำตอบไม่ต่างไปจากเดิม “ถ้าตรึงได้ก็ตรึง” เพราะอยากให้ทุกคนได้กินของอร่อย ใครผ่านไปผ่านมาจะได้ตั้งใจแวะ และช่วงวิกฤตโควิดเช่นนี้ เราได้เห็นแพ็คน้ำดื่มและของเล็กๆ น้อยๆ วางไว้หน้าร้านสำหรับแบ่งปันให้กับคนลำบากสามารถหยิบไปกินหรือใช้ได้ฟรี
เปลี่ยนรุ่นแต่ไม่เปลี่ยนไป
ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ที่รุ่นพ่อแม่วางมือคอยดูอยู่ห่างๆ ให้ลูกทั้ง 3 คนดูแลกิจการต่อ โดยมีเอก รับหน้าที่ดูแลภาพรวม และน้องคนเล็ก เอกวุฒิ ซึ่งจบทางด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตอยู่ในครัวดูแลเบื้องหลังความอร่อยทั้งหมด ส่วนน้องคนกลาง เอกวิทย์ คอยประสานงานระหว่างทั้งสองคน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือการพยายามนำระบบเข้ามาใช้มากขึ้น อะไรที่เคยใช้อาศัยความเคยชินหยิบจับ เช่น เมนูแต่ละอย่างก็เปลี่ยนมาใช้การชั่ง ตวง วัดให้มีมาตรฐานมากขึ้น เช่นเดียวกับรูปแบบการสต็อกของที่เข้าใจง่ายชัดเจน ไม่ต้องใช้การคาดเดาเหมือนก่อน ช่วยลดความผิดพลาดและการแบกภาระสต็อกจำนวนมาก
แต่เรื่องคุณภาพและความเอาใจใส่ยังคงเหมือนเดิม
“โดยปกติไม่ว่าจะเป็นพ่อ ผม น้อง ถ้ามีเวลาว่างจะเดินทักทายแขกทุกโต๊ะ จะได้รู้ว่าลูกค้าไม่ชอบอะไรเพื่อแก้ปัญหาได้ทัน รับออเดอร์เอง ได้คุยทักทายมีปฏิสัมพันธ์ลูกค้าเหมาะกับวิถีต่างจังหวัด และที่ทำมาถือว่าผ่านมาได้ด้วยดีน่าจะมาถูกทาง เพราะลูกค้ายังกลับมาหาเรา” ทายาทคนโตวัย 46 ปี กล่าวพร้อมเสริม
“เราพร้อมรับคำติชมและนำมาปรับปรุงเสมอ เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าเราทำดีมาตลอดแล้วจะไม่มีโอกาสผิดพลาด อย่างที่พ่อสอนไว้ว่าลูกค้าพูดต้องฟังถ้าเขาไม่พูดร้านจะเจ๊งในเร็ววัน แต่ถ้าเขาพูดแสดงว่าเขารัก เขาถึงเตือน ต้องรีบมาปรับปรุงแล้วต้องชิมว่าเป็นอย่างนั้นจริงมั้ย ผิดอะไรจะได้แก้กันได้”
แม้ว่าวันนี้ ฮกกี่เหลาจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เต็มๆ จากการไม่มีงานโต๊ะจีนซึ่งเป็นรายได้หลักมาเกือบ 2 ปีแต่ก็ไม่มีความคิดปลดพนักงาน พร้อมความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นในเร็ววัน หลังช่วงหยุดยาวเดือนต.ค.ที่ผ่านมามีลูกค้าเต็มทั้งชั้นล่างชั้นบน รอกับข้าวเป็นชั่วโมงก็ไม่ถอย
สำหรับใครที่สนใจอยากแวะเวียนมาลิ้มรสความอร่อยในราคามิตรภาพ เปิด 2 ช่วงเวลา คือ 10.30-13.30 และ 16.30-21.30 น. แนะนำให้สอบถามก่อนเพราะอาจตรงกับช่วงปิดร้านออกงานแล้วจะมาเสียเที่ยว