About
FLAVOR

ออกทะเล

คุยเรื่องปลากับ ‘เชฟอ็อบ’ แห่ง Kensaku ในวันที่ผืนทะเลไทยไหลช้ากว่าญี่ปุ่นครึ่งทศวรรษ

เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ Date 31-07-2024 | View 1823
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ อ๊อบ-ธนิสร วศิโนภาส เชฟเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น ‘Kensaku’ เกี่ยวกับปลาไทยที่แม้อร่อยไม่แพ้ญี่ปุ่น แต่ก็ยังขาดความหลากหลาย ความสะอาด และความปลอดภัย รวมถึงวิกฤตปลาดุกที่ใกล้ตัวจนน่าตกใจ

วันนี้ผมมีนัดคุยเรื่อง ‘ปลา’ กับ อ๊อบ-ธนิสร วศิโนภาส เชฟเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น ‘Kensaku’ ที่คลั่งไคล้เรื่องปลาเอามากๆ จนผมต้องถามด้วยความสงสัยว่า ควรเรียกความชอบนั้นว่า ‘เนิร์ด’ หรือ ‘โอตาคุ’ ดี เชฟอ็อบบอกให้เรียกเขาว่า ‘คนชอบปลา’ ดีกว่า

เชฟอ็อบคลุกคลีอยู่กับปลามาตั้งแต่เด็ก จากการที่บ้านซึ่งเป็นตึกแถวอยู่ตรงเยาวราชนั้นไม่สามารถเลี้ยงสัตว์อื่นได้ พอเวลาล่วงเลยมา ความชอบเริ่มกลายเป็นอาชีพ เขาทำเดลิเวอรี่ปลาอยู่ประมาณ 3 ปี แล้วจึงมาเปิดร้านอาหารที่เรากำลังนั่งกันอยู่นี้อีก 7 ปี เบ็ดเสร็จก็ประมาณ 10 ปี

อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมไม่ได้มาคุยเรื่องปลากับเชฟอ็อบในฐานะเจ้าของร้าน Kensaku กลับกัน ผมมาคุยกับเขาในฐานะคนที่ทำงานร่วมกับชาวประมง กับเจ้าหน้าที่กรมประมง กับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับทาง สวก. (สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร) และอีกหลายองค์กร

การทำงานร่วมกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับที่มาที่ไปของปลานั้นทำให้เขาเห็นอะไรบ้าง มีอะไรบ้างที่ผู้บริโภคอย่างเราไม่เคยรับรู้มาก่อน นอกจากประเด็นปลาหมอคางดำในตอนนี้ ประเทศไทยกำลังเจอกับวิกฤตอะไรอีกบ้าง และข้อสำคัญ ‘ปลาไทย’ อยู่ตรงไหนในระบบเศรษฐกิจปลาโลก ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องปลาแล้ว ผืนทะเลไทยเป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้

เชฟอ็อบสามารถตอบเราได้ทุกคำถาม และหลายคำตอบก็น่าตกใจเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องของ ‘ปลาดุก’

Kensaku

Kensaku

ทำไมต้องปลาดิบ

ผมเริ่มถามเชฟอ็อบด้วยความสงสัยที่หลายคนเองก็น่าจะมีอยู่ในใจเช่นกันว่า ทำไมปลาไทยถึงไม่นิยมกินดิบเหมือนปลาญี่ปุ่น

“ทำไมต้องโฟกัสกับการกินดิบอย่างเดียว” เชฟอ็อบทวนคำถาม “อัตลักษณ์ของปลาแต่ละชนิดมันไม่แน่ไม่นอน ทุกชนิดต่างมีคุณค่าในตัวเอง บางอย่างทำดิบอาจจะไม่อร่อย แต่พอทำสุกอาจจะอร่อยกว่า ฉะนั้น ทุกอย่างมีดีในมิติของมัน ไม่จำเป็นต้องกินดิบเสมอไป มันเป็นแค่ค่านิยมเฉยๆ”

Kensaku

แน่นอนว่าค่านิยมที่เชฟอ็อบเอ่ยถึงก็เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากอดีต และมีวัฒนธรรมต่างชาติที่ฝังรากเอาไว้อย่างไม่รู้ตัวเข้ามามีเอี่ยว

“คนไทยเป็นคนที่ชอบดูแคลนประเทศตัวเอง รวมถึงปลาด้วย เรามักจะคิดว่าปลาในเมืองไทยมีพยาธิ มีสารตกค้างนู่นนี่นั่น แล้วคิดว่าเมืองนอกไม่มีเหรอ เพราะเวลาศึกษาเรื่องพยาธิ เขาศึกษาจากเมืองนอกมาก่อนนะ หลายๆ อย่างเราศึกษาทีหลังเขา ก็คิดกันไปเองว่าพวกสารพิษหรือพยาธิบ้านเราเยอะกว่า จริงๆ แล้วไม่เสมอไป” เชฟอ็อบเล่า

Kensaku

เชฟอ็อบเสริมต่อด้วยความเหมือนและความแตกต่างของปลาไทยกับปลาญี่ปุ่น เอาเข้าจริงแล้ว 2 ประเทศนี้มีปลาที่มีชนิดพันธุ์ใกล้เคียงกันมาก หรืออาจเป็นชนิดเดียวกันแค่ต่างชื่อก็มี เช่น ปลาซูมุบุริก็คือปลากล้วยจรวด ปลาคัตสึโอะก็คือปลาโอแตง ปลาฟุเอะฟุกิไดก็คือปลาตะมะลายตอก เป็นต้น

ถ้าจะมีสิ่งไหนที่แตกต่างกัน สิ่งนั้นก็คือเรื่องของกระแสน้ำ ประเทศญี่ปุ่นจะมีกระแสน้ำคุโรชิโอ (กระแสน้ำอุ่น) กับโอยาชิโว (กระแสน้ำเย็น) มาบรรจบกันที่ฮอกไกโด ทำให้แพลงก์ตอนตรงนั้นมีสารอาหารที่สมบูรณ์ ร่วมกับทะเลที่อุณหภูมิต่ำกว่าประเทศไทย เนื่องจากกระแสน้ำเย็น ทำให้ปลามีการฟอร์มชั้นไขมันหนากว่าปลาไทย

Kensaku

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ปลาญี่ปุ่นจะดีกว่าปลาไทยเสมอไป หรือถ้าตามคำบอกเล่าของเชฟอ็อบ ฤดูกาลก็มีส่วนสำคัญเหมือนกัน

“ปลาญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้มีเนื้อมันตลอดเวลา รสชาติของปลาไทยกับปลาญี่ปุ่นจะแตกต่างกันไปตามระยะเวลา ช่วงเดือน แล้วก็แหล่งอาหารหลัก รวมถึงคุณภาพปลาแต่ละตัว ฉะนั้น จะบอกว่าญี่ปุ่นดีกว่า อร่อยกว่า มันไม่เสมอไปครับ คำว่าอร่อย เราต้องมาดูว่าพูดถึงอะไร ถ้าพูดถึงไขมัน แน่นอนญี่ปุ่นไขมันอาจจะมีมากกว่า แต่ในบางฤดู ปลาไทยก็มีไขมันไม่น้อยหน้าปลาญี่ปุ่นเหมือนกัน” เชฟอ็อบสรุป

Kensaku

ตลาดปลาโลก ปลาไทยอยู่ตรงไหน

ตามชื่อหัวข้อเลยครับ ตลาดปลาโลก ปลาไทยอยู่ตรงไหน

ประเทศไทยโชคดีที่มีทะเล 2 ฝั่งด้วยกัน คืออ่าวไทยและอันดามัน ส่งผลให้มีทรัพยากรทางทะเลค่อนข้างเยอะ แต่เยอะในที่นี้หมายถึงการบริโภคภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ในมุมของการส่งออกจะเป็นรูปแบบแปรรูปเป็นส่วนใหญ่ หรือส่งออกเป็นวัตถุดิบเสียมากกว่า

เชฟอ็อบเล่าข้อมูลหนึ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย นั่นคือ ภูเก็ตในอดีตเคยเป็นเมืองท่าปลาทูน่าของโลก แต่ก็นั่นแหละ จำนวนปลาค่อยๆ หมดลงไปตามกาลเวลา ตอนนี้เมืองท่าแห่งใหม่คือประเทศอินโดนีเซีย

“เคยได้ยินไหมว่า ประเทศไทยเป็นครัวของโลก” เชฟอ็อบพูดถึงวลีที่น่าจะคุ้นหูหรือผ่านตาใครหลายคน “อุตสาหกรรรมประมงบ้านเราอาจจะไม่ได้มีปริมาณเยอะเหมือนแต่ก่อน แต่สิ่งที่เราทำได้คือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เราส่งออกกุ้งขาว กุ้งกุลาดำ ปลากะพง ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าใหญ่ที่ส่งออกไปที่ญี่ปุ่น ฉะนั้น ถ้าถามว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนของตลาดปลาโลก เราเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เจ้าหนึ่ง จะไม่บอกว่าเป็นอันดับใหญ่ เพราะทุกวันนี้เราสูญเสียตลาดไปเยอะแล้ว จากการที่ตลาดต่างประเทศพัฒนามากขึ้น”

Kensaku

ผมถามเชฟอ็อบต่อทันทีว่า การที่เรา ‘เคย’ เป็นเมืองท่าปลาทูน่าของโลก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว มันแสดงให้เห็นถึงการประมงที่ไม่ยั่งยืนในประเทศหรือเปล่า

เชฟอ็อบนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตอบว่า

“คำว่า ‘ยั่งยืน’ เป็นคำพูดที่มีความหมายลึกซึ้งมาก และมีความหมายเหมือนคำว่าอนุรักษ์ ซึ่งอนุรักษ์ไม่ได้หมายความว่าห้ามใช้ แต่ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยั่งยืนที่สุด ทีนี้การประมงอย่างยั่งยืนก็หมายถึงว่า เรานำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และไม่ทำลายทรัพยากรมากจนเกินไป ให้มีเวลาและโอกาสที่จะฟื้นตัว ถามว่าประเทศไทยเรามีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของฤดูกาลของปลามากน้อยแค่ไหน บ้านเราจะมีฤดูปิดอ่าว แต่เราจะอิงตามฝูงปลาทู

Kensaku

“แต่ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ปลาทู ประเทศไทยมีปลากว่า 3,000 ชนิด เราต้องมาศึกษาถึงปลาอื่นๆ ด้วย แล้วก็ระบบนิเวศของปลา อ่าวไทยตอนบน ตอนล่าง อันดามัน กระแสน้ำ กระแสลม มันมีความจำเพาะเจาะจง ยกตัวอย่างนะ ถ้าหน้าปลาอินทรี สำหรับคนชลบุรีคือเดือนตุลาคม แต่ถ้าเป็นคนประจวบฯ จะเป็นเดือนมิถุนายน ไม่ก็กรกฎาคม แค่นี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ฉะนั้น การศึกษาสิ่งเหล่านี้ ต้องไปดูถึงปริมาณการจับปลาได้ในแต่ละท้องที่ ซึ่งจริงๆ กรมประมงมีการศึกษาอยู่ แต่ว่าต้องมาบูรณาการร่วมกับระบบการศึกษาของคณะประมง ม.เกษตร มากกว่านี้” เชฟอ็อบเล่าอย่างเป็นระเบียบและเห็นภาพ

Kensaku

นักประมูลปลา

ก่อนจะไปยังเรื่องต่อไป กลับมาที่เรื่องปลาดิบกันสักครู่ เพราะเชฟอ็อบบอกว่า กระแสชอบกินปลาดิบไทยเกิดขึ้นมาจากการถูกมองว่าเป็นสินค้าทดแทน ยิ่งเมื่อของนำเข้าราคาค่อนข้างสูง การมีตัวทดแทนจะช่วยลดต้นทุนได้ ซึ่งกระแสนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากนักตกปลา ก่อนจะไปสู่ร้านอาหารซีฟู้ด ร้านอาหารญี่ปุ่น หลายคนเริ่มเปิดรับมากขึ้น เแต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ Food Safety (ความปลอดภัย) และ Food Management (การจัดการ) ประเทศไทยมีมากน้อยแค่ไหน

“ไม่มีเลยครับ” เชฟอ็อบพูดต่อทันที

ไม่มีเลยเหรอครับ – ผมถามย้ำด้วยความตกใจ แม้จะไม่แปลกใจมากนักก็ตาม

Kensaku

‘นักประมูลปลา’ เชฟอ็อบยกอาชีพนี้ขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างมีกับไม่มี

ที่ประเทศญี่ปุ่น นักประมูลปลาจะรับงบประมาณจากร้านอาหาร แล้วไปคัดสรรปลาที่ดีที่สุดในแต่ละวันตามงบประมาณนั้นเพื่อเอามาขายให้ร้านอาหาร ซึ่งจะต้องรู้ข้อมูลว่า ปลามาจากจังหวัดอะไร จับอย่างไร ตรงฤดูกาลไหม คุณภาพดีหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้คือความรู้ของนักประมูลปลาที่ประเทศไทยยังไม่มี

“อีกอย่างคือบ้านเรามีการประมงหลายแบบ ทั้งอวนลอย อวนดำ อวนลาก เบ็ดตก ประมงท้องถิ่น อุปกรณ์ประมงก็จะส่งผลต่อคุณภาพของปลา ถ้าอวนลากปลาก็จะบอบช้ำ และใช้เวลาลาก 6-12 ชั่วโมง ก่อนจะเอาอวนขึ้นมา เท่ากับว่าปลาที่ถูกจับก็จะคลุกอยู่ในอวนนั้น ในน้ำอุ่น ๆ ในขี้โคลน แล้วเรืออวนลากจะใช้เวลา 10-20 วันกว่าจะเข้าฝั่ง

“ก็ต้องมาดูกันต่อว่า น้ำแข็งเพียงพอต่อการรักษาอุณหภูมิปลาแค่ไหน เพราะเราไม่เหมือนประเทศเขตหนาว ถ้าเกิน 5 องศาเซลเซียสขึ้นไป แบคทีเรียก็จะเริ่มเจริญเติบโต เนื้อก็จะเกิดการย่อยสลาย เกิดกลิ่นเหม็นเมื่อผ่าท้องปลา ก่อนที่เราจะเอาวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นเข้ามาบริโภค เราเข้าใจวัฒนธรรมในการจัดการนั้นแค่ไหน เรื่องนี้สำคัญนะครับ” เชฟอ็อบย้ำปิดท้าย

Kensaku

3,000 กว่าชนิด

สิ่งหนึ่งที่เชฟอ็อบสนับสนุน นั่นคือ การบริโภคปลาอย่างหลากหลาย จากทั้งหมดกว่า 3,000 ชนิด เพื่อกระจายความเสี่ยง เพราะถ้าเราเจาะจงอยู่กับทรัพยากรชนิดใดชนิดหนึ่ง มันก็จะหมดลงไปอย่างรวดเร็ว

การรู้จักปลามากขึ้นจะทำให้เราได้มีโอกาสค้นพบมิติทางรสชาติใหม่ๆ ได้ศึกษา เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่ปลาทุกตัวที่กินได้ และยังได้รับประสบการณ์ที่แค่อ่านจากหนังสือ เว็บรีวิว หรืองานวิจัยคงไม่มีวันเข้าใจอย่างแท้จริง

ทุกวันนี้เหล่า ‘ปลาแปลก’ ที่ถูกจับมาแล้วคนไม่รู้จักมักจะถูกนำไปทำเป็นอาหารสัตว์แทบจะทันที กระทั่งปลาพญานาคที่เชฟอ็อบช่วยเอาไว้ทันก่อนจะส่งมอบให้กับ อพวช. (องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ) ก็เกือบกลายเป็นอาหารเป็ดไปแล้ว

Kensaku

“บางครั้งเราจะบอกกันว่า ทำไมไปจับปลาตัวนี้มา มันหายากนะ อันนี้ก็ต้องพูดตรงๆ ว่า อุปกรณ์ประมงไม่สามารถเลือกหรือเจาะจงชนิดปลาที่จับได้ เพียงแต่เราต้องมีการศึกษา ยกตัวอย่างญี่ปุ่น เขาจะมีการบูรณาการว่า วันนี้เรือลำนี้ไปจับปลา ณ จุดนี้ พอได้ปลามาก็จะมีการบันทึกว่า เรือ A จับปลาชนิดนี้ได้ 2 ตัน ณ เส้นรุ้งเส้นแวงนี้ ซึ่งข้อมูลก็จะส่งไปให้นักศึกษาทีมวิจัยบันทึกต่อว่า จุดนี้มีการจับปลาชนิดนี้ ไซส์นี้ได้จำนวนเท่าไหร่ เมื่อมีการมาจับที่จุดเดิมก็จะดูและรู้ได้ว่าปริมาณปลามากขึ้นหรือลดลง

“ถ้าถามว่าเอามาปรับใช้กับบ้านเรายังไง สมมติว่าในปีนี้มีการจับฉลามได้บริเวณนี้ เวลานี้ ระดับความลึกเท่านี้ แล้วเราลองเทียบกับข้อมูลของปีอื่นๆ ถ้าตรงกันทุกปีก็หมายความว่า ในช่วงเวลานี้ของปี ปลาฉลามจะมารวมฝูงบริเวณนี้ ฉะนั้น เราสามารถออกกฎหมายคุ้มครองไม่ให้จับปลาด้วยอุปกรณ์ประมงในบริเวณนี้ของปีได้ เพื่อลดความเสียหายในการจับถูกฝูงปลาฉลาม สิ่งเหล่านี้มันต้องเอามาบูรณาการกัน อันที่จริงที่ไทยเราก็มีนะ แต่ยังไม่มีการเอามาบูรณาการ” เชฟอ็อบชี้ให้เห็นถึงการแก้ปัญหา

Kensaku

เชฟอ็อบพูดต่อทันทีว่า สิ่งที่เขาอยากเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สุด คือความยั่งยืนของการประมง ความใส่ใจในการจัดการกับปลา ความซื่อสัตย์ในอาชีพการงาน ไม่ว่าจะทั้งระบบราชการ หรือว่าผู้ผลิต ผู้ขายต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายหน่วยงานต้องมาร่วมทำให้ทุกอย่างสอดคล้องเป็นปลาตัวเดียว

“ทุกวันนี้นักวิจัยก็ไส้แห้ง ผู้มีอำนาจก็ไม่ได้สนใจ คนออกกฎหมายก็ไม่ใช่คนที่ทำอาชีพประมง ทุกอย่างมันไม่สอดเนื่องกัน ทำให้บ้านเราไปต่อไม่ได้ เรื่องข้อมูล เรื่องความรู้สำคัญมาก ยิ่งถ้าเราอยากจะพัฒนาองค์ความรู้ให้เท่ากับญี่ปุ่นที่ไปไกลกว่าเรา 50-60 ปีแล้ว”

Kensaku

ในฐานะคนชอบปลา เชฟอ็อบย่อมไม่อยากให้ผืนทะเลของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่อยู่ของปลาหลากหลายชนิดต้องไหลช้ากว่าประเทศอื่นกว่าครึ่งทศวรรษแบบนี้ ไหนจะข้อจำกัดที่ชาวประมงต้องพบเจอในการทำงานกับปลาเป็นร้อยเป็นพันกิโลกรัม และความน่าเห็นใจกับค่าตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าแรงเอาเสียเลย

“ถ้าคนยังยึดติดกับระบบแบบแผนเดิมๆก็จะไม่มีการพัฒนา คนก็จะคิดแบบเดิมๆ รุ่นพ่อ รุ่นปู่ รุ่นทวดฉันก็ทำมาอย่างนี้ ฉันก็จะทำอย่างนี้ต่อไป แน่นอนว่าปลาก็จะคุณภาพแบบนี้ต่อไป ไม่มีการสร้างคุณภาพที่แน่นอน” เชฟอ็อบพูดถึงสิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลง

Kensaku

ปลาดุก

บทสนทนาเหมือนจะจบลงเพียงเท่านี้ แต่ผมยังอยากรู้ว่าในตอนนี้วงการประมงมีอินไซด์อะไรที่ผู้บริโภคอย่างเราควรรู้ไว้หรือไม่

เชฟอ็อบพูดถึงปลาดุกขึ้นมา ก่อนจะต่อด้วยการบอกว่า มันวิกฤตแล้ว เนื่องจากตอนนี้ปลาดุกไทยไม่สามารถส่งต่อพันธุกรรมที่ดีไปสู่รุ่นถัดๆ ไปได้เลย

“ที่เรากินในตลาดก็จะเป็นปลาดุกบิ๊กอุยที่เพาะเลี้ยงกัน จะมาจากพ่อที่เป็นปลาดุกรัสเซีย จริงๆ เป็นปลาดุกแอฟริกา แต่ที่เรียกรัสเซีย เพราะว่ารัสเซียเอามาเลี้ยงที่เวียดนามไว้ใช้เป็นทรัพยากรอาหารให้กับกองทัพสมัยก่อน แล้วไทยก็ไปเอาพันธุ์มาเลี้ยงตั้งแต่ พ.ศ.2530 นู้น เสร็จแล้วก็เอามาผสมกับแม่พันธุ์ที่เป็นปลาดุกอุย ก็จะได้เนื้อที่เหลืองแบบแม่ ตัวใหญ่แข็งแรงแบบพ่อ” เชฟอ็อบเล่าถึงที่มาที่ไป

Kensaku

แต่ปัจจุบันนี้พ่อพันธุ์ที่เป็นปลาดุกรัสเซียนั้นมีการเลี้ยงในประเทศไทยน้อยลง หายากขึ้น การนำเข้าก็ติดปัญหาเรื่องของเอเลียนสปีชีส์ ฝั่งของปลาดุกอุยสายพันธุ์แท้ที่เป็นแม่พันธุ์เองก็น้อยลงเช่นกัน ส่งผลให้เกิดการผสมพันธุ์เลือดชิด พ่อพันธุ์ไม่ดี แม่พันธุ์ไม่ดี ลูกล้านตัวอาจจะรอดสัก 200,000 ตัว และไม่มีอะไรการันตีว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรง พิการบ้าง ป่วยเป็นโรคบ้าง กลายเป็นขายไม่ได้ราคา

ที่น่าสนใจพอๆ กันคืออุตสาหกรรมปลาดุกขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมไก่

“อาหารปลาดุกทุกวันนี้คือของเหลือจากอุตสาหกรรมไก่เอามาบดผสมกัน แล้วให้ปลาดุกกิน ถ้าไก่ราคาแพงขึ้น ปลาดุกก็จะราคาสูงขึ้น แถมอาหารที่มาจากไก่ก็หายาก ใครมี คนนั้นก็จะครองตลาดปลาดุก” เชฟอ็อบเล่า

Kensaku

ถ้าหากถามต่อว่า ทำไมไม่ส่งออก ก็จะชี้ให้เห็นอีกปัญหาหนึ่ง นั่นคือปลาดุกไทยเกิดปัญหาตรวจยาปฏิชีวนะไม่ผ่านบรรทัดฐานของต่างประเทศ ทุกคนงงเป็นไก่ตาแตก เลี้ยงมาไม่เคยให้ยา สิ่งนี้โผล่มาจากไหน

“จากไก่ครับ” เชฟอ็อบให้คำตอบ “ส่งออกก็ไม่ได้ บริโภคในประเทศก็น้อย เลี้ยงก็ไม่รอด อาหารก็แพง สุดท้ายแล้วมันจะค่อยๆ เสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ จนวงการปลาดุกอาจจะล้มในที่สุด แล้วเราก็จะขาดแคลนทรัพยากรโปรตีนราคาถูก” เชฟอ็อบพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป

เราถามต่อถึงวิธีการรับมือ คำตอบที่ได้รับคือ “ตอนนี้มีการขออนุญาตกรมประมงเพื่อนำเข้าปลาดุกพ่อพันธุ์ตัวใหม่เข้ามา แต่คนที่ขออนุญาตผ่านกลับมีแค่เจ้าเดียวจากทั้งประเทศ ซึ่งตัวพ่อพันธุ์ที่นำเข้ามาก็ต้องมีการสืบสันตติวงศ์ไปอีกว่า เป็นสายพันธุ์แท้ ไม่เป็นโรค ไม่มีกระดูกเบี้ยวกระดูกคด

Kensaku

“ตอนนี้ปัญหาคือ ต้นทางพ่อพันธุ์จากแอฟริกาก็ไม่มีใครทำตารางเครือญาติปลาดุกขึ้นมา ปลาดุกอุยบ้านเราก็ไม่มีตารางนั้น คนเขาก็จะแค่ เออ ตัวนี้ดูตัวใหญ่ดี ตัวนี้เนื้อเหลืองดี ก็เอาตัวนี้มา แต่ไม่มีการสืบไปว่า มันมีการปนเปื้อนของสายพันธุ์อื่นหรือเปล่า ทั้งพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เลยยังหาตัวที่นิ่งไม่ได้ แล้วจะมาหวังอะไรกับอนาคต

“คนยังมาคอมเมนต์ในยูทูบอยู่เลยว่า ‘ไร้สาระ ปลาดุกไม่มีทางสูญพันธุ์’ ตอนนี้มันกำลังจะฉิบหายวอดวายแล้วครับ แต่คนยังไม่รู้ตัวกัน มองเป็นอาหารราคาถูกที่มีทุกบ้าน เดี๋ยวพรุ่งนี้ไปซื้อที่ตลาดก็มีอยู่ บางคนมองว่าสูญพันธุ์ไปก็ดี เพราะมันเป็นเอเลียนสปีชีส์ที่คนปล่อยลงน้ำโครมๆๆ ตรงนี้ต้องแยกกรรมแยกวาระ คนเลี้ยงปลาดุกผิดไหม ไม่ผิดนะ เขาเพาะเลี้ยงให้คุณมาบริโภค ไม่ได้ให้คุณเอาไปปล่อย” เชฟอ็อบพูดถึงปัญหาที่ไม่จบไม่สิ้น

ถึงแม้ว่าสิ่งที่เชฟอ็อบพูดมาจะฟังดูแล้วสิ้นหวัง ใช่ครับ มันสิ้นหวังจริงๆ แต่เขาก็ไม่ได้กล่าวโทษผู้บริโภค เพราะคนไม่รู้ย่อมไม่ผิด ผมเองถ้าไม่ได้มาคุยกับเชฟอ็อบในวันนี้ก็คงไม่รู้ว่าปลาดุกที่เพิ่งซื้อมากินเมื่อวานกำลังประสบวิกฤตขนาดนี้ แต่ที่น่าสงสัยคือ ทำไมมันยังไม่กลายเป็นวาระแห่งชาติกันนะ

Tags: