About
CRAFTYARD

ดอกไม้ในกา CHAR

CHAR ชาดอกไม้ที่ดีต่อสุขภาพและเสพ Visual Art ไปพร้อมกัน

เรื่อง นริสา ลี. ภาพ อรุโณทัย พุทธรักษา Date 28-11-2021 | View 2840
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • CHAR ไม่ใช่แบรนด์ชาน้องใหม่ แต่เป็นแบรนด์ชาที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง โดยเฉพาะอยากให้ดื่มชาเหมือนกับการเสพงานศิลปะ
  • CHAR เกิดจากแรงบันดาลใจในการเดินทางที่ออกไปเห็นโลก นำมาสู่การเดินทางเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์จากความชอบส่วนตัวล้วนๆ แต่สุดท้ายก็แตกไลน์ออกมาเป็นโปรดักส์ที่ผ่านการคิด สร้างสรรค์ที่สองพี่น้องผู้บริหารมองว่า CHAR คือความสวยงามอีกมุมหนึ่งของดอกไม้ที่อยากให้ทุกคนเห็น

นึกถึงชา นึกถึงยามเช้า อากาศหนาว...

คราวนี้คงต้องเปลี่ยนภาพในหัวกันใหม่ เพราะเมื่อนึกถึง CHAR - อ่านว่า ชา คงต้องนึกถึงดอกไม้ลอยในกาแก้วใส และเป็นความสวยที่เราดื่มได้ทุกวันเสียด้วย

CHAR เริ่มต้นจากคนสามคนในครอบครัวเดียวกัน ตัดสินใจมองหาเส้นทางใหม่ๆ ดูบ้าง จากธุรกิจจิวเวลรี่มาสู่การสร้างสรรค์ ‘ชาดอกไม้’...มันดูเป็นงานคนละสาย แต่มีอะไรเหมือนกัน นั่นคือ ‘ความงามและศิลปะ’

D 1

ศิริพิม อภินันทกุลชัย Co-Founder ของ CHAR

เดินทาง

เราว่าการเดินทางมันสร้างบันดาลใจได้จริงๆ นะและคงเป็นความรู้สึกเดียวกับ “ศิริพิม อภินันทกุลชัย” และ “ณฤดี อภินันทกุลชัย” สองพี่น้องผู้ก่อตั้งแบรนด์หนึ่งในหุ้นส่วน CHAR ในวันที่ได้ไปออกงานเทรดแฟร์ต่างประเทศ แล้วต้องสะดุดตากับบูธสวยงามของ Mariage Frères ชาจากคนไทยแต่ดังไกลระดับโลก

วันนั้นมันคงเป็นจุดเริ่มต้นของพี่น้องคู่นี้ที่มองเห็นเส้นทางใหม่ๆ ในวันที่ธุรกิจเดิมเริ่มเข้าสู่ขาลง

“เราเริ่มมองหาช่องทางอื่น น้องบอกว่าชาก็น่าสนใจนะ โดยเฉพาะชาดอกไม้ ยังไม่เห็นมีแบรนด์ไทยเลย” นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน

D 7

แล้วทั้งคู่ก็เริ่มรีเสิร์ช ค้นหา เดินทางชิมชาที่นั่นโน่นนี่ ปักไอเดียแรกเลยว่าต้องเป็นชาดอกไม้ และตั้งเป้าว่าทำยังไงจะให้ชาดอกไม้ของคนไทยทัดเทียมกับต่างประเทศ

“เราหาดอกไม้จากหลายแหล่งที่มี เลือกชิม เลือกเทสต์ เพราะบางอย่างต้องถูกจริตคนไทยด้วย” พิม – ศิริพิม อภินันทกุลเล่า

ถามว่าชิมไปกี่ชนิด…”เยอะมากๆ อย่างกุหลาบ เราก็ชิมเป็นหลักสิบ ดอกไม้หนึ่งชนิดมาจากหลายสวน หลายแหล่ง เทสต์ให้เจอรสที่เราชอบที่สุด เราเชื่อว่าถ้าเราชอบ คนไทยก็น่าจะชอบ อย่างบางอย่างในต่างประเทศที่ไม่เหมาะกับคนไทย เราก็ไม่เอามา จริงๆ เราไม่ใช่กูรูลึกมากอะไร เราเลือกในสิ่งที่ชอบก่อน”

D 5

ความงาม

ชาในสายตาของพิมต้องมี Aesthetic มีบางอย่างที่สะท้อนถึงความงาม คงมาจากการที่เธออยู่ในวงการเครื่องประดับ คลุกคลีกับความงามมาตลอด เมื่อคิดจะทำชา ชานั้นก็ต้องมีองค์ประกอบของความงามด้วยเหมือนกัน “เราคิดว่ามันควรมีความงามแบบที่ชาอื่นๆ ไม่มี เราสนใจเรื่องความสุนทรีย์ อโรมา จนถึงภาชนะที่ใส่ ทำให้มันเป็นงาน visual art ที่ทุกคนมองเห็นด้วย”

กาที่ CHAR ใช้จึงต้องใส เพื่อโชว์ชาดอกไม้ภายในที่กำลังลอยอยู่ในน้ำทั้งดอกซึ่งตอนนี้มีอยู่ด้วยกัน 8 ชนิด ได้แก่ กุหลาบ บัว บัวสาย เก๊กฮวยขาว เก๊กฮวยจักรพรรดิ มะลิ Blooming tea ที่เป็นการรวมดอกไม้และเบลนด์ชาเขียวเข้าไปด้วย และคาโมมายด์ที่ออกใหม่

D 6

รสชาติอ่อนๆ หอมละมุนคือสัมผัสแรกเราได้รับระหว่างจิบชาไปคุยกับเธอไป เราชอบกุหลาบ เก๊กฮวยจักรพรรดิที่หอมอ่อนๆ เบาๆ แต่ละมุนละไม ถ้าใครชอบเข้มขึ้นมา Blooming tea น่าจะเหมาะเพราะมีความเข้มของชาเชียวมาเป็นตัวเสริม

จากดอกไม้แห้งๆ ที่มองแทบไม่ออกว่าคือดอกอะไร เมื่ออิ่มน้ำในกาแก้วใสมันจะค่อยๆ บานเป็นดอกไม้ลอยอยู่ใต้น้ำเหมือนงานศิลปะ เป็น visual art ที่พิมบอก

ความคิด

CHAR ตั้งใจพรีเซนต์ให้ทุกคนเห็นความงามของชาและการชง แอคเซสซอรี่ทุกชิ้นจึงต้องผ่านกระบวนการคิด แม้ใช่ใส่กาอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นกาใสเพื่อให้ทุกคนดื่มด่ำความงามของดอกไม้ วันที่เปิดตัวครั้งแรกเพียงแค่เป็นป๊อบอัพสโตร์เล็กๆ ก็ได้ผลตอบรับที่ดีกลับมา ธุรกิจทำท่าจะไปได้สวยเมื่อวัฒนธรรมชาเริ่มเบ่งบานในเมืองไทย (แม้จะไม่เท่ากาแฟก็ตาม)

การเลือกดอกไม้จึงสำคัญ กุหลาบคือรสชาติแรกที่เปิดตัว ก่อนตามมาด้วยดอกไม้ชนิดอื่นๆ ที่เธอคิดว่าน่าจะเข้ากับคนไทย พิมเปรียบว่าทำชาก็เหมือนทำจิวเวลรี่ ต้องมีคอลเลคชั่นใหม่ๆ ออกมาให้ลูกค้าติดตาม แม้จะไม่ได้เป๊ะอย่างจิวเวลรี่ว่าต้องมีคอลเลคชั่นใหม่ทุก 6 เดือน แต่ก็ควรมีดอกไม้ชนิดใหม่มานำเสนอลูกค้าประจำที่อยากเปลี่ยนรสชาติเดิมๆ บ้าง

“เราต้องเสาะหาดอกไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดสาร มีใบรับรองด้วย เมื่อเราเอามาอบ เราก็ส่งแล็บเพื่อตรวจคุณภาพ และสิ่งที่ยากสุดในการออกชาตัวใหม่คือ คุณภาพ รสชาติ หน้าตา”

 

วิธีคิดในการเลือกดอกไม้ พิมบอกว่าต้องเป็นดอกไม้ที่กินได้เป็นอย่างแรก ตามด้วยหน้าตาเป็นยังไงเมื่ออยู่ในกาชา “เพราะคอนเซ็ปต์เราคือต้องสวย” เธอว่า จากนั้นต้องดูว่าปริมาณของดอกไม้ชนิดนั้นผลิตได้ทั้งปีไหม สม่ำเสมอไหม เพราะดอกไม้บางชนิดก็มีซีซั่นของมันอย่างคาโมมายด์

D 2

ปัจจุบัน CHAR มีไลน์สินค้าหลากหลาย ทั้งเซ็ตของขวัญหลายขนาด เหมาะมากกับคนที่กำลังมองหาของขวัญปีใหม่ให้คนพิเศษ สามารถเลือกซื้อได้จากช็อปของ CHAR ที่กระจายอยู่ในสรรพสินค้าชั้นนำ สปาโปรดักส์อย่าง flower bath tea, สเปรย์อนามัยกลิ่นดอกไม้, bath bomb เกลือผสมดอกไม้ที่ผลิตให้กับโรงแรมห้าดาวในไทย ตามด้วยงาน catering ที่ทำตามโจทย์ของลูกค้าเป็นหลัก

“คิดจะเปิดคาเฟ่ไหม” เราถาม…

“เอาจริงๆ นะ เราดูหลายโลเกชั่นมาก ก่อนโควิด-19 ไปดูนู่นนี่กันเยอะมาก เราไม่ได้ต้องการทำเป็นคาเฟ่จ๋า อยากให้มันเป็นแฟล็กชิปสโตร์ที่คนมาซื้อชาเราแล้วนั่งได้ ได้คุยกับเรามากกว่า ให้เขาซื้อกลับบ้านเป็นหลัก คือคาเฟ่อาจไม่ใช่เราเท่าไหร่”

D 3

ความท้าทาย

พิมบอกว่าโจทย์ยากของ CHAR คือทำยังไงให้คนเข้าใจและหันมาดื่มด่ำกับชาดอกไม้ ย้ำว่าเป็นดอกๆ ไม่ใช่เป็นผง และการเข้าใจว่าชาของ CHAR แตกต่างจากชาเบลนด์ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยมากกว่า

แต่ลูกค้าที่กลับมาหา CHAR ทุกคนใช้เหตุผลเดียวคือ ‘คุณภาพ’

“อย่างคาโมมายด์ ลูกค้ากลับมาแล้วบอกว่าดีมากเลย เก๊กฮวยจักรพรรดิ หลายคนบอกว่าทำไมแพง แต่พอชิมก็ควักเงินซื้อเลยนะ อย่างชาดอกบัวที่ช่วยทำให้หลับสบาย หลายคนกินแล้วชอบ เขาก็กลับมา จริงๆ เรื่องความงามเราไม่ต้องพูดถึง เพราะอันนี้วางไว้ในใจอยู่แล้ว (หัวเราะ) เราไม่อยากชูเรื่องสุขภาพเพราะมันไม่ใช่ยา มันอยู่ที่รสชาติและความพึงพอใจระหว่างจิบชามากกว่า”

D 8

ถ้าใครอยากไปแพริ่งกับขนม เธอแนะนำว่าควรเป็นขนมไม่หวานจัด กุหลาบเหมาะกับช็อกโกแลต บัวเหมาะกับขนมรสเบาๆ แบบถั่ว ยกเว้น Blomming tea ซึ่งมีชาเขียวผสมอยู่ ตัวนี้แพริ่งกับอาหารรสจัดได้

นอกจากนี้ยังมีแอคเซสซอรี่ให้เลือกซื้ออีกด้วย ตั้งแต่กาชาขนาดเล็ก ใหญ่ ฐานวางกาชา ช้อนชงชา ถ้วยชา เทียนหอมจากชา ฯลฯ พิมบอกว่าสิ่งนี้ก็สำคัญและคิดว่าจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ตราบที่การออกแบบเครื่องประดับคือสิ่งที่เธอชอบ

D 4

CHAR จึงเป็นชาที่มี visual art ของคนชอบความสวยงามเวลาได้เห็นจริตดอกไม้ที่บานในกาชา เป็นงานคราฟต์ของการดื่มที่เหมาะกับลมหนาวไว้สังสรรค์กับเพื่อนฝูง และเป็นอีกธุรกิจดีๆ จากความตั้งใจของคนไทยที่น่าสนับสนุน

D 10

อยากรู้จัก CHAR มากขึ้น ลองแวะไปสโตร์ในสรรพสินค้าชั้นนำกันได้ ทั้งในเครือเซ็นทรัล สยามพารากอน ไอคอนสยาม หรือติดตามได้จากช่องทางออนไลน์

Website: www.charflowertea.com
FB: https://www.facebook.com/charflowertea
IG: Char_flowertea
LINE: @charflowertea

Tags: