กาแฟเทพทาโร
‘เทพทาโร’ อาราบิก้าจากพังงา ที่ปั้นรสชาติใหม่ด้วยไม้หอมประจำถิ่น
- พาไปทำความรู้จักร้านกฤษณาวารี Specialty Coffee ร้านกาแฟแนว Slow Bar กาแฟดริป ที่ผลิตกาแฟของพังงาตัวแรกในชื่อ ‘เทพทาโร’ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในงานเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวจังหวัดพังงาหรือ Phangnga Festival 2021 ไปหมาดๆ
- แม้ไม่ใช่คนพังงา แต่โอ๊ต – ธนเดช อดีตนักร้องนำวง Winky ก็อยากให้พังงามีกาแฟเป็นของตัวเอง และนั่นคือที่มาที่ทำให้เขาเริ่มค้นหา และมาเจอไม้เทพทาโร ไม้หอมประจำถิ่นของพังงาที่เขาเชื่อว่ามันสร้างคาแรกเตอร์ให้กาแฟได้
- ความพิเศษอยู่ที่คาแรกเตอร์ของเทพทาโรเมื่อถูกรวมเข้ากับกาแฟแล้วโดดเด่นมาก รสชาติเปรี้ยวหวานได้จากตัวเมล็ดกาแฟ แต่ความหอมของไม้เทพทาโรกาแฟได้ดูดซึมเข้าไป มันส่งให้เกิดความซับซ้อนของรสชาติและกลิ่นอย่างน่าตื่นเต้น
ในวันที่ผู้คนต้องการหลีกหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง มองหาชีวิตเรียบง่ายในวิถีชนบท โอบล้อมด้วยธรรมชาติ โอ๊ต - ธนเดช อธิชาธีทัต อดีตนักร้องนำวง Winky ของค่าย Music Bugs คือคนหนึ่งที่ตัดสินใจเฟดตัวเองจากเจ้าของคาเฟ่ดังในย่านพุทธมณฑลสาย 1 ออกเดินทางหาที่สักแห่งสำหรับลงหลักปักฐานเปิดร้านกาแฟเล็กๆ ในแบบที่ตัวเองชอบ
สุดท้ายลงเอยที่...พังงา เมืองในหุบเขาที่มีดีทั้งทะเลจริงและทะเลหมอก
ภายในระยะเวลา 5 เดือนนับจากย้ายมาเป็นคนใต้ เขาไม่เพียงทำตามฝันของตัวเองเปิดร้านกฤษณาวารี Specialty Coffee ร้านกาแฟแนว Slow Bar กาแฟดริปในอาคารพาณิชย์ 1 คูหาที่คัดสรรกาแฟชั้นดีมีคุณภาพมาเสิร์ฟผ่านการชงอย่างพิถีพิถันเท่านั้น แต่ยังผลิตกาแฟของพังงาตัวแรกในชื่อ ‘เทพทาโร’ ที่เพิ่งเปิดตัวในงานเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวจังหวัดพังงาหรือ Phangnga Festival 2021 ไปหมาดๆ เพื่อหวังใช้กาแฟพัฒนาเมืองไปด้วยกัน
Signature Coffee of Phangnga
“ผมไม่อยากเป็นแค่คนนอกที่มาอาศัยอยู่ แต่อยากทำตัวให้เป็นประโยชน์ด้วย ผมมองว่าพังงามีทุกอย่างที่คนควรจะมุ่งมาเที่ยว ที่นี่ตอบโจทย์การเป็นเมืองๆ หนึ่งที่อุดมไปด้วยกาแฟกับศิลปะ เลยคิดว่าควรทำอะไรให้วงการกาแฟที่นี่ตื่นตัวขึ้นแล้วลามไปถึงงานศิลปะ” โอ๊ต เล่าถึงที่มาของการเกิดผลิตการแฟน้องใหม่
แต่สิ่งที่พังงายังไม่มีคือกาแฟเป็นของตัวเอง…
กาแฟของตัวเองที่มีคาแรกเตอร์ชัดเจนพอที่จะทำให้คนอื่นหันมาสนใจจึงเป็นไอเดียที่ผุดขึ้นและกลายเป็นธงในใจของเรื่องนี้ หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกับคนในพื้นที่เพื่อหาวัตถุดิบที่มีความเป็นไปได้จนได้รับคำแนะนำว่ามีไม้ประจำจังหวัดชื่อ เทพทาโร เป็นไม้หอม ยิ่งพอไปหาข้อมูลเพิ่มเติมยิ่งพบว่าคุณสมบัติที่มีในไม้ชนิดนี้มันอยู่ในกาแฟดีๆ และน่าสนใจหลายตัว
ประจวบเหมาะกับทางเจ้าภาพจัดงานเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวมาชวนไปออกบูธซึ่งปีนี้เป็นธีมงานสมุนไพร โอ๊ตจึงถือโอกาสเอาโปรเจ็กต์ที่คิดไว้มารวมกับงานนี้ทันที
“ผมอยู่ในวงการกาแฟมา 6-7 ปี ผ่านการร่ำเรียนมาทั้งการชงและชิมมาก็ไม่น้อย แต่ยิ่งเดินมาไกลเท่าไหร่ยิ่งรู้ว่าเราตัวเล็กๆ ลงเรื่อยๆ กาแฟยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ก็เหมือนเรารู้น้อยลงเท่านั้นเพราะมีเรื่องให้เรียนไม่จบ ผมคิดว่าตัวเองมีความรู้กลางๆ แต่สามารถเอาความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ที่มีจัดการกับสิ่งที่ต้องทำได้”
คุณค่าที่ถูกมองข้าม
สิ่งแรกที่เขาทำหลังจากเดินหน้าเร่งโปรเจ็กต์คือ การทำความเข้าใจกับเทพทาโรทั้งต้น ก่อนจะทราบว่าต้นมีขนาดใหญ่มากและต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะได้ครบทุกส่วนของต้นเพื่อนำมาชิม ดม และจับอย่างละเอียด เพราะต้องรวบรวมจากหลายที่ ยากที่สุดคือการหาราก ซึ่งต้องไปหาต้นที่โค่นแล้วขุดขึ้นมา
“สิ่งที่ผมเจอระหว่างทางคือทุกคนจะบอกว่าเคยมี ทั้งที่เป็นไม้ประจำจังหวัดแต่ถามหากับใครก็บอกว่าโค่นไปแล้ว ไม่มี ไม่ค่อยได้ปลูก ผมงงว่ามันไม่มีการส่งเสริมอะไรเลยเหรอ มีแต่ไม่เก็บไว้เพราะเอาประโยชน์ไปทำอะไรก็ไม่รู้ เหมือนเกะกะการใช้พื้นที่ หากมีการให้ความสำคัญมากพอ เขาคงจะเลือกเก็บไว้และเลื่อนสิ่งปลูกสร้างไปข้างๆ”
หลังจากใช้เวลาในการเก็บรวบรวมอยู่ประมาณเกือบ 4 เดือนนำมาหาข้อแตกต่างของแต่ละส่วนโดยวิธต่างๆ อาทิ ดมใบแห้ง ใบสด ขยี้แล้วดมไปจนถึงคั้นน้ำชิม ปรากฏว่ายอดที่บางบ้านเด็ดกินกับขนมจีนให้ความเย็นเหมือนมินต์แต่หอมไม่เหมือนกัน
ยอดเทพทาโรจะเย็นแล้วซ่า กินแล้วปล่อยไว้ไม่กินอะไรตามพบว่ามีความหวานค้างอยู่ในคอ หรือที่เรียกว่า aftertaste และมีกลิ่นหอมคลุ้ง น่าจะเป็นจุดเด่นจุดหนึ่ง “ไม่ใช่กาแฟทุกตัวจะมีความเย็นแบบมินต์ นี่คือสิ่งที่น่าตื่นเต้น พอมาดมกลิ่นที่มีเม็ดตุ่มๆ ตรงปลายยอดจะมีกลิ่นแรงแต่ไม่เหมือนใบ ทุกส่วนของต้นจะละม้ายคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนกัน”
คาแรกเตอร์อันโดดเด่น
เมื่อเก็บข้อมูลเสร็จเรียบร้อย ในขั้นตอนการผลิตก็ได้ฟาร์มระดับแชมป์ประเทศไทยปี 2016 อย่างเลอตอโกลด์ ที่จ.ตาก ดูแลให้ดึงสิ่งที่ต้องการออกมาให้ได้มากที่สุด โดยลอตเวอร์ชั่นแรก (101) ใช้ทุกส่วนของเทพทาโร เนื่องจากแต่ละส่วนมีคาแรกเตอร์แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นจากราก ความเย็นแบบมินต์และ aftertaste หวานจากปลายยอด และซินนามอนจากส่วนของเปลือกลำต้น
เจ้าของร้านกฤษณาวารี เล่าว่าอยากได้ลักษณะเด่นของแต่ละส่วนเข้าไปอยู่ในกาแฟจึงตั้งใจใช้ทั้งหมด แต่ด้วยโปรเจ็กต์นี้มีเวลาสั้นมากจึงพลาดไม่ได้ เพราะไม่แน่ใจว่าถ้ารอบแรกพลาดจะทำรอบสองทันมั้ย เลยมีการเตรียมแผนสำรองทำไว้ 2 อย่าง คือ เทพทาโรกับกระท่อม เนื่องจากกระท่อมเคยทำแล้ว แค่เป็นการรีแบรนดิงให้รู้สึกเป็นสมุนไพรมากขึ้น ทั้งหมดเราจะคุยกันว่าคาดหวังไว้อย่างไร ซึ่งก็ต้องลุ้นทั้งกระบวนการที่ฟาร์มและโรงคั่วว่าจะดึงสิ่งที่ต้องการออกมาได้มากน้อยแค่ไหน
“เทพทาโรเป็นเมล็ดกาแฟสายพันธุ์อราบิก้าที่ใช้อัตลักษณ์ของพังงารวมกับเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุดของเรา คั่วด้วยโรงคั่วที่ดีที่สุดที่เรามี ความพิเศษอยู่ที่คาแรกเตอร์ของเทพทาโรเมื่อถูกรวมเข้ากับกาแฟแล้วโดดเด่นมาก รสชาติเปรี้ยวหวานได้จากตัวเมล็ดกาแฟ แต่สิ่งที่กาแฟได้ดูดซึมเข้าไป มันส่งให้เกิดความซับซ้อนของรสชาติและกลิ่นอย่างน่าตื่นเต้น เราจะได้กลิ่นของไม้เนื้อหอม ขณะเดียวกันในความเป็นไม้หอมก็ดันไปคล้ายกับเครื่องเทศ เป็นกลิ่นหอมของไม้ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น”
“อย่างที่บอกว่าความเป็นมินต์ในกาแฟจะไม่ค่อยเจอ แต่พอเอาเทพทาโรไปควบรวมเข้ากับกาแฟ ความเย็นจะถูกส่งต่อไปในกาแฟด้วย ทำให้รู้สึกเย็น หอม ได้กลิ่นซินนามอน มีเผ็ดเบาๆ มีเปรี้ยวหวานจากเมล็ด ทั้งหมดนี้จะทำให้เทพทาโรดูโดดเด่นในแง่รสชาติคือเปรี้ยวหวานแน่นอนแล้ว แต่จะหวานชัดเจนกว่าเปรี้ยว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่คนคั่วและคนชงด้วยว่าจะดึงอะไรออกมาได้บ้าง”
กาแฟ ศิลปะ ดนตรีและงานคราฟต์
แม้ช่วงแรกจะค่อนข้างกังวลเรื่องคาแรกเตอร์ที่ออกมาไม่ชัดเจน แต่สุดท้ายหลังผ่านการคั่วไปแล้ว 7 วันทุกอย่างก็ได้ผลอย่างที่ต้องการ แน่นอนว่ามันคือความภูมิใจที่ทำให้พังงามีกาแฟของตัวเองสำเร็จและมีให้ลิ้มลองกันแล้วที่ร้านกฤษณาวารี แต่สิ่งที่เขาอยากเห็นต่อจากนี้คือ การวาดภาพอยากให้เป็นกาแฟที่คนมาพังงาแล้วต้องอยากกินและกระจายอยู่ทั่วทั้งจังหวัดภายใน 1-2 เดือน เพื่อหวังว่าวันหนึ่งสิ่งที่เขาทำจะเป็นแรงบันดาลใจให้มีคนเอาเทพทาโรไปทำ process เป็นอีกรสชาติที่อร่อยก็ได้
“หลังจากนี้อาจจะมีอย่างอื่นอีก ไม่เกี่ยวกับต้นไม้ดอกไม้ประจำจังหวัด อาจเกิดจากจินตนาการล้วนๆ เพื่อให้เกิดกาแฟใหม่ๆ ตามมาเรื่อยๆ ที่ผ่านมาพังงาเคยเป็นผู้ตามอย่างเดียวในด้านกาแฟ อะไรดังก็ซื้อมาขาย แต่หลังจากนี้เราจะทำเองบ้าง ดังมั้ยไม่รู้แต่จะมีของเราเอง” อดีตพ่อค้าวัยรุ่นผู้จุดกระแสการขายข้าวไข่เจียวทรงเครื่องที่ถนนข้าวสารเมื่อ 20 ปีก่อน กล่าวด้วยรอยยิ้มแห่งความหวัง
ไม่ใช่แค่กาแฟ แต่รวมถึงศิลปะ ดนตรี งานคราฟต์ ทุกอย่างอยู่ด้วยกันได้ แล้วโปรดักต์ทุกๆ อันจะส่งต่อถึงกัน ช่วยเหลือกัน ซึ่งตอนนี้กำลังรวมทีมกันเพื่อทำสิ่งเหล่านี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบได้นำความรู้ ความสามารถกลับมาพัฒนาบ้านเกิด เมื่อนั้นพังงาก็จะไม่ถูกมองข้าม แต่จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ทุกคนมุ่งหน้ามา
ที่ผ่านมาหลายอย่างที่เขาทำถูกมองว่าเลอะเทอะ ทำไม่ได้ ต้องคนมีเงิน บริษัทใหญ่ๆ แต่เขาก็ยังดื้อทำจนเสร็จทุกครั้ง ส่วนประสบความสำเร็จอย่างที่คิดมั้ยนั้นอีกเรื่อง แต่อย่างน้อยเขาได้พิสูจน์ว่ามันเกิดขึ้นได้ ขอแค่มีคนเริ่มทำเหมือนกับเขาที่อาสาเป็นคนจุดไฟและหวังให้คนอื่นๆ เอาฟืนมาสุมให้ไฟมันสว่างยิ่งขึ้น โดยใช้กาแฟยกระดับคุณภาพชีวิตของเมืองที่อยู่
กาแฟคือส่วนหนึ่งของการเดินทาง
ทำไมต้องเป็นกาแฟ…
“เราอยู่ในเทรนด์แบบนั้น ทุกคนถ่ายรูปอัพโซเชียล สถานที่ถ่ายรูปถ้าไม่ใช่จุดชมวิว ก็ร้านกาแฟ คาเฟ่ มันคือหนึ่งในพอยต์ของการเดินทางเสมอ อาจจะต่างกันตรงที่แต่ละคนอินจริงจังแค่ไหน และตอนนี้พังงาก็มีร้านกาแฟดีๆ เกิดขึ้นมากมาย”
นอกจากกระแสความนิยมแล้ว โอ๊ต ยังมองทิศทางของกาแฟไทยโตขึ้นอย่างน่าตื่นเต้นมาก มีคนทำกาแฟเก่ง มีกาแฟดีๆมากมาย มีการสนับสนุนชาวบ้านให้ทำอย่างยั่งยืน มีการส่งเข้าแล็บเพื่อหาวิธีการพัฒนา ปัจจุบันมีการเติมยีสต์ process เพื่อให้ยีสต์ทำปฏิกิริยากับกาแฟและได้รสชาติ 1234 ซึ่งการพัฒนากำลังก้าวไปอย่างชัดเจน
“ปัจจุบันกาแฟแต่งกลิ่นแต่งรสชาติกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าชงออกมาแล้วไม่เหมือนกาแฟจริงหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วผู้บริโภคก็จะเป็นคนเลือกเองว่าชอบหรือไม่ ชอบแบบไหน”
เมื่อถามว่ากาแฟที่ดีสำหรับโอ๊ตเป็นแบบไหน เขานิยามง่ายๆ สั้นว่า “อร่อยสำหรับคนดื่ม” ก่อนจะอธิบายเพิ่มว่า “เพราะทุกคนดื่มกาแฟไม่เหมือนกัน หน้าที่ของเขาคือชงกาแฟออกมาให้ถูกใจคนดื่ม มีความเป็นตัวตนเข้าไปด้วยแต่ก็ต้องจัดการกับกาแฟนั้นให้ตรงกับความต้องการของคนดื่มมากที่สุด นั่นคือกาแฟดริปที่ดี
“อร่อยคนชง แต่ไม่อร่อยคนดื่มก็ไม่มีประโยชน์”
วันนี้พังงาอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักของทุกคน แต่ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ ทั้งที่เป็นลูกหลานและชาวกรุงที่หลงรักในธรรมชาติและวิถีความเป็นอยู่ เราเชื่อว่าอีกไม่นานเมืองในหุบเขาแห่งนี้จะพัฒนาเป็น destination ที่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มต้องปักหมุดมาเยือนสักครั้ง
เครดิตภาพ : เพจ กฤษณาวารี Specialty Coffee
ร้านกฤษณาวารี Specialty Coffee
ที่ตั้ง : อยู่ในตัวอำเภอตะกั่วป่า ตรงข้ามวิทยาลัยชุมชนพังงา
เวลาเปิด-ปิด : 08.00 – 17.00 น. (ปิดทุกวันอังคาร)
โทร : 086 303 9242
FB : กฤษณาวารี Specialty Coffee