Behind Brew Lab
สนทนาประสา ‘Aeropress’ กับ ‘เบญจ เขมาชีวะ’ หนุ่มไทยผู้หลงใหลสโลว์บาร์จนคว้ารองแชมป์โลกปี 2019
- เบน – เบญจ เขมาชีวะ คือหนุ่มไทยที่คว้าแชมป์ Aeropress ประเทศไทย ตามด้วยตำแหน่งรองแชมป์โลกในการแข่งขัน 2019 World Aeropress Championship
- Aeropress เป็นวิธีการชงกาแฟแบบใช้แรงดันเพื่อสกัดกาแฟให้เข้มข้นตามต้องการ เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่ายและไม่เสี่ยงแตกเสียหาย Aeropress จึงเริ่มได้รับความนิยมแพร่หลายในไทย
สโลว์บาร์คืออีกเส้นทางเปี่ยมเสน่ห์ในโลกกาแฟที่กลายเป็นวัฒนธรรมแห่งความสุขทั้งคนทำและคนดื่ม และเพราะการดึงรสชาติของกาแฟที่ซับซ้อนแต่ใช้ขั้นตอนเรียบง่าย (แต่ใช้เวลาเยอะหน่อย) สโลว์บาร์ในมุมมองของ เบน – เบญจ เขมาชีวะ เจ้าของร้าน Brew Lab จึงเลือกสะท้อนผ่าน Aeropress อีกหนึ่งวิถีกาแฟของคนใจเย็นที่มีรายละเอียดในตัวเองน่าสนใจ
ความชอบกับชัยชนะ (ที่ไม่ได้คาดหวัง)
กาแฟคราฟต์เหมือนประตูบานใหญ่ที่เปิดต้อนรับเบนให้รู้จักและหลงรักโลกของสโลว์บาร์
ความสนใจยิ่งมีมากขึ้นเมื่อเขาหันเข็มทิศชีวิตมาเป็นลูกมือที่คาเฟ่แห่งหนึ่งในจตุจักร เขาได้ชิมกาแฟหลากหลายรสชาติ ยิ่งชิมก็ยิ่งหลงใหล ยิ่งอยากเรียนรู้เทคนิคการชงหลากหลายรูปแบบ แม้คุ้นเคยกับกาแฟดริป แต่มันกลับรู้สึกตื่นเต้นยิ่งกว่าเมื่อเจอกับ Aeropress อุปกรณ์ชงกาแฟที่ผสมผสานระหว่างการชงแบบ espresso และแบบ filter เข้าด้วยกัน
เบนสนุกกับของเล่นใหม่อยู่พักใหญ่ จนวันหนึ่ง…โอกาสก็มาถึง เขาตัดสินใจกระโจนตัวเองลงแข่งขันในรายการ 2019 Thailand Aeropress Championship “ปีก่อน (2018) ผมก็ไป ตกรอบแรก พอปี 2019 ก็ไปอีก เราไม่คิดว่าจะชนะ ยังพูดเล่นกับเพื่อนอยู่เลยว่าฝากร้านแป๊บนึง เดี๋ยวตกรอบก็กลับแล้ว” เขาเล่า
แต่จากฝากร้านครู่เดียวของเขา ชายหนุ่มกลับมาพร้อมรางวัลใหญ่ด้วยการเป็นแชมป์ประเทศไทย (ที่ตัวเขาเองคงนึกไม่ถึง!) ต่อด้วยเส้นทางยิ่งใหญ่กว่านั้น นั่นคือการเดินทางสู่เวทีระดับโลก 2019 World Aeropress Championship และคว้าตำแหน่งรองแชมป์โลกมาครองได้อย่างสมเกียรติ
สำหรับผู้ชายคนนี้…การแข่งขันคือแรงผลักดันสำคัญเพื่อพัฒนาฝีมือชงกาแฟของตัวเอง
‘Aeropress’ กระบอกเดียวก็เฟี้ยวได้
เจ้าอุปกรณ์ที่เรียกว่า Aeropress คิดค้นขึ้นโดย Alan Adler นักฟิสิกส์และประธานบริษัทแอโรบี (Aerobie) ราวๆ ปี 2005 จากแนวคิดที่ว่าน่าจะมีเครื่องชงกาแฟที่ทำกาแฟได้อร่อย ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ราคาจับต้องได้ Alan จึงลองนำวิธีการชงกาแฟสองแบบมาประยุกต์เข้าด้วยกัน นั่นคือการชงเอสเพรสโซกับการชงกาแฟแบบฟิลเตอร์ที่ต้องมีแผ่นกรอง แล้วออกแบบเจ้าเครื่องนี้ให้มีหน้าตาเป็นท่อพลาสติกทนความร้อน 2 ชิ้นประกบกันซึ่งจะว่าไปก็ดูคล้ายกระบอกฉีดยา
การชงกาแฟดริปต้องเทน้ำผ่านกาแฟและตัวกรอง หากชงด้วยแบบเฟรนซ์เพรสจะใช้วิธีแช่กาแฟ แต่สำหรับ Aeropress แล้วมันเหนือกว่านั้น เพราะมี ‘แรงดัน’ มาช่วยสกัดกาแฟแบบที่ทั้งดริปและเฟรนซ์เพรสไม่มี และแรงดันมาก-น้อยนี่เองคือตัวกำหนดความเข้มข้นของกาแฟ จึงไม่ต้องแปลกใจเลยถ้าเห็นนักชงกาแฟแบบ Aeropress มีท่าประจำตัวแตกต่างกันไปเพื่อออกแรงกดกาแฟ
“ปรกติคนชงกาแฟ พอชงแบบดริปได้แล้ว เขาก็อยากเล่นอุปกรณ์อื่นๆ ด้วย พอเราเข้าใจเรื่องสกัด เข้าใจเรื่องอุปกรณ์และรู้ว่าการจะเล่นอุปกรณ์อีกชิ้นมันก็ไม่ใช่เรื่องยากขนาดนั้น แม้อุปกรณ์เปลี่ยนไป แต่หัวใจมันอยู่ที่การสกัดกาแฟอยู่ดี” รองแชมป์โลก Aeropress บอกเรา
Aeropress สามารถชงได้ทั้งแบบธรรมดา (Regular) หรือพลิกกลับหัว (Inverted) ซึ่งเบนบอกว่าเขาชอบแบบ invert มากกว่า ยิ่งกว่านั้น Aeropress ยังสามารถทำกาแฟใส่นมได้ เพราะเมื่อมีแรงดัน กาแฟที่ได้เข้มข้นกว่าเทคนิคการดริป ใส่นมเข้าไปจึงได้รสกลมกล่อมกำลังดี
เสน่ห์ของ Aeropress สำหรับเบนแล้ว น่าจะอยู่ที่ตัวอุปกรณ์มีลูกเล่นในการชง ดีไซน์ความเข้มของกาแฟได้ตามต้องการ ทั้งยังพกพาง่าย เพียงแค่มีกระบอก Aeropress กับเครื่องบดกาแฟก็สามารถทำกาแฟดีๆ ดื่มได้แล้ว
ขณะเดียวกัน สายแคมป์ปิ้งยุคปัจจุบันก็เริ่มหันมานิยมกาแฟแบบนี้กันมากขึ้น เพราะเป็นกระบอกพลาสติกพกพาสะดวก พร้อมลุยไปทุกที่ ตัวอุปกรณ์ก็หาซื้อได้ไม่ยากและสามารถหามาในราคาจับต้องได้…ส่วนรสชาติจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นกับฝีมือของแต่ละคน
Brew Lab สังคมคนรักกาแฟ (ช้า)
เบนเปิด Brew Lab ขึ้นมาเพื่อเป็นบ้านแห่งสโลว์บาร์ของคนรักกาแฟเนิบช้า ตัวร้านดูเรียบง่ายจากบ้านไม้ชั้นเดียวที่ทำจากไม้สนรัสเซีย ให้ความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง
ที่นี่…เบนคือบาริสต้าผู้ตั้งใจเสิร์ฟกาแฟจากฝีมือของเขาทุกแก้ว เลือกได้ว่าจะกินแบบดริปหรือ Aeropress เขายินดีต้อนรับทุกคน “กาแฟมันคือสิ่งที่เราเรียนรู้ได้เรื่อยๆ ทุกวันนี้ผมก็ยังเรียนรู้จากลูกค้า สิ่งที่เราทำแม้เราคิดว่าอาจดีที่สุดสำหรับเรา แต่มันอาจจะไม่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า ก็ไม่มีประโยชน์หรอกครับ และระหว่างเรากับลูกค้า เราก็ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”
เขาอยากให้ Brew Lab เป็นเหมือนห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ของกาแฟ เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง มากกว่าแค่เพียงคาเฟ่ที่เดินเข้ามา สั่งกาแฟ แล้วกลับออกไป ตลอดเวลาที่เราสนทนากัน เขาย้ำเสมอว่ากาแฟคือวิทยาศาสตร์ของการชง สกัด แต่หากมองลงไปลึกๆ ก็ไม่ใช่วิทยาศาสตร์เพียวๆ เสียทีเดียว เมื่อการชงมันยังมีศิลปะซ่อนอยู่ซึ่งต้องอาศัยทักษะคนชงแต่ละคน
เพราะการชงกาแฟไม่มีผิดถูก มีเพียงชอบหรือไม่ชอบ โลกกาแฟของเบนจึงไร้จุดสิ้นสุด ยิ่งศึกษา ยิ่งแลกเปลี่ยน ยิ่งได้ความรู้ “เสน่ห์ของ Brew Lab คือการที่เราได้มาคุยกันเรื่องกาแฟ ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับ Aeropress ก็ได้ เราสนใจแค่ว่า คุณที่กินกาแฟ ที่ชอบกินกาแฟ มาแลกเปลี่ยนเรื่องกาแฟกัน เรามีความสุขตรงนี้ แต่ถึงคุณจะไม่คุยเรื่องกาแฟ
เราก็อยากให้ที่นี่เป็น community เป็นที่ที่เพื่อนมาคุยกันกลางวงกาแฟ ให้กาแฟพาเราไปสู่เรื่องอื่นๆ บ้างก็ดีเหมือนกัน”
Brew Lab Café BKK (พระราม 9)
ที่อยู่: ถนนพระราม 9 ซอย 41 เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร (หลังเดอะไนน์ พระราม 9)
เปิดวันพุธ-อาทิตย์ 10.00-18.00 น.
facebook: BrewLabCafeBKK
ไม่มีที่จอดรถบริการ แต่สามารถจอดรถยนต์หน้าร้านได้ 2-3 คัน