About
ART+CULTURE

Apple + Soda =

Applesoda นักวาดภาพประกอบที่ได้ทำแอนิเมชันไวบ์จิบลิให้ Shiseido แบบงง ๆ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ เบิร์ด-อภิวัฒน์ พุฒตาลศรี เจ้าของนามปากกา Applesoda นักวาดภาพประกอบชวนอบอุ่นใจที่มีสตูดิโอจิบลิเป็นแรงบันดาลใจ ได้ร่วมงานกับ Netflix และ Shiseido แบบงง ๆ เพราะไม่ปฏิเสธโอกาสที่เข้ามาแบบตั้งใจ

“​​จริงๆ มันไม่ได้มีที่มาที่ไปที่ล้ำอะไรขนาดนั้น” เบิร์ด-อภิวัฒน์ พุฒตาลศรี หรือ Applesoda บอกเราเมื่อถูกถามถึงที่มาของชื่อในวงการ ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้วมันก็ผ่านการคิดไตร่ตรองมาอย่างดีเหมือนกัน เพราะเขาอยากจะแยกตัวเองกับตัวตนที่เป็นอาชีพนักวาดออกจากกัน…แล้วไหนบอกไม่ล้ำ

“ชื่อ Applesoda มาจากที่ว่าวันหนึ่งผมไปนั่งทำงานในคาเฟ่สมัยเตรียมเข้ามหาลัย แล้วตาก็เหลือบไปเห็นชื่อเมนูพอดี ผมชอบการเรียงตัวของตัวอักษร และชื่อก็ดูจำง่ายด้วยก็เลยเอามาใช้” นี่ คือที่มาของชื่อ

ถ้าใครยังไม่คุ้นชื่อนักวาดภาพประกอบอายุ 25 คนนี้ เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังแอนิเมชันใน MV เพลง ‘พักแป๊บ แว็บไป NETFLIX’ ของ TangBadVoice และงานล่าสุดคือ การทำแอนิเมชันแคมเปญให้กับ Shiseido (Thailand) เพื่อโปรโมตสกินแคร์ใหม่ Shiseido Vital Perfection ด้วยโจทย์ที่บอกว่า ไวบ์คล้ายๆ จิบลิ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องยากเลยเมื่อเขาชื่นชอบและมักจะหยิบยกเสน่ห์ของสตูดิโอแอนิเมชันจากญี่ปุ่นมาเป็นแรงบันดาลใจในงานของตัวเองอยู่เสมอ

เราเลยถือโอกาสนี้มาพูดคุยถึงการจัดการกับความคิดสร้างสรรค์ภายในหัว และการรับมือกับโอกาสในการร่วมงานกับแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามา ซึ่งเบิร์ดยอมรับว่า เขาโชคดี และไม่เคยปฏิเสธโอกาสที่เข้ามาแบบงงๆ ทุกครั้ง เพราะครั้งหนึ่ง เขาเคยปฏิเสธโอกาสที่เป็นหนึ่งในความฝันที่อยากทำที่สุดของตัวเองมาแล้ว

Anapplesoda

Spirited Away

เราถามเบิร์ดด้วยความสงสัยว่าควรนิยามงานเขาว่าอย่างไร เบิร์ดตอบกลับโดยมีใจความอยู่ที่คำว่า ‘มินิมัล’ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่างานของเขาต้องวาดน้อยๆ สีเบาๆ ดูสะอาดๆ เพราะความมินิมัลสำหรับเบิร์ดคือ การวาดเท่าที่จำเป็น ไม่ต้องลากเส้น 100 กว่าเส้นเพื่อเล่าเรื่องบางอย่าง เพราะบางครั้ง 3-4 เส้น ก็สามารถเล่าเรื่องออกมาได้ในความหมายเดียวกัน และครบถ้วนไม่ต่างกัน

เราเปลี่ยนมาคุยกันถึงจุดเริ่มต้นในการวาดรูป เบิร์ดขอเล่าย้อนกลับไปนับตั้งแต่วัยอนุบาล ซึ่งสำหรับเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบวาดรูป ทุกอย่างดูจะมีความงงเป็นองค์ประกอบอยู่เสมอ ตั้งแต่จุดสตาร์ตของการเริ่มวาดกระทั่งรางวัลแรกที่ได้รับ สำหรับเขาเกิดขึ้นและเป็นไปแบบงง ๆ

Anapplesoda

“มีครั้งหนึ่งตอนอนุบาล อยู่ดีๆ ครูก็เรียก เบิร์ดๆ เดี๋ยวออกไปรับรางวัลที่หน้าเสาธงนะ เราก็งง รางวัลอะไร มารู้ทีหลังว่าครูเอาภาพวาดของเราที่วาดในวิชาศิลปะไปส่งประกวด เราไม่รู้เรื่องเลย ขึ้นไปรับถ้วยแบบงงๆ ตอนนั้นน่าจะไม่รูปม้าลายก็สิงโต และก็ไม่น่าสวยด้วย” เบิร์ดเล่าถึงจุดเริ่มต้นอันแสนงงๆ ด้วยเสียงหัวเราะ

เวลาล่วงเลยต่อมา เบิร์ดนิยามสไตล์ของเขาในช่วงประถมและมัธยมว่าเป็นสไตล์ของเด็กติดการ์ตูนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ค่อยๆ พัฒนาฝีมือตัวเองเรื่อยมา จนเริ่มมีลูกค้ามาจ้างเป็นงานเล็กๆ มีทั้งที่ขอให้วาดแนวญี่ปุ่น ไปจนถึงแนวอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ลองวาดแนวที่ตัวเองไม่เคยหรือไม่คุ้นมือดูบ้าง

Anapplesoda

อย่างไรก็ตาม ในความชอบการ์ตูนญี่ปุ่นก็มีเรื่องหนึ่งที่ติดใจ ด.ช.เบิร์ดเป็นพิเศษ นั่นคือ Spirited Away ของสตูดิโอจิบลิ เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจชนิดจำไม่รู้ลืมมาจนโต เขาหลงเสน่ห์ผลงานชิ้นเอกของฮายาโอะ มิยาซากิ เข้าเต็มเปา ทั้งการเล่าเรื่อง งานภาพ ตัวบรรยากาศ และเพลงประกอบ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่แฝงกลิ่นอายอยู่ในงานของเขาจนถึงทุกวันนี้

“แต่ไม่ได้อยากเป็นจิบลินะ อยากเป็นเรานี่แหละ อยากวาดภาพและเล่าเรื่องให้คนมาหลงเสน่ห์ในสไตล์งานของเรา เหมือนที่เราหลงเสน่ห์ในงานของจิบลิ ซึ่งมันอาจจะต้องค่อยๆ พัฒนาไปตามกาลเวลา”

Anapplesoda

เมื่อคนเราโตขึ้น ผลงานย่อมพัฒนาตาม เบิร์ดบอกว่าจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นช่วงประมาณมหาวิทยาลัยปี 2 ตอนนั้นเขาเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขา Communication Design จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราชิงถามก่อนว่า ทำไมถึงเลือกเรียนคณะและสาขานี้ เอาเป็นว่าเหตุผลของเขาก็สมกับเป็นคนทำงานศิลปะจริงๆ

“เทียบกับมหาลัยอื่นแล้ว เราชอบโลโก้ของคณะนี้ที่สุด” เบิร์ดเล่าอย่างจริงใจ

Anapplesoda

Applesoda

กลับมาที่จุดเปลี่ยนในช่วงปี 2 มีวิชาหนึ่งชื่อว่า Illustration เบิร์ดมองว่า ในเมื่อเขาก็วาดรูปเป็นอยู่แล้ว จะไปเรียนวิชาที่สอนวาดรูปอีกทำไม แต่เมื่อลองกวาดสายตาไปยังวิชาเลือกรอบข้าง มีแต่วิชาที่ไม่อยากเรียนเต็มไปหมดเลย ช่วยไม่ได้ อย่างน้อยขอเลือกวิชานี้แล้วกัน โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัวเลยว่า การเข้าไปเรียนในครั้งนั้นจะทำให้ตัวเองได้เจอกับอาจารย์พิเศษจากข้างนอก ผู้เป็นนักวาดภาพประกอบที่มีชื่อเสียงอย่าง แป้งนวล (Pangnual Studio)

“การเรียนกับอาจารย์แป้งกับอาจารย์นวลเหมือนเปิดโลกให้ผม พาผมไปรู้จักงานสไตล์อื่นที่มันหลากหลายมากขึ้น ได้เรียนรู้วิธีการทำงาน วิธีคิดงานในมุมมองของคนที่ทำอาชีพนี้จริงๆ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมสนใจวงการภาพประกอบ และรู้สึกว่า อยากพัฒนาฝีมือตัวเองให้ไปไกลยิ่งขึ้น อยากมีสไตล์ของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์ให้คนจดจำได้” เบิร์ดเล่าถึงความมุ่งมั่นที่ได้รับในตอนนั้น

และด้วยความมุ่งมั่นนั้นเองที่พาเบิร์ดไปยังงาน Bangkok Illustration Fair โดยได้เป็นหนึ่งในศิลปินที่ทางผู้จัดเห็นถึงศักยภาพ และนำผลงานไปจัดแสดงในหน้าเว็บไซต์ นั่นเองคือจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวาดภาพประกอบที่มีลูกค้ารายใหญ่เข้ามา

Anapplesoda

Applesoda

Good Luck and Opportunity

“ตอนนั้นน่าจะปี 3 ไม่ก็ปี 4 ใกล้ๆ จะเรียนจบละ มีหน่วยงานชื่อ UNDP (United Nations Developement Programme) เขามาจ้างทำแอนิเมชันที่มีหัวข้อเกี่ยวกับ Mental Health” เบิร์ดพูดถึงลูกค้ารายใหญ่เจ้าแรกที่เข้ามา พร้อมกับบอกว่าเห็นเขาจากในเว็บไซต์ของ Bangkok Illustration Fair

เราอยากถามเบิร์ดว่า เขาได้เรียนรู้อะไรบ้างจาก 2 งานก่อนหน้าที่จะมาถึงงานของ Shiseido ซึ่งนี่คืองานชิ้นแรก และเจ้าตัวก็ตอบอย่างไม่อ้อมค้อมด้วยเสียงหัวเราะว่า “เหนื่อย”

Anapplesoda

Applesoda

“ตอนนั้นเราไม่รู้จักการทำงานเป็นทีมเลย ก็คือแอนิเมชันเรื่องนั้น งานภาพ การเคลื่อนไหว ตัดต่อทุกอย่าง ผมทำคนเดียวหมด ซึ่งมันเหนื่อยมาก พอมาถึงทุกวันนี้เรามองกลับไปว่า เฮ้ย งานสเกลระดับนั้น ต้องมีคนช่วยนะ ไม่มีใครเขาบ้าพลังทำคนเดียว และเราก็ได้เรียนรู้การทำงานกับลูกค้าที่สเกลใหญ่มากขึ้น มีการคุยงานที่จริงจังขึ้น การนำเสนอบรีฟต่างๆ ก็ได้เรียนรู้จากเขา” เบิร์ดเล่าถึงความมือใหม่ของตัวเอง

แต่ก็นั่นแหละ เขาถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นบทเรียนสู่งานชิ้นต่อไปที่เข้ามาแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ทุกอย่างเริ่มต้นจากการไปออกบูธกับเพื่อนๆ ในตลาดขายของแนว Art Market ที่นั่นเขาได้พบกับรุ่นพี่ในวงการอย่าง นิดา (Chubbynida) ก่อนจะทำความรู้จักกันตามประสาพี่น้องร่วมวงการ

Anapplesoda

เบิร์ดบอกว่าครั้งนี้ก็เป็นความงงๆ อีกแล้ว วันหนึ่งนิดาทักมาหาเขาว่า ‘มีงานหนึ่ง แต่พี่ไม่ว่างทำ สนใจรับไปไหม’ ในทีแรกเขายังไม่รู้ว่าเป็นงานอะไร รู้เพียงแค่ว่าเป็นงานแอนิเมชันให้กับ MV อะไรสักอย่าง

“เราก็ อุ้ย น่าสนใจ ลองไปทำดู ปรากฏ ตู้ม! เป็นงานของ Netflix เลย ตกใจมากที่ต้องมาทำ MV เพลง ‘พักแป๊บ แว็บไป NETFLIX’ ให้กับพี่ TangBadVoice รู้สึกกดดันด้วยส่วนหนึ่ง เพราะว่าพี่นิดาก็เคยทำ MV ให้พี่ตั้งมาก่อน แล้วเขาทำไว้ดีมากด้วย ถ้าผมไปทำแล้วมันดร็อปลง พี่เขาจะนอยด์เราไหม จะผิดหวังไหม งานสเกลมันใหญ่ คนรู้จัก Netflix กันทั่วบ้านทั่วเมือง ถ้าเราทำห่วย ไอ้เราก็โดนด่าแน่”

Anapplesoda

Applesoda

ผลสุดท้ายงานก็ออกมาดีตามฝีมือ มียอดวิว 1.6 ล้าน เป็นรางวัลให้คนทำงาน เบิร์ดมองว่าเขาโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากทุกคนที่ร่วมงานด้วย เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าการทำงานเป็นทีมนั้นเป็นอย่างไร เบื้องหลังของงานชิ้นใหญ่มีคนมากมายคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกมุมหนึ่ง การได้โอกาสร่วมงานกับ Netflix เหมือนเป็นก้าวที่ใหญ่ขึ้นกว่าก้าวที่เดินมาตลอด หนำซ้ำยังส่งผลให้เขาก้าวไปข้างหน้าเร็วกว่าคนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานะเด็กจบใหม่เหมือนๆ กัน

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทุกงานที่จะสามารถต่อยอดตัวเขาในฐานะศิลปินได้ ยิ่งแล้วใหญ่ในโลกทุนนิยมที่คนเราต้องกินต้องใช้ บางงานสำหรับเบิร์ดจึงอาจต้องพูดว่า มันไม่ได้เป็นตัวเขาขนาดนั้น เป็นงานที่ทำตามบรีฟ ทำเสร็จก็ส่งไป ส่งไปก็รับเงิน และจะเอ็นจอยหรือไม่ ก็คงต้องดูกันอีกที

Anapplesoda

“ถ้างานไหนเราคำนวณแล้วว่า ทำอันนี้เราเสียความเป็นตัวเองมากไป หรืองานนี้ไม่ได้ฝืนมาก แล้วสิ่งที่ได้ตอบแทนมามันโอเค เราก็อาจจะต้องหลับตาข้างหนึ่งไปรับงานแนวๆ นี้ ครั้งหนึ่งเคยมีลูกค้ามาจ้างให้ผมวาดภาพสไตล์จีนโบราณ (หัวเราะ) พู่กันจุ่มหมึกเลย ซึ่งผมว่าผมทำได้ไม่แย่นะ แต่ก็ยังไม่ถูกใจเขา แก้แล้วแก้อีก สุดท้ายผมก็ยอม ไม่ไหวแล้ว ไม่เอาแล้ว” เบิร์ดเล่าถึงบทเรียนที่ได้รับจากงานที่ไม่ได้อยู่ในหน้าแรกของพอร์ต

Applesoda

กลับมาถามถึงผลงานล่าสุดที่ได้ร่วมงานกับ Shiseido เบิร์ดบอกเราอย่างไม่มีอะไรต้องเขินอายว่า เขาคิดว่าเขาเป็นคนที่ค่อนข้างโชคดีที่ได้รับโอกาสบ่อย ครั้งนี้เป็นพี่คนหนึ่งที่เคยร่วมงานกันเมื่อปีที่แล้วทักมาแบบงงๆ (อีกแล้ว) ว่า ‘พี่มีงานงานหนึ่ง หานักวาดอยู่ เป็นงานแอนิเมชันนี่แหละ สนใจมาทำไหม’ ซึ่งคีย์เวิร์ดที่ทำให้เขาตกปากรับคำทันทีคือ ตัวงานเป็นแอนิเมชันสไตล์ญี่ปุ่น ไวบ์คล้ายๆ จิบลิ ทำเอาเบิร์ดสบายใจไปเปลาะหนึ่งทันที

Applesoda

Applesoda

Applesoda

Applesoda

Applesoda

“ผมรู้สึกว่างานนี้ไม่ได้ยากขนาดนั้น เพราะถ้าโจทย์กับสิ่งที่เราชอบมันตรงกัน ก็ไปด้วยกันได้เลย ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องฝืนใจ เราเอ็นจอยที่จะวาดมันออกมา แค่อาจจะมีปรับนิดปรับหน่อยให้ตรงกับสิ่งที่เขาอยากได้ แต่ยังคงหัวใจและเอกลักษณ์ความเป็นตัวเราอยู่”

หน้าที่ของเบิร์ดคือการถ่ายทอดเรื่องราว ที่มาที่ไปของวัตถุดิบ ความพิถีพิถันของชาวญี่ปุ่นมาแปลงเป็นภาพหรือแอนิเมชันที่เล่าได้อย่างตรงประเด็นและถูกต้องตามโจทย์ที่สุด ถึงแม้เขาจะบอกว่างานนี้ไม่ได้ยากขนาดนั้น แต่เอาเข้าจริงก็ยังมีส่วนที่ยากเมื่อความต้องการของลูกค้าคือ แอนิเมชันจิบลิที่ต้องวาดกันแบบเฟรมต่อเฟรม (Frame by Frame) ทำเอาพวกเขาต้องวาดทุกๆ เฟรมด้วยมือหลักร้อยรูป อีกอย่างหนึ่งคือการที่ตัวเบิร์ดไม่ได้เรียนสายตรงแอนิเมชันมา การต้องมาทำอะไรที่เฉพาะทางขึ้น จึงสามารถแตะได้เพียงผิวเผิน กลายเป็นว่างานนี้ สำหรับเขาแล้วมันคือการยกระดับสไตล์ของตัวเองขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ใส่ใจมากขึ้น และพิถีพิถันมากขึ้น

Anapplesoda

Applesoda

Exhibition

เราคุยกับเบิร์ดเรื่องงานลูกค้าไปพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่รู้เลยว่า ในแง่มุมของงานส่วนตัว เขามีกระบวนการขีดเขียนมันขึ้นมาอย่างไร และเมื่อได้ยินคำถาม เขาขอเวลาครุ่นคิดสักนิดหนึ่ง แล้วจึงให้คำตอบว่า เขาอาจจะไม่ได้คิดเยอะหรือละเอียดเท่างานลูกค้า พอมีคำว่าส่วนตัว มันเหมือนเป็นงานที่บันทึกและนำเสนออะไรบางอย่างในช่วงเวลานั้นของตัวเองออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้สึก ทำให้ในช่วงแรกๆ เบิร์ดมองว่าผลงานของเขาจะมีความ Emotional และความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง เช่น ภาพคนในเสื้อกันหนาว ซึ่งอาจจะเป็นภาพแทนความรู้สึกบางอย่างของตัวเขาในช่วงเวลาที่วาดรูปนี้

Anapplesoda

“เมื่อปลายปีก่อนผมได้ไปออกงาน Bangkok Illustration Fair ครั้งล่าสุด แล้วได้เจอกับอาจารย์แป้งนวลอีกครั้ง อาจารย์ถามผมเหมือนตอนเรียนเลยว่า อธิบายงานออกมาเป็น 3 คำพูดสิ ผมจะไปรู้ไหมในตอนนั้น (หัวเราะ) ก็ไม่รู้จะตอบอะไร แต่พอมาลองคิดดูดีๆ มันก็เป็นคำถามที่ดีที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเองว่า เราจะอธิบายงานเรายังไง ตอนนี้รู้สึกจะได้คำประมาณว่า บันทึก ความรู้สึก ซึ่งพอเราได้ทำงาน ได้บันทึกตัวเองไปเรื่อยๆ ตัวเราและงานมันก็โตไปพร้อมๆ กัน ได้เรียนรู้อะไรระหว่างทางไปพร้อมๆ กัน” เบิร์ดพูดถึงคำตอบที่เขาตอบกับตัวเองได้แล้ว แม้จะไม่ถึง 3 คำตามโจทย์ก็ตาม

อีกอย่างหนึ่งที่เราได้รู้คือ เบิร์ดไม่ใช่คนทำงานประเภทปล่อยไหลไปตามใจบอก การทำงานแต่ละชิ้นต้องมีภาพอยู่ในหัวเสมอ เริ่มอย่างไรและจบอย่างไร ควรจะออกมาประมาณไหน แล้วพยายามทำออกมาให้ใกล้เคียงกับภาพในหัวที่สุด

Anapplesoda

ถ้าอย่างนั้นภาพอนาคตที่คิดไว้ในหัวเป็นอย่างไร – เราถามต่อ

“อยากรวยได้ไหม” เบิร์ดตอบพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนจะขอตอบใหม่อีกที “เป้าหมายของผมคือการเอางานตัวเองไปถึงระดับสากลหรือระดับโลกให้ได้ แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่อยากทำ ถามว่าทุกวันนี้ทำได้ไหม …ก็ทำได้ แต่ยังไม่อยากทำตอนนี้ เราอยากมี Exhibition เป็นของตัวเอง แต่ๆๆ จริงๆ เคยมีคนเสนอโอกาสนี้มาให้ผมตั้งแต่เรียนอยู่ปี 4 แล้ว แต่ปฏิเสธไปเพราะยังไม่อยากทำ เราอยากรู้จักงานตัวเองให้มันชัดเจนกว่านี้ก่อน แล้วเมื่อเราพร้อม เราค่อยจัด Exhibition ที่เราภูมิใจมากกว่า”

ทุกวันนี้การเปิดดูอินสตาแกรมยังทำให้เบิร์ดรู้สึกว่า สไตล์ เอกลักษณ์ และการเล่าเรื่องต่างๆ ยังไม่แข็งแรงพอจะจัดเป็น Exhibition ของตัวเองได้ หรือถ้าพูดกันง่ายๆ คืออะไรๆ มันยังไม่กลม ช่วงเวลานี้ยังคงเป็นช่วงของการตามหาตัวเอง ทดลองอะไรใหม่ๆ และเดินหน้าสู่ตัวเราในเวอร์ชันที่ดีที่สุด และเมื่อถึงจุดจุดนั้น การจะกลับมาจัด Exhibition ก็ยังไม่สาย แต่เบิร์ดก็เปรยๆ ว่าขอจัดก่อน 30 ละกันนะ

Anapplesoda

เราพาเบิร์ดย้อนกลับไปยังวันที่กำลังจะเข้าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าการเป็นศิลปินหรือคนทำงานศิลปะในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาเคยถามตัวเองไหมว่า เรียนจบแล้วจะไปทำอะไรต่อ แน่นอนว่าเขาคิด และคิดก่อนจะเข้ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป

Applesoda

Applesoda

“ถ้าเรียนคณะนี้ จบไปจะไปทำอะไรวะ (หัวเราะ) ตอนนี้ผมก็ยังไม่ค่อยมีคำตอบที่ชัดเจนเท่าไหร่ แต่เหมือนว่าที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่เคยนึกไม่เคยฝันเหมือนกันว่าตัวเองจะมาทำอาชีพเกี่ยวกับวาดภาพประกอบ หลายๆ อย่างมันค่อยๆ ก่อร่างเป็นเส้นทางให้ผมมาถึงจุดจุดนี้ได้ โดยที่ผมไม่ได้มีเป้าหมายว่า เราจะไปยังจุดนั้นตั้งแต่แรก แต่เป้าหมายของผมในตอนนี้ เราอยากมีสไตล์ที่ค่อนข้างนิ่ง ค่อนข้างแข็งแรง คนเห็นปุ๊บรู้เลยว่าเป็นเรา แล้วก็อยากร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก ถ้าแบรนด์ไหนติดต่อมา ผมก็ดีใจ (หัวเราะ) Uniqlo ก็อยาก หรือถ้าเพ้อๆ เลยก็ Apple ได้เป็นส่วนเล็กๆ ในโปรเจกต์ของเขาก็ดีใจแล้ว” เบิร์ดพูดถึงหนึ่งในเป้าหมายที่เขามีภาพอยู่ในหัว

Anapplesoda

ส่วนอีกเป้าหมายหนึ่ง เบิร์ดอยากให้งานเขาสื่อสารกับผู้คนในวงกว้างมากขึ้น ให้คนที่มาเห็นผลงานเขาได้เกิดความรู้สึกร่วม ดึงคนเข้ามาสู่โลกของเขามากขึ้น ไม่ใช่แค่มองว่าสวยดีแล้วเดินผ่าน แต่เป็นงานที่คนดูสามารถสัมผัสถึงอารมณ์ของตัวเองในงานที่ออกมาจากอารมณ์ของตัวผู้สร้างอย่างเขา

ก่อนจากกัน สิ่งที่เบิร์ดได้เรียนรู้ในวัย 25 และในฐานะศิลปินที่มองว่าตัวเองเป็นคนโชคดีคือ ลงทุนกับเก้าอี้ที่เซฟหลังและโต๊ะไฟฟ้าช่วยได้มาก พวกเราหัวเราะให้กับความจริงของคำตอบก่อนที่เบิร์ดจะขอตอบแบบจริงจัง

“พอมีโอกาสอะไรที่เข้ามาก็คว้าไว้ก่อน อย่าปล่อยให้หลุดไปง่ายๆ เพราะว่ามันอาจจะดูเป็นโอกาสที่เล็กน้อยสำหรับเรา แต่อาจจะเป็นความฝันสำหรับใครบางคนก็ได้ ซึ่งเราได้รับมาแล้วก็อย่าทำให้สูญเปล่า ทำให้มันดีที่สุดเพื่อจะได้ไม่ต้องมาผิดหวังทีหลัง

ส่วนที่ปฏิเสธโอกาสจัด Exhibition อันนั้นเสียดายนิดหนึ่ง” เบิร์ดจบบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะ

ติดตาม Anapplesoda ได้ที่
FB: Anapplesoda
IG: anapplesoda

Tags: