About
ART+CULTURE

Archive.Nneneiie

รู้จักตัวตน Archive.Nneneiie นักวาดอิสระที่ไม่อยากเห็นงานศิลปะกระจุกแค่กรุงเทพฯ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนรู้จัก ‘เนเน่ – นันทวรรณ แจ่มใส’ นักวาดภาพประกอบและกราฟฟิกรุ่นใหม่ที่ชอบหยิบปากกาหมึกดำมาวาดต้นไม้ เห็ด สัตว์หน้าตาแปลกๆ หรือโมเมนต์ในตอนนั้นๆ โพสต์ลงทวิตเตอร์ในชื่อ Archive.Nneneiie พร้อมชวนคุยถึงการเป็นนักวาดอิสระที่ต้องเผชิญกับโอกาสราคาแพงในบ้านเรา

ลายเส้นยุกๆ ยิกๆ ขีดเขียนดูยุ่งๆ จากปากกาหมึกดำวาดลงสมุดสเก็ตช์เป็นส่วนมาก หรือวาดลงซองห่อกระดาษบ้างเป็นครั้งคราว บางทีมีเขียนบันทึกด้วยลายมือที่อ่านยากแต่กลับสวยไปอีกแบบ บนแอคเคาต์ X (หรือที่ใครหลายคนยังไม่มูฟออนที่จะเรียก Twitter) ในชื่อ ‘Archive.Nneneiie’ เห็นปั๊บก็รู้สึกว่าคนวาดเต็มที่ไปกับการปลดปล่อยอิสระมากกว่าจะมาสนใจรูปแบบความจริงแน่ๆ ภาพวาดขาวดำเหล่านั้นเลยดูเก๋ แปลกตา มีสไตล์ที่ทำให้เรากดฟอลติดตามผลงานเธอทันที ทำให้วันนี้เราและเธอได้มานั่งพูดคุยกันถึงเบื้องหลังภาพขาวดำเหล่านั้น

นักวาดภาพ

สไตล์ที่เกิดจากความเป็นเรา

เนเน่เป็นอีกคนที่ไม่ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกเรียนต่อด้านอะไร เธอรู้แค่ว่าชอบเรียนวิชาศิลปะและไม่เก่งภาษา หลังจบมัธยมต้นเลยเข้าเรียนวิทย์-คณิตแบบงงๆ ไปก่อน แต่เพราะเรียนสายนี้นี่แหละที่ทำให้เริ่มรู้ตัวว่าชอบเสพ Visual Art ภาพประกอบในหนังสือเรียนชีวะ หรือหนังสือฟิสิกส์มากจริงๆ

“เราเพิ่งมารู้ตัวตอน ม.6 เทอม 2 ว่าอยากเข้าคณะ Communication Design ของจุฬาฯ แต่ตอนนั้นชีวิตมันงงสุดๆ เราทำพอร์ตช้ามากในขณะที่คนอื่นเตรียมตัวกันมานานแล้ว เราเลยไปขนงานเก่าที่เคยวาดเล่นๆ หรืออะไรที่อยู่ในสมุดก็ฉีกๆ มา เอาเท่าที่ได้ส่งๆ ไปก่อน” เธอเล่าไปหัวเราะไป

เข้าเรียนมหาวิทยาลัยปีแรกเธอบอกเราว่าทำอะไรไม่เป็นเลย แต่โชคดีที่ได้เห็นเพื่อนๆ มีความถนัดในมีเดียต่างๆ หลากหลายด้านที่กลายมาเป็นพื้นที่ให้เธอได้ใช้เวลาค้นหาความชอบ

นักวาดภาพประกอบ

“อาจารย์เคยพูดไว้ว่า การวาดรูปเหมือนเป็นสิ่งที่ดี มันมีแต้มต่อไปได้ แต่การ Stylize มันอีกเลเวลหนึ่งเลยนะ เราก็เฮ้ยหรือเราจะเป็นแนวนี้วะ เราลองไปกับการค้นหาสไตล์ตัวเองเยอะมาก ทั้งวาดสีน้ำ วาดแบบนั้นแบบนี้ สุดท้ายเราไม่ได้หาเจอหรอกนะ แต่มันมาจากความเป็นเรามากกว่า คือเราเป็นคนใจร้อนและพูดเร็วมากๆ (หัวเราะ) ดังนั้นเลยชอบอะไรที่มันรวดเร็ว เน้นเห็นชัดๆ ตรงๆ ง่ายๆ เสร็จในเวลานั้นเลย สรุปก็มาหยุดที่ปากกาดำกับสมุด”

นักวาดภาพประกอบ

เนเน่ชอบวาดต้นไม้ ใบหญ้า สิ่งมีชีวิตที่มีรายละเอียดแปลกตากับอีกแนวคือ At The Moment วาดสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แล้วจัดองค์ประกอบแบบคนหัวกราฟฟิก “มันคือการจัดระเบียบความยุ่งยาก ซับซ้อนให้ออกมาดูง่าย ชัดเจนและลงตัว งานเราจะโฟกัสการวาดมือแบบขาวดำ แล้วไปต่อยอดในมีเดียอื่นๆ ที่ได้เรียนเอา อย่างการทำแอนิเมชั่นที่เราวาดแบบเฟรมต่อเฟรม พอเห็นลายเส้นเราขยับๆ มันแบบเฮ้ย สนุกมาก ชอบมากๆ ก็เลยทำเป็นธีสิสส่งในปี 4”

นักวาดภาพประกอบ

นักวาดภาพประกอบ

ข้างหลังภาพ (ขาว-ดำ)

“จริงๆ แล้วการวาดภาพขาว-ดำ เหมือนบำบัดจิตอย่างหนึ่ง” เนเน่เริ่มต้นประโยคทันทีที่ถามถึงความหมายของงาน คงต้องเกริ่นก่อนว่าครอบครัวเนเน่ทำกิจการโรงงานยาและโรงงานอาหารสัตว์ เธอเป็นพี่สาวคนโตและก็เป็นคนเดียวที่มาสายศิลปะ แม้จะได้รับการสนับสนุนเสมอมา แต่ความเป็นพี่โตสุดของบ้านกลับมีกรอบบางอย่างทำเธอคิดมากมาโดยตลอด

นักวาดภาพประกอบ

นักวาดภาพประกอบ

“ความเป็นพี่คนโตมันเหมือนมีเซ็ตสแตนดาร์ดอะไรบางอย่าง เช่น ต้องสานกิจการที่บ้านต่อ หรือเราเป็นคนแรกของบ้านที่สอบเข้าจุฬาฯ ได้ ซึ่งเราไม่ได้อะไรกับเรื่องมหาลัย ที่เลือกที่นี่เพราะแค่ชอบหลักสูตร แต่เราก็เหมือนปูทางให้น้องอยากเข้าที่มอนี่ด้วย ที่บ้านก็ดีใจมากๆ มันก็เลยเกิดคำถามที่ว่า อ้าว แล้วอย่างอื่นที่เราทำล่ะ”

นักวาดภาพประกอบ

เธอมองว่ากิจการในบ้านครอบคลุมหลักความต้องการปัจจัย 4 แต่ศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องมีเวลาและต้องมีเงิน เพราะมีความสิ้นเปลืองอยู่ในตัว “แต่เราก็ทำได้แค่นี้ไง มันเลยทำให้ทุกครั้งที่สร้างงาน มันไม่เคยไปสุด แต่มันต้องอยู่ครึ่งๆ กลางๆ อย่าให้หลุดออกจากกรอบปัจจัย 4 หรืออย่าไปไกลกว่านั้น เราเลยต้องดันมันด้วยการทำชิ้นงานให้มีจำนวนเยอะไว้ก่อน ไม่รู้มันจะมีค่าเท่าไหร่”

นักวาดภาพประกอบ

เพราะลึกลงไปคงเป็นเรื่องของการถูกยอมรับจากคนในบ้านที่เธอคนนี้โหยหามาตลอด “เรารู้นะว่าพ่อแม่ไม่เคยห้าม เขาแคร์ด้วยว่าเรารู้สึกยังไง แต่บางทีเรากดดัน และรู้สึกได้ว่าบางทีเขาจะพูดแต่ก็พูดไม่หมด ตัวผลงานวาดเรามั่นใจมากนะ และถ้ามองย้อนกลับมาที่ตัวเรา มันไม่มีความมั่นใจเลย เราเลยไม่กล้านิยามตนเองว่าเป็นศิลปิน มันดูใหญ่โตแบบเราไม่คู่ควรอ่ะ” เป็นคนที่ชอบวาดรูป เธอบอกกับตัวเองแล้วยิ้มอย่างสบายใจ

นักวาดภาพประกอบ

เสียงสะท้อนจากนักวาดอิสระคนหนึ่ง

โซเชียลมีเดียจะเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางทำมาหากินของสายผลิตยุคนี้เลยก็ว่าได้ ที่จะใช้เป็นพื้นที่ลงผลงาน ข้อดีคือได้แลกเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ ความคิดเห็นระหว่างสายผลิตด้วยกัน และกับผู้ติดตามได้ง่ายขึ้น แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แกลเลอรี เทศกาลศิลปะ หรือการออกบูธในตลาดอาร์ต ก็ยังเป็นพื้นที่และโอกาสให้ศิลปินได้โปรโมตผลงานในวงที่กว้างมากขึ้น

นักวาดภาพประกอบ

“ตอนนี้หลายงานที่ส่งเสริมศิลปินอิสระดูเหมือนมีเยอะนะ แต่มันกระจุกตัวอยู่แค่กรุงเทพฯ ซึ่งพูดไปก็ไม่ได้อะไร แต่มันเศร้า เพราะทุกจังหวัดมีคนเก่งๆ เยอะมาก ที่ถ้าเขาอยากออกบูธก็ต้องมากรุงเทพฯเลยหรอ หรือคนที่อยากมาดูงาน เขาก็มาไม่ได้” ทุกงานจึงดูไม่ต่างอะไรกับการจำกัดอยู่ในพื้นที่หนึ่งเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่จริงๆ แล้วควรไปได้ไกลกว่านี้

นักวาดภาพประกอบ

“ยกตัวอย่างล่าสุดคือเรื่องค่าสมัครของงาน Bangkok Illustration Fair 2023 เราเข้าใจสาเหตุที่ตัวงานต้องเก็บค่าสมัครทุกคนนะ แต่ 500 ที่ศิลปินจ่ายด้วยความหวัง บางคนมันคือเงินก้อนสุดท้าย ซึ่งพอเขาไม่เข้ารอบ ผลกระทบมันไม่ใช่แค่โอกาส แต่เขาจะเริ่มถามแล้วว่าเขาไม่เก่งตรงไหน อะไรคือเหตุผลที่เขาไม่ได้เข้ารอบ เงินที่เสียไปไม่ได้ให้คำตอบอะไรเลย มันน่าเจ็บใจมากนะ เราไม่รู้หรอกอะไรคือวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยให้เขาเข้างานฟรีเพื่อที่จะได้ดู หรือมีกำลังใจต่อการสมัครในปีต่อๆ ไปก็ได้ เราคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ คนที่ไม่ได้ ปีหน้าก็คงไม่อยากสมัคร สรุปก็จะมีแต่คนเดิมๆ ที่สมัครเข้าไปอยู่ดี”

นักวาดภาพประกอบ

สุดท้ายแม้แต่สายผลิตที่ตั้งตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ต้องพบเจอกับโอกาสราคาแพงเช่นกัน ในอนาคตเธอจึงหวังว่าจะได้เห็น Art Fair ที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายมากกว่าเงื่อนไขที่นอกจากปิดกั้นโอกาสแล้ว ศิลปิน นักวาดยังต้องมาแข่งขันกันเองอีก “เราอยากให้มีคอมมูนิตี้ที่ซัพพอร์ตกันอย่างที่มันเคยมี หรือมีอิสระมากกว่านี้ที่แบบเฮ้ยทำเลย ไม่ใช่ให้ทุกคนต้องมาแข่งกัน แต่มาช่วยกันทำให้มันใหญ่โตขึ้น เปิดโอกาสให้คนที่เด็กกว่าเราที่อยากมาสายนี้ แต่อาจจะไม่ค่อยกล้าเท่าไหร่ ได้มีพื้นที่ให้เขาลองมากกว่านี้ เพราะคนไทยเก่งกันเยอะมาก”

นักวาดภาพประกอบ

ตอนนี้เนเน่กำลังมีนิทรรศการกลุ่มชื่อ ‘Still Life’ ที่จัดแสดงผลงานของ A Stroll หรือชุมชนนักวาด 22 คน ซึ่งเธอก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย จัดแสดงที่ Real Studio And Grocers ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นี้

ถ้าใครที่ชื่นชอบผลงานเธอก็สามารถไปเดินชม หรือกดติดตามเธอได้ใน Twitter : Archive.Nneneiie และ Instagram : Nnene’s Archive

Tags: