About
ART+CULTURE

Broccolily

จากฆาตกรรม วรรณกรรมโรอัลด์ ดาห์ล สู่ศิลปะแฮนด์คราฟต์ของสาวน้อย ‘Broccolily’

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส ภาพ นรวีร์ ศรีมะโน Date 17-01-2024 | View 3069
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • โลกของ Broccolily หรือลิลลี่ – เนตรดาว องอาจถาวร นักวาดภาพประกอบและกราฟฟิกดีไซเนอร์ ผู้สร้างสรรค์งานกระดาษแฮนด์คราฟต์และของจิ๋วที่มีฟังก์ชัน อีกหนึ่งผลงานที่ชวนว้าวคือหนังสือที่ทำขึ้นเพื่อธีสิส โดยบอกเล่าทริกการวางแผนฆาตกรรมจากนิยายที่เธออ่าน ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ฆาตกรรมคืองานดีไซน์”

นิทานกริมม์ วรรณกรรมเยาวชนของโรอัลด์ ดาห์ล การ์ตูนโคนัน นิยายเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เรื่องราวฆาตกรรมของอกาธา คริสตี้ เกมเดอะซิมส์ และวิถีชีวิตเด็ก 90s

ที่ไล่มานั้นคือความหลงใหลในแต่ละช่วงวัยที่หล่อหลอมมาเป็นลิลลี่ กราฟฟิกดีไซเนอร์คนนี้เลือกทำหนังสือบอกเล่า 14 ทริกยอดฮิตที่มักปรากฏอยู่ในนิยายฆาตกรรมเป็นธีสิสปิดจบปริญญาตรี ทำของจิ๋วปั้นมือเป็นเครื่องครัว ประตู ใบหน้าคน หรือพัดลมที่ลิลลี่อยากทดลองทลายกรอบเดิมๆ ด้วยการเพิ่มฟังก์ชันเข้าไปในของจิ๋วด้วย

ศิลปินคนนี้ยังทำงานกระดาษในรูปแบบต่างๆ ที่ชวนให้รู้สึกถึงกลิ่นอาย Cozy Mystery แบบญี่ปุ่นๆ บางชิ้นน่ารักไม่เบา บางชิ้นก็สุดดาร์กและดูพิลึกพิลั่น แต่งานแฮนด์คราฟต์ของเธอกลับเต็มไปด้วยแนวคิดสุดล้ำที่แฝงมาด้วยความขบขัน วันนี้เลยต้องขอสวมบทบาทเป็นนักสืบเดินเข้าบ้านเธอ เพื่อไขเสาะหาเบื้องหลังความจริงในศิลปะของ Broccolily กันสักหน่อย

ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มต้นกันที่ปริศนาแรกเลย!

Broccolily

I
โลกเล็กๆ ที่มีนิทานกริมม์และเกม The Sims

ตอนที่ได้เห็นผลงานของลิลลี่รวมถึงเจ้าตัวด้วย ความรู้สึกแรกเลย เราเผลอนึกไปเองว่าเธอน่าจะเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย เรื่องราวมีอยู่ว่าพ่อและแม่ของเธอต่างก็เป็นนักเรียนทุนไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น พวกเขาพบรักกันที่นั่นก่อนจะกลับมาสร้างครอบครัวที่เมืองไทย ลิลลี่ก็เลยซึมซับวัฒนธรรมญี่ปุ่นทั้งภาษาและมื้ออาหารมาตั้งแต่เด็กๆ

และความที่พ่อแม่ของเธอเป็นนักอ่านด้วยกันทั้งคู่ เธอจึงเติบโตมาด้วยนิสัยรักการอ่านที่ลิลลี่ถึงกับออกปากว่า วัยเด็กเป็นช่วงที่หิวกระหายการอ่านหนังสือมาก จำได้เป็นอย่างดีว่าหนังสือเล่มแรกที่ได้อ่านตอนอยู่อนุบาล 3 คือ ‘นิทานกริมม์’ (เดี๋ยวนะ) เป็นหนังสือที่ขึ้นชื่อว่ามีเนื้อหาโหดร้ายเกินกว่าที่เด็กอายุเท่านี้จะเอ็นจอยไปด้วยได้ แต่กับเด็กน้อยลิลลี่นั้น สนุกมากจนวางไม่ลง

ถ้าพูดถึงความเป็นหนอนหนังสือแล้ว ก็ต้องเล่าต่อว่า เธอยังตามอ่านหนังสือของโรอัลด์ ดาห์ลจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อครบทุกเล่ม ขยับเข้าวัยมัธยมหน่อยก็อ่านงานของนักวาดหลายคน วรรณกรรมสืบสวนสอบสวนแปลญี่ปุ่นของสำนักพิมพ์ JBOOK นี่ก็ไม่เว้น เรียกได้ว่าตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยม เธอก็สะสมโลกดาร์กๆ หลอนๆ เข้าจินตนาการของเธอไปแล้ว

Broccolily

อีกหนึ่งความทรงจำที่ไม่เคยลืม ลิลลี่เล่าด้วยรอยยิ้มสดใสของเธอว่า ทุกๆ คืนพ่อมักจะเล่านิทานให้ฟังก่อนนอนอยู่เสมอ แต่มาวันหนึ่งเขาเริ่มเอ่ยปากอยากให้ลูกเล่าให้ฟังบ้าง ซึ่งนั่นก็ถือเป็นอีกจุดสำคัญที่ทำให้ลิลลี่ได้ขยายภาพจินตนาการของเธอมาสู่การวาดการ์ตูนตอนๆ ลงหน้ากระดาษและเขียนโดยลิลลี่

“ตอนประถมเพื่อนในห้องชอบวาดรูป เราเลยอยากวาดบ้าง เราวาดรูปและแต่งการ์ตูนลงกระดาษเป็นช่องๆ ซึ่งเป็นเรื่องราวของขนมปังที่ออกมาต่อสู้กับมดที่จะมากิน ซึ่งก็มีการสอดแทรกวิธีการใช้ชีวิตของมดไปด้วย แต่ละตอนเราจะเขียนลงท้ายว่า ติดตามตอนต่อไป แล้วต้องสมัครสมาชิกด้วยนะถึงจะอ่านตอนต่อไปได้ (หัวเราะ)”

Broccolily

นี่มันการละเล่นของเด็ก 90 ชัดๆ เราพูดไปแบบนั้น ลิลลี่ก็อดไม่ได้ที่จะวิ่งปรี่ไปรื้อตู้ไม้ในบ้าน ก่อนจะหยิบเกมกระดาษที่วาดเลียนแบบเกม Harvest Moon หรือเกมปลูกผักในตอนเด็กๆ มาปัดฝุ่นออกแล้วยื่นให้เราดูด้วยรอยยิ้ม สมัยประถมลิลลี่ชอบวาดเกมเป็นช่องๆ เล่นกับเพื่อนๆ และถ้าถามว่าทำไมถึงชอบวาดเกม ก็คงเป็นเพราะความหลงใหลใน Mechanic โลกของเกมนี่แหละที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ด้วยมือ เกม The Sims ก็เป็นอีกเกมโปรดที่ทำให้ลิลลี่อยากเป็น Interior Designer ด้วย

ดูเหมือนว่าเรื่องราวหนอนหนังสือของลิลลี่และการวาดรูปจะสามารถเชื่อมโยงเธอเข้ากับกระดาษได้อย่างใกล้ชิด เราจึงไม่แปลกใจที่บทสนทนาต่อมา ลิลลี่จะเฉลยว่าเธอหลงใหลในเนื้อกระดาษ ของกระจุกกระจิก และถนัดการทำงานด้วยมือมากกว่าใช้คอมพิวเตอร์

Broccolily

II
ธีสิสรูปเล่มที่ขอเล่าว่า ‘ฆาตกรรมคืองานดีไซน์’

ลิลลี่ชอบดูดีไซน์จากตั๋วหรือแพ็กเกจต่างๆ ทั้งในไทยและในต่างประเทศ หรืออย่างหนังสือเอง บางทีเธอก็เลือกหยิบขึ้นมาเพราะดีไซน์ของหน้าปกล้วนๆ “เราเริ่มรู้สึกว่า ไม่เอาวาดนะ สนใจเรื่องการออกแบบมากกว่า ก็เลยไปติวศิลปะที่มานะ สตูดิโอ เพื่อสอบเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชานฤมิตศิลป์ สาขาเรขศิลป์”

ช่วงปีสุดท้ายของการเรียนปริญญาตรี เป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาจะต้องสร้างสรรค์ผลงานส่งธีสิส สำหรับลิลลี่ความสนใจก็คงหนีไม่พ้นเรื่องราวฆาตกรรมลึกลับในโลกวรรณกรรม เพราะตลอดเวลาที่อ่านมาไม่รู้กี่เล่ม เธอกลับสงสัยมาตลอดว่า จริงๆ แล้ววิธีการก่ออาชญากรรมของตัวละคร มันคืองานดีไซน์ด้วยหรือเปล่า

Broccolily

เมื่อเสนอคอนเซ็ปต์ผ่าน ก็เริ่มกลับไปค้นหนังสือฆาตกรรมที่มีอยู่ในบ้านทั้งหมดมานั่งอ่านใหม่อีกรอบ โดยไล่อ่านตั้งแต่ยุคร้อยกว่าปีที่แล้วอย่างนิยายเชอร์ล็อก โฮล์มส์ มาจนถึงปีปัจจุบันคือโคนัน เพื่อมองดูวิธีการเฉลยคดีของนักสืบในท้ายเล่มๆ แล้วจดลงโพสต์อิท แปะๆ ไว้เป็นการรีเสิร์ช รวมทั้งหมดกว่า 350 คดี ก่อนเธอจะนำมาคัดเลือกและจัดหมวดหมู่ใหม่ตามแนวคิดที่เธอสร้างขึ้นเอง ออกมาเป็น 14 ทริกการวางแผนฆาตกรรมยอดนิยมที่มักปรากฏอยู่ในนิยายสืบสวน เช่น ทริกคดีฆ่าตัดหัว ทริกการวางเพลิง เทคนิคการซ่อนอาวุธ ก่อนจะเล่าด้วยการเฉลยแต่ละทริกด้วยน้ำเสียงที่ขบขัน และแอบกวนอยู่นิดๆ ก่อนจะพาผู้อ่านไปดูว่าทริกเหล่านั้นสามารถนำมาตีความเป็นงานดีไซน์ได้อย่างไร

“ยกตัวอย่างเช่น การสร้างกับดักเวลา ก็จะพูดถึงการออกแบบคดีฆาตกรรมที่ใช้วัตถุเสื่อมสลายตามธรรมชาติ อย่างการวางบล็อกน้ำแข็งไว้ที่หน้าล้อรถที่จอดอยู่ริมหน้าผา โดยมีคนข้างในถูกวางยานอนหลับ ตัวคนร้ายก็จะไปลัลลาที่อื่นเพื่อสร้างหลักฐานที่อยู่ เมื่อน้ำแข็งละลายไปแล้ว รถคันนั้นก็จะไถลตกหน้าผาไป ตัวคนร้ายก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าตนเองไม่ได้ทำ”

Broccolily

“เรานำมาตีความต่อในเรื่องของการดีไซน์ ซึ่งเราจะต้องเอาวัสดุย่อยสลายหรือมีความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติมาทำงานเพื่อเซอร์ไพรส์คนดูด้วยไหมนะ อย่างการเล่าเรื่องฟันที่หายไป เราทำไปรษณียบัตรแบบเตือนให้มา Check Up ทำฟันในทุกๆ 6 เดือน ไปรษณียบัตรจะเป็นรูปเหงือก มีฟันที่ทำจากกระดาษซึ่งสามารถย่อยสลายภายใน 1 อาทิตย์ ถ้ามันถูกส่งไปถึงแล้ว สมมติว่ามันจมอยู่ในกองจดหมายอื่นๆ ระหว่างนั้นฟันก็จะค่อยๆ ย่อยสลาย พอมาเจออีกทีก็จะรู้สึก อุ๊ย เราไม่ได้ดูแลฟันเราเลย ก็จะเป็นเรื่องประมาณนี้” ลิลลี่เล่าถึงตัวชิ้นงานให้ฟังอย่างคร่าวๆ

Committing Graphics, Designing Crimes หนังสือทำมือที่เธอตั้งใจทำส่งธีสิสอย่างสุดชีวิต แล้วความทุ่มเทที่มาพร้อมไอเดียแปลกใหม่นี้เอง ก็ทำให้เธอได้รับรางวัล Best of Graphic Design และรางวัลใหญ่อย่าง Best of The Shows ของโครงการประกวดผลงานศิลปนิพนธ์ Degree Show ปี 2019 ด้วย เจ๋งสุดๆ ไปเลย

Broccolily

Broccolily

III
ของจิ๋วจากวัสดุใกล้ตัว เปลือกต้นโอ๊กล่ะเป็นไง

ช่วงมัธยมปลาย ลิลลี่เข้าติวศิลปะที่มานะ สตูดิโอ ที่นั่นติวเตอร์ที่เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะจากกระดาษ ทำให้เธอได้เรียนรู้การทำงานกระดาษออกมาเป็นรูปแบบ Paper Craft และค่อยๆ พัฒนาฝีมือแฮนด์คราฟต์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เพิ่งจบปริญญาตรี ลิลลี่เข้าทำงานที่ Teaspoon Studio อยู่สักระยะหนึ่ง เพื่อมาเป็นผู้ช่วยทำงานศิลปะทดลองที่เป็นเสมือนการเปิดโอกาสให้ลิลลี่ได้พัฒนาชิ้นงานกระดาษทำมือแบบอัพเลเวลมาสู่การลองทำของจิ๋วที่ก็ยังไม่พ้นเรื่องงานทำมืออีกอยู่ดี

Broccolily

Broccolily

“เราชอบของจิ๋ว เพราะมันเป็นงานที่ควบคุมได้ด้วยมือ แล้วให้ความรู้สึกเหมือนเล่นหม้อข้าวหม้อแกงที่เราต้องจินตนาการว่า ใบไม้อันนี้คือแพ็กเกจอันนั้น หรือจะเอามาดัดแปลงเป็นอะไรใหม่ๆ ก็ได้ การทำของจิ๋วเองก็คือการมองหาวัสดุที่เหมาะสมมาดัดแปลงเป็นของใหม่ที่อยู่ในสเกลใหม่ๆ เช่นกัน”

Broccolily

Broccolily

เธอเล่าถึงกระบวนการทำของจิ๋วได้น่าสนใจมากๆ เริ่มด้วยการมองหาวัสดุรอบข้าง เช่น ก้านองุ่น ซองกระดาษ ชิ้นส่วนของนิ้วที่ตัดจากถุงเท้า แล้วนำมาดัดแปลงเป็นสิ่งของรูปแบบใหม่ๆ ว่าแล้วก็ขอหยิบผลงานของจิ๋วของลิลลี่มาอวดสักหน่อย

Broccolily

Broccolily

‘Nutcase, a squirrel’s food forager journal’ เป็นผลงานที่เธอมองออกไปนอกบ้านแล้วพบว่า กระรอกช่างเยอะเกินเหลือ จะเป็นยังไงนะถ้าพวกมันสามารถเล่าประสบการณ์การหาอาหารให้กับลูกๆ หลานๆ ของพวกมันได้ในสักวันหนึ่ง ว่าแล้วก็เริ่มตัดกระดาษแล้วเย็บเป็นสมุดเล่มจิ๋วให้พอดีกับไซส์สมุดที่น้องกระรอกจะสามารถเขียนได้ ภายในเล่มลิลลี่ใช้ปากกาเขียนและวาดเรื่องราวที่ว่ามานั้นลงไป ก่อนจะนำสมุดใส่เข้าไปในผลลูกโอ๊กของจริงที่ผ่าครึ่งให้ดูเสมือนกล่องเก็บหนังสือ ซึ่งเธอก็เพิ่มกิมมิกด้วยการแขวนอุปกรณ์เครื่องเขียนจิ๋วข้างในนั้นด้วย

Broccolily

อีกหนึ่งชิ้นงานที่ลิลลี่ตั้งใจว่าจะทดลองทำของจิ๋วให้มีฟังก์ชันอย่าง ‘Fancy Pansy Fan’ หรือพัดลมจิ๋วที่หมุนได้เหมือนของจริง เธอหยิบตะกร้อสุกี้สีทองในครัวบ้านมาดัดโครงลวดให้เป็นตะแกรงหน้าพัดลม แล้วนั่งทำมอเตอร์ โดยใช้ก้านลูกอมมาทำเป็นลำตัวของพัดลมเพื่อซ้อนลายไฟข้างในอีกที

Broccolily

“เราว่าการทำของจิ๋วคือการทำความเข้าใจวัสดุขึ้นมาอีกทีหนึ่ง อะไรคล้ายกับอะไร อะไรที่จะดัดแปลงเป็นสีได้ ในอีกแง่หนึ่งเสน่ห์ของของจิ๋ว มันเป็นงานที่ทำให้เห็นถึงความพยายามด้านทักษะมือและพิสูจน์ขีดจำกัดของมนุษย์ด้วย”

Broccolily

ตอนนี้ลิลลี่เป็นนักเรียนทุนปริญญาโทอยู่ที่ญี่ปุ่น ที่ยังคงหยิบความสนใจมาทำงานวิจัยอยู่เรื่อยๆ เธอแอบเผยว่าที่นั่นศิลปะมีการแข่งขันที่สูงมาก แม้ว่าเธอจะเคยยื่นผลงานส่งเข้าประกวดก็ยังไม่เข้ารอบเลยสักครั้ง และถ้าเรียนจบแล้วก็ไม่รู้ว่า Broccolily จะเดินทางอย่างไรต่อ

“เราไม่ได้ทำงานวาดคาแรกเตอร์ นี่อาจจะเป็นข้อเสียที่ทำให้คนจับตัวตนเราไม่ได้” แต่ถึงอย่างไร แพสชั่นของเธอก็ไม่ได้หมดไป กราฟฟิกดีไซเนอร์คนนี้ยังมีโปรเจ็กต์ที่ผุดออกมาให้เราได้รอติดตามกันอยู่เรื่อยๆ

Broccolily

Broccolily

สำหรับเราตัวตน Broccolily เป็นที่รู้จักแล้วว่าเป็นงานแฮนด์คราฟต์ที่มีไวบ์ความลึกลับผสมโลกอาชญากรรม ซึ่งเธอหยิบมาคราฟต์เป็นผลงานรูปแบบต่างๆ ได้อย่างแปลกใหม่ เพิ่มความหลากหลายให้กับศิลปะบ้านเราได้อย่างสร้างสรรค์มากเลยทีเดียว

Broccolily

ติดตามผลงานของเธอได้ทาง Instagram : broccolilyfarm

Tags: