About
ART+CULTURE

Earth Tone

อรพินท์ – อรพรรณ คู่แฝดศิลปินเซรามิกกับความจริงของชีวิตที่พบจากการสัมผัสและปั้น “ดิน”

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ นิด-อรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ และ หน่อย-อรพรรณ ลีทเกนฮอสท์ ศิลปินฝาแฝดต่างสไตล์จากนิทรรศการเซรามิก “ดิน น้ำ ลม ไฟ กับใจสองดวง” เจ้าของ DIN Ceramics และ Empty Space Chiangmai ผู้เชื่อว่า “ดิน” เป็นมากกว่าวัสดุสร้างงานศิลปะ แต่คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง เพื่อนมนุษย์ และธรรมชาติ

ตั้งแต่มีโอกาสชมนิทรรศการ ดิน น้ำ ลม ไฟ กับใจสองดวง ครั้งที่ 2 ของนิด - หน่อยที่ People’s Gallery BACC เราก็ตั้งใจไว้ว่าจะพูดคุยกับศิลปินคู่นี้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการสร้างชิ้นงานเหล่านี้ในฐานะแฟนตัวยงศิลปะเซรามิก

ภาชนะและประติมากรรม free-form จากแหล่งดินพื้นบ้านที่ยังคงไว้ซึ่งร่องรอยความขรุขระของเม็ดดินและทราย ลวดลาย สีสันจากธรรมชาติที่ไม่ได้ถูกแต่งเติม ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าเบื้องหลังความสวยงามที่เราเห็นนี้ ศิลปินและ “ดิน” ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง?

เราพบกับนิดและหน่อยอีกครั้งที่ MunMun Srinakarin ภายใต้ BACC pop up project สองศิลปินคู่แฝดผู้หลงใหลในธรรมชาติ จะมาเล่าให้เราฟังถึงความสัมพันธ์อันแสนพิเศษของพวกเขากับดิน ความจริงของชีวิตที่ค้นพบผ่านกระบวนการทำงาน และตัวตนในการทำงานที่แตกต่างอย่างลงตัว

ศิลปินเซรามิก

จุดเริ่มต้น-การโคจรกลับมาพบกัน

“พอจับดินก้อนแรกก็รู้เลยว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราจะต้องจับไปตลอดชีวิต”

จากเด็กที่รู้สึกว่าหาคุณค่าตัวเองไม่พบในรั้วโรงเรียน กลับกลายเป็นคนแน่วแน่ในเส้นทางชีวิตหลังจากเพียงได้สัมผัสดินก้อนแรก นิด แฝดพี่เล่าให้เราฟังว่าราวกับโชคชะตากำหนดให้เธอต้องทำงานปั้น

หลังจากรู้ตัวได้ไม่นานว่าอยากทำงานอยู่หน้าเตาเผา เธอก็ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเพื่อมาสอบเทียบเข้าคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาวิชาศิลปะและการออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา ก่อตั้งแบรนด์ DIN Ceramics และไม่วางมือจากดินอีกเลยตลอด 37 ปีที่ผ่านมา

ศิลปินเซรามิก

ด้านหน่อย แฝดน้อง จากเดิมที่เคยทำละครเวทีและอยู่ในวงการภาพยนตร์ ก็อยากวางมือมาจับงานที่ทำแล้วรู้สึก “เย็น” ขึ้น ความต้องการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ ทำให้เกิด Empty Space Chiangmai อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นสเปซสำหรับการใช้ชีวิตและทำงานศิลปะของเธอและสามี

ที่นั่นหน่อยได้ศึกษาและทดลองดินเซรามิกจากแหล่งดินพื้นบ้านด้วยตัวเอง เรียนรู้เทคนิคไปเรื่อยๆ จนค้นพบว่าเธอมีความสุขกับการงานปั้นภาชนะและการดึงสีสันจากแหล่งดินต่างๆ มาสร้างลวดลายบนชิ้นงาน

ศิลปินเซรามิก

ศิลปินเซรามิก

ศิลปินเซรามิก

แม้ห่างหายไปมีครอบครัวและเดินตามเส้นทางชีวิตของตัวเองนับสิบปี แต่ความสุขจากการได้ปั้นก้อนดินเป็นผลงานสร้างสรรค์และความรักในธรรมชาติก็พาทั้งคู่กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง เพื่อให้คนได้มาสัมผัสและรู้จักกับดินในแบบที่ทั้งสองรู้จัก

นิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงภายใน 3 ห้องด้วยกัน ห้องริมซ้ายสุดเป็นของนิด ห้องริมขวาสุดเป็นของหน่อย และตรงกลางเป็นสเปซสำหรับจัดเวิร์กช็อปงานปั้น ซึ่งคือพื้นที่ที่เราใช้พูดคุยกันกับศิลปินแฝดคู่นี้นั่นเอง

ศิลปินเซรามิก

ศิลปินเซรามิก

ศิลปินเซรามิก

ดินก็เหมือนกับคน

การเปรียบเทียบว่าคุณสมบัติของดินเหมือนกับใจมนุษย์คนหนึ่งทำให้รู้สึกว่างานเซรามิกไม่ใช่ศิลปะที่ไกลตัวเลย

ความยืดหยุ่นของดินทำให้เราสามารถสร้างรูปทรง ลวดลาย และสีสันจากดินได้ไม่รู้จบ นิดอธิบายว่ามันก็ไม่ต่างกับสภาวะจิตใจของเราที่ไม่ได้คงที่ คงเดิม ตลอดเวลา แต่ปรับเปลี่ยนไปได้ตามความรู้สึกที่เข้ามาปะทะในเเต่ละขณะ มีแข็งบ้างอ่อนบ้างเป็นบางครั้ง

“เราอยู่ตรงไหนก็เอาดินตรงนั้นมาลอง พอเจอดินที่ใหม่ก็เหมือนกับเจอเพื่อนใหม่” การนำดินจากหลายแหล่งดินมาผสมและใช้ด้วยกันก็เช่นกัน ไม่ต่างจากการพาคนจากต่างที่ต่างถิ่นมาทำความรู้จักกัน กระบวนการนี้หน่อยอธิบายว่าจะต้องนำดินมาทดลองท่ามกลางปัจจัยของน้ำเคลือบ อุณหภูมิ ออกซิเจน แร่ธาตุในดิน และบรรยากาศในเตาเผา ว่าสุดท้ายแล้ว ดินจากแต่ละแหล่งจะสามารถเข้ากันและมาเจอกันตรงๆ ได้ไหม

ศิลปินเซรามิก

ศิลปินเซรามิก

มองไปรอบห้องนิทรรศการ โดยเฉพาะห้องของหน่อยที่กำลังสนุกกับการทดลองและผสมดิน เราจะเห็นผลงานภาชนะมากมายถูกแปะป้ายว่าทำมาจากแหล่งดินต่างๆ ที่ไหนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นดินจากระนอง ลำปาง บ้านเหมืองกุงเชียงใหม่ หรือดินจากพะเยา ฯลฯ

หน่อยบอกเราต่อว่า ฟังดูอาจง่าย แต่การใช้ดินพื้นบ้านยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เพราะต้องนำมาทดลองอย่างละเอียด ดังนั้นพระเอกหลักของงานนี้จริงๆ คือดินขุดจากบ้านที่เชียงใหม่ซึ่งได้มาจากความบังเอิญขณะขุดบ่อน้ำในบ้าน สิ่งนี้ล่ะที่หาง่าย ปั้นง่าย และผสมง่ายที่สุด

ศิลปินเซรามิก

ว่าด้วยเรื่องผลลัพธ์ก็ต้องลุ้นกันไป แม้ดินมาจากแหล่งเดียวกัน ล็อตเดียวกัน แต่ด้วยความที่ปัจจัยอื่นๆ ไม่ได้คงที่ตลอดเวลา แม้แต่ในแก้วใบเดียวกันสีและลวดลายก็อาจแตกต่างในบางจุด แต่นี่คือความสนุกของการควบคุมผลลัพธ์ไม่ได้เช่นกัน

ศิลปินเซรามิก

ศิลปินเซรามิก

“หลายอันมันก็มีความป๊อปอาร์ตมาก ทั้งๆ ที่สไตล์เราไม่ใช่ป๊อปอาร์ตเลย มันทำให้มองเห็นว่าการผสมแบบนี้มันอยู่นอกเหนือความควบคุมของเรา แต่กลับสร้างความเป็นไปได้หลายแบบมาก แม้เราจะไม่รู้ผลของการกระทำ ณ ขณะนั้น แต่มันสนุกในกระบวนการ”

ศิลปินเซรามิก

หยินและหยาง

สองคำนี้…คือคำที่หน่อยใช้บรรยายลักษณะความเป็นตัวตนของทั้งคู่ในการทำงานเซรามิก โดยมองตัวเองเป็นหยิน และนิดเป็นหยาง แม้ดินเเละเทคนิคที่ใช้มีความคล้ายคลึงกันในหลายจุด แต่การได้พูดคุยกับสองศิลปินทำให้รู้ว่ากระบวนการความคิดในการทำงานของทั้งคู่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

“เราเป็นคนใช้ความรู้สึกมากกว่า สำหรับเราดินเป็นเพื่อน เพื่อนในแบบที่เราสื่อสารกับเขาแล้วเขาก็สื่อสารกับเรา เวลาทำงานก็เหมือนกับร่วมมือกัน เรากับดินคนละครึ่ง เราอาจมีความคิดบางอย่างอยู่ในหัว แต่เราจะไม่ไปกำหนดเขา เวลาทำเราจะฟังเขา ดูว่าเขาเป็นยังไง อยากให้เขาแสดงตัวตน แสดงธรรมชาติในตอนนั้น รวมทั้งธรรมชาติที่เป็นเราตอนนั้นให้ได้มากที่สุด”

ศิลปินเซรามิก

นิดเล่าถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเสมือนเพื่อนสนิทของตัวเองกับดิน และการถ่ายทอดความเป็นตัวเองลงไปในผลงาน ทำให้ผลงานของนิดมักปรากฏในรูปแบบ free-form เน้นกระบวนการมากกว่าแบบแผนที่ชัดเจน

ขณะที่หน่อยผู้มองตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ตที่ไม่เก่งเรื่องการสื่อสาร ใช้เซรามิกในรูปแบบภาชนะเชื่อมต่อกับสิ่งที่แวดล้อมรอบตัว ส่วนผู้ชมอยากตีความผลงานอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นไป “เราไม่ใช่คนที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเราคิดยังไง รู้สึกยังไง เหมือนกับเรามองไปที่คุณลักษณะมากกว่า ว่าเขาเป็นอะไรอยู่แล้ว เขาทำอะไรได้ เช่น การผสมดิน ก็ต้องดูคุณสมบัติของดินแต่ละชนิด เราเรียนรู้ความสัมพันธ์ของตัวเองกับธรรมชาติ ไม่ได้ปล่อยตัวเองออกมาว่านี่คือธรรมชาติของเรา”

ศิลปินเซรามิก

แม้ต่างกันแต่ความมุ่งมั่นกล้าแสดงออกของนิด และความเป็นนักจัดการที่ระมัดระวังและรอบคอบของหน่อย คือความเข้ากันราวกับชนิดของดินที่ผสมกันได้อย่างลงตัว กลายเป็นภาชนะที่คงทนและแข็งแรง มีลวดลายที่ทั้งดุดันและอ่อนช้อยไม่ซ้ำใคร

ศิลปินเซรามิก

ดินคือทางเข้าและทางออก

แม้อยู่ในความต่าง ทั้งสองคนมีจุดยืนร่วมกันคือการใช้ดินเป็นตัวกลางเพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่อยู่ลึกภายในจิตใจ และใช้ดินเป็นตัวนำทางออกไปสู่โลกภายนอก

ศิลปะเซรามิกทำให้หน่อยได้สื่อสารในสิ่งที่ตัวเองทำและคิดมากขึ้น เช่นเดียวกันกับนิดที่ค้นพบเป้าหมายในชีวิตตัวเองจากการมีดินเป็นเพื่อนสนิท นำมาสู่การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ที่นิดเผยว่า “ดินช่วยเราตลอดมา เพราะฉะนั้นก็เลยไม่เคยทิ้ง ไม่เคยหายไปจากดินเลย มีเขามาตลอดตั้งแต่รู้จักกัน เราคิดว่าดินจะช่วยคนได้มาก ถ้าคนได้รู้จัก มันก็เลยโยงกลับมาว่าทำไมถึงจัดงานในรูปแบบนี้ ที่ไม่ใช่แค่การแสดงงาน แต่มีเวิร์กช็อปด้วย เราอยากให้คนได้ลองมาสัมผัสดิน”

ศิลปินเซรามิก

เวิร์กช็อปครั้งนี้เลยเป็นอะไรที่เปิดกว้างมาก ให้คนที่มาได้มาทำงานกับตัวเองจริงๆ โดยนิดและหน่อยจะค่อยๆ ดูว่าผู้ที่สนใจต้องการอะไร อยากสร้างผลงานด้วยเทคนิคไหน โดยไม่มีการจำกัดรูปแบบและแบบแผนเลย เพียงแต่มีการแบ่งผู้สอนตามกระบวนการที่ถนัด

ศิลปินเซรามิก

เส้นทางในวันข้างหน้า

แม้ในครั้งนี้เป็นการจัดนิทรรศการร่วมกันของดวงใจทั้งสองดวง แต่คู่แฝดก็เผยว่าถ้าเป็นไปได้ในครั้งถัดไปอยากมีผลงานสักชิ้นที่ร่วมกันสร้างจริงๆ และมีแผนแสดงงานอีกครั้งหนึ่งในสิ้นปีนี้ หลังจากกลับเชียงใหม่เพื่อหลบจากความวุ่นวายในเมืองหลวงสักพัก

นิดยังคงตั้งใจที่จะทำ DIN Ceramics โปรเจกต์ส่วนตัวควบคู่ไปกับศูนย์การเรียนรู้ทางเลือก “โจ๊ะไอดี” ที่ก่อตั้งมาเพื่อสนับสนุนเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการเรียนตามระบบการศึกษา “แค่อยากให้ดินเป็นเพื่อนกับทุกคนและทุกคนเป็นเพื่อนกับดินได้ ส่วนความเป็นไปได้ว่ามันจะเป็นอะไรได้บ้าง เป็นเพื่อนกับใครได้บ้าง ก็ปล่อยให้มันเป็นไป”

ศิลปินเซรามิก

ศิลปินเซรามิก

ส่วน Empty Space Chiangmai ของหน่อยก็ยังคงอ้าแขนตอนรับใครก็ตามที่กำลังมองหาพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจไกลเมือง หรือพื้นที่ทำกิจกรรมศิลปะ

“เซรามิกเป็นความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่งที่สำคัญมากในเรื่องของการเชื่อมต่อกับคนรอบตัวและคนในชุมชน ไม่ใช่แค่เฉพาะตัวเรากับธรรมชาติ เพราะมีเซรามิก เราถึงได้มีคนเหล่านั้นอยู่ในสตูดิโอ ช่วยกันทำงาน และมีชีวิตอยู่ร่วมกัน” หน่อยสรุปความรู้สึกต่องานที่เธอเรียกว่า “ช่างปั้น” ที่คงไม่เพียงปั้นดินเท่านั้น หากยังถักทอสายใยของผู้คน

ศิลปินเซรามิก

ศิลปินเซรามิก

อยากรู้จัก DIN Ceramics มากขึ้น เข้าไปดูที่ Facebook: DIN และ Instagram: dinceramics
และอยากพักใจสบายๆ ที่ Empty Space Chiang Mai ไปติดตามกันได้ที่ Facebook: Empty Space Chiangmai และ Instagram: emptyspace.cnx

Tags: