About
Leisure X Nonthaburi

Inside Out

‘บ้านตาแก่…Chilling Space’ เพื่อส่งพลังของคนในบ้านสู่คนนอกบ้าน

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ ภาพ พริบตา Date 14-01-2021 | View 3515

ต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้เราได้รู้จักกับ ‘บ้านตาแก่’ Chilling Space ริมคลองบางกอกน้อย จากบ้านเก่าเปลี่ยนไปสู่บทบาทใหม่กับการเป็นห้องรับแขกต้อนรับแขกแก้วผู้มาเยือน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • หน้าที่ของสายน้ำเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จากที่เคยถูกใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ใช้เป็นเส้นทางสัญจร ไปมาหาสู่กัน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นตลาดค้าขายที่แสนคึกคัก ทุกวันนี้แม้บทบาทของแม่น้ำลดลง ทว่า หลายชีวิตยังคงดำเนินไปตามครรลองดั่งที่เคยเป็นมา
  • บ้านตาแก่ ‘Chilling Space’ ในรูปแบบบ้านเก่าร้อยปีริมน้ำสุดชิล ชวนลิ้มรสอาหารจากรสมือแม่ครัววัยเก๋า เสิร์ฟความอร่อยผ่านเรือหน้าบ้าน พร้อมกิจกรรมทางเลือกน่ารักๆ กับวันพักผ่อนใกล้ชิดกับวิถีชีวิตริมน้ำ
  • ที่นี่เกิดจากแนวคิดนำบ้านเก่าอายุร้อยปีมาดัดแปลงเพื่อเพิ่มมูลค่าโดย ‘ดร.แก้วตา ม่วงเกษม’ หลานสาวของ ‘ตาแก่’ หรือ ‘เสวก จันทรกรณ์’ ทายาทผู้รักษามรดกบ้านเก่า พร้อมๆ กับชวนคนในบ้านจับมือร่วมกันสานต่อบอกเล่าของดีจากอดีตสู่ปัจจุบัน

บ้านเก่าริมคลอง

สายน้ำคือชีวิต

คลองบางกอกน้อยเกิดจากคลองสายย่อย ที่คดโค้งมาจากสายน้ำเจ้าพระยา ชุมชนทางน้ำจากอดีต ที่เคยรวยรุ่มด้วย เส้นทางการค้าและศิลปวัฒนธรรม กระทั่งยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงเข้ามาทำให้เส้นทางสัญจรทางน้ำไม่ได้หนาแน่นเหมือนแต่ก่อน อย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น ‘บ้านตาแก่’ นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่สะท้อนให้เห็นภาพวิถีชีวิตริมน้ำได้อย่างแจ่มชัดแล้ว ‘ศาลาท่าน้ำ’ ยังเปรียบเสมือนพื้นที่เอนกประสงค์ของผู้มีบ้านอยู่ริมน้ำ ทำให้เราในฐานะนักท่องเที่ยวอดทึ่งไม่ได้ เพราะประโยชน์สัพเพเหระของพื้นที่ที่ยื่นออกมานั้น เป็นทั้งส่วนต้อนรับเพื่อนบ้าน นั่งสังสรรค์ กินข้าว สนทนา พักผ่อนนอนกลางวัน และสารพัดประโยชน์ของการทำงานบ้าน ซึ่งต้องทำที่ท่าน้ำเท่านั้น เช่น การซักผ้า ล้างผัก ล้างจาน ซื้อกับข้าวทางเรือ หรือแม้แต่เป็นที่นั่งเล่น มองดูเด็กน้อยเล่นน้ำ กระโดดลงคลอง นั่งมองท้องฟ้าเปลี่ยนสี ชมพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้า

อันเกิดจากความรัก

นอกจากจะเป็นหลานของบ้าน ‘ดร.แก้วตา ม่วงเกษม’ หรือ ‘อาจารย์แก้ว’ ผู้ริเริ่มคิดทำพื้นที่บ้านเก่าให้กลายเป็น ‘Chilling Space’ นั้น…หมวกอีกใบของเธอ คืออาจารย์ประจำสาขาการจัดการท่องเที่ยวและบริการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และเพราะคลุกคลีอยู่ในแวดวงของวงของนักวิจัยและนักพัฒนาด้านท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงไม่แปลกที่องค์ความรู้อันครบเครื่องและเครื่องมือจัดการท่องเที่ยว จะถูกงัดออกมาใช้

อ.แก้วตา ทายาทบ้านตาแก่

“แก้วต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้มีเวลาได้กลับบ้าน มีโอกาสได้ Wokation และชวนเพื่อนๆ มาพักผ่อน แล้วก็ชวนนึกถอยหลังกลับไปสู่ความดั้งเดิม มองย้อนคิดถึงชีวิตตัวเองในอดีต ได้สังเกตรายละเอียด สำรวจเห็นบ้านเก่าร้อยปีของคุณยายจริงๆ ถ้าล่องเรือไปตามคลองบางกอกน้อยเรื่อยไปจนถึงโรงพยาบาลศิริราช จะยังมีบ้านเก่าอายุร้อยปีเรียงรายอยู่ให้เห็นอีกเยอะ แม้ว่ามีบางหลังยืนหยัดอยู่คู่กับบ้านคุณยายมานาน แต่สุดท้ายก็ถูกปรับถูกรื้อไปเป็นอย่างอื่น…น่าเสียดาย”

จากต้นเหตุที่เห็นว่าเสาบ้านมันเริ่มเอียง เพราะที่มาของบ้านหลังนี้ แต่เดิมเป็นบ้านของคหบดีเก่าในจังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะเป็นบ้านไม้สักชั้นเดียวยกพื้นสูง ขอบบัวเพดานโดยรอบตกแต่งด้วยลวดลายฉลุ 12 ปีนักษัตร เป็นเอกลักษณ์ของบ้านไม้เก่าแก่ที่หาดูได้ยาก คุณยายของเธอได้ซื้อบ้านหลังนี้และล่องเรือขนย้ายมาปลูกไว้ที่ริมคลองบางกอกน้อยจนถึงปัจจุบัน และส่งต่อให้ ‘ตาแก่’ ลูกชายคนเล็กเป็นผู้ดูแล

สิ่งเหล่านี้ได้จุดประกายให้อาจารย์แก้วในฐานะหลานของครอบครัว ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ช่วยปรับปรุง อนุรักษ์ รวมถึงปัดฝุ่นรื้อฟื้นความทรงจำบางอย่างให้กลับคืนมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลเพจ ‘บ้านตาแก่ baantakae chilling space’ นำข้อมูลหลักฐานต่างๆ มาสื่อสาร ผ่านคำบอกเล่า ตัวหนังสือ ภาพถ่าย และความทรงจำ ทั้งหมดนั้นน่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวและเรื่องราวต่างๆ มากมายที่ลึกซึ้งมากกว่าเสน่ห์ของความเก่า…

คนในบ้านคือพลัง

สิ่งละอันพันละน้อยของบ้านหลังนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมของเครือญาติและคนในบ้าน ซึ่งต้นทุนทั้งหมดมาจากของดีที่มีอยู่แล้วทั้งนั้น

ของเก่าภายในบ้านตาแก่

“ฝีมือปลายจวักกับเมนูพื้นบ้านที่ทำกินกันในครอบครัวจากคุณแม่ คุณป้า คุณน้า เสริมด้วยเมนูหารับประทานยาก อย่างม้าฮ่อจากคุณยายในชุมชน น้าชายสามารถพูดภาษาอังกฤษ สอนพายเรือได้ มีพาชมสวนเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านนนทบุรีได้ บวกกับเรามีเพื่อนบ้านที่มีความสามารถและประสบการณ์ในการนวดแผนไทยมาอย่างโชกโชน พอคุยคอนเซ็ปต์ว่าจะเปิดบ้านให้คนเข้ามาเที่ยวพัก แต่เปิดแค่กลางวันเท่านั้นไม่เป็นโฮมสเตย์ค้างคืน ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างและเพื่อความสะดวกของทุกคน เมื่อทุกคนในบ้านตกลง ทุกอย่างก็เกิดขึ้นไวมาก โดยเริ่มเปิดเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่งผลตอบรับคือมีคนโทรมาจองเต็มทุกสุดสัปดาห์ คิวลากยาวจนถึงปลายปีและอาจต่อเนื่องมาจนถึงช่วงต้นปีนี้ด้วย”

ภายในบ้านตาแก่

สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ นอกจากรายได้ที่ตั้งใจจะนำมาบูรณะซ่อมแซมบ้านเก่า ยังช่วยสานสัมพันธ์อันดี ทำให้เครือญาติและทุกคนในบ้านสื่อสารกันมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแต่ละคนต่างก็ห่างเหินกันไปทำหน้าที่ของตัวเอง แต่ละสัปดาห์ก่อนรับลูกค้าทุกคนจะมีหน้าที่ของตัวเอง แถมยังทำให้ลูกหลานกลับมาเยี่ยมปู่ยาตายายที่บ้านสวนบ่อยขึ้น เช่น เด็กๆ มาช่วยสแกนอุณหภูมิแขกเพื่อคัดกรอง มาช่วยเสิร์ฟอาหาร ส่วนอาจารย์แก้วทำหน้าที่เป็นฝ่ายต้อนรับด่านแรก ประสานรับลูกค้า รับออเดอร์ต่างๆ รวมถึงเป็นพีอาร์ประจำบ้านเพื่อสื่อสารกับทุกคน

 

เปิดรับคนนอกบ้าน

บ้านตาแก่เน้นเปิดรับลูกค้าเป็นกลุ่มเท่านั้น รับสูงสุดเพียง 8 ท่าน ตั้งแต่เวลา 10.00-18.30 น. ผ่านขั้นตอนการจองล่วงหน้า แบ่งพื้นที่ของศาลาริมน้ำ ชานบ้านและห้องเล็กๆ ไว้สำหรับนอนเอกเขนก พร้อมเลือกเมนูอาหารคาวหวานจากร้านค้าใกล้บ้านและเมนูเฉพาะสูตรของคนในครอบครัว เช่น ขนมฝรั่งแม่ไน้ ข้าวเหนียวมะม่วงแม่สมใจ ขนมปังปิ้งเยาวราชเจ้าดัง แซนด์วิชไส้ไก่ทอด นิยมเย็น ชิมผลไม้สวนทุเรียนนนท์ ส้มโอทองดี กล้วยหอม กระท้อนบางกร่าง ผลไม้สวนหลังบ้านปลอดสาร (ตามฤดูกาล)

เรือพายขายหมูสะเต๊ะแขกทุกคนจะได้เพลิดเพลินกับการนั่งอยู่ทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดบ่าย ทั้งการซื้อของกินของใช้จากพ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมาขายตลอดวันตามจังหวะและช่วงเวลา เช่น เป็ดพะโล้ลุงอ้วน ลูกชิ้นปิ้ง ไอติมตักโบราณ ก๋วยเตี๋ยวเรือ หมูสะเต๊ะในตำนานสูตรลุงบูรณ์และภรรยาที่รัก มีขายเฉพาะวันอาทิตย์ (อร่อยมากคอนเฟิร์ม) ซึ่งลูกค้าหลายกลุ่มต่างก็ติดใจถึงขั้นสั่งจองบ้านตาแก่ ติดต่อกันทุกเดือนเพื่อมากินหมูสะเต๊ะ!

 

ที่พลาดไม่ได้คือเมนูเลิศรสจากบรรดาแม่ครัววัยเก๋าของบ้านตาแก่ บรรจงปรุงอาหารด้วยใจและเป็นเมนูหากินยาก เช่น แกงเนื้อกรุบมะพร้าว แกงกระท้อนกุ้ง น้ำพริกปลาทูยกสวน เมี่ยงปลาทูอร่อยมาก (ยกกำลังสอง) เมนูนี้ขออนุญาตเติมคำลงในวงเล็บเองเพราะ มีโอกาสได้ลองชิมสองครั้ง อร่อยคงที่มือไม่ตกจริงๆ

น้ำพริกปลาทู

 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้เลือกหลากหลาย เช่น เวิร์กช็อปทำน้ำมะกรูดโซดา น้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่ ลงสวนปลูกกล้วยน้ำว้า หัดพายเรือสำปั้น เรืออีแปะ เรือสองตอน เรือหางยาวแบบวิถีริมคลอง นั่งชมพระอาทิตย์ตกก่อนฟ้าเปลี่ยนสี ชวนกันใส่ชุดไทย นวดแผนไทย ฯลฯ ถามว่าทำไมกิจกรรมเยอะขนาดนี้ บอกเลยว่านี่คือความต้องการของลูกค้าที่มาเช็กอิน

 

“เราทำงานกับชุมชนที่อื่นๆ มาเยอะแยะ แต่ความยากที่สุดของการทำงานที่บ้านเราเอง คือการสื่อสารกับคนในบ้าน เพราะเป็นความต่างของเจเนอเรชัน ที่มีทั้งรุ่นเรา รุ่นพี่ รุ่นแม่ รุ่นแก่กว่าแม่ อายุเกิน 70 ปี ทำอย่างไรที่จะสร้างประสบการณ์ให้ทุกคนเข้าใจ เราต้องทำตัวให้เล็กที่สุดเพื่อให้คนอื่นปล่อยพลังออกมามากที่สุด” อาจารย์แก้วกล่าวสรุป

มองไปข้างหน้า

“เป้าหมายที่คิดทำบ้านเก่าให้เป็น ‘Chilling space’ เพราะมองว่าเทรนด์มันมา ทั้งเรื่องของบ้านเก่า อย่างกรมธนารักษ์ก็มีโครงการเปลี่ยนบ้านเก่า บ้านเจ้าคุณหลายๆ หลังทั่วประเทศเพื่อต่อยอดไปสู่คาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม ทำให้หลายคนมองเห็นโอกาส” อาจารย์แก้วตาอธิบาย

บ้านตาแก่ บ้านริมน้ำ

นอกจากนี้ กระแสของธุรกิจเพื่อสังคมหรือเรื่องสโลว์ไลฟ์ก็กำลังกลับมา ผู้คนมากมายเหนื่อยล้ากับการสู้โรคระบาด เครียดกับการแข่งขันกับความเร็ว และอยากสานสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนฝูงและครอบครัวมากขึ้น เพราะจะไปเที่ยวไกลๆ ต่างประเทศก็ไม่ได้ ที่นี่จึงอาจจะมาถูกจังหวะ

บ้านตาแก่

“สำหรับแก้ว ลึกๆ แล้วอยากให้เกิดกระแสอนุรักษ์ และอยากให้มีบ้านเก่าเยอะๆ ครั้งหนึ่งเคยได้รับการติดต่อมาจากคนรุ่นใหม่ว่า สิ่งที่เราทำมีส่วนสร้างแรงบันดาลให้เขาปรับปรุงบ้านเก่าริมน้ำ ซึ่งอาจทำเป็นคาเฟ่หรือที่พักในอนาคต แค่นี้เราดีใจแล้ว ไม่ได้มองเขาเป็นคู่แข่ง กลับดีใจมากๆ ที่มีคนคิดแบบนี้เพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญที่เป็นพื้นฐานแรกเลยคือต้องมาจากความตั้งใจ บวกกับความสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ เพราะไม่ใช่เป็นธุรกิจใช้เงินแล้วจบ เราต้องบูรณะไปถึงปลายทาง และต้องมีใจอนุรักษ์ มีความคิดสร้างสรรค์ด้วยถึงจะมีคุณค่า

บ้านเก่าริมน้ำ

“ที่เมืองนอก อย่างอังกฤษ เขาทำ Ghost Tourism ตามรอยแดรกคูลาร์ ไปอยู่ในบ้านเก่าๆ ปราสาทเก่าๆ นี่คือความสร้างสรรค์ที่ถูกสร้างเป็นเรื่องราว เชื่อว่าบ้านเราอีกไม่นานเดี๋ยวก็มี สำหรับแผนที่คิดไว้คืออยากตามหาคณะลิเกมาเล่น แล้วให้ผู้ชมนั่งดูลิเกในเรือ ซึ่งต้องไม่โบราณมาก อยากทำให้เป็นอีเว้นท์ร่วมสมัย จุดประสงค์คืออยากให้คนนึกถึงวิถีชีวิตเก่าๆ ซึ่งเป็นอีกเทรนด์ที่อาจจะกลับมา รวมถึงเป็นการตลาดเชิง Excursion ด้วย นอกจากคนในบ้านแล้ว คนในย่านเดียวกัน ทั้งลุงป้า พ่อค้าแม่ค้าจะมีรายได้ อาหารเขาได้รับคำชมจากลูกค้า เราก็ภูมิใจที่เป็นพลังเล็กๆ ทำให้ทุกคนยิ้มไปด้วยกัน”

และนั่นคือพลังของบ้านตาแก่ที่เกิดจากคนในบ้านเพื่อคนนอกบ้าน ไม่น่าเชื่อเลยว่า…มุมเล็กๆ ของการเปิดบ้านและแบ่งพื้นที่ศาลาท่าน้ำเพื่อต้อนรับแขก นอกจากดีต่อใจกับคนในบ้านแล้ว บรรยากาศนั้นยังอบอุ่น ทำให้ผู้มาเยือนหัวใจพองโตอย่างบอกไม่ถูก

บ้านตาแก่
พิกัด ริมคลองบางกอกน้อย วัดบางกร่าง ใกล้วงเวียนพระรามห้า นนทบุรี
โทร: 081-4914230
IG : @baantakae
Facebook : บ้านตาแก่ Chilling space
https://baantakae.business.site/

Tags: