About
CRAFTYARD

เตาชวนหลง

‘เตาชวนหลง’ หนึ่งเดียวของลำพูน ชูจุดเด่นงานเซรามิกด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

เรื่อง เบญญาภา ขวัญเมือง ภาพ พริบตา Date 21-08-2022 | View 17686
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘เตาชวนหลงเซรามิก’ อยู่คู่ลำพูนมากว่า 30 ปี ทุกผลงานทำด้วยมือ ตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นรูป การลงสีลวดลายต่าง ๆ โดยมีเจตนาแน่วแน่ว่าต้องการจะสืบสานงานศิลปะแบบไทยให้อยู่คู่กับคนไทย
  • แนวคิดของชวนหลงคือ ตั้งใจอยากให้เซรามิกกลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น ฝีมือของช่าง การพัฒนารูปแบบ ลวดลาย ดีไซน์ของชิ้นงาน ล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน เพราะความประณีตอ่อนช้อยของชิ้นงาน รูปแบบที่ทันสมัย และความหลากหลายของสินค้า คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ

จริงอยู่ว่าถ้าเราพูดถึงแหล่งเซรามิก ลำปางอาจผุดขึ้นมาในความคิด แต่วันนี้เราจะพาทุกคนมาเยือน โรงงานเซรามิกเจ้าเดียวและเจ้าสุดท้ายในลำพูน เรียกได้ว่าเป็นลมหายใจของงานเซรามิกในลำพูนที่ยังมีชีวิต 'เตาชวนหลง เซรามิก' กิจการที่ก่อตัวขึ้นจากคนที่ไม่ได้เรียนศิลปะแต่เป็นเหมือนศิลปิน อาจารย์อุทัยย์ กาญจนคูหา (เจ้าของกิจการรุ่นที่1) ผู้พาความชอบเดินทางไปพร้อมกับความฝัน…สู่ความเป็นจริงจนประสบความสำเร็จ

เก่ง - กิตติกร กาญจนคูหา ทายาทรุ่นที่สองยิ้มต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ก่อนพาเราเดินดูชิ้นงานดีไซน์เก๋และขั้นตอนการผลิตภายในโรงงาน จากนั้นบทสนทนาระหว่างเราก็เริ่มขึ้นพร้อมแดดยามบ่ายแก่ๆ ของวัน

“ ‘ชวนหลง’ กลับมาจากคำว่า ‘หลงฉวน’ เป็นตำบลหนึ่งในจีนซึ่งทำเครื่องเคลือบดินเผาสีเขียวไข่กา หรือที่บ้านเราเรียกว่า ศิลาดล ชวนหลงมันก็คล้ายกับภาษาจีน แล้วก็ยังได้ความหมายไทยๆ ว่า ‘ชวนให้หลงใหล’ ด้วย”

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

เครดิตภาพ : อรุโณทัย พุทธรักษา

• การเดินทางชวนหลง

เก่งเริ่มเล่าเรื่องราวการเดินทางของคุณพ่อให้เราฟังว่า “คุณพ่อค้าขายเสื้อผ้ามาก่อน พอถึงวันหนึ่งคุณพ่อเค้ามองว่าเสื้อผ้ามันซื้อมาขายไปอาจจะไม่ยั่งยืน เลยอยากทำงานอะไรที่มันมากกว่านั้น แต่หนึ่งเลยคือต้องเป็นงานศิลปะ สองคืออนุรักษ์ศิลปะไทย สามคือสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้”

เมื่อพ่อของเขาชื่นชอบงานศิลปะเป็นทุนเดิม และช่วงนั้นมีโอกาสได้เข้าคอร์สอบรมเกี่ยวกับเซรามิกสั้นๆ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประมาณหนึ่งอาทิตย์ “หลังจากนั้นพ่อก็กลับมาซื้อเตามือสองแล้วก็ลงมือลองทำเองเลย คือ 5 ปีแรกที่เริ่มทำ คุณพ่อลองเคลือบเอง แล้วก็ทดลองเผาทุกวันๆ ซ้ำๆ เรียกได้ว่าเหมือนกับเผาเงินทิ้ง” นับเป็นช่วงลองผิดลองถูกที่ต้องอาศัยแรงกายแรงใจมากพอควร กว่าจะค้นพบตัวตนจนมาเป็น ‘เตาชวนหลง’ ในทุกวันนี้

 

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

เก่ง – กิตติกร กาญจนคูหา ทายาทรุ่นที่ 2 ของเตาชวนหลง

“ผมได้เข้ามาจับงานเครื่องปั้นดินเผาเมื่ออายุ 40 ปี เริ่มต้นครั้งแรกไม่มีความรู้ทั้งในเรื่องดินและเรื่องสูตรเคลือบ ทั้งการปั้นขึ้นรูปจิตรกรรม ประติมากรรม อาศัยใจสู้ใจรักเท่านั้น ช่วงแรกจึงยุ่งยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร เพราะไม่สามารถเข้าไปเรียนรู้หรือค้นคว้าข้อมูลจากที่ไหนได้เหมือนปัจจุบัน ตำราที่มีก็เป็นภาษาต่างประเทศ สูตรเคลือบในตอนนั้นก็ปิดเป็นความลับของแต่ละสำนัก จึงต้องดิ้นรนไขว่คว้าศึกษาจากผู้รู้ตามสถาบันที่ยังเปิดโอกาสให้เข้าไปเรียนรู้ได้บ้าง” ถ้อยคำความรู้สึกของอาจารย์อุทัยย์ถูกสลักไว้บนบันทึกดินปั้นข้างผนังเพื่อบอกเล่าความทุ่มเทและความพยายามที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่ม

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

เดิมลักษณะงานของชวนหลง เป็นการเลียนแบบของโบราณสมัยสุโขทัย สังคโลก เรือนกาหลง เป็นหลัก เพราะมุ่งหวังอนุรักษ์เอกลักษณ์ความเป็นไทยให้คงอยู่ หลังจากนั้นคุณพ่อก็เริ่มสร้างภาพจำให้ชวนหลงโดยการส่งชิ้นงานเข้าประกวดที่ลำปาง ศูนย์กลางของเซรามิกในยุคนั้น เก่งยังเล่าให้ฟังอีกว่า “ตอนนั้นประกวดปีแรกก็ได้รางวัลที่ 1 กลับมา คือเริ่มจากงานเซรามิกเลียนแบบของฝรั่งซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครทำ มากกว่านั้นคือประกวดได้ที่หนึ่ง 4 – 5 ปีติดกัน เราเลยเริ่มมีชื่อเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น เริ่มออกงานแสดงสินค้า และมีฐานลูกค้ามาจนถึงทุกวันนี้”

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

• ลดบางอย่าง เพิ่มบางสิ่ง

“ส่วนเราตอนเรียนจบใหม่ๆ ก็ยังมีความคิดว่าจะไปทำงานอื่นก่อนแล้วค่อยกลับมา แต่เป็นความโชคดีที่ยังไม่มีที่ไหนรับ เราเลยเลือกกลับมาทำของเราเอง” เหมือนกับว่าโชคชะตาจะจับพลัดจับผลูให้เขาสานต่องานที่บ้านเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้

สำหรับเขาในช่วงเริ่มต้น อาจจับทิศจับทางยากสักเล็กน้อย “ตอนแรกเราปรับตัวค่อนข้างเยอะ เราคลุกคลีกับเซรามิกก็จริง แต่เรายังไม่ได้รู้ถึงกระบวนการทั้งหมดในการทำงาน ดังนั้นมันก็ต้องลงไปเรียนรู้ไปคลุกคลีกับพนักงานไปเรียนรู้นิสัยใจคอซึ่งกันและกัน มันต้องปรับตัวเยอะพอสมควรเลย” เขาเล่า

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

แต่เก่งไม่เพียงตั้งใจเรียนรู้กระบวนการทำงาน เพราะเขายังสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับชวนหลง นำเสน่ห์ของการวาดลวดลายเซรามิกมาประยุกต์และพัฒนาชิ้นงานให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

โดยเน้นให้งานปั้นมีฟังก์ชั่นหรือการใช้งานหลากหลายมากขึ้น ลดทอนบางลวดลาย ใช้สีให้ดูทันสมัย เขามองว่าการใช้สีโทนเดียวดูคลาสสิกก็จริงแต่อาจไม่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่เท่าที่ควร จึงเลือกเพิ่มสีสันเข้ามาผสม เพื่อให้ภาพจำของเซรามิกไม่ถูกจำกัดอยู่แค่แจกันหรือถ้วยชาม

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

• เห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น

“เมื่อก่อนเราก็มีคำถามอยู่ตลอดว่าเราจะไปในทิศทางไหน เราจะไปยังไง แต่พอได้มาลงมือทำเองเราค้นพบว่าเห้ยจริงๆ เซรามิกมันยังไปได้อีกไกลมากๆ ถ้าเราคิดเป็น… คนอื่นอาจมองว่างานเซรามิกเป็นงานแจกันธรรมดาๆ แต่เรามองต่างออกไป พอเราเริ่มเข้ามาทำเรามีโอกาสเห็นงานจากหลายๆ ที่ มันเลยมีความคิดว่า…เซรามิกทำไมมันถึงเป็นได้แค่แจกัน ไม่สิ…มันต้องเป็นได้มากกว่านั้น!” สำหรับเก่งมันคงเป็นความอัดอั้นตันใจไม่น้อย เขาเลยเลือกแตกแขนงชิ้นงานให้มีความหลากหลายกว่าเดิมควบคู่ไปกับความสนุกที่ได้ลบภาพจำเก่าๆ ของงานเซรามิก

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

เขาเพิ่มทั้งคุณค่าและมูลค่าให้งานปั้นได้มากกว่าที่เคยเป็น ราวกับว่าช่วยต่อลมหายใจงานเซรามิกล้านนาไทยด้วยดีไซน์และรูปแบบร่วมสมัย ประณีตบรรจงทุกชิ้นงานด้วยความสร้างสรรค์ แม้ปัจจุบันผลงานบางอย่างของชวนหลงจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ไม่ละทิ้งเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไปแม้แต่น้อย เห็นได้จากลวดลายที่ยังคงไว้ อย่างเช่น สัญลักษณ์รูปช้าง รูปลายไทย ดอกไม้ ใบไม้ รวมไปถึงลวดลายเถาวัลย์ และรูปสัตว์ต่างๆ ทำให้รูปลักษณ์งานของเตาชวนหลงมีความแตกต่างไปจากแหล่งเตาอื่น

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

• เติบโตทีละก้าว

เราเดินเข้ามาถึงโซนโรงงานด้านใน งานปั้นมากมายเรียงรายเนืองแน่นทุกช่องชั้น บ้างเป็นงานสำหรับขายหน้าร้าน บ้างเป็นงานส่งออก ต้องยอมรับว่าชวนหลงเติบโตขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัวส่วนหนึ่งก็เพราะมีการบริหารจัดการแบรนด์ที่ดี

แม้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาวะวิกฤตจะทำให้หลายกิจการได้รับผลกระทบ แต่ชวนหลงเซรามิกยังคงเดินช้าๆ บนเส้นทางของตัวเองอย่างต่อเนื่อง บนมาตรฐานและความสร้างสรรค์ที่ไม่ลดลงจากเดิม ปรับมุมมองและแนวคิดการทำงานให้เข้ากับสถานการณ์

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

“พอเจอโควิดขึ้นมาทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมด มันไม่ได้เป็นไปเหมือนที่เราตั้งใจไว้ เพราะฉะนั้นเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก เราเลยมองที่ปัจจุบันพยายามทำทุกวันให้มันดีที่สุด พยายามควบคุมคุณภาพของชิ้นงานที่เรากำลังทำอยู่กับลูกค้าให้มันดีที่สุด เพราะถ้าเราวางรากฐานตรงนี้ไว้ดีแล้วอนาคตมันก็จะไปต่อได้ดีในแต่ละช่วงด้วยตัวของมันเอง ทุกวันนี้เราก็เลยมองไปทีละขั้นๆ…แต่มั่นคง” ในอนาคตเก่งตั้งใจจะเดินหน้าเรื่องการส่งออกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ชวนหลงเซรามิกเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

• หัวใจชวนหลง

ชวนหลงมีหัวใจสำคัญหลักๆ อยู่ 3 ปัจจัย ที่ส่งผลให้ชิ้นงานออกมามีคุณภาพและเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“เราใช้ดิน 3 อย่าง ดินขาว ดินดำ และดินแดง ซึ่งดินแต่ละประเภทมันก็จะมีลักษณะเฉพาะกับลักษณะพิเศษในตัวเนื้อดินที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น ดินขาวทำงานได้ไว ดินดำดินแดงมีโครงสร้างของดินที่แข็งแรง ชิ้นงานไม่เปราะง่าย พอเราเอาเนื้อดินทั้งสามตัวมาผสมกันเพื่อให้เกิดดินสูตรพิเศษ ก็จะช่วยให้เราทำงานได้ไวขึ้น แล้วตัวชิ้นงานก็มีความแข็งแรงทนทานทำงานได้หลากหลายรูปแบบ” เก่งอธิบาย

อีกหนึ่งความพิเศษของชวนหลงคือ สูตรเคลือบของที่นี่มีความเฉพาะตัวมีการคิดค้น ทดลอง และพัฒนาสูตรใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะนอกจากดีไซน์แล้ว ตัวเคลือบก็นับเป็นส่วนสำคัญของเซรามิกเช่นกัน

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

หัวใจสำคัญสุดท้ายที่ทำให้งานปั้นของชวนหลงแตกต่างจากที่อื่นคือ บุคคลเบื้องหลังกว่า 30 ชีวิต (กลุ่มคนที่นับเป็นเหมือนครอบครัว) ช่างฝีมือดีมากความสามารถ เพราะช่างหนึ่งคนทำได้ทั้งงานวาด งานปั้น และงานแกะ ทำให้ชวนหลงสามารถสร้างชิ้นงานที่มีความแปลกใหม่ได้ง่ายกว่าโรงงานที่ทำเฉพาะแบบ ทักษะเฉพาะรวมถึงความใส่ใจในรายละเอียด ความพิถีพิถัน ถูกส่งผ่านไปยังชิ้นงานทุกชิ้นสมกับเป็นเสน่ห์ของเครื่องปั้นดินเผาของภาคเหนือ เพราะความอ่อนช้อยของลวดลายก็เป็นจุดเด่นที่ทำให้ครองใจลูกค้ามาได้อย่างยาวนาน

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

“สำหรับเรามันเป็นอะไรที่สร้างอาชีพได้จริงๆ ทั้งกับตัวเราเองและคนในชุมชนที่มีฝีไม้ลายมือ แล้วมันก็ยังช่วยอนุรักษ์ศิลปะไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ด้วย เพราะงานเดิมเราก็ยังอนุรักษ์ไว้…ส่วนงานใหม่เราก็พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนรุ่นหลังที่อยากได้ความรู้ตรงนี้ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเข้ามาดูงาน เข้ามาเห็นชิ้นงานแบบเดิมๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย” เขายิ้ม

เราว่าศิลปะการปั้นถือเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่อยู่เคียงคู่สังคมไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ควรค่าแก่การรักษาให้คงอยู่เพื่อให้ลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปได้เข้าใจว่าศิลปะการปั้นนั้นสวยงามเพียงใด

‘เตาชวนหลง’ เซรามิกหนึ่งเดียวของลำพูน ที่ชูจุดเด่นด้วย 3 ดินและเทคนิคเคลือบเฉพาะตัว

ส่วนใครที่หลงใหลในงานเซรามิก มาเที่ยวลำพูนแล้ว ต้องลองแวะมาเยือนสถานที่แห่งนี้ดูสักครั้ง เพราะ ‘เตาชวนหลง’ ผลิตชิ้นงานออกมาได้ ‘ชวนหลง’สมชื่อ

Tags: