About
CRAFTYARD

Passionate Love

Cobalt ‘bleeds’ คอนเทมเซรามิกจาก passion สู่งานศิลป์ในชีวิตประจำวัน

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ ภาพ มาหยารัศมี Date 20-10-2021 | View 2537
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีงานคราฟต์สวยๆ มากมายในเมืองไทยให้เลือกเสพ แต่ละผลงาน ต่างพาศิลปินและแบรนด์เติบโตไปพร้อมกับการสร้างสรรค์ รวมถึงงานเซรามิก มีแบรนด์เกิดใหม่ขึ้นมากมายที่ศิลปินเซรามิกฝีมือดีต่างหวังใจว่า ผลงานของพวกเขาคือศิลปะที่สื่อสารได้ หยิบใช้ได้ เล่นฟังก์ชั่นได้สนุกมากขึ้น
  • Cobalt ‘bleeds’ Studio คอนเทมเซรามิกที่ต้องการสื่อสารส่วนผสมระหว่างตัวตน ประสบการณ์ สถานที่ วัตถุดิบ ทัศนคติและความคิด เพื่อเล่าเรื่องบางอย่าง ผ่านงานคราฟต์ชิ้นงาม และทุกคนสามารถหยิบจับมาใช้ได้ตามความต้องการในชีวิตประจำวัน

ถือเป็นการนัดหมายแรกแบบพบเจอกันตัวเป็นๆ ในรอบ 6 เดือนก็ว่าได้ เราเหมือนพาตัวเองออกมาจากถ้ำพบเจอเส้นทางใหม่ๆ ความตื่นเต้นครั้งใหม่ การพูดคุยและบทสนทนาใหม่ๆ ไม่น่าเชื่อว่าการขับรถออกจากบ้านมา จะปลุกหัวใจให้เต้นแรงเกินเบอร์ ขนาดนี้

เราชื่นชมผลงานเซรามิกของ Cobalt ‘bleeds’ ผ่านภาพถ่ายในเฟซบุ๊คบ้าง อินสตาแกรมบ้าง ในงานสัปดาห์หนังสือ งานไทยเที่ยวไทยบ้าง ภาพถ้วยกาแฟสีขาวเทาโมโนโทน เต็มไปด้วยเท็กซ์เจอร์และรายละเอียด แต่งเติมให้กาแฟถ้วยนั้นน่าสัมผัส

เราขับรถไปตามเส้นทางของอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ลัดเลาะเข้าซอยวัดเทียนดัด ทางเดียวกับคาเฟ่และสวนสวยชื่อดังของย่านนี้ และแล้วก็มาถึงสถานที่ปักหมุดเอาไว้ก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อย

เปิดสตูดิโอ

ขอต้อนรับสู่อาณาจักรเซรามิกของ Cobalt ‘bleeds’ Studio แค่ชื่อก็น่าค้นหาความหมายแล้ว…พี่บ๊วย ‘สุวภรณ์ พุทธประสาท’ ผู้หญิงร่างเล็ก ศิลปินเจ้าของแบรนด์และสตูดิโอ ออกมาต้อนรับด้วยรอยยิ้มกว้าง ทักทายอย่างกันเองทันทีที่มาถึง

B 20

พื้นที่โดยรอบสดชื่นด้วยพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ ทั้งไม้ยืนต้น ไม้กระถาง กระเถิบออกไปนอกรั้วเจอพื้นที่ราว 3 ไร่ไม่ไกลกัน คือ อาคารขนาดใหญ่กับโครงการในอนาคตอันไกล้ ที่ประเดี๋ยวจะมาเฉลยว่าคืออะไร เรานั่งคุยกันสบายๆ ในห้องขนาดกะทัดรัดมีมุมคาเฟ่ กองหนังสือ ปนเปอยู่กับงานเซรามิกชิ้นเล็กชิ้นน้อยซึ่งต่างมีที่ทางของมัน ทักทายถามถึงสารทุกข์สุกดิบกันพอหอมปากหอมคอ

“งานเซรามิกในบ้านเราเมื่อก่อนมันเป็นเซรามิกเชิงอุตสาหกรรมเสียส่วนใหญ่ แต่โชคดีมากที่ทุกวันนี้ ผู้คนเข้าใจงานศิลปะ งานคราฟต์มากขึ้น ไม่ใช่แค่เซรามิกเท่านั้นงาน ศิลปะอื่นๆ ก็โตขึ้นด้วย พี่ว่ามันดีมากเลยนะ”

B 10

หลังเรียนจบคณะมัณฑนศิลป์ สาขาเซรามิกจากรั้วศิลปากร ที่พี่บ๊วยบอกว่าเป็นช่วงค้นหาตัวเอง ในที่สุดก็ตัดสินใจไปเรียนภาษาที่ลอนดอน เลือกเรียนต่อเซรามิกที่สก็อตแลนด์ เป็น Post-graduate Diploma (Ceramics) Edinburgh College of Art พร้อมกับเรียนโทต่อที่ MA (Ceramics) UWIC  และใช้ชีวิตหาประสบการณ์อยู่ที่นั่นนานเกือบ 10 ปี

ศิลปะจาก Critical Thinking

“เหมือนท้าทายอะไรบางอย่าง ตั้งแต่เด็กไม่เคยห่างครอบครัวเลย หลังเรียนจบ ตัดสินใจไปเรียนภาษา ตอนนั้นไปอยู่กับเพื่อน พอลงเรียนต่อด้านเซรามิก เลยอยากแยกตัวออกมาจากเพื่อนคนไทย ทีแรกก็หวั่นๆ ต้องปรับตัวพักใหญ่กับการอยู่คนเดียวแถมสำเนียงสก็อตแลนด์ฟังยากมาก แต่ในที่สุดอยู่ได้และเป็นช่วงที่สนุกมาก เหมือนได้ค้นหาตัวเองจริงๆ เพราะการเรียนศิลปะที่นั่นเขาฝึก ‘Critical Thinking’ ด้วย ต่างกับเมืองไทยเน้นให้ทำงานเยอะ แต่บางทีไม่มีทิศทาง

การเรียนศิลปะที่สก็อตแลนด์ เขาฝึกวิธีคิดเป็นกระบวนการ ให้คิดหัวข้อออกมาก่อน แล้วคิดคอนเซ็ปต์งาน จากนั้นก็สื่อสารกับอาจารย์แล้วเล่าออกมาให้ได้ว่าจะทำยังไง ขึ้นงานด้วยรูปแบบไหน ตอนนั้นมีเพื่อนบางคนทำงาน แบบเดิมปั้นเดิมๆ ไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย แต่อาจารย์กลับชมว่าดีมากเก่งมาก เราก็แอบงงสุดๆ มันดียังไงหว่า เพราะไม่เข้าใจ ความคิดมันเป๋กระโดดไปกระโดดมา อยากทำฟอร์มนี้แต่พอทำเสร็จแล้วเป็นงานสามมิติ ก็ไม่ชอบ เปลี่ยนใจไปทำแบบอื่น อาจารย์รู้ว่าเรามีไอเดียเยอะ แต่สิ่งที่บรรเจิดนั้นควรเอาไว้ทีหลัง ควรต้องคิดกับมันให้ลึกซึ้งก่อน ปั้นจนเข้าใจฟังก์ชั่นการใช้งานก่อน กว่าจะมาถึงบางอ้อว่า วิธีการมันหลากหลาย แต่วิธีคิดอยู่ที่ตัวเรา กว่าจะกลายเป็นลายเซ็นต์ของเรา เล่นเอาน่วมเหมือนกัน ”

B 11

B 1

พลิกผัน…แต่ยังฝันถึงเซรามิก

แม้หลังจากจบ Post-graduate Diploma แล้วต่อปริญญาโทเกี่ยวกับงานพิมพ์บนพื้นผิวเซรามิกเป็นหลัก แต่การจากไปของคุณพ่อ ทำให้พี่บ๋วยตัดสินใจหันมาดูแลคนในบ้าน และช่วยงานในคลินิกของคุณอา ซึ่งเป็นสหคลินิกรักษาโรคทั่วไปและรักษาเกี่ยวกับทันตกรรม ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ซึ่งเธอได้นำทักษะหลายอย่างจากตอนเรียนมาปรับใช้ ทั้งวิธีการคิดแบบเป็นระบบ ความละเอียด ช่างสังเกต ฯลฯ ถึงแม้ต้องทำงานไม่ได้เกี่ยวกับที่ร่ำเรียนมา แต่ความฝันของศิลปินนักปั้นเซรามิกไม่ได้หายไปไหน

Cobalt ‘bleeds’ จึงเกิดขึ้นจากเวลาว่าง เธอลงมือปั้น ปั้น ปั้น…อย่างจริงจัง

“รู้สึกสะดุดชื่อนี้มาจากตอนอ่านหนังสือภาพพิมพ์เซรามิกเล่มหนึ่ง มันมีถ้อยคำพูดถึงผลงานเกี่ยวกับเส้นสีที่เขียนด้วย หมึกน้ำเงิน ซึ่งจะไม่ชัดเจน แต่เมื่อมันอยู่ในเซรามิก เส้นนั้นจะค่อยๆ แตกออกมา เรียกว่า Cobalt ‘bleeds’ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการบางอย่าง พออ่านปุ๊บก็โอ้ว…รู้สึกใช่เลย!! ความหมายมันโดนใจมากๆ ” พี่บ๊วยเล่า

B 9

“ตอนเรียนโท พี่ชอบงานสเก็ตที่เป็นทรงคิวบิก เป็นกล่องๆ เหลี่ยมๆ อาจจะเพราะโตมากับโรงงานปี๊บมั้ง (หัวเราะ) ก็เลยสเก็ตให้พวกนี้ให้อยู่บนงาน ลองขยับดู บิดตรงนั้นตรงนี้ ทดลองทำเทคนิคต่างๆ ทดลองทำไปเรื่อยๆ สะสมจนได้ผลลัพธ์กลายเป็นเทคนิคพื้นผิวแบบนี้ หลอมรวมออกมาเป็นชิ้นงาน มีพลาดบ้าง ไม่ได้ดั่งใจบ้าง แต่ตลกดี บางทีงานที่พลาดกลับสวยมาก ชอบมาก แต่จำไม่ได้แล้วว่าใช้เทคนิคยังไง (หัวเราะ) เพราะงานเซรามิกบางชิ้น ไม่ได้คิดว่ามันจะออกมาเป็นแบบนี้ เป็นความบังเอิญที่เราได้เรียนรู้ ทดลองและลงมือทำ 4-5 ปีที่ก่อน พอมีเวลาว่างก็คือ ปั้น ปั้น ปั้น ตอนนั้นเริ่มต้นทำ ไม่รู้ว่าเปิดตัวด้วย (หัวเราะ) ถ้าให้นิยามงาน พี่ว่าเป็นสไตล์ ‘Contemporary ceramics’ ที่ออกมาจากตัวเรา และต้องขอบคุณคนในครอบครัว คนใกล้ตัวและคนที่สนับสนุนในสิ่งที่เราทำ”

B 4

จากเซรามิกสู่ Sculpture

การเปิดตัวของ Cobalt ‘bleeds’ ออกมาในจังหวะที่เหมาะเจาะพอดี ในช่วงที่วงการคราฟต์บ้านเราเริ่มตื่นตัว รวมทั้งวงการกาแฟ ต้นไม้ ที่ต่างต้องการชิ้นงานเซรามิกมาเกื้อหนุน

B 6

“ลึกๆ ไม่ได้อยากทำงานฟังก์ชั่น จานชาม แก้วกาแฟอะไรพวกนี้เลย รู้สึกว่ารายละเอียดมันเยอะ ปริมาตรต้องเท่านั้นเท่านี้ จริงๆ เราชอบงานแนว Sculpture งาน Pure art มากกว่า จนวันหนึ่งมานั่งคิดเรื่องเซรามิก ถ้าอยากจะอาร์ต ก็ไม่เห็นจำเป็นต้อง Sculpture นี่หว่า งาน Pottery ก็เป็น Sculpture ได้ เพราะเป็นงานลอยตัวอยู่แล้ว มันมีพื้นที่ของมัน”

B 14

B 17

“เรื่องราวในชีวิตมันค่อยๆ สอนว่าอย่าไปยึดติดกับงานแบบนั่นนู่นนี่ ตอนหลังก็เลยลองทำงาน Pottery เยอะขึ้น คิดว่าได้อย่างที่หวังนะ แต่ก็ยังไม่สุด ถ้ามีเวลาเยอะคงทำได้มากกว่านี้ เพราะมันต้องทดลองเยอะ กระบวนการมันมีให้เรียนรู้ไม่รู้จบ คือในหัวพี่มันจะพุ่งๆ ทำแล้วก็อยากปรับจนพอใจ แล้วถึงปล่อย อยากให้มันมีเรื่องราวบางอย่าง มีลายเส้นตรงนี้ เวลาที่มันได้อย่างที่คิดทั้งสี ทั้งแพทเทิร์น ทั้งอารมณ์ ร้อง เชี่ย!!! ออกมาเองเลยคนเดียว (หัวเราะ) จริงๆ ก็อยากให้คนที่ได้ สัมผัสหยิบจับมันขึ้นมา แล้วรู้สึกอยากเดินเข้ามาค้นหาเท่านั้นเอง”

B 19

‘ต้นไม้’ ประติมากรรมชิ้นใหม่ในเซรามิก

ระหว่างบทสนทนา เราสะดุดตากับการปลูกต้นไม้ของพี่บ๊วย แน่นอนว่าต้องใส่ในเซรามิกสวยๆ ที่ปั้นขึ้นเองอยู่แล้ว แต่นอกจากกระถางสวยแล้ว ถ้าแมตช์กับต้นไม้ที่มีฟอร์มเข้ากันได้ดี ทั้งกระถางและต้นไม้จะกลายเป็นชิ้นงานประติมากรรมขึ้นมาเลยทีเดียว

B 18

“พี่ว่างานคราฟท์เติบโต คนเข้าใจมากขึ้น เซรามิกก็สามารถเสริมกันกับต้นไม้ได้ แมตซ์กันได้ เอาจริงๆ ในช่วงโควิด-19 แบบนี้ มันเยียวยาได้ดีจริงๆ  ส่วนตัวพี่ชอบต้นไม้อยู่แล้ว พอเห็นฟอร์มต้นไม้ก็คิดทำชิ้นงานออกมา ต้นไม้กับกระถางเซรามิก มันไปกันได้ดี เพราะฟอร์มของต้นไม้ก็เหมือนเป็นงาน Sculpture ทั้งกิ่ง ก้าน ต้น ใบ บางทีกระถางที่มีลวดลายหรือเท็กซ์เจอร์ก็ทำให้รูปลักษณ์ต้นไม้เปลี่ยนไปเหมือนกัน เหมือนเราจับต้นไม้มาใส่ชุด แล้วพี่เองติดนิสัย stylist หน่อยๆ ชอบจับนั่นนี่ เซ็ตอัพอันนั้นอันนี้มาวางด้วยกัน ทุกอย่างเลยเป็นอย่างที่เห็น (หัวเราะ)”

ฝันไกลในอนาคต

ในอนาคตพื้นที่ราว 3 ไร่จะกลายเป็นสตูดิโอและแกลเลอรี่ที่มีกิจกรรมเวิร์กช็อปสำหรับคนที่สนใจ

B 8

B 13

“เราอยากทำสตูดิโอ เลยค่อยๆ เก็บหอมรอมริบทำทีละนิดทีละหน่อย ออกแบบฟังก์ชั่นเองหมด ในอนาคตจะเป็นทั้งสตูดิโอและแกลเลอรี่เล็กๆ มีกิจกรรมทำเวิร์กช็อปสำหรับคนที่สนใจ พี่มองว่า ต่อไปพอเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ งานเซรามิกน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีให้กับคุณลุงคุณป้าได้ออกแรง ลงมือทำงานเซรามิก มีสังคม มีเพื่อน ไม่ต้องนั่งเหงาๆ อยู่กับบ้าน และในความเป็นไปได้ ก็อยากเชิญศิลปินจากต่างประเทศมาพำนัก ทำที่นี่ให้เป็น ‘artist residency’ พี่เองจะได้มีโอกาสเห็น ได้เรียนรู้จากคนอื่นๆ ด้วย เคยลองนึกภาพตัวเองไว้นะว่า ถ้าถึงเวลาเกษียณแล้ว อยากเป็นคนสูงวัยที่มีอะไรทำ คงนั่งทำงานเซรามิก นั่งปั้นๆ อยู่แถวๆ นี้แหละ (ยิ้ม)

B 12

Tags: