โรงคั่วคืนชีวิต
ปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ ชีวิตติดลบ 50 ล้านที่ฟื้นได้ด้วยโรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว
- เรื่องราวชีวิตของผู้ชายคนหนึ่งที่มีทั้งขาขึ้น ได้เป็นเจ้าของบริษัทที่มียอดขายแตะหลักร้อยล้านบาทตั้งแต่ปีแรกที่เปิด และช่วงขาลงที่กลายเป็นหนี้ธนาคารหลายสิบล้านบาท จนต้องตัดสินใจปิดบริษัทที่สร้างมาเองกับมือ
- การบวชช่วยเรียกสติเขาให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง ด้วยการไปทำไร่กาแฟที่วังน้ำเขียว มีโรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ และโฮมสเตย์
- ผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่เขาต่อยอดจากไร่กาแฟคือการทำเครื่องสำอางจากเมล็ดกาแฟ ที่เกิดจากการแก้ปัญหาผลผลิตที่ขายไม่หมด ซึ่งไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้กาแฟ แต่ยังทำให้เขาปลดหนี้ได้สำเร็จอีกด้วย
“ถ้าไม่ล้มจากธุรกิจนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มือถือ และคอมพิวเตอร์ ผมก็คงไม่เปิดร้านกาแฟและทำโรงคั่วที่วังน้ำเขียวหรอกครับ”
คุณปกรณ์ เตชสิทธิ์วรโชติ ผู้ชายที่พลิกฟื้นชีวิตติดลบ 50 ล้านบาทบอกกับเราอย่างนั้น
ร้านกาแฟ ‘โรงคั่วกาแฟวังน้ำเขียว’ ตั้งอยู่ริมห้วยกระบอก อ.วังน้ำเขียว เสิร์ฟกาแฟเอสเปรสโซ ดับเบิลช็อต สีน้ำตาลเข้มดำ หอมกรุ่นไปด้วยครีมมี่จากน้ำมันกาแฟสีน้ำตาล ดื่มคู่กับน้ำผึ้งป่าเขาใหญ่ ขณะล่องแพไปตามลำห้วยกระบอก กาแฟหมดแก้วก็ได้เวลาเก็บดอกบัวและถ่ายรูปคู่กับพระอาทิตย์ตกดิน ค้ำถ่อแพกลับมาถึงร้าน ก็ได้เวลากินข้าวสวยร้อนๆ กับไข่เจียวกากหมูที่เพิ่งเจียวใหม่ๆ คนกรุงเทพฯ หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า ไข่เจียวที่ทอดด้วยน้ำมันหมูนั้นอร่อยแค่ไหน นอกจากเมนูนี้ ที่นี่ยังมีกะหล่ำปลีผัดน้ำปลาที่เคล็ดลับอยู่ที่ต้องเอาใบกะหล่ำไปตากแดด 1 แดดเสียก่อน เพื่อให้ความหวานคายตัวออกมา แล้วค่อยนำมาผัดเคล้ากับน้ำปลาดี
ที่นี่นอกจากเสิร์ฟกาแฟอาราบิกาที่ปลูกบนพื้นที่วังน้ำเขียวแล้ว ยังเป็นโรงคั่วกาแฟและที่ผลิตเครื่องสำอางจากเมล็ดกาแฟผสมน้ำผึ้ง แบรนด์ ‘โรงคั่วกาแฟ วังน้ำเขียว’ อีกด้วย ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ด้วยความไม่คิดยอมแพ้ต่อชีวิตของเขา
ล้มลุกคลุกคลานตั้งแต่ยังไม่ 30
“ผมเป็นคนกาญจนบุรี เป็นลูกชาวไร่ชาวนา สมัยเด็กๆ ที่บ้านมีที่ดิน 50 ไร่ แต่ตอนที่ผมจะเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เหลือที่ดินเท่าที่ปลูกบ้านอยู่ แถมยังมีหนี้สินด้วย แม้จะสอบเอนทรานซ์ติด แต่ไม่มีเงินเรียน สุดท้ายต้องไปเรียนรามคำแหง ผมจบ Mass Communication จากการกู้เงิน กยศ. และทำงาน 7-Eleven ค่าแรงชั่วโมงละ 25 บาทเท่าค่าหน่วยกิตเลย ส่งตัวเองเรียนจนจบ ก็ทำงานบริษัทหาประสบการณ์และเก็บเงิน พออายุ 25 ปี มีเงินเก็บ 7 หมื่นบาท ผมตัดสินใจเปิดบริษัทเลย
“ปีแรก บริษัทผมทำยอดขายได้ 120 ล้านบาท ความเป็นนักขายที่อยู่ในตัว ทำให้ผมต่อยอดธุรกิจไปเรื่อยๆ โดยอาศัยเงินกู้จากแบงก์ แต่แล้ววิกฤตก็มาอย่างที่ผมคาดไม่ถึง ปี 2554 กรุงเทพฯ น้ำท่วม สต๊อกสินค้าผมที่ดอนเมืองมูลค่า 30 ล้านบาทจมไปกับน้ำ เพราะขนออกมาไม่ทัน ยอมรับว่าผมประมาทด้วย ไม่คิดว่าน้ำจะท่วมรังสิต-ดอนเมือง ซึ่งเป็นที่ดอน ช่วงนั้นเศรษฐกิจแย่ไปหมด หนี้เสียที่เราปล่อยเครดิตไปทั่วประเทศ ก็เก็บไม่ได้ แต่เงินกู้แบงก์ก็ต้องจ่าย
“สุดท้ายแบงก์ก็ฟ้อง พอขึ้นศาล เจ้าหนี้กับผม เราถอยกันคนละก้าว ผมบอก ‘ผมไม่หนีหนี้นะ เพราะเพิ่งอายุ 30 ปี ยังมีแรง ยังมีสมอง แต่ขอตั้งหลักก่อน แล้วจะผ่อนให้ตามกำลังที่ผ่อนได้’ ส่วนทรัพย์สินที่มีอยู่ ก็ให้แบงก์ตีราคาหักกลบลบหนี้ไป ผมต้องยอมตัดใจเพื่อให้ชีวิตไปต่อได้”
ธรรมะบำบัดใจ…ธรรมชาติบำบัดกาย
“วันที่ผมตัดสินใจปิดบริษัท เป็นหนี้แบงก์หลายแห่งประมาณ 40 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยก็ 50 ล้านบาท จำได้ว่าเรียกลูกน้องประชุม เหลือเงินก้อนสุดท้ายก็แบ่งๆ ให้ทุกคนไปต่อชีวิตใหม่ และแยกย้ายกันกลับบ้าน ผมมีเงินเหลือติดตัวแสนเศษๆ กับรถยนต์โตโยต้าคัมรี่ 1 คัน
“ผมเฟลมาก คิดอย่างเดียวว่าอยากกลับไปหาแม่ ระหว่างขับรถกลับไปกาญจนบุรี ผมขับฝ่าไฟแดงหลายครั้ง เพราะไม่มีสติ กระทั่งรถสิบล้อเฉียดรถผมไปนิดเดียว ผมถึงได้สติขึ้น นั่นคือวินาทีที่ผมรอดจากความตาย ผมบอกตนเอง ‘นี่เรายังอยู่ เรายังมีชีวิตอยู่’ แล้วก็ตั้งใจขับรถกลับไปหาแม่”
กลับมาบ้าน คุณแม่ชวนเขาบวช
“การบวชครั้งนั้นพลิกชีวิตผม หลวงพ่อส่งผมไปอยู่สำนักสงฆ์ตรงชายแดนไทย-พม่า กันดารและสงบมาก ได้อยู่ใกล้กับคนที่สงบ คนที่ให้สติเราได้ และอยู่กับธรรมชาติ กลายเป็นได้ธรรมะและธรรมชาติช่วยบำบัดกายใจ
“พอผมเริ่มมีสติ พระอาจารย์ก็บอกว่า ‘ชีวิตเราไม่มีอะไร การดำรงอยู่ใช้แค่ปัจจัยสี่ เกิดมาก็ไม่มีอะไร สุดท้ายก็ไปแบบไม่มีอะไรติดตัวไป ทุกอย่างคือความว่างเปล่า’ ผมคิดตามก็เห็นจริงดังคำพระอาจารย์ ก่อนหน้านี้ เราเคยไม่มีอะไร แล้ววันนี้จะไม่มีอะไรอีกครั้ง ก็ไม่เห็นเป็นอะไร ชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ แต่ในคำว่า ‘ไม่มีอะไร’ ผมยังมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ เพราะความห่วงพ่อห่วงแม่และห่วงลูก ทำให้ผมสึกออกมาเพื่อมารับผิดชอบกับภาระหน้าที่เหล่านี้ เพราะไม่อยากให้คนข้างหลังต้องลำบากต่อ”
สร้างโอกาสล้างหนี้
คุณปกรณ์เลิกรากับภรรยาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ปิดบริษัท ส่วนบุตรชายคนเดียวของเขาอยู่กับคุณยายที่โคราช ช่วงที่เขาขับรถไปเยี่ยมลูกจะต้องผ่านวังน้ำเขียวและเคยแวะเที่ยวเสมอ สุดท้ายเขาตัดสินใจเช่าที่ดินที่นั่น 5 ไร่ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะ “จะได้อยู่ใกล้ลูกและได้ใกล้ชิดธรรมชาติบ้าง”
พื้นที่วังน้ำเขียวเป็นสายแร่ภูเขาไฟเก่า มีธาตุอาหารสะสมอยู่เยอะ โดยเฉพาะธาตุโพแทสเซียมที่สูงกว่าแหล่งอื่น พื้นที่รอบๆ ขนาบด้วยอุทยานทับลานและอุทยานเขาใหญ่ อยู่ในทำเลที่ลมทะเลหอบความชื้นเข้ามา มีความชื้นสัมพัทธ์สูง ทั้งยังเป็นแหล่งโอโซนติดอันดับโลก”
คุณปกรณ์แบ่งที่ดิน 5 ไร่ ทำสวนเกษตรอินทรีย์ ปลูกผักปลูกข้าว ช่วงแรกๆ เขายังขนผักในสวนที่เหลือกินใส่รถไปขายตามร้านอาหารแถวสุขุมวิทที่เน้นผักปลอดสารพิษ แต่ความที่เป็นคนมองหาโอกาสในชีวิตอยู่เสมอ เขาเห็นเกษตรกรแถวนั้นปลูกกาแฟ ก็รู้สึกสนใจ จึงได้ขึ้นเหนือไปกินไปนอนกับชาวอาข่าบนดอยช้างเพื่อศึกษาการปลูกและแปรรูปเมล็ดกาแฟ แล้วกลับมาดัดแปลงโรงวัวเก่าๆ ในพื้นที่ที่เขาเช่าอยู่ เปิดเป็นร้านกาแฟแฮนด์เมด ตั้งกระทะคั่วกาแฟบนเตาถ่าน ต้มเสิร์ฟด้วยหม้อ Moka Pot และเริ่มทำการตลาดด้วยการเปิดเพจในเฟซบุ๊กเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิต Farmer Style ของตนเอง เพื่อผู้ดึงคนให้แวะมาที่ร้านกาแฟโรงวัวของเขา และถ่ายรูปเพื่อแชร์ต่อๆ กันไป
“ทรัพยากรดินน้ำลมไฟในพื้นที่แถวนี้สมบูรณ์มาก ปลูกอะไรก็อร่อยครับ กาแฟของวังน้ำเขียวจึงสมบูรณ์และมีคาแรกเตอร์แตกต่างจากกาแฟทางเหนือและใต้ ที่สำคัญคือมีกาเฟอีนแค่ 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้เรื่องสุขภาพด้วย เราจะบ่มเมล็ดกาแฟอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้คายก๊าซคาร์บอน ก่อนนำมาคั่ว กาแฟผมจึงมีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น กาแฟที่ชงให้ลูกค้าดื่มปีนี้ เป็นของที่เก็บในฤดูหนาวปีที่แล้ว”
จากร้านกาแฟ ได้ขยายเปิดร้านอาหาร โฮมสเตย์ และมีโรงคั่วกาแฟที่คั่วกาแฟขายส่งทั่วประเทศและขายปลีกหน้าร้าน แต่ที่พลิกโอกาสและสร้างกำไรให้จนเขาปลดหนี้สินได้ คือการต่อยอดธุรกิจไปผลิตเครื่องสำอางจากเมล็ดกาแฟ!
จากกาแฟสู่เครื่องสำอาง
“จุดเริ่มต้นมาจากเพราะเราขายกาแฟไม่หมดครับ” คุณปกรณ์บอก เขาได้รับเลือกให้เป็นประธาน ‘กลุ่มผู้ปลูกกาแฟวังน้ำเขียว’ และเกษตรกรก็ฝากความหวังไว้กับประธานและโรงคั่วกาแฟเฉพาะกิจของเขาว่าจะช่วยเป็นตลาดให้ได้
“เกษตรกรวังน้ำเขียวผลิตกาแฟปีหนึ่งๆ สมัยนั้นได้ 20 ตัน เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็น 50 ตันครับ ชงขายวันละ 100-200 ถ้วย ยังไงก็ไม่ทันกับผลผลิตที่ได้ แล้วกาแฟที่เหลือจะทำยังไง จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากกว่านี้ยังไง ผมเคยเห็นคนเอากากกาแฟมาขัดตัว ก็เกิดความคิดว่า แล้วถ้านำกาแฟคั่วบดมากลั่นทำสครับขัดตัวล่ะ”
นั่นเป็นจุดเริ่มที่เขาคิดผลิตสบู่ขัดตัวจากเมล็ดกาแฟ ก่อนแตกไลน์สู่แชมพูสำหรับผมหงอกและผมร่วง ปัจจุบันมีกระทั่งแชมพูกาแฟสำหรับสุนัขและแมว
“กาแฟคั่ว 1 ห่อ ผู้ผลิตได้กำไร 30-40% แต่พอผมคิดต่าง นำมาทำเครื่องสำอาง กำไรโดดขึ้นไปถึง 300% เป็นมูลค่าเพิ่มที่พลิกชีวิตเรา จากกาแฟ 20 ตันที่เคยใช้ไม่หมด ผมต้องการเพิ่มเป็น 40 ตัน 60 ตัน และ 100 ตันครับ ซึ่งกาแฟที่ปลูกจากวังน้ำเขียวให้ผลผลิตได้ไม่ถึง 100 ตันต่อปี ผมเลยขึ้นไปหาวัตถุดิบเพิ่มจากกลุ่มเกษตรกรจังหวัดน่านและจากหมู่บ้านดอยช้าง เพราะที่นั่นเคยให้วิชาความรู้เรื่องกาแฟกับผม วันนี้ผมก็ได้กลับไปช่วยชุมชนเขา”
ความหมายของ ‘กำไรชีวิต’
“วันนี้ผมอายุ 40 ปี ระหว่างทางที่ผมสร้างธุรกิจกาแฟ ได้กำไรไปใช้หนี้และล้างหนี้ 50 ล้านบาทหมดไปเมื่อปี 2562 ผมทำงานคู่กับชุมชน เป็นการทำงานคู่ไปกับการให้และการแบ่งปัน และตรงนี้แหละคือความสุขและเป็นกำไรชีวิต ความสำเร็จของคนวัดกันไม่ได้ด้วยเงินหรือทรัพย์สิน แต่วัดกันที่ความพอว่า เราพอหรือเปล่า ผมพอ ผมมีความสุข ผมเลยรู้สึกว่าผมรวยแล้ว
“สมัยผมอายุ 25-26 ปี ผมตื่นเต้นกับทรัพย์สมบัติที่ผมมีมากเลยนะ และมีความโลภอยากจะมีอีก และต้องมีอีก เกิดความโลภ ความทะเยอทะยาน ความไม่รู้จักพอ สุดท้ายทุกอย่างก็กลายเป็น ‘หนี้’ และ ‘สูญ’
“ผมซื้อประสบการณ์ชีวิตด้วยเงิน 50 ล้าน และประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้เรารู้จักประมาณตนและไม่ประมาท ประมาณตนก็คือความหมายหนึ่งของคำว่า ‘พอเพียง’ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะโตไม่ได้ จะขยายธุรกิจไม่ได้ เรายังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เราต้องไม่ทำจนเกินตัว และมีความพอใจกับสิ่งที่ทำ”
วิกฤตครั้งใหม่
ปีถัดมาหลังจากเคลียร์หนี้สินจนหมด ก็เจอวิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้โอกาสที่จะส่งผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงที่จีนและอาเซียนต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย อีกทั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าก็ต้องชะลอออกไป
“มาเจอวิกฤตโควิด-19 ก็เฟล แล้วก็เฟล แต่ไม่รู้สิครับ พลังเราก็ยังมีอยู่ ผมกลับมองหาช่องว่างและโอกาสที่เราจะทำอะไรได้ในภาวะเช่นนี้ ผมมองบวกว่าโควิด-19 ทำให้ผมมีเวลาออกกำลังกาย นั่งสมาธิมากขึ้น ผมไม่ได้นั่งสมาธิเพื่อจะบรรลุ แต่เพื่อให้มีสติในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน
“เมื่อเราเป็นผู้นำ มีครอบครัวกลุ่มผู้ปลูกกาแฟวังน้ำเขียวอีกหลายครอบครัวอยู่ข้างหลัง ถ้าผมท้อแท้ อีก 100 ครอบครัวที่รอความหวังจากเรา เขาจะแย่กว่าเดิม ผมต้องแสดงพลังให้เขาเห็นและรู้ว่า มันมีโอกาสเสมอสำหรับเรา”
ระหว่างที่ต้องชะลอการขยายธุรกิจด้านส่งออก คุณปกรณ์ก็คิดจะปรับธุรกิจโฮมสเตย์ที่ทำอยู่ให้พรีเมียมยิ่งขึ้น จากเดิมที่เก็บค่าที่พักได้คืนละ 300 บาท จะปรับปรุงขึ้นให้รู้สึกว่าจ่าย 2,000 บาทก็ไม่แพง และนี่คือโจทย์ที่เขากำลังคิดและพัฒนา
เขาไม่เคยหยุดพัฒนาสิ่งต่างๆ รอบตัว และพยายามใช้ชีวิตให้บาลานซ์ขึ้นด้วยการรู้จักหยอดคำว่า ‘พอเพียง’ และ ‘พอใจ’ ลงไปในงานที่ทำ