About
ART+CULTURE X Bangkok

ตามรอยศิลปินชั้นครู ‘ดำรง วงศ์อุปราช’

ตามรอยศิลปินชั้นครู ‘ดำรง วงศ์อุปราช’ ผ่านผนังหลากสี กับนิทรรศการภาพ ที่หาชมยากและมีมากที่สุด

เรื่อง Nid Peacock Date 23-11-2021 | View 2757
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ครั้งแรกของนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานย้อนหลังของ ผศ.ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2542 ผู้ล่วงลับ โดยรวบรวมผลงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์ตลอดชีวิตไว้ถึง 70 ภาพ รวมถึงบทความทางวิชาการด้วย
  • ในนิทรรศการแบ่งผลงานของศิลปินเป็น 4 ช่วงเวลา ซึ่งชีวิตในแต่ละช่วงนั้นก็จะสร้างผลงานที่แตกต่างกันไป โดยในช่วงแรกเป็นการแสวงหาตัวตนช่วงที่เป็นนักศึกษาศิลปะในเมืองไทย ช่วงที่สองไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ผลงานจะสะท้อนการตระหนักรู้ที่หลากหลายขึ้น ช่วงที่สามเป็นช่วงสำคัญบนเส้นทางศิลปะของศิลปิน เพราะได้ค้นพบสมดุลของชีวิตขณะไปทำวิจัยด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่น และช่วงสุดท้าย ผลงานในช่วงนี้แสดงให้เห็นจิตใจที่สงบนิ่งและมีสมาธิของศิลปินได้เป็นอย่างดี เป็นช่วงที่มุ่งมั่นค้นหาจิตวิญญาณที่นิ่งสงบ
  • นอกจากได้เห็นผลงานศิลปะของศิลปินแล้ว ยังได้รู้ถึงประวัติและคุณูปการที่ได้ทำไว้ให้กับแวดวงศิลปะของไทย ตั้งแต่การเป็นผู้นิยามศัพท์คำว่าทัศนศิลป์ แทนคำว่า Visual Art การก่อตั้งภาควิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และการผลักดันให้มีการจัดแสดงงานศิลปะในหอศิลป์

หากคุณไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อ ‘ดำรง วงศ์อุปราช’ มาก่อน ... นิทรรศการนี้จะทำให้ได้รู้จักศิลปินมากฝีมือท่านนี้

ส่วนใครที่ชื่นชอบงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติท่านนี้อยู่แล้วล่ะก็... คุณจะเต็มอิ่มกับผลงานที่หาดูไม่ได้ง่ายๆ

ONCE กำลังหมายถึงนิทรรศการ “ดำรง วงศ์อุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต” ที่จัดแสดงอยู่ที่ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ ตรงข้าม MBK

นี่คือครั้งแรกของการจัดนิทรรศการจัดแสดงผลงานย้อนหลังของ ผศ.ดำรง ศิลปินผู้ล่วงลับที่มีการรวบรวมผลงานของท่านไว้ได้มากที่สุดถึง 70 ชิ้น ซึ่งโอกาสที่จะได้ชมเช่นนี้ บอกเลยว่า ยากมาก...จริงๆ

D 3

ศิษย์มีครู

จากไทม์ไลน์ประวัติของ ผศ. ดำรง วงศ์อุปราช ศิลปินไทยจาก จ.เชียงราย ท่านใช้เวลาค่อนชีวิตทุ่มเทให้กับงานศิลปะอย่างมืออาชีพ ทั้งการสร้างสรรค์ผลงานและการผลักดันแวดวงศิลปะบ้านเราให้ขับเคลื่อนและได้รับการพัฒนา สมกับเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยใช้ความรู้ความสามารถที่หลากหลายของตัวเอง ทั้งการเป็นศิลปิน อาจารย์ นักเขียน นักวิชาการด้านศิลปะ ภัณฑารักษ์ ผู้บริหารจัดการหอศิลป์ และนักอนุรักษ์ศิลปะให้เป็นประโยชน์

ย้อนกลับไปสมัยยังเป็นนักศึกษารั้วศิลปากร ชื่อดำรงเป็นที่จับตามองในหมู่คนศิลปะ หลังคว้ารางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง (จิตรกรรม) จากผลงาน “หมู่บ้านชาวประมง” ตอนอายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

D 7

D 1

หลังจบปริญญาตรีก็ได้รับทุนจากบริติช เคานซิล ไปเรียนที่สถาบันสเลด สคูล ออฟ ไฟน์ อาร์ต ประเทศอังกฤษ แล้วไปต่อปริญญาโทสาขาวิจิตรศิลป์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐฯ ด้วยทุนจอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ที่ 3 และด้วยความสามารถทำให้ผศ.ดำรงเรียนจบเร็วกว่าที่หลักสูตรกำหนด จึงไปศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียต่อ ซึ่งการไปศึกษาด้านศิลปะในต่างประเทศไม่ได้ทำให้ความเป็นตะวันตกมีอิทธิพลในผลงานของท่านเลย ตรงกันข้าม ผศ.ดำรงได้เรียนรู้แนวคิดการผสมผสานศิลปะสากลกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยเข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว โดยที่ยังคงรักษาความเป็น ‘ดำรง’ เอาไว้ในผลงานตัวเอง

D 9

ทว่า การมีโอกาสเห็นและสัมผัสบรรยากาศของแวดวงศิลปะในต่างแดน ทั้งจากการไปศึกษาและการไปค้นคว้าวิจัยงานศิลปะ คือแรงพลังสำคัญให้ท่านมุ่งมั่นตั้งใจสร้างรากฐานให้วงการศิลปะของไทย ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งภาควิชาทัศนศิลป์ (คำที่ท่านเป็นผู้นิยามขึ้นมาแทนศัพท์ Visual Art) คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร การผลักดันให้มีการจัดแสดงงานศิลปะในหอศิลป์ต่างๆ รวมถึงการเขียนบทความวิจารณ์งานศิลปะ

D 14

จึงถือได้ว่าเป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับแวดวงศิลปะของไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ ผศ.ดำรงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี 2542

D 10

D 15

บันทึกการเดินทางของชีวิต

ผศ. ดร. วิชญ มุกดามณีและคุณอดุลญา ฮุนตระกูล สองภัณฑารักษ์ผู้ดูแลนิทรรศการนี้ได้ช่วยกันหาจุดสมดุลในการนำเสนอผลงานย้อนหลังของ ผศ.ดำรงให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจง่าย ด้วยการแบ่งการจัดแสดงผลงานออกเป็น 4 ช่วงเวลาสำคัญ โดยมีทีมดีไซเนอร์ได้นำพลังของโทนสีมาใช้กับผนังห้องให้ต่างสีกันในแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำพาผู้ชมให้มีความรู้สึกร่วมไปอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินในขณะที่สร้างสรรค์ผลงานช่วงนั้นๆ ได้ดียิ่งขึ้น

17

ช่วงแรก ผนังสีเหลือง : การแสวงหาตัวตนท่ามกลางกระแสศิลปะไทยสมัยใหม่ เป็นช่วงที่ ผศ.ดำรงยังเป็นนักศึกษาที่โรงเรียนเพาะช่างและมาศึกษาต่อด้านศิลปะที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นยุคที่ศิลปะตะวันตกจากต่างประเทศไหลบ่าเข้ามาในเมืองไทย ผลงานของท่านในช่วงนี้ เช่น หมู่บ้านชาวประมง (พ.ศ.2503)

D 12

ช่วงที่สอง ผนังสีเทาเข้ม : การตระหนักรู้ในความหลากหลาย เป็นช่วงที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศต่อเนื่องถึงช่วงที่กลับมาเมืองไทย แล้วได้ทำงานหลายอย่างด้านศิลปะ ผลงานช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ท่านทดลองทำเพื่อค้นหาความเป็นตัวเอง จากรูปนามธรรมสังเคราะห์ได้พัฒนาสู่การวาดภาพชนบทและทุ่งนา ด้วยการลดทอนรายละเอียด เหลือเพียงรูปทรงเรขาคณิตในบรรยากาศของสีสันเรียบง่าย ดังเช่นในผลงาน ทุ่งนา นครปฐม (พ.ศ.2514)

D 16

ช่วงที่สาม ผนังสีเขียว : ชีวิตแห่งสมดุล ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญบนเส้นทางศิลปะของ ผศ.ดำรง เพราะเป็นการคั่นและเปลี่ยนวิถีการสร้างผลงานศิลปะของตัวเอง ด้วยการใช้เทคนิคใหม่ อย่างการใช้ปากกาลูกลื่น ปากกาเมจิก และสีน้ำ ผ่านลายเส้นที่ละเอียดที่ต้องอาศัยสมาธิมาก เป็นผลงานช่วงที่ท่านได้รับทุนไปทำวิจัยและค้นคว้างานศิลปะและวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่น ซึ่งโทนสีเขียวของผนังช่วยให้รู้สึกสงบนิ่งตามวิถีชีวิตมนุษย์ที่อิงกับธรรมชาติ ผลงานในช่วงนี้ เช่น วัดอิเซ่ (พ.ศ.2519) ฤดูใบไม้ร่วง (พ.ศ.2520)

D 13

ช่วงที่สี่ ผนังสีน้ำเงิน : ความมุ่งมั่นค้นหาจิตวิญญาณอันนิ่งสงบ เป็นผลงานในช่วงหลังของ ผศ.ดำรงที่เป็นการตกผลึกประสบการณ์อันหลากหลาย แล้วหลอมรวมกลายเป็นความสงบและสมถะตามนิสัยของท่าน สื่อผ่านภาพวาดทิวทัศน์ในชนบทอันกว้างใหญ่นับร้อยชิ้นที่ท่านเพียรวาดซ้ำๆ อยู่นานถึง 20 ปี หากจะตีความทุกลายเส้นที่ปรากฏบนภาพคล้ายกับการฝึกฝนจิตใจตัวเองให้มีความสงบนิ่ง ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

D 5

ทำไม…ต้องชมนิทรรศการนี้

นับถึงปัจจุบัน ผศ.ดำรง จากไปกว่า 20 ปีแล้ว นั่นหมายความว่า การจะได้ชมผลงานของท่านไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยผลงานเหล่านั้นอาจอยู่ในความครอบครองของเหล่านักสะสม องค์กร และครอบครัว ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางพิพิธภัณฑ์ของสะสม ณรงค์ วลีพร อิงค์ธเนศ (มอนวิค) นักสะสมที่น่าจะมีผลงานของ ผศ.ดำรง เก็บรักษาไว้มากที่สุดแล้ว ยินดีและอนุญาตให้นำผลงานของท่านมาจัดแสดง

นิทรรศการนี้ไม่เพียงจัดแสดงผลงานศิลปะในแต่ละช่วงชีวิตของ ผศ.ดำรง ยังมีผลงานของท่านในศิลปะแขนงอื่นๆ ให้ชมด้วย ที่สำคัญสำหรับใครที่ไม่รู้จักท่าน วิดีทัศน์สัมภาษณ์บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิต ผศ.ดำรง ทั้งเพื่อนเรียน เพื่อนร่วมงาน ทายาท และนักสะสม คำบอกเล่าจากท่านเหล่านี้จะช่วยให้รู้จักผู้ที่เกิดมาเพื่อศิลปะโดยแท้คนนี้ได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนิทรรศการนี้ เช่น หลักการเขียนภาพทิวทัศน์สำหรับเด็ก การเก็บความทรงจำผ่านภาพสเก็ตช์ และการพูดคุยกับศิลปินที่เป็นเพื่อนและลูกศิษย์ของ ผศ.ดำรงในหัวข้อ ความเป็นจริงในผลงานจิตรกรรมของดำรง วงศ์อุปราช ที่สามารถติดตามได้ทาง facebook.com/baccpage หรือชมย้อนหลังได้ทาง You Tube : bacc channel

D 8

คนใกล้ชิดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หาก ผศ.ดำรงยังอยู่ คงจะได้สร้างประโยชน์ให้กับแวดวงศิลปะของไทยได้อีกมาก ทว่า 67 ปีของชีวิตที่มีศรัทธาอันเต็มเปี่ยมในงานศิลปะ และทุ่มเทแรงกายใจทั้งชีวิตให้กับการพัฒนาแวดวงศิลปะนั้น น่าจะช่วยเติมไฟฝันและเป็นแบบอย่างให้ผู้ที่สนใจในงานศิลปะได้มุ่งมั่นกับฝันของตัวเองต่อไป หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่ได้ชมนิทรรศการนี้ก็น่าจะได้รับแรงบันดาลใจที่ดีกลับไป

เพราะ “ผศ.ดำรง วงศ์อุปราช” คือแบบอย่างของผู้ที่ไม่เคยทิ้งฝันของตัวเองอย่างแท้จริง

นิทรรศการ “ดำรง วงศ์อุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต”
จัดแสดงวันนี้-5 ธันวาคม 2564
ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
รับชม Online Exhibition ผ่าน Google Arts and Culture ทาง https://artsandculture.google.com/story/swXRdMYjRpbSKg
หรือรับชม VR Tour : https://bit.ly/3z9qlkY

Tags: