The Truth and Demian
ตี๋-ณัฐธวัช Demian Factory กับศิลปะคิวบิสม์ที่ยืนหยัดแนวคิดเพื่อท้าทายความจริง
- ตี๋-ณัฐธวัช พันธุ์สอิ้ง ศิลปินคิวบิสม์ เจ้าของสตูดิโอ Demian Factory กับแนวคิดศิลปะคิวบิสม์ ศิลปะที่ท้าทายความจริงซึ่งเขาบอกว่าเหมือนกับการดึงจิตวิญญาณของคนดูให้เข้าไปค้นหาและเรียนรู้
ราวบ่ายสอง กูเกิลแม็ปนำทางมาถึงหน้าบ้านหลังหนึ่งตามจุดหมายได้ทันเวลา เรานัดเจอกับ ตี๋-ณัฐธวัช ศิลปินคิวบิสม์รุ่นใหม่ที่หาตัวจับยาก เขามีสตูดิโอของตัวเองชื่อ ‘Demian Factory’ เป็นอาณาจักรข้างบ้านไว้สำหรับวาดรูป งานศิลปะที่เขารัก
ตี๋เป็นศิลปินคิวบิสม์ เพราะศิลปะคิวบิสม์สำหรับตี๋ราวกับมีเวทมนตร์ให้สัมผัสถึงพลังของชิ้นงานนั้นได้ไม่เคยเบื่อ ตี๋เริ่มต้นวาดรูปคิวบิสม์ช่วงปลายปี 2017 ด้วยการวาดสิ่งรอบตัวที่เขาสนใจหรือประทับใจ ตั้งแต่บุคคลใกล้ตัว นักดนตรีที่ชื่นชอบ วรรณกรรมทั้งไทยและเทศ ไม่ก็ตำนานความเชื่อต่างๆ ตั้งแต่พุทธประวัติไปจนถึงเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิลอย่างอย่างอดัมกับอีฟ
ตี๋นำแนวความคิดของงานศิลปะคิวบิสม์มาประยุกต์ใช้เพื่อตีความสิ่งต่างๆ ในโลกของเขา โดยได้แรงบันดาลใจจากคนรักที่ชื่อลินิน ขวดไวน์ที่ชอบ และแมวลีอองที่ราวกับเป็นสมาชิกในครอบครัว ทั้งหมดต่างช่วยเป็นแรงพยุงให้ตี๋ในระหว่างทางของการทำงานศิลปะทุกครั้ง
ก่อนนั่งลงคุยกัน ตี๋เดินเงียบๆ เข้าไปในครัวแล้วออกมาพร้อมกับชาเอิร์ลเกรย์โซดาที่ชิมแล้วรสชาติเข้ากันเหลือเชื่อ เมื่อทุกอย่างพร้อม แอปพลิเคชันอัดเสียงจึงเริ่มทำงาน
ศิลปะคิวบิสม์มีความหมายกับตี๋ยังไง
ตอนแรกผมเริ่มจากศึกษางานศิลปะโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ (ศิลปะสมัยใหม่) และศิลปะเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (ศิลปะที่เน้นอารมณ์ของผู้ถ่ายทอด) ไม่ว่าจะเป็นปอล เซซานน์, ปอล โกแกง, เอ็ดเวิร์ด มุงค์ หรือแวนโกะห์ แต่พอผมวาดไปหลายปีไอเดียเริ่มตัน ผมเลยมองหางานศิลปะที่ต่อยอดแนวคิดของงานตัวเองต่อไปได้ จนเริ่มหันมาสนใจศิลปะคิวบิสม์
ช่วยขยายความหน่อย
เอาจริงแนวคิดของคิวบิสม์จะกว้าง เน้นความเป็นสากลและความเป็นอิสระ จิตรกรที่วาดคิวบิสม์จะพยายามสร้างภาษาภาพขึ้นใหม่เพื่อนำคนดูไปสู่ความจริงที่นอกเหนือจากการมองชิ้นงานนั้นๆ ในเชิงมโนทัศน์หรือเชิงคอนเซปต์ แนวคิดของคิวบิสม์ส่งอิทธิพลต่อจิตรกรรุ่นหลังมากมาย อย่างเช่น คาซิเมียร์ มาเลวิสต์ (Kazimir Malevich) ผู้บุกเบิกศิลปะลัทธิอนุตรนิยมหรือสุปรีมาติสม์ (Suprematism) และยังส่งอิทธิพลต่อวงการศิลปะสมัยใหม่ เช่น ฟิวเจอริสม์ (Futurism) ดาดา (Dadaism) เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) รวมถึงเบาเฮาส์ (ฺBauhaus) หรือศิลปะนามธรรมเชิงเรขาคณิต (Geometric Abstract Art) ซึ่งคิวบิสม์ไม่เพียงแค่ส่งอิทธิพลต่องานจิตรกรรมหรือประติมากรรมเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงงานสถาปัตยกรรม งานออกแบบ รวมถึงนักดนตรีและกวี ผมเลยคิดว่าน่าสนใจที่จะนำแนวความคิดมาต่อยอดกับงานตัวเองต่อไปได้
เริ่มวาดคิวบิสม์จริงจังตอนไหน
ตอนแรกผมทดลองวาดคิวบิสม์ในช่วงปลายปี 2017 ด้วยความเป็นคนชอบทดลองก็เลยไม่ค่อยพอใจกับการวาดเท่าไร เพราะเราไม่เข้าใจวิธีคิด เพราะจุดมุ่งหมายของผมคือการสร้างสรรค์งานภายใต้แนวคิดคิวบิสม์โดยนำมาประยุกต์งานที่มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง แต่ถ้าจะทำแบบนั้นได้ผมต้องเข้าใจวิธีคิดของมัน จนช่วงปี 2018 ก็เริ่มศึกษางานยุคแรกๆ โดยเฉพาะงานยุคคิวบิสม์วิเคราะห์ (Analytical Cubism)
คิวบิสม์วิเคราะห์คือ
เป็นงานที่อยู่ในยุคที่สองของศิลปะคิวบิสม์ ซึ่งยุคเริ่มต้นมาจากศิลปะจากประเทศแอฟริกา เป็นศิลปะที่มีการบิดเบือนสัดส่วน เป็นภาพวาดที่แสดงถึงวิธีการวาดพื้นผิวแบนราบ ซึ่งการวิเคราะห์งานก็จะลึกขึ้น ต้องแยกแยะองค์ประกอบภาพแล้ววิเคราะห์สิ่งที่จะวาดออกมาเป็นแง่มุมต่างๆ การวิเคราะห์คิวบิสม์เลยส่งผลต่อการถอนรากถอนโคนเกี่ยวกับความเชื่อ สุนทรียภาพ ความงามทางศิลปะในแถบยุโรป หลักๆ จะเห็นว่าภาพวาดคือความเสมือนจริง แต่คิวบิสม์ไม่ใช่ภาพวาดเสมือนจริง
แล้วเป็นยังไง?
จะมองเป็นงานกวนตีนก็ได้ หนึ่ง สมมติว่าศิลปินวาดภาพแก้ว 1 ใบ เขาก็อาจจะวาดจากมุมมองที่เห็นแค่มุมมองด้านเดียว แต่คิวบิสม์วิเคราะห์จะทำแบบนั้นไม่ได้ แต่อาจแสดงให้เห็นเป็นรูปวงกลม เห็นเป็นเหลี่ยมมุมต่างๆ แทรกเข้ามา
สอง คิวบิสม์วิเคราะห์เป็นการบิดเบือนสัดส่วน แต่ก่อนศิลปะทางยุโรปอาจจะมีความเชื่อกันว่าต้องสมบูรณ์แบบ ต้องสมจริง แต่จริงๆ แล้วคิวบิสม์คือการบิดเบือนสัดส่วนของวัตถุที่เห็น มันเลยท้าทายความเชื่อ ความจริง และความงามเกี่ยวกับภาพวาด
คิดคอนเซปต์ในการวาดภาพยังไง
อยู่ที่ว่าตอนนั้นผมสนใจอะไรอยู่ ถ้าผมสนใจลินิน (แฟน) กับไวน์ ผมก็วาด สนใจเรื่องราวในหนังสือ ผมก็วาด คอนเซปต์ของผมไม่ได้ยากอะไร แค่วาดสิ่งที่สนใจ ส่วนรูปแบบการแสดงออกของชิ้นงานขึ้นอยู่กับว่าตอนนั้นผมศึกษาเรื่องอะไรอยู่ อย่างที่บอกว่าผมสนใจเรื่องคิวบิสม์วิเคราะห์และวาดมานาน คิดว่าตัวเองก็เข้าใจในระดับนึง เริ่มเอาแนวคิดอื่นมาต่อยอด งานผมเลยคลี่คลายไปเรื่อยๆ
เห็นตี๋ชอบอ่านงานเขียนของแดนอรัญ แสงทอง เอาแนวคิดจากงานเขียนมาวาดภาพด้วยหรือเปล่า
ผมรู้จักเขาจากหนังสือคนโซ (Hunger) เขาเป็นคนแปลหนังสือของนักเขียนชื่อ คนุต แฮมซุน (Knut Hamsun) ตอนนั้นผมอยู่ในช่วงที่ลำบาก ขายภาพไม่ได้เลย แต่มีหนังสือของเขาเป็นแรงบันดาลใจ
มีเล่มไหนของแดนอรัญที่ชอบอีกไหม
เจ้าการะเกด แล้วมาวาดเป็นรูปเสือขาเป๋ที่อยู่ในเรื่อง ก่อนหน้านั้นผมก็วาดคิวบิสม์วิเคราะห์ที่มาจากเสืออีกภาพนึง แต่จะเป็นเสือคนละตัวกัน อันนั้นเป็นภาพตัวแทนของเสือ แต่นี่เป็นเสือที่ผมเจาะจงว่าได้แนวคิดมาจากหนังสือเล่มนี้นะ
มองคุณค่างานศิลปะคิวบิสม์ยังไงบ้าง
(นิ่งคิด) ผมชอบที่มันมีพลังงานดึงดูดอารมณ์หรือความรู้สึกผม ต่อให้งานคิวบิสม์จะต้องตัดอารมณ์ออกไปแล้วใช้เหตุผลมาแทนที่ มันก็ดึงดูดผมอยู่ดี ผมเคยคิดเรื่องนี้เหมือนกัน บางทีมันอาจเรียกว่าจิตวิญญาณด้วยหรือเปล่าที่มองเห็นผ่านภาพได้ ศิลปินไทยก็ทำได้หลายคน ที่ผมชอบคือ ทวี นันทขว้าง, สมโภชน์ อุปอินทร์, อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ผมคิดว่างานที่ดึงดูดหรือมีความเชื่อมโยงกับมัน ผมจะเห็นจิตวิญญาณบางอย่างของงานที่อยู่ในนั้น
ตอนไปดูงานของปิกัสโซได้นำแนวคิดเขามาทดลองงานใหม่ๆ บ้างไหม
ให้เครดิตคอลเล็กเตอร์คนนึงที่เขาชอบงานผมมาก เขาส่งผมไปดูงานของปิกัสโซ อยากให้ผมไปเห็น ไปเรียนรู้ พอไปเดินดูจริงๆ ก็จะรู้สึกว่าภาพของปิกัสโซจะกวนๆ หน่อย งานของเขาจะมีความยั่วยุ ตั้งคำถาม มันปะทะรุนแรงมาก ผมลองเวียนตามมิวเซียมหลายๆ ที่ ซึ่งปิกัสโซมิวเซียมเป็นที่แรกที่ผมไปเวียนซ้ำหลายรอบ แต่งานคิวบิสม์ส่วนมากจะอยู่ที่ MoMA Museum ที่นิวยอร์ก คอลเล็กเตอร์ของอเมริกาจะไปซื้อภาพที่นั่นเยอะ ซึ่งอัลเฟรด เอช. บาร์ จูเนียร์ ผู้อำนวยการคนแรกของ MoMA พยายามจะเอางานของคิวบิสม์ให้คนอเมริกาได้เข้าใจศิลปะคิวบิสม์ได้ชัด
เล่าตอนที่ได้รับรางวัลศิลปกรรมนานาชาติให้ฟังหน่อย
ตอนนั้นแข่งที่มหิดล มีเพื่อนมาบอกว่ามีงานศิลปกรรมนานาชาติ เราช็อตเงินอยู่พอดีก็เลยลองส่งงานไปดู จำได้ว่าวาดแค่วันเดียวแล้วรอให้สีหมาด ใช้วิธีผสมสีน้ำมันก็ช่วยให้งานแห้งไวไปด้วย น่าจะส่งเป็นคนท้ายๆ แล้วได้รางวัลเลย
หลังจากได้รางวัลแล้วไปจัดแสดงงานที่ไหนอีกไหม
เปล่าครับ ผมได้เงินมาไม่เยอะ เอามาเช่าบ้าน เพราะก่อนหน้านั้นไปอาศัยบ้านคนรู้จักอยู่ ตอนมีเงินก็เริ่มฮึกเหิม เช่าบ้านด้วยแล้ววาดภาพขายไปด้วย แต่ก็แม่งขายไม่ได้เลย (หัวเราะ) นานๆ ทีถึงจะขายได้บ้าง
ทุกวันนี้ตี๋วาดภาพแนวคิวบิสม์เซอร์เรียลลิสม์ใช่ไหม
ผมยังสร้างงานภายใต้แนวคิดคิวบิสม์อยู่ดี เอาจริงๆ ผมทำงานอย่างนี้มาตั้งแต่ขายไม่ได้เลย ไม่มีใครเห็นหรือเคยมีคนหัวเราะด้วยซ้ำ เต็มที่ก็เคยมีคนมาโวย ผมยังทำตลอดอย่างที่ทำทุกวันนี้ แต่ถ้าจะให้บอกว่าวาดเพื่อขายคอลเล็กเตอร์ก็จะดูตลก เราก็แค่วาดในสิ่งที่เราวาด
ต่อให้คนจะซื้อหรือไม่ ก็จะวาดต่อไป?
มันก็ต้องอย่างนั้นอยู่แล้ว ผมเคยดูคลิปของแดนอรัญ แสงทอง เหมือนเขาเคยพูดว่า ถ้าเป็นศิลปินจะกลัวจนทำห่าอะไร (หัวเราะ) มันก็ไม่ควรจะกลัว เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ก็บอกไว้ว่า สิ่งที่ศิลปินจะต้องเจออยู่แล้วคือความโดดเดี่ยว หรือความยากจน หรือการอยู่คนเดียวโดยที่ไม่เป็นบ้าไปซะก่อน
ตี๋ทำงานศิลปะเพื่ออะไร
ผมแค่ชอบวาดรูป แต่บางคนบอกว่าศิลปะสร้างสิ่งที่คอนเน็กกับผู้คน หรือมีไว้สำหรับรับใช้อะไรอย่างหนึ่งเสมอ ทั้งรับใช้ศาสนา รับใช้การเมือง รับใช้สังคม ถ้าเกิดไม่นับว่าเป็นงาน สำหรับผมน่าจะรับใช้ความพอใจของตัวเอง ซึ่งท้ายที่สุดก็วาดตามความพอใจตัวเองอยู่ดี
ก็ดีนะ…ทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุข
พอวาดรูปแล้วแฮปปี้ครับ ต่อให้สถานการณ์จะย่ำแย่แค่ไหน แต่พอวาดรูปแล้วรู้สึกว่ายังมีชีวิตต่อไปได้อยู่