About
ART+CULTURE

Legacy Reborn

บทสนทนาถึงพ่อ : เมื่อลูกๆ สานต่องาน ‘ท่านกูฏ’ บูรณะรักษาจิตวิญญาณให้คงอยู่สืบไป

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับทายาทของ “ท่านกูฏ” ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ในวันที่ได้มารวมตัวกันเพื่อบูรณะงานเก่าอายุกว่า 50 ปีของคุณพ่อ ณ โรงแรมดุสิตธานี ย้อนถึงความทรงจำดีๆ ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน คำสอนและอิทธิพลต่างๆ ก็ไม่เคยหายไปจากความคิดและความทรงจำของลูกทุกคน

บ่ายวันหนึ่งผมเดินทางไปยังโรงแรมดุสิตธานี เพื่อชมการซ่อมผลงานเสาโบราณที่ตกแต่งด้วยจิตรกรรมลายไทยโดยศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับของประเทศไทยอย่าง ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หรือที่หลายคนอาจรู้จักในชื่อ “ท่านกูฏ” ที่ได้สร้างสรรค์งานบนเสาโบราณของอาคารเก่าในโรงแรมดุสิตธานีไว้ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน

เวลาผ่านไป งานเก่าของท่านกูฏเริ่มเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ทำให้เกิดการบูรณะขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการซ่อมแซมมาแล้ว แต่ยังไม่เหมือนกับผลงานที่ท่านกูฏได้ทำไว้แบบ 100% ซึ่งคราวนี้ได้ทายาทท่านกูฏมาคุมงานและลงมือเอง ในการฟื้นคืนชีพผลงานให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง

โปรเจกต์ใหญ่นี้ทำให้ผมได้รู้จัก 3 ศิลปินทายาทของท่านกูฏ ได้แก่ ภาพตะวัน - กาพย์แก้ว - นาคนิมิตร ลูกคนที่ 2 - 4 - 5 ตามลำดับ ทั้งสามทำงานด้านจิตรกรรมไทยมายาวนาน รวมไปถึง กุศลมงคล ลูกคนที่ 3 ที่แม้ไม่ได้เป็นศิลปิน แต่ก็เป็นผู้ดูแลโครงการฟื้นฟูผลงานของท่านกูฏในหลายสถานที่ ทั้งหมดมารวมตัวกันเพื่อทำงานของคุณพ่อให้กลับมามีชีวิตเหมือนที่ท่านได้สร้างไว้

เรามีโอกาสพูดคุยกับทั้ง 4 ท่าน เพื่อพูดถึงมุมมองในวันที่ได้ลงมือทำงานเก่าของคุณพ่ออีกครั้ง…แม้การพูดคุยครั้งนี้ผ่านมาสักพักแล้ว แต่เราอยากบันทึกบทสนทนาเหล่านี้ไว้เป็น archive แห่งประวัติศาสตร์ กลับมาอ่านได้เรื่อยๆ

ท่านกูฏ

Q: พูดถึงโอกาสที่ได้มารวมตัวทำงานเก่าของคุณพ่อในครั้งนี้หน่อย เริ่มต้นมายังไง?

นาคนิมิตร: พอดีตั้งแต่ได้ข่าวว่าดุสิตธานีจะทุบตึกเก่า น้องที่สนิทกันที่ทำงานอยู่ที่นี่บอกว่ามีงานของคุณพ่ออยู่ เรามาคุยกันว่าจะดูแลงานของคุณพ่อยังไง ก็เป็นที่มาที่ไปว่า เราจะทำโครงการบูรณะ ผ่านกระบวนการต่างๆ หลังจากนั้นจะนำเสากลับมาตั้งที่โรงแรมใหม่อีกครั้ง

เราตีกรอบงานในเชิงอนุรักษ์ เพราะว่าคุณพ่อบุกเบิกงานจิตรกรรมไทยสัก 50-60 ปีที่แล้ว เราเห็นคุณค่าของตัวงานที่ต้องอนุรักษ์ไว้ เพราะฉะนั้นต้องคงคุณค่าเดิมที่คุณพ่อเคยทำไว้

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

Q: มีไอเดียฟื้นฟูผลงานเก่าของคุณพ่อยังไง?

นาคนิมิตร: คุยกันในหมู่พี่น้อง แชร์ความทรงจำในวัยเด็ก ดูภาพต่างๆ ที่เก็บไว้ เพราะก่อนหน้านี้ ทางโรงแรมเคยซ่อมไปเหมือนกัน

กาพย์แก้ว: อันดับแรก ต้องค้นดูว่า คุณพ่อทำงานแบบไหน วาดลวดลายอะไร ใช้สีอะไร เพราะมีส่วนงานที่เปลี่ยนแปลงไป เราพยายามลอกสีออกมาทีละชั้น ได้เห็นส่วนที่เปลี่ยนไป ก็พยายามทำให้กลับมาเหมือนเดิมมากที่สุด

ภาพตะวัน: พอมีลวดลายกับสีที่ผิดเพี้ยน เราต้องคัดลอกลายเดิมเพื่อให้คุณค่าของงานกลับมาเหมือนเดิม ตอนลอกสีออกมา ก็พยายามเก็บลายโดยละเอียดว่า เราเห็นอะไรบ้าง ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้พบชั้นเชิงวิธีการการทํางานของคุณพ่อ เป็นเหมือนการรําลึกถึงกลวิธีของท่าน และเป็นการเรียนรู้อีกจุดหนึ่ง

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

Q: การทำงานเก่าของคุณพ่อที่เคยทำไว้ ในฐานะศิลปินถือว่ายากหรือง่าย?

นาคนิมิตร: เรื่องยากง่ายเราไม่ได้เป็นห่วงในกระบวนการ เพราะพวกเราเข้าใจวิธีการทำงานของคุณพ่อ แต่ความยากอยู่ที่จะทำยังไงให้งานใหม่ที่เราทำกลมกลืนกับงานในอดีต ให้คุณค่ายังคงอยู่เหมือนกับวันแรก เราต้องรักษาไว้ไม่ให้ดูโดดออกจากกัน ไม่ให้ดูเป็นคนละชิ้นกัน

ภาพตะวัน: ตอนที่คุณพ่อยังอยู่ เราได้เห็นการทำงานของท่าน พอคุณพ่อเสียชีวิตไป เราก็ยังทำงานอยู่ ทำให้เรื่องกรรมวิธีในการทำงานนั้นติดตัวเรามาตลอด ความยากอยู่ที่ว่า เราจะทำไปถึงจุดไหน จะทำเยอะเกินไปหรือน้อยไปหรือเปล่า แต่เราพูดคุยกัน และยังทำงานอยู่ เพราะฉะนั้น มองว่าเราหาขีดจำกัดของงานได้ไม่ยาก

นาคนิมิตร: อีกมุมหนึ่งคือด้วยความที่งานอยู่ที่โรงแรม คนอาจมองเป็นงานตกแต่งได้ เราพยายามแยกออกมาว่า นี่คือการอนุรักษ์ไม่ใช่งานตกแต่ง เราไม่ได้ทำเพราะอยากให้ดูเหมือนใหม่ หรือเป็นของสวยงาม แต่พยายามรักษาความดั้งเดิมเอาไว้ เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

ท่านกูฏ

Q: ในมุมมองของลูกท่านกูฏ การรักษางานของคุณพ่อมีความสำคัญ?

นาคนิมิตร: งานของท่านกูฏอยู่ในช่วงเวลาของจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการที่พางานจิตรกรรมไทยเข้าสู่งานจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ถ้าดูงานท่านกูฏหลายงานก็จะเห็นบรรทัดฐานของท่าน

พอเราเข้ามาทำตรงนี้ จะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่เห็นและได้ศึกษางานจากปี 2510

กาพย์แก้ว: คุณพ่อบุกเบิกงานจิตรกรรมไทยดั้งเดิม เพราะว่าสมัยก่อนงานจิตรกรรมพวกนี้อยู่แต่ในวัด แต่คุณพ่อพางานจิตรกรรมไทยมาอยู่ที่โรงแรมเป็นครั้งแรกที่ดุสิตธานี

นาคนิมิตร: รากเหง้าของจิตรกรรมไทยคือเรื่องของศาสนา คุณพ่อก็มาบุกเบิกพางานจิตรกรรมไทยออกจากวัด เล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา จุดนี้ถือว่ามีวิวัฒนาการขึ้นมาระดับหนึ่ง ในเรื่องของโทนสี คอมโพสิชันต่างๆ ท่านกูฏก็ทำขึ้นมาใหม่

ถ้ามองแบบผิวเผิน งานของท่านกูฏเหมือนจิตรกรรมไทยที่เราคุ้นเคย แต่จริงๆ มันคือความใหม่ที่ไม่ได้ถอดรากเหง้าออกเลย อันนี้ถือว่าฉลาดมากนะ

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

Q: งานของท่านกูฏมีลายเซ็นหรืออะไรที่โดดเด่นบ้าง?

นาคนิมิตร: จริงๆ งานของคุณพ่อทันสมัยมากนะ ถ้าดูโทนสีที่คุณพ่อใช้ จะเป็นสีที่มีดีไซน์สวยมาก ตรงนี้เป็นจุดเด่นของท่านกูฏ

คุณพ่อมีความเป็น Expressionist ด้วยนะ ท่านเป็นคนใช้สีสนุกมาก

กาพย์แก้ว: งานของคุณพ่อจะใช้สีสมัยใหม่เข้ามาในงาน แล้วสร้างสรรค์เป็นลายไทย แต่ยังคงอยู่ในโครงของบรรพบุรุษตั้งแต่รุ่นโบราณ แต่การเล่นสีของคุณพ่อถือว่าดีและลงตัวเลย

แต่เดิมเราเห็นว่างานจิตรกรรมไทยจะใช้สีเขียว ดำ แดง แต่คุณพ่อนำสีเหลืองถึงสีม่วงมาใช้

กุศลมงคล: ท่านกูฏพื้นเพเดิมมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งคุณย่าของพวกเราเก่งเรื่องการทอผ้า เพราะฉะนั้นในแง่ของศิลปะ ท่านกูฏได้ความรู้เกี่ยวกับการผสมสีจากธรรมชาติมาจากคุณย่า และมีความรู้เรื่องการสร้างลาย เหมือนกับผ้าไหมจากภาคอีสาน

ท่านกูฏไม่ได้มีความรู้แค่จากงานโบราณของคนไทยเพียงอย่างเดียว แต่ท่านกูฏมีความรู้การใช้สีจากอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ในฐานะศิษย์มหาวิทยาลัยศิลปากร) ทำให้ท่านมีความรู้เรื่องสีแบบร่วมสมัยด้วย ตรงนี้ถือว่าเป็นลายเซ็นของท่านกูฏ

นาคนิมิตร: งานของท่านกูฏมีความสมดุลกลมกลืนมากนะครับ การใช้สีสมัยใหม่ก็เหมือนการก้าวกระโดดจากงานจิตรกรรมไทยประเพณีสู่งานจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ซึ่งเป็นรากฐานของกิจกรรมไทยร่วมสมัยในปัจจุบันนี้

ภาพตะวัน: ที่ทุกคนพูดไปคือจุดเด่นของพ่อ ทีนี้มีอีกจุดหนึ่งคือเมื่อสัก 3 หรือ 4 เดือนที่ผ่านมา ได้คุยกับศาสตราจารย์เจตนา นาควัชระ แล้วท่านพูดว่า “คุณพ่อคุณเป็น ‘ศิลปินประชาชน’ คือเขียนงานของคน”

คำพูดอาจารย์ยังอยู่ในใจเรา เพราะตอนนั้นก็ทำงานที่คุณพ่อทำค้างไว้อยู่ที่ตลิ่งชัน เราก็ไปถอดรายละเอียดว่า ท่านเล่าเรื่องอะไร

มันคือเรื่องของชีวิต ศัพท์ของคุณพ่อจะเรียกว่า ‘ความอร่อย’ ในที่นี้คือมี Dynamic มีการเคลื่อนไหว มีท่าทาง ซึ่งในมุมของเนื้อหาคิดว่าสิ่งที่ศาสตราจารย์เจตนาพูดน่าจะหมายถึงจุดนี้

กุศลมงคล: คุณพ่อพูดคำว่า ‘มือตาใจ’ บ่อย งานจะออกมาอร่อยต้องออกมาจากใจ ต้องใช้ใจสื่อ ผสานกับมือและตาที่ทำงาน เหมือนเป็นที่มาของคำว่าภาพมันอร่อยได้

นาคนิมิตร: ความอร่อยผมมองว่ามันคือไลฟ์สไตล์ความเป็นไทย แต่นำเสนอให้เป็นสมัยใหม่ แต่ยังเห็นถึงรากฐานเดิม

ภาพตะวัน: มันมี Dynamic จริงๆ นะ มันคือความตื่นเต้น การมีชีวิตของผลงาน มันสัมผัสได้

นาคนิมิตร: งานของท่านกูฏมีปรัชญาด้วยนะ คือเราเห็นได้ถึงสกุลช่าง (สกุลช่างหมายถึงลักษณะพื้นถิ่นทางศิลปะที่พบเฉพาะบางพื้นที่) งานจิตรกรรมไทยก็เหมือนแม่ไม้มวยไทยนะ มีค่าย มีแม่ไม้ต่อสู้เป็นของตัวเอง จิตรกรรมไทยเติบโตมาแบบนี้เหมือนกัน ทีนี้งานที่ทำแบบสกุลมีความลึก

คุณพ่อพูดเสมอว่าจิตรกรรมไทยเหมือนดนตรีวงใหญ่ ดนตรีแบบอิมโพรไวส์ด้วยนะ คือเหมือนมีตัวโน้ตเล่นไป เราก็ใส่สีสันบรรเลงลงไป งานของท่านกูฏเห็นได้เลยว่า จะมีรายละเอียดเต็มไปหมด แต่ก็มีความยิ่งใหญ่และสอดประสานกันกลมกลืนลงตัว

กุศลมงคล: งานของท่านกูฏต้องใช้ใจครับ จะอธิบายได้ดีกว่าคำพูด

ท่านกูฏ

Q: ในความเห็นของลูก ท่านกูฏเปลี่ยนแปลงวงการจิตรกรรมไทยอย่างไร?

นาคนิมิตร: ตอนที่คุณพ่อทำงาน อยู่ในยุคที่กรุงเทพฯ กำลังเติบโต อยากเป็นสากล คนจะแห่กันใส่สูทผูกเนกไทอะไรแบบนี้ ยุคนั้นคือใครทำอะไรเกี่ยวกับงานไทยถือว่าเชย

กุศลมงคล: ตอนนั้นงานจิตรกรรมไทยไม่มีทางได้อยู่ในแกลเลอรีเลย

นาคนิมิตร: คุณพ่ออยู่ในยุครอยต่อที่ศิลปะสมัยใหม่จากตะวันตกเข้ามาในประเทศไทย แนวศิลปะตะวันตกเข้ามาอยู่ไปทั่ว งานจิตรกรรมไทยตอนนั้นเป็นได้แค่ภาพขายนักท่องเที่ยว หรืออยู่ในวัด เราอยากให้คนเข้าใจว่า มันไม่มีแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ สิ่งที่คุณพ่อทำเหมือนการวางรากฐาน

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

Q: ย้อนไปในวัยเด็ก เรียนรู้เรื่องราวจิตรกรรมไทยจากคุณพ่ออย่างไรบ้าง?

นาคนิมิตร: คุณพ่อไม่เคยบังคับให้มาทำงานศิลปะหรือมาวาดรูปเลยนะ แต่เหมือนให้มาช่วยงานบ้านมากกว่า เหมือนกวาดบ้าน ถูบ้านมากกว่า ผมก็มาช่วยล้างถาดสี ล้างพู่กัน ทำแบบนี้อยู่ทุกวัน

ภาพตะวัน: เคยขอคุณพ่อวาดภาพ ท่านไม่ให้ทำนะ ให้ไปล้างถาดสี ทำแบบนี้อยู่เป็น 10 ปี ถึงได้จับพู่กัน

นาคนิมิตร: 10 ปีที่ว่ามันคือวิถีทางนะ คือการเรียนรู้ ได้รู้ว่าเขียนสียังไง ลอกลายตอนไหน งานโอเคหรือไม่ ต้องแก้ยังไง สอนอย่างนี้ทุกวัน จนกลายเป็นกลไกในการทำงานของเราไปในตัว

ภาพตะวัน: จริงๆ ไม่เหมือนกับการสอนด้วยนะ เขาพูดเองไปเรื่อย พูดเหมือนกิจวัตรประจำวัน แต่นี่แหละคือคุณพ่อ เหมือนกับปรัชญาการทำงานของเขาติดมาในตัวเรา

กุศลมงคล: ท่านกูฏเคยเรียนวิชาครูมาก่อน มีความเป็นครูอยู่ในตัว สิ่งที่ท่านสอนคือสอนด้วยธรรมชาติ ให้อยู่กับธรรมชาติ สุดท้ายผลักดันให้ลูกๆ ได้ทำงานในสิ่งที่ชอบด้วยตัวเอง เป็นงานที่ต่างกันออกไปของภาพตะวัน หรือของกาพย์แก้ว อะไรแบบนี้

นาคนิมิตร: วิธีการสอนของท่านกูฏคือง่ายแต่มีความลึกซึ้ง เช่น จะวาดปลาทู ไม่สอนนะว่าวาดปลาทูต้องใช้สีอะไร แต่บอกว่า “วาดปลาทูให้คาว วาดมะนาวให้เปรี้ยว” ต้องไปตีความกันเอง

ภาพตะวัน: ไม่ใช่แค่ตีความอย่างเดียวนะ แต่ต้องจับให้ได้ว่าคาวคือยังไง? คาวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คาวของเราแบบนี้ แต่ของคุณพ่อเป็นอีกแบบก็ได้

นาคนิมิตร: สรุปคือกว่าจะวาดให้คาว ต้องวาดไปกี่รูป? นี่คือการสอนของคุณพ่อที่ง่ายแต่ลึกซึ้ง พอเราได้รับมาแบบนี้ มันคือวิถีการถ่ายทอดให้ออกมาสู่ผลงาน

สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้ผ่านงานของท่านกูฏคือความนุ่มลึกในการสร้างผลงาน

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

Q: กลับมาทำงานเก่าของคุณพ่อ ได้ความรู้สึกอะไรกลับมาบ้าง?

กาพย์แก้ว: เราตามงานคุณพ่อมาไม่ใช่แค่งานนี้ เราเห็นงานของคุณพ่อมาตั้งแต่เกิด เราคุ้นเคยกับมันมาตลอดเวลา อยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว เหมือนกับทุกคน

แต่สิ่งที่สัมผัสได้คือเราหวังว่า คนจะไม่ลืมคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกงานจิตรกรรมไทย อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ทัศนคติของคนรุ่นเก่าว่า มีวิธีการทำงานแบบไหน แล้วนำไปผสมผสานกับวิธีการทำงานตามยุคสมัยใหม่

ภาพตะวัน: คุณพ่ออยู่ในความทรงจำตลอด เพราะเราคุยกับท่านตลอด และเราไม่มีตัวอย่างไหนที่ดีเท่า

แต่เวลามาทำงานตรงนี้ เหมือนเราได้บทเรียนใหม่สำหรับตัวเองเลยนะ เหมือนการเรียนรู้อีกกระบวนการหนึ่ง เหมือนได้เรียนรู้เติบโตไปอีกวัน ผ่านกระบวนการทำงานของคุณพ่อ

การทำงานคือการเรียนรู้ไม่จบสิ้น คุณพ่อท่านก็ทำงานอยู่ตลอด ท่านไม่เคยหยุดจนนาทีสุดท้ายก็ยังวาดรูป ยังคิดแบบอยู่

ตอนมาทำงานตรงนี้ เราทำงานกับช่างอีกกลุ่มหนึ่ง กาพย์แก้วก็ทำงานกับอีกกลุ่ม ต่างคนต่างค้นพบแล้วมาคุยกัน กลายเป็นว่าเราก็มาตื่นเต้นกัน ท่านกูฏทำได้ยังไง นี่คือการเรียนรู้

นาคนิมิตร: พอมาเห็นลายเส้นของคุณพ่อก็ทำให้นึกถึงสิ่งที่ท่านเคยสอนนะ อย่างสอนคำว่า “กระดิกสี” พอมาดูงานของท่าน เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของสี มันเหมือนมีแรงสั่นสะเทือน เหมือนมีการเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวเรา

ส่วนมุมของปรัชญา คุณพ่อเป็นนักอ่าน เวลาศึกษาอะไรจะลงลึกมาก เวลาท่านเล่าเรื่อง มันจะกลม ไม่แบน

เราทำงานของคุณพ่อต่อมาเป็น 10 ปีแล้วครับ เหมือนอยู่ใน DNA ของเรา และกลายเป็นว่า เรานำความคิดของท่านไปประยุกต์กับเรื่องอื่นได้

กุศลมงคล: ท่านกูฏไม่ใช่เพียงจิตรกรนะ แต่เป็นมัณฑนากร เป็นนักโบราณคดี เป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ เป็นนักดนตรี เป็นหลายอย่างเลย ทำให้ท่านรู้ว่าจะสอดคล้องเรื่องราวต่างๆ เข้ากันได้อย่างไร

นาคนิมิตร: สิ่งที่น่าสนใจของท่านกูฏ คือจะถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้อย่างไรกับกระบวนการแบบนี้ ในการสร้างสรรค์งานต่างๆ ที่พิเศษออกไป

ท่านกูฏ

ท่านกูฏ

Q: อยากให้งานของท่านกูฏไปต่อกับคนรุ่นใหม่หรืออนาคตศิลปะจิตรกรรมไทยที่จะมาถึงอย่างไรบ้าง?

นาคนิมิตร: ผมอยากให้งานของคุณพ่อเป็นเหมือนรอยต่อระหว่างยุคเก่ากับยุคใหม่ เพราะงานศิลปะมีมาเป็น 100 ปี อยากให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า คุณพ่อสร้างงานสมัยใหม่บนงานยุคเก่าได้ยังไง

ภาพตะวัน: ตอนนี้เรารวบรวมวิธีคิดของพ่อ เพราะการดูงานแค่ชิ้นเดียวสำหรับคนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ถ้าเห็นเส้นทางของคุณพ่อ มันมีเรื่องราว มีความคิด เราอยากถ่ายทอดตรงนี้ออกไป

อยากถ่ายทอดประสบการณ์ของทั้งคุณพ่อและของเราให้คนรุ่นต่อไปได้เห็นงานของท่าน และได้อะไรเหมือนที่พวกเราได้จากคุณพ่อ

สถานที่
โรงแรมดุสิตธานี
Map: https://maps.app.goo.gl/D2FyrDZbq1ADLH437
Website: https://www.dusit.com/dusitthani-bangkok/main/
Facebook: https://www.facebook.com/dusitthanibangkok

Tags: