About
RESOUND

ลีลาปลากัด

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากนักจับภาพ ‘ปลากัด’ สู่นักสร้างแบรนด์จากปลากัดคนแรกของไทย

เรื่อง Nid Peacock Date 14-10-2021 | View 3597
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • มารู้จักปลากัดในมุมมองของช่างภาพผู้ทุ่มเทให้กับการถ่ายปลากัด เขาไม่เพียงศึกษาเรื่องราวต่างๆ ของปลากัดแต่ละสายพันธุ์เท่านั้น แต่ยังใช้เวลาสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของปลากัดเพื่อให้การถ่ายภาพนั้นสมบูรณ์ที่สุด
  • นอกจากคุณไบรท์จะได้ภาพปลากัดแล้ว เขายังได้รับมิตรภาพดีๆ จากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดในฐานะที่เป็นคนที่มีแพชชั่นเดียวกัน
  • จากที่เคยคิดทดสอบความสามารถในการถ่ายภาพของตัวเองด้วยการมาถ่ายปลากัดที่ใครก็ออกคำสั่งไม่ได้ ภาพถ่ายปลากัดของเขาได้ไปไกลกว่าที่เจ้าตัวคิดไว้ ทั้งการนำไปทำแสตมป์ชุดปลากัด ภาพประกอบในหนังสือปลากัดของกรมประมง แต่ที่ทำให้คุณไบรท์ภูมิใจมากที่สุดคือภาพถ่ายปลากัดของเขาได้ต่อยอดธุรกิจให้กับเกษตรกรเจ้าของปลาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • คุณไบรท์ได้ถ่ายทอดความสวยงามของปลากัดลงบนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในชื่อแบรนด์ Luna Garden ได้แก่ ผ้าพันคอ ถุงผ้า กระเบื้อง ร่ม และรองเท้าแตะ

“เมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจความเป็นศิลปินของ อ.ถวัลย์ ดัชนี แต่พอได้ถ่าย ‘ปลากัด’ ผมรู้แล้วว่าความสุขและการมีอิสระที่ได้ทำในสิ่งที่รักเป็นยังไง แม้จะต้องบินเดี่ยวเหมือนนกอินทรี และใช้เวลากว่าจะมีใครเข้าใจและยอมรับผลงานที่เราทำ แต่ที่สุดปลากัดก็ทำให้ผมหลุดจากกรอบจำกัดของการเป็นช่างภาพอาชีพ”

นี่คือสิ่งที่คุณไบรท์ - พัชร อุ่นแสงจันทร์ ช่างภาพหนุ่มผู้นี้บอกกับฉัน

ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าปลากัดตัวกระจ้อยร่อยนี่น่ะเหรอ ทำให้เขาตกผลึกความคิดได้ขนาดนี้ ยอมสละเครดิต 10 ปีกับของการเป็นช่างภาพแนวอีโรติกอาร์ต และ 5 ปีในการเป็นช่างภาพแมกกาซีน แล้วมาเริ่มต้นจากศูนย์ในการถ่ายปลากัด เพียงเพราะนึกท้าทายความสามารถตัวเอง

จากวันนั้นถึงปัจจุบัน 3 ปีแล้ว เขาใช้เวลากว่า 5,000 ชั่วโมงไปกับการถ่ายปลากัดหลายพันตัว แล้วก็ยังสนุกและมีความสุขกับสิ่งนี้ สำหรับคุณไบรท์ ปลากัดจึงไม่ใช่แค่สัตว์น้ำที่เลี้ยงเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ปลากัดเป็นเหมือนอีกหนึ่งพาร์ตเนอร์สำคัญในชีวิต ที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน เพื่อนเดินทาง และหุ้นส่วนธุรกิจก็ว่าได้

ที่สำคัญปลากัดทำให้เขา ‘ได้ทำ’ ในสิ่งที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าจะ ‘ทำได้’

L 18

ทำไมต้องเป็นปลากัด

แต่ก่อนผมเคยเป็นนักร้องกลางคืน แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นช่างภาพ ถ่ายนางแบบทั้งโป๊มากโป๊น้อยมาหมดแล้ว มีสาวๆ มาถอดเสื้อผ้าตรงหน้าทุกวัน เห็นจนไม่รู้สึกตื่นเต้นล่ะ เลยคิดว่าตัวเองน่าจะอิ่มตัวแล้ว เป็นคนใช้ชีวิตค่อนข้างเอกซ์ตรีม อยากไปไหนก็ไป มีงานที่ไหนก็ทำ ผมรู้ตัวว่าชอบถ่ายรูปก็ย้ายสายงานไปเรื่อยๆ อยากเรียนรู้ให้ครบ มีไปถ่ายงานข่าวบ้าง กีฬาบ้าง แล้วก็ได้ไปเป็นช่างภาพแมกกาซีน แต่พอมีครอบครัวก็อยากทำอะไรที่ซอฟต์ลงบ้าง แล้วผมก็ไม่จับกล้องเลยอยู่ร่วมปี

L 17

จังหวะที่กลับมาจับกล้องอีกครั้งเป็นช่วงที่ฮิตถ่ายปลากัดกัน ผมคิดแค่ว่า ถ้าคนอื่นถ่ายได้ เราก็น่าจะถ่ายได้ คิดแค่นั้นจริงๆ ก็ไปจตุจักรเลย ไปเดินหาซื้อปลากลับมาฝึกถ่ายที่บ้าน เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้ ถ่ายยากมากครับ ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ แล้วปลากัดก็สั่งไม่ได้เหมือนนางแบบด้วยนะว่าอยากให้โพสท่าไหน (หัวเราะ) ระบบการทำงานที่เคยสั่งสมมาเลยต้องปรับใหม่หมด จากไฟสตูดวงใหญ่ต้องเปลี่ยนเป็นแฟลชตัวเล็ก จะถ่ายปลากัดนี่ต้องทำการบ้านเยอะนะ

L 10

เป็นความยุ่งยากที่รู้สึกท้าทาย

ใช่เลยครับ ผมไม่ได้คิดเรื่องขายภาพหรือเงินที่จะได้รับจากการถ่ายปลากัดเลย แค่อยากลองชาเลนจ์ตัวเองดู กระทั่งรูปปลากัดที่ผมถ่ายแล้วโพสต์ลงในเว็บไว้มีคนแชร์ต่อๆ กันไปเป็นพัน จนผู้ใหญ่ในกรมประมงเห็นเข้า ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงที่กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมประกาศขึ้นทะเบียนให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เลยติดต่อผมเพื่อขอใช้ภาพ

L 9

ภาพปลากัดของเราโดดเด่นหรือสะดุดตากว่าคนอื่นถ่ายยังไง

ตอนโพสต์ไม่ได้คิดอะไรเลย เพราะเพิ่งถ่ายได้แค่ 3 เดือนเอง ปลากัดยังใหม่สำหรับผม แต่ส่วนใหญ่คนจะถ่ายด้านข้างตัวปลา เน้นแอคชั่นการว่ายและโชว์ครีบหางปลา แต่ผมถ่ายหน้าตรงของปลากัด ดูเหมือนเขากำลังว่ายพุ่งมาที่เรา เลยอาจเป็นปลากัดในมุมที่ต่างจากคนอื่น

แล้วมาถ่ายปลากัดจริงจังตอนไหน

ตอนที่กรมประมงจะทำหนังสือเกี่ยวกับปลากัด การถ่ายปลากัดของผมจึงกลายเป็นงานวิชาการ ทำให้ผมหันมาศึกษาเรื่องปลากัด ตั้งแต่ชื่อทางวิทยาศาสตร์​ สายพันธุ์ต่างๆ ลักษณะเด่นและพฤติกรรม ยิ่งรู้ก็ยิ่งสนุกครับ เหมือนได้รู้จักปลากัดมากขึ้น รู้ไปถึงบรรพบุรุษของปลากัด ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือในกฎหมายตราสามดวง (ประมวลกฎหมายในรัชสมัย ร.1 ที่ชำระจากกฎหมายเก่าที่มีมาแต่โบราณ) เขียนไว้ว่า ‘ห้ามเล่นพนันชนไก่ ชนนก กัดปลา’ แสดงว่าปลากัดต้องมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อยครับ

พอรู้จักปลากัดแต่ละสายพันธุ์แล้ว ตอนไปฟาร์มที่เพาะเลี้ยงปลากัด ทำให้ผมมั่นใจและมีเป้าหมายในการเลือกปลานายแบบมากขึ้น แต่ถึงจะได้ปลากัดตัวเจ๋งๆ ในแต่ละสายพันธุ์มา ก็ต้องมาลุ้นต่อที่บ้านตอนถ่ายอีกทีว่าจะเป็นยังไง เพราะแต่ละตัวตอบสนองต่อสิ่งเร้าแตกต่างกัน รวมถึงอุณหภูมิ สี แสง และอาหารก็มีผลกับปลากัดแต่ละตัวด้วย ที่สำคัญคาแรกเตอร์ปลาแต่ละตัวก็ไม่เหมือนกัน บางตัวอาจจะลักษณะดีสีสวยแต่ว่ายไม่สวยก็มี

L 12

เสน่ห์ของปลากัด

หลายคนอาจยกย่องการเป็น ‘นักรบ’ ที่อึด ถึก ทนของปลากัด เพราะเป็นสัตว์หวงถิ่นมาก เลยเลี้ยงรวมกับปลาตัวอื่นไม่ได้ แต่ส่วนตัวผมชื่นชมความเป็น ‘นักรัก’ ของปลากัดมากกว่า เมื่อตัวผู้พร้อมผสมพันธุ์จะก่อหวอดเตรียมไว้ที่ผิวน้ำ พอรัดตัวเมียจนได้ไข่ออกมาก็จะฉีดน้ำเชื้อเข้าไปผสม ไข่ที่ผสมแล้วจะจมลง ตัวผู้ก็จะใช้ปากอมเก็บขึ้นมาแล้วนำไปพ่นเก็บไว้ในหวอดทีละฟองๆ จากนั้นจะดูแลฟูมฟักไข่อย่างดี แล้วยังต้องคอยระวังไม่ให้แม่ปลามากินไข่

นั่นคือธรรมชาติของปลากัดที่ผมชื่นชม แต่ถ้าเป็นลักษณะทางกายภาพที่ทำให้ผมหลงรักการถ่ายปลากัด คงเป็นแอคชั่น ลีลาการว่าย และสีสันของเขา

L 1

เล่าถึงขั้นตอนการถ่ายปลากัดหน่อย

ตระเวนตามฟาร์มเพื่อคัดเลือกปลากัดแคนดิเดตมาสายพันธุ์ละ 10 ตัว แต่กว่าจะคัดได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะทุกฟาร์มเลี้ยงปลากัดในขวดแบนๆ เรียงแน่นเป็นแสนๆ ใบ ถึงเจ้าของฟาร์มจะคัดตัวที่ชนะการประกวดมาให้ ก็ต้องใช้ไฟฉายส่องดูหรือเทออกจากขวดเพื่อดูความสมบูรณ์ของครีบหาง สีสัน และท่าทางการว่าย แต่ข้อมูลอย่างอื่นฟาร์มจะบอกเราไม่ได้เลย เช่น นิสัยปลาเป็นยังไง ชอบกินอะไร เพราะเขาเลี้ยงเยอะ ผมเลยต้องกลับมาเลี้ยงที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์หนึ่งก่อนถ่าย เพื่อให้ปลาปรับตัวให้คุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศจริงที่จะใช้ถ่าย ระหว่างนั้นก็ต้องคอยสังเกตว่าตัวไหนชอบกินอะไร ลูกน้ำ อาหารสด หรืออาหารเม็ด และต้องฝึกให้ปลาคุ้นเคยกับแสงไฟ แสงแฟลช และชินกับเสียงชัตเตอร์ เพราะผมสังเกตได้ว่าปลากัดจะมีชีวิตชีวาตอนกลางคืนมากกว่า

L 6

นอกจากได้ปลาจากฟาร์มแล้ว ก็มีปลากัดป่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ตามธรรมชาติมาถ่ายด้วย พวกนี้ขี้กลัวขี้ตกใจ ถ้ากลัวแล้วสีซีดหางไม่คลี่ แล้วว่ายไว ฉะนั้น ถ้าช่างภาพไม่มีทักษะการถ่ายปลาและอุปกรณ์กล้องไม่ดี ก็เป็นอุปสรรคในการถ่ายด้วยครับ

L 3

เจอสถานการณ์นั้นแก้ไขยังไง

การฝึกให้ปลาอยู่ในสภาพแวดล้อมและบรรยากาศเดียวกับตอนถ่ายช่วยได้ อย่างแสงแฟลช แรกๆ เขาก็กลัว แต่พอเริ่มคุ้น รู้แล้วว่าไม่มีอันตราย เขาก็ปรับตัวได้ เหมือนเราเลี้ยงปลากับแสงไฟเลย น้ำของปลากัดก็ต้องอุณหภูมิห้อง เพราะปลาไม่ชอบอยู่ห้องแอร์​ช่างภาพก็ต้องทนร้อนเอานะ (หัวเราะ) แต่ถ้าให้อยู่ในที่อากาศเย็นบ่อยๆ ปลาจะปรับตัวได้ สิ่งเหล่านี้ผมเรียนรู้จากการสังเกตและได้จากข้อมูลในหนังสือ

L 4

ปลากัดเชื่องไหม แสดงออกยังไง

อย่างผมให้อาหารเขาทุกวัน พอถึงเวลา แค่เคาะตู้ ก็จะว่ายมาแล้ว บางทีเอานิ้วจุ่มน้ำนิดนึงเพื่อแตะให้อาหารปลาติดแล้วค่อยจุ่มนิ้วลงน้ำ ปลาก็จะค่อยๆ คุ้นเคยกับนิ้วเรา บางทียกนิ้วที่มีอาหารปลาติดอยู่ขึ้นเหนือน้ำนิดนึง เขาก็จะกระโดดมากิน ผมว่าปลากัดก็ฝึกได้เหมือนสัตว์อื่นๆ แค่ต้องใช้เวลา กว่าเขาจะคุ้นกับเรา แต่ถ้าคุ้นเคยกันมากๆ ปลากัดก็อาจจะแสดงพฤติกรรมแปลกๆ เฉพาะตัวออกมา

L 11

คลุกคลีใกล้ชิดกันขนาดนี้ ความรู้สึกที่มีต่อปลาเปลี่ยนไปไหม

ช่วงแรกๆ ที่ถ่ายปลากัด กี่สิบตัวก็เลี้ยงไว้หมด ดูแลอย่างดีจนหมดอายุขัยไป ปกติที่ฟาร์มจะไม่ตั้งชื่อให้ปลาเพราะมีจำนวนเยอะมาก แต่ถ้าใครเลี้ยงปลากัดเป็นสัตว์เลี้ยงก็มักตั้งชื่อให้ ผมเคยแนะนำคนที่เลี้ยงให้ตั้งชื่อว่าเฮนรี่หรือเอลิซาเบธ เพราะปลากัดอายุขัยแค่ 1-2 ปี เวลาปลาตายจะได้เป็นเฮนรี่ที่ 1 เมื่อก่อนเวลาปลากัดตาย ผมก็เศร้าเสียใจ แต่หลังๆ เข้าใจวัฎจักรชีวิตเขามากขึ้น ยิ่งทำให้เราใส่ใจดูแลเขามากขึ้นในช่วงเวลาที่เขาอยู่กับเรา

L 14

อะไรทำให้ยังถ่ายปลากัดมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างที่บอกว่าผมถ่ายปลากัดเพราะอยากพิสูจน์ตัวเอง ไม่ได้หวังสร้างรายได้จากตรงนี้ แล้วก็มีโอกาสได้ถ่ายภาพประกอบหนังสือให้กรมประมง ได้ทำสมุดบันทึกของสำนักปลัดนายกในชื่อปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทยแล้ว ภาพปลากัดที่ผมถ่ายก็ได้รับคัดเลือกให้ทำแสตมป์ชุดปลากัดอีก แต่ที่ทำให้ความรู้สึกผมเปลี่ยน คือตอนที่ภาพปลากัดที่ผมถ่ายได้นำไปประมูลหารายได้เข้ามูลนิธิจุฬาภรณ์ในงานประมงน้อมเกล้า

ในงานมีผู้ชายคนหนึ่งยืนดูภาพที่ผมถ่ายอยู่นานมาก ผมเลยเดินเข้าไปคุย ถึงได้รู้ว่าเขาคือเกษตรกรเจ้าของปลาตัวนั้น พอว่างจากทำนาก็มาเพาะปลากัดขาย เขาเล่าว่ามีคนมาติดต่อขอปลาเพื่อส่งให้กรมประมง เขาก็คัดตัวที่สวยที่สุดที่มีให้ไปโดยที่ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไร เพิ่งมารู้ทีหลังเลยตามมาดู แล้วเขาก็น้ำตาคลอและขอบคุณผมมาก เพราะทำให้มีคนมาขอซื้อปลาตัวนั้น เงินที่ขายได้ทำให้คุณภาพชีวิตครอบครัวเขาดีขึ้น ซึ่งจริงๆ ถึงไม่ได้เงิน แค่ปลาที่เขาเลี้ยงได้รับคัดเลือก ก็เป็นความภูมิใจของเขามากแล้ว

 

L 13

ส่วนผมอาจจะจำพันธุ์ปลาไม่ได้ทั้งหมด แต่ผมจำปลาทุกตัวที่ได้รับมาจากเกษตรกรได้ และก็จำเกษตรกรทุกคนที่ผมรู้จักได้ การที่เราได้แชร์ความสุขกับคนที่รักชอบในปลากัดเหมือนกัน จากคนที่มีแพชชั่นเดียวกันกลายเป็นมิตรภาพ สิ่งเหล่านี้คือกำลังใจที่ทำให้ผมยังไปต่อกับปลากัดอยู่

L 7

แล้วก็ยังนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

ยิ่งถ่ายปลากัดมากขึ้น ผมยิ่งหลงใหลในความสวยงามของเขา เลยปิ๊งไอเดียว่าอยากทำโปรดักต์ที่เป็นลายปลากัด ลองเสิร์ชหาข้อมูลดูไม่เจอว่ามีใครทำ ผมว่าน่าจะเพราะปลากัดตัวเล็กมาก ถ่ายให้ได้ดั่งใจว่ายากแล้ว การขยายสเกลยิ่งยากขึ้นไปอีก แต่ด้วยแพชชั่นและความบ้าส่วนตัวทำให้ผมไม่ยอมแพ้ครับ (หัวเราะ) คนเราคิดถ้าจะทำอะไรแล้วต้องไปให้สุด คนที่จะประสบความสำเร็จ ก็ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นยังไม่ทำ ในที่สุดผมก็ได้ผ้าพันคอลายปลากัดในชื่อแบรนด์ Luna Garden

L 8

199

ผมอาจจะไม่มีความรู้เรื่องผ้าเรื่องแฟชั่นเลย แต่ผมรู้เรื่องการถ่ายภาพ เรื่องสี และการพิมพ์ภาพ ก็ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง ทำแล้วมั่นใจว่าต้องมีคนก๊อบปี้แน่นอน แต่ไม่ซีเรียสเลยครับ เพราะสิ่งที่เลียนแบบกันไม่ได้คือสไตล์และคุณภาพ เอาแค่ภาพต้นแบบที่จะใช้พิมพ์ ถ้าต้องมาไดคัตหางปลาก็เสียเวลามากแล้ว ซึ่งผมรู้กระบวนการส่วนนี้ดี ฉะนั้น ความเจ๋งในการถ่ายปลากัดสำหรับผมคือ ‘ถ่ายแล้วจบ’ ผมอาจศรัทธาการทำงานของช่างภาพสมัยก่อนที่ใช้กล้องฟิล์ม ซึ่งต้องอาศัยฝีมือจริงๆ ในมุมมองผม ช่างภาพที่ดีจะไม่จบงานด้วยการรีทัชครับ

L 2

เป้าหมายต่อไป

ผมอยากเอาภาพปลากัดลงในพอร์ชเลนกับพวกของใช้ในบ้าน ผมรู้สึกสนุก ท้าทาย และมีความสุข เพราะเหมือนเรากำลังก้าวไปอีกโลกที่ยังไม่เคยมีใครไป นอกจากนี้ ผมจะใช้ทุนส่วนตัวทำหนังสือปลากัดส่งให้มิวเซียมสัตว์น้ำทั่วโลก เพราะอยากให้คนรู้จักปลากัดมากขึ้น ผมโชคดีที่ครอบครัวสนับสนุนสิ่งที่ผมทำ

L 5

ตอนผมถ่ายปลากัดใหม่ๆ เพื่อนช่างภาพด้วยกันถามว่า ‘ถ่ายปลากัดแล้วได้อะไร’ ผมตอบไปว่า ‘ผมมีความสุขที่ได้ทำ ได้เหนื่อย และได้แก้ปัญหา’ ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ อย่างเกล็ดปลากัดที่มองด้วยตาเปล่าอาจจะไม่เห็นแต่พอถ่ายภาพออกมาแล้วเห็น ผมอยากเอาไปทำลายผ้าม่านหรือเพนต์ลงบนเรือยอชต์ หรืออยากใช้ดีเทลความเป็นปลากัดไปตกแต่งโรงแรม แค่ได้คิดจินตนาการก็รู้สึกสนุกแล้ว เมื่อก่อนผมเป็นช่างภาพที่ทำงานตามโจทย์ แต่พอวางความเป็นช่างภาพมืออาชีพลง ผมรู้สึกอิสระกับการพาตัวเองสู่โลกกว้าง ได้ใช้ไอเดียความครีเอทสร้างสรรค์ผลงานออกมา

L 16

ผมไม่รู้หรอกว่า ตัวเองหรือปลากัดจะพาผมเดินทางไปถึงไหน รู้แต่เพียงว่า ผมจะตั้งใจและทำทุกอย่างให้เต็มที่ก็พอ

L 21

20

ติดตามผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากภาพถ่ายปลากัดในแบรนด์ Luna Garden ซึ่งคุณไบรท์เป็นคนแรกและคนเดียวในโลกที่ทำสินค้าออกมา มีทั้งผ้าพันคอ ถุงผ้า กระเบื้อง ร่ม และรองเท้าแตะ

https://www.facebook.com/BRIGHTPATCHARA
thearielphoto@gmail.com
โทร. 09-6393-6232

Tags: