You’ll Never Read Alone
‘Hatyai Book Club’ ชมรมจากคนไม่ชอบอ่านสู่การสร้างคอมมูนิตีเพื่อมิตรรักนักอ่านในหาดใหญ่
- คุยกับ ‘มู้ดดี้- ณัฐวัฒน์ ปาลสุข’ ผู้ริเริ่ม ‘Hatyai Book Club’ ชมรมคนรักการอ่านในหาดใหญ่ กับความตั้งใจสร้างนิเวศน์นักอ่านและนักเขียนที่ดี ให้กับเมืองที่ไม่มีแม้แต่ร้านหนังสืออิสระ
นอกจากไก่ทอด คาเฟ่ โกตี๋โอชา โชคดีแต่เตี้ยม ตลาดกิมหยง ทุกคนนึกถึงอะไรกันอีกเมื่อพูดถึง ‘หาดใหญ่’...แน่นอนว่า “ชมรมนักอ่าน” คงจะเป็นอะไรที่หลายๆ คิดไม่ถึง แม้แต่ชาวหาดใหญ่เอง ก็อาจจะไม่รู้ว่ามีสเปซแบบนี้อยู่ด้วย!
เราจะพาทุกคนมาคุยกับ ‘มู้ดดี้- ณัฐวัฒน์ ปาลสุข’ หนึ่งในหุ้นส่วนคาเฟ่ยอดฮิตของวัยรุ่นหาดใหญ่อย่าง ‘Lucas.HDY’ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘Hatyai Book Club’ ชมรมที่จะชวนชาวหาดใหญ่ที่มีใจรักในหนังสือมาพูดคุยกันเดือนละครั้งสองครั้ง ถึงประเด็นเกี่ยวกับหนังสือที่น่าสนใจในแต่ละช่วง
มาเรียนรู้วิธีการจัด Book Club ที่ไม่ได้ยากอย่างที่คิด มิตรภาพที่เกิดขึ้นในวงหนังสือ การปรากฏตัวของกวีซีไรต์ในชมรมเล็กๆ และความฝันของมู้ดดี้ที่อยากจะเปิดร้านหนังสืออิสระแห่งแรกในหาดใหญ่ให้ได้ในสักวัน
First Chapter
มู้ดดี้เติบโตมากับแม่ผู้เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียน ใครได้ฟังก็คงคิดว่านี่ต้องเป็นจุดเริ่มต้นที่ปลูกฝังความรักการอ่านของเขาแน่ๆ! แต่เปล่าเลย… เด็กชายมู้ดดี้ไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่ชอบที่แม่ให้ทบทวนหนังสือเรียนวันละ 1 ชั่วโมงทุกคืนก่อนนอน ดูหนังดูทีวียังจะดีซะกว่า
แต่แล้วจุดพลิกผันก็มาเกิดขึ้นตอนที่เจ้าตัวเดินทางกลับจากกรุงเทพฯ มาเปิดคาเฟ่บรรยากาศชิลล์ๆ ธรรมชาติๆ ที่อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา มู้ดดี้เริ่มสนใจการอ่านหนังสือด้วยเหตุผลง่ายๆ “มีลูกค้าที่ร้านคนนึง เขาจะขับรถมาจากบ้านเขาซึ่งห่างจากร้านประมาณ 10 กิโลเมตรแทบทุกวัน เพื่อมาตั้งเก้าอี้แคมป์แล้วก็นั่งอ่านหนังสือใต้ต้นไม้ เราเห็นแล้วก็รู้สึกว่า เออ มันดูสงบ ดูสบายดี เลยอยากซื้อหนังสือเล่มแรกเป็นของตัวเองบ้าง จําได้ว่าชื่อเรื่อง ‘I Called Him Necktie’ ของ Milena Michiko Flašar เป็นหนังสือวรรณกรรมสั้น นักเขียนเป็นลูกครึ่งออสเตรเลีย-ญี่ปุ่น ที่ไม่เคยไปญี่ปุ่นเลย แต่กลับเขียนเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่น โดนป้ายยามาจากพอดแคสต์ช่อง Readery (รายการที่เอาเรื่องราวจากหนังสือมาแชร์กัน) อีกทีนึง”
เขาเริ่ม explore หนังสือหลากหลายแนว จากที่เคยชอบอ่านพวก Self-Help ฮาวทู ก็เปลี่ยนมาสนใจวรรณกรรมแปลแทน แต่อ่านไปอ่านมา มูราคามิบนชั้นหนังสือก็เริ่มถูกดอง เพราะรู้สึกว่าอ่านไม่รู้เรื่อง เลยหันมาอ่านวรรณกรรมไทยเก่าๆ
ความรักในการอ่านค่อยๆ ก่อตัวขึ้นตามกาลเวลา จนวันนึงก็ปิ๊งไอเดียตอนที่แฟนซึ่งชอบอ่านหนังสือเหมือนกันพูดขึ้นมาว่า ‘การมีคนอ่านหนังสือเหมือนกันมานั่งคุยกันนี่มันดีนะ’
มู้ดดี้เริ่มจากตรงนั้น เขาลองยิงคำถามไปในไลฟ์ของ Readery นี่แหละ ว่าถ้าจะจัด Book Club จะต้องทำยังไงบ้าง? “เราได้ฟังที่พี่ๆ เขาเล่าปุ๊บ ก็รู้สึกว่าเราเองก็จัดได้นะ เรามีพื้นที่ Lucas.HDY อยู่ เรามีโซเชียลมีเดีย มีเพจของร้านที่สามารถประกาศให้คนมารวมตัวกันได้ ก็เลยตัดสินใจโทร.ชวนพี่ ‘แมน- มานิตย์ หวันชิตนาย’ มาร่วมด้วย แล้วก็โพสต์เล่นๆ ว่า วันนี้จะมี Book Club 1st Chapter นะ คนก็มากัน 10 คนเลย ถือว่าเยอะมากสำหรับครั้งแรก”
การจัดครั้งแรกทำให้มู้ดดี้ค้นพบว่ามีคนประเภทเดียวกันกับเขาซ่อนตัวอยู่ในเมืองเยอะมาก! บางคนอาจเป็นคนที่เดินสวนกันไปมา แต่เราไม่เคยสงสัยเลยว่า ‘เขาจะอ่านหนังสือเล่มไหนกันนะ?’ หรืออาจจะเป็นแค่เด็กอายุ 17 ที่จริงๆ แล้วอ่าน ‘ปีศาจ’ ของนักเขียน เสนีย์ เสาวพงศ์ จบไปแล้ว 2 รอบก็เป็นได้
Anyone Runs the Club
“ไม่ว่าใครก็เป็นเจ้าของ Book Club ได้” คือสิ่งที่มู้ดดี้บอกเราตลอดการพูดคุยกันในวันนี้
เขาไม่เคลมว่าตัวเองเป็นเจ้าของไอเดียนี้ และไม่มีรูปแบบของชมรมที่ตายตัว กลับกันการนัดพบกันเเต่ละครั้งเป็นไปอย่างเรียบง่ายมากๆ เริ่มจากการคิดหัวข้อที่อยากจะพูดคุยกัน หาสถานที่ที่นักอ่านทุกคนจะรู้สึกสะดวกและปลอดภัย จะเป็นร้านกาแฟ ริมน้ำตก ในป่า บนดอย อะไรก็ได้ตามแต่นัดหมาย นอกจากนั้น ก็ปล่อยไปตาม flow ของผู้เข้าร่วม และดำเนินไปต่อไปเรื่อยๆ จนทุกคนเริ่มรู้สึกว่าเหนื่อยๆ ง่วงๆ ก็เป็นอันว่าจบเซสชัน
ใครยังไม่เห็นภาพ มู้ดดี้ยกตัวอย่าง Book Club ครั้งนึงที่เป็นธีม ‘แมว’ ให้ฟัง “พอคนเริ่มมากันเยอะแล้ว เราก็จะให้แนะนําตัวพร้อมกับบอกว่าเลี้ยงแมวกี่ตัว หรือว่ามีแมวตัวที่เราชอบที่สุดไหม อะไรอย่างงี้ เพื่อเป็นการค่อยๆ ละลายพฤติกรรมคนในวง พอเสร็จพาร์ตแนะนําตัว ก็มาเริ่มเข้าประเด็นคุยที่เชื่อมโยงกับหนังสือ ซึ่งก็ไม่ได้ตระเตรียมอะไรมามาก เราพยายามจะให้คำถามออกมาเองจากคนในวง พี่แมนก็จะมาช่วยคิดให้ว่าบทสนทนาควรจะไปทางไหนดี แล้วก็จะมีประเด็นต่อไปเรื่อยๆ เองโดยอัตโนมัติ”
เชื่อว่าพอคนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กันมาเจอกัน บทสนทนาและการแลกเปลี่ยนจะพรั่งพรูออกมาเอง เพราะฉะนั้น ความง่าย ความชิลล์ของมันนี่แหละ ทำให้ใครๆ ก็จัด Book Club ได้ มีมากกว่าเดือนละ 1 วงก็ยิ่งดี เพราะว่ามันคือการสร้างนิเวศน์นักอ่านที่ดีให้กับเมือง
ส่วนการคิดธีม ดูเหมือนจะต้องวางแผนมาอย่างดี แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น หลักๆ ก็แค่ดูว่าอะไรน่าหยิบมาคุยช่วงนั้น แล้วก็ดูความสนใจของคนในวงอีกนั่นแหละ อย่างช่วงกลางสิงหาคมที่ผ่านมา ก็มีคนมาขอให้มู้ดดี้จัด Book Club ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ณ ขณะนั้น โดยการนำ ‘ลุกไหม้สิ! ซิการ์’ กวีนิพนธ์โดย ชัชชล อัจฯ ที่พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในปี พ.ศ.2553 และ พ.ศ.2563 มาเป็นแกนหลักในการพูดคุย มู้ดดี้ก็ไม่ได้รอช้าที่จะโพสต์และนัดวันนั้นเลย แล้วคนก็มากันจริงๆ แถมครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งไหนๆ ตรงที่โลเกชันคือ “ข้างถนน”! เพื่อสะท้อนให้คนเห็นว่า ถ้าบ้านเมืองปลอดภัย เราจะอ่านหนังสือกันที่ไหนก็ได้
“แล้วคนไม่อ่านหนังสือจอย Book Club ได้ไหม?” เราถือโอกาสถามแทนเพื่อนๆ หลายๆ คนที่อาจจะกำลังสนใจอยู่ แต่ไม่มีเวลามานั่งอ่านหนังสือให้จบเป็นเล่มๆ ซึ่งมู้ดดี้ก็ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วว่า “ได้” เขาอยากให้ Hatyai Book Club เป็นพื้นที่ที่เปิดรับทุกคน เพราะฉะนั้น จะอ่านไม่อ่านไม่ใช่ปัญหาเลย ขอแค่มีความสนใจในประเด็นที่จะคุยกันก็พอ
“คนชอบทักมาถามคำถามนี้ในเพจ แล้วเราพูดเสมอเลยว่า เข้ามาได้ เข้ามานั่งฟัง มา Observe ก่อนก็ได้ จนกว่าวันนึงจะเจอหนังสือเล่มที่อยากอ่าน”
Deeper than Books
หนังสือพาเราไปได้ไกลกว่าตัวอักษร
สำหรับตัวมู้ดดี้เอง การเปลี่ยนจากคนไม่ชอบอ่านหนังสือเลย มาเป็นผู้ริเริ่ม Hatyai Book Club สอนอะไรบางอย่างให้เขา “เรารู้สึกมีสมาธิมากขึ้น รู้ว่าการอยู่กับตัวเองเป็นยังไง ซึ่งเอาเข้าจริง ก็ไม่ได้อยู่กับตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์หรอก เพราะเรามีเพื่อนในหนังสือ เรามีตัวละครที่เอาใจช่วยเขาอยู่ เรามีนักเขียนที่เจออะไรคล้ายๆ กับเรา”
นอกจากเพื่อนในหนังสือแล้ว เพื่อนในวงหนังสือก็สำคัญ ลองคิดดูสิว่า ถ้าเรารู้ว่าสิ้นเดือนนี้จะได้ไปเมาท์มอยกับเพื่อนที่อ่านหนังสือเล่มเดียวกันถึงตัวละครที่เราคิดว่าน่ารำคาญสุดๆ คงจะมีแรงจูงใจให้อ่านจนจบเล่มไม่น้อยเลย มู้ดดี้แชร์ให้เราฟังถึงโมเมนต์ดีๆ ที่เกิดขึ้นในวงว่า “มีน้องคนนึง เขาบอกเราว่า เขาเป็นคนไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลย แต่ Book Club ทำให้เขารู้ว่าจะทำอะไรในแต่ละวัน เขาอยากอ่านให้จบเพื่อมาคุยกับคนในวง แล้วน้องเขาไม่ใช่คนหาดใหญ่ พอต้องกลับกรุงเทพฯ ก็ยังฝากหนังสือมาให้คนที่นี่ กลายเป็นความผูกพันรูปแบบนึง”
“แล้วโมเมนต์ที่เซอร์ไพรส์ที่สุดล่ะ ตั้งแต่ทำ Book Club มามีวงคุยรอบไหนทำให้รู้สึกแบบนั้นบ้างไหม?” เรื่องที่ฟังไปเมื่อกี้ทำเอาเราอยากรู้เรื่องราวเจ๋งๆ ที่เกิดขึ้นในชมรมเพิ่ม
“ครั้งที่ 4 ตอนนั้นเราจัดวง ‘วรรณกรรมจากนักเขียนไทย’ ก็คือนั่งคุยกันอยู่ในวงเนี่ยแหละ อยู่ดีๆ ก็มีพี่ที่เป็นนักเขียนซีไรต์ขับรถมาจอดหน้าร้าน แล้วก็เข้ามานั่งคุยกับเราด้วย ซึ่งก็คือพี่ ‘มนตรี ศรียงค์’ หรือ ‘กวีหมี่เป็ด’ เขาเป็นคนหาดใหญ่อยู่แล้ว อยู่แถวนี้นี่แหละ คือปกติก็มีคนดังมานะ แต่อันนั้นคือเราตั้งใจเชิญมา นี่เขามาเองเลย” มู้ดดี้เล่าในแบบที่เรายังสัมผัสได้ถึงความตื่นเต้นในน้ำเสียงของเขาอยู่
ชมรมเล็กๆ ในเมืองเล็กๆ นี้ทำให้เราเห็นแล้วว่าพลังของหนังสือยิ่งใหญ่แค่ไหน แม้จะไม่ได้เสพง่าย ดูสนุก เหมือนภาพยนตร์หรือละคร แต่ความไม่ง่ายของมันนี่แหละทำให้ทุกคนที่รักและหลงใหลในเสน่ห์ของการอ่านทุ่มเทกับมันทั้งใจ อีกทั้งไม่มีการแบ่งชั้นหรือแบ่งพรรคพวกอะไรกัน ทุกคนต่างเชื่อมโยงกันผ่านตัวอักษรไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน
Reader’s Dream
อนาคตของ Book Club ไม่จำเป็นต้องมีมู้ดดี้ก็ได้
อ่านถูกแล้ว! และมู้ดดี้ก็เป็นคนพูดประโยคนี้ด้วยตัวเองเลย เพราะเขาอยากให้ Book Club อยู่ได้แม้จะไม่ได้มีเขาเป็นตัวตั้งตัวตีแล้วก็ตาม ตอนนี้เขาฟูมฟักเลี้ยงดูชมรมนี้เหมือนเด็กคนนึง คอยสร้างกิจกรรม สร้างความเคลื่อนไหวให้คนมาจอยกันอยู่ตลอดเวลา แต่วันหนึ่งเขาก็หวังว่า Hatyai Book Club จะแข็งแรงพอที่จะยืนด้วยตัวเองได้ ในแบบที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ต่อให้ไม่มีเขา มู้ดดี้ก็ยังคงหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะดำเนินต่อไป และหวังว่านักอ่านทุกคนจะไม่หยุดผลักดันคอมมูนิตีนี้ที่พวกเขาเองก็มีส่วนร่วมในการสร้างด้วย
อย่างที่รู้กันว่าหาดใหญ่ไม่มีร้านหนังสืออิสระ อีกหนึ่งความฝันของมู้ดดี้ก็คือการเปิดร้านหนังสือให้คนมาคุยกับคน ไม่ใช่คนมาคุยกับนายทุน “นึกภาพว่าเราไปคุยกับพนักงานร้านกาแฟเชนในห้าง กับเจ้าของร้านกาแฟที่เปิดร้านตัวเองด้วยแพสชั่นจริงๆ มู้ดคงจะต่างกันใช่ไหมล่ะ” มู้ดดี้เสริม
เขาแอบแง้มว่าตอนนี้ก็กำลังอยู่ในช่วงหาสถานที่ที่เหมาะสมอยู่ มู้ดดี้อยากให้ร้านที่จะเปิดเป็นคอมมูนิตีสเปซให้นักอ่านมาเจอกันอย่างเป็นหลักเป็นแหล่งด้วย เลยต้องคิดให้ถี่ถ้วนจริงๆ เพราะร้านหนังสือใช้ต้นทุนสูง เพราะฉะนั้น เปิดแน่! แต่อดใจรอกันนิดนึง
และแน่นอนมีนักอ่านก็ต้องมีนักเขียน ก่อนจะลากันไปเราขอฝากอีกหนึ่งกิจกรรมของ Hatyai Book Club ที่จัดกันมาได้สักพักแล้ว ซึ่งก็คือ ‘Hatyai Writing Club’ นั่นเอง! ใครชอบเขียน อยากเขียน อยากแชร์งานเขียน หรืออยากเจอเพื่อนๆ นักเขียนด้วยกัน ตอนนี้หาดใหญ่มีพื้นที่ให้พวกคุณเเล้วนะ แถมยังมีหัวข้อสนุกๆ ให้ลองฝึกเทคนิค Free Writing (การเขียนแบบไม่หยุดมือในเวลาสั้นๆ) กันทุกเซสชันด้วย
ใครได้มีโอกาสลงไปหาดใหญ่ก็ลองไปจอยกันดูได้ หรือชาวหาดใหญ่ที่อ่านอยู่แต่เพิ่งรู้ว่ามีที่แบบนี้ซ่อนอยู่แถวบ้านด้วย ก็อย่าลืมแวะเวียนไปกันล่ะ เชื่อว่าทุกคนจะได้ลิสต์หนังสือน่าอ่านกลับมาสัก 2-3 เล่ม ไม่ก็ต้องได้เพื่อนใหม่กลับมาอย่างเเน่นอน 🙂
ติดตามการนัดรวมตัวครั้งต่อไปของชาว Hatyai Book Club ได้ที่
Instagram: hatyaibookclub_
Facebook: Hatyai Book Club