About
RESOUND

Something in Common

สูตรลับ 10 ปีของ HOC ร้านหนังสืออิสระที่หวังเป็นสะพานเชื่อมนักอ่านกับชุมชน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • House Of Commons Book Cafe & Space หรือจะเรียกย่อๆ ว่า HOC ร้านหนังสือกึ่งคอมมูนิตี้คาเฟ่ขนาดเล็กในย่านตลาดน้อยที่มีอายุเข้าปีที่ 10 นอกจากจะเป็นร้านในดวงใจของนักอ่านหลายๆ คนแล้ว เป้าหมายสำคัญของที่นี่คือตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนตลาดน้อย ด้วยการเป็นพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาพักผ่อน ใช้ชีวิตกับตัวเอง มีการจัดอีเวนต์ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของผู้คนในย่าน ไปจนถึงต้องการผลักดันเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกด้วย
  • และนี่คือมุมมองของ ‘เลิศ บุญเลิศ’ เจ้าของร้านหนังสือ ถึงเรื่องราวของร้านไปจนถึงแง่มุมของคนขายหนังสือ เสน่ห์เฉพาะตัวที่มักเกิดขึ้นเฉพาะในร้านหนังสืออิสระเท่านั้น

ในหลายๆ ครั้ง โลกก็มักจะดึงดูดคนแปลกหน้าซึ่งชอบอะไรเหมือนๆ กันได้มารวมตัวกัน พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อเกิดเป็นมิตรภาพดีๆ แก่กัน โดยจุดเริ่มต้นนั้นอาจมีเพียงแค่หนังสือสักเล่ม กาแฟสักแก้ว และสถานที่เหมาะๆ อย่าง ‘ร้านหนังสือ’ ที่ซึ่งทำให้เรื่องราวของตัวเรา และระหว่างเรานั้นเกิดขึ้น

วันนี้ ONCE ขอพาเพื่อนๆ ไปพูดคุยกับ เลิศ บุญเลิศ เจ้าของร้านหนังสือ House Of Commons BookCafe & Space ร้านหนังสือกึ่งคอมมูนิตี้คาเฟ่ที่ใช้ตลอดระยะเวลา 10 ปี มุ่งมอบความทรงจำที่ดีและมิตรภาพอันแสนอบอุ่นให้กับผู้ที่แวะเวียนเข้ามา ทำให้ร้านเล็กๆ แห่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่ร้านหนังสือ แต่เป็นร้านที่รวมเรื่องราวดีๆ ของผู้คนมากมาย ในวันที่ฟ้าโปร่งใส แก้วกาแฟถูกนำมาเสิร์ฟที่โต๊ะเราทั้งคู่ การพูดคุยของเราเริ่มต้นที่เลิศบรรยายถึงเสน่ห์ของหนังสือให้เราได้ฟัง

“หนังสือช่วยเปิดหน้าต่างอีกหลายๆ บานให้เราได้ดื่มด่ำ หลงใหลไปกับตัวละคร พาให้เราได้เข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หนังสือเป็นอีกหนึ่งวิธีการเรียนรู้ที่ดี มันอยู่กับเรา ผมเชื่อว่าการอ่านทำให้พวกเขาได้ใช้เวลาเพื่ออยู่กับตัวเอง รวมไปถึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์ดีๆ กับผู้อื่น”

HOC

เลิศ บุญเลิศ เจ้าของร้านหนังสือ House Of Commons BookCafe & Space

HOC

HOC

HOC

HOC

HOC

• ช่วยเล่าความเป็นมาของ House Of Commons BookCafe & Space ให้ฟังหน่อย

“เริ่มแรกเลยเดิมทีร้านตั้งอยู่ที่เจริญนครโดยเจ้าของอีกคน ผมในตอนนั้นเป็นลูกค้าขาประจำ ชอบไปนั่งอ่านหนังสือบ่อยๆ จนกระทั่งเขาจะยุติกิจการ ด้วยความที่ผมรักหนังสือและผูกพันกับร้านนี้ ผมเลยรวบรวมเงินกับเพื่อนๆ เพื่อเข้ามารับช่วงต่อ ระหว่างนั้นก็ได้ปรับปรุงแนวทางร้าน เพิ่มคาเฟ่เข้ามา เปลี่ยนประเภทหนังสือที่วางขายในร้าน พยายามพัฒนาร้านให้ดีมาโดยตลอด จนเข้าปีที่ 7 เราก็ย้ายทำเลร้านมาตั้งอยู่ที่เจริญกรุงในย่านตลาดน้อย ซึ่งตอนนี้ย้ายมาได้ 3 ปีแล้ว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา หุ้นส่วนส่วนใหญ่ที่เข้ามาหุ้นกับร้าน ก็เริ่มจากเป็นลูกค้านักอ่านประจำที่ขอมีส่วนร่วมทำในสิ่งที่รัก”

HOC

• จุดแข็งของร้านคืออะไร?

“ขุดแข็งของร้านต้องยกให้น้องๆ สตาฟในร้าน นอกจากจะมีความสามารถในการทำเครื่องดื่ม ทุกคนรักในการอ่านและช่วยหาหนังสือแนวใหม่ๆ เข้ามาวางขายในร้านอยู่เสมอ ทำให้ตัวผมและลูกค้าได้รู้จักหนังสือดีๆ มากมาย อีกทั้งลูกค้าชอบอ่านอะไร ชอบดื่มกาแฟแบบไหน เราจำได้ ลูกค้าก็ชอบใจ เพราะเราชอบชวนพูด พวกเรารับฟังเสียงลูกค้า ฟังความเคลื่อนไหวในวงการหนังสือเพื่อพยายามหากิจกรรมน่าสนใจเข้ามาเติมเต็มร้าน อย่างที่ผ่านมาเราก็ได้ฉายหนังที่สร้างจากหนังสือด้วย โดยได้รับการสนับสนุนที่ดีจาก Documentary Club ความพยายามให้ร้านมีสิ่งใหม่ๆ นี่คงเป็นจุดแข็งของร้านเรา”

HOC

HOC

• จุดแข็งที่ว่ามาช่วยทำให้ที่นี่มีเสน่ห์อย่างไร?

“เราเป็นร้านเล็กๆ อบอุ่นๆ มันเลยทำให้เกิดความใกล้ชิด เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนขายกับลูกค้า และระหว่างลูกค้าด้วยกัน บทสนทนาที่เริ่มจากหนังสือสามารถต่อยอดไปสู่เรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ ได้ จนทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิด เรายังจัดอีเวนต์เกี่ยวกับหนังสือเพื่อให้นักอ่านและนักเขียนได้พบปะ พูดคุยกัน ทำให้พวกเขาได้รู้จักตัวตนนักเขียนคนนั้นมากขึ้นด้วยนะ สิ่งเหล่านี้ทำให้ที่นี่กลายเป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวา มีความหมาย มีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับผู้คน เราต่างเป็นคนแปลกหน้าที่มาพบกัน เมื่อบทสนทนาเริ่มต้นขึ้น ก็ย่อมเกิดมิตรภาพที่ดีต่อกัน นี่ล่ะที่เป็นเสน่ห์หาได้จากร้านของเรา รวมไปถึงร้านหนังสืออิสระร้านอื่นๆ ด้วย”

HOC

• เห็นว่าเป้าหมายของที่นี่คืออยากเป็นส่วนหนึ่งของคนในชุมชนตลาดน้อย?

“ใช่ ด้วยความที่ร้านเราไม่ได้ใหญ่มาก เราเลยพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนด้วยการค่อยๆ แฝงตัวเข้าไป การจัดอีเวนต์ก็เป็นอีกตัวช่วยให้คนในชุมชนหรือคนที่สนใจได้มาพบปะรู้จักกันจนกลายเป็นคอมมูนิตี้ เป็นสถานที่ในย่านที่พวกเขาสามารถมาใช้ชีวิตและมานั่งอ่านหนังสือพักผ่อนได้ เรายังให้ความสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่มาที่ไปของคนในย่านตลาดน้อยด้วยนะ อย่างหนึ่งในอีเวนต์ที่เราจัด เราเชิญอาจารย์ประวัติศาสตร์มาพูดคุยกันถึงเรื่องสะพานเหล็กที่อยู่ข้างหน้าร้านเรานี่เอง เราต้องการให้ความสำคัญกับผู้คนละแวกนี้จริงๆ สิ่งเหล่านี้มันช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้กับชุมชนด้วย”

HOC

HOC

• การจัดอีเวนต์เองยังต่อยอดไปสู่อีกเป้าหมายคือสนับสนุนการเข้าถึงหนังสือต่อผู้คนได้ง่ายขึ้น?

“ใช่ครับ การจัดอีเวนต์หนังสือก็ช่วยให้คนเข้าถึงหนังสือมากขึ้น ที่ร้านเรายังคิดโปรแกรมเพื่อส่งเสริมการอ่าน โดยให้สมัครสมาชิกร้านก็จะสามารถหยิบหนังสือในร้านกลับไปอ่านที่บ้านโดยวางเงินมัดจำไว้ อ่านจบแล้วถ้าไม่อยากเก็บ หากเล่มอยู่ในสภาพดี ก็นำมาคืนที่ร้านพร้อมรับเงินมัดจำคืนไป เรายังมี Book Swap แลกหนังสือกันอ่านตั้งอยู่ที่มุมหน้าร้านด้วย บางคนก็นำหนังสือจากบ้านมาแลกเปลี่ยนไปอ่าน หรือบางคนไม่มีหนังสือ แต่อยากหยิบเอาไปอ่านก็ได้นะ แค่บริจาคสักบาทสองบาทก็หยิบไปก็ได้เลย เงินบริจาคนี้ก็จะเอาไปหมุนเวียนซื้อหนังสือมาเติมที่ร้านอยู่เรื่อยๆ”

HOC

• ความสนใจในการเลือกซื้อหนังสือสามารถเป็นตัวชี้วัดได้ไหมว่า สังคมกำลังให้ความสนใจเรื่องอะไร?

“ได้นะ เพราะถ้าย้อนกลับไปช่วง 2-3 ปีก่อนประเด็นการเมืองกำลังร้อนแรงมากๆ หนังสือที่สะท้อนการเมือง พูดถึงปัญหาสังคมจะขายดีมาก เช่น หนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้เราเห็นเลยว่าจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ที่เขาว่ากันว่าไม่ค่อยสนใจอะไร แต่จริงๆ พวกเขาสนใจปัญหาประเด็นทางสังคมกันเยอะ”

HOC

• ปัญหาที่มักพบเจอตลอดในการทำร้านหนังสือคืออะไร?

“คนทำร้านหนังสือ รวมถึงคนทำงานด้านหนังสือต้องซัพพอร์ตช่วยเหลือกันเอง มันลำบากมากๆ ต้องทำด้วยใจรักจริง ร้านหนังสือไม่สามารถหล่อเลี้ยงด้วยตัวของตัวเองได้ อย่างผมเองก็ทำงานอิสระเป็นวิทยากร สิ่งที่จะช่วยลดตรงนี้ได้ คือการหากิจการอื่นๆ เข้ามาเสริม อย่างคาเฟ่ อีเวนต์ พื้นที่จัดเสวนาชั้นบนนอกจากจะจัดอีเวนต์เองแล้ว เราก็ปล่อยให้เช่า บางทีอาจารย์บางท่านต้องการเปิดสอนนอกสถานที่ก็มาขอเช่าพื้นที่กับเรา เราก็เลยสามารถทำร้านหนังสือต่อไปได้”

HOC

• ถ้าอยากเปิดร้านหนังสือ คิดว่าคนขายหนังสือจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง?

“เอาให้ตัวเองอยู่รอด อย่างแรกต้องลองดูว่าเราจะหารายได้จากทางไหนได้อีกบ้าง หนังสือเล่มเนี่ยเป็นเรื่องของการฝากขาย สายส่งสำนักพิมพ์เอามาฝากขายที่ร้าน เราก็ขายลูกค้า ได้เงินมาก็ต้องบริหารเงินให้ดี เพราะเราต้องส่งเงินกลับไปให้สำนักพิมพ์ด้วย ต้องควบคุมสต๊อกหนังสือตลอด บริหารเงินเป็นไม่ต้องเชี่ยวชาญมาก แค่ทำรายรับได้จ่ายให้ถูกก็พอ แต่สิ่งที่สำคัญเลยคือ ต้องเป็นนักอ่านที่รักหนังสือ และต้องรู้สไตล์การอ่านของตัวเอง จะได้ชวนลูกค้าเปิดบทสนทนาได้ ส่วนใหญ่แล้วลูกค้าจะสอบถามหนังสือกับเราตลอด ไม่ว่าจะในร้านหรือในเพจ เขาอาจจะอยากให้เราช่วยแนะนำหนังสือให้ หรือให้ช่วยตามหาหนังสือ อันนี้สำคัญมาก ถ้าเรารู้จะทำให้ลูกค้าติดใจและอยากมาซื้อหนังสือที่ร้านเราเรื่อยๆ”

HOC

HOC

• คิดว่าการทำร้านหนังสือให้อะไรกับเรา?

“สิ่งที่ผมได้อย่างชัดเจนเลย คือเรื่องของมิตรภาพ อาจจะเพราะเราเปิดเป็นร้านกึ่งคอมมูนิตี้คาเฟ่ เราเลยได้พบกับคนหลากหลาย Gen เราเห็นหลากหลายความคิด ทำให้มุมมองของเราเปิดกว้างขึ้น เกิดการตระหนักรู้ที่มากขึ้น เรียนรู้ผู้คนได้มากขึ้น”

HOC

HOC

House Of Commons BookCafe & Space ร้านหนังสือที่พร้อมหยิบยื่นความเป็นเพื่อนที่ดีอยู่เสมอ แม้จะมาคนเดียวแต่ก็ไม่ได้รู้สึก alone เพราะทุกอย่างที่ปรากฏขึ้นในภายในร้านล้วนเติมเต็มความอบอุ่น รวมไปถึงในบางช่วงเวลาที่ต้องการอยู่กับตัวเอง พื้นที่นี้ก็พร้อมซัพพอร์ตอยู่เสมอ เราอดใจรอไม่ได้เลยว่าในวันข้างหน้าทิศทางของร้านจะมีสิ่งใหม่ๆ อะไร ที่รอเข้ามาเต็มเติมผู้คนในละแวกนั้น รวมไปถึงนักอ่านอย่างเราอีก คงต้องได้รอดูกัน!

HOC

ข้อมูลติดต่อ
ที่อยู่ : 1038, 4 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
เปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 09:00- 18:00 น.
เบอร์โทรศัพท์ : 082-983-8099
เว็บไซต์ : HOC BookCafe & Space

Tags: