Tracing The Ideas
8 ความคิวท์คูลจากไอเดียสถาปนิกที่ซ่อนอยู่ในโมเดิร์นอาร์ตสเปซ ‘Jim Thompson Art Center’
- โครงการอาร์ตสเปซในชื่อ Jim Thompson Art Center เป็นอาคารมิกซ์ยูสสูง 4 ชั้น พร้อมชั้นดาดฟ้า มีพื้นที่ใช้งานรวม 3,000 ตารางเมตร เป็นการขยายพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ และรวมพื้นที่จัดกิจกรรม คาเฟ่ ร้านค้า และห้องสมุดไว้ในอาคารเดียวกัน
- บริษัท ดีไซน์-กว่า จำกัด (Design Qua) รับหน้าที่ออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในทั้งหมด ด้วยแนวคิดสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น (Tropical Architecture) ที่ให้ความสำคัญและใช้ประโยชน์จากทิศทางลมและแดดที่เป็นสภาพอากาศของเมืองไทย โดย 2 ใน 3 ของพื้นที่จัดเป็นส่วนโอเพ่นแอร์ เพื่อลดการใช้พลังงาน
หลังจากคุณแทน – ธิตินาท ธรรมชูเชาวรัตน์ Senior Architect บริษัท ดีไซน์-กว่า จำกัด (Design Qua) หนึ่งในทีมงานที่ออกแบบ Jim Thompson Art Center อาสาเป็นไกด์เฉพาะกิจพาเราทัวร์ชมอาร์ตสเปซที่เป็นเหมือนคอมมูนิตี้คูลๆ ของคนเมืองแล้ว
เราพบว่า อาคารมิกซ์ยูส 4 ชั้น 1 รูฟท็อปสไตล์โมเดิร์นแห่งนี้ เป็นเหมือนภาคปัจจุบันของพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson House Museum) ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เพราะในความสมัยใหม่ที่ตาเห็น แต่ให้ความรู้สึกโปร่งโล่งเย็นสบาย ด้วยแนวคิดของสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น (Tropical Architecture) ที่ปรับจากองค์ประกอบของบ้านจิมฯ มาใส่ไว้ในการออกแบบ
นี่คือ 8 รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจของทีมสถาปนิก ใครมีโอกาสมาเยือน อย่าลืมตามมาชมกันนะ
1. ฟาซาด (แม่) เหล็กที่ดึงดูดคน
คำว่า Facade กินความรวมถึงองค์ประกอบด้านหน้าอาคาร ไม่ว่าจะเป็น ประตู หน้าต่าง ระเบียง ระแนง ชายคา โดยมีภารกิจสำคัญคือการสร้างความแตกต่างให้อาคารหลังนั้นโดดเด่นเป็นที่สะดุดตา และดึงดูดใจให้คนอยากเข้ามาด้านใน
ด้วยความแคบของซอยที่เป็นข้อจำกัดสำคัญของสถานที่ตั้งอาคาร จึงเป็นความท้าทายในการทำหน้าที่ของฟาซาดที่จะทำให้ผู้คนเห็นถึงการตั้งอยู่และมีตัวตนของอาคาร Jim Thompson Art Center ทีมสถาปนิกจึงออกแบบฟาซาดที่ทำจากเหล็กฉีกให้ขัดกันคล้ายการทอผ้า มีจังหวะในการขึงวางเพื่อส่งความพลิ้วไหวราวกับผืนผ้ายามต้องสายตา และเชิญชวนให้แหงนมองอาคารทรงโดมหลังนี้ พร้อมกระตุ้นความอยากรู้ว่าข้างในมีอะไร
2.จากใต้ถุนเรือนสู่ที่จอดรถอัตโนมัติ
หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่า การออกแบบอาร์ตเซ็นเตอร์แห่งนี้เริ่มต้นจากการออกแบบที่จอดรถ!
ความที่สร้างบนที่จอดรถเดิมของพิพิธภัณฑ์บ้านไทยฯ และร้านอาหารจิม ทอมป์สัน จึงต้องเตรียมที่จอดรถให้พอทั้งรถโควตาเดิม แล้วยังต้องเพิ่มเติมเผื่อที่จอดสำหรับรถของอาคารหลังใหม่ด้วย
แต่ด้วยพื้นที่จอดจำกัดเลยต้องพึ่งความไฮเทคของระบบ Pallet Parking ช่วยเสกพื้นที่จอดเพิ่มให้รวมเป็น 62 คัน แล้วยังช่วยซ่อนที่จอดรถซึ่งเป็นพื้นที่ด้านหน้าไม่ให้เตะตาข้ามหน้าข้ามตาฟาซาดไปได้
หากเปรียบอาคารนี้เป็นเรือนไทย ชั้น 1 ที่ใช้เป็นที่จอดรถก็คือใต้ถุนเรือน ด้วยเป็นบริเวณที่เปิดโล่งรับลมธรรมชาติให้ถ่ายเทเข้าออกได้สะดวกนั่นเอง
3.ลายผ้าทอบนผนังอิฐ
อิฐก่อโชว์เป็นวัสดุที่ได้รับเลือกมาทำเป็นซุ้มประตูทางเข้า ต่อเนื่องมาถึงผนังด้านใน เพราะนอกจากอิฐเป็นวัสดุท้องถิ่นจากธรรมชาติที่ส่งตรงจาก จ.อ่างทอง นั่นคือคุณสมบัติวัสดุด้านความยั่งยืนที่ช่วยดูแลรักษาโลกใบนี้ แต่สีส้มอิฐยังคล้ายกับสีหลังคากลุ่มบ้านไทยของจิม ทอมป์สันด้วย
ทว่า ความพิเศษที่เราอยากชวนมาดูอยู่ที่เทคนิคการเรียงอิฐให้ต่างระนาบกันจนเกิดเป็นลวดลายคล้ายผ้าทอต่างหาก
เมื่อเดินเข้ามาแล้ว รู้สึกเหมือนมีผ้าไหมผืนใหญ่สะบัดพลิ้วรอต้อนรับ ยิ่งตอนกลางคืนที่มีแสงไฟสาดส่องจะเห็นเหมือนลวดลายผ้าบนก้อนอิฐหยอกเล่นกับแสง เป็นอีกอารมณ์หนึ่งต่างจากตอนกลางวัน
4.เก้าอี้ Taxi
เดินขึ้นมาที่ชั้น 2 ความคัลเลอร์ฟูลของเก้าอี้ที่ร้าน Artzy Café ก็ดูเข้ากันดีกับโต๊ะสีขาวและบรรยากาศร้าน แต่พอได้เห็นสิ่งที่อยู่บนพนักเก้าอี้ถึงเข้าใจว่า ที่แท้สีสันสดใสของเก้าอี้ที่เห็น เป็นสีที่ตั้งใจเลือกมา เพราะนี่คือสีของรถแท็กซี่… (ฮั่นแน่…กำลังเสิร์ชรูปรถแท็กซี่ดูสินะ) และข้อความบนพนักที่แท้ก็ตั้งใจล้อกับป้ายทะเบียนรถนั่นเอง
แค่โต๊ะเก้าอี้ธรรมดาก็สร้างให้เป็นงานศิลปะเก๋ๆ ได้ สมกับเป็นคาเฟ่ในหอศิลป์จริงๆ ^^
5. ไอคอนคิวท์ๆ บนป้าย
สังเกตให้ดี จะเห็นว่าตัวเลขที่ใช้บอกชั้นที่อยู่บนป้าย เลียนแบบการเรียงอิฐที่เราเห็นบนผนังชั้นล่าง เป็นสิ่งเล็กๆ แต่เห็นแล้วรู้เลยว่า คนออกแบบเขาใส่ใจในทุกดีเทลจริงๆ นะ หรือจะเป็นสัญลักษณ์ป้ายหน้าห้องน้ำ ทางทีมงานก็ออกแบบเองเช่นกัน
นอกจากนี้ โครงสร้างของผนังชั้นสองของอาคารซึ่งเป็นพื้นที่อีเวนต์สเปซ เป็น Bearing Wall ที่ใช้คอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อให้โครงสร้างอาคารรับน้ำหนักแทนเสา เพราะพื้นที่นี้ต้องการความโล่งไร้เสาเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้งานพื้นที่จัดงานได้ บอกเลยว่า ความดิบเปลือยของคอนกรีตที่ไม่ได้ถูกฉาบทับ เข้ากันมากกับสถานที่อาร์ตๆ คูลๆ แบบที่นี่
6. บันไดกว้างและตาน้ำ (ฝน)
เป็นความตั้งใจออกแบบบันไดทางขึ้นจากชั้นสองไปยังชั้นสามให้กว้างกว่าบันไดอื่นในอาคาร เพราะพื้นที่ส่วนนี้คืออีเวนต์สเปซกับห้องสมุด เชื่อมพื้นที่ภายนอกด้วยทางเดิน ลานกิจกรรมโอเพ่นแอร์ และสวนกลางแจ้ง นอกจากเพื่อรองรับผู้คนที่จะมาร่วมงานแล้ว ในทางจิตวิทยาบันไดที่กว้างยังช่วยให้รู้สึกอยากเดินขึ้นไปชั้นบนได้โดยไม่รู้ตัวด้วยนะ
ลานกิจกรรมนี้แม้จะอยู่เอาต์ดอร์ แต่เป็นมุมที่ไม่ได้รับแสงแดดจังๆ เพราะได้อาคารช่วยบังไว้ แต่สำหรับทิศทางลมธรรมชาติแล้วล่ะก็ เปิดรับให้พัดผ่านฉลุยได้ตลอดวัน จึงใช้พื้นที่ได้เต็มประสิทธิภาพทั้งวัน แต่ถ้าวันไหนฟ้าฝนไม่เป็นใจ พื้นที่นี้ก็รับฝนชุ่มฉ่ำไปเต็มๆ เช่นกัน แต่หมดห่วงได้ เพราะมีการออกแบบพื้นให้มีความสโลปเพื่อระบายน้ำ โดยจุดที่น้ำไหลไปรวมกันก็ได้ทำให้ต่างระดับลึกลงไปกว่าพื้นปกติ มองเผินๆ เหมือนเป็นที่ตาน้ำที่มีน้ำผุดขึ้นมา ไหนๆ มีตาน้ำแล้ว ลวดลายบนพื้นเลยออกแบบให้ดูคล้ายเป็นวงกระเพื่อมของน้ำไปด้วยเลย
7.นอน (อ่าน) เอกเขนก
ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน (William Warren Library) กรุกระจกใสบานใหญ่โดยรอบ เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ แต่ไร้ซึ่งความร้อนจากไอแดด นั่นเพราะกระจกไม่ได้ปะทะกับแดดเต็มๆ ด้วยมีชายคายาว 4 เมตรเสนอตัวออกมารับแดดแทน อีกทั้งยังตั้งอยู่ทิศเหนือที่ซึ่งแสงแดดส่องไม่ถึง จึงไม่จำเป็นต้องใช้บริการผ้าม่านหรือมู่ลี่
แม้จะเป็นกระจกใสที่เผยให้เห็นถึงบรรยากาศด้านใน แต่บอกเลยว่าเข้ามาแล้วกลับรู้สึกเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะมุมที่นั่งซึ่งเจาะเป็นช่องแทรกระหว่างชั้นหนังสือ วางเบาะกว้างพร้อมหมอนนุ่ม ชวนให้หยิบเล่มโปรดแล้วมานอนเอกเขนกอ่าน หรือจะเป็นอีกมุมที่เราชอบมากเหมือนกัน นั่นคือม้านั่งยาวด้านในที่หันหน้าเข้าหาชั้นหนังสือสูง เป็นม้านั่งที่ออกแบบให้กว้างและลึกเป็นพิเศษให้พร้อมเอนกายอ่านได้ หากมีใครเดินผ่านหรือแวะเลือกหนังสือที่ชั้นขณะที่เรานั่งอยู่บนม้านั่ง ก็จะไม่รู้สึกอึดอัดจนต้องเกร็งตัวเหมือนอยู่ในโรงหนังแล้วมีใครลุกเดินผ่านหน้าที่นั่งเรา
ยิ่งไปกว่านั้นผ้าหุ้มเบาะม้านั่งทุกตัวในห้องสมุดล้วนเป็นผ้าไหมจากจิม ทอมป์สันทั้งนั้น
แต่ถ้าใครนิยมความเก๋เท่แล้วล่ะก็ ต้องไม่พลาดชุดโต๊ะเก้าอี้คีย์บอร์ดด้านหน้าห้องสมุด ส่วนเคาน์เตอร์บรรณารักษ์ก็คูลไม่หยอก เพราะใช้ลูกเล่นการเรียงอิฐก่อโชว์แบบเดียวกับผนังบริเวณทางเข้า เพียงแต่ลวดลายในการเรียงอิฐต่างกัน
ใครอยากพักสายตา เปลี่ยนบรรยากาศก็แค่เดินมาในสวนกลางแจ้งด้านหน้า จะเห็นหน้าต่างห้องสมุดอาคารเดิมส่วนซ้ายมือจะเป็นหลังคาเรือนไทยของพิพิธภัณฑ์บ้านจิมฯ เป็นการเชื่อมโยงบรรยากาศแบบไทยๆ ที่อาคารหลังเดิมเข้ากับความทันสมัยของอาคารหลังใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขินเลย
8.แสงกับแกลเลอรี่
อาร์ตสเปซแห่งนี้มีแบ่งพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะออกเป็น 2 แกลเลอรี่ที่ต่างขนาดกัน โดยแกลเลอรี่ 1 เพดานสูงถึง 9 เมตร มีการเซ็ตระบบไฟไว้สำหรับทั้งงานคอนเท็มโพรารีอาร์ตที่ต้องการไฟแบบเกลี่ยแสงไปทั่วห้อง กับแสงไฟที่สาดส่องไปยังชิ้นงานสำหรับงานอาร์ตแนวคลาสสิก ส่วนแกลเลอรี่ 2 สามารถจัดแยกห้องเพื่อแสดงผลงานได้
โดยปกติหลังคาสกายไลต์จะรับแสงที่ส่องผ่านกระจกด้านบน แต่สำหรับทั้งสองแกลเลอรีนี้เปิดรับแสงจากผนังโค้งที่อยู่ด้านข้างแทน ซึ่งไม่เพียงทำให้อาคารไม่ต้องรับความร้อนตรงๆ จากภายนอกเข้ามาสะสมแล้ว ยังช่วยให้แสงที่ส่องลงมาให้ละมุนตาขึ้น เหมาะสำหรับจัดแสดงงานศิลปะ
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ( Jim Thompson Art Center )
ซอยเกษมสันต์ 2 วังใหม่ ปทุมวัน กรุงเทพฯ
เปิดบริการทุกวัน (ยกเว้นวันอังคาร) ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.
โทร.0-2216-7368
Website : JIM THOMPSON ART CENTER
Facebook : The Jim Thompson Art Center