The Way I Am
กรรณิการ์ ลือชา สาวนักปีนผาผู้เชื่อในวิถี Permaculture ทุกวินาทีคือ Gift of Life
- บี – กรรณิการ์ ลือชา เจ้าของปันผลฟาร์มผู้หลงรักการปีนผาเป็นชีวิตจิตใจ เธอเชื่อว่าเราสามารถมีความสุขได้ด้วยตัวของเราเอง เ พียงสนุกกับการใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเราเป็น ใช้ทุกช่วงเวลาให้คุ้มค่าแล้วก้าวเดินไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
- ในมุมมองของเธอทุกเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นเหมือน Gift Of Life แม้ในวันที่ต้องเจอกับเรื่องเลวร้าย เธอก็เลือก Enjoy The Moment เพราะสุดท้ายแล้วมันเป็นเพียงเรื่องที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลาหนึ่ง
“ระบบขยะไหล คือชีวิตสังคมเมืองที่ต้องตื่นมาขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงาน อยู่กับสารเคมีสารพิษสารพัด ลองคิดดูโลกนี้อายุเท่าไหร่ แล้วทำไมเราต้องมาใช้พาร์ทหนึ่งของชีวิตเป็นขยะไหลในสังคมเมือง เราเป็นจุดหนึ่งในโลกก็จริงแต่เราจะอยู่ตรงนี้แค่ 70 ปี เราต้องคิดว่าจะอยู่ยังไงให้คุ้มที่สุด” บี – กรรณิการ์ ลือชา เจ้าของฟาร์มปันผลบอกเล่ามุมมองการใช้ชีวิตของเธอผ่านน้ำเสียงที่หนักแน่น
แม้เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ...แต่บีคือคนที่กล้าใช้ชีวิตในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างน่าอิจฉา
ความตั้งใจของเธอคือ อยากใช้ช่วงชีวิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่สำคัญเลยว่าชีวิตจะยืนยาวเท่าไหร่ ความยืนยาวไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้นมาโดยอัตโนมัติ สิ่งที่เราประกอบร่างมันขึ้นด้วยความรักระหว่างทางต่างหากที่สำคัญกว่า…
• จุดเปลี่ยน
เธอเริ่มย้อนเล่าให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของชีวิตว่า “ตอนเรียนจบทำงานแรกๆ ได้เงินเดือน 8,000 สมัยนั้นก็ไม่ได้แย่ แต่เราคิดว่าเมื่อไหร่จะได้จับเงินล้าน พอคิดแบบนั้นเราเลยไปคุยกับเพื่อนคนหนึ่ง มันบอกเราว่า เราจะไม่ได้จับเงินล้านถ้าไม่ออกนอกประเทศ แล้วความโชคดีของเราคือเพื่อนคนนี้เหมือนเป็นหน่วยกล้าตายออกไปเซอร์เวย์ให้เรา 3 ประเทศ ทีนี้มันก็กลับมาบอกเราว่าอังกฤษเวิร์กสุด ให้เราไปเก็บตังค์ให้ได้หนึ่งแสนที่เหลือเดี๋ยวมันจัดการให้ เราก็เลยได้ออกไปใช้ชีวิตต่างประเทศตั้งแต่อายุ 22” และเมื่อชีวิตเดินทางมาถึงจุดหนึ่งที่อยากทำงานอยู่บ้าน บีจึงตัดสินใจว่าจะกลับมาทำธุรกิจที่เมืองไทย
ปันผลฟาร์ม จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งสิ่งที่เธอตั้งใจกลับมาทำ สำหรับบีแล้วเธอมองว่า “ในมุมท่องเที่ยวเมืองไทยมีอะไรเยอะแต่คนไทยชอบไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองมี ไม่ชอบความยั่งยืน ชอบความฉาบฉวยที่ทำวันนี้แล้วได้เงินเลย เราว่าบ้านเรามีศักยภาพมากพอ แต่ขาดองค์ความรู้ เราเลยอยากมาทำตรงนี้” เธอเริ่มต้นทุกอย่างด้วยตัวของเธอเอง ตั้งแต่หาความรู้ ศึกษา ทดลอง และเรียนรู้ทุกขั้นตอนผ่านการลองผิดลองถูกและลองทำมามากมาย ผืนดินตรงนี้จึงเป็นเหมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ของเธอ
บีเล่าต่อว่า “ที่ดินผืนนี้ได้มาตอนคนยังไม่เห็นค่า เดิมทีตรงนี้ค่อนข้างเปลี่ยว ใครก็มาทิ้งขยะ แต่เราชอบเพราะมันติดน้ำ ตัดภาพมาตอนนี้ที่ดินตรงนี้มีมูลค่ามากกว่าเดิมหลายสิบเท่า” ฉะนั้นเจตนาแรกของการซื้อที่ตรงนี้เพื่อมาพัฒนา เธอมองว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว
จากสวนลำไยบนพื้นที่กว่า 3 ไร่กลายเป็นฟาร์มแบบเรียบง่ายสไตล์โฮมมี่ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นทั้งบ้าน คาเฟ่ และฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ทั้งยังเปิดเป็นพื้นที่เรียนรู้และแบ่งปันความสุขให้ผู้คนโดยยึดหลักสำคัญว่า ‘ต้องอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน’
และจากคนไม่เคยทำเกษตรเลยสู่บทบาทเจ้าของฟาร์ม เธอบอกว่า “อย่าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ และถ้าเราทำอย่างทุ่มเทและตั้งใจแล้ว ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ” ผลสำเร็จพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าภาพที่เธอมองไว้มันเป็นไปได้ในวันนี้
• ความเมกเซนส์
กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าเน้นในเรื่องของคุณภาพและสิ่งแวดล้อม การจะทำยังไงให้ยั่งยืนที่สุดคือสิ่งที่คนทำเกษตรต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงเป็นหลัก
เราเริ่มพูดคุยกันถึงปัญหา ความยาก และความเข้าใจผิดที่ใครหลายคนมักคิดว่าการทำฟาร์มเป็นชีวิตสโลว์ไลฟ์เรียบง่ายตามวิถีพอกินพอใช้
“สิ่งที่ยากที่สุดตั้งแต่ทำฟาร์มมาคือเรื่องอะไร” เราถามขึ้นด้วยความอยากรู้
“ส่วนมากเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมเพราะเราอยู่กับธรรมชาติไหนจะฝนตก น้ำท่วม พายุ ลม มันก็จะมีปัญหาให้ต้องจัดการเรื่อยๆ เลยต้องอาศัยความเข้าใจ แล้วอย่างที่บอกว่าเราอยู่กับความ Make Sense อยู่แบบ Permaculture คือต้องรู้นิสัยพืช ดิน น้ำ ฟ้า อากาศ ต้องรู้จักโรคและแมลง” เธออธิบายเพิ่มให้เราเห็นภาพว่า “ถ้าพืชชนิดนี้มันไม่ชอบอยู่ใกล้อันนี้เพราะจะเรียกแมลงมา เราก็ต้องไม่ปลูก ต้องไม่ทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติ แล้วถ้าธรรมชาติช่วงนั้นมันมีอะไรก็ทำตามโฟลว์ มันจะได้ไม่เอาปัญหาไปใส่เพิ่ม พอปัญหาไม่เกิด ก็จะได้ไม่ต้องหาทางแก้ปัญหา”
เพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) เป็นหนึ่งในแนวทางการทำเกษตรแบบยั่งยืน การจัดพื้นที่แบบเพอร์มาคัลเจอร์ จะเน้นการจัดวางที่ทำให้ทุกสิ่งเกิดประโยชน์สูงสุดในตัวเอง และเมื่อสิ่งเหล่านั้นรวมกันแล้วจะต้องเกิดประโยชน์มากกว่าอยู่เดี่ยวๆ เป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมดุลตามธรรมชาติ
ดังนั้นหัวใจหลักของเพอร์มาคัลเจอร์อันดับแรกเลยก็คือการใส่ใจโลก เพราะถ้าไม่มีโลก เราเองไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ สองคือการใส่ใจผู้อื่น เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสุดท้ายคือมีความเป็นธรรมในเลือกใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น จึงจะเรียกว่าดำเนินตามวิถีของความยั่งยืนในระยะยาวได้อย่างที่ควรเป็น
• อีกครึ่งของชีวิต
แม้เธอรักและทุ่มเทให้กับการทำฟาร์มแค่ไหน แต่อีกหนึ่งสิ่งที่เธอหลงใหลและคลุกคลีกับมันมานานกว่า 6 ปี คือ Rock Climbing
“เราชอบรีแล็กซ์ด้วยการออกกำลังกาย เรารู้สึกว่าโมเมนต์ที่ปีนผามันเหมือนได้อยู่กับตัวเอง ได้ทำสมาธิโฟกัสกับสิ่งตรงหน้า เป็นจังหวะที่ไม่อยากจับโทรศัพท์ไม่อยากคุยกับใคร แล้วมันดูได้ใช้แรงอีกพาร์ทหนึ่งดี”
“ตอนครั้งแรกที่ไปเล่นคิดว่าไม่น่ายาก แต่เราประเมินมันต่ำไป เราคิดว่ามันเป็นกีฬาที่ใช้แค่พลังจนได้ลองเล่นถึงเข้าใจว่า ไม่ใช่แบบที่เราคิด ปีนผาเป็นกีฬาที่ใช้สมองด้วยเพราะมันต้องมองให้เห็นเส้นทาง” เราว่าเสน่ห์ของการปีนผาอยู่ที่ความท้าทายและวิวทิวทัศน์ของผาจริงๆ ธรรมชาติที่โอบล้อมเราอยู่ ณ ตอนนั้นคงช่วยให้ความเหนื่อยลดลงไปชั่วขณะ กลายเป็นความสนุกที่ทำให้ใครหลายๆ คนหลงใหล
ดูเหมือน Rock Climbing จะเป็นกีฬาที่เสริมทักษะหลายอย่างให้กับผู้เล่น ทั้งในสนามและการนำมาปรับใช้ในชีวิตจริง บีเองก็บอกกับเราว่า “มันได้ทั้งสกิลการแก้ปัญหาและการพัฒนาตัวเอง เราจะเห็นว่าหลังๆ โรงเรียนนานาชาติ จะมีผาจำลองเล็กๆ ในสนามเด็กเล่นให้เด็กฝึก เพราะนอกจากจะได้เรื่องของกายภาพยังได้เรื่องของกระบวนการคิด เด็กได้รู้จักการแก้ปัญหาและได้เรียนรู้ว่าจะไปตรงนั้นได้ต้องข้ามอันไหน ต้องค่อยๆ ไปทีละสเต็ป สุดท้ายถ้าตกก็ต้องยอมรับว่าผิดแล้วเริ่มใหม่ มากกว่านั้นมันได้ฝึกเรื่องของวินัย ลองนึกตามว่าถ้าเด็กทำตัวเถลไถลก็จะไม่จบโปรเจกต์ที่ปีนอยู่ มันก็เหมือนกับได้ฝึกการใช้ชีวิตไปด้วย”
เราว่าการใช้ชีวิตกับการปีนผาเหมือนกันตรงที่ว่า เมื่อเราเลือกเดินไปในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง ระหว่างทางหากเราอยากย้อนกลับ มันคงเป็นเรื่องที่ลำบากใจเพราะเมื่อย้อนนึกถึง ต้นทุน ในที่นี้คือความทุ่มเท ความพยายาม และระยะเวลา เป็นธรรมดาหากเราจะรู้สึกลังเลกับการตัดสินใจ สิ่งเหล่านี้กำลังฝึกให้เราไตร่ตรองในทุกย่างก้าวอย่างถี่ถ้วน เช่นเดียวกับการปีนผาที่ต้องมองให้เห็นเส้นทางก่อนขยับไปแตะยังจุดหมาย จึงไม่แปลกถ้ามีคนบอกว่า…ปีนผาเก่งจะเป็นนักวางแผนที่ดี
มากกว่านั้นประสบการณ์ระหว่างทางจะสอนให้เราได้รู้ว่า ต่อให้เราจะล้มเลิกในเส้นทางเดิน นั่นไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว การวนกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง…ก็ไม่นับเป็นจุดสิ้นสุดเช่นกัน
• ทุกเรื่องราวคือของขวัญ
ดูเหมือนผู้หญิงคนนี้จะมีพลังเหลือล้นจนคนรอบข้างสัมผัสได้ เป็นขุมพลังบวกที่ผู้คนอยากรายล้อมอยู่ใกล้ๆ ถึงอย่างนั้นก็อดถามไม่ได้ว่าในวันที่ปัญหาสารพันแวะเข้ามาทักทายในชีวิต เธอผ่านช่วงเวลานั้นอย่างไร
“แค่จมอยู่กับมัน เพราะคนเรามันจมได้ไม่นานหรอก อยากร้องก็ร้อง ปล่อยให้ตัวเองดาวน์ไปเลย แล้วลุกขึ้นมา Enjoy The Gift Of Life รู้ไว้ว่าเรื่องแย่ๆ มันเป็นแค่พาร์ทหนึ่งของชีวิต มันไม่ได้กำหนดหรือเปลี่ยนแปลงทิศทางในชีวิตเราหรอก ความทุกข์มันอยู่กับเราไม่นาน ความสุขก็เช่นกัน เพราะฉะนั้นจังหวะที่มีความสุขก็โอบรับมันไว้ จังหวะมีความทุกข์ก็เข้าใจว่ามันเป็นพาร์ทหนึ่งของชีวิต…แค่นั้นพอ” เธอตอบ
…เราว่าท้ายที่สุดโลกและผู้คนจะมองว่าคุณเป็นคนยังไงจากแววตาที่คุณจ้องมองตัวเอง ดังนั้นขอแค่เราเติบโตขึ้นในแบบของเรา เคารพตัวเอง ถ้าคุณเห็นว่าตัวเองเจ๋งแค่ไหนโลกและผู้คนก็จะเห็นคุณในแบบเดียวกัน…
ลองไปเยี่ยมเยือน ‘ปันผลฟาร์ม’ ของเธอได้ที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่
ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เธอจะเปิดฟาร์มคาเฟ่ และยังจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์อยู่เป็นระยะ ติดตามได้ทางเฟสบุ๊ค