About
FLAVOR

เกียดฟั่ง

ข้าวสตูเกียดฟั่ง บันทึกตำนาน 87 ปีของร้านข้าวสตูบนถนนนางงาม โดยเจ้าของรุ่นที่ 3

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ร้านข้าวสตูจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผสมผสานจากอาหารหรือวัตถุดิบสัญชาติ อังกฤษ ไทย อินโดนีเซีย แต่ปรุงโดยกุ๊กชาวจีนไหหลำ ปัจจุบันดำเนินกิจการโดยสองพี่น้องวัยเกษียณที่พยุงรสชาติและกระแสโด่งดังท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยมาได้

“สงขลา สงขลา
ลองมาสงขลากันหม๊าย
ลองชิมเต้าหู้ยี้ เถ้ากั่วหมี่ หรือขนมไข่
ไอศครีมไข่แข็ง ถั่วเขียว ครองแครง ข้าวมันแกงไก่
ข้าวฟ่าง ข้าวเม่า ข้าวยำ ลองกินเหนียวดำ ซาลาเปาลูกใหญ่

ถนนยังชื่อนางงาม ยิ่งแลยิ่งงาม นครนอก คอนใน
ห้องแถวบ้านเก่าโบราณ อยู่กันมานาน ทั้งคนจีนแขกไทย”

เพลง ‘เสน่ห์สงขลา’ ขับร้องโดย ศุ บุญเลี้ยง ถูกแนะนำโดยเจ้าของเมนูหนึ่งในเพลง ทุกคนเดาออกไหมว่า เมนูอะไร

วันนี้เราเล็ง ‘ซาลาเปาลูกใหญ่’ ของร้าน ‘ข้าวสตูเกียดฟั่ง’ ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ เปิดกิจการตั้งแต่ปี 2480 บนถนนนางงาม เจ้าของปัจจุบัน (รุ่นที่ 3) คือ เจิง-ปทุมรัตน์ และ หล่าน-ธนธร ศิริคติธรรม

แม้ใกล้ก้าวสู่วัยเกษียณ แต่สองศรีพี่น้องยุ่งกันทั้งวันทุกวัน ท่ามกลางตึกใหม่ดีไซน์เก่า และรูปวาดบนผนังตึกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลเข้ามา เจ้าของร้านสูงวัยต่างวิ่งวุ่นให้ทั่ว เตรียมรับออเดอร์จากลูกค้าขาจรและดูแลใส่ใจขาประจำที่นั่งอยู่ในร้าน

ร้านข้าวสตูเกียดฟั่งมีสูตรต้นตำรับที่ผสมผสานจากวัตถุดิบหลายสัญชาติเป็นทุน เสริมด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โลก แต่น้อยคนจะรู้จัก เพราะถูกบดบังด้วยภาพลักษณ์ใหม่ของถนนนางงาม

เราอยากให้ทุกคนอ่านบทความนี้ แล้วหันมามองร้านรวงเก่าๆ ข้างทางสักนิด เพราะนั่นอาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายที่จะได้ลิ้มชิมเมนูนั้นๆ แต่ในขณะเดียวกัน อาหารก็จะคงอยู่ต่อไปเมื่อผู้คนถามหาจะกินไม่เว้นวัน

เกียดฟั่ง

หน้าตาเมนูสตูจากเกียดฟั่งที่อยากชวนทุกคนไปลองชิม

1st Generation

ข้าวสตูเกียดฟั่งตั้งต้นจากสตูของอังกฤษ ใส่เครื่องเทศมาเลเซีย ผสมวัตถุดิบไทย แม้ไม่ใช่อาหารใต้แบบดั้งเดิม แต่ที่เล่ามาทั้งหมดคือจุดแข็ง และเป็นเอกลักษณ์ที่หาจากที่ไหนไม่เจอ ในปี 2566 ข้าวสตูของทางร้านจึงได้รางวัล ‘1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น’ ประจำจังหวัดสงขลาไปครอง

แต่ไหนแต่ไร ความท้าทายของเมนูนี้คือการปรับสูตรตามวัตถุดิบเท่าที่หาได้ เนื่องจากข้อจำกัดของสงคราม และวัตถุดิบบนแผ่นดินที่เรือเข้าเทียบท่า

เกียดฟั่ง

ต้นกำเนิดของข้าวสตูอยู่บนเรืออังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรุงโดยกุ๊กชาวจีนจากเกาะไหหลำ เขามีชื่อว่า ‘โกลัก’ ส่วนคนบนเรือก็มีทั้งอังกฤษ จีน อินโดนีเซีย ปะปนกันไป วัตถุดิบในการทำอาหารก็เช่นกัน

เมื่อโกลักตัดสินใจลงเรือมาปักหลักอยู่ทางตอนใต้ของประเทศไทย ข้าวสตูของเขาจึงเปลี่ยนวัตถุดิบบางตัว เช่น จากเนยเป็นกะทิ เป็นต้น และคิดทำน้ำจิ้มจากน้ำส้ม พริก กระเทียม น้ำปลา เสริมรสเผ็ดเค็มเปรี้ยวให้ถูกปากคนไทย กลายเป็นที่มาของข้าวสตูคู่น้ำจิ้มที่เสิร์ฟในร้านทุกวันนี้

ส่วนน้ำซุปให้กลิ่นหอมจากเครื่องเทศหลากชนิดสมชื่อ เกียดฟั่ง ที่แปลว่า กลิ่นหอม-ความสะอาด เนื้อก็มีทั้งหมู ทั้งไก่ เครื่องในหมูมีหัวใจ ตับ ม้าม ไส้ เลือด ใครใคร่กินส่วนไหน ไม่กินส่วนไหน ก็สั่งได้ตามชอบ

เสียดายอยู่อย่างคือคนต่างถิ่นอย่างเรามาไม่ทันชิมเมนูดังด้วยตัวเอง ลูกค้าจำนวนมากอุดหนุนสตูจนหมดก่อนเราจะเดินทางมาถึงร้านเสียอีก

เกียดฟั่ง

2nd Generation

“โกลักเป็นเพื่อนกับอากงของพี่ บ้านเราอยู่ติดกัน ตอนแรกท่านขายแล้วท่านไม่มีครอบครัว เขาก็ยกให้คุณพ่อพี่ คนแถวนี้รู้จักในชื่อ โกยาว” เจิงเล่าถึงธุรกิจร้านอาหารที่ถูกเปลี่ยนมือสู่รุ่นที่ 2

เกียดฟั่ง

บรรยากาศถนนนางงามสมัยก่อนก็เหมือนเพื่อนบ้านเปิดร้านขายอาหารเต็มถนนทั้งสาย แถมสนิทกันแบบหย่อนก้นลงนั่งเก้าอี้แล้วไม่ต้องสั่ง พ่อครัวจำเมนูประจำได้แม่น แถมจำลูกบ้านอื่นที่ไปโรงเรียนกับลูกทั้ง 7 คนของตัวเองได้ด้วย พอโตขึ้น เจิงก็ยังเจอคนคุ้นหน้าแวะมาร้านอยู่เรื่อยๆ

เกียดฟั่ง

เมนูซาลาเปาลูกใหญ่ที่ถูกพูดถึงในเพลง ‘เสน่ห์สงขลา’ ถือกำเนิดโดยรุ่นที่ 2 เนื่องด้วยค่าใช้จ่ายที่ใช้ส่งลูกเรียนหนังสือ แต่ขนาดลูกโตๆ นั้นทำแบบคิดเผื่อบ้านอื่น กะให้ลูกค้าซื้อไปแบ่งกินกันทั้งครอบครัว ทั้งยังเพิ่มไส้ถั่วในภายหลังสำหรับกลุ่มชาวมุสลิมตรงสุดถนนด้วย

เกียดฟั่ง

แต่กว่าจะได้ลิ้มรสซาลาเปาโกยาวก็ปาเข้าไป 2 ทุ่ม เพราะทำยาก ต้องอาศัยความชำนาญในการจับแป้ง ส่วนผสมระหว่างน้ำกับแป้งต้องพอดี ไหนจะรอแป้งสุกจนทั่วอีก เครื่องมือที่ใช้ยังเป็นเตาไม้ฟืน เจิงที่ช่วยงานในร้านแต่เด็กยังพูดติดตลกว่า “ควันโขมงโฉงเฉง ลำบากมาก”

เกียดฟั่ง

แต่นั่นก็เป็นข้อดีของการจับตลาดลูกค้ากลางคืน หน้าร้านก็ปล่อยให้เช่า แต่ก่อนจึงมีก๋วยเตี๋ยวขายตอนกลางคืน และมีสุรา ซึ่งเดี๋ยวนี้กลายเป็นของเก่าเก็บในตู้ไม้ไปแล้ว

เจิงเรียกถนนนางงามว่า ถนนอาหาร สมัยก่อนพื้นที่นี้คลาคล่ำไปด้วยทหารเรือ ชาวประมง ผู้คนจากต่างเมืองขึ้นฝั่งมาเที่ยว ตรงข้ามร้านเป็นวิก (โรงหนัง) หลักเมือง โกยาวค้าขายดิบดีจนส่งลูกเรียนจบทั้ง 7 คน

เกียดฟั่ง

3rd Generation

เราโชคดีที่เดี๋ยวนี้ร้านขายซาลาเปาตั้งแต่ 9 โมงเช้า (แต่ก็ยังช้ากว่าข้าวสตูที่เริ่มขาย 7 โมง) มาถึงเลยจัดซาลาเปาไส้หมูที่เนื้อละเอียดยิ่งกว่าหมูบด ไหนจะเครื่องเห็ดหอม ไข่แดง และกุนเชียงที่รสชาติกลมกล่อมพอดีกันทุกส่วน ไม่มีองค์ประกอบไหนโดดออกมา จากนั้นสลับไปชิมไส้ไข่ที่หวานพอดีกับความหนาของแป้ง บอกตามตรงว่า คาดหวังแล้วไม่ผิดหวังจริงๆ

เกียดฟั่ง

เกียดฟั่ง

ถนนสายนี้ยังมีร้านอาหารอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมนั้นถือว่า ต้านการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยไม่ไหว วิกหลักเมืองปิดตัวลงตั้งแต่เจิงเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา ตัวเมืองก็ขยายตัวห่างออกไป พอถนนเส้นนี้กลับมาบูมอีกครั้งตามกระแสถนนคนเดิน กลับกลายเป็นว่า คนอยู่อาศัยลดลง เหลือแต่ร้านเก่าแก่ให้นักท่องเที่ยวมาเดินจับจ่ายใช้สอย ไม่ก็แวะถ่ายคลิปสั้นลงโซเชียลมีเดีย

เกียดฟั่ง

เจิงกับหล่านปรับตัวตาม ตื่นมาเตรียมตัวแต่เช้ามืด พร้อมเปิดร้านตอน 7 โมงเช้า ซาลาเปาที่เคยห่อหนังสือพิมพ์ลูกต่อลูก ก็เปลี่ยนมาใส่กล่องกระดาษ ซึ่งบรรจุซาลาเปาได้ 5 ลูก เหมาะกับเป็นของฝากหรือกินระหว่างเดินทาง บ่ายๆ ก็ปิดร้านแล้ว ไม่เปิดจนดึกดื่นเหมือนสมัยพ่อหรือปู่

เจิงว่า สูตรก็ยังคงเดิม (แต่ไม่เปิดเผยนะ เป็นความลับทางการค้า) ทั้งนี้ สองพี่น้องยึดวิธีชิม มากกว่าวิธีชั่ง ตวง วัด เพราะวัตถุดิบแต่ละล็อตอาจให้รสแตกต่างกัน ปริมาณเท่าเดิมก็ไม่อาจการันตีรสชาติเดิมได้ ไหนจะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป พ่อค้าเครื่องเทศถึงขั้นบอกกับเจ้าของร้านว่า “ต้นไม้มันไม่เหมือนเดิม”

เกียดฟั่ง

ทั้งคู่ซึมซับการทำงานในร้านมาตั้งแต่เล็ก เมื่อต้องรับช่วงต่อหลังเรียนจบจึงไม่จำเป็นที่ต้องคอยสอนงานกันใหม่ รอยต่อจึงค่อนข้างลื่นไหล ในขณะที่ร้านเก่าแก่บางร้านปิดตัวลง ร้านนี้ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ ณ จุดเดิมเป๊ะ สองพี่น้องวัย (เฉียด) เกษียณก็ขยันขันแข็ง เสิร์ฟเมนูเด็ดให้ลูกค้ามากหน้าหลายตาไม่ซ้ำกันสักวัน จนเป็นร้านกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่สำคัญร้านหนึ่งของถนนนางงามและจังหวัดสงขลา“เรามาไกลกันแล้ว มาไกลเกินที่จะทิ้งเนาะ ตอนนี้พี่หล่านก็จะ 60 ปีแล้ว พี่ก็ 56 ปีเต็มแล้ว วันนี้วันเกิดพี่เลยนะ เราก็ทำเท่าที่ไหว ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง อาจจะเป็นตำนาน” เจิงพูดจบแล้วหัวเราะ

เกียดฟั่ง

“เรามาไกลกันแล้ว มาไกลเกินที่จะทิ้งเนาะ ตอนนี้พี่หล่านก็จะ 60 ปีแล้ว พี่ก็ 56 ปีเต็มแล้ว วันนี้วันเกิดพี่เลยนะ เราก็ทำเท่าที่ไหว ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง อาจจะเป็นตำนาน” เจิงพูดจบแล้วหัวเราะ

เกียดฟั่ง

จบสัมภาษณ์ก็เข้าช่วงที่สำคัญที่สุด นั่นคือเซอร์ไพรซ์วันเกิดเจิง บรรยากาศอบอุ่นด้วยแสงเทียน คำอวยพรพรั่งพรูจากคนสนิท สองพี่น้องฉีกยิ้มสดใสไม่แพ้คนหนุ่มสาวเลย แค่นึกย้อนไป ก็ทำเอานับวันรอไปกินซาลาเปาลูกโตอีกครั้งแล้ว

เกียดฟั่ง

ข้าวสตูเกียดฟั่ง
Open Hours: เปิด 07.00 – 13.00 น. (ข้าวสตู) และ 09.00 – 15.00 น. (ซาลาเปา)
Map: https://maps.app.goo.gl/3u2q9rNhdiD7vKSU8
Facebook: ร้านข้าวสตู เกียดฟั่ง ซาลาเปาลูกใหญ่ ถนนนางงาม

Tags: