About
ART+CULTURE

LAMUNLAMAI

การเดินทาง 10 ปีของ ‘Lamunlamai. Craftstudio’ สู่เเบรนด์เซรามิกสร้างสรรค์ ยั่งยืน และเติบโต

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับ ‘ไหม-ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล’ และ ‘หนาม-นล เนตรพรหม’ ผู้ก่อตั้ง ‘Lamunlamai. Craftstudio’ ถึงการเดินทางในปีที่ 10 ของสตูดิโอที่ตั้งใจจะทำให้เซรามิกยั่งยืนทั้งในเชิงแมตทีเรียล กระบวนการผลิต และธุรกิจ พร้อมเจาะเบื้องหลังคอนเซปต์นิทรรศการแสดงจุดยืนของแบรนด์ในเวอร์ชันใหม่ ‘Pots of Purpose : ภาชนะต้องประสงค์’

10 ปีที่แล้ว ‘ไหม-ณพกมล อัครพงศ์ไพศาล’ และ ‘หนาม-นล เนตรพรหม’ นักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรมที่ถนัดหยิบจับเซรามิก แต่ยังไม่รู้ว่าเรียนจบไปแล้วจะทำอาชีพนี้ต่อไปหรือไม่ ชวนกันมาเปิดสตูดิโอบนดาดฟ้าใจกลางกรุงเทพฯ โดยที่ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้จะเวิร์กหรือไม่

ทั้งคู่เริ่มกันแบบเล็กๆ ตามคำที่ไหมเล่าว่า “เป็นเด็กเปิดบูธอยู่ชั้นล่างของหอศิลป์” ขายของ Custom-made แบบกระจุ๊กกระจิ๊กตามแต่ลูกค้าจะสั่ง ก่อนจะขยับไปหยิบจับภาชนะที่ใหญ่ขึ้น และเริ่มออกเดินทางไปเป็นศิลปินที่พำนักในต่างเเดนเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์

10 ปีผ่านไป ไหมและหนามเดินทางกลับมาจากการไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษ พกความตั้งใจมาเต็มกระเป๋า แถมนิทรรศการอนุสรณ์แห่งความทรงจำตลอดทศวรรษที่ผ่านมาอย่าง ‘Pots of Purpose : ภาชนะต้องประสงค์’ ของ ‘Lamunlamai. Craftstudio (ละมุนละไม)’ ยังจัดแสดงอยู่บนหอศิลป์ BACC ชั้น 5 ในช่วงเวลาที่ตรงกับ Bangkok Art Biennale 2024 พอดี

“คิวเรเตอร์ที่เคยเห็นเราตั้งแต่ Day 1 ยังบอกว่า นี่มันแสดงถึงความทะเยอทะยาน เก่ง และกล้าอย่างสุดทางมากๆ ” ไหมเล่าด้วยความภูมิใจ

เกิดอะไรขึ้น? ทำไมแบรนด์เซรามิกเล็กๆ ถึงโตไวและประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้? ไหมและหนามไปเจออะไรมา? และ Pots of Purpose ต้องการจะบอกอะไรกับเรา? ไปหาคำตอบพร้อมๆ กันเลย

Lamunlamai

Lamunlamai’s Philosophy

‘ทำธุรกิจเซรามิกยังไงให้ยั่งยืนและยังได้กำไร?’

หลังจากทำสตูดิโอเซรามิก ‘Lamunlamai. Craftstudio’ มาจนเข้าปีที่ 10 แล้ว ไหมและหนามหอบความฝันและคำถามนี้ไปไกลถึงประเทศอังกฤษ ในที่สุดพวกเขาก็ตัดสินใจได้ว่าอยากเรียนต่อด้านไหน เเละพอจะเห็นภาพว่าความรู้อะไรที่จะมาเปลี่ยนไดเร็กชันของ Lamunlamai ไปในทางที่ชัดเจนขึ้น

Lamunlamai

‘ความยั่งยืน’ และ ‘ความ Authentic’ คือโจทย์หลัก หนามอยากรู้ว่าการทำเซรามิกแบบไหนดีต่อองค์กรและโลก เลยไปศึกษากระบวนการทำงานคราฟต์ให้ลึกซึ้งขึ้นในคอร์ส ‘MA Designer Maker’ ของ University of the Arts London ที่สอนให้คนเรียนรู้ขั้นตอนการออกแบบงานทำมือผ่านหลากหลาย วัสดุ ไม่ว่าจะเป็นไม้ โลหะ หรือเซรามิกที่เขาถนัด

ส่วนไหมที่สนใจเรื่องความยั่งยืนในแง่มุมของธุรกิจ ก็ไปเรียนต่อด้านธุรกิจสร้างสรรค์ในคอร์ส ‘MA Creative and Cultural Entrepreneurship’ ที่ Goldsmiths, University of London เพื่อกลับมาทำให้เครือข่ายในวงการงานสร้างสรรค์บ้านเราขยายอย่างแข็งแรงขึ้น จะได้ทำสิ่งที่รักไปอีกนานๆ

Lamunlamai

รวมๆ แล้วเป็นเวลา 15 เดือนที่ต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปตอบคำถามให้ตัวเอง ก่อนจะกลับมาพร้อมปรัชญาใหม่ของ Lamunlamai ที่อยากจะยกระดับธุรกิจให้เป็นมากกว่าแบรนด์คราฟต์ Custom-made คุณภาพดี ผ่านการเชื่อมโยงกับสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า อย่างคุณค่าทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

“งานคราฟต์เซรามิกไม่ใช่แค่โปรดักต์นึงที่ทำจากดิน หิน และเเร่ธาตุ แต่มันมีทั้งกระบวนการคิดของงานฝีมือและกระบวนการคิดของความเป็นแบรนด์ เลยมีความ Human อยู่ในนั้นด้วย” ไหมย้ำ เธอคิดว่านี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญทำให้ Lamunlamai กลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอเซรามิกแถวหน้าในกรุงเทพฯ

Pots of Purpose

กำแพงชั้น 5 ของ BACC ประดับประดาไปด้วยเซรามิกในรูปทรงของแก้ว 300 ชิ้น ที่หน้าตา และสีสันไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

นี่คือนิทรรศการ ‘Pots of Purpose : ภาชนะต้องประสงค์’ ที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบทศวรรษของสตูดิโอเซรามิกที่เติบโตอย่างรวดเร็วแห่งนี้ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่โชว์ธีสิสปริญญาโทของไหมกับหนาม และพื้นที่ประกาศศักดาว่า Lamunlamai ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แล้วนะ!

Lamunlamai

ใครได้มาเดินชมจะเห็นว่างานแบ่งเป็น 3 เฟสหลักๆ ได้แก่

Concern เซรามิกไข่ใบยักษ์ไล่สีสันสวยงามคือธีสิส ป.โทของหนาม ที่ตั้งใจจะโชว์ผลลัพธ์ของการเปลี่ยน Food Waste ให้กลายเป็นงานศิลปะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม

“Borough Market เป็นตลาดที่ขึ้นชื่อเรื่องมีเปลือกหอยนางรมเยอะมากในอังกฤษ ในหนึ่งวันเราจะเก็บเปลือกหอยจากที่นี่มามากกว่า 2,000 ชิ้นแล้วเอามาบดเพื่อที่จะทําออกมาเป็นสูตรสีเคลือบในผิวสัมผัสแบบกึ่งมันกึ่งด้าน มันสามารถเอามาทดแทนแร่แคลเซียมคาร์บอเนตได้ ซึ่งเป็นแร่หลักที่ต้องเอามาผสมทำเซรามิก แทนที่จะเอาไปทิ้ง เราเอามาเปลี่ยนเป็นของสวยๆ งามๆ ดีกว่า” หนามเล่าถึงกระบวนการที่เขาใช้เวลาทดลองถึง 6 เดือนให้เราฟังอย่างละเอียด

เริ่มแรกเขาทำออกมาในรูปแบบเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ภายใต้คอนเซปต์ “Turn Food Waste Back to the Table again” การหมุนเวียนเศษอาหารเหลือทิ้งให้กลับมาอยู่บนโต๊ะได้อีกครั้ง แต่งานนี้อยากจะลองทำอะไรที่ใหญ่ขึ้น เลยมาจบที่ลองทำประติมากรรมชิ้นขนาดใหญ่ในรูปทรงไข่ยักษ​์แทน เพราะว่าเป็นรูปทรงที่รีเลทกับคนง่าย แถมยังทำให้เห็นโฟล์วสีเคลือบที่ทางสตูดิโอทดลอง ในมุมมองที่ชัดเจนขึ้น

Lamunlamai

Collaboration คือพาร์ตที่ไหมต้องการจะพูดถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Lamunlamai ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นช่างฝีมือ ชุมชนท้องถิ่น หรือผู้ใช้งาน และนำมาเล่าผ่านเทคนิคสำคัญที่เธอได้เรียนรู้บสมัย ป.โท อย่างการเขียนแผนภูมิ ‘Stakeholder Mapping’

เฟสนี้สำคัญ เพราะการค่อยๆ โยงใย และตกผลึกว่าแต่ละส่วนมีความเกื้อหนุนกันยังไง ทำให้ Lamunlamai สามารถผลิตงานเซรามิกสุดยูนีคส่งตรงถึงมือทุกคน ในคุณภาพที่ได้มาตรฐาน แถมยังฟูมฟักคอมมูนิตีงานคราฟต์ที่เข้มแข็งได้อีกด้วย

ไหมยกตัวอย่างให้ฟังถึงการทำงานกับชุมชนท้องถิ่นจังหวัดลำปาง สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ฯลฯ แหล่งดินสำคัญๆ สำหรับ ‘Specialty Clay’ ของ Lamunlamai “เรารู้ข้อจำกัดของแต่ละที่ อย่างดินที่อำเภอด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา เป็นดินสีส้ม ซึ่งชาวบ้านเขาคิดว่าไม่สามารถเผาด้วยอุณหภูมิสูงได้อย่างคงที่เพราะเขาใช้เตาฟืน แต่พอเราเอามาควบคุมอุณหภูมิดีๆ แล้วเผาด้วยเตาไฟฟ้า มันกลับเวิร์ก เลยเกิดเป็นการเเลกเปลี่ยนกัน เราก็ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้เตาฟืน ดูไฟ จากเขาไปด้วย และขยายความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างไม่รู้จบ”

เพราะฉะนั้น การวางรากฐานแบบนี้เลยไม่เพียงแค่ทำให้ Lamunlamai โต แต่ทำให้คนในวงการโตไปพร้อมๆ กัน

Lamunlamai

Consideration หลังจากได้มองธุรกิจนี้แบบครบทุกมุม และทดลองกับวัสดุในทุกทางที่จะทดลองได้ Lamunlamai ปล่อยโปรเจกต์เซรามิก 300 ชิ้นที่แทน 300 เรื่องราวความสำเร็จที่ไม่สมบูรณ์แบบของไหมและหนามในตลอด 10 ปีที่ผ่านมาออกมาให้ทุกคนได้ชมกัน ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องราวตั้งแต่วันแรกที่หนามชวนไหมมาก่อตั้งสตูดิโอในภาชนะ ‘No.1 RELAX, WE ALL HAVE FEAR’ จนถึงภาชนะ ‘No.300 IN POTS WE TRUST’ ที่ยังแสดงถึงความยึดมั่นในการเลือกทำอาชีพนี้

Lamunlamai

อย่างที่เห็น ชื่อแต่ละชิ้นบอกเล่าเรื่องราวความฝัน ความกลัว ความล้มเหลว และความสัมพันธ์ อะไรที่ใครๆ ก็เคยเจอ ทำให้ไม่ยากเลยที่ผู้ชมจะอินไปกับงานนี้ จนหลายๆ คนถึงขั้นต้องจับจองมาเป็นของตัวเองตั้งแต่ก่อนวันจัดแสดงงานด้วยซ้ำ!

หนามยังย้ำอีกว่า แต่ละชิ้น “Custom-made in every detail” ไม่ว่าจะเป็นสีเคลือบ ดินที่ใช้ หรือแม้แต่ดีไซน์ที่ออกแบบตามชื่อคมๆ และสเกตช์ลงกระดาษอย่างละเอียดทั้ง 300 ชิ้นก่อนจะนำไปปั้น ทั้งหมดนี้ ทีม Lamunlamai ใช้เวลาถึง 9 เดือนในการค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นมา

Lamunlamai

Lamunlamai

Pots Have Things to Say

ท่ามกลางเซรามิกนับร้อย ‘No. 118 DO NOT TAKE IT TOO SERIOUS’ คือชิ้นที่โดนใจเรามากที่สุด ทรงกระบอกที่ประกบกันอย่างไม่พอดี พร้อมลายเส้นขยุกขยุยเหมือนเด็กวาดบนภาชนะ เป็นเสมือนเครื่องเตือนใจที่ดีว่า บางครั้งเราควรมองโลกในแบบที่เด็กมองบ้าง ไม่ต้องพะว้าพะวงกับอดีตหรืออนาคต ปล่อยให้ตัวเองได้เล่นสนุกบ้างก็ได้

Lamunlamai

เราถือโอกาสถามไหมและหนามบ้างว่า ใบที่พวกเขาอยากพูดถึงมากที่สุดคือใบไหน?

ไหมเริ่มก่อน “ของเราคือใบที่ 256 ที่ชื่อว่า ‘CREATIVITY NEEDS COURAGE’” เธอพูดถึงเซรามิกสีส้มสดใส ที่มีตัวหนังสือสีแดงเขียนประทับอยู่ใหญ่ๆ ว่า BRAVE! “อยากเล่าถึงความคิดสร้างสรรค์ของเรา ที่ต้องอาศัยความกล้าสูงมาก เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ทำอยู่จะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก เหมือนกับงานนี้นี่แหละ เรามีคิดนะว่า เงินที่ได้คุ้มกับที่ลงแรงไปไหม แต่ก็ยังตอบคําถามนี้ไม่ได้ จนกว่างานจะจบลง และจนกว่าจะได้เห็นฟีดแบ็กของทุกคนที่เข้ามาดูงานจริง มันคือการเดิมพันกับตัวเองเหมือนกันนะ เพราะผลลัพธ์อาจจะไม่ได้ตรงกับในหัว 100% หรอก แต่เรามองในจุดที่ว่า มันเติมเต็มเราแค่ไหนมากกว่า”

Lamunlamai

ตามด้วยหนาม “ใบที่ชอบคือใบที่ 105 ชื่อว่า ‘IT’S OK TO DOUBT’ เล่าเรื่องที่ว่า “มันโอเคถ้าเราจะสงสัย” แก้วนี้เป็นแก้วที่เราแทบจะทำคนเดียวเลย มีการเขียนถึงการใช้เปลือกหอย เปลือกไข่มาทำเซรามิก ค่อนข้างจะเนิร์ดประมาณนึงและเรารู้สึกว่าอันนี้เป็นตัวเรามาก คือแบบ 10 ปีผ่านมา ‘อ้าว! เรากลายเป็นคนเนิร์ดขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย?’ ภูมิใจในความอยากรู้เรื่องราวต่างๆ ของตัวเอง เลยเป็นใบที่ชอบ” และหนามก็ยังคงจะค้นคว้า ทดลองต่อไป เขาพูดเต็มปากว่าตอนนี้เขาเป็น ‘Designer Maker’ และโอเคมากๆ ถ้างานผู้จัดการสตูดิโอจะเป็นหน้าที่ของเด็กๆ ในทีมแทน

Lamunlamai

“แต่ถ้าถามว่าใบไหนเป็น Lamumlamai มากที่สุด ก็คงจะต้องเป็นใบที่ 296 ‘WE REPRESENT OURSELVES IN THIS’ ใบนี้เป็นใบที่เราเขียนไว้ตรงก้นแก้วว่า 10 ปีที่แล้วเราทําแก้วทรงนี้ สีนี้ แบบนี้ด้วยกัน แล้ว 10 ปีต่อมาเรายังทําแก้วอีกร้อยๆพันใบ แบบนี้ด้วยกันอยู่” ไหมเปิดรูปคู่ของเธอและคู่คิดคนสำคัญที่ถ่ายกับภาชนะใบที่ 296 ให้เราดูพร้อมรอยยิ้ม

เชื่อว่าแม้จะผ่านไปอีกสัก 10 ปี ภาชนะเหล่านี้ก็จะยังคงเป็นอนุสรณ์ความทรงจำที่สำคัญต่อไหมและหนามอยู่ และคงยังรีเลทกับผู้คนที่ได้เเวะเวียนเข้ามาชมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Lamunlamai

Lamunlamai After a Decade

ฟังเรื่องราวปรัชญาของ Lamulamai กันมาแบบครบรสแล้ว อนาคตของสตูดิโอนับจากนี้ล่ะ จะไปในทางไหนได้บ้าง?

“ถ้ามองตัวแบรนด์ เรายังคงโฟกัสในเรื่องของ Craftmanship และความยั่งยืน ส่วนโปรดักต์หลักๆ ก็ยังคงเป็นภาชนะบนโต๊ะอาหาร และของตกแต่งบ้าน แต่อาจมี Sculpture หรือ งาน Installation Art ที่เรารับออกแบบเป็นโปรเจกต์เพิ่มเข้ามา” ไหมสรุป

Lamunlamai

Lamunlamai

ยังไงก็ตาม สิ่งที่ทั้งคู่จะทำอย่างสม่ำเสมอก็คือการทำให้เห็นว่าเซรามิกเป็นได้มากกว่างานคราฟต์ มันสามารถไปเชื่อมโยงกับองค์กร บุคคล หรือศาสตร์อื่นๆ และกลายเป็นวัตถุที่มีความหมายลึกซึ้งได้ ไหมยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “อย่างร้านอาหารมิชลินซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าของเราอยู่แล้ว กระบวนการทำงานของเขาคือต้อง Concern ทั้งต้นน้ําและปลายน้ําของวัตถุดิบในทุกภาคส่วน โปรเจกต์เปลี่ยน Food Waste เป็น Tableware ของเราก็สามารถไปช่วยเล่าเรื่องให้อาหารในเมนูของเขาได้อย่างเติมเต็มมากยิ่งขึ้น”

หรือแม้แต่ศิลปินที่อยาก Explore งานของตัวเองผ่านมีเดียอื่นๆ ก็สามารถมาคอลแล็บกับ ​Lamunlamai ได้เช่นกัน มีให้เห็นแล้วในนิทรรศการล่าสุดของ Pi-near ‘Dear my old friends’ และโปรเจกต์ ‘LMLM x You!’ ซึ่งทั้งไหมและหนามมองว่า เป็นหนทางหนึ่งในการสร้างคอมมูนิตี และผลักดันให้ธุรกิจเซรามิกไปได้ไกลกว่าที่เคยเป็น

Lamunlamai

สุดท้าย อีกสิ่งหนึ่งเจ้าของสตูดิโอทั้งคู่อยากจะเสริมในการเดินทางปีต่อๆ ไป ของ Lamunlamai เวอร์ชัน 2.0 คือ พวกเขาอยากให้ทุกคนได้ยินชื่อสตูดิโอแล้วนึกถึงน้องๆ ในทีมด้วย เพราะงานแต่ละชิ้นไม่ใช่ ไหมทำ หรือหนามทำ แล้วเท่านั้น แต่เป็นงานที่ทุกๆ คนในสตูดิโอทำร่วมกัน และทุกคนในสตูดิโอที่ว่านั้นก็ล้วนเป็นคนที่มีใจรักในดิน การปั้น และศิลปะของเซรามิก เพราะอย่างที่รู้กันว่า น้อยคนที่จะเรียนจบด้านเซรามิกอาร์ตแล้วมาทำงานด้านนี้ต่อ ไหมและหนามเลยอยากซัปพอร์ตพวกเขาให้สุดทาง

Lamunlamai

Lamunlamai

เราเดินชมเซรามิกทั้ง 300 ใบอีกครั้งแบบเต็มอิ่มก่อนจะลากันไป คราวนี้ชมแบบตั้งใจกว่าเดิม เพราะรู้ว่าผลงานเหล่านี้อัดแน่นไปด้วยความทะเยอทะยาน แรงกาย และแรงใจของผู้อยู่เบื้องหลังทุกคน พร้อมหวนนึกถึงคำพูดทิ้งท้ายของไหมที่บอกกับเราด้วยไฟฝันที่แรงกล้าว่า

“สิ่งนี้เราทําแล้ว ทําอยู่ และจะทําต่อโว้ย!”

Lamunlamai

ชมนิทรรศการ ‘Pots of Purpose : ภาชนะต้องประสงค์’ ได้ตั้งแต่วันนี้ – 17 พฤศจิกายน 2567 ที่ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

เข้าไปชมคอลเลกชัน 300 ชิ้นได้ที่ https://lamunlamaicraftstudio.com/pots-of-purpose/ คลิกจับจองกันได้เลยถ้าเรื่องราวของชิ้นไหนโดนใจ

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมของ Lamunlamai. Craftstudio ได้ที่
Instagram: lamunlamai.mai
Facebook: LMLM. Craftstudio

Tags: